
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (28) การประกาศเป็นสิ่งที่มีสำหรับตอนนี้
พี่น้องที่รัก เมื่อไม่กี่ครั้งที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่า การประกาศของคริสตชนเป็นความปิติยินดี และเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับทุกคน ในวันนี้เราจะพิจารณาแง่มุมประการที่สาม คือความ[ที่การประกาศของคริสตชน]เป็นสิ่งที่มีสำหรับตอนนี้
เวลาที่เราได้ยินคนพูดเกี่ยวกับโลกทุกวันนี้ เกือบทุกครั้งจะเป็นเรื่องเลวร้าย แน่นอนว่า[ในขณะนี้]มีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่น่าวิตกกังวล ทั้งสงคราม ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความอยุติธรรมทั่วโลก และเรื่องการอพยพย้ายถิ่น โดยทั่วไปแล้วดูเหมือนว่าโลกทุกวันนี้จะมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญต่อปัจเจก [คือคนแต่ละคน] เหนือสิ่งอื่นใด และมองว่าเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ในฐานะที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหามากมาย และยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในวิทยาการหลากหลายแขนง แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมแห่งปัจเจกและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเช่นนี้ กลับนำไปสู่การยืนยันซึ่งเสรีภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ไม่ต้องการตั้งข้อจำกัดแก่ตนเองและเมินเฉยต่อผู้คนที่ก้าวตามไม่ทัน ดังนี้แล้ว วัฒนธรรมเช่นนี้ได้ทำให้ความทะเยอทะยานของมนุษย์อยู่ภายใต้ตรรกะทางเศรษฐกิจซึ่งหลายครั้งเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความละโมบ วัฒนธรรมดังกล่าวยังนำมาซึ่งวิสัยทัศน์อย่างหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ วิสัยทัศน์เช่นนี้บอกว่า ใครก็ตามที่ไม่ทำให้เกิดผลผลิต ก็ให้ทอดทิ้งเขาไปเสีย และยังเป็นวิสัยทัศน์ที่แทบจะไม่สามารถมองไปไกลยังสิ่งที่อยู่เหนือวัตถุหรือเหนือกว่าประสาทสัมผัส เราทั้งหลายอาจกล่าวได้อีกด้วยว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ภายในอารยธรรมแรกในประวัติศาสตร์ที่กำลังพยายามจัดระบบสังคมมนุษย์ในระดับโลกให้อยู่ในรูปแบบสังคมที่ไม่มีพระเจ้า และให้เป็นสังคมที่กระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ที่ยังมีความเป็นแนวนอน [ไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่อยู่เบื้องบน] แม้ว่าในเมืองเหล่านั้นจะมีอาคารสูงเทียมฟ้าจำนวนมากก็ตาม
สิ่งนี้ชวนให้เราทั้งหลายนึกถึงเรื่องเมืองบาเบลและหอบาเบล (เทียบ ปฐก. 11,1-9) เรื่องนี้กล่าวถึงโครงการทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีแง่มุมของการนำความเป็นปัจเจกของผู้คนแต่ละคนไปสังเวยเพื่อความมีประสิทธิภาพของส่วนรวม [ในเรื่องนี้] มนุษยชาติล้วนพูดภาษาเดียวกัน เราอาจกล่าวได้ว่ามนุษยชาติ[ในเรื่องนี้]มี “วิธีคิดเพียงอย่างเดียว” ราวกับว่าพวกเขาล้วนต้องมนต์คาถาบางอย่างที่ดูดเอาความพิเศษไม่เหมือนใครของแต่ละคนให้ไปรวมอยู่ภายในฟองสบู่แห่งความเป็นแบบเดียวกัน [เราได้เห็นในเรื่องนี้ว่า]ต่อมาพระเจ้าได้ทรงทำให้ภาษาทั่วแผ่นดินสับสนวุ่นวาย กล่าวคือ พระองค์ได้ทำให้ความแตกต่างให้กลับมาหยั่งรากใหม่อีกครั้ง พระองค์ได้สร้างเงื่อนไขใหม่อีกครั้งเพื่อให้ความพิเศษไม่เหมือนใครของแต่ละคนได้มีโอกาสเติบโต พระองค์ได้ฟื้นฟูความหลากหลายให้กลับมีขึ้นอีกครั้ง ขณะที่อุดมการณ์ต่าง ๆ มักจะพยายามยัดเยียดให้ทุกคนเป็นแบบเดียวกัน นอกจากนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้ายังได้ทรงทำให้มนุษย์เลิกจดจ่อกับความเพ้อคลั่งที่คิดว่าพวกตนมีความสามารถทำได้ทุกอย่าง ชาวบาเบลผู้ทะนงตนได้กล่าวว่า “เราจงสร้างชื่อเสียงไว้แก่ตน” (ปฐก. 11,4) พวกเขาต้องการยกตนสูงถึงสวรรค์ เพื่อให้พวกตนได้ไปอยู่ในฐานะเดียวกับพระเจ้า แต่ความทะเยอทะยานเช่นนี้เป็นสิ่งอันตราย นำมาซึ่งความแปลกแยกและการทำลายล้าง การที่พระเจ้าทรงทำให้ความคาดหวังเช่นนี้ล้มเหลวจึงเป็นการที่พระองค์ทรงปกป้องคุ้มครองมนุษย์ไม่ให้เขาต้องเจอกับความวิบัติที่ได้เข้ามาใกล้เหลือเกิน เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นสิ่งสำคัญเหมาะกับยุคสมัยจริง ๆ เพราะว่าแม้กระทั่งในทุกวันนี้ [เรายังจะเห็นว่า]การรวมกลุ่มมักไม่ได้มาจากความเป็นพี่น้องและสันติภาพ แต่บ่อยครั้งกลับตั้งอยู่บนความทะเยอทะยาน ความคิดชาตินิยม และการมุ่งให้ทุกคนคิดเหมือน ๆ กัน ทั้งยังเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนโครงสร้างทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจซึ่งพร่ำบอกและโน้มน้าวผู้คนให้คิดว่า พระเจ้าไม่มีความสำคัญและไม่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการที่มนุษย์ต้องการจะมีความรู้มากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะว่า[มนุษย์อยากมี]อำนาจมากขึ้น ความท้าทายยิ่งใหญ่ประการต่าง ๆ ภายในวัฒนธรรมทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่แฝงการผจญอันนี้ไว้ทั้งนั้น
ในสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) พ่อได้พยายามอธิบาย[ถึงความท้าทายต่าง ๆ ในโลกนี้] (เทียบ ข้อ 52 – 75) แต่เหนือสิ่งอื่นใด พ่อได้เรียกร้องให้มี “การประกาศพระวรสารที่ส่องสว่างให้เห็นวิธีการใหม่ในการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า กับคนอื่น และกับโลกรอบตัวเรา และเป็นแรงบันดาลใจถึงค่านิยมต่าง ๆ ที่สำคัญยิ่งยวด [การประกาศพระวรสาร]จะต้องไปถึงยังทุกสถานที่ที่กำลังมีการก่อตัวของเรื่องราวและกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ เพื่อที่จะเป็นการนำพระวาจาของพระเยซูเจ้าไปเข้าถึงจิตวิญญาณเบื้องลึกที่สุดในเมืองต่าง ๆ ของเรา” (ข้อ 74) กล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า การประกาศพระเยซูเจ้า จะทำได้ต่อเมื่อ[ผู้ประกาศ]อยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมของตนเอง ขณะที่ระลึกอยู่เสมอถึงคำพูดของนักบุญเปาโล อัครสาวก ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับปัจจุบันเอาไว้ว่า “ขณะนี้คือเวลาที่เหมาะสม ขณะนี้คือวันแห่งความรอดพ้น” (2 คร. 6,2) เพราะฉะนั้น เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเอาปัจจุบันไปเทียบกับภาพอดีต พลางบอกว่า สมัยก่อนไม่เหมือนตอนนี้ นอกจากนี้ ลำพังการนำความเชื่อมั่นทางศาสนาที่มีอยู่แล้วบางอย่างมาพูดซ้ำก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าถึงแม้[สิ่งที่นำมาพูดซ้ำ]จะเป็นความจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งแบบนี้ก็ย่อมจะสูญเสียความเป็นรูปธรรมไปด้วย ความจริงไม่ใช่สิ่งที่ว่าเมื่อนำไปพูดเสียงดังมากเท่าไหร่แล้วจะทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยเท่านั้น แต่ความจริงจะเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือต่อเมื่อ[ผู้ประกาศ]ได้เป็นพยานด้วยชีวิตของตน
ความร้อนรนในการประกาศย่อมไม่ใช่การนำรูปแบบที่มีอยู่เดิมมาใช้ซ้ำ ๆ แต่คือการเป็นพยานถึงเรื่องที่ว่า พระวรสารเป็นสิ่งที่เจริญชีวิตอยู่ในวันนี้ ในตอนนี้ เพื่อเราทั้งหลาย ให้เราทั้งหลายตระหนักในข้อนี้ และให้เรามองยุคสมัยและวัฒนธรรมของพวกเราว่าเป็นของขวัญอย่างหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นของของเรา ดังนั้น การประกาศพระวรสาร[ในยุคสมัยและวัฒนธรรมของเรา]จึงไม่ใช่การตัดสิน[ยุคสมัยและวัฒนธรรมของเรา]จากจุดยืนภายนอก แล้วก็ไม่ใช่การออกไปยืนหน้าระเบียงและร้องตะโกนพระนามของพระเยซูเจ้า แต่[การประกาศพระวรสาร]คือการออกไปเดินบนท้องถนน ไปยังสถานที่ที่ผู้คนใช้ชีวิต ไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีคนกำลังลำบาก มีคนกำลังทำงาน มีคนกำลังเรียนรู้ และมีคนกำลังพิจารณาไตร่ตรอง คือการไปอยู่บนทางแพร่ง ที่ซึ่งมนุษย์นำสิ่งที่ตนเองเห็นว่ามีความหมายสำหรับชีวิตของตนไปแบ่งปันแก่ผู้อื่น คือการที่เราทั้งหลายเป็นพระศาสนจักรที่เป็นเชื้อแป้งแห่ง “การสานเสวนา การพบปะ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน” แท้จริงแล้ว สิ่งที่เราทั้งหลายแสดงออกถึงความเชื่อของเราเองในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ ล้วนเป็นผลจากการพูดคุยเสวนาและการพบปะระหว่างวัฒนธรรม ประชาคม และสถานการณ์ต่าง ๆ เราทั้งหลายจะต้องไม่หวาดกลัวการพูดคุยเสวนา ในทางตรงกันข้าม การเผชิญหน้าและการวิพากษ์วิจารณ์ คือสิ่งที่ช่วยให้เราปกป้องคุ้มครองไม่ให้เทววิทยา [คือความรู้เข้าใจเกี่ยวกับพระเจ้า] กลายสภาพไปเป็นอุดมการณ์ (พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ต่อที่ประชุมแห่งชาติของพระศาสนจักรอิตาลี ที่ฟลอเรนซ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2015)
เราทั้งหลายจำเป็นต้องไปยืนบนทางแพร่งต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน หากเราไม่ไปยืนในจุดนั้น ก็จะทำให้พระวรสารถูกลดทอนคุณค่า และทำให้พระศาสนจักรกลายเป็นเพียงลัทธิอย่างหนึ่ง แต่หากเราหาโอกาสไปยืนบนทางแพร่งบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้เราทั้งหลายที่เป็นคริสตชนได้เข้าใจกันใหม่อีกครั้งว่า อะไรคือเหตุผลของการที่เรามีความหวัง เพื่อที่เราจะได้สกัดเอาบางสิ่งจากขุมทรัพย์แห่งความเชื่อ ที่มีทั้ง “ของใหม่และของเก่า” (มธ. 13,52) และนำสิ่งนี้มาแบ่งปันกับผู้อื่น กล่าวโดยสรุปคือ เราอาจจะปรารถนาให้โลกยุคปัจจุบันนี้ได้กลับใจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราจำเป็นต้องทำให้มีการกลับใจภายในการดูแลอภิบาล เพื่อที่[การดูแลอภิบาล]จะสามารถทำให้พระวรสารแสดงออกเป็นรูปธรรมภายในโลกทุกวันนี้ได้ดีขึ้น (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 25) ให้เราทั้งหลายรับเอาความปรารถนาของพระเยซูเจ้ามาเป็นความปรารถนาของเราเองด้วย กล่าวคือ ความต้องการที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางของเรา เพื่อไม่ให้มีใครต้องสูญเสียความปรารถนาของเขาที่มีต่อพระเจ้า และเพื่อให้เขาทั้งหลายเปิดใจให้แก่พระองค์ ให้เขาได้พบกับพระองค์ซึ่งเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่ประทานสันติสุขและความปิติยินดีให้แก่มนุษยชาติได้ ทั้งในตอนนี้ และในทุกเมื่อ
การทักทายพิเศษของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ พ่อภาวนาให้ลูกแต่ละคนและครอบครัวของลูกได้รับพระพรในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าที่จะเริ่มในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาให้เราเตรียมตัวต้อนรับพระกุมารเยซู ผู้ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าและเป็นเจ้าชายแห่งสันติสุข ผู้ที่จะเสด็จมาหาเราในวันคริสตสมภพ ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งคำทักทายยังเยาวชน คนชรา คนป่วย และคนที่เพิ่งแต่งงาน อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีพิธีกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้เชื้อเชิญให้เราทั้งหลายใช้ดวงตาแห่งความเชื่อเพื่อพิจารณาช่วงเวลาที่กำลังผ่านพ้นไป ให้ลูกทุกคนมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอในพระญาณสอดส่องที่คอยนำทางและอยู่เคียงข้างการเดินทางของเราทุกคน
พ่อขอให้เราทั้งหลายอธิษฐานภาวนาต่อไปเพื่อสถานการณ์ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ยังเลวร้าย เพื่อให้มีสันติภาพเกิดขึ้น พ่อขอร้องให้มีสันติภาพเกิดขึ้น พ่อหวังว่าการหยุดยิงในกาซาจะมีอยู่ต่อไป เพื่อที่ตัวประกันทุกคนจะได้รับการปล่อยตัว และเพื่อที่จะยังมีการเปิดทางให้ผู้คนในกาซาได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่จำเป็น พ่อได้ฟังเรื่องราวจากชุมชนวัดที่นั่น เขาไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีอาหาร ผู้คนกำลังทุกข์ทรมาน ผู้คนที่ต้องทุกข์ทรมานล้วนเป็นผู้คนธรรมดา ๆ ทั้งนั้น ส่วนคนที่ก่อสงครามเขาไม่ต้องทนทุกข์อะไร ให้เราทั้งหลายแสวงหาสันติภาพ และเมื่อพูดถึงสันติภาพ ให้เราทั้งหลายอย่าลืมผู้คนในยูเครนอันเป็นที่รัก พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานมากเหลือเกินในสงครามเช่นกัน พี่น้องที่รัก สงครามย่อมเป็นความพ่ายแพ้เสมอ ทุกคนล้วนพ่ายแพ้ ยกเว้นคนกลุ่มเดียวที่ได้รับชัยชนะอย่างมากมาย คือ ผู้ผลิตอาวุธ คนพวกนี้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากความตายของผู้อื่น
ในช่วงเวลาแห่งความปิติยินดีนี้ พ่อขอขอบใจคนหนุ่มสาวจากคณะกายกรรม[ที่ได้มาทำการแสดงในวันนี้] การเล่นกายกรรมสื่อถึงมิติหนึ่งในจิตวิญญาณมนุษย์ กล่าวคือ มิติแห่งความชื่นชมยินดีที่ได้มาแบบให้เปล่า ไม่ต้องมีอะไรตอบแทน เป็นความชื่นชมยินดีอย่างเรียบง่ายที่แสดงออกผ่านทางการละเล่นที่น่าพิศวง ให้เราทั้งหลายขอบใจคนหนุ่มสาวเหล่านี้ที่ได้ทำให้เรามีรอยยิ้ม และขณะเดียวกันก็ได้เป็นแบบอย่างทำให้เราเห็นถึงความพยายามฝึกฝนอย่างมากมาย กว่าจะเล่นได้ขนาดนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนมากมาย ให้เราปรบมือดัง ๆ ขอบใจเขาด้วย
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนขแงพระสันตะปาปาฟรานซิส
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราทั้งหลายกำลังพิจารณาเกี่ยวกับสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) ซึ่งเรียกร้องให้มีการประกาศ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” ขึ้นใหม่อีกครั้งในที่นี้ ขณะนี้ และในยุคปัจจุบันนี้ เราทั้งหลายมักจะสูญเสียกำลังใจได้อย่างง่ายดายในยุคปัจจุบันซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีที่สำหรับพระเจ้า และดูเหมือนว่าความปรารถนาเบื้องลึกที่สุดของจิตใจผู้คนถูกปิดกั้นจากความยึดติดกับอำนาจและเงินทอง อย่างไรก็ตาม นักบุญเปาโลได้เตือนใจเราทั้งหลายว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสม เป็นวันแห่งความรอด ดังนั้น ความร้อนรนในการประกาศจึงผลักดันเราทั้งหลาย ผู้ที่ได้รู้จักกับพระหรรษทานแห่งพระวาจาของพระเป็นเจ้าและความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เราไปค้นหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อนำสมบัติมีค่านี้ไปสู่สถานที่ที่เราใช้ชีวิต เล่าเรียน และทำงาน และให้เราทั้งหลายทำให้ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่แสดงความรักของพระเยซูเจ้าที่มีสำหรับทุก ๆ คนให้ออกมาเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการเคารพผู้อื่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และด้วยคำพูดที่อ่อนโยน ให้เราทั้งหลายจงเป็นพยานแห่งความหวังและเป็นผู้นำพาพระวรสารภายในการพบปะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ให้เราทั้งหลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนที่เราได้พบเจอ เพื่อให้เขาเปิดประตูต้อนรับพระเจ้าซึ่งเป็นผู้เดียวที่สามารถประทานสันติสุขและความปิติยินดี ทั้งในตอนนี้ และในทุกเมื่อ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)