การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (3) พระเยซูคริสต์ ครูแห่งการประกาศ

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

            เมื่อวันพุธที่แล้วเราได้ตรึกตรองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในฐานะแบบอย่างของการประกาศ และเกี่ยวกับหัวใจของพระองค์ในฐานะผู้เลี้ยงแกะ ที่ทรงออกไปหาผู้อื่นอยู่เสมอ วันนี้เราจะมองดูพระองค์ในฐานะครูแห่งการประกาศ ในฐานะแบบอย่างแห่งการประกาศ ในวันนี้ ครูแห่งการประกาศได้ทรงนำทางเรา ผ่านเรื่องราวในพระวรสารตอนที่พระองค์เทศน์สอนในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ หมู่บ้านของพระองค์ พระเยซูคริสต์ได้ทรงอ่านข้อความท่อนหนึ่งจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย. 61,1-2) และทำให้ทุกคนตกตะลึงด้วย “บทเทศน์” สั้น ๆ เพียงแค่ประโยคเดียว ประโยคเดียวเท่านั้น ที่บอกว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” (ลก. 4,21) นี่คือบทเทศน์ของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ในวันนี้ ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” ซึ่งหมายความว่าสำหรับพระเยซูคริสต์นั้น สาระสำคัญที่พระองค์ต้องการสื่อเกี่ยวกับพระองค์เองได้รวมอยู่ภายในถ้อยคำของประกาศก ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราพูดถึงพระเยซูคริสต์ เราควรย้อนกลับไปยังคำประกาศแรกของพระองค์ แล้วคำประกาศแรกนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง เราสามารถระบุองค์ประกอบสำคัญได้ห้าประการด้วยกัน

            องค์ประกอบแรกคือ ความปิติยินดี พระเยซูคริสต์ประกาศว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก. 4,18) นี่คือคำประกาศแห่งความปิติยินดี ความรื่นเริงยินดี นี่คือการประกาศข่าวดี เราไม่สามารถพูดถึงพระเยซูคริสต์ได้โดยปราศจากความปิติยินดี เพราะความเชื่อเป็นเรื่องราวของความรักมหัศจรรย์ที่สมควรนำไปแบ่งปัน ดังนั้น การเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ การทำเพื่อผู้อื่นในนามของพระเยซูคริสต์ จึงไม่ต่างจากการ “พูดระหว่างบรรทัด” ภายในชีวิตของเราว่า เราได้รับของขวัญอันสวยงามชนิดที่ไม่มีคำพูดใดสามารถบรรยายได้ แต่ในทางตรงข้าม หากเราไม่มีความปิติยินดี การถ่ายทอดพระวรสารก็ไม่อาจทำได้ เพราะคำว่าพระวรสารนั้นมีความหมายว่าข่าวดี ซึ่งก็คือการประกาศความปิติยินดี คริสตชนที่เศร้าสร้อยสามารถพูดเรื่องสวยงามได้ร้อยแปด แต่หากว่าข่าวที่เขาถ่ายทอดไม่มีความปิติยินดี เรื่องที่เขาพูดนั้นก็จะไม่มีความหมายเลย นักคิดคนหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “คริสตชนที่เศร้าสร้อย คือคริสตชนที่น่าสังเวช” ลูกอย่าลืมสิ่งนี้

            ต่อไปเป็นองค์ประกอบที่สอง คือ ความช่วยเหลือให้รอดพ้น พระเยซูคริสต์ตรัสว่าพระองค์ถูกส่งมาเพื่อ “ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ” (ลก. 4,18) ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่ประกาศพระเป็นเจ้าย่อมไม่อาจใช้วิธีชักจูงให้คนมานับถือศาสนาได้ เขาไม่สามารถกดดันคนอื่นได้ แต่เขาจะต้องปล่อยคนอื่นให้พ้นจากการกดดัน เขาจะต้องไม่สร้างภาระหนัก แต่จะต้องปลดปล่อยคนอื่นให้พ้นจากภาระหนัก เขาจะต้องนำสันติสุขไปให้ผู้อื่น ไม่ใช่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิด จริงอยู่ที่ว่าการเดินตามพระเยซูคริสต์รวมถึงการหักห้ามใจตนเองและการเสียสละ เพราะว่าความดีทุกอย่างจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ด้วย แล้วความจริงเที่ยงแท้สูงสุดจะไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ใครที่จะเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ จะต้องแสดงให้คนอื่นเห็นถึงความงดงามของจุดหมายปลายทางมากกว่าความลำบากในการเดินทาง ถ้าให้พ่อยกตัวอย่าง เวลาที่เราเล่าให้คนอื่นฟังว่าเราได้ไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งที่ดี ๆ เราก็น่าจะพูดถึงความสวยงามของสถานที่ต่าง ๆ หรือพูดถึงสิ่งที่เราได้เห็นและได้ทำ ไม่ใช่พูดถึงว่าการเดินทางไปเที่ยวต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ต้องเข้าแถวที่สนามบินนานแค่ไหน ไม่ใช่เรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้น การประกาศที่เหมาะสมกับพระผู้ไถ่ จะต้องเป็นการสื่อสารถึงการปลดปล่อยเป็นอิสระ เหมือนกับการประกาศของพระเยซูคริสต์เองที่ว่า วันนี้มีความปิติยินดี เพราะเราได้มาปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ

            ต่อไปเป็นองค์ประกอบที่สาม คือ แสงสว่าง พระเยซูคริสต์ตรัสว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อ “คืนสายตาให้แก่คนตาบอด” (ลก. 4,18) สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจคือ ก่อนที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมานั้น ในพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ไม่เคยมีเรื่องคนตาบอดกลับมามองเห็น ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว การที่คนตาบอดกลับมามองเห็นนั้น เป็นเครื่องหมายที่มีคำสัญญาไว้ว่าจะมาพร้อมกับพระเมสสิยาห์ แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึง ไม่ได้เป็นเพียงแต่เรื่องสายตาในทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องแสงสว่างที่ทำให้คนเราสามารถมองชีวิตได้ในแบบใหม่ด้วย คือการที่ผู้คน “มาอยู่ในแสงสว่าง” ซึ่งก็คือการเกิดใหม่ในแบบที่มีแต่พระเยซูคริสต์เท่านั้นที่ทำให้เป็นจริงได้ หากเราคิดให้ดี ก็จะเห็นว่านี่คือการที่ชีวิตคริสตชนเริ่มขึ้นสำหรับเรา คำว่าพิธีล้างบาปนั้น ในยุคโบราณถูกเรียกด้วยคำว่า “การให้ความสว่าง” (enlightenment) แล้วแสงสว่างที่พระเยซูคริสต์ให้เรานั้นเป็นแสงสว่างแบบไหน พระเยซูคริสต์ทรงมอบแสงสว่างของความเป็นบุตรให้แก่เรา พระองค์เองเป็นพระบุตรสุดที่รักของพระบิดา ทรงจำเริญอยู่นิรันดร และพวกเราเองก็ได้กลายเป็นบุตรที่เป็นที่รักของพระเจ้าตลอดนิรันดรด้วยกันกับพระเยซูคริสต์ ถึงแม้ว่าเราจะทำผิด หรือมีจุดบกพร่องก็ตาม เช่นนี้แล้ว ชีวิตจึงไม่ได้เป็นการเดินหน้าท่ามกลางความมืดบอดเพื่อมุ่งสู่ความว่างเปล่าอีกต่อไป ไม่เลย! ชีวิตไม่ใช่เรื่องพรหมลิขิตหรือเป็นเรื่องโชคดีโชคร้าย ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับความบังเอิญหรือดวงดาว ไม่เลย! ชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่แม้กระทั่งกับสุขภาพหรือเงินทอง ไม่เลย! ชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับความรัก ความรักของพระบิดา ที่ดูแลเอาใจใส่เราผู้เป็นลูก ๆ สุดที่รักของพระองค์ การแบ่งปันแสงสว่างเช่นนี้กับผู้อื่นได้นั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง พวกลูกเคยคิดบ้างไหมว่าชีวิตของเราแต่ละคน ชีวิตของพ่อ ชีวิตของลูก ชีวิตของเราทุกคน เป็นการกระทำแห่งความรัก และเป็นการเชื้อเชิญให้มุ่งสู่ความรัก นี่เป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่หลายครั้งเหลือเกินที่เราลืมสิ่งนี้ เวลาที่เราต้องเจอกับความลำบาก ต้องเจอกับข่าวร้าย หรือแม้กระทั่งเวลาที่ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตทางโลก วิถีชีวิตแบบโลกีย์ นี่ก็เป็นเรื่องเลวร้ายด้วย

            องค์ประกอบที่สี่ของการประกาศ คือ การเยียวยา พระเยซูคริสต์ตรัสว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อ “ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ” (ลก. 4,18) ผู้ที่ถูกกดขี่ คือผู้ที่รู้สึกว่าถูกบดขยี้โดยบางสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การเจ็บป่วย การทำงานหนัก ภาระทางใจ ความรู้สึกผิด ความผิดพลาด นิสัยชั่วร้าย บาป และอื่น ๆ คนเราถูกกดขี่ด้วยสิ่งเหล่านี้ ให้เราลองนึกถึงความรู้สึกผิดดูเป็นตัวอย่าง พวกเราแต่ละคนในที่นี้เคยรู้สึกทรมานจากความรู้สึกผิดกันบ้างไหม เวลาที่เรารู้สึกผิดกับสิ่งโน้นนิด สิ่งนี้หน่อย และสิ่งที่กดขี่เรามากกว่าสิ่งอื่น ๆ ก็คือความเลวร้ายที่ไม่มียาหรือวิธีการอื่นของมนุษย์ใด ๆ สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งก็คือ บาป บางคนรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองเคยทำ แล้วก็รู้สึกแย่ แต่ข่าวดีคือเมื่อเรามีพระเยซูคริสต์แล้ว บาป ซึ่งเป็นความเลวร้ายที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ก็จะไม่สามารถเอาชนะในท้ายที่สุดได้อีกต่อไป

            เราอาจทำบาป เพราะเราอ่อนแอ เราทุกคนอาจทำบาป แต่บาปไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ไม่มีอะไรจะเอาชนะได้ เพราะสิ่งที่ไม่มีอะไรเอาชนะได้ คืออ้อมแขนอันเปิดกว้างของพระเยซูคริสต์ ที่ยกลูกขึ้นให้พ้นจากบาป “คุณพ่อครับ พระเยซูคริสต์ได้ทำเช่นนั้นเมื่อไหร่? ครั้งเดียวเหรอครับ?” ไม่ “สองครั้งเหรอครับ” ไม่ “สามครั้งเหรอครับ” ไม่ใช่เลยลูก พระองค์ทำเช่นนั้นทุกเมื่อ ทุกเวลาที่ลูกป่วย พระองค์กางแขนพร้อมต้อนรับลูก สิ่งเดียวที่พระองค์ต้องการคือ ให้เราอยู่กับพระองค์เรื่อยไป และให้เรายอมให้พระองค์เป็นผู้แบกรับเรา ข่าวดีคือ เมื่อมีพระเยซูคริสต์แล้ว ความเลวร้ายดึกดำบรรพ์ไม่อาจเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดอีกต่อไป  สิ่งที่ไม่มีอะไรเอาชนะได้ คืออ้อมแขนอันเปิดกว้างของพระเยซูคริสต์ ที่จะนำพาให้ลูกก้าวไปข้างหน้า พระเยซูคริสต์เยียวยาเราจากบาปทุกเมื่อ แล้วเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่เพื่อรับการเยียวยานี้ ไม่เลย เราไม่ต้องจ่ายอะไรเลย พระองค์เยียวยาเราทุกเมื่อโดยไม่เอาอะไรเป็นของตอบแทน ในพระวรสาร พระองค์ได้เชื้อเชิญให้ผู้ที่ “เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก” มาหาพระองค์ (มธ. 11,28) การพาใครสักคนไปพบกับพระเยซูคริสต์นั้น ไม่ต่างอะไรกับการพาเขาไปหาหมอที่จะช่วยเยียวยาหัวใจ ผู้อุ้มชูชีวิต เหมือนเป็นการกล่าวว่า “พี่น้อง ฉันไม่มีคำตอบสำหรับปัญหาของเธอที่มีอยู่มากมาย แต่พระเยซูคริสต์รู้จักเธอ พระเยซูคริสต์รักเธอ พระองค์สามารถเยียวยาและบรรเทาจิตใจของเธอได้ ไปหาพระองค์ และทิ้งสิ่งต่าง ๆ ไว้กับพระองค์เถิด”

            ผู้ที่กำลังแบกภาระหนัก จำเป็นต้องได้รับการปลอบประโลมเรื่องในอดีต (carezza sul passato) หลายครั้งเหลือเกินที่เราได้ยินคนพูดว่า “แต่ฉันต้องเยียวยาอดีตก่อน ฉันต้องการให้มีใครมาปลอบประโลมเรื่องในอดีตที่กดทับฉันมากเหลือเกิน” เขาต้องการการให้อภัย และผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ เป็นผู้ที่มีพลังแห่งการให้อภัยไว้มอบให้แก่คนอื่น พลังนี้ปลดปล่อยวิญญาณให้พ้นจากหนี้ทั้งปวง พี่น้อง อย่าลืมว่าพระเจ้าลืมทุกอย่าง จริงหรือ เป็นไปได้อย่างไร ใช่ พระองค์ลืมบาปทุกอย่างของเรา พระองค์ทรงลืม นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระองค์ถึงไม่มีความทรงจำ พระองค์ให้อภัยทุกอย่างเพราะพระองค์ทรงลืมบาปของเรา พวกเราเพียงแต่เข้าหาพระองค์ แล้วพระองค์ก็จะอภัยเราทุกอย่าง พระองค์เพียงแต่อยากให้เราเข้าใกล้พระองค์ และพระองค์ก็จะให้อภัยเราทุกอย่าง ลูกลองนึกถึงเรื่องในพระวรสาร มีคนเริ่มพูดว่า “พระเจ้าข้า ลูกได้ทำบาป” ลูกคนนั้นพูดยังไม่ทันขาดคำ พ่อก็เอามือปิดปากลูกแล้วบอกว่า “ไม่เป็นไรลูก ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย” พ่อไม่ปล่อยให้ลูกพูดจนจบ และนั่นเป็นเรื่องดี พระเยซูคริสต์กำลังรอที่จะให้อภัยเรา ฟื้นฟูเรา บ่อยครั้งแค่ไหน หนึ่งครั้ง? สองครั้ง? ไม่ใช่เลยลูก ทุกครั้ง ! “แต่พระบิดาเจ้าข้า ลูกทำแต่เรื่องเดิม ๆ ทุกครั้ง” แล้วพระองค์ก็จะทำเรื่องเดิม ๆ เหมือนกันนะลูก พระองค์จะให้อภัยลูก โอบกอดลูก พ่อขอให้ลูกอย่าสูญเสียความวางใจในเรื่องนี้ นี่คือวิธีการรักพระผู้เป็นเจ้า คนที่แบกภาระหนักและจำเป็นต้องได้รับการปลอบประโลมเรื่องในอดีตล้วนแต่ต้องการได้รับการอภัย และการให้อภัย ก็คือสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำ สิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้เรา คือการปลดปล่อยวิญญาณให้พ้นจากหนี้ทั้งปวง ในพระคัมภีร์มีการกล่าวถึงปีที่ทุกคนจะได้รับการปลดปล่อยจากหนี้ เรียกว่าปีเป่าเขาสัตว์ (Jubilee) ปีแห่งพระหรรษทาน เหมือนกับว่านั่นเป็นจุดสูงสุดของการประกาศ

            ที่จริงแล้ว พระเยซูคริสต์ประกาศว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อประกาศ “ปีแห่งความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก. 4,19) นี่ไม่ใช่ปีเป่าเขาสัตว์ที่มีกำหนดเวลาตายตัวเหมือนกับหลาย ๆ สิ่งในยุคปัจจุบันนี้ ที่ทุกอย่างถูกวางแผน ส่วนเราก็ต้องมานั่งคิดว่าเวลาที่มีแผนอยู่แล้ว เราจะต้องทำตามแผนอย่างไร หรือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้แผนต้องล้มเหลว แต่เมื่อเราอยู่กับพระเยซูคริสต์ พระหรรษทานที่ทำให้ชีวิตเรากลายเป็นของใหม่อีกครั้งนั้นมาถึงอยู่ทุกเวลา และนำมาซึ่งความตื่นตะลึงใจ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นปีเป่าเขาสัตว์ในทุกวัน ทุกเวลา ทรงเรียกลูกเข้าไปใกล้ ทรงปลอบประโลมลูก ทรงให้อภัยลูก ฉะนั้นแล้วการประกาศพระเยซูคริสต์จึงต้องนำมาซึ่งความตื่นตะลึงใจจากพระหรรษทานด้วย ความตื่นตะลึงใจเช่นนี้อาจทำให้เรารู้สึกว่า “ฉันทำใจให้เชื่อไม่ได้เลยว่าฉันได้รับการยกโทษแล้ว” แต่นี่คือความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าของเรา ผู้ที่ทำเรื่องยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นพระหรรษทานขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงทำเรื่องที่คาดไม่ถึง ทรงทำเช่นนี้แม้กระทั่งผ่านทางเราด้วย เรื่องราวคาดไม่ถึงที่มาจากพระเจ้านั้นมีอยู่มากมาย พระเจ้าทรงเป็นนายของบรรดาเรื่องราวที่คาดไม่ถึง พระเจ้าทรงทำให้เราตกตะลึงใจอยู่เสมอ ทรงรอเราอยู่ตลอด ทรงรอเรา และเมื่อเราไปหาพระองค์ เราก็จะเห็นว่าพระองค์รอเราอยู่แล้วทุกเวลา พระวรสารมาพร้อมกับความรู้สึกอัศจรรย์ใจและสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า “เยซู”

            ขอให้พระเยซูคริสต์เจ้าช่วยเราให้สามารถประกาศพระองค์ได้อย่างที่พระองค์พอพระทัย ให้เราสื่อสารถึงความปิติยินดี การช่วยให้พ้นความรอด แสงสว่าง การเยียวยา และความอัศจรรย์ใจ นี่คือวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

            สิ่งสุดท้ายคือ การที่พระวรสารกล่าวว่าข่าวดีนี้มุ่งยัง “คนยากจน” (ลก. 4,18) บ่อยครั้งที่เราลืมเกี่ยวกับคนยากจน แต่พวกเขาเป็นผู้รับข่าวดีที่ถูกกล่าวถึงโดยชัดแจ้ง เพราะว่าพวกเขาเป็นที่รักของพระเจ้า ให้เราระลึกถึงคนยากจน และให้ระลึกด้วยว่า หากเราอยากจะต้อนรับองค์พระผู้เป็นเจ้า เราจะต้องทำให้ตัวเองเป็น “คนยากจนจากภายใน” แค่เป็นคนแบบเดิมนั้นไม่พอ ลูกต้องเป็นคน “ยากจนจากภายใน” ด้วยความยากจนที่ทำให้เราพูดกับพระเป็นเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ลูกเป็นผู้ขัดสน ลูกต้องการการให้อภัย ลูกต้องการความช่วยเหลือ ลูกต้องการความแข็งแกร่ง” ความยากจนเช่นนี้เราทุกคนล้วนมีอยู่ คือการทำให้ตนเองยากจนที่ภายใน ลูกต้องเอาชนะการแสร้งทำเหมือนว่าตัวเองมีครบทุกอย่างที่ต้องการแล้ว เพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจว่าตนเองต้องการพระหรรษทาน และต้องการพระเยซูคริสต์อยู่เสมอ หากมีใครถามพ่อว่า “คุณพ่อครับ อะไรคือหนทางที่สั้นที่สุดที่จะได้พบพระเยซูคริสต์” พ่อขอตอบว่า จงเป็นผู้ขัดสน จงเป็นผู้ต้องการพระหรรษทาน ต้องการการให้อภัย ต้องการความปิติยินดี แล้วพระองค์ก็จะมาหาลูกเอง ขอขอบใจลูกทุกคน


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ในตอนนี้ที่อยู่ในช่วงสัปดาห์อธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพคริสตชน พ่อขอทักทายเป็นพิเศษแก่กลุ่มที่มาจากสถาบันคริสต์ศาสนสัมพันธ์บอสเซย์ (Bossey Ecumenical Institute) พ่อขออวยพรให้พวกลูกทุกคนและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน

            วันมะรืนนี้ ซึ่งก็คือวันที่ 27 มกราคม เป็นวันนานาชาติเพื่อระลึกถึงเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ความทรงจำของชาวยิวที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายล้านคน รวมถึงผู้คนจากความเชื่ออื่น ๆ ที่ถูกสังหาร จะต้องไม่ถูกลืมเลือนหรือปฏิเสธ เพราะว่าการทุ่มเทอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเป็นพี่น้องร่วมกันย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่เริ่มจากการกำจัดรากแห่งความเกลียดชังและความรุนแรง ซึ่งได้นำไปสู่ความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเสียก่อน

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอิตาเลียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อขอทักทายและขอบใจผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการที่สนับสนุนโดยสมณกระทรวงเพื่อการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ในหัวข้อเกี่ยวกับโรคเรื้อน ชื่อการประชุมว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (“Leave No One Behind”)

            ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ วันนี้เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์อธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพคริสตชน พ่อขอให้กำลังใจลูกทุกคนในการใช้ชีวิตตามสภาวะของแต่ละคน เพื่อสนองตอบการเรียกร้องเอกภาพคริสตชนที่เราทั้งหลายต่างได้รับจากศีลล้างบาป ให้เราตระหนักถึงพระคุณของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ และทำงาน ภาวนา และถวายสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของเราแต่ละวัน เพื่อที่ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ทุกคนจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

            ในความคิดและการภาวนาของเรา ให้เราอย่าลืมระลึกถึงชาวยูเครนซึ่งกำลังประสบความทรมานแสนสาหัส เมื่อเช้านี้พ่อได้มีโอกาสพบกับผู้นำของศาสนาและนิกายต่าง ๆ ในประเทศยูเครน พวกเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และได้มาเล่าให้พ่อฟังเรื่องความเจ็บปวดของชาวยูเครน พ่อขอให้เราอย่าลืมภาวนาในแต่ละวัน เพื่อที่สันติภาพถาวรจะได้เกิดขึ้นในประเทศยูเครน

พ่อขออวยพรทุกคน


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศข่าวดี และความปรารถนาที่จะแบ่งปันความปิติยินดีในพระวรสารกับผู้อื่นด้วย ในวันนี้เราจะพิจารณาว่าพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นอาจารย์และนายของเรานั้น ได้เลือกที่จะนำเสนอสารของพระองค์อย่างไร ในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ ณ จุดเริ่มต้นของพันธกิจสาธารณะของพระองค์ พระองค์ได้ทรงเปิดเผยว่า ทรงเป็นผู้ทำให้คำกล่าวของประกาศกอิสยาห์เป็นจริงขึ้นมา เพราะพระองค์ได้เสด็จมาประกาศข่าวดีแก่คนยากจน และประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ ลก. 4,16-21) เช่นนี้แล้ว พระวรสารของพระเยซูคริสต์คริสตเจ้าจึงเป็นดังที่ประกาศกเคยกล่าวเอาไว้ กล่าวคือ เป็นถ้อยคำที่นำมาซึ่งความปิติยินดีที่ส่งต่อไปยังผู้อื่น นำมาซึ่งความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นคำมั่นสัญญาเรื่องการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณที่ผู้คนจะได้กลายเป็นลูกสุดที่รักของพระเจ้า และเป็นการเยียวยาอย่างเด็ดขาดให้พ้นจากการกดขี่โดยบาปและความตาย พวกเราทั้งหลายได้รับพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า และได้เชื่อในพระเยซูคริสต์ ทั้งยังได้มีประสบการณ์ถึงพลังความเปลี่ยนแปลงจากพระวาจาของพระองค์ ดังนั้น นอกจากเราจะถูกเรียกให้ขอบพระคุณต่อพระหรรษทานอันน่าอัศจรรย์นี้แล้ว เรายังถูกเรียกให้ออกไปแบ่งปันกับผู้อื่นโดยอิสระและเต็มไปด้วยความปิติยินดี สำหรับศิษย์ของพระคริสตเจ้าแล้ว ทุก ๆ วัน คือเวลาแห่งความโปรดปราน และเป็นโอกาสใหม่ในการเป็นพยานต่อ “ข่าวดี” ว่าพระเจ้าได้ทรงมอบความเมตตากรุณา การให้อภัย และชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์เจ้า พระบุตรสุดที่รักของพระองค์ ให้แก่ผู้คน โดยเป็นการให้เปล่า ไม่เรียกร้องอะไรเป็นสิ่งตอบแทน


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)