
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (2) พระเยซูคริสต์ แบบอย่างของการประกาศพระวรสาร
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก
เมื่อวันพุธที่แล้ว เราได้เริ่มเรียนคำสอนในหัวข้อเกี่ยวกับความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร กล่าวคือ ความร้อนรนในการประกาศข่าวดี ซึ่งจะทำให้พระศาสนจักรและคริสตชนแต่ละคนมีชีวิตชีวา ในวันนี้ พ่อขอชวนให้เราดูแบบอย่างที่ประเสริฐสุดของการประกาศ ซึ่งก็คือองค์พระเยซูคริสต์เอง พระวรสารในวันคริสตสมภพเรียกพระองค์ว่าเป็น “พระวจนาตถ์ของพระเป็นเจ้า” (เทียบ ยน. 1,1) ข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์เป็นพระวจนาตถ์ (Logos) ซึ่งแปลว่า “คำพูด/วจนะ” นั้น ได้เน้นถึงลักษณะที่สำคัญยิ่งยวดของพระเยซูคริสต์ กล่าวคือ พระองค์ทรงอยู่ภายในความสัมพันธ์เสมอ พระองค์เสด็จออกไปยังภายนอก พระองค์ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว แต่ทรงอยู่ภายในความสัมพันธ์ และมุ่งสู่ภายนอก คำพูดหรือพระวาจาเป็นสิ่งที่มีอยู่เพื่อถ่ายทอดและสื่อสาร พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพระวจนาตถ์นิรันดรของพระบิดาก็เช่นกัน พระองค์มาหาเรา พระองค์สื่อสารกับเรา พระเยซูคริสต์ไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่มีพระวาจาแห่งชีวิตเท่านั้น แต่ทรงทำให้ชีวิตของพระองค์เป็นพระวาจา เป็นข้อความสื่อสาร กล่าวคือ พระองค์ทรงมีชีวิตโดยมุ่งยังพระบิดาและมุ่งยังพวกเราอยู่เสมอ พระองค์ทรงมองยังพระบิดาที่เป็นผู้ส่งพระองค์มา และทรงมองยังพวกเราซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ได้ถูกส่งมาหา
แน่นอนว่า เมื่อเรามองถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของพระเยซูคริสต์ ที่ได้อธิบายไว้ในหนังสือพระวรสาร เราจะได้เห็นว่าความใกล้ชิดกับพระบิดา กล่าวคือ การภาวนา ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมพระเยซูคริสต์จึงทรงตื่นแต่เช้าตรู่ตั้งแต่ท้องฟ้ายังมืด และเสด็จไปยังที่กันดารเพื่อภาวนา (เทียบ มก. 1,35, ลก. 4,42) พระองค์ภาวนาทุกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ รวมถึงสิ่งสำคัญด้วย (เทียบ ลก. 6,12, 9,18) ภายในความสัมพันธ์เช่นนี้เอง กล่าวคือ ภายในการภาวนาที่เชื่อมต่อพระองค์กับพระบิดาในพระจิตนี้เอง ที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงค้นพบความหมายของการที่พระองค์ได้มาเป็นมนุษย์ และการที่พระองค์ประทับอยู่ในโลกนี้ เพราะพระองค์ถูกส่งมาเพื่อเรา พระบิดาส่งพระองค์มายังเรา
ดังนี้แล้วจึงเป็นสิ่งน่าสนใจเมื่อเรากล่าวถึงสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำต่อหน้าสาธารณะเป็นอย่างแรกหลังจากที่ได้ทรงใช้ชีวิตอย่างหลบเร้นอยู่ในนาซาเร็ธหลายต่อหลายปี พระองค์ไม่ได้กระทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ พระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย แต่พระองค์ได้เสด็จท่ามกลางฝูงชนที่กำลังไปหานักบุญยอห์นเพื่อให้เขาทำพิธีล้างให้ การที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการแสดงให้เราเห็นถึงกุญแจสำคัญในการที่พระองค์ทรงทำกิจการต่าง ๆ ในโลกนี้ กล่าวคือ ทรงอุทิศตนเพื่อคนบาป ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันกับเราโดยไม่เว้นระยะห่าง ภายในการนำชีวิตของพระองค์ทั้งครบมาแบ่งปันกับเรา อันที่จริงแล้ว พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึงภารกิจของพระองค์ว่า พระองค์ไม่ได้เสด็จมา “เพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของ” พระองค์ (มก. 10,45) ทุกวันหลังจากที่พระองค์ภาวนาเสร็จแล้ว พระองค์ได้ทรงอุทิศเวลาทั้งวันให้แก่การประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และทรงมอบพระอาณาจักรนี้ให้แก่ปวงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนที่สุดและคนอ่อนแอที่สุด รวมทั้งแก่คนบาปและคนป่วย (เทียบ มก. 1,32-39) กล่าวคือ พระองค์ทรงเชื่อมต่อกับพระบิดาผ่านการภาวนา จากนั้นได้ทรงเชื่อมต่อกับผู้คนทั้งมวลผ่านภารกิจ ผ่านการเทศน์สอน เพื่อชี้หนทางพระอาณาจักรพระเจ้า
เมื่อมาถึงตอนนี้ หากเราต้องการจะค้นหาภาพหนึ่งที่จะบ่งชี้วิถีชีวิตของพระเยซูคริสต์ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก เพราะพระเยซูคริสต์ได้บอกเราไว้แล้ว เราได้ยินพระองค์ตรัสว่า ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ที่พระองค์ตรัสว่า “ย่อมสละชีวิตเพื่อแกะของตน” (ยน. 10,11) นี่คือพระเยซูคริสต์ ในความเป็นจริงแล้วการเป็นผู้เลี้ยงแกะไม่ได้เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทอย่างมากเท่านั้น แต่ยังเป็นวิถีชีวิตที่แท้จริงเฉพาะตัวอย่างหนึ่งด้วย ในการที่จะต้องใช้เวลาตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอยู่กับฝูงแกะ นำพาฝูงแกะไปยังทุ่งหญ้า นอนหลับท่ามกลางฝูงแกะ และดูแลแกะที่อ่อนแอที่สุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ พระเยซูคริสต์ไม่ได้แค่ทรงทำอะไรบางอย่างให้แก่เราเท่านั้น แต่ทรงมอบทุกอย่างแก่เรา ทรงมอบชีวิตให้แก่เรา พระองค์ทรงมีจิตใจเป็นผู้เลี้ยงแกะ (เทียบ อสค. 34,15) พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะสำหรับเราทุกคน
แน่นอนว่า คำว่าการเลี้ยงแกะ หรือคำว่า “อภิบาล” (pastoral) มักถูกนำมาใช้เวลาที่เราต้องการสรุปกิจการต่าง ๆ ของพระศาสนจักรลงในคำเดียว ในการที่เราจะประเมินการอภิบาลของเราได้นั้น เราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับแบบอย่างของการอภิบาล เราต้องเผชิญหน้ากับพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด เราย่อมสามารถถามตัวเองได้ว่า เราได้เอาอย่างพระเยซูคริสต์ ในการดื่มน้ำจากบ่อของการภาวนา เพื่อที่ว่าหัวใจของเราจะได้สอดคล้องกับหัวใจของพระเยซูคริสต์อยู่หรือไม่ อธิการโชตาร์ด [Jean-Baptiste Chautard, นักบวชคณะทรัปปิสต์, 1858-1935] ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ยอดเยี่ยมงดงามของเขาว่า การใกล้ชิดสนิทกับพระเยซูคริสต์นั้น เป็นจิตวิญญาณของงานอภิบาลแพร่ธรรม (apostolate) ทุกอย่าง พระเยซูคริสต์ได้ตรัสไว้อย่างชัดเจนกับบรรดาศิษย์ว่า “ถ้าไม่มีเรา ท่านก็ทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน. 15,5) หากเราอยู่กับพระเยซูคริสต์ เราย่อมค้นพบว่าหัวใจของพระเยซูคริสต์ในฐานะผู้อภิบาลนั้น ย่อมเป็นหัวใจที่เต้นเพื่อผู้คนที่สับสน หลงทาง หรืออยู่ห่างไกล แล้วจิตใจของเราล่ะ บ่อยครั้งแค่ไหนที่เมื่อเราเจอผู้คนที่ประสบความยากลำบาก หรือคนที่เรารู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้วลำบากอยู่บ้าง แล้วเราแสดงท่าทีเช่นว่า “แต่นั่นมันเป็นปัญหาของเขา ให้เขาแก้ไขเองสิ” พระเยซูคริสต์เจ้าไม่เคยตรัสเช่นนี้ ไม่เคยเลย แต่ในทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จไปหาคนชายขอบ พระองค์จะเสด็จไปหาคนบาป นี่ทำให้พระองค์ถูกกล่าวโทษว่าทรงอยู่กับคนบาป เพราะว่าพระองค์ได้นำความรอดจากพระเจ้าไปให้พวกเขาโดยเฉพาะ
ภายในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา บทที่ 15 (เทียบ ลก. 15,4-7) เราได้ยินเรื่องอุปมาของแกะที่พลัดหลงไปแล้ว นอกจากนี้พระเยซูคริสต์ยังได้ตรัสเรื่องอุปมาของเหรียญที่ทำหาย และเรื่องลูกล้างผลาญด้วย หากเราต้องการฝึกฝนให้ตนเองมีความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราควรเปิดดูหนังสือลูกาบทที่ 15 ไว้ดูทุกครั้ง พ่ออยากให้ลูกอ่านข้อความส่วนนี้บ่อย ๆ ในพระวาจาบทนี้ เราจะค้นพบได้ว่าความร้อนรนในการประกาศข่าวดีคืออะไร เราจะค้นพบได้ว่าพระเจ้าไม่ได้เอาแต่นั่งเฝ้ามองฝูงแกะ และพระองค์ก็ไม่ได้ข่มขู่พวกแกะเพื่อที่จะไม่ให้พวกมันออกไปไหน แต่เมื่อใดก็ตามที่มีแกะตัวหนึ่งออกจากฝูงไปและหลงทาง พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งแกะตัวนั้น แต่จะทรงออกไปตามหามัน พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า “แกะมันออกไปแล้ว ความผิดอยู่ที่มัน นั่นเป็นเรื่องของมัน” หัวใจของพระองค์ในฐานะผู้เลี้ยงแกะทำให้พระองค์ตอบสนองในอีกทางหนึ่ง หัวใจของผู้เลี้ยงแกะนั้นเป็นทุกข์ และหัวใจของผู้เลี้ยงแกะนั้นกล้าเสี่ยง ใช่ หัวใจของพระองค์เป็นทุกข์ พระเจ้าทรงเป็นทุกข์ต่อผู้ที่ละทิ้งพระองค์ไป และขณะที่พระองค์เป็นทุกข์เสียใจสำหรับแกะตัวนั้น ความรักของพระองค์ที่มีต่อแกะตัวนั้นก็ยิ่งทวีขึ้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นทุกข์เมื่อเราออกห่างจากจากหัวใจของพระองค์ พระองค์เป็นทุกข์สำหรับทุกคนที่ไม่รู้จักความรักที่งดงามและความอบอุ่นในอ้อมกอดของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ความทุกข์นี้ไม่ได้ทำให้พระองค์ถอนตัว แต่กลับทำให้พระองค์กล้าเสี่ยง พระองค์ทรงปล่อยแกะอีกเก้าสิบเก้าตัวที่ปลอดภัยอยู่ไว้ข้างหลัง และทรงเสี่ยงภัยเพื่อออกตามหาแกะหลงเพียงตัวเดียว การทำเช่นนี้ทั้งเสี่ยงภัยและไม่สมเหตุสมผล แต่สอดคล้องกับหัวใจของพระองค์ที่เป็นผู้เลี้ยงแกะ ซึ่งคิดถึงแกะตัวเดียวที่จากไป ความคิดถึงผู้ที่จากพระองค์ไปเช่นนี้มีอยู่เสมอในพระเยซูคริสต์ แล้วพวกเราล่ะ เวลาที่เราได้ยินว่ามีใครออกจากพระศาสนจักรไป เราอยากพูดว่าอย่างไร “ให้เขาจัดการแก้ปัญหาเอง” หรือ? ไม่เลย พระองค์สอนให้เรารู้จักการโหยหาต่อผู้ที่จากออกไป พระองค์ไม่ได้รู้สึกโกรธหรือเกลียดชัง พระองค์มีแต่ความโหยหาต่อพวกเรา พระองค์คิดถึงเรา นี่แหละคือความความร้อนรนของพระเจ้า
นี่ทำให้พ่อคิดว่า พวกเราล่ะ มีความรู้สึกแบบนี้บ้างหรือเปล่า บางครั้งเราอาจเห็นว่าคนที่ออกจากฝูงแกะไปนั้นเป็นศัตรูหรือคู่ปรับ “แล้วคนนั้นล่ะ?” “เขาออกไปฟากโน้นแล้ว เขาสูญเสียความเชื่อแล้ว ต้องตกนรกแน่นอน” และความคิดแบบนี้ทำให้จิตใจเรานิ่งเฉย พ่ออยากตั้งคำถามว่า เมื่อเราเจอคนแบบที่ว่านี้ในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือตามท้องถนนในเมือง ทำไมเราไม่คิดแบบนี้แทนล่ะว่า ตอนนี้เรามีโอกาสอันดีแล้ว ในการเป็นพยานเพื่อให้เขาเห็นถึงความปิติยินดีของพระบิดาที่ทรงรักพวกเขาและไม่เคยลืมเขา สิ่งนี้ไม่ใช่การชักจูงคนให้เข้าศาสนา ไม่เลย แต่เราอยากให้พระวาจาของพระบิดาได้ไปถึงเขา เพื่อที่เราจะได้เดินไปด้วยกัน การประกาศพระวรสารไม่ใช่การชักจูงคนให้เข้าศาสนา การชักจูงคนให้เข้าศาสนาเป็นวิธีการนอกศาสนาคริสต์ จึงไม่เป็นทั้งวิธีทางศาสนา และไม่ใช่วิธีแบบพระวรสารด้วย ข้อความที่พ่อเพิ่งจะกล่าวไปนั้นเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ออกจากฝูงแกะไป ส่วนพวกเรานั้น เป็นผู้ที่ทั้งได้รับเกียรติและภาระในการเป็นผู้กล่าววาจาเช่นนี้ เพราะว่าพระวจนาตถ์ ซึ่งก็คือพระเยซูคริสต์ ได้ตรัสให้เราทำสิ่งนี้ กล่าวคือ ให้ไปเข้าหาคนทุกคนด้วยใจเปิดกว้าง เพราะพระองค์ก็ทรงทำเช่นนั้นเหมือนกัน บางทีเราได้เดินตามพระองค์ และรักพระองค์มานานแล้วพอสมควร แต่กลับไม่เคยคิดสงสัยเลยว่าความรู้สึกของเราเป็นแบบเดียวกับพระองค์หรือไม่ กล่าวคือ เรารู้สึกเป็นทุกข์และกล้าเสี่ยงแบบเดียวกับกับหัวใจของผู้เลี้ยงแกะ ด้วยหัวใจของผู้เลี้ยงแกะ และใกล้ชิดกับหัวใจของผู้เลี้ยงแกะที่พระเยซูคริสต์ทรงมีนั้นหรือไม่ อย่างที่พ่อพูดไปแล้วว่า นี่ไม่ใช่เรื่องการชักจูงคนให้เข้าศาสนาเพื่อที่ว่าคนอื่นจะได้มาเป็น “พวกเรา” ไม่ นั่นไม่ใช่แนวทางแบบคริสตชน สิ่งที่พ่อพูดคือการรักผู้อื่น เพื่อที่ว่าผู้อื่นจะได้มีความสุขในฐานะเป็นลูกของพระเจ้า พ่ออยากให้เราภาวนาเพื่อวอนขอพระหรรษทานให้พวกเรามีหัวใจของผู้เลี้ยงแกะ หัวใจที่เปิดกว้างเข้าหาทุกคน เพื่อที่จะนำสารจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และรู้สึกถึงความโหยหาของพระคริสตเจ้าที่มีต่อทุกคน เพราะว่าหากเราไม่มีความรักที่เป็นทุกข์และกล้าเสี่ยงแบบนี้แล้ว ชีวิตเราย่อมจะดำเนินไปไม่ได้ด้วยดี หากเราคริสตชนไม่มีความรักที่เป็นทุกข์และกล้าเสี่ยงแบบนี้แล้ว เราก็อาจเสี่ยงที่จะดูแลเฉพาะพวกเรากันเอง ผู้เลี้ยงแกะที่ดูแลเฉพาะผู้เลี้ยงแกะด้วยกันเอง แทนที่จะเป็นผู้ที่ดูแลฝูงแกะ คือผู้ที่เอาแต่แต่งขนให้แกะที่ “สวยงาม” เท่านั้น เราจะต้องไม่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่เอาแต่ดูแลกันเอง แต่จะต้องเป็นผู้เลี้ยงแกะของทุกคน
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษที่ได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มนักเรียนหลายกลุ่มที่ได้มาที่นี่ พ่อขอให้ทุกคนร่วมกันภาวนาเพื่อคุณพ่ออิซาค อาจี สังกัดสังฆมณฑลมินนา ทางตอนเหนือของไนจีเรีย ที่เสียชีวิตเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วขณะที่บ้านพักบาทหลวงถูกโจมตี มีคริสตชนจำนวนมากมายที่ยังตกเป็นเป้าความรุนแรง ให้เราระลึกถึงพวกเขาในคำภาวนาด้วย พ่อขออวยพรให้พวกลูกทุกคน และครอบครัวของพวกลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์คริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรพวกลูกทุกคน
ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และในโอกาสการเริ่มต้นสัปดาห์อธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพคริสตชน พ่อขอเชิญชวนให้ทุกคนภาวนาและทำงาน เพื่อที่ว่าหนทางสู่ความสนิทสัมพันธ์อย่างบริบูรณ์ในหมู่ผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ทุก ๆ คนจะมีรากฐานมั่นคงมากขึ้น และในขณะเดียวกัน พ่อก็ขอให้กำลังใจแก่ลูกทุกคน ในการมุ่งมั่นอุทิศตนเป็นผู้สร้างสันติสุขและความปรองดอง ภายในทุกบริบทในชีวิตของลูกด้วย
พ่อขออวยพรทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศข่าวดี และความปรารถนาที่จะแบ่งปันความปิติยินดีในพระวรสารกับผู้อื่นด้วย ในวันนี้เราจะดูแบบอย่างและต้นทางของการประกาศข่าวดี ซึ่งก็คือตัวอย่างขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าเอง พระองค์เป็นพระวจนาตถ์นิรันดรของพระเจ้า ทรงรับร่างกายมนุษย์เพื่อความรอดของเรา ชีวิตทั้งหมดของพระองค์ถูกอุทิศแก่การสื่อสารและพูดคุยกับผู้อื่น ในอันดับแรกคือในความสัมพันธ์กับพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการภาวนาอันลึกซึ้ง และต่อมาคือในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนที่ถูกกีดกัน และคนบาป พระองค์ประกาศการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้า ไม่เฉพาะโดยการเทศน์สอนเท่านั้น แต่รวมถึงโดยการเยียวยา การคืนดี และการให้อภัย พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี และเป็นแบบอย่างของผู้อภิบาลทุกคนในพระศาสนจักร พระองค์ทรงอุทิศทุกอย่างเพื่อฝูงแกะ นอกจากจะทรงป้องกันฝูงแกะจากอันตรายแล้ว ยังทรงออกตามหาแกะหลงฝูงด้วย พ่อขอให้เราเอาอย่างพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา ให้เรารับเอาความปิติยินดีและพลังจากความสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาผ่านการภาวนา ให้เราเปิดใจของเราต่อพระวาจาเพื่อให้เรามีความร้อนรนในการอภิบาล และให้เราพยายามทั้งโดยการพูดและการกระทำ เพื่อนำสารแห่งความรอดที่นำมาซึ่งความปิติยินดี ความหวัง และชีวิต ไปแบ่งปันกับผู้อื่น
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เต็มอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไต่ตรอง)