Declaration “Dignitas Infinita”
on Human Dignity
คำประกาศว่าด้วยศักดิ์ศรีของมนุษย์
“ศักดิ์ศรีอันพ้นประมาณ”
บทนำเสนอ
ในการประชุม Congresso เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2019 สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม (ในขณะนั้น) ได้ตัดสินใจจะเริ่ม “การร่างข้อความอันหนึ่งขึ้น เพื่อเน้นเรื่องที่ว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นขาดไม่ได้ภายในมานุษยวิทยาแบบคริสต์ศาสนา และเพื่อแสดงถึงความสำคัญของข้อความคิดดังกล่าว ตลอดจนการที่ข้อความคิดมีส่วนทำให้เกิดผลดีในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยในขณะเดียวกันก็จะให้เป็นการคำนึงถึงบรรดาพัฒนาการล่าสุดในวงวิชาการเกี่ยวกับหัวข้อนี้ ตลอดจนความเข้าใจที่คลุมเครือเกี่ยวกับข้อความคิดดังกล่าวในปัจจุบันนี้ด้วย” ร่างฉบับแรกได้ถูกจัดเตรียมขึ้นเมื่อปี 2019 โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่ง แต่ที่ประชุม Consulta Ristretta ของสมณกระทรวง ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมปีเดียวกัน มีความเห็นว่าร่างดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
ในเวลาต่อมา สมณกระทรวงฯ ได้จัดเตรียมร่างอีกฉบับหนึ่ง เป็นการร่างขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย ร่างฉบับนี้ได้ถูกนำเสนอและนำมาอภิปรายในที่ประชุม Consulta Ristretta เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2021 และได้นำเสนอยังที่ประชุมเต็มคณะของสมณกระทรวงเมื่อเดือนมกราคม 2022 โดยที่ประชุมได้ดำเนินการเพื่อให้ร่างดังกล่าวมีความกระชับและเรียบง่ายยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2023 ร่างฉบับใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ได้ถูกนำไปทบทวนในที่ประชุม Consulta Ristretta โดยที่ประชุมได้เสนอให้ปรับแก้บางส่วนเพิ่มเติม และจากนั้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2023 ได้มีการนำร่างฉบับที่ปรับแก้แล้วเสนอต่อที่ประชุมสามัญของสมณสภาเพื่อพระสัจธรรม (ที่ประชุม Feria IV) เพื่อพิจารณา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำเอกสารนี้ออกเผยแพร่ได้หลังจากแก้ไขปรับปรุงเล็กน้อย และในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2023 ในการเข้าเฝ้านี้ สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประทานอนุมัติตามความเห็นของที่ประชุม แต่ได้แสดงพระประสงค์ให้เอกสารนี้เน้นถึงห้วข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประเด็นเรื่องศักดิ์ศรี เช่น ความยากไร้ สถานการณ์ของผู้ย้ายถิ่น การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง การค้ามนุษย์ สงคราม โดยเพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา ฝ่ายหลักคำสอนของสมณสภาฯ ได้จัดตั้งที่ประชุม Congresso เพื่อศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับสมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti ซึ่งได้มีเนื้อหาเป็นบทวิเคราะห์แบบใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งยังทำให้เกิดความก้าวหน้าในการคิดพิจารณาเกี่ยวกับหัวข้อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ “ที่อยู่เหนือกว่าสภาวะแวดล้อมทั้งปวง”
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 ข้อความฉบับใหม่ซึ่งได้รับการปรับแก้อย่างมีนัยสำคัญ ได้ถูกนำส่งยังสมาชิกของสมณสภาฯ ก่อนหน้าการประชุมสามัญ (Feria IV) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 โดยมีการแนบหนังสือชี้แจงไปด้วยว่า “ร่างฉบับเพิ่มเติมนี้จำเป็นสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามพระประสงค์โดยเฉพาะของสมเด็จพระสันตะปาปา กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงเรียกร้องอย่างชัดเจนว่า จะต้องให้ความสนใจมากขึ้นต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์รูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงสมณสาส์น Fratelli Tutti ในการนี้ สมณสภาฯ จึงได้ดำเนินการเพื่อตัดทอนข้อความช่วงต้นออก […] และได้อธิบายโดยละเอียดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงชี้ไว้” ข้อความของคำประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบในท้ายที่สุดภายในที่ประชุมสามัญ (Feria IV) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 หลังจากนั้น ข้าพเจ้าและมงซินญอร์อาร์มันโด มัตเตโอ เลขานุการฝ่ายหลักคำสอน ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2024 ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาได้ประทานอนุมัติแก่คำประกาศนี้ พร้อมทั้งมีพระบัญชาให้นำออกเผยแพร่
กระบวนการจัดทำเอกสารฉบับนี้ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปี ได้ทำให้เราทั้งหลายมีความเข้าใจว่า เอกสารที่กำลังนำเสนออยู่นี้สะท้อนถึงข้อที่ว่า ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางภายในแนวคิดของคริสต์ศาสนา ซึ่งข้อความฉบับท้ายสุดที่สมณสภาฯ นำมาเผยแพร่ในวันนี้ เป็นผลจากกระบวนการทบทวนไตร่ตรองอย่างมาก
เนื้อหา 3 บทแรกของคำประกาศนี้ เป็นการย้ำเตือนถึงหลักการพื้นฐานประการต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานรองรับในทางทฤษฎี โดยมุ่งจะให้เป็นการชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ศักดิ์ศรี” ขณะที่บทที่ 4 เป็นการนำเสนอสถานการณ์บางอย่างในปัจจุบันที่เป็นปัญหา อันเนื่องมาจากการที่ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่และไม่มีใครพรากไปได้ของมนุษย์ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างเพียงพอ พระศาสนจักรมองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องประณามการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างร้ายแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เนื่องจากพระศาสนจักรมีความเชื่อมั่นลึกซึ้งว่า เราทั้งหลายไม่สามารถแยกความเชื่อออกจากการปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้ เราไม่สามารถแยกการเผยแผ่พระวรสารออกจากการส่งเสริมชีวิตที่สมศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้ และว่าเราไม่สามารถแยกชีวิตฝ่ายจิตออกจากการมุ่งมั่นพยายามเพื่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนได้
ศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน อาจเข้าใจได้ว่าเป็น[ศักดิ์ศรี]ที่ “พ้นประมาณ” (dignitas infinita) ซึ่งเป็นคำที่สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สอง ได้ทรงยืนยันไว้เมื่อครั้งที่พระองค์ได้ทรงพบปะกับผู้คนที่ใช้ชีวิตท่ามกลางข้อจำกัดหรือความพิการต่าง ๆ [1] พระองค์ตรัสเช่นนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งที่อยู่เหนือรูปลักษณ์ภายนอกและแง่มุมเฉพาะทั้งปวงที่มีอยู่ในชีวิตของมนุษย์
ภายในสมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตั้งใจจะเน้นว่า ศักดิ์ศรีอันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ “เหนือกว่าสภาวะแวดล้อมทั้งปวง” พระองค์ได้เรียกร้องให้มนุษย์ทั้งมวลปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์ในทุกบริบททางวัฒนธรรม และทุกชั่วขณะแห่งการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีข้อบกพร่องใด ๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม หรือข้อบกพร่องทางศีลธรรมก็ตาม คำประกาศนี้พยายามจะชี้ว่าสิ่งนี้เป็นความจริงสากล ซึ่งเราทั้งหลายต่างถูกเรียกร้องให้ยอมรับว่าเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการที่จะให้สังคมมีความยุติธรรม มีสันติภาพ มีสุขภาวะ และมีมนุษยธรรมได้อย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่าห้วข้อต่าง ๆ ที่ยกมากล่าวถึงในคำประกาศนี้จะไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่การเลือกสิ่งเหล่านี้มาอภิปรายมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงแง่มุมอันหลากหลายของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจถูกบดบังอยู่ภายในความนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก หัวข้อบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับบางภาคส่วนของสังคมเป็นพิเศษยิ่งกว่าภาคส่วนอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หัวข้อทุกอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายจะเห็นได้ว่ามีความสำคัญจำเป็น เนื่องจากเมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้ว ก็จะช่วยให้เราทั้งหลายเห็นถึงความร่ำรวยและความสอดประสานกันเองของความคิดว่าด้วยศักดิ์ศรีของมนุษย์ซึ่งหลั่งไหลมาจากพระวรสาร
คำประกาศนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับหัวข้อ[เรื่องศักดิ์ศรี]ที่ทั้งร่ำรวยและสำคัญยิ่งยวดนี้ หากแต่มีความมุ่งหมายที่จะนำเสนอบางสิ่งเพื่อการไตร่ตรองพิจารณา ซึ่งอาจช่วยให้เราทั้งหลายยังคงมีความตระหนักถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ได้ท่ามกลางช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนในยุคสมัยของเรา ทั้งนี้ เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้ไม่หลงทางไปประสบกับการทำร้ายและความทุกข์ทรมานอันลึกซึ้งต่าง ๆ มากขึ้นอีก ท่ามกลางประเด็นปัญหาและเรื่องน่ากังวลต่าง ๆ ที่มีมากอยู่แล้วในยุคสมัยของเราทั้งหลาย
พระคาร์ดินัล บิกตอร์ มานูเอล แฟร์นันเดส
สมณมนตรี สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม
บทนำ
1. มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีอันพ้นประมาณ ศักดิ์ศรีอันนี้มีพื้นฐานอยู่บนการมีตัวตนของเขา จึงไม่มีผู้ใดพรากไปได้ ศักดิ์ศรีอันนี้มีความสำคัญยิ่งยวดภายในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ และยังอยู่เหนือกว่าสภาวะแวดล้อม สถานะ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่บุคคลหนึ่งอาจต้องประสบ หลักการเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้อย่างเต็มที่แม้จะใช้เพียงปัญญาก็ตาม ทั้งยังเป็นสิ่งรองรับซึ่งความสำคัญสูงสุดของบุคคล ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์ [ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง] แสงสว่างของการเผยแสดงได้ทำให้พระศาสนจักรเน้นย้ำและยืนยันอย่างแน่วแน่ถึงศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาของบุคคลมนุษย์ ผู้ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า ให้คล้ายคลึงกับพระเจ้า ทั้งยังได้รับการไถ่กู้ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระศาสนจักรถือว่าสัจธรรมอันนี้เป็นที่มาของเหตุผลที่ทำให้พระศาสนจักรมุ่งมั่นพยายามเพื่อคนอ่อนแอและคนที่ไม่มีอำนาจ โดยเน้นย้ำอยู่เสมอถึง “ความสำคัญสูงสุดของบุคคลมนุษย์ และการปกป้องศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์เหนือสภาวะแวดล้อมทั้งปวง”[2]
2. ศักดิ์ศรีเชิงภววิทยา ตลอดจนคุณค่าเฉพาะและสำคัญยิ่งยวดของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ ได้รับการยืนยันอย่างมีน้ำหนักภายในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งออกโดยสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948[3] ขณะที่เราทั้งหลายรำลึกโอกาสครบรอบ 75 ปีของตราสารดังกล่าว พระศาสนจักรเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศอีกครั้งถึงความเชื่อมั่นแน่วแน่ของพระศาสนจักรที่ว่า มนุษย์ทุกคน ผู้ซึ่งพระเจ้าทรงสร้างและพระคริสตเจ้าทรงไถ่กู้นั้น ควรต้องเป็นที่ยอมรับและได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและความรัก เนื่องจากเขามีศักดิ์ศรีที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ การครบรอบดังกล่าวนี้ยังเป็นโอกาสที่พระศาสนจักรจะชี้แจงความเข้าใจผิดบางประการที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ ตลอดจนเป็นโอกาสที่จะกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องบางประการ ซึ่งทั้งร้ายแรงและมีความจำเป็นเร่งด่วน
5. นับแต่ที่พระศาสนจักรได้เริ่มต้นพันธกิจของตน พระวรสารได้เป็นแรงขับเคลื่อนให้พระศาสนจักรมุ่งมั่นพยายามยืนยันเสรีภาพของมนุษย์และส่งเสริมสิทธิของผู้คนทั้งมวลมาโดยตลอด[4] ในยุคสมัยใหม่นี้ พระศาสนจักรได้พยายามอย่างรอบคอบและตั้งใจเพื่อระบุถึงความมุ่งมั่นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านการเรียกร้องอีกครั้งให้มีการยอมรับศักดิ์ศรีพื้นฐานที่มีอยู่ในบุคคลทุกคน ดังจะเห็นได้จากพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาหลายพระองค์ สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่หกได้ทรงยืนยันว่า “ไม่มีมานุษยวิทยาใดเกี่ยวกับเรื่องบุคคลมนุษย์ที่จะเทียบเท่ามานุษยวิทยาของพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่เกี่ยวกับความมีเอกลักษณ์ของบุคคล ศักดิ์ศรีของบุคคล ความเป็นสิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้และความร่ำรวยหลากหลายในสิทธิขั้นพื้นฐานประการต่าง ๆ ของบุคคล ความศักดิ์สิทธิ์ของบุคคล ศักยภาพในการได้รับการศึกษา ความมุ่งหวังต่อการพัฒนาทั้งครบ และความไม่รู้ดับสูญของบุคคล” [5]
4. สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สอง ได้มีพระดำรัสในที่ประชุมสามัญของบรรดาบิชอปจากภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่ปูเอบลาเมื่อปี 1979 ยืนยันว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ “เป็นคุณค่าอย่างหนึ่งตามแนวพระวรสาร การเหยียดหยามคุณค่านี้ย่อมเป็นการทำเคืองพระทัยพระผู้สร้างอย่างร้ายแรง โดยศักดิ์ศรีอันนี้ย่อมถูกละเมิดในระดับปัจเจก หากว่าไม่มีการให้ความสำคัญอย่างสมควรต่อค่านิยมบางประการ เช่น เสรีภาพ สิทธิในการนับถือศาสนา บูรณภาพทางกายและทางจิต สิทธิในการเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิต และสิทธิในการมีชีวิต และศักดิ์ศรีอันนี้ย่อมถูกละเมิดในระดับสังคมและการเมือง หากว่าบุคคลไม่อาจใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม[ในการเมือง] หรือหากว่าบุคคลถูกบังคับข่มขู่โดยไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหากว่าบุคคลถูกทรมานไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ […] การที่พระศาสนจักรมีบทบาทในการปกป้องหรือส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นการที่พระศาสนจักรกระทำการโดยสอดคล้องกับพันธกิจของตน เพราะถึงแม้ว่าพระศาสนจักรจะมีความเป็นศาสนา ไม่ได้[เป็นองค์กร]ทางสังคมหรือการเมือง แต่พระศาสนจักรย่อมอดไม่ได้ที่จะคิดคำนึงถึงบุคคลในความมีตัวตนทั้งครบของเขา”[6]
5. ต่อมาเมื่อปี 2010 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก ได้มีพระดำรัสต่อสมณบัณฑิตยสภาเพื่อชีวิต ประกาศว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ “เป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและทรงกลับคืนพระชนม์ชีพได้ปกป้องคุ้มครองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ศักดิ์ศรีอันนี้ของผู้คนที่ต่ำต้อยและไร้หนทางป้องกันตัวเองมากที่สุดถูกละเลย” [7] พระองค์ได้ตรัสกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ในอีกวาระหนึ่งว่า “เศรษฐกิจและการคลังไม่ได้มีอยู่เพื่อตัวมันเอง หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือหรือวิธีการเท่านั้น เป้าหมายเดียว[ของเศรษฐกิจและการคลัง]คือบุคคลมนุษย์ ตลอดจนการที่ศักดิ์ศรีของเขาจะได้รับการเติมเต็มครบบริบูรณ์ นี่คือทุน คือเสาหลักประการเดียว และนี่คือสิทธิที่จะต้องได้รับการคุ้มครอง” [8]
6. นับแต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเริ่มต้นสมณสมัย พระองค์ได้ทรงเชื้อเชิญให้พระศาสนจักร “เชื่อในพระบิดาผู้ทรงรักชายหญิงทุกคนด้วยความรักอันพ้นประมาณ โดยให้รับรู้ว่า ‘ในการนี้ พระองค์ได้โปรดประทานศักดิ์ศรีอันพ้นประมาณแก่เขาทั้งหลาย’” [9] สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่มหาศาลนี้เป็นของประทานเริ่มแรกที่เราพึงต้องยอมรับด้วยใจซื่อสัตย์ และน้อมรับด้วยความขอบคุณ การยอมรับและน้อมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ย่อมจะเป็นพื้นฐานให้ผู้คนทั้งปวงได้สถาปนาหนทางแห่งการอยู่ร่วมกันในแบบใหม่ ในทางที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมภายในบริบทของความเป็นพี่น้องกันได้อย่างแท้จริง จริงทีเดียวว่า “การยอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคน” เป็นหนทางเดียวที่จะ “ทำประโยชน์เพื่อฟื้นฟูความมุ่งปรารถนาสู่ความเป็นพี่น้องกันอย่างสากลให้เกิดมีขึ้นใหม่ได้” [10] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงยืนยันว่า “พระวรสารของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นบ่อเกิดต้นธารของศักดิ์ศรีและความเป็นพี่น้องกันของมนุษย์” [11] ทว่าปัญญามนุษย์เองก็สามารถรับรู้ถึงความเชื่อมั่นประการนี้ได้เช่นกันโดยอาศัยการไตร่ตรองและการสานเสวนา เพราะว่า “ศักดิ์ศรีของผู้อื่นเป็นสิ่งที่จะต้องเคารพในทุกสภาวะแวดล้อม ทั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะว่าศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่พวกเราคิดค้นหรือจินตนาการขึ้นเอง หากแต่เป็นเพราะว่ามนุษย์ล้วนมีคุณค่าในตัวเองที่เหนือกว่าสิ่งของวัตถุใด ๆ และเหนือกว่าสถานการณ์ที่เป็นเพียงความบังเอิญใด ๆ สิ่งนี้เรียกร้องให้มนุษย์ได้รับการปฏิบัติ[เป็นพิเศษ]แตกต่างออกไป การที่มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจพรากไปได้นี้ เป็นความจริงที่สอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ โดยไม่ขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมใด ๆ ทั้งปวง” [12] สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงสรุปไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีอันเดียวกันที่ไม่อาจละเมิดได้ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดของประวัติศาสตร์ และย่อมไม่มีผู้ใดที่คิดไปเองได้ว่า สถานการณ์เฉพาะบางอย่างอาจเปิดทางให้ตนปฏิเสธความเชื่อมั่นอันนี้ หรือเปิดทางให้ตนปฏิบัติสวนทางกับความเชื่อมั่นอันนี้ได้” [13] หากพิจารณาเช่นนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าสมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นเสมือนธรรมนูญพื้นฐานสำหรับการที่เราทั้งหลายจะทำหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์
ข้อชื้แจงพื้นฐาน
7. ทุกวันนี้มีความคิดเห็นตรงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความสำคัญและขอบเขตเชิงบรรทัดฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าที่ไม่เหมือนใครและสำคัญเหนือกว่าสถานการณ์เฉพาะต่าง ๆ [14] อย่างไรก็ตาม คำว่า “ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์” เสี่ยงที่จะถูกตีความไปในหลายทางและอาจทำให้เกิดความคลุมเครือ[15] ตลอดจนอาจทำให้เกิด “ความขัดแย้งกันเองที่ทำให้เราสงสัยว่า ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน […] เป็นที่ยอมรับ เคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมในทุกสถานการณ์จริงหรือไม่” [16] สิ่งนี้ทำให้เรายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ในการแยกแยะข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีออกเป็น 4 ประการ ได้แก่ ศักดิ์ศรีเชิงภววิทยา ศักดิ์ศรีเชิงศีลธรรม ศักดิ์ศรีเชิงสังคม และศักดิ์ศรีเชิงการมีอยู่ของตัวตน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดใน 4 อย่างนี้ คือศักดิ์ศรีเชิงภววิทยา ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลมีอยู่โดยอาศัยเหตุเพียงอันเดียวเท่านั้น คือการที่เขามีตัวตน เป็นที่ปรารถนาของพระเจ้า ถูกสร้างโดยพระเจ้า และเป็นที่รักของพระเจ้า ศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลบล้างได้ และเป็นสิ่งที่มีอยู่เสมอไม่ว่าบุคคลจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมใด ๆ ขณะที่ศักดิ์ศรีเชิงจริยธรรมเป็นการกล่าวถึงเรื่องที่ว่าบุคคลใช้เสรีภาพของตนในทางใด โดยถึงแม้ว่าผู้คนจะได้รับมโนธรรมให้มีในตน แต่เขาก็อาจกระทำการขัดต่อมโนธรรมได้เสมอ อย่างไรก็ตาม หากเขาทำเช่นนั้น พฤติกรรมของเขาย่อม “ไม่สมศักดิ์ศรี” ในแง่ของธรรมชาติมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์เป็นสิ่งสร้างที่เป็นที่รักของพระเจ้าและถูกเรียกให้ไปรักผู้อื่นด้วย ทว่าเมื่อมนุษย์มีเสรีภาพ ก็มีความเป็นไปได้เสมอ[ว่าเขาอาจทำสิ่งที่ขัดต่อมโนธรรม] ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า เวลาที่บุคคลใช้เสรีภาพของตนในทางที่ขัดต่อพระบัญญัติแห่งความรักที่ได้รับการเผยแสดงในพระวรสาร เขาจะสามารถทำชั่วต่อผู้อื่นได้อย่างมากมายและลึกซึ้งเพียงใด คนที่ทำแบบนี้ย่อมดูเหมือนว่าจะสูญเสียมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีไปจนหมดสิ้นไม่เหลือร่องรอย ในกรณีแบบนี้เองที่การจัดประเภทแบบนี้จะช่วยให้เราคิดแยกแยะระหว่างศักดิ์ศรีเชิงศีลธรรม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจ “สูญเสีย” ไปได้ กับศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาซึ่งไม่อาจลบล้างไปได้เลย ซึ่งศักดิ์ศรีอย่างหลังนี้เองที่เป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดเราจึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ผู้คนที่ทำชั่วได้สำนึกผิดและกลับใจ
8. ยังมีแง่มุมเรื่องศักดิ์ศรีอีก 2 ประการที่จะพิจารณา กล่าวคือ ศักดิ์ศรีเชิงสังคม และศักดิ์ศรีเชิงการมีอยู่ของตัวตน การพูดถึงศักดิ์ศรีเชิงสังคมเป็นการกล่าวถึงคุณภาพของเงื่อนไขการดำรงชีพของบุคคล ตัวอย่างเช่น ในกรณีคนยากไร้อย่างถึงขีดสุด เมื่อเขาไม่มีแม้กระทั่งสิ่งจำเป็นขั้นต่ำสำหรับการดำรงชีพให้สมกับศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาของตน ก็ย่อมกล่าวได้ว่าคนยากไร้เช่นนี้กำลังมีชีวิตอย่าง “ไม่สมศักดิ์ศรี” คำพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการตัดสินถูกผิดต่อบุคคล หากแต่เป็นการเน้นว่าเขาถูกบีบบังคับให้ดำรงชีวิตอยู่ภายในสถานการณ์ที่ขัดต่อศักดิ์ศรีอันไม่มีผู้ใดพรากไปได้ของเขา ความหมาย[ของศักดิ์ศรี]อย่างสุดท้าย คือ ศักดิ์ศรีเชิงการมีอยู่ของตัวตน ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีประเภทที่มีการกล่าวถึงเป็นนัยภายในการถกเถียงที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับชีวิตที่ “สมศักดิ์ศรี” และชีวิตที่ “ไม่สมศักดิ์ศรี” ตัวอย่างเช่น บางคนอาจดูเหมือนว่าไม่ได้ขาดแคลนสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต แต่มีเหตุผลบางประการที่ทำให้เขาประสบความยากลำบากในการมีชีวิตด้วยความสงบสุข ด้วยความปิติยินดี หรือด้วยความหวัง หรืออาจมีกรณีอื่น ๆ เช่น อาจมีโรคร้ายบางอย่าง ภาวะแวดล้อมในครอบครัวที่มีความรุนแรง การเสพติดบางอย่างถึงขั้นเป็นโรค หรือความยากลำบากบางอย่าง ที่ผลักดันให้ผู้คนรู้สึกว่าเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิตของตนนั้น “ไม่สมศักดิ์ศรี” เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาซึ่งไม่มีอะไรสามารถบดบังได้ การแยกแยะจัดประเภทเช่นนี้ย้ำเตือนให้เราทั้งหลายตระหนักถึงคุณค่าที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ของศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาซึ่งมีรากฐานฝังอยู่ในการมีตัวตนของมนุษย์ [ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบใด]
9. ท้ายสุด เป็นการดีที่จะกล่าวประกอบด้วยว่า นิยามตามแบบฉบับอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวว่า บุคคล คือ “แก่นสารปัจเจกแห่งธรรมชาติที่มีปัญญารู้คิด” [17] เป็นสิ่งที่เผยให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งใดเป็นพื้นฐานแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ กล่าวคือ การที่บุคคลเป็น “แก่นสารปัจเจก” ทำให้เขามีศักดิ์ศรีเชิงภววิทยา (กล่าวคือ ในการมีตัวตนเป็นของตัวเองในระดับอภิปรัชญา) เมื่อมนุษย์มีตัวตนที่ได้รับมาจากพระเจ้า เขาย่อมจะเป็นผู้กระทำที่ “เป็นแก่นสาร” กล่าวคือ เขาย่อมมีตัวตนที่กำหนดใจตนเองได้ ขณะที่คำว่า “ปัญญารู้คิด” เป็นสิ่งที่ครอบคลุมถึงศักยภาพทั้งปวงของบุคคลมนุษย์ ซึ่งรวมถึงศักยภาพในการคิดและการเข้าใจ ตลอดจนการมีความต้องการ การมีความรัก การเลือก และการโหยหาปรารถนา นอกจากนี้ยังรวมถึงการกระทำต่าง ๆ ทางกายที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับศักยภาพประการต่าง ๆ ข้างต้นด้วย ส่วนคำว่า “ธรรมชาติ” เป็นคำที่กล่าวถึงเงื่อนไขเฉพาะของเราทั้งหลายในฐานะที่เป็นมนุษย์ เงื่อนไขเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งมีประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับการกระทำเหล่านั้นได้ ในความหมายนี้ ธรรมชาติจึงเป็น “หลักการของการกระทำ” เราทั้งหลายไม่ได้สร้างธรรมชาติของเราขึ้นมาเอง เราได้รับธรรมชาตินี้เป็นของประทาน ขณะที่เราเองสามารถบ่มเพาะเลี้ยงดู พัฒนา และขยายความสามารถต่าง ๆ ของเราได้ การใช้อิสรภาพเพื่อบำรุงเลี้ยงดูสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่าภายในธรรมชาติของเรา ย่อมทำให้เราได้เติบโตขึ้นตามกาลเวลา แต่ถึงแม้ว่าข้อจำกัดหรือเงื่อนไขบางอย่างอาจทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนได้ แต่เขาก็ย่อมมีตัวตนอยู่เสมอในฐานะ “แก่นสารปัจเจก” ซึ่งมีศักดิ์ศรีอย่างสมบูรณ์และไม่มีผู้ใดพรากไปได้ เราสามารถกล่าวแบบนี้ได้เหมือนกัน เช่น ในกรณีของทารกในครรภ์ ผู้คนที่ไม่รู้สึกตัว หรือคนชราที่ประสบความลำบาก[เพราะร่างกายทำงานไม่ดี]
1. ความตระหนักรู้มากขึ้นถึงการที่ศักดิ์ศรีของมนุษย์มีความเป็นศูนย์กลาง
10. แม้กระทั่งใน[โลกกรีกและโรมันโบราณ] [18] ก็ได้มีรูปแบบหนึ่งของการหยั่งรู้ถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ อันเป็นการต่อยอดจากมุมมองทางสังคมที่ว่า บุคคลแต่ละคนมีศักดิ์ศรีเป็นของตัวเอง โดยอิงตามตำแหน่งสูงต่ำและสถานะภายในระเบียบบางอย่างที่มีการวางรากฐานไว้ คำว่า “ศักดิ์ศรี” ในความหมายนี้มีต้นกำเนิดมาจากกรอบของสังคม และในยุคนั้นเป็นคำที่ถูกใช้เพื่ออธิบายถึงศักดิ์ศรีที่แต่ละคนแต่ละสิ่งมีอยู่สูงต่ำแตกต่างกันไปภายในจักรวาล มุมมองเช่นนี้ถือว่าทุกสิ่งล้วนมี “ศักดิ์ศรี” เป็นของตน ตามตำแหน่งฐานะที่เขามีอยู่ภายในความสอดประสานขององค์รวม ความคิดแบบโบราณนี้ได้มาถึงจุดสูงสุดอย่างหนึ่งเมื่อมีการเริ่มยอมรับว่ามนุษย์มีสถานะพิเศษที่สิ่งอื่นไม่มี อันเนื่องมาจากการที่มนุษย์มีปัญญารู้คิด และสามารถรับผิดชอบต่อตนเองและต่อผู้อื่นได้ภายในโลก[19] อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบนี้ยังอยู่ห่างไกลจากวิธีคิดที่สามารถวางพื้นฐานสำหรับการให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนในทุกสถานการณ์ได้
มุมมองตามแนวพระคัมภีร์
11. การเผยแสดงในพระคัมภีร์สอนว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีในตนเอง เหตุว่าเขาถูกสร้างขึ้นในภาพลักษณ์ของพระเจ้า ให้คล้ายคลึงกับพระเจ้า “พระเจ้าตรัสว่า ‘เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา’ […] พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก. 1,26-27) ดังนั้น มนุษยชาติจึงมีลักษณะเฉพาะ และหมายความว่าเขาไม่อาจถูกลดทอนให้เป็นเพียงสสารเชิงวัตถุ นอกจากนี้ คำว่า “ภาพลักษณ์” ก็ไม่ได้เป็นการให้นิยามถึงวิญญาณหรือความสามารถด้านสติปัญญา หากแต่หมายถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ชายหญิง ซึ่งทั้งชายและหญิงก็ต่างเป็นตัวแทนของพระเจ้าในโลกนี้ ภายในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและมีความรักให้แก่กันและกัน นอกจากนี้ชายหญิงยังถูกเรียกให้ทะนุถนอมและบำรุงเลี้ยงดูโลกนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง การถูกสร้างขึ้นในภาพลักษณ์ของพระเจ้า จึงหมายความถึงการมีคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่เหนือความแตกต่างทั้งปวง ทั้งความแตกต่างทางเพศ ทางสังคม ทางการเมือง ทางวัฒนธรรม และทางศาสนา ศักดิ์ศรีของเราทั้งหลายเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะอ้างถือเอาได้เอง หรือมองว่าเป็นสิ่งที่ตนเองสมควรได้รับ มนุษย์ทุกคนเป็นที่รักและเป็นที่ปรารถนาของพระเจ้า สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์มีศักดิ์ศรีซึ่งไม่มีผู้ใดพรากไปได้ ในหนังสืออพยพ พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เองว่า ทรงเป็นผู้ที่เงี่ยหูรับฟังเสียงคร่ำครวญของคนยากไร้ ทรงเห็นความทุกข์ยากของประชากรของพระองค์ และทรงเอาพระทัยใส่บรรดาผู้ต่ำต้อยและผู้ถูกกดขี่ (เทียบ อพย. 3,7; 22,20-26) คำสอนแบบเดียวกันนี้ยังเห็นได้จากกฎเกณฑ์ที่รวบรวมไว้ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (เทียบ บทที่ 12-26) ในที่นี้ คำสอนเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ถูกแปรสภาพเป็นคำประกาศถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาใจใส่ต่อบุคคลสามจำพวก ได้แก่ เด็กกำพร้า หญิงม่าย และคนต่างชาติต่างถิ่น (เทียบ ฉธบ. 24,17) ขณะที่ในการประกาศของบรรดาประกาศกซึ่งเป็นตัวแทนของมโนธรรมเชิงวิพากษ์ของประชากรชาวอิสราเอล ได้มีการนำพระบัญญัติเก่าแก่ในหนังสืออพยพมาเป็นเครื่องเตือนใจและประยุกต์ให้เหมาะกับกาลสมัย หนังสือประกาศกอาโมส อิสยาห์ มีคาห์ และเยเรมีย์ ล้วนมีเนื้อหายาวทั้งบทที่เป็นการประณามความอยุติธรรม ประกาศกอาโมสได้วิจารณ์อย่างขมขื่นรุนแรงต่อการกดขี่คนยากไร้ และต่อการที่ผู้คนที่ฟังท่านอยู่ต่างมองไม่เห็นถึงศักดิ์ศรีพื้นฐานของมนุษย์ภายในผู้คนที่ตกระกำลำบาก (เทียบ อมส. 2,6-7; 4,1; 5,11-12) ประกาศกอิสยาห์ได้สาปแช่งผู้คนที่เหยียบย่ำสิทธิของคนยากไร้และไม่ให้ความยุติธรรมใด ๆ แก่พวกเขา “วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่ออกข้อกำหนดอยุติธรรม และรีบเขียนคำตัดสินที่ข่มเหงผู้อื่น เพื่อกันคนจนมิให้ได้รับความยุติธรรม” (อสย. 10,1-2) คำสอนของบรรดาประกาศกได้ดังก้องอยู่ในวรรณกรรมปรีชาญาณด้วย ตัวอย่างเช่น บุตรสิราได้เปรียบเทียบการกดขี่คนยากไร้ว่าเหมือนกับการฆ่าคน “ผู้แย่งชิงอาหารประทังชีวิตของผู้อื่นไป ก็เท่ากับฆ่าเขา ผู้ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ก็เท่ากับหลั่งโลหิตของเขา” (บสร. 34,22) ในหนังสือเพลงสดุดี การคุ้มครองคนอ่อนแอและคนยากไร้[ถูกมองว่า]เป็นหนทางหนึ่งในการเข้าไปมีความสัมพันธ์ทางศาสนากับพระเจ้า “จงให้ความยุติธรรมแก่ผู้อ่อนแอและลูกกำพร้า จงปกป้องคนยากจนและผู้ถูกข่มเหงเถิด จงช่วยผู้อ่อนแอและผู้ขัดสน จงช่วยเขาให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของคนชั่วร้าย” (สดด. 82,3-4)
12. พระเยซูเจ้าผู้ทรงบังเกิดและได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตในสภาวะอันต่ำต้อย ได้ทรงเผยถึงศักดิ์ศรีของคนยากไร้และคนที่ต้องทนเหน็ดเหนื่อยลำบาก[20] ตลอดเวลาที่พระองค์ทรงออกสั่งสอนผู้คน พระองค์ได้ทรงยืนยันถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกคนผู้เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า ไม่ว่าเขาจะมีสถานะทางสังคมแบบใด หรืออยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมแบบใดก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงทำลายกำแพงขวางกั้นทางวัฒนธรรมและทางศาสนา ทรงฟื้นฟูศักดิ์ศรีแก่ผู้คนที่ถูก “ปฏิเสธ” หรือถูกมองว่าอยู่ในชายขอบของสังคม เช่น คนเก็บภาษี (เทียบ มธ. 9,10-11) ผู้หญิง (เทียบ ยน. 4.1-42) เด็ก (เทียบ มก. 10,14-15) คนเป็นโรคเรื้อน (เทียบ มธ. 8,2-3) คนป่วย (เทียบ มก. 1,29-34) คนต่างชาติต่างถิ่น (เทียบ มธ. 25,35) และหญิงม่าย (เทียบ ลก. 7,11-15) พระองค์ทรงเยียวยาเขา ประทานอาหารแก่เขา ปกป้องเขา ปลดปล่อยเขา และทรงช่วยเขาให้รอด [พระคัมภีร์กล่าวว่า]พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ห่วงกังวลถึงแกะตัวเดียวที่พลัดหลง (เทียบ มธ. 18,12-14) พระองค์ทรงแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุด “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ. 25,40) “ผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด” ในพระคัมภีร์นั้นไม่ได้มีเพียงเด็ก ๆ แต่ยังรวมถึงคนที่เปราะบาง คนที่ดูไม่มีความสำคัญ คนที่ถูกกีดกันจากสังคม คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง คนที่ถูกทอดทิ้ง คนยากไร้ คนที่ถูกบีบให้อยู่ในชายขอบ คนที่ไม่มีการศึกษา คนป่วย และคนที่ถูกเหยียบย่ำโดยผู้มีอำนาจ เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ พระองค์จะทรงตัดสินโดยใช้ความรักต่อเพื่อนบ้านเป็นเกณฑ์ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือการรับใช้คนหิวโหย คนกระหาย คนต่างชาติต่างถิ่น คนไม่มีเครื่องนุ่งห่ม คนป่วย และคนถูกคุมขัง ซึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนเหล่านี้ (เทียบ มธ. 25,34-36) สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว เงื่อนไขประการเดียวในการพิพากษาของพระองค์ คือ กิจการดีที่ได้มีการกระทำต่อมนุษย์ทุกคน โดยไม่เกี่ยวกับว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือความเชื่อศาสนาแบบใด นักบุญเปาโลอัครสาวกได้ยืนยันว่า คริสตชนทุกคนต้องเจริญชีวิตให้สอดคล้องกับศักดิ์ศรีและกับการเคารพต่อสิทธิของคนทุกคน (เทียบ รม. 13,8-10) โดยเป็นไปตามพระบัญญัติใหม่แห่งความรัก (เทียบ 1 คร. 13,1-13)
พัฒนาการในแนวคิดของคริสต์ศาสนา
13. พัฒนาการของแนวคิดแบบคริสต์ศาสนา ได้เป็นสิ่งที่กระตุ้นและอยู่เคียงข้างความก้าวหน้าในการที่มนุษยชาติใคร่ครวญไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีด้วย มานุษยวิทยาแบบคริสต์ศาสนาในยุคโบราณ ซึ่งมีพื้นฐานบนธรรมประเพณีอันร่ำรวยของบรรดาปิตาจารย์ ได้เน้นถึงหลักคำสอนที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นในภาพลักษณ์ของพระเจ้าให้คล้ายคลึงกับพระองค์ และว่ามนุษย์มีบทบาทเฉพาะไม่เหมือนใครในบรรดาสิ่งสร้าง[21] ขณะที่แนวคิดของคริสต์ศาสนาในยุคกลางได้ใช้วิธีคิดเชิงวิพากษ์ในการกลั่นกรองมรดกต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากปรัชญาในยุคโบราณ และนำไปสู่การสังเคราะห์ความคิดว่าด้วย “บุคคล” ในแนวทางที่เป็นการรับรู้และยอมรับว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ตั้งอยู่บนพื้นฐานเชิงอภิปรัชญา นักบุญโทมัส อควีนัส ได้บ่งชี้ถึงสิ่งนี้ภายในคำกล่าวของท่านที่ยืนยันว่า “’บุคคล’ หมายถึงสิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดในธรรมชาติทั้งมวล กล่าวคือ ปัจเจกที่มีแก่นสาร แห่งธรรมชาติที่มีปัญญารู้คิด” [22] ซึ่งในเวลาต่อมา แนวคิดมนุษยนิยมแบบคริสต์ศาสนาในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้เน้นถึงศักดิ์ศรีเชิงภววิทยาอันนี้ ตลอดจนการแสดงออกซึ่งศักดิ์ศรีเช่นนี้ภายในการกระทำโดยเสรีของมนุษย์[23] โดยแม้กระทั่งภายในงานเขียนของนักคิดยุคใหม่ เช่น [เรอเน] เดการ์ต และ[อิมมานูเอล] คานท์ ซึ่งได้ท้าทายพื้นฐานบางประการของมานุษยวิทยาแนวคริสต์ศาสนาแบบดั้งเดิม ก็ยังเห็นได้อย่างมากว่าการเผยแสดงยังคงดังก้องอยู่ในนั้น นอกจากนี้ การพิจารณาต่อยอดจากความคิดไตร่ตรองบางประการเมื่อไม่นานนี้ในเรื่องที่ว่า อัตวิสัยในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัตินั้นมีสถานะอย่างไร ก็ได้ทำให้แนวคิดแห่งการไตร่ตรองในแนวคริสต์ศาสนาได้หันมาเน้นถึงความล้ำลึกของข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีมากยิ่งขึ้น โดยในศตวรรษที่ 20 แนวคิดเช่นนี้ได้ไปถึงจุดที่เป็นมุมมองอย่างใหม่ต่างจากที่เคยมีมา (เช่น แนวคิดบุคคลนิยม) โดยเป็นการยกคำถามเกี่ยวกับอัตวิสัยมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และได้ขยายวงต่อยอดไปจนครอบคลุมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัตวิสัยของบุคคลหลายคน ตลอดจนเรื่องความสัมพันธ์ที่เชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน[24] แนวคิดที่หลั่งไหลมาจากมุมมองลักษณะนี้ได้ทำให้แนวคิดร่วมสมัยในสาขามานุษยวิทยาแบบคริสต์ศาสนามีความร่ำรวยยิ่งขึ้น
ยุคปัจจุบัน
14. ทุกวันนี้ คำว่า “ศักดิ์ศรี” มักถูกใช้ในการเน้นถึงความพิเศษเฉพาะของบุคคลมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถเทียบได้กับสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาลนี้ มุมมองเช่นนี้ช่วยให้เราทั้งหลายเข้าใจได้ว่า ปฏิญญาของสหประชาชาติในปี 1948 ซึ่งได้กล่าวถึง “ศักดิ์ศรีที่มีอยู่ในตัว และสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่อาจพรากไปได้ของสมาชิกทั้งมวลแห่งครอบครัวมนุษยชาติ” ได้ใช้คำว่า “ศักดิ์ศรี” ในแบบใด ซึ่งหนทางเดียวที่ทำให้การพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นไปได้ คือ[การถือว่า]ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้[26]
15. เพื่อให้ข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีมีความชัดเจนยิ่งขึ้น มีความจำเป็นจะต้องชี้ว่า ศักดิ์ศรีไม่ใช่สิ่งที่บุคคลหนึ่งได้รับจากผู้อื่นด้วยเหตุว่าเขามีความสามารถหรือคุณลักษณะบางอย่าง เพราะหากเป็นเช่นนั้น การเพิกถอน[ซึ่งศักดิ์ศรี]ก็อาจทำได้เช่นกัน หาก[ศักดิ์ศรี]เป็นสิ่งที่ได้รับมอบจากผู้อื่น การมอบนั้นก็อาจอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง และ[สิ่งที่ได้รับมอบก็]อาจถูกพรากไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น (ถึงแม้ว่าศักดิ์ศรีจะสมควรเป็นที่เคารพอย่างมาก แต่)ความหมายของศักดิ์ศรีก็ยังจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกล้มเลิกไป แท้จริงแล้วศักดิ์ศรีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้รับมอบในภายหลัง แต่เป็นสิ่งที่มีมาก่อนหน้าการรับรองใด ๆ ทั้งยังไม่อาจสูญเสียไปได้อีกด้วย มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีในตนเองอันนี้แบบเดียวกัน ไม่ว่าเขาจะแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของตนอย่างเหมาะสมได้หรือไม่ก็ตาม
16. ด้วยเหตุนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่สอง จึงได้กล่าวถึง “ศักดิ์ศรีอันสูงส่งของบุคคลมนุษย์ ผู้ซึ่งอยู่เหนือสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด และมีสิทธิและหน้าที่ที่เป็นสากลและไม่มีผู้ใดล่วงละเมิดได้” [27] ถ้อยคำแรกของคำประกาศ Dignitatis Humanae ของสภาสังคายนาได้เตือนใจไว้ว่า “ผู้คนร่วมสมัยกำลังมีความตระหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกร้องว่ามนุษย์ควรจะสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยมีเสรีภาพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบในการกระทำของตน และยังเรียกร้องว่าจะต้องไม่ให้มนุษย์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของการข่มขู่บังคับ หากแต่ควรให้เขาได้รับแรงบันดาลใจจากจิตสำนึกถึงหน้าที่” [28] เสรีภาพแห่งความคิดและมโนธรรมเช่นนี้ ทั้งในระดับปัจเจกและระดับประชาคม มีพื้นฐานบนการยอมรับซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ “ดังที่เป็นที่รับรู้ผ่านทางพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับการเผยแสดง และโดยการใช้ปัญญาในตัวเอง” [29] อำนาจสอนของพระศาสนจักรได้มีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอนในการทำความเข้าใจมากขึ้นต่อความหมายแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ตลอดจนต่อความจำเป็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผลที่สืบเนื่องจากศักดิ์ศรีของมนุษย์ จนกระทั่งได้มาถึงจุดที่มีการรับรองว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่เหนือสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งปวง
2. พระศาสนจักรประกาศ ส่งเสริม และเป็นหลักประกันสำหรับศักดิ์ศรีของมนุษย์
17. พระศาสนจักรประกาศว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตแบบใด หรือเป็นคนแบบใดก็ตาม คำประกาศนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่น 3 ประการ ที่เมื่อพิจารณาโดยอาศัยแสงสว่างของความเชื่อคริสต์ศาสนา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์มีคุณค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้ และยังเป็นสิ่งที่สนับสนุนข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่มาจากภายในตัวศักดิ์ศรีเองด้วย
ภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ไม่อาจลบล้างได้
18. ความเชื่อมั่นข้อแรกที่มาจากการเผยแสดง ถือว่าศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์มีที่มาจากความรักของพระผู้สร้าง ผู้ทรงประทับรอยลักษณะต่าง ๆ ที่มาจากภาพลักษณ์ของพระองค์ไว้ให้แก่บุคคลทุกคนโดยไม่อาจลบล้างได้ (เทียบ ปฐก. 1,26) พระผู้สร้างทรงเรียกให้แต่ละคนมารู้จักพระองค์ รักพระองค์ และเจริญชีวิตภายในความสัมพันธ์แห่งพันธสัญญาอยู่ร่วมกับพระองค์ และในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเรียกให้บุคคลอยู่ร่วมกันกับผู้คนอื่น ๆ ทั้งหมดด้วยความเป็นพี่น้องกัน ความยุติธรรม และสันติภาพด้วย ในแง่มุมนี้ ศักดิ์ศรีจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของวิญญาณเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับบุคคลในฐานะที่เป็นเอกภาพระหว่างร่างกายและจิตใจที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อีกด้วย ดังนั้น ศักดิ์ศรีจึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในร่างกายของแต่ละคนด้วย ขณะที่ร่างกายของแต่ละคนต่างมีส่วนร่วมในแบบของตนในการเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า และยังถูกเรียกให้ไปรับสิริรุ่งโรจน์ร่วมกับวิญญาณภายในบรมสุขของพระเจ้าด้วยเช่นกัน
พระคริสตเจ้าทรงยกศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้สูงส่ง
19. ความเชื่อมั่นข้อที่สองมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับการเผยแสดงอย่างเต็มบริบูรณ์ เมื่อพระบิดาได้ส่งพระบุตรของพระองค์ให้มารับตัวตนแบบมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม “ภายในพระธรรมล้ำลึกแห่งการรับสภาพมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงยืนยันศักดิ์ศรีของร่างกายและวิญญาณที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของมนุษย์”[30] ในการที่พระองค์ทรงมาเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคนผ่านการรับสภาพมนุษย์ พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงยืนยันว่าบุคคลแต่ละคนมีศักดิ์ศรีอันไม่อาจประมาณได้ ด้วยเหตุเพียงประการเดียว คือการที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมมนุษยชาติ นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงยืนยันด้วยว่า ศักดิ์ศรีอันนี้ย่อมไม่อาจสูญเสียไปได้เลย[31] พระเยซูเจ้าได้ทรงประกาศว่าอาณาจักรพระเจ้าเป็นของคนยากจน คนต่ำต้อย คนที่ถูกเหยียดหยามรังเกียจ และคนที่ทุกข์ทรมานในทางร่างกายและจิตใจ พระองค์ได้ทรงเยียวยาความเจ็บป่วยทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่อาการป่วยที่น่าสะเทือนใจที่สุด เช่น โรคเรื้อน พระองค์ทรงยืนยันว่าสิ่งใดก็ตามที่มีการกระทำต่อคนเหล่านี้ สิ่งนั้นก็เป็นการกระทำต่อพระองค์ด้วย เรื่องต่าง ๆ ข้างต้นทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นหนทางที่พระเยซูเจ้าได้ทรงนำมาซึ่งความใหม่อันยิ่งใหญ่ คือการยอมรับศักดิ์ศรีในบุคคลทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ถูกมองว่า “ไม่สมควร” หลักการใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ข้อนี้เน้นว่าผู้คนที่อ่อนแอ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือกำลังทุกข์ทรมานจนกระทั่งสูญเสีย “รูปลักษณ์” อย่างมนุษย์ไป เป็นผู้คนที่ยิ่งจะ “สมควร” เป็นที่รักและเคารพมากขึ้นไปอีก หลักการอันนี้ได้พลิกโฉมหน้าของโลก นำชีวิตชีวามาสู่สถาบันต่าง ๆ ที่ดูแลคนตกทุกข์ได้ยาก เช่น เด็กทารกที่ถูกทอดทิ้ง เด็กกำพร้า คนแก่ที่ถูกทอดทิ้งไม่มีใครช่วยเหลือ ผู้ป่วยทางจิต คนป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา คนที่พิการผิดรูปอย่างรุนแรง และคนที่ต้องใช้ชีวิตตามท้องถนน
กระแสเรียกสู่ความบริบูรณ์แห่งศักดิ์ศรี
20. ความเชื่อมั่นข้อที่สามเกี่ยวข้องกับชะตาชีวิตในท้ายที่สุดของมนุษย์ โดยหลังจากที่มีการเนรมิตสร้างและการรับสภาพมนุษย์แล้ว การฟื้นคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าก็ยังได้เผยถึงอีกแง่มุมหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จริงทีเดียวว่า “เหนือสิ่งอื่นใด ศักดิ์ศรีของมนุษย์มีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ว่า เขาถูกเรียกให้มีความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า” [32] ซึ่ง[เป็นความสนิทสัมพันธ์ที่]ถูกลิขิตไว้ให้เป็นนิรันดร ดังนั้น ศักดิ์ศรีของชีวิตในโลกนี้ จึงไม่ได้มีเฉพาะความเชื่อมโยงกับจุดเริ่มต้น กล่าวคือ การที่มีที่มาจากพระเจ้าเท่านั้น หากแต่ยังเชื่อมโยงกับจุดหมายปลายทางในท้ายที่สุดด้วย กล่าวคือ ในความใกล้ชิดสนิทกับพระเจ้าภายในการที่ได้รู้จักและรักพระองค์ ความจริงอันนี้เป็นแสงสว่างบันดาลใจให้นักบุญอีเรเนโอกล่าวยกย่องเกียรติยศของมนุษย์ไว้อย่างบริบูรณ์ว่า “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” คือ “มนุษย์ มนุษย์ผู้มีชีวิต” แต่ท่านได้กล่าวเสริมด้วยว่า “ชีวิตของมนุษย์คือการได้เห็นพระเจ้า”[33]
21. ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสนจักรจึงเชื่อและยืนยันว่า มนุษย์ทุกคนซึ่งถูกสร้างในภาพลักษณ์ของพระเจ้าให้คล้ายคลึงกับพระองค์ ทั้งยังถูกสร้างใหม่ในพระบุตร ผู้เสด็จมาเป็นมนุษย์ ทรงถูกตรึงกางเขน และกลับคืนพระชนม์ชีพขึ้นใหม่ ล้วนได้รับกระแสเรียกให้เติบโต อาศัยกิจการของพระจิต เพื่อที่เขาจะเป็นภาพสะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดาในภาพลักษณ์ของพระองค์ และเพื่อที่เขาจะมีส่วนในชีวิตนิรันดร (เทียบ ยน. 10,15-16, 17,22-24; 2 คร. 3,18; อฟ. 1,3-14) จริงทีเดียวว่า “การเผยแสดง […] ได้เผยถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเต็มที่ครบบริบูรณ์” [35]
ความมุ่งมั่นเพื่อเสรีภาพของปัจเจก
22. ปัจเจกทุกคนมีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจพรากไปได้อยู่ในตนเอง เขาได้รับศักดิ์ศรีเป็นของประทานที่ไม่สามารถเพิกถอนเอาคืนได้นับตั้งแต่ที่เขาเริ่มมีตัวตน อย่างไรก็ตาม การเลือกว่าจะแสดงออกซึ่งศักดิ์ศรีให้ปรากฏชัดอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ หรือว่าจะบดบังศักดิ์ศรีนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจโดยเสรีและมีความรับผิดชอบของแต่ละคน ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรบางท่าน เช่น นักบุญอีเรเนโอ และนักบุญยอห์นแห่งดามัสกัส ได้แยกแยะระหว่าง “ภาพลักษณ์” กับ “ความคล้ายคลึง” ที่กล่าวถึงในหนังสือปฐมกาล (เทียบ ปฐก. 1,26) การคิดเช่นนี้ช่วยเปิดมุมมองอย่างหนึ่งที่มีพลวัตเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ กล่าวคือความเข้าใจที่ว่า ภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้ถูกมอบไว้ให้มีอยู่ในเสรีภาพของมนุษย์ เพื่อที่ความคล้ายคลึงกับพระเจ้าจะได้เติบโตและทำให้คนแต่ละคนได้ไปถึงศักดิ์ศรีอันสูงสุดของตน ทั้งนี้ อาศัยการทรงนำและกิจการของพระจิตเจ้า[36] ผู้คนทั้งมวลถูกเรียกให้แสดงออกซึ่งขอบข่ายเชิงภววิทยาแห่งศักดิ์ศรีของเขา ทั้งในระดับของการมีตัวตน และในระดับของศีลธรรม ขณะที่เขาใช้เสรีภาพเพื่อกำหนดทิศทางของตนให้มุ่งสู่ความดีแท้จริงเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความรักของพระเจ้า ดังนั้น ในฐานะที่บุคคลมนุษย์ถูกสร้างขึ้นในภาพลักษณ์ของพระเจ้า เขาย่อมจะไม่มีทางสูญเสียศักดิ์ศรีของตนไปได้ และเขาย่อมถูกเรียกอยู่เสมอไม่หยุดหย่อนให้น้อมรับความดีด้วยจิตใจอันเสรี แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งบุคคลตอบสนองต่อความดีมากเท่าใด ศักดิ์ศรีของปัจเจกคนดังกล่าวก็อาจปรากฏขึ้นอย่างเสรี มีพลวัต และมีความก้าวหน้า ทั้งยังอาจเติบโตและเจริญเต็มวัยขึ้นผ่านทางแนวทางเหล่านี้ได้มากเท่านั้น ดังนั้น บุคคลแต่ละคนจึงต้องดิ้นรนพยายามเจริญชีวิตให้สมกับศักดิ์ศรีของตนอย่างเต็มที่ ในแง่มุมนี้ เราทั้งหลายย่อมเข้าใจได้ว่า บาปทำร้ายและบดบังศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างไร เพราะว่าบาปเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับศักดิ์ศรีอันนี้ อย่างไรก็ตาม บาปย่อมไม่มีทางที่จะสามารถล้มล้างข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาในภาพลักษณ์ของพระเจ้าและให้คล้ายคลึงกับพระองค์ ในแง่นี้ ความเชื่อจึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งยวดในการช่วยให้ปัญญาสามารถรับรู้ได้ถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ ตลอดจนในการน้อมรับ เสริมสร้าง และชี้แจงลักษณะที่สำคัญประการต่าง ๆ แห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้ชัดเจน ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกได้ทรงชี้ไว้ว่า “อย่างไรก็ตาม หากไม่มีศาสนาเป็นเครื่องชี้ทางที่ถูกต้อง ปัญญาก็อาจตกเป็นเหยื่อของการบิดเบือนได้ ดังเช่นในกรณีที่ปัญญาถูกชักใยด้วยอุดมการณ์บางอย่าง หรือถูกนำไปปรับใช้ในบางแนวทางที่ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเต็มที่ เพราะว่าอันที่จริงแล้ว การใช้ปัญญาในทางที่ผิดนี้เองที่ได้นำไปสู่การค้าทาส ตลอดจนก่อให้เกิดความชั่วทางสังคมประการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมการณ์แบบเผด็จการหลายรูปแบบในศตวรรษที่ 20”[37]
3. ศักดิ์ศรีในฐานะพื้นฐานของสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ของมนุษย์
23. ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงชี้ว่า “ในวัฒนธรรมยุคใหม่ สิ่งที่เป็นการอ้างถึงอย่างใกล้เคียงที่สุดกับหลักการแห่งศักดิ์ศรีของบุคคลที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ คือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งนักบุญยอห์น ปอลที่สองได้ตรัสไว้ว่า ‘เป็นหลักบอกระยะทางอันหนึ่งบนเส้นทางอันยาวไกลและยากลำบากของมนุษยชาติ’ และเป็น ‘หนึ่งในการแสดงออกอย่างสูงสุดซึ่งมโนธรรมของมนุษย์’” [38] ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อต้านความพยายามที่จะดัดแปลงหรือลบล้างความหมายอันลึกซึ้งของปฏิญญาอันนั้น ก็ย่อมเป็นการดีที่จะกล่าวถึงหลักการสำคัญบางประการซึ่งพึงต้องเคารพอยู่เสมอ
การให้ความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์
24. ประการแรก ถึงแม้ว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์จะมีมากขึ้น แต่ความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับข้อความคิดอันนี้ยังคงบิดเบือนความหมายของ[ศักดิ์ศรีของมนุษย์] บางคนเสนอว่าเป็นการดียิ่งกว่า หากจะใช้คำว่า “ศักดิ์ศรีส่วนบุคคล” (และสิทธิ “ของบุคคล”) แทนคำว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์” (และสิทธิ “มนุษยชน”) เพราะเขาเข้าใจว่า “บุคคล” เป็นเพียงผู้เดียวที่ “สามารถใช้ปัญญาคิดหาเหตุผล” จากนั้นเขาก็อภิปรายต่อไปว่าศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ ล้วนมีที่มาจากศักยภาพของปัจเจกในการมีความรู้และการมีเสรีภาพ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์มีกันได้ทุกคน เช่นนี้แล้ว คนจำพวกนี้จึงมีความคิดว่า ทารกในครรภ์ย่อมไม่มีศักดิ์ศรีส่วนบุคคล เช่นเดียวกับคนชราที่ต้องพึ่งพาคนอื่น หรือปัจเจกที่มีความพิการทางจิต[39] แต่ในทางตรงข้าม พระศาสนจักรเน้นย้ำถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคน ด้วยเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตน และยังคงดำรงอยู่ “ในทุกสภาวะแวดล้อม” การยอมรับศักดิ์ศรีอันนี้ไม่อาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินเรื่องความสามารถของบุคคลในการเข้าใจและกระทำการต่าง ๆ ได้อย่างเสรี เพราะหากเป็นเช่นนั้น ศักดิ์ศรีก็ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในบุคคล และย่อมไม่ใช่สิ่งที่สมควรต้องให้ความเคารพโดยปราศจากเงื่อนไข โดยแยกต่างหากจากสถานการณ์ของปัจเจกนั้น การยอมรับถึงศักดิ์ศรีที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตนและไม่มีผู้ใดพรากไปได้ เป็นหนทางเดียวที่จะวางหลักประกันให้ลักษณะประการนี้ของศักดิ์ศรีได้มีรากฐานที่มั่นคงและละเมิดมิได้ เพราะหากว่าไม่มีพื้นฐานทางภววิทยาอะไรเลย การยอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็ย่อมเอนเอียงไปมาโดยขึ้นอยู่กับการตัดสินที่หลากหลายตามอำเภอใจ เงื่อนไขพื้นฐานประการเดียวในการที่จะกล่าวถึงศักดิ์ศรีที่บุคคลมีอยู่ในตนนั้น คือการที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของมนุษยชาติ จึงทำให้ “สิทธิต่าง ๆ ของบุคคลคือสิทธิมนุษยชน” [40]
พื้นฐานเชิงภววิสัยของเสรีภาพมนุษย์
25. ประการที่สอง ในบางครั้งข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ยังถูกนำไปใช้อย่างผิด ๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การแพร่ขยายสิทธิแบบใหม่ประการต่าง ๆ ซึ่งหลายอย่างขัดแย้งกับสิทธิที่มีการระบุไว้แต่เดิม และบ่อยครั้งที่สิทธิอย่างใหม่ถูกนำไปเผชิญหน้ากับสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิต[41] ราวกับว่าควรจะต้องมีการวางหลักประกันให้บุคคลสามารถแสดงออกซึ่งความพึงใจหรือความต้องการเชิงอัตวิสัยทั้งปวงของตน และทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ มุมมองแบบนี้ถือว่าศักดิ์ศรีเป็นสิ่งเดียวกับเสรีภาพของปัจเจกที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่า ความต้องการและความโน้มเอียงเชิงอัตวิสัยเฉพาะตัวต่าง ๆ มีฐานะเป็น “สิทธิ” ที่สมควรได้รับหลักประกันและการสนับสนุนเงินทุนจากประชาคม อย่างไรก็ตาม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ไม่อาจตั้งอยู่บนมาตรฐานเชิงปัจเจกได้เพียงอย่างเดียว และยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกับสุขภาวะทางกายและทางจิตของปัจเจก หากแต่การปกป้องศักดิ์ศรีของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนการเรียกร้องต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นตามอำเภอใจของปัจเจกหรือการยอมรับจากสังคม ดังนั้น หน้าที่ต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาจากการยอมรับศักดิ์ศรีของผู้อื่น และสิทธิต่าง ๆ ที่สืบเนื่องต่อมานั้น จึงมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมและเป็นภววิสัย ซึ่งตั้งอยู่บนธรรมชาติมนุษย์ที่เราทั้งหลายมีอยู่ร่วมกัน หากปราศจากพื้นฐานที่เป็นภววิสัยเช่นนี้แล้ว ในทางปฏิบัติ ก็ย่อมทำให้ข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีขึ้นอยู่ความคิดตามอำเภอใจและผลประโยชน์เชิงอำนาจรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายยิ่ง
โครงสร้างเชิงสัมพันธ์ของบุคคลมนุษย์
26. เมื่อพิจารณาถึงลักษณะเชิงสัมพันธ์ของบุคคล ศักดิ์ศรีของมนุษย์ย่อมช่วยให้เราทั้งหลายข้ามพ้นมุมมองอย่างแคบ ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพของปัจเจกที่ใช้ตัวปัจเจกเองเป็นเกณฑ์ เสรีภาพเช่นนี้กล่าวอ้างว่าได้สร้างคุณค่าของตนขึ้นมาเองโดยไม่ขึ้นกับบรรทัดฐานเชิงภววิสัยของความดี ตลอดจนไม่ขึ้นกับความสัมพันธ์ที่เราทั้งหลายมีต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ จริงทีเดียวว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ศักดิ์ศรีของมนุษย์อาจถูกลดทอนไปเป็นเพียงความสามารถในการกำหนดอัตลักษณ์และอนาคตของตนเองโดยเป็นอิสระจากผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึงการที่บุคคลเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมมนุษยชาติ ความเข้าใจแบบผิด ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพนี้ย่อมปิดทางไม่ให้เราทั้งหลายยอมรับการมีอยู่ของสิทธิและหน้าที่ประการต่าง ๆ ที่ทำให้เราเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกันได้ สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สองได้ทรงชี้ถึงความจริงที่ว่า เสรีภาพ “เป็นสิ่งที่มีไว้รับใช้บุคคล และรับใช้การที่บุคคลจะได้รับการเติมเต็มบริบูรณ์ผ่านการมอบตนเป็นของขวัญและการเปิดกว้างต่อผู้อื่น แต่เมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพถูกทำให้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ในหนทางแบบปัจเจกนิยม เมื่อนั้นเสรีภาพก็ย่อมจะสูญเสียเนื้อหาสาระดั้งเดิมไป และยังจะทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องความหมายและศักดิ์ศรีของเสรีภาพด้วย” [42]
27. ศักดิ์ศรีของมนุษย์ยังคงครอบคลุมถึงศักยภาพที่มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ในการที่เขาจะรับเอาหน้าที่บางประการที่มีต่อผู้อื่น
28. ความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีได้ทำให้ปรากฏเด่นชัดนั้น ไม่ควรจะทำให้เราทั้งหลายหลงลืมความดีงามของสิ่งสร้างอื่น ๆ ด้วย สิ่งสร้างเหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น หากแต่มีคุณค่าเป็นของตนเองเช่นกัน เป็นเหมือนกับของประทานที่มนุษยชาติได้รับมาเพื่อทะนุถนอมและบำรุงรักษา ดังนั้น ถึงแม้ว่าข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีจะสงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ความดีงามในฐานะสิ่งสร้างของสิ่งอื่น ๆ ในจักรวาลก็พึงต้องได้รับการยืนยันด้วย ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงชี้ว่า “ด้วยเหตุแห่งศักดิ์ศรีแบบเฉพาะและปัญญาที่เราทั้งหลายได้รับเป็นของประทาน เราทั้งหลายถูกเรียกให้เคารพต่อสิ่งสร้าง ตลอดจนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ภายในสิ่งสร้าง […] ‘สิ่งสร้างแต่ละอันมีความดีและความสมบูรณ์แบบในแบบของตัวเอง … สิ่งสร้างหลากหลายแต่ละอันมีตัวตนเป็นที่ปรารถนา[ของพระเจ้า] และต่างก็สะท้อนแสงแห่งปรีชาญาณและความดีอันพ้นประมาณของพระเจ้าในหนทางของมันเอง ดังนั้น มนุษย์จึงต้องเคารพความดีเฉพาะตัวของสิ่งสร้างทั้งปวง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ในทางที่ผิด’” [43] ไม่เพียงเท่านั้น “ทุกวันนี้เราทั้งหลายต่างถูกบีบให้เห็นถึงความจริงที่ว่า นี่เป็นหนทางเดียวในการรักษาไว้ซึ่ง ‘แนวคิดที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในตำแหน่งของตน’ กล่าวอีกทางหนึ่งคือ การยอมรับว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือธำรงรักษาไว้ได้หากปราศจากสิ่งสร้างอื่น ๆ” [44] ภายในมุมมองเช่นนี้ “เราทั้งหลายจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อการที่สิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์กำลังสูญหายไป และต่อการที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย” [45] จึงเป็นความจริงที่ว่า การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยจะต้องคำนึงเป็นพิเศษถึงนิเวศวิทยาของมนุษย์อันเป็นสิ่งที่รักษาไว้ซึ่งการมีอยู่ของมนุษย์
การปลดปล่อยบุคคลมนุษย์ให้เป็นอิสระจากอิทธิพลแง่ลบในด้านศีลธรรมและด้านสังคม
29. ถึงแม้ว่าเงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันให้มนุษย์ได้เติบโตโดยสมกับศักดิ์ศรีของเขา ถึงแม้ว่า “พระเจ้าจะทรงสร้างมนุษย์ให้มีปัญญา โปรดประทานให้เขามีศักดิ์ศรีในฐานะบุคคล ให้เขาสามารถคิดริเริ่มและควบคุมการกระทำของตน” [46] โดยมุ่งยังความดี แต่บ่อยครั้งที่เจตจำนงเสรีของเราทั้งหลายเลือกเอาความชั่วมากกว่าความดี ดังนั้น เสรีภาพของมนุษย์ก็พึงต้องได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระเช่นกัน นักบุญเปาโลได้ยืนยันในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า “พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ” (กท. 5.1) ท่านได้ย้ำเตือนถึงหน้าที่ของคริสตชนแต่ละคนในการแบกรับความรับผิดชอบในการนำพาให้อิสรภาพแผ่ขยายยังโลกทั้งมวล (เทียบ รม. 8,19 ff.) นี่คือการปลดปล่อยที่เริ่มต้นจากจิตใจของปัจเจก ซึ่งถูกเรียกให้แพร่ขยายไปและแสดงถึงพลานุภาพในการทำให้มนุษยธรรมเกิดมีขึ้นภายในความสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งปวง
30. เสรีภาพเป็นของประทานอันน่าอัศจรรย์ใจจากพระเจ้า ถึงแม้ว่าพระเจ้าจะทรงดึงดูดเราไปหาพระองค์ด้วยพระหรรษทาน แต่พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้โดยไม่เป็นการละเมิดเสรีภาพของเราแต่อย่างใดเลย ดังนั้น จึงเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงหากผู้ใดหลงคิดไปว่า การแยกตนออกห่างจากพระเจ้าและจากความช่วยเหลือของพระองค์จะทำให้ตนเป็นอิสระมากขึ้นและทำให้ตนรู้สึกมีศักดิ์ศรีมากขึ้น ในทางตรงข้าม หากเราอยู่ห่างจากพระผู้สร้าง เสรีภาพของเราทั้งหลายก็มีแต่จะอ่อนแอลงและถูกบดบัง เรื่องทำนองเดียวกันนี้ย่อมเกิดขึ้นเช่นกันหากมีความหลงผิดคิดไปว่า เสรีภาพคือการเป็นอิสระจากการแทรกแซงภายนอกต่าง ๆ และมองว่าบรรดาความสัมพันธ์กับความจริงบางอย่างก่อนหน้าล้วนแต่เป็นภัยคุกคาม โดยหากเป็นเช่นนี้ การเคารพต่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของผู้อื่นก็ย่อมจะเลือนหายไปด้วย ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกได้ทรงอธิบายไว้ว่า “เจตจำนงใดที่คิดว่าตนเองไม่สามารถแสวงหาความจริงและความดีได้โดยมูลฐาน เจตจำนงนั้นก็ย่อมจะไม่มีเหตุผลหรือแรงจูงใจเชิงภววิสัยในการกระทำสิ่งใดเลย นอกจากสิ่งที่ถูกยัดเยียดโดยประโยชน์ได้เสียที่ไม่แน่นอนและเป็นเพียงสิ่งบังเอิญ เจตจำนงเช่นนี้ย่อมไม่มี ‘อัตลักษณ์’ ที่จะต้องคุ้มครองและก่อร่างขึ้นผ่านการตัดสินใจที่เสรีและมาจากจิตสำนึกอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เจตจำนงแบบนี้จึงไม่สามารถเรียกร้องหาความเคารพจาก ‘เจตจำนง’ อื่น ๆ ได้ ขณะที่เจตจำนงอื่น ๆ ก็ล้วนแต่ถูกตัดขาดจากตัวตนเบื้องลึกที่สุด จึงอาจ[ถูก]ยัดเยียด ‘เหตุผล’ อย่างอื่นได้ หรืออาจจะไม่ต้องมี ‘เหตุผล’ อะไรเลยก็ได้ ภาพลวงตาที่ว่าแนวคิดสัมพัทธนิยมทางศีลธรรมจะเป็นกุญแจสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แท้จริงแล้วเป็นจุดกำเนิดแห่งความแตกแยกและการปฏิเสธศักดิ์ศรีของมนุษย์” [47]
31. ไม่เพียงเท่านั้น การนำเสรีภาพเชิงนามธรรมที่ปราศจากอิทธิพล บริบท หรือข้อจำกัดใด ๆ มาเป็นเหตุผลในการกล่าวอ้าง ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะแท้จริงแล้ว “การใช้เสรีภาพส่วนตัวอย่างเหมาะสม จำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ระเบียบทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การเมือง และวัฒนธรรม” [48] ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่บ่อยครั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในแง่นี้ เราทั้งหลายอาจกล่าวได้ว่าปัจเจกบางคนมี “เสรีภาพ” มากกว่าคนอื่น สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ใส่พระทัยเป็นพิเศษต่อเรื่องนี้ พระองค์ตรัสว่า “คนบางคนเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง ได้รับการศึกษาที่ดี ได้เติบโตท่ามกลางการกินอยู่ที่ดี หรือมีพรสวรรค์ยิ่งใหญ่บางประการติดตัวมา แน่นอนว่าสำหรับคนเช่นนี้ รัฐที่ดำเนินบทบาทเชิงรุกย่อมไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเพียงแค่เขาอ้างเสรีภาพของตนก็เพียงพอแล้ว แต่เป็นที่ชัดเจนว่าเราทั้งหลายย่อมไม่อาจนำกฎอันเดียวกันนี้ไปใช้กับคนพิการ คนที่เกิดมาท่ามกลางความยากจนข้นแค้น คนที่ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี หรือคนที่แทบไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างพอเพียง หากว่าสังคมถูกปกครองโดยใช้เกณฑ์ของตลาดเสรีและประสิทธิภาพเป็นหลักใหญ่ คนประเภทหลังนี้ก็ย่อมจะไม่มีที่ยืน และความเป็นพี่น้องกันก็จะยังคงเป็นเพียงอุดมคติที่เลื่อนลอย” [49] ดังนั้น จึงมีความจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องเข้าใจว่า “การกำจัดความอยุติธรรม เป็นการส่งเสริมเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์” [50] ภายในการที่มนุษย์ดำเนินความพยายามในทุกระดับ โดยในการที่จะทำให้มีเสรีภาพที่แท้จริงขึ้นมาได้นั้น “เราจะต้องให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้กลับคืนสู่การเป็นศูนย์กลาง และเป็นเสาหลักพื้นฐานสำหรับการวางโครงสร้างทางสังคมทางเลือก อย่างที่เราทั้งหลายจำเป็นต้องมี” [51] ในทำนองคล้ายกันนี้ มีบ่อยครั้งที่เสรีภาพถูกบดบังโดยอิทธิพลหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม เสรีภาพในความเป็นจริงซึ่งมีแง่มุมทางประวัติศาสตร์นั้นจำเป็นต้องได้รับการ “ปลดปล่อย” เสมอ ไม่เพียงเท่านั้น เราทั้งหลายจะต้องยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิในการมีเสรีภาพทางศาสนาด้วย
32. ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์มนุษย์ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่ชัดเจนในการทำความเข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีและเสรีภาพของมนุษย์ ถึงแม้จะมีเงามืดและความเสี่ยงที่จะถดถอยอยู่ด้วยก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ คือข้อเท็จจริงที่ว่า มีความปรารถนามากขึ้นที่มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติสีผิว การกดคนลงเป็นทาส ตลอดจนการกีดกันผู้หญิง เด็ก คนป่วย และคนพิการไปยังชายขอบ ความปรารถนาอันนี้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมภายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนาซึ่งได้เป็นเชื้อแป้งสร้างความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าสังคมต่าง ๆ ในหลายที่จะมีความเป็นฆราวาสมากขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดี การเดินทางอันยากลำบากแห่งการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ ยังคงห่างไกลจากจุดหมายปลายทางอยู่มาก
4. การละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ขั้นร้ายแรงบางประการ
33. เนื้อหาบทสุดท้ายของคำประกาศนี้ เป็นการกล่าวถึงการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ขั้นร้ายแรงบางประการ โดยมีพื้นฐานบนการไตร่ตรองต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นศูนย์กลางแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์[ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว]ก่อนหน้านี้ เนื้อหาในส่วนนี้อยู่ภายใต้จิตวิญญาณเฉพาะอย่างหนึ่งซึ่งมีอยู่ในอำนาจสอนของพระศาสนจักร และได้รับการแสดงออกอย่างเต็มที่ภายในคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาหลายพระองค์ในช่วงไม่นานมานี้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ตัวอย่างเช่น ในด้านหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นย้ำเตือนใจเราทั้งหลายอย่างไม่หยุดหย่อนเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยตรัสว่า “มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี และมีสิทธิในการพัฒนาแบบองค์รวม สิทธิพื้นฐานอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีประเทศใดสามารถปฏิเสธได้ ผู้คนต่างมีสิทธิอันนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีผลิตภาพ หรืออาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ซึ่งอาจมีมาแต่เกิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ลดทอนศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ในฐานะที่เขาเป็นบุคคลมนุษย์ ศักดิ์ศรีอันนี้ไม่ได้มีพื้นฐานจากสภาวะแวดล้อม หากแต่ตั้งอยู่บนคุณค่าภายในของการที่เขามีตัวตนอยู่ หากว่าไม่มีการยึดมั่นหลักการพื้นฐานอันนี้ ก็ย่อมจะไม่มีอนาคตทั้งสำหรับความเป็นพี่น้องกัน และสำหรับความอยู่รอดของมนุษยชาติ” [52] แต่ในอีกด้านหนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาได้ตรัสชี้อย่างไม่หยุดหย่อนเกี่ยวกับการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมภายในยุคสมัยของเราทั้งหลาย พระองค์ทรงเรียกร้องให้เราแต่ละคนตระหนักถึงความรับผิดชอบ ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องมุ่งมั่นกระทำการอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้
34. ในการรับมือกับการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ขั้นร้ายแรงที่มีอยู่มากมายทุกวันนี้ เราสามารถเรียนรู้ได้จากคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ที่ได้เน้นว่า “การทำร้ายชีวิตในทุกรูปแบบ เช่น การฆ่าคน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำแท้ง การการุณยฆาต และการฆ่าตัวตายโดยจงใจ” จะต้องถูกมองว่าขัดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์[53] นอกจากนี้ สภาสังคายนาได้ยืนยันว่า “การละเมิดบูรณภาพของบุคคลมนุษย์ในทุกรูปแบบ เช่น การตัดอวัยวะ การทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกดดันทางจิตวิทยาโดยไม่ชอบธรรม” ก็เป็นสิ่งที่ละเมิดศักดิ์ศรีของเราทั้งหลายเช่นกัน[54] ในท้ายที่สุด สภาสังคายนาได้ประณาม “การทำร้ายศักดิ์ศรีของมนุษย์ในทุกรูปแบบ เช่น เงื่อนไขการดำรงชีวิตที่ด้อยค่าความเป็นมนุษย์ การคุมขังตามอำเภอใจ การบังคับขับไล่ผู้คนออกนอกประเทศ การกดคนลงเป็นทาส การค้าประเวณี การค้ามนุษย์ที่พุ่งเป้ายังผู้หญิงและเด็ก การให้ผู้คนทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ปฏิบัติต่อปัจเจกเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อหากำไร มิใช่ในฐานะบุคคลที่มีเสรีภาพและมีความรับผิดชอบ” [55] ในที่นี้ เป็นการสมควรที่จะกล่าวถึงเรื่องโทษประหารชีวิตด้วย เพราะโทษประหารชีวิตก็เป็นสิ่งที่ละเมิดศักดิ์ศรีที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุกคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างใด[56] ในแง่นี้ เราทั้งหลายต้องยอมรับว่า “การปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อโทษประหารชีวิต แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากเพียงใดในการที่จะยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีอันไม่มีผู้ใดพรากไปได้ และยอมรับว่าเขามีที่ยืนในจักรวาลนี้ เพราะหากว่าเราไม่ปฏิเสธศักดิ์ศรีอันนี้สำหรับอาชญากรที่เลวร้ายที่สุด เราก็ย่อมจะไม่ปฏิเสธศักดิ์ศรีอันนี้สำหรับใครเลย เราจะให้ทุกคนได้มีโอกาสแบ่งปันโลกใบนี้ร่วมกันกับเรา ถึงแม้ว่าเราทั้งหลายจะมีความแตกต่างกันมากมายก็ตาม” [57] นอกจากนี้ยังเป็นการสมควรที่จะยืนยันอีกครั้งถึงศักดิ์ศรีของผู้ถูกคุมขัง ซึ่งบ่อยครั้งต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ขัดต่อศักดิ์ศรีของเขา ในท้ายที่สุด พึงต้องกล่าวไว้ว่า ถึงแม้บางคนจะถูกตัดสินว่ามีความผิดในอาชญากรรมร้ายแรง แต่การทรมานเขาย่อมเป็นการกระทำที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับศักดิ์ศรีที่มนุษย์ทุกคนมีเป็นของตน
35. ข้อความในย่อหน้าทั้งหลายต่อไปนี้มิได้เป็นการกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมด หากแต่เป็นการเรียกร้องความสนใจในเรื่องการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ขั้นร้ายแรงบางประการซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวข้องเป็นพิเศษ
เรื่องน่าเศร้าแห่งความยากไร้
36. ความยากไร้ถึงขีดสุด เป็นหนึ่งในบรรดาปรากฏการณ์ที่มีส่วนทำให้เกิดการเพิกเฉยต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์จำนวนมากมาย ความยากไร้ถึงขีดสุดนี้เกี่ยวข้องกับการกระจายความมั่งคั่งอย่างไม่เท่าเทียม ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สองได้ทรงเน้นไว้ว่า “หนึ่งในความอยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบันคือสิ่งนี้ คือการที่ผู้มีทรัพย์มากมีเพียงจำนวนน้อย ขณะที่ผู้คนจำนวนมากแทบจะไม่มีอะไรเลย สิ่งนี้นับว่าเป็นความอยุติธรรมในการกระจายทรัพย์และบริการต่าง ๆ ซึ่งเดิมทีเป็นสิ่งที่มีไว้สำหรับทุกคน” [58] ไม่เพียงเท่านั้น การแยกอย่างหยาบ ๆ ระหว่างประเทศที่ “ร่ำรวย” และ “ยากจน” ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกได้ทรงชี้ว่า “ความร่ำรวยของโลกกำลังเพิ่มมากขึ้นในเชิงสัมบูรณ์ หากแต่ความเหลื่อมล้ำก็มีมากขึ้น โดยในประเทศที่ร่ำรวย มีหลายภาคส่วนในสังคมกำลังประสบความยากไร้อย่างที่ไม่เคยต้องประสบมาก่อน ทั้งยังเริ่มมีความยากไร้รูปแบบใหม่ ๆ ปรากฏขึ้น ขณะที่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยากจนกว่า มีบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากบางสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น ‘การพัฒนาเกินขนาด (super-development)’ ที่มาจากการบริโภคใช้สอยอย่างสิ้นเปลือง สิ่งนี้เป็นภาพตรงข้ามที่รับไม่ได้เมื่อเทียบกับสถานการณ์แห่งความขาดแคลนที่กำลังทำลายความเป็นมนุษย์อยู่” [59] ยังคงมี “เรื่องสะดุดแห่งความเหลื่อมล้ำที่บาดตา” ที่ซึ่งศักดิ์ศรีของผู้ยากไร้ถูกเพิกเฉยถึงสองชั้น ทั้งจากการขาดแคลนทรัพยากรสำหรับตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐาน และจากความเมินเฉยของบรรดาเพื่อนบ้านที่มีต่อเขา
37. ดังนั้น เราทั้งหลายจึงควรจะได้ข้อสรุปในทางเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่ได้ตรัสไว้ว่า “ความมั่งคั่งกำลังมีมากขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำก็มีมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ ‘ความยากไร้ในรูปแบบใหม่ ๆ’ กำลังปรากฏขึ้น คำกล่าวอ้างที่ว่าโลกยุคใหม่ได้ทำให้ความยากไร้ลดลงนั้น มาจากการวัดความยากไร้โดยใช้เกณฑ์จากอดีตซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน” [60] ด้วยเหตุนี้ ความยากไร้ “จึงอาจมีอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น การยึดติดกับการตัดลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าจ้างแรงงานโดยไม่ได้คำนึงถึงผลร้ายแรงต่าง ๆ ที่จะตามมา เหตุว่าภาวะว่างงานซึ่งเป็นผลสืบเนื่องโดยตรง ได้ทำให้ความยากไร้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น” [61] จำเป็นต้องมีการยอมรับว่า ในบรรดา “ผลพวงแห่งการทำลายล้างที่มาจากจักรวรรดิแห่งเงินทอง” [62] ทั้งหลาย “ไม่มีความยากไร้ใดที่จะเลวร้ายไปกว่าความยากจนที่ปล้นเอาการทำงานและศักดิ์ศรีของการทำงานไป” [63] ไม่เพียงเท่านั้น เราควรต้องยอมรับว่า การที่คนบางพวกไม่มีโอกาสในการพัฒนาเทียบเท่ากับคนอื่น ๆ ด้วยเหตุที่ว่าเขามีชาติกำเนิดในประเทศ หรือในครอบครัวของเขานั้น เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีของเขา ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีอันเดียวกับที่มีอยู่ในคนที่เกิดในครอบครัวหรือประเทศที่ร่ำรวย เราทั้งหลายล้วนมีส่วนรับผิดชอบต่อความเหลื่อมล้ำอันรุนแรงนี้ ถึงแม้ว่าความรับผิดชอบของแต่ละคนจะมีมากน้อยแตกต่างกันก็ตาม
สงคราม
38. สงครามเป็นเรื่องน่าเศร้าอีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน “สงคราม การโจมตีก่อการร้าย การเบียดเบียนด้วยเหตุทางเชื้อชาติศาสนา และการทำร้ายศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรูปแบบอื่น ๆ มากมาย […] กลายเป็นเรื่องธรรมดาจนอาจเรียกได้อย่างแท้จริงว่าเป็น ‘สงครามโลกครั้งที่สาม’ ที่ต่อสู้กันเป็นส่วน ๆ” [64] การทำลายล้างและความทุกข์ทรมานที่เกิดจากสงคราม เป็นสิ่งที่ทำร้ายศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว “ถึงแม้ว่าเราจะต้องยืนยันถึงสิทธิในการป้องกันตัวเองที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ ตลอดจนหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองผู้คนที่กำลังเสี่ยงอันตรายในชีวิต แต่เราก็ต้องยอมรับว่าสงครามเป็น ‘ความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติ’ เสมอ ไม่มีสงครามใดเลยที่จะคุ้มค่ากับน้ำตาของมารดาที่ต้องเห็นบุตรของตนถูกสังหารหรือทำร้ายจนพิการ ไม่มีสงครามใดเลยที่จะคุ้มค่ากับการสูญเสียชีวิตมนุษย์แม้เพียงคนเดียว เพราะมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในภาพลักษณ์ของพระผู้สร้างให้เป็นสิ่งคล้ายพระองค์ ไม่มีสงครามใดที่จะคุ้มค่ากับ[การทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งเป็น]บ้านที่เราทั้งหลายมีร่วมกัน และไม่มีสงครามใดที่จะคุ้มค่ากับความสิ้นหวังของผู้คนที่ถูกบีบบังคับให้ออกจากถิ่นฐานเดิมของตน ทั้งยังถูกพรากเอาสิ่งต่าง ๆ ไปในชั่วพริบตาเดียว ทั้งบ้านเรือน ครอบครัว มิตรภาพ ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งต้องใช้เวลานานในการก่อร่างขึ้น และบางครั้งอาจกินเวลาถึงหลายรุ่นหลายสมัย” [65] ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าสงครามทั้งหลายล้วนขัดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ก็ได้ทำให้สงครามเป็น “ความขัดแย้งที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ มีแต่จะเพิ่มพูนปัญหาให้มากขึ้น” [66] ประเด็นที่ว่านี้มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ในยุคซึ่งการที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกคร่าชีวิตภายนอกสมรภูมิกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
39. ดังนั้น แม้ในทุกวันนี้ พระศาสนจักรจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจาก[การแสดงท่าที]เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระสันตะปาปาหลายพระองค์ได้มีพระดำรัสไว้ สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่หกได้ตรัสไว้ว่า “ไม่เอาสงครามอีก ไม่เอาสงครามอีก”[67] นอกจากนี้ พระศาสนจักรยังร่วมเป็นเสียงเดียวกับสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สอง ที่ตรัสร้องขอว่า “ในพระนามของพระเจ้า และในนามของมนุษยชาติ จงอย่าฆ่าคน จงอย่าเตรียมการทำลายล้างและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ จงคิดถึงพี่น้องชายหญิงที่กำลังทนทุกข์จากความหิวโหยและความยากลำบาก จงเคารพศักดิ์ศรีและเสรีภาพของกันและกัน” [68] นี่เป็นเสียงเรียกร้องของพระศาสนจักรและของมนุษยชาติทั้งมวลทั้งในขณะนั้นและในตอนนี้ด้วย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้โดยตรัสว่า “เราทั้งหลายไม่อาจคิดกันได้อีกต่อไปว่าสงครามเป็นทางออก เพราะ[บัดนี้]ความเสี่ยงของสงครามน่าจะยิ่งใหญ่กว่าผลดีที่คิดกันไปว่าจะได้จากสงครามเสมอ เมื่อคิดเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องยากยิ่งในทุกวันนี้ที่จะยกเงื่อนไขความสมเหตุสมผลที่มีพัฒนาการในช่วงหลายศตวรรษก่อน มาใช้รองรับการพูดถึงความเป็นไปได้ของ ‘สงครามที่ถูกต้อง’ หากแต่เราทั้งหลายจะต้องไม่ให้มีสงครามเกิดขึ้นอีก” [69] บ่อยครั้งที่มนุษยชาติมีความผิดพลาดเหมือนกับในอดีต “หากจะทำให้สันติภาพเป็นจริงขึ้นมาได้ เราทั้งหลายจะต้องออกจากห่างจากตรรกะว่าด้วยความชอบธรรมของสงคราม” [70]ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างความเชื่อศรัทธากับศักดิ์ศรีของมนุษย์ ย่อมทำให้สงครามที่มีพื้นฐานบนความเชื่อทางศาสนากลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกันเอง “ผู้ใดที่อ้างพระนามของพระเจ้าเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การก่อการร้าย ความรุนแรง และสงคราม ผู้นั้นย่อมไม่ได้เดินบนหนทางของพระเจ้า สงครามใดที่ใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง สงครามนั้นย่อมจะกลายเป็นสงครามต่อศาสนาเอง” [71]
ความยากลำบากของผู้ย้ายถิ่น
40. ผู้ย้ายถิ่นเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรก ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของความยากไร้หลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่ศักดิ์ศรีของเขาจะถูกเมินเฉยในประเทศที่เป็นถิ่นฐานเดิมของเขาเท่านั้น [72] หากแต่ชีวิตของเขาก็ต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะเขาไม่มีหนทางที่จะเริ่มต้นครอบครัว ทำงาน หรือหาเลี้ยงตนเองได้อีกต่อไป[73] ขณะที่เมื่อเขาเดินทางไปถึงประเทศที่น่าจะสามารถยอมรับเขาได้ “ผู้ย้ายถิ่นไม่ได้ถูกมองว่ามีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในสังคมเท่ากับคนอื่น ๆ และยังถูกลืมด้วยว่า เขาเองก็มีศักดิ์ศรีในตนไม่ต่างจากบุคคลใด ๆ […] ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครปฏิเสธอย่างเปิดเผยว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติ เราทั้งหลายอาจตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ หรืออาจปฏิบัติต่อเขาโดยเป็นการแสดงออกว่า พวกเรามองเขาว่าไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับเรา ไม่ได้สำคัญเท่ากับเรา และไม่ได้มีความเป็นมนุษย์มากเท่ากับเรา” [74] ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องระลึกว่า “ผู้ย้ายถิ่นทุกคนเป็นบุคคลมนุษย์ จึงมีสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ ซึ่งทุกคนจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิเช่นนี้ในทุกสถานการณ์” [75] การยอมรับผู้ย้ายถิ่นเป็นหนทางหนึ่งที่สำคัญและมีความหมายในการปกป้อง “ศักดิ์ศรีที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ของบุคคลมนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าเขาจะมีพื้นเพ เชื้อชาติ หรือศาสนาใด” [76]
การค้ามนุษย์
41. การค้ามนุษย์ ต้องนับว่าเป็นหนึ่งในการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างรุนแรงเช่นกัน [77] ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็ได้ทำให้เราได้เห็นมิติต่าง ๆ ที่น่าเศร้าใจ จึงเป็นเหตุผลทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประณามอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันในที่นี้ว่า ‘การทำให้มนุษย์เป็นสินค้า’ เป็นการกระทำที่ต่ำช้าเลวทราม นำความเสื่อมเสียมาสู่สังคมของเราที่อ้างกันว่ามีอารยธรรม ผู้คนในทุกระดับที่หาประโยชน์จากการค้ามนุษย์หรือซื้อมนุษย์เป็นสินค้า จะต้องพิจารณามโนธรรมของตนอย่างจริงจัง ทั้งในตัวเอง และต่อหน้าพระเจ้าด้วย ในวันนี้ พระศาสนจักรเรียกร้องอย่างเร่งด่วนอีกครั้งให้มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีและความสำคัญเป็นศูนย์กลางของบุคคลแต่ละคน ทั้งนี้ โดยเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานประการต่าง ๆ ดังที่คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรได้เน้นไว้ พระศาสนจักรเรียกร้องให้มีการขยายสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ให้ครอบคลุมชายหญิงหลายล้านคนในทุกทวีป ในที่ใดก็ตามที่สิทธิเหล่านี้[ยัง]ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ในโลกนี้มีการพูดหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับสิทธิ แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่สิทธิเหล่านี้ถูกเหยียบย่ำในความเป็นจริง ในโลกนี้มีการพูดหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับสิทธิ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิอะไรอยู่บ้าง คือ เงินทอง” [78]
42. ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ พระศาสนจักรและมนุษยชาติจะต้องไม่หยุดต่อสู้กับปรากฏการณ์ของ “การค้าอวัยวะและเนื้อเยื่อมนุษย์ การหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชายหญิง การใช้แรงงานทาสซึ่งรวมถึงการค้าประเวณี การค้ายาเสพติดและการค้าอาวุธ การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติที่ทำกันเป็นระบบ สถานการณ์เหล่านี้มีความร้ายแรงอย่างมาก และทำให้ผู้คนบริสุทธิ์จำนวนมากตกเป็นเหยื่อ เราทั้งหลายจึงต้องหลีกเลี่ยงการผจญทุกทางที่ยั่วยุให้เราทั้งหลายตกสู่ความคิดแบบนามนิยมเชิงประกาศ ซึ่งอาจกล่อมให้มโนธรรมของเราทั้งหลายด้านชาไป เราทั้งหลายต้องสร้างหลักประกันให้สถาบันต่าง ๆ ของเรามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในการต่อสู้กับหายนะเหล่านี้” [79] ในการเผชิญหน้ากับการปฏิเสธศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายและโหดร้ายเช่นนี้ เราทั้งหลายจะต้องมีความตระหนักรู้มากขึ้นว่า “การค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” [80] ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการปฏิเสธศักดิ์ศรีของมนุษย์ในอย่างน้อย 2 ทาง กล่าวคือ “การค้ามนุษย์เป็นการทำให้ความเป็นมนุษย์ของเหยื่อต้องเสียรูปไปอย่างลึกซึ้ง เป็นการทำร้ายเสรีภาพและศักดิ์ศรีของเขา ทว่าในขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ลงมือกระทำด้วย” [81]
การล่วงละเมิดทางเพศ
43. ศักดิ์ศรีอันลึกซึ้งที่มีอยู่ในมนุษย์แต่ละคน ภายในบูรณภาพของร่างกายและจิตใจของเขา ยังทำให้เราทั้งหลายสามารถเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดการล่วงละเมิดทางเพศทุกรูปแบบจึงเป็นการสร้างรอยแผลเป็นฝังลึกในจิตใจของเหยื่อ จริงทีเดียวว่า ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศย่อมประสบกับรอยแผลอันแท้จริงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา เป็น “ความทุกข์ทรมานที่อาจมีไปตลอดชีวิต และไม่อาจเยียวยาได้ด้วยการสำนึกผิดใด ๆ ปรากฏการณ์เช่นนี้แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคม และยังกระทบต่อพระศาสนจักร เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อพันธกิจแพร่ธรรมของพระศาสนจักรด้วย”[82] จึงเป็นเหตุให้พระศาสนจักรดำเนินความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อยุติการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากภายในพระศาสนจักรเอง
การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง
44. การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องสะดุดในระดับโลก และกำลังเป็นที่รับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมของผู้หญิงอาจเป็นที่ยอมรับในทางคำพูด แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงในบางประเทศก็ยังคงร้ายแรงอย่างมาก แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง [ก็ยังมี]ความเป็นจริงทางสังคมที่บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บ่อยครั้งที่ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับว่ามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้ชาย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นถึงเรื่องนี้ภายในพระดำรัสที่ยืนยันว่า “การจัดระเบียบในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลก ยังไม่อาจสะท้อนอย่างชัดเจนถึงการที่ผู้หญิงมีศักดิ์ศรีอันเดียวกันกับผู้ชาย และมีสิทธิต่าง ๆ ไม่ต่างจากผู้ชาย เราทั้งหลายพูดอย่างหนึ่ง แต่การตัดสินใจและความเป็นจริงต่าง ๆ ของเรากลับบ่งชี้อีกอย่างหนึ่ง จริงที่เดียวว่า ‘บรรดาผู้หญิงที่ต้องทนทุกข์จากสถานการณ์แห่งการกีดกัน การข่มเหงรังแก และความรุนแรง เป็นผู้ที่ยากไร้ถึงสองชั้น เพราะบ่อยครั้งที่เขาไม่อาจปกป้องสิทธิของตนได้ดีเท่ากับคนอื่น’” [83]
45. สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สอง ทรงยอมรับว่า “ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนที่ถูกเลือกให้เป็นภรรยาและเป็นมารดา […] มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในทุกด้าน ทั้งการให้ค่าจ้างที่เท่ากันสำหรับงานแบบเดียวกัน การคุ้มครองมารดาที่ออกไปทำงานนอกบ้าน ความเป็นธรรมเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ สิทธิทางครอบครัวที่เท่าเทียมกันระหว่างสามีภรรยา และการรับรองทุกสิ่งทุกอย่าง[ที่ถือว่าเป็น]สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย”[84] จริงทีเดียวว่าความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นรูปแบบต่าง ๆ ของความรุนแรงอีกด้วย พระองค์ยังได้ทรงชี้ว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะประณามอย่างแข็งขันต่อความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อมักเป็นผู้หญิง [และถึงเวลาแล้วที่จะ]ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงเช่นนี้ ความเคารพที่บุคคลมนุษย์สมควรได้รับ ยังทำให้เราทั้งหลายไม่อาจละเลยที่จะประณามวัฒนธรรมบางอย่างซึ่งมีลักษณะเชิงพาณิชย์และเน้นแต่ความสุขสบาย ที่ชักจูงให้มีการนำแง่มุมทางเพศ[ของมนุษย์]มาใช้หาประโยชน์อย่างเป็นระบบ ทั้งยังเป็นการมอมเมาทำให้แม้แต่เด็กสาวอายุน้อย ๆ [ต้องเสียผู้เสียคน]ยอมให้ร่างกายของตนถูกนำไปใช้เพื่อหากำไร” [85] ในประเด็นเรื่องความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ ต่อผู้หญิง เราทั้งหลายยังต้องกล่าวถึงการบังคับทำแท้งซึ่งกระทบทั้งต่อแม่และเด็ก และบ่อยครั้งเกิดขึ้นเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของผู้ชาย นอกจากนี้ เราทั้งหลายยังต้องกล่าวถึงการให้ชายมีภรรยาได้หลายคนด้วย ดังที่หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้เตือนใจเราทั้งหลายว่า การให้ชายมีภรรยาได้หลายคน ขัดแย้งกับศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง และยัง “ขัดแย้งกับความรักระหว่างสามีภรรยาซึ่งเป็นความรักที่ผูกขาดและแบ่งแยกไม่ได้” [86]
46. ภายในการพิจารณาถึงความรุนแรงต่อผู้หญิงในที่นี้ สิ่งหนึ่งที่จะต้องประณามอย่างถึงที่สุด คือปรากฏการณ์ของการสังหารผู้หญิง ในเรื่องนี้ ประชาคมนานาชาติทั้งมวลจะต้องมีความมุ่งมั่นที่เป็นรูปธรรมและมีความร่วมมือสอดคล้องกัน ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นย้ำไว้ว่า “ความรักที่เราทั้งหลายมีต่อพระแม่มารีย์ จะต้องช่วยให้เราทั้งหลายเห็นคุณค่าและมีความขอบคุณต่อบรรดาผู้หญิง ต่อแม่และย่ายายของพวกเรา เพราะเขาทั้งหลายเป็นปราการที่คุ้มครองชีวิตภายในเมืองต่าง ๆ ของเราทั้งหลาย เกือบทุกครั้งที่พวกเขาเดินหน้าเจริญชีวิตไปท่ามกลางความเงียบ ที่เป็นความเงียบและความแข็งแกร่งแห่งความหวัง พ่อขอขอบใจการที่ลูกทั้งหลาย[ที่เป็นผู้หญิง]ได้เป็นพยานแบบนี้ […] แต่เมื่อพ่อคิดถึงบรรดาแม่และบรรดาย่ายาย พ่อก็อยากเชิญชวนลูกทั้งหลายให้ต่อสู้กับหายนะอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อทวีปอเมริกาของพวกเรา กล่าวคือ เหตุฆาตกรรมมากมายที่มีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ บ่อยครั้งเหลือเกินที่ความรุนแรงแบบนี้ถูกกำแพงมากมายปิดบังไว้ไม่ให้ใครได้รู้ พ่อขอให้ลูกทุกคนต่อสู้กับสิ่งที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานอันนี้ ให้ลูกจงเรียกร้องเพื่อให้มีกฎหมายและวัฒนธรรมที่ต่อต้านความรุนแรงในทุกรูปแบบ” [87]
การทำแท้ง
47. พระศาสนจักรย้ำเตือนเราทั้งหลายอยู่เสมอว่า “ศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในตัว และมีผลใช้ได้นับตั้งแต่มีการปฏิสนธิจนกระทั่งเสียชีวิตตามธรรมชาติ การยืนยันศักดิ์ศรีเช่นนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นขาดไม่ได้สำหรับการคุ้มครองการมีตัวตนทั้งของบุคคลและของสังคม ทั้งยังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการที่ความเป็นพี่น้องกันและมิตรภาพทางสังคมจะได้เกิดขึ้นเป็นจริงในหมู่ประชาชนทั้งหลายในโลก” [88] คุณค่าที่จับต้องไม่ได้ที่มีอยู่ในชีวิตมนุษย์ เป็นเหตุที่ทำให้อำนาจสอนของพระศาสนจักรแสดงจุดยืนต่อต้านการทำแท้งมาโดยตลอด ในแง่มุมนี้ สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สองได้ทรงเขียนไว้ว่า “ในบรรดาอาชญากรรมทั้งหลายที่มุ่งทำร้ายชีวิตมนุษย์ การทำแท้งมีลักษณะหลายอย่างที่ทำให้[การทำแท้ง]เป็นเรื่องร้ายแรงและสมควรตำหนิเป็นพิเศษ […] แต่ในทุกวันนี้ มโนธรรมของมนุษย์กำลังค่อย ๆ ถูกบดบังจนอาจมองไม่เห็นถึงความร้ายแรง[ของการทำแท้ง]ได้อย่างชัดเจน การที่คนทั่วไปจำนวนมากยอมรับการทำแท้ง ทั้งในความคิด พฤติกรรม หรือแม้กระทั่งในทางกฎหมาย เป็นเครื่องหมายที่บ่งชี้ในตัวมันเองว่า สำนึกทางศีลธรรมกำลังประสบกับวิกฤติขั้นรุนแรงที่ทำให้ความสามารถในการแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วค่อย ๆ สูญไป แม้แต่ในกรณีที่สิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตจะเป็นเดิมพันอยู่ก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ เราทั้งหลายจะต้องมีความกล้าหาญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในการมองเห็นความเป็นจริงอย่างที่เป็น และในการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ตามจริง โดยไม่ยอมแพ้แก่การประนีประนอมในหนทางแห่งความสะดวกสบาย หรือการผจญที่ยั่วยุที่ให้เราหลอกตัวเอง ในแง่นี้ คำตำหนิของประกาศก[อิสยาห์]เป็นคำกล่าวที่ตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง ‘วิบัติจงเกิดแก่คนที่เรียกความชั่วร้ายว่าเป็นความดี และเรียกความดีว่าเป็นความชั่วร้าย วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่คิดว่าความมืดเป็นแสงสว่าง และแสงสว่างเป็นความมืด’ (อสย. 5,20) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการทำแท้ง คำศัพท์ที่กำกวมกำลังถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น ‘การยุติการตั้งครรภ์’ สิ่งนี้มีแนวโน้มปกปิดธรรมชาติที่แท้จริงของการทำแท้ง และทำให้สาธารณชนมองไม่เห็นความร้ายแรงของเรื่องนี้ได้ชัดเจนเหมือนก่อน อาจเป็นไปได้ว่า ปรากฏการณ์ทางภาษาเช่นนี้เป็นอาการแห่งความไม่สบายใจของมโนธรรม แต่ไม่มีคำพูดใดที่จะมีพลังเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ได้ [เพราะความจริงมีอยู่ว่า] การทำแท้ง ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ล้วนแต่เป็นการจงใจสังหารมนุษย์โดยตรง ในขณะที่เขาอยู่ในขั้นแรกของการมีตัวตน กล่าวคือ ตั้งแต่การปฏิสนธิไปจนถึงการกำเนิด” [89] เช่นนี้แล้ว เด็กทารกในครรภ์จึงเป็น “ผู้บริสุทธิ์ที่ไร้หนทางป้องกันตนเองมากที่สุดในหมู่เรา ทุกวันนี้มีความพยายามที่จะปฏิเสธศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และให้มีการปฏิบัติกับพวกเขาได้ตามใจชอบ ให้มีการเอาชีวิตของพวกเขา และมีการออกกฎหมายเพื่อห้ามไม่ให้ใครมาขวางทางการกระทำเช่นนี้” [90] ดังนั้น แม้แต่ในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวอย่างหนักแน่นและชัดเจนที่สุดว่า “การคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประการอื่น ๆ ทั้งหมด เพราะว่าในการนี้จำเป็นต้องมีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สามารถล่วงละเมิดได้เสมอ ไม่ว่าจะในสถานการณ์เช่นใด หรืออยู่ในขั้นตอนใดของการเจริญเติบโต มนุษย์ย่อมเป็นเป้าหมายในตัวเอง และไม่มีทางที่จะเป็นหนทางสำหรับใช้จัดการกับปัญหาอื่น ๆ ได้แต่อย่างใดเลย หากว่าความเชื่อมั่นเช่นนี้สูญหายไป พื้นฐานที่มั่นคงถาวรสำหรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประการต่าง ๆ ก็ย่อมจะสูญหายไปด้วย [ทำให้สิทธิมนุษยชน]จำต้องขึ้นอยู่กับความคิดแปรปรวนที่ไม่ยั่งยืนของผู้ที่มีอำนาจในเวลานั้น ลำพังการใช้ปัญญารู้คิดก็ย่อมเพียงพอสำหรับการยอมรับว่า ชีวิตมนุษย์แต่ละคนมีคุณค่าที่ไม่สามารถล่วงละเมิดได้ แต่ถ้าเราทั้งหลายมองประเด็นนี้จากจุดยืนแห่งความเชื่อ ‘การล่วงละเมิดศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ในทุกรูปแบบ ล้วนเป็นสิ่งที่คร่ำครวญร้องหาการแก้แค้น และเป็นการกระทำเคืองพระทัย[พระเจ้า] ผู้ทรงสร้างปัจเจกแต่ละคนขึ้นด้วย’”[91] ในบริบทนี้ เป็นการดีที่จะย้อนคิดถึงความมุ่งมั่นที่กล้าหาญและใจกว้างของนักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตาในการคุ้มครองบุคคลทุกคน[ตั้งแต่ที่เขา]ปฏิสนธิ
การตั้งครรภ์แทน
48. พระศาสนจักรมีจุดยืนต่อต้านการตั้งครรภ์แทนเช่นกัน [การตั้งครรภ์แทน เป็นการ]ทำให้เด็กผู้มีคุณค่ามหาศาลกลายเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่ง ในแง่นี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ตรัสไว้อย่างชัดเจนยิ่งว่า “หนทางสู่สันติภาพเรียกร้องให้[เราทั้งหลาย]มีความเคารพต่อชีวิต ต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน เริ่มจากชีวิตของเด็กทารกในครรภ์มารดา ซึ่งไม่อาจถูกเหยียบย่ำหรือทำให้เป็นวัตถุของการค้ามนุษย์ได้ ในแง่นี้ ข้าพเจ้าคิดว่า การปฏิบัติที่เรียกกันว่าการตั้งครรภ์แทนเป็นสิ่งที่สมควรตำหนิ ด้วยเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของผู้หญิงและเด็กขั้นร้ายแรง โดยมีพื้นฐานบนการหาประโยชน์จากสถานการณ์ความจำเป็นทาง[เศรษฐกิจ]ของผู้เป็นมารดา เด็กย่อมเป็นของขวัญเสมอ และไม่อาจเป็นฐานของการทำสัญญาเชิงพาณิชย์ได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงหวังว่าประชาคมนานาชาติจะพยายามเพื่อห้ามการกระทำเช่นนี้ในระดับสากล” [92]
49. แรกสุดและเหนือสิ่งอื่นใด การตั้งครรภ์แทนเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของเด็ก จริงทีเดียวว่าเด็กทุกคนมีศักดิ์ศรีที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในทุก ๆ ขั้นของชีวิต ถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปก็ตาม ตั้งแต่ชั่วขณะแห่งการปฏิสนธิ การถือกำเนิด การเติบโตตอนเด็ก และการโตเป็นผู้ใหญ่ ศักดิ์ศรีที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้อันนี้เป็นเหตุที่ทำให้เด็กมีสิทธิที่จะได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างมนุษย์โดยเต็มที่ (มิใช่จากการชักนำที่เป็นการประดิษฐ์) และมีสิทธิที่จะได้รับของประทานแห่งชีวิตซึ่งเป็นสิ่งแสดงออกทั้งศักดิ์ศรีของพระผู้ประทานและศักดิ์ศรีของผู้ที่ได้รับ ไม่เพียงเท่านั้น การยอมรับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ ยังหมายรวมถึงการยอมรับศักดิ์ศรีของการสมรสและการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ในทุกมิติด้วย เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ความปรารถนาอันชอบธรรมในการมีบุตร จึงไม่อาจทำให้กลายเป็น “สิทธิในการมีบุตร” อันจะเป็นการไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีของเด็กในฐานะผู้ได้รับของประทานแห่งชีวิตได้ [93]
50. การตั้งครรภ์แทนยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของผู้หญิงด้วย ไม่ว่าหญิงผู้นั้นจะถูกบังคับให้ตั้งครรภ์แทน หรือได้เลือกอย่างเสรีที่จะยอมตั้งครรภ์แทนก็ตาม เพราะว่าการตั้งครรภ์แทนเป็นการที่ผู้หญิงถูกตัดขาดจากบุตรที่เติบโตภายในครรภ์ของเขา และถูกทำให้กลายเป็นเพียงวิธีการอันหนึ่งสำหรับให้ผู้อื่นใช้หาประโยชน์หรือทำตามความปรารถนาตามอำเภอใจเท่านั้น สิ่งนี้ขัดแย้งในทุกทางกับศักดิ์ศรีพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และยังขัดแย้งกับสิทธิของบุคคลแต่ละคนที่จะต้องได้เป็นที่ยอมรับในฐานะปัจเจก และจะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำหรับบุคคลอื่นอย่างเด็ดขาด
การการุณยฆาตและการฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์
51. การละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรูปแบบพิเศษอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่า[กับเรื่องอื่น ๆ] แต่ก็กำลังแพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่เป็นการใช้ความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของของมนุษย์เพื่อทำให้ข้อความคิดเรื่องศักดิ์ศรีกลายเป็นสิ่งที่มุ่งทำลายชีวิต ในทุกวันนี้ สามารถเห็นความสับสนอันนี้ได้ชัดเจนเป็นพิเศษภายในการถกเถียงเกี่ยวกับการการุณยฆาต ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่เปิดทางให้มีการการุณยฆาตหรือการฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ บางครั้งถูกเรียกว่า “กฎหมายเพื่อการจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี” (“death with dignity acts”) และในขณะเดียวกันก็มีความคิดแพร่หลายว่า การการุณยฆาตหรือการฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ มีความสอดคล้องบางอย่างกับการเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า ความทุกข์ทรมานไม่ได้ทำให้คนที่เจ็บป่วยสูญเสียศักดิ์ศรีของเขาไป เพราะศักดิ์ศรีนั้นเป็นของที่มีอยู่ในเขา และเป็นของเขาโดยไม่มีผู้ใดพรากไปได้ หากแต่ความทุกข์ทรมานอาจเป็นโอกาสในการเสริมสร้างสายใยแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นโอกาสที่จะได้ตระหนักมากยิ่งขึ้นว่า บุคคลแต่ละคนมีคุณค่าอันสูงส่งสำหรับครอบครัวมนุษยชาติโดยรวม
52. แน่นอนว่าศักดิ์ศรีของคนที่ป่วยหนักหรือใกล้ตาย เป็นสิ่งเรียกร้องให้มีความพยายามทุกวิถีทางที่เหมาะสมและจำเป็นในอันที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมานของเขา ทั้งนี้ ด้วยการดูแลแบบประคับประคอง และด้วยการหลีกเลี่ยงการโหมรักษาหรือกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัดส่วน มุมมองเช่นนี้สอดคล้องกับ “ความรับผิดชอบระยะยาวในการตอบสนองความจำเป็นของคนป่วย กล่าวคือ ความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล การบรรเทาความเจ็บปวด ตลอดจนความจำเป็นที่จะได้รับความรัก และความจำเป็นฝ่ายจิต” [94] อย่างไรก็ตาม ความพยายามแบบนี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการตัดสินใจจบชีวิตของตนเองหรือของผู้อื่นที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างหนัก ชีวิตมนุษย์มีศักดิ์ศรีที่จะต้องผดุงรักษาไว้เสมอ แม้ว่าเขาจะอยู่ในสถานะที่น่าเศร้าก็ตาม ศักดิ์ศรีอันนี้ย่อมไม่มีทางสูญเสียไป และเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไข จริงทีเดียวว่า ไม่มีสภาวะแวดล้อมใดเลยที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์สูญเสียศักดิ์ศรี[จนถึงขั้นที่]ทำให้สามารถจบชีวิตมนุษย์ได้ “ชีวิตแต่ละชีวิตมีคุณค่าและศักดิ์ศรีอันเดียวกันสำหรับทุกคน ความเคารพชีวิตผู้อื่นเป็นสิ่งเดียวกับความเคารพที่ชีวิตของตนพึงได้รับด้วย”[95] ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ที่คิดอยากฆ่าตัวตายให้เขาจบชีวิตของตนเองได้ จึงเป็นการละเมิดเชิงภววิสัยต่อศักดิ์ศรีของบุคคลผู้ร้องขอ แม้ว่าการ[ช่วยเหลือให้ฆ่าตัวตาย]จะเป็นการทำตามความประสงค์ของบุคคลผู้นั้นก็ตาม “เราทั้งหลายจะต้องอยู่เคียงข้างผู้คนที่กำลังมุ่งสู่ความตาย แต่เราจะต้องไม่กระตุ้นให้เกิดความตาย หรืออำนวยความสะดวกให้แก่การฆ่าตัวตายในรูปแบบใด ๆ อย่างเด็ดขาด ลูกจงจำไว้ว่า จะต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิของทุกคนในการได้รับการดูแลและรักษาพยาบาล เพื่อที่บรรดาคนที่อ่อนแออย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชราและคนป่วย จะไม่ถูกปฏิเสธเมินเฉย การมีชีวิตเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง แต่การตายไม่ได้เป็นสิทธิ ความตายเป็นสิ่งที่ควรต้องน้อมรับ ไม่ใช่ไปทำให้เกิดขึ้น หลักการทางจริยศาสตร์เช่นนี้ใช้ได้กับทุกคน ไม่เฉพาะกับคริสตชน หรือผู้ที่มีความเชื่อในศาสนาเท่านั้น” [96] ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ศักดิ์ศรีของบุคคลแต่ละคน ไม่ว่าเขาจะอ่อนแอหรือกำลังเผชิญความทุกข์ทรมานมากแค่ไหน เป็นสิ่งที่บอกเป็นนัยถึงศักดิ์ศรีของเราทั้งหลายทุกคน
การกีดกันคนพิการ
53. ความช่วยเหลือที่มอบให้แก่บรรดาคนด้อยโอกาสอย่างยิ่ง เป็นเกณฑ์อันหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ว่า ศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคนในสังคมได้เป็นที่สนใจอย่างแท้จริงหรือไม่ เป็นที่น่าเสียใจว่ายุคสมัยของเรานี้ไม่ได้เป็นยุคแห่งความช่วยเหลือเช่นนั้น หากแต่ “วัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง” กำลังแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ [97] เพื่อที่จะตอบโต้แนวโน้มเช่นนี้ จะต้องมีการให้ความสนใจและใส่ใจเป็นพิเศษต่อเงื่อนไขสภาวะของผู้คนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายหรือจิตใจ เงื่อนไขสภาวะแห่งความเปราะบางอย่างมากเช่นนี้[98] ถูกยกมากล่าวอย่างโดดเด่นชัดเจนในพระวรสาร และเป็นสิ่งเรียกร้องให้มีการตั้งคำถามเป็นสากลว่า อะไรคือความหมายของการเป็นบุคคลมนุษย์ โดยให้เงื่อนไขสภาวะแห่งความบกพร่องหรือพิการ[เป็นจุดเริ่มต้นอย่างพิเศษสำหรับการคิดพิจารณานี้] คำถามเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ยังคงมีนัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่ชัดเจน เพราะบางวัฒนธรรมมีแนวโน้มกีดกันคนพิการไปยังชายขอบ หรือแม้กระทั่งกดขี่ข่มเหงคนพิการ โดยปฏิบัติกับเขาเป็น “คนที่สมควรรังเกียจ” อย่างไรก็ตามความจริงมีอยู่ว่า มนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าเขาจะมีความเปราะบางอย่างไรก็ตาม ล้วนได้รับศักดิ์ศรีของเขาจากข้อเท็จจริงเพียงอันเดียว คือการที่เขาเป็นที่ปรารถนาและเป็นที่รักของพระเจ้า ดังนั้น จึงควรมีความพยายามทุกวิถีทางเพื่อส่งเสริมให้คนที่อ่อนแอหรือคนพิการได้เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นได้ ทั้งในสังคมและในพระศาสนจักร [99]
54. ในมุมมองที่กว้างขึ้น จำเป็นต้องระลึกว่า “ความรักความเมตตาอันนี้ ซึ่งเป็นหัวใจฝ่ายจิต[ที่พึงมีอยู่ภายใน]การเมือง ย่อมจะต้องเป็นความรักที่แสดงออกเป็นพิเศษต่อผู้คนที่ทุกข์ยากลำบากอย่างยิ่ง ความรักเช่นนี้เป็นสิ่งเกื้อหนุนทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทั้งหลายทำเพื่อเขา […] ‘การดูแลเอาใจใส่ผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่ามกลาง[โลกแห่ง]กรอบความคิดที่มุ่งเน้นแต่ประโยชน์ส่วนตนซึ่งย่อมจะนำไปสู่ ‘วัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง’ นั้น จำต้องอาศัยความแข็งแกร่งและความอ่อนโยน ความพยายาม และความใจกว้าง […] โดยจำเป็นต้องมีสำนึกรับผิดชอบต่อปัจจุบัน ตลอดจนต่อสถานการณ์แห่งการกีดกันและความทุกข์กังวลที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในปัจจุบัน ทั้งจะต้องสามารถทำให้ศักดิ์ศรีได้เกิดมีขึ้นที่นั่นด้วย’ การทำเช่นนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความพยายามอย่างมากเพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่า ‘จะมีการทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อคุ้มครองสถานะและศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์’” [100]
ทฤษฎีเพศสภาพ
55. ในประการแรก พระศาสนจักรมีความปรารถนาที่จะ “ยืนยันว่าบุคคลทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีเพศวิถีอย่างใดก็ตาม ย่อมสมควรได้รับความเคารพต่อศักดิ์ศรีของเขา และได้รับการปฏิบัติอย่างเห็นอกเห็นใจ ขณะที่จะต้องมีการหลีกเลี่ยงอย่างระมัดระวัง ไม่ให้มี ‘เครื่องหมาย[ใด ๆ] ที่บ่งชี้ถึงการเลือกปฏิบัติ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวร้าวและการใช้กำลังในทุกรูปแบบ” [101] ด้วยเหตุผลนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าในบางแห่งมีผู้คนจำนวนมากที่ถูกคุมขัง ทรมาน หรือแม้กระทั่งถูกพรากเอาชีวิตไป เพียงเพราะเหตุผลเรื่องเพศวิธีของเขานั้น จึงสมควรถูกประณามว่าขัดแย้งต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์
56. ในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรยังเน้นถึงหลายประเด็นปัญหาที่สำคัญและมีความแน่นอนตายตัวซึ่งปรากฏอยู่ในทฤษฎีเพศสภาพ ในจุดนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเตือนใจเราทั้งหลายไว้ว่า “หนทางแห่งสันติภาพเรียกร้องให้มีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งนี้สอดคล้องกับหลักการที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนภายในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เราทั้งหลายได้เฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้ หลักการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ชัดเจนในตัวมันเอง และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เป็นที่น่าเศร้าว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ มีความพยายามที่มุ่งจะสร้างสิทธิประการใหม่ ๆ ขึ้น ที่นอกจากจะไม่สอดคล้องอย่างเต็มที่กับบรรดาสิทธิที่มีการระบุไว้แต่เริ่มแรกแล้ว ในบางกรณียังอาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การล่าอาณานิคมทางอุดมการณ์โดยให้ทฤษฎีเพศสภาพมีบทบาทศูนย์กลาง ทฤษฎีอันนี้เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการปฏิเสธความแตกต่างทั้งหลายด้วยคำกล่าวอ้างที่จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน”[102]
57. เกี่ยวกับทฤษฎีเพศสภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกำลังถกเถียงกันอย่างมากเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลสอดคล้องในทางวิทยาศาสตร์นั้น พระศาสนจักรชี้ว่าชีวิตมนุษย์ในทุกมิติ ทั้งมิติทางร่างกายและทางจิตใจ ล้วนเป็นของประทานจากพระเจ้า ของประทานนี้เป็นสิ่งที่ควรน้อมรับด้วยความขอบคุณ และนำไปใช้เพื่อประโยชน์แห่งความดี [ดังนั้น]ความปรารถนาที่จะกำหนดใจตนเองเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ในทางที่สอดคล้องกับเนื้อหาของทฤษฎีเพศสภาพ และออกห่างจากความจริงพื้นฐานที่ว่าชีวิตมนุษย์เป็นของประทานนั้น ก็ย่อมนับว่าเป็นการยอมแพ้แก่การผจญที่มีมายาวนาน ซึ่งยั่วยุให้มนุษย์ตั้งตนเป็นพระเจ้า ยกตนไปแข่งขันกับพระเจ้าเที่ยงแท้แห่งความรัก ผู้ที่เราทั้งหลายได้รู้จักจากการเผยแสดงในพระวรสาร
58. แง่มุมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในทฤษฎีเพศสภาพ คือการมุ่งจะปฏิเสธความแตกต่างทางเพศ ซึ่งเป็นความแตกต่างข้อใหญ่ที่สุดที่อาจมีได้ในหมู่สิ่งมีชีวิต ความแตกต่างพื้นฐานข้อนี้ไม่ได้เป็นเพียงความแตกต่างข้อใหญ่ที่สุดที่อาจจินตนาการได้เท่านั้น แต่ยังเป็นความแตกต่างที่สวยงามและทรงพลังที่สุดด้วย โดยในคู่รักชายหญิง ความแตกต่างนี้ได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ต่างตอบแทนที่มหัศจรรย์ที่สุด คือ เป็นที่มาของการทำให้เกิดชีวิตมนุษย์ขึ้นใหม่ในโลกนี้ นี่เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เหนือความคาดหมายของเราอยู่เสมอ
59. ในแง่นี้ การเคารพทั้งต่อร่างกายของตนและร่างกายของผู้อื่นจึงมีความสำคัญยิ่งยวด ท่ามกลางการแพร่หลายของข้อกล่าวอ้างเรื่องสิทธิประการใหม่ ๆ ที่ผลักดันโดยทฤษฎีเพศสภาพ อุดมการณ์อันนี้ “จินตนาการถึงสังคมที่ไม่มีความแตกต่างทางเพศ จึงเป็นการกำจัดพื้นฐานทางมานุษยวิทยาที่รองรับ[การมีอยู่ของ]ครอบครัว” [103] ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้หากว่า “อุดมการณ์บางอย่างลักษณะแบบนี้ ที่เป็นความพยายามตอบสนองต่อความมุ่งหมายต่าง ๆ ที่บางครั้งอาจเข้าใจได้ พยายามตั้งตนให้มีสถานะเด็ดขาดอยู่เหนือการตั้งคำถามใด ๆ หรือแม้กระทั่งพยายามจะกำหนดสั่งว่าเด็ก ๆ ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูในแนวใด [เราทั้งหลาย]จำเป็นต้องเน้นย้ำว่า ‘เพศทางชีววิทยากับบทบาทของเพศ (เพศสภาพ) ในทางสังคมและวัฒนธรรม เป็น[สอง]สิ่งที่สามารถแยกแยะได้ แต่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้’”[104] ด้วยเหตุนี้ ความพยายามทุกรูปแบบที่มุ่งจะบดบังการกล่าวถึงความแตกต่างทางเพศที่ไม่อาจลบล้างได้ระหว่างชายหญิง จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องปฏิเสธ “เราทั้งหลายไม่อาจตัดความเป็นชายและความเป็นหญิงออกจากกิจการเนรมิตสร้างของพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่มาก่อนการตัดสินใจและประสบการณ์ทั้งหลายของเรา ความที่องค์ประกอบด้านชีววิทยามีอยู่ภายในสิ่งสร้าง เป็นสิ่งที่[เราทั้งหลาย]ไม่อาจละเลยได้” [105] มีเพียงการยอมรับและน้อมรับความแตกต่างระหว่างกันเท่านั้น ที่จะเป็นแนวทางให้บุคคลแต่ละคนได้ค้นพบตัวเอง ตลอดจนค้นพบศักดิ์ศรีของตน และอัตลักษณ์ของตนได้อย่างเต็มที่
การแปลงเพศ
60. ศักดิ์ศรีของร่างกาย เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองได้ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของบุคคล หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ได้เชื้อเชิญอย่างชัดแจ้งให้เราทั้งหลายยอมรับว่า “ร่างกายมนุษย์มีส่วนในศักดิ์ศรีแห่งการเป็น ‘ภาพลักษณ์ของพระเจ้า’”[106] ความจริงอันนี้สมควรเป็นที่จดจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการแปลงเพศ เหตุว่ามนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในที่นี้ ร่างกายมนุษย์มีบทบาทเป็นบริบทอันมีชีวิต ที่ซึ่งวิญญาณที่อยู่ภายในได้ถูกเปิดเผยและแสดงตนออกมา เช่นเดียวกับที่กระทำผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ของมนุษย์ ร่างกายและวิญญาณล้วนเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของบุคคล และล้วนมีส่วนในศักดิ์ศรีที่เป็นลักษณะของมนุษย์ทุกคน [107] ไม่เพียงเท่านั้น ร่างกายก็ยังมีส่วนในศักดิ์ศรีดังกล่าวด้วยในแง่ที่ว่าร่างกายได้รับความหมายเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขแห่งความมีเพศ[108] ร่างกายเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลรับรู้และยอมรับว่าตนเองถูกสร้างขึ้นโดยผู้อื่น และร่างกายยังเป็นหนทางที่ชายหญิงสามารถสร้างความสัมพันธ์แห่งความรักที่อาจทำให้เกิดบุคคลอื่นขึ้นได้ สมเด็จพระสันตะปาปาได้ตรัสสอนเรื่องความจำเป็นที่จะต้องเคารพระเบียบธรรมชาติของบุคคลมนุษย์ โดยทรงเน้นย้ำว่า “การเนรมิตสร้างมีมาก่อนเราทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่[เราทั้งหลาย]จะต้องน้อมรับเป็นของประทาน ในขณะเดียวกัน เราทั้งหลายก็ถูกเรียกให้คุ้มครองความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้หมายความเป็นอันดับแรกว่า [เราทั้งหลายจะต้อง]น้อมรับและเคารพความเป็นมนุษย์ดังที่ได้ถูกสร้างขึ้นมา”[109] ดังนั้น การแทรกแซงใด ๆ ที่เป็นการแปลงเพศ ในทางกฎเกณฑ์แล้วจึงเสี่ยงที่จะเป็นภัยคุกคามต่อศักดิ์ศรีที่บุคคลได้รับและมีอยู่เฉพาะตนตั้งแต่ชั่วขณะแห่งการปฏิสนธิ การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้เป็นการขจัดความเป็นไปได้ว่า บุคคลที่มีความผิดปกติในอวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งปรากฏตั้งแต่เกิดหรือพัฒนาขึ้นทีหลังนั้น อาจเลือกที่จะรับความช่วยเหลือจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์เพื่อแก้ไขความผิดปกติเช่นนี้ได้ ทั้งนี้ กระบวนการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าว ย่อมจะไม่ถือว่าเป็นการแปลงเพศในความหมายที่ได้ตั้งใจนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้
การใช้ความรุนแรงทางดิจิทัล
61. ถึงแม้ว่าความก้าวหน้าประการต่าง ๆ ของเทคโนโลยีดิจิทัล จะได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้มากมายในการส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ แต่[ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี]ก็ยังมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะสร้างโลกที่มีการเอารัดเอาเปรียบ การกีดกัน และความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นการทำร้ายศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ ตัวอย่างเช่น วิธีการทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นเรื่องง่ายดายอย่างมากที่จะทำลายชื่อเสียงของผู้หนึ่งให้เสื่อมเสียไปด้วยการปล่อยข่าวเท็จหรือการหมิ่นประมาทว่าร้าย ในแง่นี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นว่า “ไม่ใช่การดีที่จะนำการติดต่อสื่อสารไปปะปนกับสิ่งที่เป็นเพียงการติดต่อกันแบบเสมือน จริงทีเดียวว่า ‘สิ่งแวดล้อมในโลกดิจิทัลยังเป็นสิ่งแวดล้อมแห่งความโดดเดี่ยว การครอบงำชักใย การเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย จนกระทั่งในกรณีสุดโต่งของสิ่งที่เรียกว่า ‘ดาร์กเว็บ’ สื่อแบบดิจิทัลอาจทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อการเสพติด เสี่ยงที่จะอยู่โดดเดี่ยว และค่อย ๆ สูญเสียการติดต่อกับโลกแห่งความเป็นจริงไป อันจะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง ความรุนแรงรูปแบบใหม่ ๆ กำลังแพร่ขยายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ตัวอย่างเช่น การระรานทางไซเบอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตยังเป็นช่องทางของการแพร่กระจายสื่อลามก และการหาประโยชน์จากผู้คนเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ[การหาประโยชน์จากผู้อื่น]ด้วยการพนัน’” [110] ในแง่นี้จึงมีความย้อนแย้งกันเองตรงที่ว่า ถึงแม้ว่า[ในโลกดิจิทัล]จะมีโอกาสสำหรับเชื่อมโยงกับผู้คนอื่นมากขึ้น แต่ผู้คนที่พบว่าตนเองโดดเดี่ยวและขาดแคลนความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีมากขึ้นตามไปด้วย “การสื่อสารทางดิจิทัลต้องการจะนำทุกสิ่งทุกอย่างมาเปิดเผยในที่โล่งแจ้ง ชีวิตของผู้คนกลายเป็นสิ่งที่ถูกขุดคุ้ย เปิดโปง และนำมาเป็นเรื่องพูดคุยเอาสนุก โดยบ่อยครั้งผู้ที่ทำแบบนี้ไม่ได้เปิดเผยตนเอง [เมื่อมีคนทำเช่นนี้มาก ๆ] ความเคารพต่อผู้อื่นก็ย่อมจะหมดไป แต่ถึงแม้ว่าเราจะปฏิเสธ เมินเฉย หรือห่างเหินจากผู้อื่น แต่เราก็ยังสามารถส่องดูทุกรายละเอียดในชีวิตของผู้อื่นได้โดยไม่มียางอาย”[111] แนวโน้มเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถืงด้านมืดของความก้าวหน้าทางดิจิทัล
62. ในมุมมองนี้ หากจะให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่รับใช้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ใช่ทำลาย และหากจะให้เทคโนโลยีส่งเสริมเสรีภาพแทนที่จะเป็นความรุนแรง ประชาคมมนุษย์ก็จะต้องมีความกระตือรือร้นในการรับมือกับแนวโน้มต่าง ๆ ข้างต้น ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์และการส่งเสริมความดี “ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ทุกวันนี้ ‘มีสื่อที่สามารถช่วยให้เราทั้งหลายรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของครอบครัวมนุษยชาติ ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความพยายามอย่างจริงจังที่จะให้ทุกคนได้มีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรียิ่งขึ้นได้ […] สื่อเป็นสิ่งที่อาจช่วยเหลือเราทั้งหลายในเรื่องนี้ได้อย่างมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งมีพัฒนาการในเครือข่ายการติดต่อสื่อสารของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้สร้างความเป็นไปได้อย่างมหาศาลเพื่อการพบปะและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นของประทานจากพระเจ้า’ เราทั้งหลายจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจได้ว่า การติดต่อสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบันกำลังนำทางเราทั้งหลายมุ่งสู่การพบปะกับผู้อื่นด้วยใจกว้าง สู่การแสวงหาความจริงทั้งครบอย่างซื่อสัตย์ สู่การรับใช้ สู่การไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้ด้อยโอกาส และมุ่งสู่การส่งเสริมความดีส่วนรวม”[112]
บทสรุป
63. ในโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (1948) สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเน้นย้ำว่า ตราสารฉบับนี้ “เปรียบเสมือนเป็นแผนแม่บทอย่างหนึ่ง ซึ่งนับจากนั้นมาก็ได้มีการดำเนินการหลายอย่าง ขณะที่หลายอย่างยังไม่ได้ลงมือทำ และเป็นที่น่าเศร้าใจว่าบางครั้งกลับมีความถดถอย การมุ่งมั่นเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ในแง่นี้ พ่อขอแสดงความใกล้ชิดต่อผู้คนที่ต่อสู้และเสียสละตนเองในชีวิตประจำวันของเขา โดยที่ไม่ได้เรียกร้องจะเป็นที่สนใจจากใคร เพื่อปกป้องสิทธิของผู้คนที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ”[113]
64. ภายในจิตวิญญาณอันนี้เองที่พระศาสนจักรได้เรียกร้องด้วยใจร้อนรนผ่านคำประกาศอันนี้ เพื่อที่ว่าการเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ที่อยู่เหนือสภาวะแวดล้อมใด ๆ จะถูกนำไปเป็นศูนย์กลางของความมุ่งมั่นเพื่อความดีส่วนรวม และเป็นศูนย์กลางในระบบกฎหมายทั้งปวง จริงทีเดียวว่า การเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์แต่ละคน เป็นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับการมีอยู่ของสังคมใด ๆ ก็ตามที่อ้างตนว่าตั้งอยู่บนกฎหมายที่เป็นธรรม มิใช่บนอำนาจของพละกำลัง การยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานสำหรับการยึดมั่นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประการต่าง ๆ ซึ่งย่อมมาก่อนและเป็นรากฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างมีอารยธรรมในทุกรูปแบบ[114]
65. ปัจเจกแต่ละคน ตลอดจนประชาคมมนุษย์แต่ละแห่ง มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน รัฐต่าง ๆ ไม่เพียงแต่จะมีหน้าที่คุ้มครองศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่วางหลักประกันเพื่อให้มีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้เฟื่องฟูขึ้นภายในการส่งเสริมการพัฒนาบุคคลมนุษย์แบบองค์รวม “ในกิจกรรมทางการเมืองนั้น เราทั้งหลายจะต้องระลึกเสมอว่า ‘ไม่ว่าลักษณะภายนอกจะเป็นแบบใดก็ตาม แต่บุคคลทุกคนล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมหาศาล และยังสมควรเป็นที่รักและได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังจากเราทั้งหลาย’” [115]
66. แม้แต่ในทุกวันนี้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ในหลายรูปแบบซึ่งล้วนเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของมนุษยชาติ พระศาสนจักรก็ยังคงสนับสนุนการส่งเสริมศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีลักษณะทางร่างกาย จิตใจ วัฒนธรรม สังคม และศาสนาอย่างใดก็ตาม พระศาสนจักรกระทำเช่นนี้ด้วยความหวัง ด้วยความเชื่อมั่นในพลานุภาพที่หลั่งไหลมาจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ผู้ทรงได้เผยแสดงอย่างครบบริบูรณ์ซึ่งศักดิ์ศรีที่ชายหญิงทุกคนมีอยู่ในตน ความเชื่อมั่นข้อนี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงเรียกร้องต่อเราแต่ละคนว่า “ข้าพเจ้าเรียกร้องยังทุกคนทั่วโลก จงอย่าลืมศักดิ์ศรีอันนี้ซึ่งเป็นของเราทั้งหลาย ไม่มีใครที่มีสิทธิพรากเอาศักดิ์ศรีนี้ไปจากเราทั้งหลายได้” [116]
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในการประทานโอกาสให้สมณมนตรีสมณสภาเพื่อพระสัจธรรม พร้อมด้วยเลขานุการฝ่ายหลักคำสอนของสมณสภาดังกล่าวเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2024 ได้ทรงอนุมัติคำประกาศนี้ ตามมติที่ประชุมสามัญของสมณสภาดังกล่าวในการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 และทรงมีพระบัญชาให้นำคำประกาศนี้ออกเผยแพร่
ให้ไว้ที่สำนักงานสมณสภาเพื่อพระสัจธรรม กรุงโรม ณ วันที่ 2 เมษายน 2024
ตรงกับวันครบรอบ 19 ปี การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่สอง
พระคาร์ดินัล บิกตอร์ มานูเอล แฟร์นันเดส
สมณมนตรี
มงซินญอร์ อาร์มันโด มัตเตโอ
เลขานุการฝ่ายหลักคำสอน
EX AUDIENTIA DIE 25.03.2024
FRANCISCUS
________________
[1] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, บททูตสวรรค์แจ้งข่าวที่อาสนวิหารแห่งออสนาบรืค (16 พฤศจิกายน 1980): Insegnamenti III/2 (1980), 1232.
[2] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Laudate Deum (4 ตุลาคม 2023), ข้อ 39: L’Osservatore Romano (4 ตุลาคม 2023), III.
[3] เมื่อปี 1948 สหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยเนื้อหา 30 ข้อ ขณะคำว่า “ศักดิ์ศรี” ได้ปรากฏในตราสารดังกล่าวรวม 5 ครั้ง โดยอยู่ในเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ในถ้อยคำช่วงแรกของอารัมภบท และในประโยคแรกของข้อ 1 ทั้งนี้ มีการประกาศว่าศักดิ์ศรีอันนี้เป็นสิ่งที่ “สมาชิกทุกคนในครอบครัวมนุษยชาติมีอยู่แต่กำเนิด” (อารัมภบท) และว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ” (ข้อ 1)
[4] เมื่อพิจารณาเฉพาะในยุคใหม่ เราทั้งหลายก็ย่อมเห็นว่าพระศาสนจักรได้ค่อย ๆ เน้นถึงความสำคัญของเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์มาตลอด หัวข้อเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมณสาส์นเวียน Rerum Novarum (1891) ของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่สิบสาม ในสมณสาส์นเวียน Quadragesimo Anno (1931) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่สิบเอ็ด และในพระดำรัสต่อที่ประชุมใหญ่ของสหพันธ์พยาบาลผดุงครรภ์คาทอลิกแห่งอิตาลี (1951) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่สิบสอง จากนั้น สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้นำประเด็นนี้ไปพัฒนาต่อยอด โดยได้อุทิศเนื้อหาทั้งฉบับของเอกสารคำประกาศ Dignitatis Humanae (1965) เป็นการพูดถึงเรื่องนี้ รวมทั้งได้อภิปรายเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ไว้ในธรรมนูญอภิบาล Gaudium et Spes (1965) ด้วย
[5] สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่หก, การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (4 กันยายน 1968): Insegnamenti VI (1968), 886.
[6] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, พระดำรัสต่อที่ประชุมสามัญครั้งที่สามของสภาบิชอปภูมิภาคลาตินอเมริกา (28 มกราคม 1979), III.1-2: Insegnamenti II/1 (1979), 202-203.
[7] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสมณบัณฑิตยสภาเพื่อชีวิต (13 กุมภาพันธ์ 2010): Insegnamenti VI/1 (2011), 218.
[8] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาของสภายุโรป (12 มิถุนายน 2010): Insegnamenti VI/1 (2011), 912-913.
[9] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (24 พฤศจิกายน 2013), ข้อ 178: AAS 105 (2013), 1094; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, บททูตสวรรค์แจ้งข่าวที่อาสนวิหารแห่งออสนาบรืค (16 พฤศจิกายน 1980): Insegnamenti III/2 (1980), 1232.
[10] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 8: AAS 112 (2020), 971.
[11] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 277: AAS 112 (2020), 1069.
[12] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 213: AAS 112 (2020), 1045.
[13] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 213: AAS 112 (2020), 1045; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สารถึงผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในโลกยุคปัจจุบัน: ความสำเร็จ การละเลย และการปฏิเสธ” (10 ธันวาคม 2018): L’Osservatore Romano, (10-11 ธันวาคม 2018), 8.
[14] ปฏิญญาของสหประชาชาติเมื่อปี 1948 ได้รับการต่อยอดและขยายความโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติเมื่อปี 1966 และข้อตกลงเฮลซิงกิของที่ประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ปี 1975
[15] เทียบ คณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ, ศักดิ์ศรีและสิทธิประการต่าง ๆ ของบุคคลมนุษย์ (1983), บทนำ, 3. ทั้งนี้ เนื้อหาโดยสรุปของคำสอนคาทอลิกเกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ สามารถพบได้ในคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ในบทที่มีหัวข้อว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์” ข้อ 1700-1876.
[16] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 22: AAS 112 (2020), 976.
[17] โบเอธีโอ, Contra Eutychen et Nestorium, c. 3: PL 64, 1344: “persona est rationalis naturae individua substantia.” เทียบ โบนาเวนตูรา, In I Sent., d. 25, a. 1, q. 2; โทมัส อควีนัส, Summa Theologiae, I, q. 29, a. 1, resp.
[18] ด้วยคำประกาศนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียบเรียงคำบรรยายที่ละเอียดครอบคลุมเกี่ยวกับความคิดเรื่องศักดิ์ศรี ดังนั้นเพื่อความกระชับ จึงจะกล่าวถึงในที่นี้เฉพาะสิ่งที่เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมกรีกและโรมันยุคคลาสิกเท่านั้น เพื่อเป็นตัวอย่าง และเป็นจุดอ้างอิงสำหรับการพูดถึงข้อคิดพิจารณาในทางปรัชญาและเทววิทยาของคริสต์ศาสนาในยุคแรก
[19] เช่น ซีเซโร, De Officiis I, 105-106: “Sed pertinet ad omnem officii quaestionem semper in promptu habere, quantum natura hominis pecudibus reliquisque beluis antecedat […] Atque etiam si considerare volumus, quae sit in natura excellentia et dignitas, intellegemus, quam sit turpe diffluere luxuria et delicate ac molliter vivere quamque honestum parce, continenter, severe, sobrie” (Id., Scriptorum Latinorum Bibliotheca Oxoniensis, ed. M. Winterbottom, Oxford 1994, 43). (“ทว่าในการเสาะหาเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับหน้าที่ [เราทั้งหลาย]จำเป็นต้องระลึกอยู่เสมอว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีความเหนือกว่าวัวควายและสัตว์อื่น ๆ มากมายเพียงใด […] ขอเพียงแต่เราปรารถนาจะพิจารณาว่า อะไรคือความเป็นเลิศและศักดิ์ศรีภายในธรรมชาติ[ของมนุษย์] เราทั้งหลายก็ย่อมจะรู้ว่า การปล่อยตนให้ไหลไปตามความหรูหราฟุ่มเฟือยและความเพลิดเพลิน และการมีชีวิตอยู่อย่างประณีตสบายนั้น เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจถึงปานใด และ[เราย่อมรู้]ว่าการมีชีวิตอยู่ด้วยความสมถะ ไม่ปล่อยไปตามใจตนเอง การมีชีวิตด้วยความเข้มงวดสันโดษและความรู้ประมาณนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเพียงใด”)
[20] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่หก, พระดำรัสในโอกาสเสด็จจาริกยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์: การเสด็จเยือนมหาวิหารแห่งการแจ้งสารที่นาซาเร็ธ (5 มกราคม 1964): AAS 56 (1964), 166-170.
[21] เช่น เคลเมนต์แห่งโรม, 1 Clem. 33, 4f: PG 1, 273; เธโอฟีโลแห่งอันตีโอก, Ad Aut. I, 4: PG 6, 1029; เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย, Strom. III, 42, 5-6: PG 8, 1145; เรื่องเดียวกัน, VI, 72, 2: PG 9, 293; อีเรเนโอแห่งลียง, Adv. Haer. V, 6, 1: PG 7, 1137-1138; โอรีเยเน, De princ. III, 6, 1: PG 11, 333; เอากุสติน[แห่งฮิปโป], De Gen. ad litt. VI, 12: PL 34, 348; De Trinitate XIV, 8, 11: PL 42, 1044-1045.
[22] โทมัส อควีนัส, Summa Theologiae, I, q. 29, a. 3, resp.: «persona significat id, quod est perfectissimum in tota natura, scilicet subsistens in rationali natura».
[23] เทียบ ความคิดของ โจวันนี ปีโก เดลลา มิรันโดลา และผลงานที่เป็นที่รู้จักของเขา ได้แก่ Oratio de Hominis Dignitate (คำปราศรัยว่าด้วยศักดิ์ศรีของมนุษย์, ปี 1486).
[24] สำหรับ แอมานุแอล เลวีนัส นักคิดเชื้อสายยิว (1906-1995), ลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ คือ เสรีภาพของเขา ตราบเท่าที่เขาได้ค้นพบว่าตนเองมีความรับผิดชอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อมนุษย์ผู้อื่น
[25] นักคิดในคริสต์ศาสนาผู้ยิ่งใหญ่หลายคนในศตวรรษที่ 19 และ 20 เช่น นักบุญ[จอห์น เฮนรี] นิวแมน, บุญราศี[อันโตนีโอ] รอสมีนี, [ฌัก] มารีแต็ง, [แอมานุแอล] มูนีเย, [คาร์ล] ราห์เนอร์, [ฮันส์ อัวร์ส] ฟอน บัลทาซาร์ และคนอื่น ๆ ได้ประสบความสำเร็จในการเสนอภาพลักษณ์ของบุคคลมนุษย์ที่สามารถนำไปใช้ในการสานเสวนาอย่างได้ผลกับกระแสความคิดทั้งปวงที่ปรากฏในช่วงแรกของศตวรรษที่ 21 ไม่ว่ากระแสความคิดนั้นจะได้รับแรงบันดาลใจมากจากที่ใด แม้แต่กับแนวคิดหลังยุคนวนิยมก็ตาม
[26] นี่เป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใด “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน […] จึงกล่าวเป็นนัยว่า สิทธิมนุษยชนที่ไม่มีผู้ใดพรากไปได้ มีที่มาจากศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคน” (คณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ, การแสวงหาซึ่งจริยศาสตร์สากล: มุมมองใหม่ต่อกฎหมายธรรมชาติ [2009], ข้อ 115).
[27] สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, ธรรมนูญอภิบาล Gaudium et Spes (7 ธันวาคม 1965), ข้อ 26: AAS 58 (1966), 1046. โดยบทแรกทั้งบทในส่วนแรกของธรรมนูญอภิบาลฉบับนี้ (ข้อ 11-22) เป็นการกล่าวถึง “ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์”
[28] สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, คำประกาศ Dignitatis Humanae (7 ธันวาคม 1965), ข้อ 1: AAS 58 (1966), 929.
[29] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 2: AAS 58 (1966), 931.
[30] เทียบ. สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, คำแนะนำ Dignitas Personae (8 กันยายน 2008), no. 7: AAS 100 (2008), 863. เทียบ อีเรเนโอแห่งลียง, Adv. Haer. V, 16, 2: PG 7, 1167-1168 ด้วย
[31] เหตุว่า “อาศัยการรับสภาพมนุษย์ของพระองค์ พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงมาเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ทุกคนในหนทางหนึ่งแล้ว” ศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนจึงได้รับการเผยแสดงต่อเราอย่างบริบูรณ์โดยพระคริสตเจ้า (สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, ธรรมนูญอภิบาล Gaudium et Spes [7 ธันวาคม 1965], ข้อ 22: AAS 58 [1966], 1042).
[32] สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, ธรรมนูญอภิบาล Gaudium et Spes (7 ธันวาคม 1965), ข้อ 19: AAS 58 (1966), 1038.
[33] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, สมณสาส์นเวียน Evangelium Vitae (25 มีนาคม 1995), no. 38: AAS 87 (1995), 443, อ้างจาก อีเรเนโอแห่งลียง, Adv. Haer. IV, 20, 7: PG 7, 1037-1038.
[34] จริงทีเดียวว่าพระคริสตเจ้าโปรดประทานศักดิ์ศรีแก่ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป ให้เขาได้เป็น “บุตรชายหญิงของพระเจ้า” เทียบ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1213, 1265, 1270, และ 1279
[35] สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, คำประกาศ Dignitatis Humanae (7 ธันวาคม 1965), no. 9: AAS 58 (1966), 935.
[36] เทียบ. อีเรเนโอแห่งลียง, Adv. Haer. V, 6, 1. V, 8, 1. V, 16, 2: PG 7, 1136-1138. 1141-1142. 1167-1168; ยอห์นแห่งดามัสกัส, De fide orth. 2, 12: PG 94, 917-930.
[37] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, พระดำรัสต่อรัฐสภาอังกฤษที่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ (17 กันยายน 2010): Insegnamenti VI/2 (2011), 240.
[38] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (12 สิงหาคม 2020): L’Osservatore Romano (13 สิงหาคม 2020), 8; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, พระดำรัสต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (2 ตุลาคม 1979), 7 และ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, พระดำรัสต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (5 ตุลาคม 1995), 2.
[39] เทียบ. สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, คำแนะนำ Dignitas Personae (8 กันยายน 2008), ข้อ 8: AAS 100 (2008), 863-864.
[40] คณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ, เสรีภาพทางศาสนาเพื่อความดีของทุกคน (2019), ข้อ 38.
[41] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อคณะทูตานุทูตประจำสำนักวาติกันที่มาถวายพระพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ (8 มกราคม 2024): L’Osservatore Romano (8 มกราคม 2024), 3.
[42] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, สมณสาส์นเวียน Evangelium Vitae (25 มีนาคม 1995), ข้อ 19: AAS 87 (1995), 422.
[43] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Laudato Si’ (24 พฤษภาคม 2015), ข้อ 69: AAS 107 (2015), 875; อ้างจาก คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 339.
[44] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Laudate Deum (4 ตุลาคม 2023), ข้อ 67: L’Osservatore Romano (4 ตุลาคม 2023), IV.
[45] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 63: L’Osservatore Romano (4 ตุลาคม 2023), IV.
[46] คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1730.
[47] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, สารเนื่องในโอกาสวันสันติภาพโลกครั้งที่ 44 (1 มกราคม 2011), ข้อ 3: Insegnamenti VI/2 (2011), 979.
[48] สมณสภาเพื่อความยุติธรรมและสันติ, ย่อเรื่องหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร, ข้อ 137.
[49] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 109: AAS 112 (2020), 1006.
[50] สมณสภาเพื่อความยุติธรรมและสันติ, ย่อเรื่องหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร, ข้อ 137.
[51] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมขบวนการภาคประชาชนโลก (28 ตุลาคม 2014): AAS 106 (2014), 858.
[52] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 107: AAS 112 (2020), 1005-1006.
[53] สภาสังคายนาวาติกันที่สอง, ธรรมนูญอภิบาล Gaudium et Spes (7 ธันวาคม 1965), ข้อ 27: AAS 58 (1966), 1047.
[54] เรื่องเดียวกัน
[55] เรื่องเดียวกัน
[56] เทียบ. คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 2267, และ สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, หนังสือแจ้งถึงบรรดาบิชอปเกี่ยวกับการทบทวนข้อความข้อ 267 ของคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ว่าด้วยเรื่องโทษประหารชีวิต (1 สิงหาคม 2018), ข้อ 7-8.
[57] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 269: AAS 112 (2020), 1065.
[58] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, สมณสาส์นเวียน Sollicitudo Rei Socialis (30 ธันวาคม 1987), ข้อ 28: AAS 80 (1988), 549.
[59] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, สมณสาส์นเวียน Caritas in Veritate (29 มิถุนายน 2009), ข้อ 22: AAS 101 (2009), 657, อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่หก, สมณสาส์นเวียน Populorum Progressio (26 มีนาคม 1967), ข้อ 9: AAS 59 (1967), 261-262.
[60] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 21: AAS 112 (2020), 976; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, สมณสาส์นเวียน Caritas in Veritate (29 มิถุนายน 2009), ข้อ 22: AAS 101 (2009), 657.
[61] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 20: AAS 112 (2020), 975-976. เทียบ “บทอธิษฐานภาวนาต่อพระผู้สร้าง” ท้ายสมณสาส์นเวียนฉบับดังกล่าวด้วย
[62] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 116: AAS 112 (2020), 1009; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมขบวนการภาคประชาชนโลก (28 ตุลาคม 2014): AAS 106 (2014), 851-852.
[63] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 162: AAS 112 (2020), 1025; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อคณะทูตานุทูตประจำสำนักวาติกัน (12 มกราคม 2015): AAS 107 (2015), 165.
[64] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), no. 25: AAS 112 (2020), 978; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สารเนื่องในโอกาสวันสันติภาพโลกประจำปี 2016 (1 มกราคม 2016): AAS 108 (2016), 49.
[65] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สารต่อผู้เข้าร่วมประชุม “เวทีแห่งปารีสเพื่อสันติภาพ” ครั้งที่ 6 (10 พฤศจิกายน 2023): L’Osservatore Romano (10 พฤศจิกายน 2023), 7; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (23 มีนาคม 2022): L’Osservatore Romano (23 มีนาคม 2022), 3.
[66] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) (2 ธันวาคม 2023): L’Osservatore Romano (2 ธันวาคม 2023), 2.
[67] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่หก, พระดำรัสต่อสหประชาชาติ (4 ตุลาคม 1965): AAS 57 (1965), 881.
[68] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, สมณสาส์นเวียน Redemptor Hominis (4 มีนาคม 1979), ข้อ 16: AAS 71 (1979), 295.
[69] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 258: AAS 112 (2020), 1061.
[70] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (14 มิถุนายน 2023): L’Osservatore Romano (15 มิถุนายน 2023), 8.
[71] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสเนื่องในวันสากลแห่งการอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ (20 กันยายน 2016): L’Osservatore Romano (22 กันยายน 2016), 5.
[72] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 38: AAS 112 (2020), 983: “ด้วยเหตุนี้ ‘จึงมีความจำเป็นเช่นกันที่จะต้องยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิในการไม่ต้องย้ายถิ่น กล่าวคือ สิทธิในการคงอยู่ในถิ่นฐานเดิมของตนต่อไป’”; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, สารเนื่องในโอกาสวันผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 99 (12 ตุลาคม 2012): AAS 104 (2012), 908.
[73] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 38: AAS 112 (2020), 982-983.
[74] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 39: AAS 112 (2020), 983.
[75] สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก, สมณสาส์นเวียน Caritas in Veritate (29 มิถุนายน 2009), ข้อ 62: AAS 101 (2009), 697.
[76] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 39: AAS 112 (2020), 983.
[77] ในที่นี้ เราทั้งหลายอาจนึกถึงคำประกาศของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่สาม เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีการค้นพบในดินแดนที่เรียกว่า “โลกใหม่” ภายในสารตรา Pastorale Officium (29 พฤษภาคม 1537) ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ว่าผู้อยู่อาศัยในดินแดนต่าง ๆ ดังกล่าว “แม้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพระศาสนจักร จะต้อง […] ไม่ถูกพรากไปซึ่งเสรีภาพหรือความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินของเขา เหตุว่าเขาทั้งหลายเป็นมนุษย์ จึงสามารถมีความเชื่อและได้รับความรอดได้” («licet extra gremium Ecclesiae existant, non tamen sua libertate, aut rerum suarum dominio […] privandos esse, et cum homines, ideoque fidei et salutis capaces sint»): DH 1495 โดยหากผู้ใดไม่ทำตามนี้ก็จะถูกบัพพาชนียกรรม
[78] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของสมณสภาเพื่อการดูแลอภิบาลผู้ย้ายถิ่นและผู้ไม่อยู่ประจำที่ (24 พฤษภาคม 2013): AAS 105 (2013), 470-471.
[79] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อสหประชาชาติ, นิวยอร์ก (25 กันยายน 2015): AAS 107 (2015), 1039.
[80] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อทูตานุทูตใหม่ที่มาเฝ้าถวายอักษรสาส์นตราตั้ง (12 ธันวาคม 2013): L’Osservatore Romano (13 ธันวาคม 2013), 8.
[81] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ (11 เมษายน 2019): AAS 111 (2019), 700.
[82] ที่ประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปสมัยสามัญครั้งที่ 15, เอกสารฉบับท้ายสุด (27 ตุลาคม 2018), ข้อ 29.
[83] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 23: AAS 112 (2020), 977, อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (24 พฤศจิกายน 2013), ข้อ 212: AAS 105 (2013), 1108.
[84] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, จดหมายถึงบรรดาสตรี (29 มิถุนายน 1995), ข้อ 4: Insegnamenti XVIII/1 (1997), 1874.
[85] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 5: Insegnamenti XVIII/1 (1997), 1875.
[86] คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 1645.
[87] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสเนื่องในโอกาสฉลอง “แม่พระแห่งประตูเมือง” (20 มกราคม 2018): AAS 110 (2018), 329.
[88] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมในการประชุมเต็มคณะของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม (21 มกราคม 2022): L’Osservatore Romano (21 มกราคม 2022), 8.
[89] สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่สอง, สมณสาส์นเวียน Evangelium Vitae (25 มีนาคม 1995), ข้อ 58: AAS 87 (1995) 466-467. ในเรื่องความเคารพต่อพึงมีต่อเอ็มบริโอของมนุษย์ เทียบ คำแนะนำ Donum Vitae (22 กุมภาพันธ์ 1987) ของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ที่กล่าวไว้ว่า “การเก็บเอ็มบริโอของมนุษย์ที่มีชีวิต ทั้งในร่างกายสิ่งมีชีวิต (in vivo)หรือในสภาพแวดล้อมที่ทำเทียมขึ้นนอกร่างกาย (in vitro) เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดลองหรือวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ เป็นการขัดต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง” (I, 4): AAS 80 (1988),82.
[90] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (24 พฤศจิกายน 2013), no. 213: AAS 105 (2013), 1108.
[91] เรื่องเดียวกัน
[92] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อคณะทูตานุทูตประจำสำนักวาติกัน (8 มกราคม 2024): L’Osservatore Romano (8 มกราคม 2024), 3.
[93] เทียบ คำแนะนำ Dignitas Personae (8 กันยายน 2008) ของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, ข้อ 16: AAS 100 (2008), 868-869. แง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมดได้ถูกนำไปกล่าวถึงโดยสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม (ในขณะนั้น) ภายในคำแนะนำ Donum Vitae (22 กุมภาพันธ์ 1987): AAS 80 (1988), 71-102.
[94] สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, หนังสือแจ้ง Samaritanus Bonus (14 กรกฎาคม 2020), V, ข้อ 4: AAS 112 (2020), 925.
[95] เทียบ. เรื่องเดียวกัน, V, ข้อ 1: AAS 112 (2020), 919.
[96] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (9 กุมภาพันธ์ 2022): L’Osservatore Romano (9 กุมภาพันธ์ 2022), 3.
[97] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทียบ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 18-21 หัวข้อ “โลกแห่งการทิ้งขว้าง”: AAS 112 (2020), 975-976: ทั้งนี้ ข้อ 188 ของสมณสาส์นเวียนดังกล่าวได้ต่อยอดไปจนถึงขั้นที่ระบุว่ามี “วัฒนธรรมแห่งการทิ้งขว้าง”
[98] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมที่จัดโดยสมณสภาเพื่อการประกาศข่าวดีในยุคใหม่ (21 ตุลาคม 2017): L’Osservatore Romano (22 ตุลาคม 2017), 8: “ความอ่อนแอเปราะบาง เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติที่สำคัญขาดไม่ได้ของบุคคลมนุษย์”
[99] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สารเนื่องในโอกาสวันคนพิการนานาชาติ (3 ธันวาคม 2020): AAS 112 (2020), 1185-1188.
[100] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), nos. 187-188: AAS 112 (2020), 1035-1036; เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อรัฐสภายุโรป,สทราซบูร์ (25 พฤศจิกายน 2014): AAS 106 (2014), 999, และ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสในการพบปะกับหน่วยงานรัฐและคณะทูตานุทูตในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง, บังกี (29 พฤศจิกายน 2015): AAS 107 (2015), 1320.
[101] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจหลังซีนอด Amoris Laetitia (19 มีนาคม 2016), ข้อ 250: AAS 108 (2016), 412-413; อ้างจาก คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, ข้อ 2358.
[102] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, พระดำรัสต่อคณะทูตานุทูตประจำสำนักวาติกันที่มาถวายพระพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ (8 มกราคม 2024): L’Osservatore Romano (8 มกราคม 2024), 3.
[103] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Amoris Laetitia (19 มีนาคม 2016), ข้อ 56: AAS 108 (2016), 334.
[104] เรื่องเดียวกัน; อ้างจาก ที่ประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปสมัยสามัญครั้งที่ 14, รายงานฉบับท้ายสุด (24 ตุลาคม 2015), ข้อ 58.
[105] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 286: AAS 108 (2016), 425.
[106] คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก, no. 364.
[107] สิ่งนี้ใช้ได้กับเรื่องความเคารพที่พึงมีต่อร่างกายผู้เสียชีวิตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในคำแนะนำ Ad Resurgendum cum Christo (15 สิงหาคม 2016) สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, ข้อ 3: AAS 108 (2016), 1290 ได้กล่าวไว้ว่า “การฝังร่างของผู้ศรัทธา เป็นการที่พระศาสนจักรยืนยันถึงความเชื่อของตนว่าด้วยการกลับคืนชีพของร่างกาย และเป็นการที่พระศาสนจักรมุ่งแสดงให้เห็นว่า ร่างกายมนุษย์มีศักดิ์ศรีอันใหญ่หลวง ในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ภายในบุคคลมนุษย์ ผู้ซึ่งมีร่างกายเป็นส่วนหนึ่งในอัตลักษณ์ของเขา” ในเรื่องนี้ มีการกล่าวเป็นการทั่วไปมากขึ้นด้วย เทียบ คณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ, ปัญหาต่าง ๆ ในปัจจุบันเรื่องการอวสาน (1990), ข้อ 5: “ผู้คนที่ถูกเรียกให้กลับคืนชีพ.”
[108] เทียบ. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Laudato si’ (24 พฤษภาคม 2015), ข้อ 155: AAS 107 (2015), 909.
[109] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Amoris Laetitia (19 มีนาคม 2016), ข้อ 56: AAS 108 (2016), 344.
[110] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจหลังซีนอด Christus Vivit (25 มีนาคม 2019), ข้อ 88: AAS 111 (2019), 413, อ้างจาก ที่ประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปสมัยสามัญครั้งที่ 15, เอกสารฉบับท้ายสุด (27 ตุลาคม 2018), ข้อ 23.
[111] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 42: AAS 112 (2020), 984.
[112] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 205: AAS 112 (2020), 1042; อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สารเนื่องในโอกาสวันการสื่อสารโลกครั้งที่ 48 (24 มกราคม 2014): AAS 106 (2014), 113.
[113] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, บททูตสวรรค์แจ้งข่าว (10 ธันวาคม 2023): L’Osservatore Romano (11 ธันวาคม 2023), 12.
[114] เทียบ. คณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ, ประพจน์ว่าด้วยศักดิ์ศรีและสิทธิประการต่าง ๆ ของบุคคลมนุษย์ (1983), ข้อ 2.
[115] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Fratelli Tutti (3 ตุลาคม 2020), ข้อ 195: AAS 112 (2020), 1038, อ้างจาก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (24 พฤศจิกายน 2013), ข้อ 274: AAS 105 (2013), 1130.
[116] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณสาส์นเวียน Laudato si’ (24 พฤษภาคม 2015), ข้อ 205: AAS 107 (2015), 928.
(ภาคภาษาไทย วรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
วิษณุ ธัญญอนันต์ เก็บมาแบ่งปันเพื่อการไตร่ตรอง