สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (16) ความรู้ประมาณ
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
วันนี้พ่อจะพูดถึงความรู้ประมาณ ซึ่งเป็นคุณธรรมหลักประการที่ 4 และเป็นคุณธรรมหลักข้อท้ายสุด คุณธรรมหลักข้อนี้เหมือนกับคุณธรรมหลักอีก 3 ประการ ตรงที่เป็นคุณธรรมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและไม่ได้มีเฉพาะในคริสต์ศาสนา สำหรับชาวกรีก การนำคุณธรรมประการต่าง ๆ ไปฝึกฝนและปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มุ่งจะให้เกิดความสุข อาริสโตเติล [นักปรัชญากรีกโบราณ] ได้เขียนผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของท่านที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องจริยศาสตร์ ผลงานนี้เป็นคำสอนเกี่ยวกับศิลปะการใช้ชีวิตที่ท่านได้มอบแก่นีโกมาคุสผู้เป็นบุตรชาย โดยคำถามหลักมีอยู่ว่า ทำไมความสุขจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างแสวงหา ทั้งที่มีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่จะได้ไปถึงความสุข อาริสโตเติลได้พูดถึงหัวข้อเรื่องคุณธรรมเพื่อเป็นการตอบคำถามนี้ และในการนี้ท่านก็ได้กล่าวว่า ในบรรดาคุณธรรม ความรู้ประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง คำว่า ความรู้ประมาณ ในภาษากรีกเรียกว่า enkráteia (เอ็นกราตีอา) ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “อำนาจเหนือตนเอง” ความรู้ประมาณเป็นอำนาจเหนือตนเอง กล่าวคือ เป็นความสามารถในการควบคุมตนเอง เป็นศิลปะของการไม่ยอมให้ตนเองถูกครอบงำโดยอารมณ์ต่าง ๆ ที่ควบคุมได้ยาก ความรู้ประมาณคือการสร้างระเบียบให้เกิดขึ้นภายในสิ่งที่มันโซนี [นักเขียนและนักปรัชญาชาวอิตาลี, 1785-1873] เรียกว่า “ความยุ่งเหยิงแห่งจิตใจมนุษย์”
หนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้สอนเราไว้ว่า “ความรู้ประมาณ เป็นคุณธรรมทางศีลธรรมที่ควบคุมแรงดึงดูดแห่งความพึงใจต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอควร ทั้งยังทำให้เกิดสมดุลในการใช้ประโยชน์จากสิ่งสร้าง” และกล่าวต่อไปว่า “[ความรู้ประมาณ] ควบคุมสัญชาติญาณต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้เจตนา และควบคุมความปรารถนาให้อยู่ภายในขอบเขตที่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยอมรับเคารพได้ บุคคลที่รู้ประมาณย่อมทำให้ความต้องการทางประสาทของตนมุ่งหาความดี เขาย่อมมีความสุขุมรอบคอบในทางที่ดี เขาย่อมไม่ดำเนินตามแรงผลักดันฝ่ายต่ำไปสู่การทำตามที่ใจของตนปรารถนา หากแต่ย่อมรู้จักควบคุมความต้องการของตน” (ข้อ 1809)
ดังนั้น ความรู้ประมาณ […] จึงเป็นคุณธรรมแห่งความพอเหมาะพอดี คนที่รู้ประมาณย่อมรู้จักกระทำตนอย่างชาญฉลาดในทุกสถานการณ์ ขณะที่คนที่เอาแต่ทำตามอารมณ์ชั่ววูบหรืออารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจ ในท้ายที่สุดย่อมจะเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ คนที่ไม่รู้ประมาณย่อมเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้เสมอ ในโลกทุกวันนี้มีคนมากมายที่อวดตัวว่าตนพูดตามใจคิด แต่คนที่รู้ประมาณย่อมเลือกที่จะคิดก่อนพูด ลูกเข้าใจความแตกต่างอันนี้หรือไม่ สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในสมองของลูก ลูกจงอย่าพูดมันออกมาหมด[โดยไม่ยั้งคิด] แต่ลูกจงคิดก่อนว่าควรจะพูดอะไรดี คนที่รู้ประมาณย่อมจะไม่สัญญาอะไรอย่างพล่อย ๆ หากแต่เขาย่อมมุ่งมั่นพยายามในสิ่งที่เขาทำได้
ในเรื่องความพึงใจก็เช่นกัน คนที่รู้ประมาณย่อมจะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ความคิดพิจารณา เพราะหากว่าเราไม่ควบคุมอะไรเลย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามอารมณ์ชั่ววูบและความพึงใจ ผลร้ายก็ย่อมตกแก่พวกเราเองในท้ายที่สุด คือทำให้เราตกสู่ภาวะแห่งความเหนื่อยหน่าย มีคนมากมายเหลือเกินที่อยากจะลองทำโน่นทำนี่อย่างไม่รู้จักพอ แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม เขาก็ไม่สามารถรู้สึกถึงความสุขจากการกระทำนั้นได้เลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการดีที่เราจะแสวงหาซึ่งความพอเหมาะพอควร ตัวอย่างเช่น หากเราอยากจะรู้รสเหล้าองุ่นชั้นดี เราก็ควรจะค่อย ๆ จิบทีละน้อย ไม่ใช่ดื่มหมดรวดเดียว สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายต่างเข้าใจกันดี
คนที่รู้ประมาณย่อมรู้จักคิดชั่งน้ำหนักคำพูด และรู้จักควบคุมคำพูดให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เขาย่อมคิดก่อนพูด เขาจะไม่ยอมให้ความโกรธเพียงชั่วขณะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์และมิตรภาพ ซึ่งเมื่อถูกทำลายไปแล้วย่อมจะสร้างขึ้นใหม่ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในชีวิตครอบครัว ซึ่งพวกเราต่างก็เสี่ยงที่จะไม่รู้จักควบคุมความตึงเครียด ความหงุดหงิด หรืออารมณ์โกรธของพวกเราเอง เพราะว่าความเกรงใจต่าง ๆ ไม่ได้มีกัน[เท่ากับภายนอกครอบครัว] ในบางเวลาเราอาจควรพูด หรือบางเวลาอาจควรนิ่งเงียบ แต่ไม่ว่าเราจะพูดหรือจะนิ่งเงียบ เราก็จะต้องกระทำอย่างพอเหมาะพอควร ความพอเหมาะพอควรเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เราอาจจะต้องคิดว่าเวลาใดที่ควรจะอยู่กับผู้อื่น หรือเวลาใดที่ควรอยู่ตามลำพัง
ถึงแม้ว่าคนที่รู้ประมาณจะสามารถควบคุมอารมณ์หงุดหงิดของตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีรอยยิ้มหรือสีหน้าสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลา เพราะบางครั้งการรู้จักโกรธก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่เราจะต้องรู้จักโกรธกันให้ถูกทาง สิ่งสำคัญคือ ความพอเหมาะพอควร และวิธีการที่ถูกต้อง บางครั้งการตำหนิผู้อื่นอาจจะดีกว่าการทนเงียบด้วยความขมขื่นและเจ็บปวด คนที่รู้ประมาณย่อมจะรู้ดีว่าไม่มีสิ่งใดที่จะไม่สบายใจไปกว่าการตำหนิข้อผิดพลาดของผู้อื่น แต่เขาย่อมจะรู้ด้วยเช่นกันว่าการตำหนิเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่ตำหนิอะไรเลย ก็จะเท่ากับเป็นการปล่อยให้ความชั่วทั้งหลายลอยนวล ในบางครั้ง คนที่รู้ประมาณอาจจะประสบความสำเร็จในการประสานเรื่องสุดขั้วต่าง ๆ เข้าด้วยกัน กล่าวคือ ในขณะที่เขายืนยันหลักการที่เด็ดขาด ยืนยันค่านิยมที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ แต่เขาก็จะเข้าใจผู้คนและแสดงความเห็นอกเห็นใจแก่เขาด้วย
ดังนั้น พระพรที่มีอยู่ในคนที่รู้ประมาณจึงเป็นความสมดุล ความสมดุลเป็นคุณลักษณะที่หาได้ยาก จึงเป็นสิ่งที่มีค่า จริงทีเดียวว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ผลักดันเราไปสู่ความเกินเลย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรู้ประมาณเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับค่านิยมต่าง ๆ ในแนวพระวรสาร เช่น ความเล็กน้อย ความสุขุมรอบคอบ ความถ่อมตน ความสุภาพอ่อนโยน คนที่รู้ประมาณย่อมเห็นคุณค่าในการที่เขาจะได้เป็นที่เคารพของผู้อื่น แต่เขาย่อมจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เป็นเกณฑ์เงื่อนไขประการเดียวในการที่เขาจะพูดหรือทำอะไร คนที่รู้ประมาณย่อมจะมีความรู้สึกไว เขาสามารถร้องไห้ได้ และเขาก็ไม่อายที่จะร้องไห้ อย่างไรก็ตาม เขาย่อมจะไม่ร้องไห้เพราะเรื่องของตัวเอง เพราะถึงแม้เขาจะพ่ายแพ้ แต่เขาก็ลุกขึ้นใหม่ได้ และเมื่อเขาได้รับชัยชนะ เขาก็ย่อมรู้จักย้อนกลับสู่การมีชีวิตอย่างสงบเสงี่ยมเหมือนเดิม คนที่รู้ประมาณย่อมรู้ดีว่าคนเราต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น แต่เขาจะไม่ดิ้นรนเพื่อให้ผู้อื่นมายกย่องสรรเสริญเขา
พี่น้องที่รัก ความรู้ประมาณไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นคนหม่นหมองปราศจากความปิติยินดี หากแต่ในทางตรงกันข้าม ความรู้ประมาณจะทำให้คนเราสามารถลิ้มรสสิ่งดี ๆ ในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น เช่น การได้ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้อื่น การได้มีมิตรภาพที่อ่อนโยน การได้มีความเชื่อมั่นในผู้คนที่มีปรีชาญาณ การได้มีความอัศจรรย์ใจต่อความงามของสิ่งสร้าง ความสุขที่มาพร้อมกับความรู้ประมาณเป็นความปิติยินดีที่เบ่งบานในหัวใจของคนที่รู้จักและให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญแท้จริงในชีวิต ขอให้เราทั้งหลายวอนขอของประทานอันนี้จากองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่เราจะได้มีวุฒิภาวะ ทั้งวุฒิภาวะที่สมวัย วุฒิภาวะทางอารมณ์ และทางสังคมด้วย
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา ในความปิติยินดีของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ พ่อขอให้ลูกทุกคน ตลอดจนครอบครัวของลูก ได้รับพระเมตตาอันเปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า ผู้ทรงเป็นบิดาของเราทั้งหลาย ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพรแก่ลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคำนึงไปยังบรรดาคนป่วย คนชรา คนที่เพิ่งแต่งงาน และบรรดาเยาวชน วันนี้เราทั้งหลายต่างยินดีเมื่อได้เห็นว่ามีนักเรียนนักศึกษามาอยู่ที่นี่กันมากมาย พ่อขอมอบความปรารถนาดีแก่ลูกทุกคน เพื่อที่เมื่อลูกได้ออกเดินทางจากกรุงโรมกลับสู่สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในชีวิตของลูก ลูกจะได้ไปเป็นพยานถึงความเชื่อที่ได้รับการฟื้นฟูและเปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นอีกครั้ง เพราะเมื่อลูกทำเช่นนี้ ลูกก็จะได้มีส่วนช่วยให้แสงสว่างแห่งพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพได้ส่องสว่างในโลก
ในตอนนี้ ขอให้เราทุกคนคิดถึงผู้คนที่ตกอยู่ท่ามกลางสงคราม ทั้งในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ คือปาเลสไตน์และอิสราเอล และในยูเครนที่ถูกทรมานอยู่ตอนนี้ ขอให้พวกเราคิดถึงบรรดาคนที่ถูกจับตัวไปในสงคราม ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดดลใจผู้คน เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เมื่อพูดถึงคนที่ถูกจับตัวไปในสงคราม พ่อคิดถึงผู้คนที่ถูกทรมาน การทรมานผู้คนเป็นเรื่องเลวร้ายน่ารังเกียจ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำ พ่อคิดเกี่ยวกับการทรมานหลากหลายรูปแบบที่ทำร้ายศักดิ์ศรีของบุคคล และพ่อก็คิดถึงผู้คนมากมายที่ถูกทรมาน ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยเหลือทุกคน และโปรดประทานพรแก่ทุกคนด้วย
ใจความสรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมหลักประการต่าง ๆ วันนี้เราจะพิจารณาคุณธรรมหลักประการที่ 4 และเป็นคุณธรรมหลักข้อท้ายสุด คือ ความรู้ประมาณ ซึ่งหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกได้อธิบายว่าเป็น “คุณธรรมทางศีลธรรมที่ควบคุมแรงดึงดูดแห่งความพึงใจต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอควร ทั้งยังทำให้เกิดสมดุลในการใช้ประโยชน์จากสิ่งสร้าง” ความรู้ประมาณเป็นคุณธรรมแห่งการควบคุมตนเอง [เป็นคุณธรรมแห่ง]ความสุขุมรอบคอบในทางที่ดี ซึ่งชี้ทางให้เราทั้งหลายสามารถควบคุมความต้องการต่าง ๆ ให้อยู่ในขอบเขตที่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยอมรับเคารพได้ ความรู้ประมาณช่วยให้เราทั้งหลายทำตนอย่างชาญฉลาดในทุกสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อใดควรพูด เมื่อใดควรตำหนิ และเมื่อใดที่การนิ่งเงียบจะเป็นการโต้ตอบที่ดีที่สุด ส่วนในด้านความพึงใจต่าง ๆ นั้น ความรู้ประมาณจะกระตุ้นเตือนให้เรารู้จักตัดสินใจอย่างดี ให้เราเลือกความพอเหมาะพอดี ไม่ทำอะไรเกินควร ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถลิ้มรสความพึงใจต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างพอเหมาะพอควร ในแง่นี้ ความรู้ประมาณจึงสอดคล้องกับค่านิยมต่าง ๆ ในแนวพระวรสาร เช่น ความเล็กน้อย ความสุขุมรอบคอบ และความสุภาพอ่อนโยน ขอให้เราทั้งหลายจงบ่มเพาะค่านิยมแห่งความรู้ประมาณ เพื่อที่เราจะได้สัมผัสความปิติยินดีอันลึกซึ้งภายในการใช้ชีวิตอย่างสมดุล และให้เราได้มีความชื่นชมยินดีอย่างเหมาะสมต่อสิ่งดี ๆ ที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างแท้จริง
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บการสอนคำสอน General Audience มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)