
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (15) พยานแห่งพระวรสาร – ผู้ควรเคารพ มัตเตโอ ริชชี
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
เรากำลังเรียนคำสอนต่อเนื่องในเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี ซึ่งก็คือความรู้สึกที่เหล่าคริสตชนมีในการที่เขาไปประกาศพระเยซูคริสต์ หลังจากที่พ่อได้พูดเกี่ยวกับนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ และนักบุญเปาโล ซึ่งต่างก็เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นยิ่งใหญ่ในการประกาศข่าวดีไปแล้ว ในวันนี้พ่ออยากจะพูดกับลูกเกี่ยวกับมัตเตโอ ริชชี ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่เรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีเช่นกัน ท่านเป็นชาวอิตาเลียน แต่จุดหมายปลายทางที่ท่านได้ไปถึง คือเมืองจีน
มัตเตโอ ริชชี มีพื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองมาเชราตา ในภูมิภาคมาร์เค [ทางตอนกลางของอิตาลี] หลังจากที่ท่านได้ศึกษาในโรงเรียนของคณะเยสุอิต และได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะเยสุอิตแล้ว ท่านมีโอกาสได้ยินได้ฟังรายงานจากบรรดาธรรมทูต ซึ่งทำให้ท่านตื่นเต้นร้อนรน คนที่ตื่นเต้นร้อนรนเช่นนี้ไม่ได้มีแค่ท่านคนเดียว แต่คนหนุ่มคนอื่น ๆ ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ท่านเองขอให้ผู้ใหญ่ส่งท่านไปเป็นธรรมทูตในเอเชียตะวันออก ในขณะนั้น หลังจากที่ได้มีความพยายามของนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์แล้ว ต่อมาได้มีสมาชิกคณะเยสุอิตอีกยี่สิบห้าคนที่พยายามไปยังเมืองจีน แต่ไม่สำเร็จ มัตเตโอ ริชชี และ[พระสงฆ์เยสุอิต]อีกคนหนึ่ง ได้เตรียมตัวอย่างดีด้วยการศึกษาภาษาและขนบธรรมเนียมของจีนอย่างระมัดระวัง และในที่สุด พวกท่านได้ประสบความสำเร็จในการลงหลักปักฐานทางตอนใต้ของจีน หลังจากนั้นท่านต้องใช้เวลาอีก 18 ปี ในการค่อย ๆ ขยับขยายใน 4 ขั้นตอนไปยัง 4 เมืองของจีน จนในท้ายที่สุดท่านก็ได้ไปถึงปักกิ่งที่เป็นศูนย์กลาง ความเพียรพยายามและความอดทนที่มาจากความเชื่อ ได้ทำให้ท่านเอาชนะความยากลำบาก อันตราย ความระแวง และการต่อต้านที่นั่น ให้ลูกลองจินตนาการดูเรื่องการเดินทางในสมัยนั้น ท่านต้องเดินทางไกลมาก บางครั้งเดินเท้า บางครั้งขี่ม้า แต่ท่านเดินหน้าต่อไป ให้เราคิดว่า อะไรคือเคล็ดลับของท่านมัตเตโอ ริชชี และความร้อนรนของท่านได้นำท่านไปบนหนทางใด
เวลาที่ท่านได้พบปะกับคนจีน ท่านใช้หนทางแห่งการพูดคุยเสวนาและมิตรภาพในทุกครั้งกับทุกคนที่นั่น สิ่งนี้ได้เปิดช่องทางหลายช่องให้แก่ท่าน ซึ่งท่านสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้เพื่อประกาศความเชื่อของคริสต์ศาสนา งานแรกที่ท่านทำคือการเขียนหนังสือเรื่อง ว่าด้วยมิตรภาพ ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างมาก ท่านได้พยายามปรับตัวให้เข้าถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของจีน ในตอนแรกท่านแต่งตัวเหมือนพระภิกษุในพุทธศาสนาแบบจีน แต่ต่อมาท่านได้ตระหนักว่า วิธีที่ดีที่สุดคือการแต่งกายและใช้ชีวิตในแบบปัญญาชน เหมือนกับบรรดาปัญญาชนและอาจารย์ที่เมืองจีน ท่านได้ศึกษาตำรับตำราคลาสสิกของจีนอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่ว่าท่านจะได้นำเสนอคริสตศาสนาในแบบที่เป็นการพูดคุยเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับภูมิปัญญาของขงจื๊อ และกับขนมธรรมเนียมและจารีตประเพณีของจีนได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทัศนคติของการปรับเข้ากับวัฒนธรรม ท่านในฐานะธรรมทูต สามารถทำให้ความเชื่อของคริสตศาสนา “เข้ากับวัฒนธรรม “ [ของจีน]ผ่านการพูดคุยเสวนา เหมือนกับที่บรรดาปิตาจารย์ในยุคโบราณได้ทำเช่นนี้กับวัฒนธรรมกรีก
ท่านยังมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างดีเยี่ยม สิ่งนี้ทำให้ท่านเป็นที่สนใจและเป็นที่ชื่นชมของปัญญาชน เริ่มจากการที่ท่านได้ทำแผนที่โลกเท่าที่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น ในแผนที่นี้มีทวีปมากมาย ทำให้คนจีนได้รู้เป็นครั้งแรกว่าที่จริงแล้วภายนอกเมืองจีนมีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายยิ่งกว่าที่พวกตนเคยคิด ท่านได้แสดงให้เห็นว่าโลกนี้กว้างใหญ่กว่าเมืองจีนมากนัก และบรรดาปัญญาชนเข้าใจสิ่งนี้ เพราะพวกเขามีปัญญาเฉลียวฉลาดเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว แต่ความรู้ทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ของมัตเตโอ ริชชี และผู้ที่ร่วมงานแพร่ธรรมกับท่าน ยังได้ทำประโยชน์ต่อการพูดคุยเสวนาอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องวัฒนธรรมและวิทยาการระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดผลดีตามมา และได้นำไปสู่ยุคสมัยดีที่สุดยุคหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกที่มีลักษณะพิเศษคือ การพูดคุยเสวนา และมิตรภาพ แน่นอนว่างานของมัตเตโอ ริชชี ย่อมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากมิตรสหายชาวจีนคนสำคัญ เช่น “ท่านบัณฑิตเปาโล”([ผู้รับใช้พระเจ้า เปาโล] สู กวางชี) และ “ท่านบัณฑิตเลออน” ([เลโอ] หลี่ จือเจ่า)
อย่างไรก็ตาม เราจะต้องไม่ให้ชื่อเสียงของท่านมัตเตโอ ริชชี ในฐานะนักปราชญ์ผู้รู้รอบ มาบดบังแรงจูงใจอันลึกซึ้งที่สุดที่อยู่เบื้องหลังความพยายามทั้งหมดของท่าน กล่าวคือ การประกาศพระวรสาร ท่านได้เดินหน้าพูดคุยเสวนาเรื่องวิทยาศาสตร์กับบรรดานักวิชาการ แต่ท่านทำเช่นนี้เพื่อเป็นพยานแก่ความเชื่อ เป็นพยานแก่พระวรสาร การพูดคุยทางวิทยาศาสตร์ทำให้ท่านเป็นที่เชื่อถือยอมรับ และทำให้ท่านใช้ความเชื่อถือนี้เพื่อประกาศความจริงของความเชื่อและหลักศีลธรรมของคริสตศาสนา ท่านได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งในผลงานหลักของท่านที่เขียนเป็นภาษาจีน เช่นหนังสือชื่อว่า “นัยยะที่แท้จริงแห่งพระเจ้าจอมสวรรค์” นอกเหนือจากคำสอนแล้ว บรรดาธรรมทูตยังเป็นพยานถึงการสวดภาวนา วิถีชีวิต และคุณธรรมในทางศาสนา บรรดาธรรมทูตต่างอธิษฐานภาวนา พวกเขาเดินหน้าเทศน์สอน พวกเขาไม่อยู่เฉย พวกเขาเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วย แต่พวกเขาก็[ไม่ละเลยการ]อธิษฐานภาวนา นี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตธรรมทูต ซึ่งเป็นชีวิตแห่งความรัก เพราะพวกเขาช่วยเหลือผู้อื่นอย่างสุภาพถ่อมตน พวกเขาไม่สนใจต่อเกียรติยศและความร่ำรวยในทางโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้มิตรสหายและศิษย์ชาวจีนจำนวนมากหันมายอมรับความเชื่อคาทอลิก เพราะเขาได้เห็นคนที่ทั้งมีความรู้ เฉลียวฉลาด มีปัญญาแหลมคม (ในความหมายที่ดี) ประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ แล้วก็ยังมีศรัทธาลึกซึ้ง ชาวจีนกล่าวถึงท่านว่า “สิ่งที่ท่านเทศน์สอนเป็นเรื่องจริง เพราะว่าคนที่พูดสิ่งนี้ได้เป็นพยาน และใช้ชีวิตเป็นพยานต่อสิ่งที่ท่านสอน” นี่คือความสอดคล้องกันเอง คือความคงเส้นคงวาในตัวผู้ประกาศพระวรสาร ซึ่งใช้ได้กับคริสตชนทุกคนที่เป็นผู้ประกาศพระวรสาร เราอาจท่องจำบทข้าพเจ้าเชื่อได้ เราอาจพูดถึงทุกเรื่องที่เราเชื่อได้ แต่หากชีวิตของเราไม่คงเส้นคงวากับสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่ดึงดูดผู้คน คือการเป็นพยานด้วยความคงเส้นคงวาเช่นนี้ เราจะต้องมีชีวิตให้เหมือนกับสิ่งที่เราพูด เราจะต้องไม่เสแสร้งทำตัวเป็นคริสตชนแต่กลับใช้ชีวิตในแบบโลก ให้เราพิจารณาแบบอย่างของบรรดาธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ ตัวอย่างเช่นชาวอิตาเลียนท่านนี้ คือมัตเตโอ ริชชี แล้วเราก็จะเห็นว่าความแข็งแกร่งที่สำคัญที่สุด คือความสอดคล้องกัน หรือความคงเส้นคงวา บรรดาธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ต่างมีชีวิตที่คงเส้นคงวา[กับสิ่งที่ท่านประกาศ]
ในวาระสุดท้ายในชีวิตของมัตเตโอ ริชชี ผู้คนที่ใกล้ชิดท่านที่สุดได้ถามท่านว่า ตอนนี้ท่านรู้สึกอย่างไร ท่านตอบว่าตอนนี้ท่านกำลังใคร่ครวญว่า ระหว่างความปิติยินดีและความดีใจต่อความคิดที่ว่าท่านใกล้จะเดินทางถึงจุดหมายและจะได้ลิ้มรสพระเป็นเจ้า กับความเศร้าโศกในการที่จะต้องจากมิตรสหายที่รักยิ่งที่ท่านได้พบปะระหว่างการแพร่ธรรม บวกกับความรู้สึกเสียดายโอกาสในการรับใช้พระเป็นเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราให้มากขึ้น ผ่านการแพร่ธรรม อะไรจะยิ่งใหญ่กว่ากัน (เทียบ S. De Ursis, รายงานเรื่องมัตเตโอ ริชชี, หอจดหมายเหตุคณะเยสุอิตที่กรุงโรม). ความรู้สึกเช่นนี้เป็นอันเดียวกันกับนักบุญเปาโล อัครสาวก (เทียบ ฟป. 1,22-24) ที่อยากจะไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้า ไปพบองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ก็อยากอยู่ต่อไป “เพื่อรับใช้ท่านทั้งหลาย” ด้วยเช่นกัน
มัตเตโอ ริชชี มรณภาพที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี ค.ศ. 1610 ขณะอายุได้ 57 ปี ท่านได้อุทิศทั้งชีวิตของตนเพื่อการแพร่ธรรม จิตวิญญาณความเป็นธรรมทูตของท่านเป็นแบบอย่างที่มีชีวิตและเหมาะสมกับกาลสมัยในปัจจุบัน ความรักที่ท่านมีต่อชาวจีนก็นับเป็นแบบอย่างอันหนึ่ง แต่หนทางของท่านที่เหมาะสมกับสมัยปัจจุบันอย่างแท้จริง คือเรื่องความคงเส้นคงวาในการใช้ชีวิตและการเป็นพยานต่อความเชื่อคริสตชน ท่านได้นำคริสต์ศาสนาไปยังเมืองจีน ท่านเป็นผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง แน่นอนว่าเป็นเพราะท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ท่านยิ่งใหญ่เพราะเป็นผู้กล้าหาญ ท่านยิ่งใหญ่เพราะได้เขียนตำรามากมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด ท่านยิ่งใหญ่เพราะท่านใช้ชีวิตตามกระแสเรียกโดยมีความคงเส้นคงวา ท่านมีความคงเส้นคงวาในความปรารถนาที่จะติดตามพระเยซูคริสต์คริสตเจ้า ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก วันนี้ให้เราแต่ละคนถามตนเองในใจว่า “ฉันมีชีวิตแบบคงเส้นคงวาหรือไม่ หรือแค่ทำอะไรครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไปอย่างนั้นเอง”
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ มอลตา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อขอทักทายนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายกลุ่มที่มาในที่นี้ด้วย พ่อขอให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสต์คริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุดเหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเดือนพฤษภาคม และเป็นวันที่พระศาสนจักรฉลองการที่พระแม่มารีย์ไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ลูกพี่ลูกน้องของพระนาง ซึ่งได้ประกาศว่าแม่พระเป็นผู้ได้รับพระพร เพราะว่าแม่พระได้เชื่อในพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ ลก. 1,45) ให้เราหันหน้าหาแม่พระ และวิงวอนขอพรจากท่าน เพื่อที่เราจะได้มีความเชื่อที่กล้าหาญมากยิ่ง ๆ ขึ้น ให้เรามอบคนทั้งหลายที่ทนทุกข์จากสงครามไว้ในการเสนอวิงวอนของแม่พระผู้เป็นมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในยูเครนอันเป็นที่รัก ซึ่งกำลังทนทรมานอย่างมากในเวลานี้
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี วันนี้เราจะพิจารณาแบบอย่างของมัตเตโอ ริชชี หนึ่งในธรรมทูตคณะเยสุอิตคนแรก ๆ ที่ได้ไปแพร่ธรรมในเอเชียตะวันออก และได้ทำตามความฝันของนักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ ในการเข้าไปในเมืองจีน คุณพ่อริชชีได้ใช้ความเพียรพยายามเพื่อศึกษาภาษาจีนที่เป็นเรื่องยากจนท่านเชี่ยวชาญและได้เข้าถึงวัฒนธรรมของจีน การที่ท่านเขียนหนังสือเป็นภาษาจีน และมีความรู้ในด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ได้ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักและนับถือในฐานะนักปราชญ์และนักวิชาการ ความรู้ที่กว้างขวางของท่าน ประกอบกับความสามารถของท่านในการพูดคุยเสวนาอย่างจริงใจและให้เกียรติ[ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง] ได้ถูกนำมาใช้เพื่อประกาศพระวรสาร ซึ่งท่านได้ประกาศพระวรสารไม่เฉพาะด้วยการเขียนหนังสือเท่านั้น แต่ท่านยังได้กระทำด้วยการเป็นแบบอย่างของการภาวนา คุณธรรม และการใช้ชีวิตตามแนวศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดมิตรสหายและศิษย์ชาวจีนของท่านให้เข้ามารับเชื่อเป็นคาทอลิก มัตเตโอ ริชชี เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่จักรพรรดิจีนอนุญาตให้ฝังศพของท่านในแผ่นดินจีน ท่านเป็นแบบอย่างสำคัญคนหนึ่งสำหรับยุคสมัยของเราในการทำให้พระวรสารเข้ากับวัฒนธรรม และท่านยังคงเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรกับประเทศจีน และการพูดคุยเสวนาระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก เพื่อทำประโยชน์แก่สันติภาพและความเป็นพี่น้องกันระหว่างชนชาติต่าง ๆ ในทุกวันนี้ด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)