การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (7) สภาสังคายนาวาติกันที่สอง 2) การแพร่ธรรมอย่างอัครสาวกในพระศาสนจักรที่สืบเนื่องจากอัครสาวก

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

            ขอให้เราเรียนคำสอนเกี่ยวกับความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสารกันต่อ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการประกาศพระวรสาร แต่เป็นเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร และให้เราเรียนรู้จากสภาสังคายนาวาติกันที่สอง เพื่อพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่า อะไรคือการเป็น “อัครสาวก” ในโลกทุกวันนี้ คำว่าอัครสาวก (apostle) ทำให้เราคิดถึงกลุ่มของศิษย์สิบสองคนที่พระเยซูคริสต์ทรงเลือก แต่ในบางครั้งคำนี้ถูกใช้กล่าวถึงนักบุญบางคน หรือกล่าวถึงบิชอปโดยทั่วไป ว่าเป็น “อัครสาวก” พวกเขาเป็นอัครสาวก เพราะพวกเขาไปในนามของพระเยซูคริสต์ แต่เรารู้หรือไม่ว่าการเป็นอัครสาวกนั้นเกี่ยวข้องกับคริสตชนทุกคน เรารู้หรือไม่ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราแต่ละคน แน่นอนว่าเราทุกคนถูกเรียกให้เป็นอัครสาวก หมายความว่าให้เราไปเป็นผู้นำสาร ภายในพระศาสนจักร ซึ่งในบทข้าพเจ้าเชื่อ พวกเราได้ยอมรับและประกาศว่าพระศาสนจักรนี้สืบเนื่องจากอัครสาวก

            แล้วอะไรคือการเป็นอัครสาวก การเป็นอัครสาวก คือการถูกส่งไปดำเนินพันธกิจแพร่ธรรม สิ่งที่เป็นตัวอย่างและเป็นรากฐานของเรื่องนี้ คือเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ได้ทรงส่งอัครสาวกออกไปยังโลก โดยได้ทรงมอบอำนาจที่พระองค์เองได้รับมาจากพระบิดา และได้ทรงมอบพระจิตของพระองค์ด้วย เราได้อ่านในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นว่า พระเยซูคริสต์ “ตรัสกับเขาอีกว่า ‘สันติสุขจงสถิตกับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น’ ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า ‘จงรับพระจิตเจ้าเถิด’” (ยน. 20,21-22)

            แง่มุมพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งของการเป็นอัครสาวก คือ กระแสเรียก ซึ่งก็คือการถูกเรียก สิ่งนี้ได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อครั้งที่พระเยซูคริสต์ “ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ เขาเหล่านั้นก็มาเฝ้าพระองค์” (มก. 3,13) พระองค์ทรงตั้งอัครสาวกเป็นกลุ่ม ให้ตำแหน่งเขาเป็น “อัครสาวก” เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้อยู่กับพระองค์ และเพื่อที่พระองค์จะส่งเขาออกไปแพร่ธรรม (เทียบ มก. 3,14; มธ. 10,1-42) นักบุญเปาโลกล่าวถึงตนเองในจดหมายของท่านว่า “เปาโล ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกให้เป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ตามพระประสงค์ของพระองค์” (1 คร. 1,1) ท่านกำลังบอกว่าตนเองเป็นผู้นำสาร และในอีกที่หนึ่งท่านได้กล่าวซ้ำอีกว่า ท่านคือ “เปาโล ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระเจ้าทรงเรียกมาเป็นอัครสาวก” (รม. 1,1) ท่านได้เน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าท่าน “ได้รับแต่งตั้งจากพระเยซูคริสต์ และจากพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูคริสต์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพจากบรรดาผู้ตาย มิใช่เป็นอัครสาวกโดยอำนาจของมนุษย์หรือโดยการแต่งตั้งจากมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง” (กท. 1,1) พระเจ้าเรียกท่านตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เพื่อให้ไปประกาศพระวรสารแก่นานาชาติ (เทียบ กท. 1,15-16)

            ประสบการณ์ของอัครสาวกสิบสองคน และคำพูดที่เป็นประจักษ์พยานของนักบุญเปาโล ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายเราในปัจจุบัน เชื้อเชิญให้เราตรวจสอบทัศนคติของตัวเอง ตรวจสอบยืนยันทางเลือกและการตัดสินใจของเราเอง บนพื้นฐานของสิ่งหนึ่งที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือข้อที่ว่า ทุกอย่างล้วนอาศัยการที่พระเจ้าทรงเรียกแบบให้เปล่า และพระเจ้าได้เลือกให้เราไปทำงานรับใช้ ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนว่าเกินความสามารถของเรา หรือไม่ตรงกับความคาดหวังของเรา การเรียกซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับมาเป็นการให้เปล่าเช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนองตอบแบบให้เปล่าด้วย

            สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้กล่าวว่า “การเรียกใครผู้หนึ่งให้มาเป็นคริสตชน โดยธรรมชาติก็ถือว่าเป็นการเรียกผู้นั้นให้มาทํางานธรรมทูตนั่นเอง” (พระสมณกฤษฎีกา Apostolicam Actuositatem ว่าด้วยงานธรรมทูตของฆราวาส; AA ข้อ 2) กระแสเรียกนี้เป็นกระแสเรียกที่มีร่วมกัน ไม่ต่างจากการที่สมาชิกทุกคนในพระศาสนจักรมี “ศักดิ์ศรีร่วมกันอันสืบเนื่องมากจากการที่พวกเขาได้เกิดใหม่ในพระเยซูคริสต์ มีพระหรรษทานร่วมกันในฐานะของการเป็นลูก มีกระแสเรียกร่วมกันไปสู่ความครบครัน มีความรอดอันเดียวกัน ความหวังอันเดียวกัน และความรักที่มิอาจแบ่งแยกได้” (สังฆธรรมนูญ Lumen Gentium ว่าด้วยพระศาสนจักร; LG ข้อ 32)

            การเรียกนี้เกี่ยวข้องทั้งกับผู้ที่ได้รับศีลบวช นักบวชชายหญิง และฆราวาสชายหญิงทุกคน การเรียกนี้เป็นการเรียกทุกคน ลูกที่รัก สมบัติมีค่าที่ลูกได้รับพร้อมกับการเรียกให้มาเป็นคริสตชน เป็นสิ่งที่ลูกมีหน้าที่ต้องนำไปมอบให้ผู้อื่น นี่คือพลวัตที่เป็นธรรมชาติของกระแสเรียก และเป็นธรรมชาติของชีวิต การเรียกนี้ได้มอบพลังที่ทำให้ทุกคนทำงานแพร่ธรรมเป็นอัครสาวกได้อย่างกระตือรือร้นและสร้างสรรค์ภายในพระศาสนจักร ในพระศาสนจักรนี้ “มีศาสนบริการหลายอย่างต่างกัน แต่มีพันธกิจอันเดียวเท่านั้น พระเยซูคริสต์ได้ทรงมอบหมายให้บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตําแหน่งมีหน้าที่สั่งสอน ปกครอง และทําให้ศักดิ์สิทธิ์ ในนามของพระองค์และด้วยฤทธิ์อํานาจของพระองค์ แต่ฆราวาส” ซึ่งก็คือลูก ๆ ทุกคนที่ส่วนมากเป็นฆราวาส “ที่ร่วมมีส่วนในตําแหน่งสงฆ์ ตําแหน่งประกาศก และตําแหน่งราชาของพระเยซูคริสต์ ก็ย่อมมีส่วนร่วมกับพันธกิจแห่งประชากรทั้งมวลของพระเป็นเจ้าในพระศาสนจักรและในโลก” ด้วยเช่นกัน (AA, 2)

            ในกรอบงานเช่นนี้ สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้สอนเราไว้ว่าอย่างไรเวลาที่สภาสังคายนาได้พูดถึงการที่ฆราวาสให้ความร่วมมือกับผู้ใหญ่ในฐานานุกรมของพระศาสนจักร สภาสังคายนาได้คิดถึงอะไร ใช่การปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์เวลาที่มีสถานการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่เลย ไม่ใช่อย่างนั้นเด็ดขาด เพราะมันเป็นอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งเหนือกว่าความบังเอิญในยุคสมัยที่มีการสังคายนา และยังคงมีคุณค่าสำหรับเราด้วย พระศาสนจักรเป็นเช่นนี้ พระศาสนจักรมีความเป็นอัครสาวก

            ภายในกรอบงานของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพันธกิจนั้น ความหลากหลายของพระพรพิเศษและหน้าที่รับใช้ในพระศาสนจักร จะต้องไม่ทำให้เกิดคนบางจำพวกที่มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้อื่นในพระศาสนจักร เพราะฉะนั้น ที่นี่จึงไม่มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หากลูกคิดว่าชีวิตคริสตชนเป็นการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ก็จะเท่ากับว่าคนที่มีตำแหน่งสูงสุดมีอำนาจสั่งคนอื่น ๆ ได้หมด เพราะเขาประสบความสำเร็จในการไต่เต้าให้ตัวเองสูงขึ้น แต่นี่ไม่ใช่คริสต์ศาสนา นี่เป็นแนวทางนอกศาสนาล้วน ๆ กระแสเรียกในคริสต์ศาสนาไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่งหรือการยกตัวให้สูงขึ้น ไม่ใช่เลย เป็นอย่างอื่นต่างหาก ซึ่งสิ่งอื่นที่ว่านี้เป็นสิ่งดี เพราะถึงแม้ว่า “โดยพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์” บางคนจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาจเป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ หรืออาจเป็น “ผู้อภิบาล ผู้แจกจ่ายพระธรรมล้ำลึก (mysteries) เช่นศีลศักดิ์สิทธิ์ ต่าง ๆ เพื่อคนอื่น แต่ถึงกระนั้น ทุกคนก็ยังมีความเสมอภาคกันอย่างแท้จริงในด้านศักดิ์ศรีและในด้านกิจกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คริสตชนทุกคนมีร่วมกันในการเสริมสร้างพระคริสตวรกาย” (LG, 32) ใครมีศักดิ์ศรีในพระศาสนจักรมากกว่าคนอื่น บิชอปหรือ พระสงฆ์หรือ ไม่เลยลูก พวกเราต่างล้วนเป็นคริสตชนเพื่อรับใช้คนอื่น ถ้าถามว่าใครสำคัญมากกว่าคนอื่น ระหว่างนักบวชกับคนทั่วไป ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว เด็ก ๆ หรือบิชอป พ่อขอตอบว่า ทุกคนเท่าเทียมกันหมด พวกเราเท่าเทียมกัน ดังนั้น หากมีใครฝ่ายไหนคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น แล้วทำตัวดูถูกคนอื่น คน ๆ นั้นก็กำลังทำผิดพลาด นั่นไม่ใช่กระแสเรียกของพระเยซูคริสต์ เพราะกระแสเรียกที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกทุกคน รวมถึงผู้ที่ดูเหมือนว่าอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ด้วยนั้น คือการรับใช้ การรับใช้คนอื่น การถ่อมตัวเองให้ต่ำลง หากว่าลูกเห็นใครในพระศาสนจักรที่ได้รับกระแสเรียกที่สูงกว่าแล้วทำตัวหยิ่งยะโส ลูกควรคิดว่า “คน ๆ นั้นช่างน่าสงสาร” พ่ออยากให้ลูกภาวนาเผื่อเขา เพราะว่าเขาไม่เข้าใจว่ากระแสเรียกของพระผู้เป็นเจ้าคืออะไร กระแสเรียกของพระเจ้าคือกระแสเรียกแห่งการเทิดทูนบูชาพระบิดา การรักประชาคม และการรับใช้ นี่คือวิถีทางของการเป็นอัครสาวก นี่คือสิ่งที่อัครสาวกเป็นพยาน

            เรื่องความมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันนี้ทำให้เราต้องหันมาคิดกันใหม่เกี่ยวกับแง่มุมหลาย ๆ อย่างเรื่องความสัมพันธ์ในหมู่พวกเรากันเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อการประกาศพระวรสาร ตัวอย่างเช่น เรารู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วคำพูดของเราอาจบ่อนทำลายศักดิ์ศรีของคนอื่น ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนภายในพระศาสนจักรย่ำแย่ลง ขณะที่เรากำลังพยายามพูดคุยเสวนากับโลก แล้วเรารู้จักพูดคุยเสวนากันเองในฐานะผู้เชื่อหรือไม่ หรืออย่างในชุมชนวัดของเรา มีใครที่เป็นคู่ปรับทะเลาะกับคนอื่นบ้างไหม หรือมีใครพูดจาว่าร้ายคนอื่นเพื่อยกฐานะตัวเองหรือไม่ พวกเรารู้จักรับฟังเหตุผลของคนอื่นบ้างหรือไม่ เรากำลังเอาตัวเองไปยัดเยียดให้ผู้อื่นอยู่ไหม บางครั้งเราอาจยัดเยียดตัวเองแก่ผู้อื่นแม้กระทั่งด้วยการใช้คำพูดอ่อนหวานเอาใจ [พ่ออยากให้ลูกรู้ว่า] การรับฟัง การถ่อมตน การพร้อมรับใช้ผู้อื่น นี่คือการรับใช้ นี่คือการเป็นคริสตชน นี่คือการเป็นอัครสาวก

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ขอให้เรากล้าถามคำถามเหล่านี้ ให้เราปฏิเสธความหยิ่งยะโส ความหยิ่งยะโสที่มาจากตำแหน่งสถานะต่าง ๆ คำพูดพวกนี้สามารถช่วยให้เราตรวจสอบว่า เรามีชีวิตในกระแสเรียกจากศีลล้างบาปอยู่อย่างไร เรามีชีวิตอย่างไรในการเป็นอัครสาวก ในพระศาสนจักรที่สืบเนื่องจากอัครสาวก ในพระศาสนจักรที่รับใช้คนอื่น พ่อขอบใจลูกทุกคน


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากสวีเดนและสหรัฐอเมริกา พ่อขอภาวนาให้ลูกได้รับพระพร เพื่อที่ช่วงเวลาในเทศกาลมหาพรตจะเป็นเวลาแห่งพระหรรษทานและการฟื้นฟูจิตใจสำหรับลูกและครอบครัวของลูก พ่อขออวยพรลูกทุกคนให้ได้รับความปิติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย

            พ่อขอแสดงความใกล้ชิดกับผู้คนในประเทศมาลาวีซึ่งประสบภัยจากพายุไซโคลนกำลังแรงเมื่อไม่นานนี้ พ่อภาวนาเพื่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่ต้องพลัดพรากจากที่อยู่ ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นกำลังเกื้อหนุนแก่ครอบครัวและชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภัยพิบัติครั้งนี้

            พ่อยังคิดถึงบรรดานักบวชหญิงนิกายออร์ธอดอกซ์ที่อารามลาฟราในกรุงคีฟ [ของยูเครน] พ่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสงครามเคารพสถานที่ทางศาสนา เพราะว่านักบวชหญิงที่อุทิศตนแก่พระเจ้า รวมทั้งคนธรรมดาที่อุทิศตนเพื่อการอธิษฐานภาวนา ไม่ว่าเขาจะมาจากนิกายใด ล้วนแต่เป็นกำลังสนับสนุนแก่ประชากรของพระเจ้าทั้งนั้น

            ท้ายสุดเหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงคนหนุ่มสาว คนป่วย คนชรา และคนแต่งงานใหม่ พ่อขอกระตุ้นเตือนทุกคนให้มุ่งมั่นก้าวเดินบนเส้นทางมหาพรต ให้ลูกมอบตัวเองไว้ภายใต้การคุ้มครองของพระแม่มารีย์ที่คอยดูแลลูกอยู่เสมอ และให้เรามอบผู้คนชาวยูเครนที่กำลังถูกทำร้ายไว้กับพระแม่มารีย์ ผู้ปลอบโยนคนทุกข์ยาก และราชินีแห่งสันติภาพ


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการแพร่ธรรม วันนี้เราจะพิจารณาถึงแง่มุมการประกาศพระวรสารแบบอัครสาวก ในบทข้าพเจ้าเชื่อ เรายอมรับและประกาศว่าพระศาสนจักร “สืบเนื่องจากอัครสาวก” คำว่า “อัครสาวก” แปลว่าผู้ที่ “ถูกส่ง” ในพระคัมภีร์เราได้อ่านเรื่องพระเยซูคริสต์ทรงเลือกอัครสาวกสิบสองคน ทรงเรียกเขามาหาพระองค์ แล้วก็ส่งเขาออกไปประกาศพระวรสาร หลังจากที่พระเยซูคริสต์เจ้าทรงฟื้นคืนชีพ พระองค์ได้ปรากฏพระองค์ต่ออัครสาวกสิบสองคนแล้วตรัสว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” จากนั้นก็ทรงมอบพระจิตเจ้าเพื่อการอภัยบาปทั้งหลายให้แก่เขา (ยน. 20,21-22) ท่ามกลางความหลากหลายของหน้าที่รับใช้และพระพรพิเศษต่าง ๆ ใน [พระศาสนจักร ซึ่งเป็น] พระกายของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนถูกเรียกและถูกส่งไปเพื่อเดินหน้างานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร ผู้ที่ได้รับศีลบวชได้รับพันธกิจในการสั่งสอน การปกครอง และการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ เดชะพระนามและฤทธิ์อำนาจของพระเยซูคริสต์ แต่ผู้เชื่อทุกคน ในฐานะที่เขาร่วมมีส่วนในตําแหน่งสงฆ์ ตําแหน่งประกาศก และตําแหน่งราชาของพระเยซูคริสต์ ต่างก็ถูกเรียกให้เป็นศิษย์ธรรมทูต เป็น “อัครสาวกในพระศาสนจักรที่สืบเนื่องจากอัครสาวก” ขอให้การได้รับรู้ว่าเรามีศักดิ์ศรีแบบเดียวกันและมีความเท่าเทียมกันเช่นนี้ จงเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งหน้าประกาศข่าวดีของความรอดในพระเยซูคริสต์ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ ภายใต้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความร่วมมือกันที่ดียิ่งขึ้น


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)