
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก Buon giorno!
พระวรสารในวันนี้ได้พูดกับเราเรื่องการให้อภัย (เทียบ มธ. 18,21-35) นักบุญเปโตรได้ถามพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่” (มธ. 18,21)
เลขเจ็ดในพระคัมภีร์ เป็นตัวเลขที่หมายถึงความครบบริบูรณ์ ดังนั้นนักบุญเปโตรจึงได้ตั้งคำถามอย่างใจกว้างอย่างยิ่งแล้ว แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงหยุดอยู่แค่นั้น พระองค์ตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ. 18,22) พระองค์ตรัสกับเขาว่า เวลาที่เราให้อภัย เราย่อมไม่นับเลข พระองค์ตรัสกับเขาว่าเป็นการดีที่จะให้อภัยทุกอย่างและทุกครั้ง เช่นเดียวกับที่พระเป็นเจ้าประทานอภัยแก่เรา และเช่นเดียวกับที่ผู้ที่อำนวยความยุติธรรมในนามของพระเป็นเจ้ามีหน้าที่ต้องทำ คือการให้อภัยทุกครั้ง พ่อพูดแบบนี้บ่อยครั้งกับพระสงฆ์ ผู้โปรดศีลอภัยบาปว่า ให้เขาให้อภัยทุกครั้ง เหมือนกับที่พระเป็นเจ้าประทานอภัย
จากนั้น พระเยซูคริสต์ได้แสดงความจริงนี้ผ่านการอุปมา ซึ่งนี่ก็เกี่ยวข้องกับตัวเลขเช่นกัน พระราชาองค์หนึ่งได้รับคำขอร้องวิงวอน จึงได้ทรงยกหนี้ให้แก่ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นเงินถึงหนึ่งหมื่นตะลันต์ [พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า หนึ่งพันล้านบาท] นี่เป็นมูลค่ามหาศาล เทียบได้กับเงินหนักถึงสองร้อยถึงห้าร้อยตัน เป็นหนี้มหาศาลจริง ๆ จนถึงขั้นที่ผู้รับใช้ไม่อาจชดใช้หนี้จำนวนนี้ได้เลยแม้ว่าเขาจะทำงานทั้งชีวิตก็ตาม พระราชาผู้ทรงเป็นนายองค์นี้ ที่ทำให้เรานึกถึงพระบิดา[ในสวรรค์]ของเรา ได้ประทานอภัยเพียงเพราะความรู้สึก “สงสาร” (มธ. 18,27) นี่คือน้ำพระทัยของพระเจ้า พระองค์ประทานอภัยเสมอ เพราะพระองค์มีพระทัยเมตตาสงสาร เราอย่าลืมว่าพระเจ้าเป็นอย่างไร พระองค์ทรงใกล้ชิด ทรงเมตตา และทรงมีพระทัยดี นี่คือวิถีทางการดำรงอยู่ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม คนรับใช้คนนี้ซึ่งได้รับการปลดหนี้[มหาศาล]มาแล้ว กลับไม่แสดงความเมตตาแก่เพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน ซึ่งเป็นหนี้เขาเพียง 100 เดนาริอุส [พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า ไม่กี่พันบาท] ที่จริงแล้วตัวเลขนี้ก็ไม่ใช่น้อย ๆ เทียบเท่าค่าแรงประมาณสามเดือน [100 วัน] ข้อความตอนนี้เหมือนกับจะบอกว่า การให้อภัยแก่ผู้อื่นมีต้นทุน แต่ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้เลยกับตัวเลขที่พระราชาผู้ทรงเป็นนายได้ทรงยกหนี้ให้แก่ผู้รับใช้คนแรก
สิ่งที่พระเยซูคริสต์ต้องการสื่อนั้นชัดเจน พระเป็นเจ้าทรงให้อภัยอย่างที่คำนวณไม่ได้ มากกว่ามาตรวัดใด ๆ ทั้งหมด พระองค์ทรงเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรักและไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่มีใครซื้อพระเจ้าได้ พระองค์ทรงให้เปล่า ไม่เอาอะไรตอบแทนเลย เราไม่สามารถมอบอะไรตอบแทนพระองค์ได้ แต่เมื่อเราให้อภัยพี่น้อง ก็จะเป็นการที่เราเอาอย่างพระองค์ เพราะฉะนั้น การให้อภัยจึงไม่ได้เป็นเพียงกิจการดีที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่การให้อภัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของทุกคนที่เป็นคริสตชน เราทุกคนต่างได้รับ “การให้อภัย” กันมาแล้ว เราอย่าลืมเรื่องนี้ เราทุกคนต่างได้รับการอภัย พระเป็นเจ้าทรงมอบชีวิตเพื่อเรา พระองค์ทรงมีความเมตตาอยู่ในพระทัยเสมอ และเราไม่สามารถให้อะไรตอบแทนความเมตตาของพระองค์ได้ อย่างไรก็ตาม หากเราทำตนตามแบบพระองค์ ด้วยการให้อภัยผู้อื่นโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน เราก็จะสามารถเป็นพยานแก่พระองค์ และหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตใหม่รอบตัวเราได้ เพราะที่ใดไม่มีการให้อภัย ที่นั่นย่อมไม่มีความหวัง ที่ใดไม่มีการให้อภัย ที่นั่นย่อมไม่มีสันติสุข การให้อภัยเป็นออกซิเจนที่ทำให้บรรยากาศแห่งความเกลียดชังได้บริสุทธิ์สะอาดขึ้นมา การให้อภัยเป็นยาต้านพิษแห่งความเกลียดชัง เป็นหนทางในการขจัดภัยแห่งความโกรธ ทั้งยังเยียวยาโรคภัยทางจิตใจหลายอย่างที่เป็นสิ่งสกปรกเจือปนอยู่ในสังคมด้วย
ดังนั้น ให้เราถามตัวเองว่า เราเชื่อหรือไม่ว่าเราได้รับการอภัยอย่างมหาศาลเป็นของขวัญจากพระเป็นเจ้า? เรารู้สึกถึงความปิติยินดีหรือไม่เมื่อเรารู้ว่าพระองค์พร้อมที่จะให้อภัยเราทุกครั้งเมื่อเราหกล้ม แม้ว่าคนอื่นจะไม่ให้อภัยเรา หรือแม้กระทั่งในเวลาที่เราไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ก็ตาม? พระองค์ประทานอภัย แล้วเราเชื่อหรือไม่ว่าพระองค์ประทานอภัย? แล้วให้เราถามต่อด้วยว่า เราล่ะ เราให้อภัยต่อผู้ที่ทำผิดต่อเราหรือไม่? ในแง่มุมนี้ พ่ออยากให้ลูกทำแบบฝึกหัดเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง ให้เราแต่ละคนลองคิดถึงผู้ที่ทำร้ายเรา และให้เราวอนขอองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้พระองค์ประทานกำลังเพื่อที่เราจะให้อภัยต่อเขา และให้เราให้อภัยต่อเขาด้วยความรักที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พี่น้องที่รัก นี่เป็นสิ่งดีสำหรับเรา และจะทำให้เราได้มีสันติสุขในใจอีกครั้ง ขอให้พระนางมารีย์ มารดาแห่งความเมตตา ช่วยให้เราได้รับพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า และให้อภัยแก่กันและกัน
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว พระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
ในวันศุกร์หน้า พ่อจะเดินทางไปที่เมืองมาร์แซย์ [ในฝรั่งเศส] เพื่อร่วมการปิดการประชุมแห่งเมดิเตอร์เรเนียน (Rencontres Méditerranéennes) ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่ดีที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในการประชุมนี้ มีผู้นำหลายคนทั้งฝ่ายศาสนาและฝ่ายบ้านเมืองมาประชุมร่วมกันเพื่อส่งเสริมหนทางแห่งสันติภาพ ความร่วมมือ และการเปิดรับ รอบทะเลของเรา (mare nostrum)โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อปรากฏการณ์เรื่องการย้ายถิ่น นี่เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่เราได้เห็นจากข่าวในช่วงไม่นานมานี้ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าร่วมกัน เพราะว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของทุกคน ซึ่งจะมีความเจริญรุ่งเรืองได้ต่อเมื่อถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของความเป็นพี่น้องกัน โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต่อมนุษย์แต่ละคนในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังประสบความยากลำบากและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด พ่อขอให้ลูกภาวนาเพื่อการเดินทางครั้งนี้ของพ่อด้วย และในขณะเดียวกันพ่อก็ขอขอบใจหน่วยงานทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายศาสนา รวมทั้งผู้ที่กำลังเตรียมการประชุมที่มาร์แซย์ เมืองที่ร่ำรวยไปด้วยผู้คน และถูกเรียกให้เป็นท่าเรือแห่งความหวัง ในตอนนี้พ่อขอส่งคำทักทายไปยังชาวเมืองมาร์แซย์ และพ่อรอคอยโอกาสที่จะได้ไปเจอพี่น้องที่รักของพ่อจำนวนมากที่นั่น
พ่อขอส่งคำทักทายยังลูกทุกคน ทั้งชาวกรุงโรม และผู้แสวงบุญจากอิตาลีและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนจากชุมชนวัดหลายแห่งในไมอามี [ของสหรัฐ] วงดุริยางค์ปี่ถุงลมสวนสนามแห่งนักบุญปาตริก [จากเม็กซิโก] สัตบุรุษจากปิเอเว เดล ไกโร และจากกาสเตลนูโอโว สกริเวีย และคณะภคินีธรรมทูตพระมหาไถ่จากพระศาสนจักรกรีก-คาทอลิกยูเครน พ่อยังคงภาวนาต่อเนื่องเพื่อชาวยูเครนที่เผชิญความทุกข์ยาก และเพื่อสันติภาพในทุกแห่งที่ต้องนองเลือดด้วยสงคราม
และพ่อขอส่งคำทักทายถึงเยาวชนในขบวนการอิมมาโกลาตาด้วย
พ่อขอให้ทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ และโปรดอย่าลืมภาวนาเผื่อพ่อด้วย ให้ลูกรับประทานอาหารให้อร่อย แล้วไว้เจอกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส “ทูตสวรรค์แจ้งข่าว” (Angelus) มาแบ่งปันและไตร่ตรอง