สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก
เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคม 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง สำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 : พระเยซูคริสตเจ้า ความหวังของเราทั้งหลาย I. เรื่องปฐมวัยของพระเยซูเจ้า (1) ลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า (มธ. 1,1-17) : พระบุตรของพระเจ้าเสด็จเข้าสู่ประวัติศาสตร์
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
วันนี้พวกเราจะเริ่มการเรียนคำสอนต่อเนื่องในหัวข้อใหม่ซึ่งจะมีไปตลอดปีศักดิ์สิทธิ์ หัวข้อนี้คือ “พระเยซูคริสตเจ้า ความหวังของเราทั้งหลาย” พระองค์ทรงเป็นเป้าหมายแห่งการจาริกของพวกเรา และยังทรงเป็นหนทาง เป็นเส้นทางสำหรับให้พวกเราก้าวเดินไปอีกด้วย
เนื้อหาส่วนแรกของการเรียนคำสอนต่อเนื่อง จะเป็นเรื่องปฐมวัยของพระเยซูเจ้า [คือเรื่องชีวิตวัยเยาว์ของพระองค์] อย่างที่พวกเราเพิ่งจะได้ฟังจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวและนักบุญลูกา (เทียบ มธ. บทที่ 1-2, ลก. บทที่ 1-2) ส่วนที่เป็นเรื่องปฐมวัยของพระเยซูเจ้าในพระวรสารทั้งสองฉบับ ล้วนบอกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิและทรงบังเกิดจากครรภ์ของพระแม่มารีย์ ผู้เป็นหญิงพรหมจารี อันเป็นการทำให้คำพยากรณ์ถึงพระเมสสิยาห์ได้เป็นจริงในองค์พระเยซูเจ้า นอกจากนี้ยังบอกเล่าเกี่ยวกับนักบุญโยเซฟว่าท่านเป็นบิดาของพระเยซูเจ้าในทางพระบัญญัติ ซึ่งสถานะอันนี้ของท่านเป็นสิ่งที่เชื่อมพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้า ให้เกี่ยวเนื่องติดกับ “ลำต้น” แห่งราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด พระวรสารยังเล่าให้พวกเราฟังเรื่องพระเยซูเจ้าตอนที่พระองค์เป็นทารกเกิดใหม่ เป็นเด็กน้อย และเป็นวัยรุ่น [เล่าว่า]พระองค์ทรงเชื่อฟังบิดามารดา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรับรู้ว่าตัวตนของพระองค์ทั้งครบนั้นถูกอุทิศไว้สำหรับพระเจ้าพระบิดาและพระอาณาจักรของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พระวรสารทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกันอย่างหนึ่ง คือ พระวรสารของนักบุญลูกาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในมุมมองของพระแม่มารีย์ ส่วนพระวรสารของนักบุญมัทธิวเล่าเรื่องในมุมมองของนักบุญโยเซฟโดยเน้นถึงสถานะความเป็นบิดาของนักบุญโยเซฟ ซึ่งไม่มีใครเคยได้เป็นเหมือนท่านมาก่อน
พระวรสารของนักบุญมัทธิวเป็นหนังสือเล่มแรกในสารบบพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ นักบุญมัทธิวได้เริ่มต้นพระวรสารด้วยข้อความว่า “หนังสือลำดับพระวงศ์ของพระเยซูคริสตเจ้า พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ทรงสืบตระกูลมาจากอับราฮัม” (มธ. 1,1) ตามด้วยรายชื่อของผู้คนที่ได้ปรากฏตัวในพระคัมภีร์[ภาคพันธสัญญาเดิมที่เป็น]ภาษาฮีบรู และที่ท่านเขียนเช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงในประวัติศาสตร์ ตลอดจนความจริงของชีวิตมนุษย์ อันที่จริงแล้ว “ลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าประกอบด้วยเรื่องราวที่เป็นความจริง ซึ่งภายในนั้นก็มีการกล่าวถึงชื่อของคนบางคนที่มีมลทินเป็นปัญหา และยังมีการเน้นถึงความผิดบาปของกษัตริย์ดาวิดด้วย (เทียบ มธ. 1,6) อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้มาถึงมาถึงจุดหมายและผลิดอกเบ่งบานภายในพระแม่มารีย์ และภายในพระคริสตเจ้า (เทียบ มธ. 1,16)” (สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, สมณลิขิตว่าด้วยการฟื้นฟูการศึกษาประวัติศาสตร์ภายในพระศาสนจักร, 21 พฤศจิกายน 2024) ในที่นี้ เราได้เห็นความจริงของชีวิตมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ สามสิ่ง สิ่งแรก คือ ชื่อ ซึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกอัตลักษณ์และพันธกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน สิ่งที่สอง คือ การเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวและในประชาคม และสิ่งสุดท้าย คือ ความยึดมั่นในความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าแห่งประชากรอิสราเอล
ลำดับวงศ์เป็นรูปแบบทางวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อสื่อบางสิ่งอย่างอย่างที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือเรื่องที่ว่า ไม่มีใครที่มีชีวิตได้โดยลำพังตัวเอง เพราะทุกคนย่อมได้รับชีวิตเป็นของขวัญจากผู้อื่น ซึ่งในกรณีนี้[ในพระคัมภีร์] เราก็ได้เห็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร เราได้เห็นผู้คนที่ได้รับสืบทอดความเชื่อจากบรรพบุรุษ และคนเหล่านี้ก็ได้ส่งต่อชีวิตและความเชื่อในพระเจ้าไปยังลูกหลานของเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม การบรรยายลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า[ในพระวรสาร] ไม่เหมือนกับการเขียนบรรยายลำดับวงศ์ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ลำดับวงศ์ในพันธสัญญาเดิมนั้นมีแต่เฉพาะชื่อของผู้ชาย เพราะว่าในวงศ์วานอิสราเอล บุตรย่อมรับเอาชื่อของตนจากบิดา แต่ลำดับพระวงศ์ในพระวรสารของนักบุญมัทธิวกลับมีชื่อของสตรีปรากฏอยู่ในรายชื่อบรรพบุรุษของพระเยซูเจ้าด้วย ซึ่งมีอยู่ห้าคนด้วยกัน [คนแรกคือ]นางทามาร์ ลูกสะใภ้ของยูดาห์ [สามีของนางตายลง และยูดาห์ไม่ยอมให้บุตรคนเล็กของตนมาแต่งงานใหม่กับนาง นางจึง]ยังคงเป็นหญิงม่าย ระหว่างนั้นเองนางได้ปลอมตัวเป็นโสเภณี จนในที่สุดก็ได้มีลูก[กับยูดาห์ พ่อสามีของนาง] (เทียบ ปฐก. บทที่ 38) [หญิงคนที่สองคือ]นางราหับ ซึ่งเคยเป็นโสเภณีอยู่ในเมืองเยรีโค นางเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือสายสืบชาวฮีบรู และทำให้บรรดาชาวฮีบรูได้เข้ายึดครองดินแดนแห่งพันธสัญญา (เทียบ ยชว. บทที่ 2) [หญิงคนที่สามคือ]นางรูธ เป็นหญิงชาวโมอับ [คือเป็นชาวต่างชาติ] ในหนังสือนางรูธได้เล่าไว้ว่านางยึดมั่นในความซื่อสัตย์ต่อแม่สามีโดยไม่ห่วงกังวลถึงตัวเอง และในที่สุด นางก็ได้เป็นย่าทวดของกษัตริย์ดาวิด [หญิงคนที่สี่คือ]นางบัทเชบา กษัตริย์ดาวิดได้มาทำชู้กับนาง และส่งสามีของนางไปให้ศัตรูสังหาร และหลังจากนั้นกษัตริย์ดาวิดก็ได้มีบุตรกับนาง คือกษัตริย์ซาโลมอน (เทียบ 2 ซมอ. บทที่ 11) ส่วนหญิงคนสุดท้าย คือพระแม่มารีย์ชาวนาซาเร็ธ ผู้ซึ่งได้สมรสกับนักบุญโยเซฟซึ่งสืบสายเลือดมาจากกษัตริย์ดาวิด และท่านก็เป็นผู้ให้กำเนิดพระเมสสิยาห์ คือพระเยซูเจ้า
สิ่งที่มีอยู่เหมือน ๆ กันในบรรดาหญิงสี่คนแรก ไม่ใช่เรื่องที่พวกนางล้วนเป็นคนบาปอย่างที่บางครั้งอาจมีคนพูด หากแต่เป็นเรื่องที่พวกนางล้วนเป็นคนนอกสำหรับประชากรอิสราเอล สิ่งที่นักบุญมัทธิวได้แสดงออกผ่านการเขียนเรื่องนี้ คือข้อที่ว่า “โลกของคนต่างชาติทั้งหลาย [คือผู้คนที่ไม่ใช่ประชากรอิสราเอล] ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางพวกนาง เป็นการแสดงให้เห็นว่า พันธกิจของพระเยซูเจ้านั้น เป็นสิ่งที่มุ่งยังทั้งชาวฮีบรูและคนต่างชาติ” ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกได้ทรงเขียนเอาไว้ ()
[เวลาที่มีการกล่าวถึง]หญิงสี่คนแรก[ในลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า] พวกนางล้วนถูกกล่าวถึงในแง่ที่ว่า เป็นแม่ของใคร หรือในแง่ที่ว่า ใครเป็นบิดาของบุตรของนาง แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระนางมารีย์เป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงโดยให้ความสำคัญบางอย่างเป็นพิเศษ กล่าวคือ ในฐานะที่ท่านเป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นอย่างใหม่ ตัวท่านเองเป็นการเริ่มต้นอย่างใหม่ เพราะว่าผู้ที่ถูกกล่าวถึงเคียงข้างกับท่านว่าเป็นตัวเอกของยุคสมัยนั้น ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป หากแต่เป็นพระเจ้า ดังจะเห็นได้อย่างดีจากการใช้คำว่า “ประสูติ” หรือบังเกิด กับเรื่องของพระเยซูเจ้า คือ “ยาโคบเป็นบิดาของโยเซฟ พระสวามีของพระนางมารีย์ พระเยซูเจ้า ที่ขานพระนามว่าพระคริสตเจ้า ประสูติจากพระนางมารีย์ผู้นี้” (มธ. 1,16) [ซึ่งต่างจากที่อื่น ๆ ที่ใช้คำพูดว่า ใครเป็นบิดาของใคร] พระเยซูเจ้าทรงเป็นโอรสกษัตริย์ดาวิด ทรงเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดผ่านทางนักบุญโยเซฟ และทรงถูกกำหนดไว้ให้เป็นพระเมสสิยาห์แห่งประชากรอิสราเอล อย่างไรก็ตาม พระองค์ผู้ทรงเป็นลูกหลานของอับราฮัม เป็นลูกหลานของหญิงต่างด้าว ก็ถูกกำหนดไว้ให้เป็น “แสงสว่างของนานาชาติ” (เทียบ ลก. 2,32) และ “พระผู้ไถ่ของโลก” (ยน. 4,42) ด้วย
พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงได้รับการสงวนไว้ให้ศักดิ์สิทธิ์เพื่อพระบิดา พร้อมทั้งเพื่อพันธกิจในการเผยแสดงใบหน้าของพระบิดาให้ผู้คนได้เห็น (เทียบ ยน. 1,18; 14,9) ได้เสด็จมายังโลกนี้ [โดยทรงบังเกิดจากครรภ์มารดา]เหมือนกับมนุษย์คนอื่น ๆ และที่นาซาเร็ธ ผู้คนก็จะได้เรียกขานพระองค์ว่าเป็น “บุตรของโยเซฟ” (ยน. 6,42) และ “ลูกช่างไม้” (มธ. 13,55) พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าแท้ และทรงเป็นมนุษย์แท้
พี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้เราทั้งหลายหวนระลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเรากันอีกครั้งด้วยความรู้สึกขอบคุณ และเหนือสิ่งอื่นใด ขอให้เราทั้งหลายขอบพระคุณพระเจ้า เพราะพระองค์ได้ทรงใช้พระศาสนจักรผู้เป็นมารดา เพื่อทำให้พวกเราได้เกิดใหม่มุ่งสู่ชีวิตนิรันดร ซึ่งเป็นชีวิตของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นความหวังของเราทั้งหลาย
คำปราศรัยพิเศษของพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากมอลตา พ่อขออธิษฐานภาวนาให้เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้เป็นช่วงเวลาแห่งพระพร ทั้งสำหรับลูกแต่ละคน และสำหรับครอบครัวของลูก ในการที่พวกลูกจะเตรียมตัวเตรียมจิตใจรับเสด็จพระเยซูเจ้า พระผู้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้รอด
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน คริสตสมภพกำลังใกล้เข้ามาเต็มที่แล้ว พ่อมีความสุขเมื่อได้คิดว่าพวกลูกมีถ้ำพระกุมารไว้ที่บ้าน ถ้ำพระกุมารเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญภายในชีวิตฝ่ายจิตของพวกเรา และภายในวัฒนธรรมของพวกเราด้วย เหตุว่าถ้ำพระกุมารเป็นวิธีการที่จะช่วยย้ำเตือนพวกเราให้นึกถึงพระเยซูเจ้า ผู้เสด็จมา “ประทับอยู่ในหมู่เรา”
นอกจากนี้ พ่อขอให้พี่น้องจงอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ ขอให้พี่น้องอย่าลืมผู้คนที่กำลังทนทุกข์เพราะสงคราม ทั้งในปาเลสไตน์และอิสราเอล ขอให้เรานึกถึงผู้คนมากมายที่กำลังทนทุกข์ ทั้งในยูเครน ในเมียนมา และในที่อื่น ๆ ขอให้พวกเราอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ เพื่อให้สงครามยุติลงเสียที ขอให้เราวิงวอนพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งสันติ เพื่อที่พระองค์จะโปรดประทานพระหรรษทานแห่ง[สันติภาพ]ให้แก่โลกนี้ และขอให้พวกเราอย่าลืมว่า สงครามเป็นความพ่ายแพ้เสมอ สงครามเป็นความพ่ายแพ้เสมอ
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
พี่น้องชายหญิงที่รัก บัดนี้พวกเราจะเริ่มการเรียนการสอนต่อเนื่องในเรื่องใหม่สำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ คือเรื่อง “พระเยซูคริสตเจ้า ความหวังของเราทั้งหลาย” โดยในวันนี้ พวกเราจะพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับเรื่องราวในพระวรสาร ส่วนที่กล่าวถึงลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเตือนใจไม่ให้เราทั้งหลายลืมว่า ชีวิตและตัวตนของพระเยซูเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งครอบคลุมถึงบรรดาบรรพบุรุษและครอบครัวของพระองค์ ตลอดจนความเชื่อของประชากรอิสราเอลทั้งมวล ลำดับพระวงศ์ภายในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวมีการกล่าวถึงสตรีต่างชาติสี่คน เรื่องนี้เตือนใจเราทั้งหลายว่า ในท้ายที่สุดแล้ว พระเยซูเจ้าทรงถูกส่งมาให้เป็นพระผู้กอบกู้ปวงชนนานาชาติให้รอดพ้น และการบังเกิดของพระเยซูเจ้าจากพระแม่มารีย์พรหมจารีนั้น ในตัวมันเองก็เป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นใหม่ของครอบครัวมนุษยชาติของพวกเราด้วย ขณะที่วันคริสตสมภพกำลังใกล้เข้ามา ขอให้เราทั้งหลายจงขอบคุณบรรดาบรรพบุรุษของเรา และขอให้พวกเรารื้อฟื้นความมุ่งมั่นอีกครั้งในการทำให้ตัวตนของเราเป็นของประทานแห่งการปรองดอง สันติสุข และความหวัง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาสู่โลกนี้ อาศัยการรับสภาพมนุษย์ของพระองค์
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)