สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (13) ความอดทน
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเราได้ฟังเรื่องพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า [เราได้เห็นว่า]ขณะที่พระองค์เผชิญกับความทรมานต่าง ๆ นั้น พระองค์ได้ทรงใช้คุณธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายชื่อคุณธรรมที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก คุณธรรมประการนี้คือความอดทน ซึ่งหมายถึง การอดกลั้นทนรับต่อความทรมานที่ต้องประสบ คำว่าความอดทน[ในภาษาอิตาเลียน คือ [pazienza] มีรากศัพท์อันเดียวกับคำว่าพระมหาทรมาน[ในภาษาอิตาเลียนคือ passione และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่าความอดทนของพระคริสตเจ้าได้ปรากฏเด่นชัดภายในพระมหาทรมาน นอกจากนี้ [ในพระมหาทรมาน] เรายังได้เห็นความสุภาพถ่อมตนและความอ่อนโยนของพระองค์ด้วย พระองค์ทรงยอมให้เขาจับกุม ทรงยอมให้เขาทุบตีและตัดสินโทษอย่างไม่เป็นธรรม พระองค์ไม่ทรงโต้แย้งใครเมื่อประทับต่อหน้าปีลาต พระองค์ทรงยอมให้เขาดูหมิ่น ทรงยอมให้บรรดาทหารถ่มน้ำลายใส่พระองค์และเฆี่ยนตีพระองค์ พระองค์ทรงยอมแบกไม้กางเขนอันหนักอึ้ง พระองค์ทรงให้อภัยแก่ผู้ที่เอาพระองค์ไปตรึงกางเขน และเมื่อพระองค์อยู่บนไม้กางเขน พระองค์ก็ไม่ตอบโต้ต่อการยั่วยุ หากแต่กลับทรงมอบความเมตตาให้แก่เขา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้บอกกับเราว่า ความอดทนของพระเยซูเจ้าไม่ใช่การข่มอารมณ์ให้สงบนิ่งเฉยเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมาน หากแต่เป็นผลที่มาจากความรักอันยิ่งใหญ่กว่านั้น
ในข้อความที่เรียกกันว่า “บทเพลงสรรเสริญความรัก” (เทียบ 1 คร. 13,4-7) นักบุญเปาโลได้นำความรักและความอดทนมาเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด จริงทีเดียวว่า เมื่อท่านอธิบายถึงลักษณะประการแรกของความรัก ท่านได้ใช้คำที่สามารถแปลได้ว่า “ใจกว้าง” หรือ “อดทน” คำกล่าวนี้แสดงออกถึงข้อความคิดที่น่าประหลาดใจ [ความอดทนหรือความใจกว้าง]เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยในพระคัมภีร์ กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าทรงเห็นความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเรา[คือบรรดามนุษย์] พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่าทรง “กริ้วช้า” (เทียบ อพย. 34,6, กดว. 14.18) คือแทนที่พระองค์จะแสดงความรังเกียจต่อความชั่วร้ายและบาปของมนุษย์ แต่พระองค์กลับเผยว่าพระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าสิ่งเหล่านั้น พระองค์ได้เผยว่าทรงมีความอดทนไม่มีที่สิ้นสุด ทรงพร้อมเสมอที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง สำหรับนักบุญเปาโลแล้ว ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะประการแรกแห่งความรักของพระเจ้า ผู้ทรงพร้อมที่จะให้อภัยเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นถึงบาป แต่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ลักษณะที่มีอยู่ในความรักของพระเจ้าเท่านั้น หากแต่เป็นลักษณะประการแรกที่มีอยู่ในความรักที่ยิ่งใหญ่ทุกอย่างด้วย ความรักย่อมรู้จักสนองตอบความชั่วด้วยความดี ย่อมไม่ถอยห่างออกมาเพราะความโกรธและความผิดหวัง ความรักย่อมมีความเพียรทนและลองใหม่อีกครั้ง ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานของความอดทน ดังที่นักบุญเอากุสตินได้กล่าวไว้ว่า “[สำหรับผู้อธรรม ยิ่งเขามีความอยากในทางโลกมากเท่าใด เขายิ่งทนต่อความยากลำบากได้มากเท่านั้น แต่]สำหรับผู้ชอบธรรม ยิ่งความรักของพระเจ้าที่อยู่ในเขามีความยิ่งใหญ่มากเท่าใด เขาก็ยิ่งจะมีความกล้าหาญในการอดทนกับความชั่วได้มากเท่านั้น” (ว่าด้วยความอดทน, XIV)
เราอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นพยาน[ทำให้เราได้เห็น]ความรักของพระคริสตเจ้าได้ดียิ่งกว่าการได้พบกับคริสตชนที่มีความอดทน ให้เราคิดถึงบรรดาพ่อแม่ บรรดาคนทำงาน บรรดาแพทย์ พยาบาล บรรดาคนป่วย ในแต่ละวันพวกเขาได้[แสดง]ความอดทนอันศักดิ์สิทธิ์[ออกมา]โดยที่ไม่ต้องให้ใครเห็น การที่พวกเขาทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้โลกของเราสวยงาม พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้โกรธช้าย่อมดีกว่านักรบชำนาญศึก” (สภษ. 16,32) อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความซื่อสัตย์[ในการยอมรับความจริงที่]ว่า บ่อยครั้งที่พวกเราขาดความอดทน พวกเราจำเป็นต้องมีความอดทน เพราะความอดทนเป็น “วิตามินที่สำคัญยิ่งยวด” ที่จำเป็นสำหรับการก้าวเดินต่อไป แต่บ่อยครั้งที่สัญชาตญาณทำให้เราขาดความอดทน ทำให้เราตอบโต้ความชั่วด้วยความชั่ว [เราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะ]ควบคุมอารมณ์ให้สงบ ควบคุมสัญชาตญาณของตนเอง ยับยั้งใจไม่ตอบโต้ด้วยความชั่ว [และเราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะ]บรรเทาความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในประชาคมคริสตชน
อย่างไรก็ตาม ขอให้พวกเราจงระลึกไว้ว่า นอกจากความอดทนจะเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ยังเป็นกระแสเรียกอย่างหนึ่งด้วย พระคริสตเจ้าทรงมีความอดทนฉันใด คริสตชนก็ย่อมถูกเรียกให้มีความอดทนด้วยฉันนั้น เราจำเป็นต้องทวนกระแสวิธีคิดที่แพร่หลายอยู่ในโลกทุกวันนี้ เพราะว่าโลกทุกวันนี้ถูกครอบงำด้วยความเร่งรีบ และความต้องการ “ที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยทันที” ในโลกแบบนี้ แทนที่คนเราจะรู้จักรอให้ถึงเวลาอันเหมาะสม เขากลับถูกกดดัน ถูกคาดหวังว่าจะต้องเปลี่ยนไปโดยทันที เราทั้งหลายจงอย่าลืมว่า ความเร่งรีบและความไม่รู้จักอดทนเป็นศัตรูของชีวิตฝ่ายจิต [เราจงอย่าลืมว่า] พระเจ้าทรงเป็นความรัก ผู้ที่มีความรักย่อมไม่รู้จักเหนื่อยหน่าย ย่อมไม่หงุดหงิดโกรธง่าย ย่อมไม่ยื่นคำขาดให้แก่ใคร [เพราะ]เขารู้จักที่จะรอ ให้เรานึกถึง[การอุปมาเรื่อง]บิดาผู้เมตตา เขารอคอยลูกที่ออกจากบ้านไป เขาได้เผชิญกับความทุกข์ด้วยใจอดทน เขามีความเร่งร้อนเฉพาะเวลาที่เขาจะไปโอบกอดลูกเมื่อได้เห็นลูกกลับมาแล้วเท่านั้น (เทียบ ลก. 15,21) นอกจากนี้เราอาจนึกถึงการอุปมาเรื่องข้าวสาลีและข้าวละมาน [ซึ่งเราจะเห็นว่า]องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงรีบร้อนที่จะขจัดความชั่วอย่างถอนรากถอนโคนเมื่อยังไม่ถึงเวลา เพื่อที่จะไม่ให้ใครต้องพินาศ (เทียบ มธ. 13,29-30)
แล้วเราจะทำให้ความอดทนเติบโตขึ้นได้อย่างไร นักบุญเปาโลได้สอนเราไว้ว่า [ความอดทน]เป็นหนึ่งในผลของพระจิตเจ้า (เทียบ กท. 5,22) เพราะฉะนั้น เราต้องวอนขอ[ความอดทน]จากพระจิตของพระคริสตเจ้า พระจิตเจ้าย่อมประทานความอดทนซึ่งเป็นความแข็งแกร่งอันสุภาพอ่อนโยนนี้ให้แก่เรา เพราะว่า “คุณธรรมแบบคริสตชนไม่ได้มีแต่การทำความดีเท่านั้น แต่รวมถึงการทนรับต่อความชั่วด้วย” (นักบุญเอากุสตินแห่งฮิปโป, บทเทศน์, 46,13) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกทุกวันนี้ ย่อมจะเป็นการดีหากว่าเราจะรำพึงถึง[พระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน] เพื่อให้เราได้เอาอย่างความอดทนของพระองค์ วิธีฝึกตนที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือการนำเรื่องของคนที่น่ารำคาญมาก ๆ ไปพูดคุยกับพระองค์ และวอนขอให้พระองค์โปรดประทานพระหรรษทาน เพื่อที่เราจะได้สามารถปฏิบัติกับคนแบบนี้ด้วยความอดทน การใช้ความอดทนกับคนเจ้าปัญหาน่ารำคาญเป็นกิจเมตตาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีแต่มักถูกละเลย[ไม่นำไปปฏิบัติ] การทำแบบนี้ให้ได้จะต้องเริ่มจากการ[อธิษฐานภาวนา]ขอให้เรารู้จักมองเขาด้วยใจเมตตา มองเขาด้วยแววตาในแบบพระเจ้า และให้เรารู้จักแยกแยะระหว่างใบหน้า[คือตัวตน]ของเขากับความผิดพลาดของเขา
และในท้ายที่สุด ในการบ่มเพาะคุณธรรมแห่งความอดทนซึ่งเป็นสิ่งที่มอบลมหายใจให้แก่ชีวิตนั้น ย่อมเป็นการดีหากว่าเราจะทำวิสัยทัศน์ของตนเองให้กว้างขึ้น ตัวอย่างเช่น เราไม่ควรมองแต่เฉพาะปัญหาของเราเองอย่างเดียว หนังสือเรื่องการจำลองแบบพระคริสตเจ้า (Imitatio Christi) ได้เชื้อเชิญเราไว้อย่างนี้ว่า “ขอให้ท่านระลึกถึงความทุกข์อันยิ่งใหญ่ที่ผู้อื่นต้องประสบ เพื่อที่ท่านจะสามารถยอมรับความทุกข์เล็กน้อยของท่านเองได้ง่ายดายยิ่งขึ้น” ทั้งยังเตือนใจเราด้วยว่า “สำหรับพระเจ้าแล้ว หากเรายอมรับความทุกข์ทรมานบางอย่างเพื่อพระองค์ ก็ย่อมไม่มีความทุกข์ทรมานใดเลย ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ที่จะไม่ได้รับบำเหน็จรางวัลตอบแทน” (III, 19) และอีกครั้ง หากว่าเรารู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในท่ามกลางปัญหา หนังสือโยบก็ได้สอนเราไว้ว่า เป็นการดีที่เราจะเปิดใจตนเองด้วยความหวังว่าพระเจ้าจะทรงทำให้ทุกสิ่งกลับเป็นใหม่ ภายในความเชื่อมั่นอย่างไม่สั่นคลอนว่า พระเจ้าจะไม่ทรงปล่อยให้เราต้องผิดหวัง
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากฟิลิปปินส์ ปากีสถาน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ขณะที่เราทั้งหลายกำลังเตรียมใจสำหรับตรีวารปัสกา พ่อขอให้ลูกทุกคนได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ท่ามกลางบรรยากาศฝ่ายจิตที่เข้มข้นในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ พ่อขอส่งคำทักทายอย่างอบอุ่นยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน พ่อขอเชิญชวนให้เราแต่ละคนใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ภายในการอธิษฐานภาวนา เพื่อที่ในอีกไม่กี่วันต่อจากนี้ เราจะได้รับพระหรรษทานจากพระคริสตเจ้าองค์พระผู้ไถ่ ผู้ทรงเป็นต้นธารแห่งความปิติยินดีและความเมตตา
พี่น้องที่รัก ขอให้เราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ เพื่อที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะโปรดประทานสันติภาพให้แก่พวกเราทั้งหลาย ทั้งในยูเครนที่ถูกเบียดเบียนทำร้าย ซึ่งที่นั่นกำลังมีความทุกข์ยากอย่างมหาศาลเนื่องจากการถูกทิ้งระเบิด รวมทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์ เพื่อที่เราจะได้มีสันติภาพในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานสันติภาพแก่ทุกคน เพื่อให้เราทั้งหลายได้รับสันติภาพเป็นของประทานแห่งปัสกาของพระองค์
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
ใจความสรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมประการต่าง ๆ วันนี้เราจะพิจารณาเรื่องความอดทน พระเยซูเจ้าขณะทรงรับพระทรมาน ทรงเป็นแบบอย่างสูงสุดของความอดทน ความอดทนของพระองค์ไม่ได้เป็นการข่มอารมณ์ให้สงบนิ่งเฉยเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมาน หากแต่เป็นผลที่เกิดจากความรักของพระองค์ นักบุญเปาโลได้[กล่าวเรื่องนี้ไว้ ด้วยการ]เชื่อมโยงความอดทนเข้ากับความรักของพระเจ้า ผู้ทรง “กริ้วช้า” แต่ไม่รีรอที่จะทรงตอบแทนความชั่วด้วยความดี จริงทีเดียวว่า ความอดทนอดกลั้นแบบคริสตชนเป็นพยานที่น่าเชื่อถือที่สุดที่แสดงออกถึงความรักของพระคริสตเจ้า [เพราะฉะนั้น] ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ ขอให้เราทั้งหลายจงวอนขอพระหรรษทานจากพระจิตเจ้า เพื่อที่เราจะได้เอาอย่างพระเยซูเจ้า ให้เราได้มีความอดทนและความรักอันเปี่ยมด้วยเมตตาในแบบของพระองค์ ผู้ทรงให้อภัยแก่ความผิดบาปทั้งปวง และยังทรงแสดงออกซึ่งน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาแม้กระทั่งกับศัตรูของพระองค์ด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)