
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (27) การประกาศเป็นสิ่งที่มุ่งยังทุกคน
พี่น้องที่รัก หลังจากที่ในคราวที่แล้วเราได้พิจารณาข้อที่ว่า การประกาศข่าวดีแบบคริสตชนเป็นความปิติยินดี ในวันนี้ ให้เรามาไตร่ตรองถึงประเด็นที่สอง คือข้อที่ว่า การประกาศแบบคริสตชนเป็นความปิติยินดีที่มุ่งยังทุกคน เมื่อเราทั้งหลายได้พบกับพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง ความตื่นตะลึงแห่งการได้พบกับพระองค์ย่อมซึมซับยังชีวิตของเราทั้งหลาย และเรียกร้องให้เรานำความตื่นตะลึงนี้ไปมอบให้แก่ผู้อื่น พระเยซูเจ้าต้องการให้พระวรสารของพระองค์ไปถึงทุกคน แท้จริงแล้วในพระวรสารมี “พลังแห่ง [การสร้าง] มนุษยธรรม” และเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตครบบริบูรณ์สำหรับชายหญิงทุกคน เพราะว่าพระคริสตเจ้าทรงบังเกิด สิ้นพระชนม์ และฟื้นคืนพระชนม์เพื่อทุกคน ไม่ยกเว้นใครทั้งสิ้น
ในสมณสาส์นเตือนใจ “Evangelii Gaudium” (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) พ่อได้เขียนไว้ว่า ทุกคนมี “สิทธิได้รับพระวรสาร” คริสตชนมีหน้าที่ประกาศพระวรสารแก่ทุกคนโดยไม่กีดกันผู้ใดทั้งนั้น ให้เราทำเช่นนี้ไม่ใช่ในฐานะคนที่ไปสร้างภาระหน้าที่ใหม่แก่คนอื่น แต่[ให้เราเป็นคนที่]นำความปิติยินดีไปแบ่งปัน ผู้ที่ชี้ให้ผู้อื่นเห็นสัญลักษณ์แห่งขอบฟ้าใหม่ และเชื้อเชิญเขาให้มายังงานเลี้ยงอาหารที่น่าปรารถนา พระศาสนจักรไม่ได้เติบโตด้วยการโน้มน้าวชักจูงให้คนอื่นมาเข้าศาสนา แต่เติบโตด้วย “การดึงดูด” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium, ข้อ 14) พี่น้องที่รัก ให้เราทั้งหลายมีความรู้สึกต้องการรับใช้เพื่อให้พระวรสารได้ไปถึงเป้าหมายที่เป็นสากล พระวรสารมีไว้สำหรับทุกคน และให้เราทั้งหลายไตร่ตรองแยกแยะ เพื่อจะเห็นถึงความสามารถในการออกไปนอกกรอบของตัวเราเอง และการเอาชนะข้อจำกัดทั้งปวง หากเราต้องการจะประกาศให้ได้อย่างแท้จริง เราทั้งหลายต้องรู้จักออกจากความเห็นแก่ตัวของเราเอง ให้เราทั้งหลายมีความสามารถอันนี้ คือความสามารถในการเอาชนะข้อจำกัดทั้งปวง คริสตชนไม่ควรอยู่แต่ภายในห้องซาคริสเตีย (ห้องที่แต่งอาภรณ์หลังวัด) แต่เขาจะต้องออกไปอยู่หน้าวัด และออกไป “ตามลานสาธารณะและตามถนนในเมือง” (ลก. 14,21) คริสตชนจะต้องมีใจเปิดกว้างและมีใจมุ่งที่จะเผยแผ่ เขาจะต้องเป็น “คนที่มุ่งยังภายนอก” ลักษณะเช่นนี้มีที่มาจากพระเยซูเจ้า ผู้ซึ่งได้เสด็จไปยังที่ต่าง ๆ อย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อไปหาผู้คนทุกคนระหว่างที่พระองค์ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ หนทางของพระองค์มีเป้าหมายในการไปหาทุกคน ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้เรียนรู้บางอย่างจากการได้พบปะกับผู้คนด้วย
ในแง่มุมนี้ พระวรสารได้กล่าวถึงเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการพบปะที่เหนือความคาดหมายระหว่างพระเยซูเจ้ากับหญิงต่างชาติ หญิงคนนี้เป็นชาวคานาอัน ที่วิงวอนขอให้พระองค์ช่วยเยียวยาลูกสาวของตนที่ล้มป่วย (เทียบ มธ. 15,21-28) [ตอนแรก] พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธ โดยตรัสว่าทรงถูกส่งมา “เพื่อแกะที่พลัดหลงของวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น” (มธ. 15,24) และตรัสด้วยว่า “ไม่สมควรที่จะเอาอาหารของลูกมาโยนให้ลูกสุนัขกิน” (มธ. 15,26) แต่หญิงผู้นี้ได้ทูลขอร้องไม่ลดละ ตามธรรมดาของผู้ที่มีจิตใจเรียบง่าย เธอได้ตอบพระองค์ว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า แต่แม้แต่ลูกสุนัขก็ยังได้กินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของนาย” (มธ. 15,27) คำกล่าวนี้ทำให้พระเยซูเจ้าประทับใจ พระองค์จึงตรัสกับเธอว่า “นางเอ๋ย ความเชื่อของเจ้ายิ่งใหญ่ จงเป็นไปตามที่เจ้าปรารถนาเถิด” (มธ. 15,28) การพบปะครั้งนี้มีบางสิ่งที่พิเศษไม่เหมือนทั่วไป เพราะไม่เพียงแต่ [เราจะได้เห็นว่า] มีคนทำให้พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนพระทัย ทำให้พระองค์ [ช่วยเหลือ]เขา แม้ว่าเขาจะเป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่ชาวยิว [แต่เรายังได้เห็นอีกว่า] แม้แต่พระเยซูเจ้าเอง พระองค์ก็ได้พบกับการยืนยันความจริงที่ว่า การประกาศข่าวดีของพระองค์ไม่ได้จำกัดเฉพาะต่อประชาชาติที่เป็นของพระองค์เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน
พระคัมภีร์ได้แสดงให้เราทั้งหลายเห็นว่า เวลาที่พระเจ้าทรงเรียกใครบางคนและทำสัญญากับเขา สิ่งนี้ย่อมจะมาพร้อมกับเงื่อนไขอย่างหนึ่งเสมอ คือเงื่อนไขที่ว่า พระองค์ทรงเรียกเขาเพื่อให้เขาไปหาผู้อื่นอีกมากมาย คนทุกคนที่ได้เป็นเพื่อนกับพระเจ้า นอกจากเขาจะได้สัมผัสกับความงามแล้ว เขายังมีความรับผิดชอบ มีภาระสำคัญที่มาจากการที่พระองค์ทรง “เลือก” เขาด้วย ทุกคนย่อมต้องเผชิญการทดลอง เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับความอ่อนแอของตนเอง หรือการต้องสูญเสียความมั่นคงปลอดภัย แต่การทดลองที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือการยั่วยวนให้คิดว่ากระแสเรียกที่ตนได้รับนั้นเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่ง พ่อขอร้องทุกคนว่าจงอย่าคิดแบบนี้ กระแสเรียกไม่ใช่สิทธิพิเศษ และไม่อาจเป็นเช่นนี้ได้อย่างเด็ดขาด เราทั้งหลายไม่อาจกล่าวได้ว่าตนเองมีสิทธิพิเศษบางอย่างมากกว่าคนอื่น กระแสเรียกเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อการรับใช้ พระเจ้าทรงเลือกคนบางคนเพื่อให้เขาไปเรียกคนอื่นทุกคน ให้เขาไปเข้าถึงทุกคน
นอกจากนี้ ให้เราป้องกันตนเองจากการทดลองที่ยั่วยุให้เรามองว่าคริสต์ศาสนาเป็นสิ่งที่ต้องยึดโยงกับวัฒนธรรมบางอย่าง เชื้อชาติบางอย่าง หรือกับระบบบางอย่าง เพราะหากเป็นเช่นนี้แล้ว คริสต์ศาสนาย่อมสูญเสียธรรมชาติแห่งความเป็นสากลที่แท้จริง (“คาทอลิก” แปลว่า สากล) หรือจะกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้นคือ ลักษณะเฉพาะแห่งความเป็นสากล [คริสต์ศาสนา]ไม่ใช่กลุ่มเล็ก ๆ ที่ประกอบด้วยคนที่ถูกเลือกและมีสถานะชั้นหนึ่งเหนือคนอื่น เราทั้งหลายจงอย่าลืมว่า ที่พระเจ้าทรงเรียกคนบางคนนั้น พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพื่อให้เขาไปรักคนอื่น ๆ ทุกคน ให้เราอย่าลืมขอบฟ้าอันนี้ ให้เราอย่าลืมขอบฟ้าแห่งความเป็นสากล พระวรสารไม่ได้มีไว้สำหรับตัวเราคนเดียว แต่มีไว้สำหรับทุกคน พ่อขอขอบใจลูกทุกคน
การทักทายพิเศษของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งคำทักทายยังคนชรา คนป่วย คนที่เพิ่งแต่งงาน และเยาวชนด้วย ในวันนี้มีเด็กนักเรียนมากันมากมาย วันอาทิตย์หน้าจะเป็นวันอาทิตย์สุดท้ายในเทศกาลธรรมดา ซึ่งเราทั้งหลายจะได้สมโภชพระคริสตเจ้า ราชาแห่งสากลจักรวาล พ่อขอเตือนใจลูกทุกคนให้ลูกมีพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิตลูก และให้ลูกน้อมรับแสงสว่างและกำลังใจจากพระองค์ในทุกครั้งที่ลูกต้องตัดสินใจอะไรในชีวิต
ขอให้ลูกอย่าลืมตั้งใจภาวนาเพื่อผู้คนที่ทุกข์ยากลำบากอย่างมากมายจากสงครามซึ่งเกิดขึ้นหลายที่เหลือเกินในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ลูกภาวนาเพื่อผู้คนในยูเครนอันเป็นที่รักที่ตอนนี้ถูกเบียดเบียนสังหาร และให้ลูกภาวนาเพื่อผู้คนในอิสราเอลและปาเลสไตน์ เมื่อเช้าวันนี้พ่อได้พบกับคณะผู้แทน 2 คณะ คณะหนึ่งเป็นชาวอิสราเอลที่มีญาติพี่น้องถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ที่กาซา ส่วนอีกคณะหนึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์ที่มีญาติพี่น้องกำลังทุกข์ทรมานอยู่ที่กาซาเช่นกัน ความทุกข์ทรมานของพวกเขาใหญ่หลวงเหลือเกิน ทำให้พ่อรู้สึกว่าทั้งสองฝ่ายต่างกำลังทนทุกข์ สงครามทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ท่ามกลางสงครามแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการทำสงครามแล้ว แต่เป็นการก่อการร้าย พ่อขอร้องลูกทุกคนให้พยายามเพื่อสันติภาพ ให้ลูกภาวนาเพื่อสันติภาพ ให้ลูกภาวนามาก ๆ เพื่อสันติภาพ เพื่อที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะยื่นพระหัตถ์ช่วยเหลือเรา ให้เราสามารถคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ และเพื่อที่พระองค์จะช่วยเราไม่ให้ก้าวเดินไปด้วยอารมณ์ร้อนแรงที่สุดท้ายแล้วจะทำให้ทุกคนต้องตายกันหมด ให้เราทั้งหลายภาวนาเพื่อชาวปาเลสไตน์ ให้เราทั้งหลายภาวนาเพื่อชาวอิสราเอล เพื่อที่สันติภาพจะมาถึง
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราทั้งหลายกำลังพิจารณาเกี่ยวกับสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) ซึ่งเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการประกาศ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” ขึ้นใหม่อีกครั้ง ความชื่นชมยินดีอันนี้เป็นสิ่งที่มีสำหรับทุกคน เพราะว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ ทรงปรารถนาจะเรียกชายหญิงทุกคนให้มามีส่วนร่วมในชีวิตครบบริบูรณ์ หากเราทั้งหลายมีความซื่อสัตย์ต่อภารกิจที่ได้รับผ่านทางศีลล้างบาป ก็จะทำให้เรามีหน้าที่นำพระวรสารไปแบ่งปันกับทุกคนที่เราได้พบเจอ ไม่เว้นใครทั้งนั้น เพราะว่าพระคริสตเจ้าทรงบังเกิด สิ้นพระชนม์ และฟื้นคืนพระชนม์เพื่อทุกคน พระคัมภีร์ได้เผยแสดงไว้ว่าเมื่อพระเจ้าเรียกใครบางคนมาเป็นศิษย์ พระองค์ยังได้ทรงส่งเขาไปเป็นพยานแห่งความรักที่ช่วยไถ่กู้ด้วย พระศาสนจักรเป็นพระศาสนจักร “คาทอลิก” เป็นสากล เพราะว่าพระศาสนจักรได้รับมอบหมายภารกิจในการนำผู้คนจากทุกชนชาติมาเป็นศิษย์ พร้อมไปกับการสร้างเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เคารพความหลากหลายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และสร้างความปรองดองภายในความหลากหลายนี้ ขอให้เราทั้งหลายผู้ซึ่งได้สัมผัสกับความงามและความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร จงได้มีความตระหนักมากขึ้นว่า สิ่งที่พระวรสารต้องการสื่อเป็นข่าวดีที่มุ่งยังทุกคน และให้เราพยายามแสดงให้ผู้อื่นเห็นถึงโฉมหน้าของพระศาสนจักรที่ต้อนรับและโอบกอดทุกคน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส (General Audience) มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)