
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (25) มาเดอแลน เดลเบรล (Madeleine Delbrêl)
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในบรรดาผู้คนมากมายที่เป็นพยานถึงความร้อนรนในการประกาศพระวรสาร คือ เป็นผู้ประกาศพระวรสารที่เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้นนั้น ในวันนี้พ่อจะพูดถึงผู้รับใช้พระเจ้า มาเดอแลน เดลเบรล ท่านเป็นหญิงชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 20 เกิดเมื่อปี 1904 และเสียชีวิตเพื่อปี 1964 ท่านเป็นทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักเขียน และนักฌานนิยม[ผู้ที่รำพึงพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า]ด้วย ท่านได้ใช้ชีวิตท่ามกลางคนยากจนถึงกว่า 30 ปี โดยเป็นการทำงานเพื่อผู้คนชนชั้นแรงงานที่อาศัยอยู่ชายกรุงปารีส[ของฝรั่งเศส] การได้พบปะกับพระเป็นเจ้าได้นำมาซึ่งความพิศวงแก่ท่าน ท่านเขียนไว้ว่า “เมื่อใดที่เราได้รู้จักพระวาจาของพระเจ้า เราย่อมไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธ เมื่อใดที่เราได้รับพระวาจาของพระเป็นเจ้า เราย่อมไม่มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้พระวาจาของพระเจ้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเรา และเมื่อใดที่เราได้ให้พระวาจาของพระเจ้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งในเรา เราก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะเก็บพระวาจาของพระเจ้าเอาไว้คนเดียว เพราะบัดนี้ เราได้กลายเป็น [ผู้รับใช้] ของบรรดาผู้คนที่ต่างรอคอยพระวาจาของพระเจ้าแล้ว” (Nous autres, gens des rues, Seuil, coll. «Livre de vie», n. 107, Paris, 1971) สิ่งที่ท่านเขียนไว้นี้ช่างสวยงามเหลือเกิน
ตอนที่ มาเดอแลน เดลเบรล ยังเป็นวัยรุ่น ท่านไม่ได้เชื่อในศาสนาอะไรเลย แต่ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ประมาณ 20 ปี ท่านได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ผ่านทางความประทับใจที่มาจากการเป็นพยานโดยเพื่อนฝูงของท่านบางคนที่เป็นผู้เชื่อ ท่านได้ออกเดินทางค้นหาพระเจ้า ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการแสดงออกซึ่งความโหยหาลึกซึ้งที่ท่านรู้สึกอยู่ภายใน และในที่สุดท่านก็ได้รู้ว่า “ความว่างเปล่าที่ตะโกนร้องความทุกข์ทรมานของท่านออกมาภายในท่าน” นั้น แท้จริงแล้วคือพระเจ้า ผู้ที่ได้ทรงเสาะหาท่าน (Eblouie par Dieu – correspondance 1: 1910-1941 dans Œuvres complètes vol. 1, Nouvelle cité, coll. «Spiritualité», Montrouge, 2004) ความปิติยินดีแห่งความเชื่อได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน และได้นำพาให้ท่านเลือกหนทางแห่งการมอบชีวิตของตนทั้งครบให้แก่พระเจ้า ในหัวใจของพระศาสนจักร และในท่ามกลางโลก ผ่านการกระทำที่เรียบง่าย คือการไปใช้ชีวิตด้วยความเป็นพี่น้องร่วมกับ “ผู้คน[เร่ร่อน]ข้างถนน” ท่านได้พูดต่อพระเยซูเจ้าไว้อย่างงดงามว่า “ถ้าพวกลูกอยากจะไปอยู่ร่วมกับพระองค์บนหนทางของพระองค์ พวกลูกก็จะต้องก้าวออกไป ถึงแม้ว่าความเกียจคร้านจะอยากให้ลูกอยู่ที่เดิมเหมือนเดิมก็ตาม พระองค์ได้เลือกให้พวกลูกอยู่ภายในความสมดุลที่แปลกประหลาด ความสมดุลอันนี้จะเกิดขึ้นได้และจะรักษาไว้ได้ก็ด้วยการเคลื่อนที่ไปไม่หยุดนิ่ง ด้วยการอยู่ภายในพลวัตเท่านั้น คล้ายกับจักรยาน ที่ไม่อาจยืนหยัดตัวตรงอยู่ได้หากว่าล้อไม่หมุนไป … พวกลูกก็เช่นกัน พวกลูกจะยืนตัวตรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพวกลูกก้าวไปข้างหน้า เคลื่อนที่ไป ด้วยพลังแห่งความรักความเมตตา” นี่คือสิ่งที่ท่านเรียกว่า “จิตตารมณ์แห่งจักรยาน” (Humour dans l’amour: Méditations et fantaisies dans Œuvres complètes vol. 3, Nouvelle cité, coll. «Spiritualité», Montrouge, 2005) มีเพียงการไม่อยู่นิ่ง มีเพียงการเคลื่อนที่ไปเท่านั้น ที่จะทำให้เราได้มีชีวิตอยู่ภายในความสมดุลของความเชื่อ ซึ่งความสมดุลนี้เป็นความไม่สมดุลอย่างหนึ่ง แต่มันก็เป็นเช่นนี้ เป็นเหมือนจักรยาน หากว่าลูกหยุดถีบเมื่อไหร่ จักรยานก็จะยืนหยัดตัวตรงอยู่ไม่ได้
จิตใจของมาเดอแลน เดลเบรล มุ่งยังภายนอกอยู่เสมอ ท่านยอมให้เสียงร้องคร่ำครวญของคนยากจนเข้ามาท้าทายท่าน ท่านรู้สึกว่าพระเจ้าแห่งพระวรสาร ซึ่งเป็นพระเจ้าผู้ทรงชีวิต ย่อมจะต้องเผาไหม้ลุกโชนภายในเรา จนกว่าเราจะนำพระนามของพระองค์ไป[ประกาศ]แก่ผู้ที่ยังไม่ได้พบพระองค์ จิตวิญญาณเช่นนี้ของท่านที่มุ่งยังสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่รบกวนความสงบของจิตใจ และมุ่งยังเสียงคร่ำครวญของคนยากจน ได้ทำให้ท่านรู้สึกถึงเสียงเรียกให้ไป “มีชีวิตด้วยความรักทั้งครบของพระเยซูเจ้าในแบบคำต่อคำ ตั้งแต่น้ำมันของชาวสะมาเรียที่ดี ไปจนถึงน้ำส้มสายชูบนเนินกัลวารีโอ การทำเช่นนี้เป็นการมอบความรักให้แก่พระองค์ เพื่อ[ตอบแทน]ความรัก[ที่พระองค์มีต่อเรา] … เพราะว่าการรักพระองค์โดยไม่มีข้อแม้ และการมอบตัวเราเองทั้งครบให้อยู่ในความรักของพระองค์ เป็นการทำให้พระบัญญัติยิ่งใหญ่แห่งความรัก 2 ข้อ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา และทำให้ [พระบัญญัติทั้ง 2 ข้อ] รวมกันเหลือเพียงข้อเดียว” (La vocation de la charité, 1, Œuvres complètes XIII, Bruyères-le-Châtel, 138-139)
ท้ายสุด ท่านได้สอนเราอีกอย่างหนึ่งว่า การประกาศพระวรสาร ทำให้ผู้ประกาศเองได้รับการประกาศพระวรสารด้วย ท่านเองมักจะกล่าวอย่างหนึ่งว่า “วิบัติจงมีแก่ฉัน หากฉันประกาศพระวรสารให้คนอื่น แต่ไม่ประกาศพระวรสารให้ตัวเอง” คำพูดนี้มีแง่มุมสะท้อนสิ่งที่นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ แน่นอนว่าการประกาศพระวรสารย่อมทำให้เราได้รับการประกาศพระวรสารด้วย ความคิดลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง
เมื่อเราพิจารณาเรื่องราวของพยานแห่งพระวรสารท่านนี้ เราเองก็ย่อมจะได้เรียนรู้ว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ภายในชีวิตส่วนตัว สถานะสังคม และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ในชีวิตของเราทุกคน พระองค์เรียกเราให้มาอยู่ภายในยุคสมัยนี้ และให้เรานำชีวิตของเราไปแบ่งปันกับผู้อื่น ให้เราร่วมแบ่งปันความชื่นชมยินดีและความเศร้าโศกต่าง ๆ กับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้สอนเราว่า แม้แต่สภาวะแวดล้อมที่ศาสนาแทบจะไม่มีบทบาทในสังคม ก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทำให้ผู้คนกลับใจได้ เพราะการได้สัมผัสกับผู้คนที่ไม่เชื่อ ย่อมกระตุ้นให้ผู้เชื่อหันกลับมาทบทวนแนวทางแห่งความเชื่อของตนเอง และทำให้เขาได้ค้นพบอีกครั้งว่าสาระสำคัญของความเชื่อคืออะไร (เทียบ Nous autres, gens des rues, Seuil, coll. «Livre de vie», n. 107, Paris, 1971).
ขอให้ [แบบอย่างของ] มาเดอแลน เดลเบรล สอนให้เรารู้จักมีชีวิตด้วยความเชื่อที่ “ไม่อยู่กับที่” กล่าวคือ ความเชื่อที่ทำให้เกิดผลอันอุดม และทำให้การกระทำทุกอย่างที่มาจากความเชื่อได้กลายมาเป็นการกระทำกิจเมตตาภายในการประกาศพระวรสาร พ่อขอบใจทุกคน
สมเด็จพระสันตะปาปามีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ให้เราคิดถึงและภาวนาเพื่อผู้คนที่ต้องทนทุกข์จากสงคราม ให้เราอย่าลืมยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนสังหาร และให้เราคิดถึงผู้คนชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอล ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานสันติภาพที่มาพร้อมกับความเป็นธรรมให้แก่เราทั้งหลาย มีคนต้องทนทุกข์อยู่มากมาย ทั้งเด็ก คนป่วย คนชรา มีคนหนุ่มสาวมากมายเหลือเกินที่ต้องตาย สงครามเป็นความพ่ายแพ้เสมอ ให้เราอย่าลืมว่า สงครามเป็นความพ่ายแพ้เสมอ
สุดท้ายนี้พ่อขอส่งคำทักทายไปยังคนหนุ่มสาว คนชรา คนป่วย และคนที่เพิ่งแต่งงาน
พิธีกรรมที่เราทั้งหลายจะเฉลิมฉลองกันในวันพรุ่งนี้ เป็นการฉลองการถวายมหาวิหารนักบุญยอห์นที่ลาเตรัน ซึ่งเป็นอาสนวิหารแห่งกรุงโรม เป็นอาสนวิหารของพระสันตะปาปาในฐานะบิชอปแห่งโรม ขอให้การฉลองนี้จงเป็นสิ่งย้ำเตือนจิตใจของเราแต่ละคนให้มีความปรารถนาจะเป็นศิลาที่มีชีวิตเพื่อรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราได้พิจารณาไตร่ตรองถึงการเผยแพร่พระวรสารผ่านการเป็นพยานของชายหญิงจากทุกยุคสมัยและทุกสถานที่ ในวันนี้ ให้เราพิจารณาเรื่องราวของผู้รับใช้พระเจ้า มาเดอแลน เดลเบรล นักสังคมสงเคราะห์ นักเขียน และนักฌานนิยมชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 20 ท่านใช้ชีวิตวัยเยาว์แบบไม่ได้เชื่อศาสนาอะไร แต่ต่อมาท่านได้พบกับพระเยซูคริสตเจ้าผ่านการเป็นพยานโดยเพื่อนฝูงของท่าน ทำให้ท่านได้กลับใจ และเลือกจะใช้ชีวิตอุทิศตนทั้งครบให้แก่พระเจ้า ในหัวใจของพระศาสนจักรและในท่ามกลางโลก สภาพเลวร้ายที่คนยากจนต้องเผชิญ และความเจ็บปวดของคนที่หาความหมายของชีวิตตนเองไม่เจอ ได้ทำให้ท่านสะเทือนใจ ท่านเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเสียงเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้มีการฟื้นฟูความร้อนรนในการแพร่ธรรมให้กลับมีขึ้นอีกครั้งในพระศาสนจักรยุคปัจจุบัน ท่านได้ใช้ชีวิต ภาวนา และทำงานท่ามกลางคนยากจนในพื้นที่ชานเมืองของกรุงปารีสเป็นเวลากว่า 30 ปี แบบอย่างความร้อนรนในการประกาศข่าวดีของท่านได้กระตุ้นเตือนให้เราระลึกถึงพันธกิจของเราทั้งหลายที่มาพร้อมกับศีลล้างบาป ในการที่เราจะนำความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสารไปแบ่งปันกับคนอื่น และให้เราได้เติบโตภายในกระบวนการนี้ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อพระบัญญัติ 2 อย่างที่มาควบคู่กัน คือเรื่องความรักต่อพระเจ้า และความรักต่อพี่น้องทุกคนของเรา
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)