
ชายสามคนได้รับเงินก้อนใหญ่จากนายผู้ใจดีของพวกเขาที่กำลังจะออกเดินทางไกล นายคนนี้จะกลับมาในวันหนึ่ง และเมื่อเขากลับมา เขาก็จะเรียกคนรับใช้ทั้งสามคนมาพบ โดยหวังว่าตนเองจะได้ร่วมยินดีกับพวกเขาต่อการที่พวกเขาได้นำเงินก้อนใหญ่ไปเพิ่มพูนและทำให้เกิดผล เรื่องอุปมาที่เราเพิ่งจะได้ฟังไปนี้ (เทียบ มธ. 25,14-30) เชื้อเชิญให้เราทั้งหลายรำพึงไตร่ตรองเกี่ยวกับการเดินทางสองอย่าง ได้แก่ การเดินทางของพระเยซูเจ้า และ การเดินทางแห่งชีวิตของเรา
ให้เราคิดถึงการเดินทางของพระเยซูเจ้า ในตอนเริ่มเรื่องอุปมา พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึง “บุรุษผู้หนึ่ง” ที่ “กำลังจะเดินทางไกล เรียกผู้รับใช้มามอบทรัพย์สินให้” (มธ. 25,14) “การเดินทาง” นี้ได้ทำให้เรานึกถึงการเดินทางของพระคริสตเจ้า ตั้งแต่ที่พระองค์รับสภาพมนุษย์ เรื่อยไปจนถึงการที่พระองค์กลับคืนชีพและเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระคริสตเจ้าได้เสด็จลงมาจากพระบิดาเพื่อที่จะมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา ทรงทำลายความตายด้วยความตาย และหลังจากทรงฟื้นคืนชีพจากความตาย พระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปหาพระบิดา แต่ก่อนที่พระองค์จะออกเดินทางไป พระองค์ได้มอบความร่ำรวยของพระองค์เป็น “ทุน” ที่แท้จริงให้แก่เรา กล่าวคือ พระองค์ได้มอบพระองค์เองไว้กับเราในศีลมหาสนิท พระองค์ได้มอบพระวาจาแห่งชีวิตไว้กับเรา พระองค์ได้มอบมารดาของพระองค์เพื่อให้เป็นมารดาของเราทั้งหลายด้วย และพระองค์ได้แจกจ่ายของประทานแห่งพระจิต เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้สานต่อกิจการของพระองค์บนโลกนี้ต่อไป พระวรสารได้กล่าวไว้ว่าการมอบ “ตะลันต์” ต่าง ๆ ที่ว่านี้ ได้มอบไว้ “ตามความสามารถของแต่ละคน” (มธ. 25,15) การมอบให้แบบนี้มุ่งจะให้เราแต่ละคนสามารถทำภารกิจเฉพาะตัวของเราตามที่พระเจ้าทรงมอบหมายไว้ให้ได้ ทั้งในชีวิตประจำวัน ในสังคม และในพระศาสนจักร นักบุญเปาโล อัครสาวก ได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า “เราแต่ละคนได้รับพระหรรษทานตามสัดส่วนที่พระคริสตเจ้าประทานให้ ดังนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสู่เบื้องสูง พระองค์ทรงนำบรรดาเชลยไปด้วย และทรงแจกจ่ายของประทานแก่บรรดามนุษย์’” (อฟ. 4,7-8)
ให้เราพิจารณาพระเยซูเจ้ากันอีกครั้ง พระองค์ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างจากพระหัตถ์พระบิดา แต่พระองค์ไม่ได้เก็บสมบัติมีค่านี้เอาไว้คนเดียว พระองค์ “มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส” (ฟป. 2,6-7) พระองค์ได้รับสวมใส่สภาพมนุษย์อันอ่อนแอของเรา พระองค์ได้เทน้ำมันบนบาดแผลของเราในฐานะชาวสะมาเรียที่ดี พระองค์ทรงกลายเป็นผู้ยากจนเพื่อให้เราทั้งหลายได้ร่ำรวย (2 คร. 8,9) และพระองค์ถูกยกขึ้นบนไม้กางเขน “เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าจึงทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป” (2 คร. 5,21) เพราะเห็นแก่เรา พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตเพื่อเรา เพราะเห็นแก่เรา นี่คือวัตถุประสงค์ของการเดินทางของพระองค์ในโลกนี้ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับไปหาพระบิดา
เรื่องอุปมานี้เล่าให้เราฟังด้วยว่า “นายของผู้รับใช้พวกนี้ก็กลับมาและตรวจบัญชีของพวกเขา” (มธ. 25,19) การเดินทางแรกของพระเยซูเจ้าไปหาพระบิดา จะตามมาด้วยการเดินทางอีกครั้งหนึ่งในเวลาสิ้นพิภพ พระองค์จะเสด็จกลับมาด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ และจะมาพบเราทั้งหลายอีกครั้งเพื่อ “ตรวจบัญชี” แห่งประวัติศาสตร์ และนำเราไปสู่ความปิติยินดีแห่งชีวิตนิรันดร เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจำเป็นต้องถามตัวเองว่า เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมา พระองค์จะเห็นเราอยู่ในสภาพอย่างไร เราจะไปปรากฏตัวต่อหน้าพระองค์อย่างไรเมื่อเวลาที่กำหนดไว้มาถึง
คำถามนี้นำเราไปสู่การรำพึงไตร่ตรองในเรื่องที่สอง คือเรื่องการเดินทางแห่งชีวิตของเรา เราจะเลือกเดินบนหนทางไหนในชีวิต จะเลือกหนทางของพระเยซูเจ้า ผู้ซึ่ง [ได้มอบ] ชีวิตของพระองค์เป็นของประทาน หรือจะเลือกหนทางแห่งความเห็นแก่ตัว เราจะเลือกหนทางของการยื่นมือเปิดกว้างเพื่อเป็นผู้ให้ เป็นผู้มอบตนเองเป็นของขวัญ หรือจะเลือกหนทางของการไม่ยอมเป็นผู้ให้ เพื่อที่เราจะได้มีสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และคิดถึงแต่เรื่องตนเอง เรื่องอุปมานี้สอนเราว่า เราทั้งหลายต่างได้รับ “ตะลันต์” มากบ้างน้อยบ้างตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละคน เราจำเป็นต้องรับรู้ความจริงที่ว่า “ตะลันต์” หรือ “ความสามารถพิเศษ” ไม่ใช่สิ่งที่เป็นของเราเองเหมือนกับในความหมายที่ใช้กันทั่วไป แต่ที่จริงแล้วเป็นดังที่เราทั้งหลายได้ยินไปเมื่อสักครู่นี้ คือเป็นของประทานที่พระคริสตเจ้าทรงมอบไว้กับเราเมื่อพระองค์เสด็จกลับไปหาพระบิดา เป็นของประทานที่พระองค์มอบให้พร้อมกับพระจิตของพระองค์ เราทั้งหลายต่างได้เป็นลูกของพระเจ้าภายในพระจิตนี้ และพระจิตนี้เองที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตเป็นพยานแห่งพระวรสารและทำงานเพื่อที่อาณาจักรของพระเจ้าจะมาถึง “ทุน” มหาศาลที่เราได้รับมอบไว้นี้ คือความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นรากฐานแห่งชีวิตของเรา และเป็นที่มาของพลังความแข็งแกร่งสำหรับการที่เราจะเดินทางต่อไป
ดังนั้นแล้ว เราทั้งหลายต้องถามตัวเองว่า เรากำลังเอา “ตะลันต์” นี้ไปใช้อย่างไรภายในการเดินทางแห่งชีวิตของเรา เรื่องอุปมานี้บอกเราว่า ผู้รับใช้สองคนแรกได้นำของประทานที่ตัวเองได้รับไปเพิ่มมูลค่า ขณะที่ผู้รับใช้คนที่สามไม่เชื่อมั่นในนายของตนผู้ที่ได้มอบตะลันต์นี้ให้ แต่เขากลับหวาดกลัวจนทำอะไรไม่ถูก เขาไม่ยอมเสี่ยง เขาไม่ยอมออกไปทำงานที่อาจเจออันตราย และในที่สุดเขาก็เอาตะลันต์ของตนไปฝังดิน เราทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน เราอาจนำความร่ำรวยที่ได้รับมาไปทำให้เกิดผลทวีคูณภายในการมอบชีวิตของตนเป็นของขวัญแห่งความรักเพื่อคนอื่น หรือเราอาจจะใช้ชีวิตโดยถูกปิดกั้นจากการที่เรามองพระเจ้าแบบผิด ๆ ทำให้เรานำของมีค่าที่เราได้รับมาไปฝังไว้ด้วยความกลัว ด้วยความคิดถึงแต่ตนเอง ไม่สนใจสิ่งอื่นนอกจากความสะดวกและผลประโยชน์ของตนเอง ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมไปยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่นสิ่งอื่น คำถามนี้ชัดเจนอย่างยิ่ง [เราได้เห็นแล้วว่า] ผู้รับใช้สองคนแรกยอมเสี่ยงเพื่อไปทำธุรกรรม เราต้องถามตัวเองว่า “เรายอมเสี่ยงอะไรในชีวิตบ้างหรือไม่ ความเชื่อของเราได้เป็นพลังให้เรายอมเสี่ยงบ้างหรือไม่ ในฐานะคริสตชน เรารู้จักเสี่ยง หรือเรากำลังเอาแต่ปิดกั้นตนเองเพราะความหวาดกลัวหรือความขี้ขลาด
พี่น้องที่รัก ในวันนี้ซึ่งเป็นวันคนยากจนสากล การอุปมาเรื่องตะลันต์นี้ได้เรียกร้องให้เราทั้งหลายพิจารณาแยกแยะว่า เรากำลังเผชิญกับเส้นทางในชีวิตของเราด้วยจิตวิญญาณแบบใด เราทั้งหลายต่างได้รับความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นของประทานจากพระองค์ และเราทั้งหลายได้ถูกเรียกให้ทำตนเป็นของขวัญแก่ผู้อื่น ความรักที่พระเยซูเจ้าทรงเอาใจใส่เรา น้ำมันหอมแห่งความเมตตากรุณาของพระองค์ที่ได้ช่วยเยียวยาบาดแผลของเรา เปลวไฟแห่งพระจิตเจ้าของพระองค์ที่ทรงมอบไว้เพื่อทำให้จิตใจของเราเปี่ยมด้วยความปิติยินดีและความหวัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสมบัติมีค่าที่เราจะต้องไม่เก็บไว้คนเดียว จะต้องไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของเราอย่างเดียว และไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอาไปฝังดินได้ เราทั้งหลายต่างได้รับของประทานอย่างมากมาย เราจึงถูกเรียกให้ทำตัวเป็นของขวัญเพื่อผู้อื่นด้วย เรื่องอุปมานี้ได้อธิบายด้วยภาพที่สวยงามอย่างวิเศษ ให้เรารู้ว่า หากเราไม่ทำให้ความรักแพร่กระจายไปรอบตัวเรา ชีวิตของเราย่อมจะถอยหลังสู่ความมืดมิด และหากเราไม่นำตะลันต์ที่เราได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างดี ชีวิตของเราก็ย่อมจะจบลงด้วยการถูกฝังไว้ในดินเหมือนกับว่าเราตายไปแล้ว (เทียบ มธ. 25,30) พี่น้องที่รัก คริสตชนมากมายเหลือเกิน “ถูกฝังไว้ในดิน” คริสตชนจำนวนมากมีชีวิตความเชื่อเหมือนกับว่าเขามีชีวิตอยู่ใต้ดิน
ดังนั้น ให้เราคิดถึงความยากจนในแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ ทั้งความยากจนทางวัตถุ ความยากจนทางวัฒนธรรม และความยากจนฝ่ายจิต ให้เราคิดถึงความทุกข์ทรมานใหญ่หลวงในเมืองต่าง ๆ ของเรา ให้เราคิดถึงคนยากจนที่ถูกลืม ผู้ที่ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องแห่งความเจ็บปวดของเขา ท่ามกลางสังคมที่คนทั่วไปไม่รู้สึกแยแสเพราะถูกปิดกั้นด้วยความอึกทึกครึกโครมและความวอกแวกจากเรื่องต่าง ๆ เวลาที่เราคิดถึงความยากจน ให้เราอย่าลืมว่าความยากจนไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นโจ่งแจ้ง ความยากจนเป็นสิ่งซ่อนเร้น ความยากจนซ่อนเร้นตัวเอง เราจึงต้องใช้ความกล้าหาญเพื่อออกไปค้นหาความยากจน ให้เราคิดถึงผู้คนทั้งหลายที่ถูกกดขี่ ผู้คนที่เหนื่อยล้า ผู้คนที่ถูกกีดกัน ผู้คนที่เป็นเหยื่อสงคราม ผู้คนที่ถูกบีบบังคับให้ออกจากถิ่นที่อยู่เพื่อหนีจากอันตรายต่อชีวิต ผู้คนที่ต้องทนหิว ผู้คนที่ไม่มีงานทำ และผู้คนที่ไม่มีความหวัง มีความยากจนมากมายเหลือเกินในแต่ละวัน ไม่ได้มีเพียงแค่อย่างเดียว สองอย่าง หรือสามอย่าง แต่มีมากมาย ผู้คนยากจนนั้นมีมากมาย เวลาที่เรานึกถึงคนยากจนจำนวนมหาศาลที่อยู่ท่ามกลางเรา ก็จะเห็นว่าพระวรสารในวันนี้ต้องการสื่ออย่างชัดเจนว่า เราทั้งหลายจงอย่านำความร่ำรวยขององค์พระผู้เป็นเจ้าไปฝังไว้ เราทั้งหลายจงทำให้ความร่ำรวยแห่งความรักแพร่ขยายไป เราทั้งหลายจงนำขนมปังไปแบ่งปัน และจงทำให้ความรักเพิ่มทวีคูณ ความยากจนเป็นการสะดุดอย่างหนึ่ง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้ง พระองค์จะตรวจบัญชีกับเรา และดังที่นักบุญอัมโบรสได้กล่าวไว้ คือพระองค์จะตรัสกับเราว่า “ท่านมีเงินทองมากมายพอที่จะซื้ออาหารให้คนจน แล้วเพราะเหตุใดท่านจึงปล่อยให้คนยากจนมากมายต้องตายเพราะความหิวโหย เพราะเหตุใดจึงมีทาสมากมายถูกนำไปขายและถูกศัตรูข่มเหงรังแก โดยที่ไม่มีใครพยายามไถ่พวกเขาเป็นอิสระ” (De Officiis: PL 16, 148-149).
ให้เราทั้งหลายภาวนา เพื่อที่เราแต่ละคนจะสามารถพยายามเพื่อ “ทำให้ความรักออกผล” ได้สัดส่วนกับของประทานที่เราได้รับและสอดคล้องกับภารกิจที่เราได้รับมอบหมาย ให้เราทั้งหลายไปหาคนยากจน ให้เราทั้งหลายภาวนา เพื่อที่เราจะสามารถต้อนรับพระคริสตเจ้า ผู้ประทับในอยู่ในพี่น้องของเราและแสดงตนเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องของเราเหล่านี้ (เทียบ มธ. 25,49) และเพื่อที่ว่าเมื่อการเดินทางของเราสิ้นสุดลง เราจะได้ยินพระวาจาที่ว่า “ดีมาก ผู้รับใช้ที่ดีและซื่อสัตย์ […] จงมาร่วมยินดีกับนายของเจ้าเถิด” (มธ. 25,21)
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสวันคนยากจนสากลครั้งที่ 7 มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)