
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (5) ตัวเอกของการประกาศ: พระจิตเจ้า
ยินดีต้อนรับและเจริญพรมายัง ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก
ในเส้นทางการเรียนคำสอนของเราเกี่ยวกับความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร ในวันนี้เราจะเริ่มจากพระวาจาของพระเยซูคริสต์ที่เราเพิ่งได้ฟังไปว่า “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” (มธ. 28,19) พระองค์ผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ได้ตรัสว่า “จงไป” ไม่ได้เพื่อไปล้างสมองคนอื่น ไม่ได้เพื่อไปชักจูงคนให้เข้าศาสนา แต่ให้ไปสั่งสอนผู้คนให้มาเป็นศิษย์ กล่าวคือ ให้ไปมอบโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสกับพระเยซูคริสต์ ให้เขาได้รู้จักและรักพระองค์อย่างเสรี จงไป และทำพิธีล้างบาปให้เขา คำว่าล้างบาป หรือบัพติศมา หมายถึงการทำให้จมมิด และก่อนที่คำว่า “บัพติศมา” จะมีความหมายกล่าวถึงพิธีกรรม คำนี้ได้แสดงถึงการกระทำที่มีความสำคัญยิ่งยวด กล่าวคือการทำชีวิตให้จมมิดในพระบิดา และพระบุตร และพระจิต การสัมผัสประสบการณ์ความปิติยินดีจากการประทับอยู่ของพระเจ้า ซึ่งทรงใกล้ชิดกับเราเป็นพระบิดา เป็นพี่น้อง และเป็นจิตวิญญาณที่กระทำกิจการภายในเรา ภายในจิตวิญญาณของเราในแต่ละวัน การล้างบาปจึงหมายถึงการทำให้ตนเองจมมิดลงในพระตรีเอกภาพ
เมื่อพระเยซูคริสต์ตรัสกับบรรดาศิษย์และกับเราด้วยว่า “จงไป” พระองค์ไม่ได้เพียงแค่มอบคำพูด ไม่เลย เพราะในขณะเดียวกัน พระองค์ได้มอบพระจิตเจ้าให้แก่เราด้วย เพราะใครก็ตามที่จะรับภารกิจของพระเยซูคริสต์ และปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น เราจะต้องพึ่งพาพระเยซูคริสต์และพระจิตเจ้า ไม่มีหนทางอื่นนอกจากนี้ (เทียบ ยน. 20,21-22) ที่จริงแล้ว บรรดาอัครสาวกเองเคยปิดตัวเองอยู่ในห้องชั้นบนด้วยความกลัว ก่อนที่ถึงวันเปนเตกอสเต ซึ่งเป็นวันที่พระจิตเจ้าได้เสด็จลงมายังพวกเขา (เทียบ กจ. 2,1-13) และทันใดนั้นเองที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมา ความกลัวก็ได้หมดไปจากพวกเขาทันที พลังอำนาจของพระจิตเจ้าได้ทำให้อัครสาวกซึ่งเป็นชาวประมงและส่วนมากไม่รู้หนังสือ ได้ก้าวออกไปและเปลี่ยนแปลงโลกนี้ “แล้วถ้าเขาพูดไม่ออกล่ะ” สิ่งที่นำพาเหล่าอัครสาวกให้ก้าวไปข้างหน้าและเปลี่ยนแปลงโลก แท้จริงแล้วคือวาจาแห่งพระจิต คือความแข็งแกร่งของพระจิต ดังนั้น การประกาศพระวรสารจะสามารถทำได้ต่อเมื่ออาศัยพลังของพระจิต พระจิตเสด็จไปล่วงหน้าเหล่าธรรมทูต และทรงเตรียมจิตใจของผู้คน พระจิตจึงเป็น “เครื่องยนต์แห่งการประกาศพระวรสาร”
ในหนังสือกิจการอัครสาวกทุก ๆ หน้า เราจะค้นพบว่าตัวเอกของการประกาศ ไม่ใช่นักบุญเปโตร นักบุญเปาโล นักบุญสเตฟาโน หรือนักบุญฟิลิป แต่เป็นพระจิตเจ้า หนังสือกิจการอัครสาวกนี้เองที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในช่วงการก่อกำเนิดของพระศาสนจักร ซึ่งคำบอกเล่านี้อาจทำให้เรารู้หลายสิ่งหลายอย่างด้วย สภาพในยุคนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับยุคนี้ เพราะขณะที่มีความบรรเทาใจอยู่มาก แต่ความยากลำบากก็มีมากไม่แพ้กัน มีทั้งเวลาที่ดี และเวลาที่ไม่ค่อยดีนัก ความปิติยินดีมาพร้อมกับความกังวล มีทั้งสองอย่าง ความกังวลอย่างหนึ่งที่สำคัญเป็นพิเศษก็คือ จะทำอย่างไรดีกับคนที่มารับเชื่อซึ่งมีพื้นเพเดิมเป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่ชาวยิว ตัวอย่างเช่นเรื่องที่ว่า คนที่มารับเชื่อเช่นนี้ต้องทำตามธรรมบัญญัติของโมเสสหรือไม่ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับคนสมัยนั้น เรื่องนี้ทำให้มีกลุ่มคนเกิดขึ้นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมองว่าการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นเรื่องจำเป็น แต่อีกกลุ่มมองว่าไม่จำเป็น บรรดาอัครสาวกได้มาประชุมกันเพื่อที่จะพิเคราะห์แยกแยะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ภายในสิ่งที่ภายหลังถูกเรียกว่าเป็น “สภาแห่งเยรูซาเลม” ซึ่งเป็นสภาสังคายนาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แล้วพวกเขาจะคลี่คลายภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ได้อย่างไรดี ตอนนั้นอาจเป็นไปได้ว่าในที่สุดพวกเขาจะหาทางประนีประนอมระหว่างธรรมประเพณีกับนวัตกรรมใหม่ โดยให้ต้องทำตามกฎบางข้อ ขณะที่ละทิ้งกฎข้ออื่น ๆ ไป แต่บรรดาอัครสาวกไม่ได้แก้ปัญหาด้วยวิธีการสร้างสมดุลทางการทูตระหว่างสองกลุ่ม ซึ่งเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาของมนุษย์เท่านั้น พวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น แต่เขาปรับตัวเข้ากับแนวทางของพระจิตเจ้า ที่ได้เสด็จล่วงหน้าพวกเขาลงไปยังคนต่างชาติ เช่นเดียวกับที่ได้เคยเสด็จลงไปยังหมู่อัครสาวก
เช่นนี้เอง ที่ประชุมได้ตัดสินใจยกเลิกหน้าที่เกือบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธรรมบัญญัติของโมเสส และได้แจ้งการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งพวกเขาเขียนว่าทำขึ้นโดย “พระจิตเจ้าและพวกเรา” (เทียบ กจ. 15,28) สิ่งที่ได้เดินทางออกไปคือ “พระจิตเจ้าที่อยู่กับพวกเรา” บรรดาอัครสาวกทำแบบนี้ทุกครั้ง พวกเขาทำทุกอย่างร่วมกัน ไม่แตกแยก ถึงแม้จะเขามีความรู้สึกนึกคิดและความเห็นที่ต่างกันก็ตาม แต่เขาก็ฟังพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าสอนพวกเขาเรื่องหนึ่งซึ่งยังคงใช้ได้ในสมัยนี้ คือเรื่องที่ว่า จารีตประเพณีทางศาสนาทุกอย่างจะมีประโยชน์ต่อเมื่อทำให้ผู้คนพบกับพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้น พ่อขอย้ำอีกครั้งว่า จารีตประเพณีทางศาสนาทุกอย่างจะมีประโยชน์ต่อเมื่อทำให้ผู้คนพบกับพระเยซูคริสต์ได้มากขึ้น เราสามารถกล่าวได้ว่าการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการสังคายนาครั้งแรก ซึ่งก็ทำให้พวกเราได้รับประโยชน์ด้วยนั้น ได้รับแรงผลักดันจากหลักการข้อหนึ่ง คือหลักการแห่งการประกาศ ทุกอย่างในพระศาสนจักรต้องสอดคล้องกับความจำเป็นในการประกาศพระวรสาร ไม่ใช่สอดคล้องกับความเห็นของพวกอนุรักษ์นิยม หรือกับความเห็นของพวกนักปฏิรูปหัวก้าวหน้า แต่ต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเข้าถึงชีวิตของทุกคน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหนทางใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบใด หรือไม่ว่าจะเป็นจารีตประเพณีแบบใด ทุกอย่างข้างต้นจะต้องถูกนำมาประเมินบนพื้นฐานที่ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อการประกาศพระคริสตเจ้าหรือไม่ เวลาที่มีการตัดสินใจในพระศาสนจักร เราอาจเห็นความแตกแยกเชิงอุดมการณ์ เช่น อาจมีคนพูดว่า “ข้าพเจ้าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เพราะว่าอย่างนี้ ๆ” หรือบางคนอาจพูดว่า “ข้าพเจ้าเป็นพวกหัวก้าวหน้า เพราะว่าอย่างนี้ ๆ” พ่อขอถามพวกลูกว่า แล้วพระจิตเจ้าอยู่ที่ไหน พ่ออยากให้ลูกระมัดระวัง เพราะพระวรสารไม่ใช่แนวคิด พระวรสารไม่ใช่อุดมการณ์ พระวรสารคือการประกาศที่เข้าถึงจิตใจ และทำให้ลูกเปลี่ยนแปลงจิตใจของตัวเอง แต่เมื่อใดที่ลูกหันไปพึ่งพิงแนวคิดหรืออุดมการณ์เป็นที่หลบภัย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือฝ่ายกลางก็ตาม ลูกกำลังทำให้พระวรสารกลายเป็นพรรคการเมือง กลายเป็นอุดมการณ์ หรือกลายเป็นการเข้าสมาคมรวมกลุ่ม พ่อขอบอกว่า พระวรสารทำให้ลูกมีเสรีภาพในพระจิตเจ้าอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งพระจิตเจ้านี้เองได้ทำกิจการในตัวลูกและพาลูกก้าวไปข้างหน้า ทุกวันนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องยึดมั่นเสรีภาพในพระวรสาร และให้พระจิตเจ้านำพาเราไปข้างหน้า
พระจิตเจ้าได้ส่องทางให้แก่พระศาสนจักรแบบนี้อยู่ทุกเวลา ที่จริงแล้ว พระจิตเจ้าไม่ได้เป็นเพียงแสงส่องสว่างในใจของผู้คนเท่านั้น แต่ยังเป็นแสงนำทางพระศาสนจักรอีกด้วย พระจิตเจ้านำมาซึ่งความชัดเจน ช่วยให้รู้จักแยกว่าอะไรเป็นอะไร และช่วยในการพิเคราะห์แยกแยะ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเรียกหาพระจิตเจ้าบ่อย ๆ วันนี้ก็เช่นกัน ขณะที่เราเริ่มเข้าเทศกาลมหาพรต ให้เราเรียกหาพระจิตเจ้า เพราะว่าถึงแม้ความที่เราเป็นพระศาสนจักรอาจทำให้เรามีพื้นที่และเวลาบางอย่างที่ให้นิยามไว้เรียบร้อย หรืออาจทำให้เรามีประชาคม มีสถาบัน หรือมีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ดูดีมีระเบียบ แต่หากไม่มีพระจิตเจ้าแล้ว ทุกอย่างก็จะยังคงไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ลำพังแค่การจัดระเบียบองค์กรนั้นไม่เพียงพอ เพราะผู้ที่มอบชีวิตชีวาให้แก่พระศาสนจักรคือพระจิตเจ้า หากพระศาสนจักรไม่ภาวนาวอนขอต่อพระจิตเจ้า ไม่เรียกหาพระจิตเจ้า พระศาสนจักรก็จะปิดตัวอยู่เฉพาะตนเอง ท่ามกลางการถกเถียงกันอย่างเหน็ดเหนื่อยและไม่ได้ข้อสรุป ต่างฝ่ายต่างแบ่งขั้วกันอย่างน่าเบื่อหน่าย ขณะที่ไฟแห่งการแพร่ธรรมกลับต้องมอดดับลง หากเราเห็นว่าพระศาสนจักรไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่ารัฐสภา ก็ย่อมจะเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นนะลูก พระศาสนจักรเป็นบางสิ่งที่มากกว่านั้น พระศาสนจักรเป็นประชาคมที่ประกอบด้วยชายหญิงที่เชื่อในพระเยซูคริสต์คริสต์ และประกาศพระองค์ แต่ต้องทำเช่นนี้ด้วยการขับเคลื่อนจากพระจิตเจ้า ไม่ใช่จากปัญญาของตัวเอง แน่นอนว่าลูกต้องใช้ปัญญาด้วย แต่พระจิตเจ้าเสด็จมาส่องสว่างและขับเคลื่อนปัญญาของลูก พระจิตเจ้าทำให้เราก้าวไปข้างหน้า กระตุ้นให้เราประกาศความเชื่อเพื่อให้เรามีความมั่นคงในความเชื่อนั้น ผลักดันเราให้ออกไปแพร่ธรรมและค้นพบอีกครั้งว่าตัวเราเป็นใคร จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักบุญเปาโลจึงแนะนำให้เรา “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส. 5,19) ลูกอย่าดับไฟของพระจิตเจ้า ให้เราภาวนาต่อพระจิตเจ้าบ่อย ๆ ให้เราเรียกหาพระจิตเจ้า ให้เราวอนขอพระจิตเจ้าทุกวันเพื่อให้พระจิตเจ้าจุดไฟในตัวเรา ให้เราวอนขอเช่นนี้ทุกครั้งก่อนที่เราจะพบปะผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้เป็นธรรมทูตของพระเยซูคริสต์ให้กับผู้คนที่เราพบเจอ อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า ทั้งในชุมชนคริสตชน และในตัวเราแต่ละคนด้วย
ลูก ๆ พี่น้องที่รัก ให้เราเริ่มต้น และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในฐานะพระศาสนจักร โดยเริ่มจากพระจิตเจ้า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในการวางแผนอภิบาลนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะเริ่มจากการสำรวจทางสังคมวิทยา การวิเคราะห์ การจัดทำรายชื่อปัญหายุ่งยาก การจัดทำเป้าหมายที่คาดหวัง หรือแม้กระทั่งการรวบรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นมากคือการเริ่มจากประสบการณ์ต่าง ๆ แห่งพระจิต นั่นคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริง เราจึงจำเป็นต้องค้นหา รวบรวมรายชื่อ ศึกษา และตีความประสบการณ์ต่าง ๆ แห่งพระจิต หลักสำคัญข้อหนึ่งในชีวิตฝ่ายจิต คือสิ่งที่เรียกว่า หลักการของการที่ความบรรเทาใจอยู่เหนือความแห้งแล้งฝ่ายจิต ในอันดับแรกมีพระจิตเจ้าที่ให้ความบรรเทาใจ ฟื้นฟู ส่องสว่าง และขับเคลื่อน ขณะที่หลังจากนั้นก็จะมีความแห้งแล้งฝ่ายจิต ความทรมาน ความมืด ทว่าเรามีแสงสว่างแห่งพระจิตเป็นหลักการสำหรับการปรับตัวท่ามกลางความมืดนั้น” (การประกาศพระวรสารในความบรรเทาใจแห่งพระจิต โดย C. M. Martini เมื่อ 25 กันยายน 1997) นี่คือหลักการที่เราอาจใช้นำทางตนเองเวลาที่เจอกับสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เวลาอยู่ท่ามกลางความสับสน หรือแม้กระทั่งเวลาอยู่ท่ามกลางความมืดมิดที่มีอยู่มากมาย นี่เป็นเรื่องสำคัญ ให้เราลองถามตัวเองว่าเราเปิดใจรับแสงสว่างนี้หรือไม่ เราได้ให้พื้นที่แก่แสงสว่างนี้หรือไม่ เราเรียกหาพระจิตเจ้าบ้างหรือไม่ “เปล่าครับคุณพ่อ ผมวิงวอนแม่พระ ผมวิงวอนนักบุญ ผมวิงวอนพระเยซูคริสต์ แล้วบางครั้งผมก็สวดบทข้าแต่พระบิดา เพื่อวิงวอนต่อพระบิดาเจ้าด้วย” แล้วพระจิตเจ้าล่ะลูก พระจิตเจ้าเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนหัวใจของลูก พาลูกให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ความบรรเทาใจแก่ลูก ทำให้ลูกอยากประกาศพระวรสาร ตัดสินใจนำข่าวดีไปมอบให้แก่ผู้อื่น แล้วลูกไม่วิงวอนต่อพระจิตเจ้าบ้างเหรอ พ่อขอมอบคำถามนี้ให้แก่ลูกว่า ลูกภาวนาต่อพระจิตเจ้าบ้างหรือไม่ ลูกได้ให้พระจิตเจ้านำทางลูก เพื่อให้ลูกไม่ปิดกั้นอยู่แต่กับตัวเอง แต่ให้นำพาพระเยซูคริสต์เจ้าในตัวลูก เพื่อเป็นพยานต่อความบรรเทาใจจากพระเจ้าที่มีอำนาจเหนือกว่าความแห้งแล้งฝ่ายจิตบ้างหรือไม่ ขอให้แม่พระซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ดี โปรดช่วยให้เราทั้งหลายเข้าใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากเนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ขอให้การเดินทางในเทศกาลมหาพรตที่เริ่มขึ้นในวันนี้ จงชำระจิตใของพวกเราจนสะอาด และฟื้นฟูจิตใจของเราขึ้นใหม่ด้วยพระหรรษทานแห่งพระจิตเจ้า เพื่อนำเราไปสู่วันปัสกา พ่อขออวยพรให้ลูกทุกคนและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขในพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้ไถ่
ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ วันนี้เป็นวันเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต ซึ่งเป็นเวลาพิเศษสำหรับการกลับใจและการชดใช้โทษบาปเพื่อวิญญาณของพวกเรา ในช่วงเวลานี้พ่อจึงอยากขอร้องให้ลูกทุกคนภาวนามากขึ้นเป็นพิเศษ ให้รำพึงพระวาจา และให้รับใช้พี่น้องด้วย
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในวันมะรืนนี้ ที่ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะครบรอบหนึ่งปีนับตั้งแต่การรุกรานยูเครน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอันบ้าคลั่งและโหดร้ายนี้ นับเป็นวันครบรอบที่น่าเศร้า ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ลี้ภัย ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ความรุนแรงของการทำลายล้าง และความเสียหายด้านเศรษฐกิจและสังคม ขอให้พระเจ้าโปรดประทานอภัยแก่อาชญากรรมและความรุนแรงจำนวนมากมายนี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งสันติ ให้เราส่งใจไปใกล้ชิดกับชาวยูเครนที่กำลังถูกทรมานและต้องทนทุกข์อย่างต่อเนื่อง และให้เราถามตนเองว่า ได้มีการทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อยุติสงครามแล้วหรือยัง พ่อขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจในประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นอย่างจริงจังว่าจะยุติความขัดแย้ง ให้ทำข้อตกลงหยุดยิง และเริ่มเจรจาสันติภาพ สิ่งใดก็ตามที่สร้างขึ้นบนกองซากปรักหักพัง สิ่งนั้นย่อมไม่อาจเป็นชัยชนะที่แท้จริงได้
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดี และความปรารถนาร้อนรนที่จะแบ่งปันพระวรสาร ในวันนี้เราจะหันไปมองบทบาทของพระจิตเจ้า ซึ่งพระเยซูคริสต์ได้ส่งมาในวันเปนเตกอสเตเพื่อเริ่มงานแพร่ธรรมของบรรดาอัครสาวก ให้เขาไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ ในการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรยุคเริ่มต้น พระจิตเจ้าได้ปรากฏตัวในฐานะเป็นแรงผลักดัน เตรียมจิตใจของผู้คนในที่ต่าง ๆ ให้พร้อมรับพระวรสาร และยืนยันการที่อัครสาวกเป็นพยานขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ การตัดสินใจครั้งสำคัญของสภาแห่งเยรูซาเลม ที่ไม่บังคับให้ผู้ที่รับเชื่อต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส เป็นผลมาจากการพิเคราะห์แยกแยะผ่านการภาวนา และถูกแจ้งให้เป็นที่รับทราบด้วยคำพูดที่ว่า “พระจิตเจ้าและพวกเราตกลง” (กจ. 15,28) ตลอดทุกยุคทุกสมัย พระจิตเจ้าได้ส่องสว่างและนำทางพระศาสนจักรในการประกาศพระวรสาร ในวันนี้ซึ่งเป็นวันพุธรับเถ้า เราทั้งหลายได้รับคำเชิญชวนให้วอนขอแสงสว่างจากพระจิตเจ้าเหนือชีวิตของเราแต่ละคน ในฐานะที่เราเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า รวมทั้งให้แสงสว่างจากพระจิตเจ้าส่องนำภารกิจของพระศาสนจักร ในการนำความบรรเทาใจจากพระเยซูคริสต์ออกสู่ความแห้งแล้งในโลกปัจจุบันซึ่งกำลังโหยหาความยุติธรรม สันติภาพ และความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นผลจากการที่พระเยซูคริสต์ทรงก้าวผ่านความตายเข้าสู่ชีวิตในวันปัสกา
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)