
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธรรมบัญญัติผู้หนึ่งได้มาหาพระเยซูคริสต์โดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝง เขาต้องการทดลองพระองค์ แต่คำถามที่เขาถามเป็นสิ่งสำคัญและคงมีอยู่เสมอ บางครั้งเกิดคำถามนี้ขึ้นภายในใจเราและภายในชีวิตของพระศาสนจักรด้วยเช่นกันว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกในธรรมบัญญัติ” (มธ. 22,36) เราทั้งหลายที่อยู่ภายในกระแสอันทรงชีวิตของธรรมประเพณีเองก็อาจตั้งคำถามว่า “อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” “อะไรคือแรงผลักดัน” อะไรที่สำคัญจนถึงขนาดที่เป็นหลักนำของทุกสิ่งทุกอย่าง คำตอบของพระเยซูคริสต์ชัดเจน พระองค์ตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี่คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกัน คือท่านต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มธ. 22,37-39)
พี่น้องพระคาร์ดินัล บิชอป บาทหลวง นักบวชชายหญิง และสัตบุรุษทุกคน ขณะที่การเดินทางในขั้นนี้ของเรากำลังมาถึงจุดสิ้นสุด เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะมองยัง “ความรัก” ซึ่งเป็น “หลักการและพื้นฐาน” ของการที่ทุกสิ่งจะเริ่มต้นขึ้นใหม่ การรักพระเจ้าด้วยชีวิตทั้งครบของเรา และการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง [สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญนั้น] ไม่ใช่ยุทธศาสตร์อะไรของเรา ไม่ใช่การชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียในแบบมนุษย์ ไม่ใช่หนทางต่าง ๆ ของโลก แต่ความรักที่มีต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้านต่างหากที่เป็นหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเราจะให้พลวัตแห่งความรักอันนี้มุ่งไปในแนวทางใด พ่ออยากเสนอคำกริยาสองคำ ที่บ่งชี้ถึงความเคลื่อนไหวสองอย่างของหัวใจ พ่ออยากจะรำพึงถึงสองสิ่งนี้ กล่าวคือ การเคารพบูชา และการรับใช้ เรารักพระเจ้าด้วยการเคารพบูชาและการรับใช้
คำกริยาคำแรก คือคำว่า เคารพบูชา การมีความรักหมายถึงการเคารพบูชา การเคารพบูชาเป็นวิธีแรกสุดที่เราจะตอบสนองต่อความรักอันน่าอัศจรรย์ใจที่พระเจ้าประทานให้เราแบบไม่เรียกร้องอะไรตอบแทน ความอัศจรรย์ใจแห่งการเคารพบูชา ความมหัศจรรย์แห่งการนมัสการ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดในชีวิตของพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เราละเลยการเคารพบูชา การเคารพบูชาพระเจ้าหมายถึงการยอมรับในความเชื่อว่าพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เป็นนายของเรา และยอมรับด้วยว่า ชีวิตของเราแต่ละคนก็ดี การเดินทางจาริกของพระศาสนจักรก็ดี หรือแม้กระทั่งผลในท้ายสุดของประวัติศาสตร์ก็ดี ต่างขึ้นอยู่กับความรักอันอ่อนโยนของพระองค์ ผู้ทรงทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย
เวลาที่เราบูชาพระเจ้า เราย่อมได้ค้นพบอีกครั้งว่าเราต่างเป็นอิสระ เหตุผลนี้ทำให้ถ้อยคำหลายที่ในพระคัมภีร์ได้นำเรื่องความรักที่มีต่อพระเจ้าไปเชื่อมโยงกับการต่อสู้กับการบูชาพระเทียมเท็จในทุกรูปแบบ คนที่บูชาพระเจ้าย่อมปฏิเสธพระเทียมเท็จ เพราะว่าในขณะที่พระเจ้าทำให้ผู้คนเป็นอิสระ แต่พระเทียมเท็จทำให้ผู้คนตกเป็นทาส พระเทียมเท็จหลอกลวงเรา และไม่อาจทำให้สิ่งที่สัญญาใด ๆ เกิดเป็นจริงขึ้นได้เลย เพราะว่าพระเทียมเท็จต่างถูก “สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์” (สดด. 115,4) พระคัมภีร์ยืนยันหนักแน่นแบบนี้เกี่ยวกับเรื่องการบูชาพระเทียมเท็จ เพราะพระเทียมเท็จเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและครอบงำหาประโยชน์ ขณะที่พระเจ้าผู้ทรงชีวิต เป็นผู้ที่ทรงเป็นอยู่ และอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง พระองค์ “ไม่ได้เป็นอย่างที่ข้าพเจ้าจินตนาการว่าพระองค์เป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ใช่ผู้ที่ขึ้นอยู่กับว่าข้าพเจ้าจะคาดหวังอะไรจากพระองค์ พระองค์อาจจะไม่ทำตามอย่างที่ข้าพเจ้าคาดหวัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพราะว่าพระองค์ทรงชีวิตนั่นเอง การที่เราผิดหวังในบางครั้ง เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเราไม่ได้คิดเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้าตลอดเวลา เราอาจคิดว่า ‘ฉันหวังอะไรอย่างหนึ่ง ฉันจินตนาการว่าพระเจ้าจะทรงมีพฤติกรรมเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ฉันกลับคิดผิด’ การที่เราคิดเช่นนี้เป็นการที่เราย้อนกลับไปสู่การบูชาพระเทียมเท็จ คือการอยากให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำกิจการตามที่เรามีภาพลักษณ์ว่าพระองค์ต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้” (พระคาร์ดินัลการ์โล มารีอา มาร์ตีนี, บุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ – การปฏิบัติจิตโดยอิงเนื้อหาพันธสัญญาเดิม, ฟลอเรนซ์, 2022, หน้า 826-827) พวกเราเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาที่จะคิดว่าเราสามารถ “ควบคุมพระเจ้า” ได้ และสามารถตีกรอบความรักของพระองค์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ แต่พระองค์ไม่เป็นเช่นนั้น ทุกครั้งพระองค์ทรงทำกิจการอย่างที่เราคาดเดาไม่ได้ กิจการของพระองค์อยู่เหนือความคิดอ่านของเรา และแนวทางที่พระองค์ทรงทำกิจการนั้น เรียกร้องให้เรามีความอัศจรรย์ใจ และให้เราบูชาพระองค์ ความอัศจรรย์ใจอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เราจะต้องพยายามต่อสู้กับการบูชาพระเทียมเท็จในทุกรูปแบบ ซึ่งไม่ได้มีเพียงพระเทียมเท็จในทางโลก ที่มักเกิดจากความเย่อหยิ่งทะนงตัว เช่นความอยากประสบความสำเร็จ การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความโลภอยากได้เงินทอง (เราทั้งหลายจงอย่าลืมว่าปีศาจเข้ามา “ผ่านทางกระเป๋าเงิน”) การล่อหลอกด้วยความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ แต่การบูชาพระเทียมเท็จบางอย่างยังพรางตัวอยู่ในรูปของจิตตารมณ์ด้วย อาจเป็นจิตตารมณ์ของเราเอง ความคิดทางศาสนาในแบบของเราเอง ทักษะความสามารถในการอภิบาลของเราเอง ดังนี้แล้ว ให้เราตื่นตัวเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่กลายเป็นว่าเราให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง แทนที่จะให้พระองค์เป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ให้เรากลับไปสู่การนมัสการ ให้การนมัสการเป็นศูนย์กลางสำหรับเราทั้งหลายที่เป็นผู้อภิบาล ให้เราอุทิศเวลาในทุก ๆ วันให้แก่การไปสนิทใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ให้เราเคารพบูชาพระองค์ในตู้ศีล ให้พระศาสนจักรในทุกเขตปกครอง ทุกชุมชนวัด ทุกประชาคม จงมาเคารพบูชาองค์พระผู้เป็นเจ้ากันเถิด การทำเช่นนี้เป็นวิธีเดียวที่ทำให้เรามุ่งหน้าหาพระองค์ได้ แทนที่จะมุ่งหน้ายังตัวเอง การเคารพบูชาพระองค์ท่ามกลางความเงียบเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พระวาจาของพระองค์ทรงชีวิตอยู่ในคำพูดคำจาของเรา การที่เราไปอยู่ต่อหน้าพระองค์เป็นวิธีเดียวที่เราจะถูกชำระให้บริสุทธิ์ ถูกเปลี่ยนแปลง และถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้งด้วยไฟแห่งพระจิตของพระองค์ พี่น้องที่รัก ให้เรามาเคารพบูชาพระเยซูคริสต์กันเถิด
คำกริยาคำที่สองคือคำว่า รับใช้ การมีความรักคือการรับใช้ ในพระบัญญัติเอกนั้น พระคริสตเจ้าได้ทรงนำพระเจ้าและเพื่อนบ้านมากล่าวไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะได้ไม่มีใครแยกสองอย่างนี้ออกจากกันได้เลย ประสบการณ์ทางศาสนาที่แท้จริงไม่มีทางที่จะเป็นการเมินเฉยต่อเสียงคร่ำครวญของโลก ความรักที่มีต่อพระเจ้าย่อมมาพร้อมกับการดูแลเอาใจใส่ต่อเพื่อนบ้านของเรา หากเราไม่เป็นเช่นนี้ เราก็เสี่ยงจะกลายเป็นอย่างพวกฟาริสี เราอาจจะมีความคิดดี ๆ มากมายว่าจะปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างไร แต่ให้เราอย่าลืมว่า การเคารพบูชาพระเจ้า และการรักพี่น้องของเราด้วยความรักของพระเจ้า คือการปฏิรูปอันยิ่งใหญ่และต่อเนื่องนิรันดร ให้เราเป็นพระศาสนจักรที่เคารพบูชา และเป็นพระศาสนจักรที่รับใช้ ไปล้างเท้าของมนุษยชาติที่เจ็บปวดเป็นแผล อยู่เคียงข้างผู้อ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจ อยู่เคียงข้างผู้คนที่ถูกกีดกันทอดทิ้ง ออกไปหาคนจนคนทุกข์ยากด้วยความรัก เราได้ยินไปแล้วในบทอ่านแรกว่าพระองค์ได้สั่งให้เราทำเช่นนี้ (เทียบ อพย. 22:20-26)
พี่น้องที่รัก พ่อคิดถึงบรรดาเหยื่อความโหดร้ายของสงคราม พ่อคิดถึงความทุกข์ยากของบรรดาผู้ย้ายถิ่น พ่อคิดถึงความเจ็บปวดอันซ่อนเร้นของผู้คนที่มีชีวิตอยู่คนเดียวและท่ามกลางความยากจน พ่อคิดถึงผู้คนที่ถูกบดขยี้ภายใต้ภาระหนักต่าง ๆ ในชีวิตของเขา ผู้ที่ร้องไห้จนไม่มีน้ำตาจะร้องไห้อีก ผู้ที่ไม่มีใครฟังเสียงของเขา และพ่อยังคิดด้วยว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่ถึงแม้จะมีคำพูดสวยหรูและคำมั่นสัญญาที่น่าดึงดูดมากมายหลายอย่าง แต่ในเบื้องหลังกลับมีผู้คนถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่มีใครทำอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น การเอาเปรียบคนอ่อนแอเป็นบาปหนัก เป็นบาปหนักที่กัดกร่อนความเป็นพี่น้องกันและทำลายสังคม ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราทั้งหลายปรารถนาจะนำเชื้อแป้งอีกอย่างหนึ่งไปมอบให้แก่โลก คือเชื้อแป้งแห่งพระวรสาร คือการให้ความสำคัญสูงสุดกับพระเจ้า และให้ความสำคัญต่อผู้คนที่เป็นที่รักเป็นพิเศษของพระองค์ คือคนจนและคนอ่อนแอ พร้อมไปกับการให้ความสำคัญกับพระองค์
พี่น้องที่รัก นี่คือพระศาสนจักรที่เราทั้งหลายถูกเรียกให้ “ใฝ่ฝัน” พระศาสนจักรที่เป็นผู้รับใช้ทุกคน เป็นผู้รับใช้พี่น้องที่ยากจนอ่อนแอที่สุด พระศาสนจักรที่ไม่เรียกร้องว่าจะต้องมีการรับรอง “พฤติกรรมที่ดี” แต่เป็นพระศาสนจักรที่ต้อนรับ รับใช้ รัก และให้อภัย พระศาสนจักรที่เปิดประตูกว้าง เป็นที่พักพิงแห่งความเมตตา นักบุญยอห์น ครีโซสโตม ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่มีใจเมตตา เป็นเหมือนท่าเรือให้แก่ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ท่าเรือนี้ต้อนรับทุกคนที่หลบหนีจากเรือที่กำลังจม และปลดปล่อยเขาเหล่านั้นให้พ้นอันตราย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือคนชั่วก็ตาม ท่าเรือนี้เป็นที่หลบภัยให้แก่ทุกคนที่อยู่ในอันตราย ไม่ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร ท่านเองก็เช่นกัน หากท่านเห็นคนที่เรือแตกบนแผ่นดิน คือคนยากจน ท่านจงอย่านั่งตัดสินเขา หรืออย่าถามหาคำอธิบายจากเขา แต่ท่านจงช่วยบรรเทาความทุกข์ยากให้แก่เขาเถิด” (ว่าด้วยลาซารัสผู้ยากจน, II, 5)
พี่น้องที่รัก ขณะนี้การประชุมใหญ่ของสภาซีนอดได้ปิดฉากลงแล้ว ใน “การสนทนาแห่งพระจิต” นี้ เราทั้งหลายได้พบกับการประทับอยู่ด้วยความรักขององค์พระผู้เป็นเจ้า และได้ค้นพบความงามของความเป็นพี่น้องกัน เราได้รับฟังซึ่งกันและกัน และเหนือสิ่งอื่นใด ท่ามกลางพื้นเพเบื้องหลังและความกังวลที่หลากหลายของพวกเราทั้งหลาย เราได้รับฟังพระจิตเจ้า ในวันนี้เรายังไม่เห็นผลอันสมบูรณ์ของกระบวนการอันนี้ แต่วิสัยทัศน์ที่ยาวไกลได้ช่วยเปิดตาให้เรามองยังขอบฟ้าที่เปิดกว้างขึ้นต่อหน้าเรา องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำทางเรา และช่วยเราให้เป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันมากขึ้นและประกาศข่าวดีให้มากขึ้น ให้เราเป็นพระศาสนจักรที่เคารพบูชาพระเจ้า พร้อมกับรับใช้ผู้คนชายหญิงในยุคปัจจุบัน เป็นพระศาสนจักรที่ออกเดินหน้าไป เพื่อให้ทุกคนได้รับความปิติยินดีแห่งพระวรสารที่มาพร้อมกับความบรรเทาใจ
พี่น้องที่รัก พ่อขอบใจต่อสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้กระทำภายในการประชุมซีนอด และต่อสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะกระทำต่อไป พ่อขอขอบใจที่ท่านทั้งหลายได้มาเดินบนเส้นทางนี้ด้วยกันผ่านการรับฟังและการพูดคุยเสวนา และเพื่อเป็นการแสดงความขอบใจ พ่อขออธิษฐานภาวนาเพื่อเราทุกคนด้วย ขอให้เราเติบโตภายในการนมัสการพระเจ้าและในการรับใช้เพื่อนบ้าน ในการเคารพบูชาและในการรับใช้ ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา ให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยความปิติยินดี
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาโอกาสปิดซีนอดมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)