พิธีทำวัตรเย็นที่ 2 สมโภชการกลับใจของนักบุญเปาโลอัครสาวก
สัปดาห์อธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพคริสตชน ครั้งที่ 57
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ณ มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง กรุงโรม ประเทศอิตาลี
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2024


ในพระวรสารที่เราเพิ่งจะได้ยินไป เราได้เห็นนักกฎหมายคนหนึ่งเรียกพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์” เขาไม่ได้อยากเรียนรู้อะไรจากพระองค์ หากแต่ต้องการจะ “จับผิดพระองค์” มากกว่า คำถามของนักกฎหมายคนนี้แสดงถึงความไม่จริงใจได้อย่างชัดเจนมากขึ้นไปอีก เมื่อเขาทูลถามว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” (ลก. 10,25) [เขาอยากรู้ว่าต้องทำอะไรจึงได้จะรับตกทอด ทำอะไรจึงจะได้เป็นเจ้าของ] สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายสื่อถึงความคิดทางศาสนาที่มีพื้นฐานอยู่บนการมุ่งจะได้รับ ไม่ใช่การให้ พระเจ้าในความคิดแบบนี้กลายเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ แทนที่จะให้พระองค์เป็นเป้าหมายแห่งความรักอย่างสุดจิตสุดใจ อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้ายังคงอดทน พระองค์ตรัสให้นักกฎหมายผู้นี้ไปค้นหาคำตอบภายในพระบัญญัติ ซึ่งสั่งไว้ว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ลก. 10,27)
ชายผู้นี้อยากจะสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง จึงทูลถามเป็นอย่างที่สองว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” (ลก. 10,29) คำถามแรกเป็นการลดทอนพระเจ้าให้มาอยู่ภายใต้ความต้องการของเรา ส่วนคำถามที่สองนี้เป็นสิ่งที่มุ่งสร้างการแบ่งแยก คือการแยกระหว่างคนที่เราควรจะรัก กับคนที่เราควรจะกีดกัน ไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย การแบ่งแยกแบบนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่มาจากพระเจ้า หากแต่มาจากปีศาจ ผู้นำมาซึ่งความแตกแยก ต่อคำถามอันนี้ พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงตอบอย่างเป็นนามธรรม แต่ได้ทรงแสดงการอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียที่ดี ซึ่งเป็นการวิจารณ์แบบตรง ๆ และยังเป็นสิ่งที่ท้าทายพวกเราด้วย พี่น้องที่รัก นั่นเป็นเพราะว่าในเรื่องนี้ คนที่งดเว้นไม่กระทำกิจการดี คนที่เมินเฉยอย่างโหดร้ายต่อผู้อื่น คือสมณะและชาวเลวี ซึ่งกังวลเกี่ยวกับการทำตามจารีตประเพณีทางศาสนาของตน มากกว่าการช่วยเหลือผู้ที่กำลังทุกข์ทรมาน ขณะที่คนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น “เพื่อนบ้าน” กลับเป็นคนสะมาเรีย ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฐิ ชาวสะมาเรียผู้นี้ได้เข้ามาใกล้ เขารู้สึกเวทนาสงสาร เขาน้อมกายลง และรักษาบาดแผลของพี่น้องผู้นี้อย่างอ่อนโยน เขามีความใส่ใจคนที่กำลังทุกข์ยาก โดยไม่สนว่าคนผู้นั้นจะมีอดีตอย่างไรหรือเคยทำผิดพลาดอย่างไรก็ตาม เขาได้อุทิศทั้งกายใจเพื่อรับใช้คนทุกข์ยากผู้นี้ (เทียบ ลก. 10,33-35) พระเยซูเจ้าทรงสรุปว่า สิ่งที่ควรถาม ไม่ใช่ว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้าน” แต่เป็นคำถามว่า “เราทำตัวเป็นเพื่อนบ้านหรือไม่” ต่างหาก มีเพียงความรักที่แปรเปลี่ยนเป็นการรับใช้โดยไม่หวังผลตอบแทนเท่านั้น มีเพียงความรักดังที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสอนและทรงกระทำพระองค์เป็นแบบอย่างเท่านั้น ที่จะนำพาคริสตชนที่แยกห่างจากกันและกันให้เข้ามาใกล้ชิดกันได้ มีเพียงความรักที่ไม่อ้างเรื่องอดีตเป็นเหตุผลในการเมินเฉยออกห่างหรือชี้นิ้วต่อว่าคนอื่นเท่านั้น มีเพียงความรักในพระนามของพระเจ้า ที่ให้ความสำคัญต่อพี่น้องชายหญิงมากกว่าการป้องกันโครงสร้างความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างเหนียวแน่นเท่านั้น ที่จะสามารถทำให้พวกเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ พี่น้องชายหญิงของเราต้องมาก่อน ส่วนโครงสร้างทางศาสนาเป็นเรื่องรองลงมา
พี่น้องที่รัก ในบรรดาพวกเราเอง ขออย่าให้เราตั้งคำถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของเรา” เพราะว่าทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปล้วนเป็นส่วนหนึ่งในพระกายหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า ไม่เพียงเท่านั้น ทุกคนในโลกนี้ล้วนเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา ซึ่งเราทุกคนย่อมจะร่วมมือกันสร้างสรรค์ “เสียงเพลงสอดประสานแห่งมนุษยชาติ” ซึ่งมีพระคริสตเจ้าทรงเป็นบุตรคนใหญ่ ผู้ที่ได้ทรงไถ่กู้มนุษยชาติอันนี้ ดังที่นักบุญอีเรเนโอ ผู้ที่ข้าพเจ้าได้รับเกียรติให้ประกาศว่าท่านเป็น “นักปราชญ์แห่งเอกภาพ” ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่แสวงหาความจริง ไม่ควรหมกมุ่นอยู่แต่กับความแตกต่างระหว่างโน้ตดนตรีอันหนึ่งกับอีกอันหนึ่ง โดยคิดไปเหมือนกับว่าโน้ตดนตรีแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นมาแยกจากโน้ตตัวอื่น หากแต่ควรจะตระหนักว่า มีบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้สร้างสรรค์ท่วงทำนองทั้งหมดขึ้นมา” (Adv. Haer., II, 25, 2) กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เราไม่ควรถามว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของเรา” แต่ควรถามว่า “เราทำตัวเป็นเพื่อนบ้านหรือไม่” ทั้งตัวเราเอง ประชาคมของเรา พระศาสนจักรของเรา และชีวิตจิตของเรา ได้ทำตัวเป็นเพื่อนบ้านหรือไม่ หรือว่ากำลังหมกตัวอยู่หลังกำแพงแห่งการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราเอง เอาแต่หมกมุ่นกับความที่ได้เป็นนายเหนือตนเอง ติดบ่วงแห่งการคิดเปรียบเทียบผลประโยชน์ได้เสียของตัวเอง มุ่งจะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นเพียงเพื่อที่จะให้ตนเองได้อะไรบ้างเท่านั้น ซึ่งหากว่าเป็นอย่างหลังนี้ นอกจากจะเป็นเพียงการดำเนินยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระวรสารอีกด้วย
บทสนทนาระหว่างนักกฎหมายกับพระเยซูเจ้าเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” แต่ในวันนี้ คำถามดังกล่าวถูกนักบุญเปาโลอัครสาวกพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ วันนี้เราได้ฉลองการกลับใจของท่าน ภายในมหาวิหารแห่งที่ซึ่งอุทิศให้แก่ท่าน เมื่อครั้งที่เซาโลแห่งทาร์ซัส ผู้ซึ่งเคยเบียดเบียนคริสตชน ได้พบกับพระเยซูเจ้าภายในแสงสว่างจ้าที่โอบล้อมท่านไว้และเปลี่ยนชีวิตท่าน ท่านได้ถามในทันทีว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร” (กจ. 22,10) นี่ไม่ใช่คำถามว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้รับ[อะไรบางอย่าง]” หากแต่เป็นคำถามว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร” คำถามนี้มีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นจุดมุ่งหมาย พระองค์ทรงเป็น “สิ่งแท้จริงที่จะได้รับ” พระองค์ทรงเป็นความดีสูงสุด ชีวิตของนักบุญเปาโลเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นเพราะว่าท่านได้หันเหไปสู่เป้าหมายอื่นที่จะทำให้ท่านทำตามความมุ่งหมายของตนได้ดียิ่งขึ้น หากแต่เป็นผลจากการที่ตัวตนทั้งหมดของท่านได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้การนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระเจ้าและการเปิดกว้างต่อพระประสงค์ของพระองค์ ได้เข้ามาแทนที่ความนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบัญญัติ การกลับใจของท่านไม่ได้มาจากความศรัทธาร้อนรน แต่มาจากการนอบน้อมเชื่อฟัง ท่านได้เปลี่ยนผ่านจากความศรัทธาร้อนรนสู่ความนอบน้อมเชื่อฟัง หากว่าพระเจ้าเป็นสมบัติมีค่าของเรา แผนการทำงานอย่างเป็นศาสนจักรของเราย่อมจะต้องเป็นการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ต้องเป็นการทำให้ความปรารถนาของพระองค์ได้สำเร็จบริบูรณ์ ในคืนก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเราทั้งหลาย พระองค์ได้อธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาอย่างร้อนรนเพื่อเราทั้งหลายว่า “ให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน. 17,21) เราได้เห็นว่านี่คือพระประสงค์ของพระองค์
ความพยายามทั้งปวงเพื่อที่จะบรรลุความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ ถูกเรียกให้ดำเนินไปบนเส้นทางเดียวกับนักบุญเปาโล กล่าวคือ เราจะต้องไม่ยึดถือความคิดของเราเองเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้ยินเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้า และเว้นที่ว่างให้พระองค์ได้มีบทบาทริเริ่ม มีคนหนึ่งที่ได้นามตามชื่อนักบุญเปาโลได้เข้าใจถึงเรื่องนี้ดี ท่านคืออับเบ ปอล กูตือรีเย ท่านมักจะอธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพของคริสตชน “ตามพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า และโดยสอดคล้องกับวิธีการที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์” เราทั้งหลายจำเป็นต้องกลับทัศนคติให้ได้แบบนี้ และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีการกลับใจแบบนี้ในหัวใจของพวกเรา ดังที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้กล่าวไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้วว่า “หากไม่มีการกลับใจภายในแล้ว การฟื้นฟูเอกภาพของคริสต์ศาสนจักร[อย่างที่ควรจะเป็น]ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้” (สมณกฤษฎีกา Unitatis Redintegratio ว่าด้วยการฟื้นฟูเอกภาพของคริสต์ศาสนจักร, ข้อ 7) ขอให้การภาวนาร่วมกันของเราทั้งหลาย ได้ทำให้เราทั้งหลายยอมรับว่าเราทุกคนล้วนต้องกลับใจ เริ่มจากตัวเองก่อน เพื่อที่จะให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจของเรา นี่เป็นหนทางที่อยู่ต่อหน้าเรา เป็นหนทางแห่งการก้าวไปด้วยกันและร่วมกันรับใช้ โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการอธิษฐานภาวนา เมื่อใดก็ตามที่คริสตชนเติบโตภายในการรับใช้พระเจ้าและรับใช้เพื่อนบ้าน เขาย่อมจะสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น ดังที่สภาสังคายนาได้กล่าวต่อไปว่า “ยิ่งความใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา พระวจนาตถ์ และพระจิต มีมากขึ้นเท่าใด พวกเขาย่อมจะสามารถเติบโตในความรักซึ่งกันและกันได้อย่างลึกซึ้งและง่ายดายมากขึ้นเท่านั้น” (สมณกฤษฎีกา Unitatis Redintegratio ว่าด้วยการฟื้นฟูเอกภาพของคริสต์ศาสนจักร, ข้อ 7)
นี่เป็นเหตุผลที่เราทั้งหลายได้มาอยู่ที่นี่ในค่ำคืนนี้ เราทั้งหลายมาจากประเทศ วัฒนธรรม และจารีตที่แตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอขอบใจอาร์ชบิชอป จัสติน เวลบี แห่งแคนเทอร์เบอรี [จากคริสตจักรแห่งอังกฤษ นิกายแองกลิคัน] ขอขอบใจพระอัยกามหานครโปลีการ์ปอส [แห่งอิตาลี นิกายออร์ทอดอกซ์] ซึ่งได้มาเป็นผู้แทนของสำนักอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล และขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาเป็นตัวแทนของประชาคมคริสตชนมากมาย ข้าพเจ้าขอส่งคำทักทายเป็นพิเศษต่อสมาชิกของคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อการเสวนาทางเทววิทยาระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิกกับบรรดาศาสนจักรออร์ทอดอกซ์บูรพาทิศ ซึ่งกำลังเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีแห่งการสานเสวนา และขอทักทายเป็นพิเศษต่อบรรดาบิชอปคาทอลิกและแองกลิคันที่กำลังร่วมประชุมคณะกรรมาธิการนานาชาติเพื่อเอกภาพและพันธกิจแพร่ธรรม (IARCCUM) เป็นการดีที่ในวันนี้ข้าพเจ้าจะได้ร่วมกับอาร์ชบิชอปเวลบี ซึ่งเป็นพี่น้องของข้าพเจ้า ในการที่จะมอบอำนาจให้แก่บิชอปกลุ่มนี้ เพื่อที่เขาจะได้เดินหน้าต่อไปในการเป็นพยานถึงเอกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้เกิดมีในพระศาสนจักรของพระองค์ในแต่ละท้องถิ่น ภายในการร่วมกันก้าวเดินไปข้างหน้า “เพื่อมอบพระเมตตาและสันติสุขของพระเจ้าให้แก่โลกที่กำลังต้องการ” (ถ้อยแถลงเรียกร้องจากบิชอปในที่ประชุม IARCCUM , กรุงโรม, ปี 2016) ข้าพเจ้าขอทักทายบรรดาผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางวัฒนธรรม[ระหว่างพระศาสนจักรคาทอลิก]กับบรรดาศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ ซึ่งเป็นองค์กรในความรับผิดชอบของสมณกระทรวงเพื่อส่งเสริมเอกภาพคริสตชน และขอทักทายผู้ที่เข้าร่วมในการศึกษาดูงานที่จัดขึ้นเพื่อบาทหลวงและนักพรตรุ่นใหม่จากบรรดาศาสนจักรออร์ทอดอกซ์บูรพาทิศ ตลอดจนการศึกษาดูงานที่จัดขึ้นเพื่อนักศึกษาของสถาบันคริสต์ศาสนสัมพันธ์บอสซีย์ในสังกัดสภาคริสตจักรโลก (นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์)
ให้เราทั้งหลายที่เป็นพี่น้องกันในพระคริสตเจ้า จงอธิษฐานภาวนาร่วมกับนักบุญเปาโลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร” ซึ่งในการที่เราถามคำถามนี้ เราได้รู้คำตอบอยู่แล้วอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือการอธิษฐานภาวนา การอธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพ เป็นความรับผิดชอบหลักประการแรกในการที่เราจะก้าวเดินไปด้วยกัน ทั้งยังเป็นความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่า[การภาวนาเป็น]การอยู่ภายในความสนิทสัมพันธ์กับองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงภาวนาต่อพระบิดาเพื่อวอนขอเอกภาพเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ ให้เราทั้งหลายจงภาวนาให้สงครามทั้งหลายยุติลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามในยูเครนและในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และขอให้เราทั้งหลายส่งใจไปยังผู้คนในบูร์กินาฟาโซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประชาคมต่าง ๆ ที่ได้จัดทำสื่อเอกสารเพื่อสัปดาห์อธิษฐานภาวนาเพื่อเอกภาพในครั้งนี้ ขอให้ความรักต่อเพื่อนบ้านจงมาแทนที่ความรุนแรงที่ประเทศของเขาต้องประสบ
“พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไร” นักบุญเปาโลได้บอกเล่าว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “จงลุกขึ้น และไป” (กจ. 22,10) จงลุกขึ้น เป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสกับเราแต่ละคน และเป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสต่อความพยายามของเราทั้งหลายเพื่อเอกภาพด้วย ดังนั้น ขอให้เราทั้งหลายจงอาศัยพระนามของพระคริสตเจ้า ในการที่เราทั้งหลายจะลุกขึ้นให้พ้นจากสิ่งจำเจต่าง ๆ ที่เราเคยกระทำเป็นประจำ และออกเดินทางอีกครั้ง เพราะว่าพระองค์ทรงประสงค์สิ่งนี้ พระองค์ทรงประสงค์สิ่งนี้เพื่อที่ “โลกจะได้เชื่อ” (ยน. 17,21) ขอให้เราอธิษฐานภาวนา และขอให้เราเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง เพราะว่านี่เป็นความปรารถนาของพระเจ้าที่มีต่อเรา นี่เป็นสิ่งที่พระองค์อยากให้เรากระทำ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)