การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (9) พยานแห่งพระวรสาร นักบุญเปาโล (ภาคแรก)

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

            ในเส้นทางการเรียนคำสอนเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี ตั้งแต่วันนี้ เราจะพิจารณาไตร่ตรองชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะมาจากยุคสมัยที่ต่างกัน และใช้วิธีต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเป็นพยานที่เป็นแบบอย่างชี้ให้เราเห็นถึงความหมายของความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร พยานคนแรกที่เราจะพูดถึง ย่อมไม่ใช่คนอื่นที่ไหน แต่คือนักบุญเปาโล พ่อจะนำเรื่องนักบุญเปาโลมาสอนรวมสองครั้ง

            ในแง่มุม [ที่เกี่ยวกับเรื่องความร้อนรน] นี้ เรื่องราวของเปาโลแห่งทาร์ซัสเป็นเรื่องที่บ่งบอกแก่เราหลายอย่าง ในบทแรกของจดหมายถึงชาวกาลาเทีย เช่นเดียวกับในเรื่องราวภายในหนังสือกิจการอัครสาวก เราจะเห็นได้ว่า หลังจากที่นักบุญเปาโล

            กลับใจ ความร้อนรนของท่านที่มีต่อพระวรสารได้เข้ามาแทนที่ความร้อนรนที่ท่านมีต่อศาสนายิวอยู่แต่เดิม นักบุญเปาโลเคยเป็นผู้ที่มีความร้อนรนต่อธรรมบัญญัติของโมเสสในศาสนายิว และหลังจากที่ท่านได้กลับใจ ความร้อนรนนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่กลับกลายเป็นความร้อนรนในการเทศน์สอนเพื่อประกาศพระเยซูคริสต์ นักบุญเปาโลรักพระเยซูคริสต์ ท่านเองเป็นผู้ที่มีใจร้อนรนมาตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะได้ชื่อว่าเปาโล คือตอนที่ท่านยังชื่อเซาโล [หรือซาอูล] แต่พระเยซูคริสต์ได้เปลี่ยนแปลงความร้อนรนของท่าน จากความร้อนรนต่อธรรมบัญญัติ ให้เป็นความร้อนรนต่อพระวรสาร ความร้อนรนของนักบุญเปาโลเคยมุ่งทำลายพระศาสนจักร แต่ต่อมาความร้อนรนของท่านได้ช่วยสร้างพระศาสนจักร เราอาจอยากถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมการทำลายถึงกลายเป็นการสร้างได้เช่นนี้ เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรภายในตัวนักบุญเปาโล? จิตใจร้อนรนของท่านก็ดี ความกระตือรือร้นของท่านที่มีต่อเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าก็ดี ถูกเปลี่ยนรูปไปได้อย่างไร?

            นักบุญโทมัส อไควนัส ได้สอนว่า จากมุมมองทางศีลธรรมแล้ว ความกระตือรือร้นไม่ได้สิ่งดีหรือชั่วร้ายในตัวเอง หากเราใช้ความกระตือรือร้นไปกับเรื่องดี ก็จะทำให้ความกระตือรือร้นกลายเป็นสิ่งดีในทางศีลธรรม แต่ถ้าเราใช้ความกระตือรือร้นไปกับบาป ก็จะทำให้ความกระตือรือร้นกลายเป็นสิ่งชั่วร้าย (Quaestio “De veritate” 24, 7) ในกรณีของนักบุญเปาโล สิ่งที่เปลี่ยนแปลงท่านไม่ได้เป็นเพียงความคิดหรือความเชื่อมั่นบางอย่าง แต่เป็นการได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ลูกอย่าลืมว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคน คือการได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้า การที่เซาโลได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพได้เปลี่ยนแปลงตัวเขาทั้งครบ ความเป็นมนุษย์คนหนึ่งของท่าน รวมทั้งความกระตือรือร้นของท่านที่มีต่อพระเป็นเจ้าและต่อเกียรติมงคลของพระองค์ ไม่ได้ถูกทำให้หายไปไหน แต่ถูกเปลี่ยนรูป หรือทำให้ “กลับใจ” โดยพระจิตเจ้า มีเพียงพระจิตเจ้าเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงหัวใจของพวกเราได้ นักบุญเปาโลไม่ได้เพียงแค่กลับใจ แต่พระจิตเจ้าได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิตของท่าน ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับศีลมหาสนิท ไม่ใช่การที่ปังและเหล้าหายไปไหน แต่ปังและเหล้าองุ่นได้กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ ความกระตือรือร้นของนักบุญเปาโลไม่ได้หายไป แต่กลับกลายเป็นความกระตือรือร้นต่อพระเยซูคริสต์ เป้าหมายเปลี่ยนไป แต่ความกระตือรือร้นยังคงเดิม เราเองก็เช่นกัน องค์พระผู้เป็นเจ้าได้นำเอาความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งรวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เรามี และลักษณะพิเศษต่าง ๆ ของเรา เพื่อให้ไปรับใช้พระองค์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ความคิด แต่เป็นชีวิตต่างหากที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ดังที่นักบุญเปาโลเองได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ สภาพเก่าผ่านพ้นไป ดูเถิด สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้ว” (2 คร. 5,17) การได้พบกับพระเยซูคริสต์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงลูกจากภายใน ทำให้ลูกกลายเป็นคนใหม่ ใครก็ตามที่อยู่ในพระเยซูคริสต์ เขาย่อมเป็นสิ่งสร้างใหม่ นี่คือความหมายของการเป็นสิ่งสร้างใหม่ การได้เป็นคริสตชนนั้นไม่ได้เป็นเพียงการแต่งหน้าแปลงโฉมด้วยเครื่องสำอาง เพราะหากว่าลูกเป็นคริสตชน หัวใจของลูกย่อมเปลี่ยนไป แต่หากลูกเป็นคริสตชน[เพียง]เปลือกนอก นั่นไม่ใช่เรื่องดี การเป็นคริสตชนจอมปลอมไม่ใช่เรื่องดี ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ[เท่านั้นที่]เป็นความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และสิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นกับนักบุญเปาโล

            ความกระตือรือร้นต่อพระวรสารไม่ใช่เรื่องความเข้าใจหรือเรื่องการศึกษาค้นคว้า ถึงแม้ว่าความเข้าใจหรือการศึกษาค้นคว้าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่นั่นไม่ใช่แรงบันดาลใจที่ทำให้เรามีความกระตือรือร้นต่อพระวรสาร ความกระตือรือร้นต่อพระวรสารนั้นเป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของ “การล้มลง และการลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง [ซึ่งเป็นความหมายเดิมของคำว่าการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสต์ หรือ resurrection]” แบบเดียวกับที่นักบุญเปาโลได้ประสบ และประสบการณ์เช่นนี้ยังเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้ความกระตือรือร้นในการประกาศของท่านได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งใหม่ บางคนอาจเรียนเทววิทยามากมายเท่าที่เขาต้องการ หรืออาจเรียนพระคัมภีร์ หรือสิ่งอื่น ๆ แต่เขาอาจกลายเป็นคนที่ไม่เชื่อพระเจ้า หรือกลายเป็นคนทางโลกไปก็ได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งยวดไม่ใช่การศึกษาค้นคว้า เพราะว่าในประวัติศาสตร์ มีนักเทววิทยามากมายที่ไม่เชื่อในพระเจ้า การศึกษาค้นคว้านั้นมีประโยชน์ แต่นั่นไม่ได้นำมาซึ่งชีวิตใหม่แห่งพระหรรษทาน นักบุญอิกนาซีโอแห่งโลโยลาได้กล่าวไว้ว่า “ประโยชน์ของวิญญาณมิใช่อยู่ที่การมีความรู้มากมาย แต่อยู่ที่การเกิดปัญญารู้แจ้งและความรู้สึกภายในที่ดื่มด่ำซึ่งสร้างความอิ่มเอมเปรมปรีดิ์ให้แก่ดวงวิญญาณ” (การปฏิบัติจิต, หมายเหตุ, 2, 4) สิ่งสำคัญคือสิ่งที่เปลี่ยนลูกที่ภายใน ทำให้ลูกได้รู้อะไรอย่างอื่นมากขึ้น ได้ลิ้มรสอะไรอย่างอื่นมากขึ้น ให้เราแต่ละคนรำพึงว่า “ฉันมีความศรัทธาหรือไม่” “มี” “ฉันสวดภาวนาหรือไม่” “ใช่” “ฉันพยายามทำตามพระบัญญัติต่าง ๆ หรือไม่” “ใช่” แล้วพระเยซูคริสต์อยู่ที่ไหนในชีวิตลูกล่ะ “ไม่รู้สิครับ ผมแค่ทำตามที่พระศาสนจักรบอกให้ทำ” แล้วพระเยซูคริสต์อยู่ที่ไหน เราเคยพบพระองค์ เคยคุยกับพระองค์บ้างไหม เราได้หยิบหนังสือพระวรสารขึ้นมาอ่านหรือได้พูดคุยกับพระองค์หรือไม่ เรายังจำได้ไหมว่าพระองค์คือใคร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามักจะขาดแคลน เวลาที่พระเยซูคริสต์เสด็จเข้ามาสู่ชีวิตลูก ทรงทำเหมือนกับที่ได้เสด็จเข้าไปยังชีวิตของนักบุญเปาโล พระองค์เสด็จเข้าไปและทรงเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง หลายครั้งที่เราได้ยินคนพูดเกี่ยวกับคนอื่นว่า “ดูสิ เขาเคยเป็นคนไม่ดี แต่ตอนนี้กลายเป็นคนดีขึ้นมา อะไรเปลี่ยนแปลงเขา” พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลงเขา พวกเขาได้พบพระเยซูคริสต์ แล้วชีวิตคริสตชนของลูกได้เปลี่ยนไปบ้างไหม “ไม่รู้สิครับ น่าจะเปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย…” ถ้าพระเยซูคริสต์ไม่ได้เข้ามาในชีวิตลูก ชีวิตลูกก็จะไม่เปลี่ยนแปลง ลูกก็จะเป็นคริสตชนได้แต่เปลือกนอก ไม่นะลูก พระเยซูคริสต์จำเป็นต้องเสด็จเข้ามา และนี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงลูก ไม่ต่างกับที่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงนักบุญเปาโล เราต้องค้นหาพระเยซูคริสต์ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมนักบุญเปาโลจึงกล่าวว่าความรักของพระเยซูคริสต์ผลักดันเรา และนำพาเราไปข้างหน้า (เทียบ 2 คร. 5,14) ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นกับนักบุญทุกท่านเช่นกัน พวกเขาต่างได้ก้าวไปข้างหน้าเมื่อได้พบกับพระเยซูคริสต์

            เราสามารถไตร่ตรองมากขึ้นอีกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวของนักบุญเปาโล จากที่เคยเป็นผู้เบียดเบียน กลายเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ เราจะเห็นว่าในตัวท่านมีความย้อนแย้งบางอย่าง แน่นอนว่าเมื่อครั้งที่ท่านรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรมต่อหน้าพระเป็นเจ้า ท่านเคยรู้สึกว่าตนมีสิทธิมีอำนาจในการเบียดเบียน จับคนมาขัง หรือแม้กระทั่งฆ่าคน อย่างที่ท่านได้สังหารนักบุญสเตฟาโน แต่เมื่อท่านได้รับแสงสว่างจากองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ท่านก็ได้ค้นพบว่าตนเองเคยเป็น “ผู้ดูหมิ่นพระเจ้าและผู้เบียดเบียน” ตามที่ท่านได้กล่าวไว้เองว่า “ข้าพเจ้าเคยพูดดูหมิ่นพระเจ้า เบียดเบียนและทำทารุณ” (1 ทธ. 1,13) แต่ในเวลาต่อมาท่านกลับกลายเป็นผู้ที่รักคนอื่นได้อย่างแท้จริง และนี่คือหนทาง หากใครบอกว่า “ขอขอบคุณพระเจ้า เพราะว่าผมได้เป็นคนดี ผมทำความดี ผมไม่ได้ทำบาปใหญ่…” นั่นไม่ใช่หนทางที่ดี แต่เป็นหนทางของความพึงพอใจอยู่แต่กับตนเอง หนทางเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ลูกเป็นผู้ชอบธรรม นี่เป็นเพียงสิ่งที่ทำให้ลูกเป็นคริสตชนที่ดูดีมีสง่าราศี แต่คริสตชนที่ดูดีมีสง่าราศีไม่ใช่คริสตชนที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ คริสตชนที่แท้จริง คือผู้ที่รับพระเยซูคริสต์เข้ามาภายใน และสิ่งนี้ทำให้จิตใจของเขาเปลี่ยนไป พ่อขอถามลูกทุกคนในวันนี้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็นอะไรสำหรับลูก ลูกได้ให้พระองค์เสด็จเข้ามาในใจลูกแล้วหรือยัง หรือเพียงแต่เก็บพระองค์ไว้ใกล้ ๆ ในระยะที่ลูกเอื้อมถึง แต่ไม่ได้ให้พระองค์เสด็จเข้ามาจริง ๆ ลูกได้ให้พระองค์เปลี่ยนแปลงลูกแล้วหรือไม่ หรือว่าสำหรับลูกแล้ว พระเยซูคริสต์ทรงเป็นเพียงแค่ความคิด เป็นเพียงเทววิทยาที่ก้าวหน้าไปเท่านั้น ความกระตือรือร้นที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อคนเราได้พบพระเยซูคริสต์ และได้รู้สึกถึงเปลวเพลิง[ของพระองค์] ผู้ที่ได้ค้นพบพระเยซูคริสต์ต้องเป็นเหมือนกับนักบุญเปาโล เขาจะต้องประกาศพระองค์ ต้องพูดเกี่ยวกับพระองค์ ต้องช่วยเหลือคนอื่น และต้องทำความดี หากเราค้นพบเพียงแต่ความคิดเรื่องพระเยซูคริสต์ เราก็อาจจะเป็นเพียงแค่คนที่มีศาสนาคริสต์เป็นอุดมการณ์ และสิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้เราได้รับความรอด มีเพียงพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่ทรงช่วยเราให้รอด และจะทรงช่วยเราได้ต่อเมื่อเราได้พบพระองค์ และเปิดใจให้พระองค์เสด็จเข้ามา ความคิดเรื่องพระเยซูคริสต์ไม่ได้ช่วยลูกให้รอดนะลูก ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเราให้ค้นหาพระเยซูคริสต์และได้พบพระเยซูคริสต์ และขอให้พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตเราจากภายใน พร้อมทั้งประทานความช่วยเหลือแก่เรา เพื่อให้เราไปช่วยเหลือคนอื่นด้วย


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อผู้แทนจากวิทยาลัยการป้องกันของ NATO รวมทั้งนักเรียนและครูอาจารย์หลายคนที่มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ขอให้การเดินทางในเทศกาลมหาพรตจงชำระจิตใจของพวกเราจนสะอาด และฟื้นฟูจิตใจของเราขึ้นใหม่ด้วยพระหรรษทานแห่งพระจิตเจ้า เพื่อนำเราไปสู่วันปัสกา พ่ออวยพรให้ลูกทุกคนและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขในพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้ไถ่ของเรา

            ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ ในเทศกาลมหาพรตนี้ พ่อหวังว่าลูกแต่ละคนจะได้กลับมาค้นพบและเป็นพยานต่อความเชื่อคริสตชน ให้เรายังคงภาวนาและส่งใจไปยังยูเครนที่กำลังถูกทำร้ายด้วย พ่อขออวยพรลูกทุกคน


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศข่าวดี วันนี้เราจะไตร่ตรองเกี่ยวกับบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่บางคนในประวัติศาสตร์ ซึ่งชีวิตของเขาได้เป็นแบบอย่างเรื่องความรักต่อพระคริสตเจ้า และความกระตือรือร้นในการเผยแผ่พระวรสาร แน่นอนว่าคนแรกที่เราต้องพูดถึงคือนักบุญเปาโล อัครสาวก การที่นักบุญเปาโลได้พบกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ระหว่างที่ท่านกำลังเดินทางไปยังดามัสกัส ทำให้ความร้อนรนต่อธรรมบัญญัติที่เคยทำให้ท่านเบียดเบียนคริสตชน กลับกลายเป็นความปรารถนาแรงกล้าในการประกาศพระวรสารแห่งความรักความเมตตาของพระเจ้า ที่ได้ถูกเผยแสดงในพระธรรมล้ำลึกปัสกา การกลับใจของนักบุญเปาโลเป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้งต่อความตายและการฟื้นคืนชีพ เมื่อท่านได้เกิดใหม่ในพระคริสต์ ท่านก็ได้กลายเป็น “สิ่งสร้างใหม่” (2 คร. 5,17) ที่ตอนนี้เปี่ยมไปด้วยความร้อนรนในการนำข่าวดีแห่งความรอดของเราไปมอบให้แก่นานาชาติ แบบอย่างของนักบุญเปาโลทำให้เราเห็นว่า การได้พบกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ เป็นหัวใจของความร้อนรนในการแพร่ธรรมทุกอย่าง นอกจากนี้ยังแสดงให้เราเห็นอีกด้วยว่า ความร้อนรนต่อพระวรสารไม่อาจสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงหรือการเบียดเบียนในนามของพระเป็นเจ้าแห่งความเมตตา พระองค์ทรงเรียกเราโดยไม่หวังอะไรตอบแทน เพื่อให้เรารับชีวิตใหม่เป็นของขวัญจากพระองค์ ผ่านการเชื่อในพระวรสารของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)