
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (21) นักบุญดานีเอเล กอมโบนี – อัครสาวกแห่งแอฟริกาและประกาศกแห่งการแพร่ธรรม
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร กล่าวคือ ความร้อนรนในการประกาศข่าวดี ในวันนี้ให้เราใช้เวลาพิจารณาการเป็นพยานของนักบุญดานีเอเล กอมโบนี (1831 – 1881) ท่านเป็นอัครสาวกธรรมทูตผู้เต็มไปด้วยความร้อนรนเพื่อแอฟริกา ท่านได้เขียนเกี่ยวกับผู้คนที่นั่นว่า “พวกเขาได้ครอบครองจิตใจของข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่เพื่อพวกเขาเท่านั้น” (Writings, 941) “ข้าพเจ้าจะตายโดยมีคำว่าแอฟริกาออกจากปากของข้าพเจ้า” (Writings, 1441) สวยงามเหลือเกินใช่ไหมลูก ท่านยังได้เขียนถึงชาวแอฟริกาด้วยว่า “หากพ่อได้มอบชีวิตเพื่อพวกลูก นั่นก็จะเป็นเวลาแห่งความสุขสูงสุดสำหรับพ่อ” (Writings, 3159) นี่เป็นคำพูดของคนที่รักพระเจ้า และรักพี่น้องที่ท่านรับใช้ในการแพร่ธรรม ซึ่งท่านไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะย้ำเตือนกับพวกเขาว่า “พระเยซูคริสต์ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาเช่นกัน” (Writings, 2499; 4801)
ท่านกล่าวเช่นนี้ภายใต้บริบทยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของการเอาคนลงเป็นทาส ท่านได้เป็นพยานเห็นถึงความเลวร้ายของสิ่งนี้ การเอาคนลงเป็นทาสทำให้มนุษย์ “กลายเป็นวัตถุ” และลดทอนคุณค่าของมนุษย์ให้กลายเป็นเพียง[สิ่งที่ถูกใช้]ประโยชน์เพื่อบางคนหรือวัตถุประสงค์บางอย่าง แต่พระเยซูคริสต์ พระเป็นเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ได้ทรงยกศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนขึ้นสูงส่ง และทรงแสดงให้เห็นว่าการเอาคนลงเป็นทาสทุกรูปแบบเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แสงสว่างของพระเยซูคริสต์ทำให้ท่านนักบุญตระหนักถึงความชั่วร้ายของการเอาคนลงเป็นทาส นอกจากนี้ ท่านยังรู้ดีว่าการเอาคนลงเป็นทาสในทางสังคมมีต้นรากอยู่ในความเป็นทาสที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งก็คือความเป็นทาสในทางจิตใจ ความเป็นทาสต่อบาป ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปลดปล่อยเราจากความเป็นทาสอันนี้ ดังนั้นในฐานะคริสตชน เราทุกคนจึงถูกเรียกให้ต่อสู้กับการเอาคนลงเป็นทาสในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียใจที่การเอาคนลงเป็นทาส รวมทั้งแนวคิดจักรวรรดินิยม ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องในอดีต น่าเสียใจที่ทุกวันนี้ยังมีความขัดแย้งจำนวนมากที่ทำร้ายทวีปแอฟริกาอันเป็นที่รักยิ่งของท่านนักบุญ “การเอารัดเอาเปรียบทางการเมืองนำไปสู่ ‘แนวคิดจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งทำให้ผู้คนตกเป็นทาส[ไม่น้อยกว่าระบบทาสแต่เดิม] (…) นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า และบ่อยครั้งที่[ประเทศต่าง ๆ]ที่เจริญก้าวหน้ากว่าในทางเศรษฐกิจ ต่างปิดหูปิดตา และปิดปากไม่พูดถึงเรื่องน่าเศร้านี้” พ่อขอพูดซ้ำอีกครั้งที่นี่ว่า “หยุดบีบคอแอฟริกาเสียที แอฟริกาไม่ใช่เหมืองแร่ให้ขุดเอาแร่จนหมด และไม่ใช่ผืนแผ่นดินที่เอาไว้ปล้นสะดม” (พระดำรัสในการพบปะกับเจ้าหน้าที่ทางการ ที่กรุงกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, 31 มกราคม 2023)
ขอให้เราย้อนกลับไปพิจารณาชีวิตของท่านนักบุญดานีเอเล ท่านได้ไปแอฟริกา แต่ในช่วงแรก หลังจากที่ท่านได้อยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ท่านจำเป็นต้องออกจากงานแพร่ธรรมด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ในยุคนั้นมีธรรมทูตมากมายที่เสียชีวิตจากโรคไข้มาลาเรีย ประกอบกับการที่ธรรมทูตรับรู้สถานการณ์ในท้องถิ่นไม่ดีพอ ถึงแม้ว่าธรรมทูตจำนวนมากจะไม่กลับไปแอฟริกาอีก แต่ท่านนักบุญไม่เป็นเช่นนั้น ท่านใช้เวลาช่วงหนึ่งเพื่อไตร่ตรองแยกแยะ และท่านได้รู้สึกว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบันดาลใจให้ท่านประกาศพระวรสารในหนทางใหม่ ซึ่งท่านกล่าวสรุปไว้ว่าเป็นการ “ให้แอฟริกาช่วยแอฟริกาให้รอด” (Writings, 2741s) นี่เป็นความคิดอันลึกซึ้งและทรงพลัง ปราศจากความคิดแบบจักรวรรดินิยม ความคิดลึกซึ้งแบบใหม่นี้ช่วยให้ท่านเริ่มงานแพร่ธรรมใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้คนที่ท่านไปแพร่ธรรม ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้รับการแพร่ธรรม” อีกต่อไป แต่เขาจะเป็น “ผู้แพร่ธรรม” อีกด้วย นักบุญดานีเอเล กอมโบนี ต้องการให้คริสตชนทุกคนมีส่วนร่วมในงานประกาศพระวรสาร ท่านคิดและทำทุกอย่างด้วยจิตวิญญาณเช่นนี้ สิ่งที่ท่านทำรวมถึงการให้ศาสนบริกรที่เป็นคนท้องถิ่นมีส่วนร่วม และการสนับสนุนงานของครูคำสอนที่เป็นฆราวาส ครูคำสอนเป็นสมบัติมีค่าของพระศาสนจักร เขาเป็นคนที่ทำให้งานประกาศพระวรสารเดินไปข้างหน้า นอกจากนี้ ท่านนักบุญยังได้มีความคิดเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ในแนวทางเดียวกันนี้ คือการพัฒนาศิลปะและทักษะอาชีพต่าง ๆ และการเสริมสร้างบทบาทของครอบครัวและผู้หญิงในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม แม้กระทั่งในทุกวันนี้ การทำให้ความเชื่อและการพัฒนามนุษย์ก้าวหน้าไปด้วยกันภายในบริบทของการแพร่ธรรมก็ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่าการนำเอารูปแบบบางอย่างจากภายนอกไปใช้ทั้งอย่างนั้น หรือการจำกัดการพัฒนามนุษย์ให้อยู่เพียงแค่การมอบสวัสดิการที่ไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรตามมา เราไม่ควรใช้ทั้งวิธีการยัดเยียดรูปแบบจากภายนอกและวิธีการให้สวัสดิการแบบเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์ แต่เราควรเดินในเส้นทางของการประกาศพระวรสารโดยให้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ซึ่งก็คือวัฒนธรรมของผู้คนที่นั่น เพราะการนำพระวรสารเข้าสู่วัฒนธรรม และการปรับพระวรสารให้เข้ากับวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ความกระตือรือร้นยิ่งใหญ่ของท่านนักบุญในการแพร่ธรรม ไม่ได้เป็นสิ่งที่มาจากความพยายามของมนุษย์เป็นหลัก แรงผลักดันของท่านไม่ใช่ความกล้าหาญของท่านเอง และไม่ได้เป็นสิ่งที่มาจากแรงจูงใจเรื่องค่านิยมสำคัญบางอย่าง เช่นเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพแต่เพียงอย่างเดียว ความร้อนรนของท่านมาจากความปิติยินดีในพระวรสาร มาจากความรักของพระคริสตเจ้าซึ่งนำไปสู่ความรักที่มีต่อพระคริสตเจ้า ท่านนักบุญเขียนไว้ว่า “งานแพร่ธรรมที่ยากลำบากและต้องอาศัยการทำงานหนักเช่นงานของเรานี้ จะทำไม่ได้เลยหากผู้ที่ทำงานเป็นคนที่เอาแต่เปลือกนอก หรือเป็นคนที่มีนิสัยหยิ่งยะโส คิดอยู่แต่เรื่องตัวเองและการให้ตัวเองเป็นใหญ่ และไม่เอาใจใส่ดูแลเรื่องความรอดและการกลับใจของวิญญาณทั้งหลายอย่างที่ควรจะทำ” นิสัยแบบนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ความคิดที่ให้ศาสนบริกรเป็นใหญ่ทำให้คริสตชนหลายคน ซึ่งรวมถึงฆราวาสด้วย ทำตัวเป็นเหมือนศาสนบริกร [เป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง] ทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นคนหยิ่งยะโสที่เต็มไปด้วยความคิดให้ตัวเองเป็นใหญ่ นี่คือความคิดให้ศาสนบริกรเป็นใหญ่ที่นับว่าเป็นโรคภัยอย่างหนึ่ง ท่านนักบุญกล่าวเสริมว่า “จำเป็นต้องให้ทุกคนมีความร้อนรนด้วยเปลวเพลิงแห่งความรักที่มาจากพระเป็นเจ้าและความรักของพระคริสตเจ้า หากเขาได้รักพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง ความขาดแคลน ความทรมาน และการเป็นมรณสักขี ย่อมกลายเป็นสิ่งที่หอมหวาน” (Writings, 6656) ท่านนักบุญอยากเห็นธรรมทูตมีศรัทธาแรงกล้า เปี่ยมด้วยความปิติยินดี และมีความทุ่มเท ท่านได้เขียนไว้ว่า ธรรมทูต[ที่ดี]คือ “ผู้ที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และมีความสามารถ ในอันดับแรก เขาจะต้องเป็นนักบุญ เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือเป็นอิสระอย่างเต็มที่จากบาป เป็นอิสระจากการทำผิดต่อพระเป็นเจ้า และเป็นผู้สุภาพถ่อมตน แต่นี่ยังไม่เพียงพอ เพราะเขาต้องมีความรักด้วย ความรักทำให้ผู้แพร่ธรรมเป็นผู้มีความสามารถ” (Writings, 6655) สำหรับท่านนักบุญแล้ว ความสามารถในการแพร่ธรรมเป็นสิ่งที่มาจากความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากความร้อนรนที่ทำให้ธรรมทูตรับเอาความทุกข์ทรมานของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ ความกระตือรือร้นของท่านในการประกาศพระวรสารไม่ได้ทำให้ท่านทำอะไรเพียงคนเดียว ท่านทำทุกอย่างภายในความสนิทสัมพันธ์ของพระศาสนจักร ท่านกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีเพียงชีวิตเดียวที่จะอุทิศเพื่อความรอดของวิญญาณเหล่านี้ แต่ข้าพเจ้าอยากจะมีสักพันชีวิตเพื่อนำมาใช้จนหมดสิ้นเพื่อเป้าหมายที่ว่า” (Writings, 2271)
พี่น้อง ท่านนักบุญดานีเอเลเป็นพยานแก่ความรักของผู้เลี้ยงแกะที่ดี ผู้ที่เสด็จไปค้นหาแกะหลงเพียงตัวเดียว และทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อฝูงแกะ ท่านมีความร้อนรนที่เปี่ยมด้วยพลังและมีความเป็นประกาศกในเวลาที่ท่านถูกผู้อื่นเมินเฉยและไม่รับเข้าพวก ท่านได้เขียนจดหมายหลายฉบับเพื่อเรียกร้องอย่างจริงใจต่อพระศาสนจักรอันเป็นที่รักของท่าน เพราะพระศาสนจักรได้ละเลยแอฟริกามายาวนาน ท่านนักบุญมีความฝันว่า อยากเห็นพระศาสนจักรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับบรรดาผู้คนที่ถูกตรึงกางเขน ผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานในประวัติศาสตร์ เพื่อที่พระศาสนจักรจะได้สัมผัสกับการฟื้นคืนชีพร่วมกับเขาเหล่านั้น ในตอนนี้ พ่อขอเชิญชวนให้ลูกคิดถึงผู้คนที่ถูกตรึงกางเขนในยุคปัจจุบัน ที่มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และคนแก่ ให้ลูกคิดถึงทุกคนที่ถูกตรึงกางเขนด้วยน้ำมือของความอยุติธรรมและการครอบงำในประวัติศาสตร์ ให้เราคิดถึงเขาและภาวนาเพื่อเขา การเป็นพยานของท่านนักบุญเหมือนจะมุ่งย้ำเตือนพวกเราทั้งหลายทั้งชายหญิงในพระศาสนจักรอีกครั้งว่า “อย่าลืมคนยากไร้ จงรักเขา เพราะพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนประทับอยู่ในเขาเพื่อรอเวลาเสด็จกลับคืนชีพ” เราอย่าลืมคนยากไร้ ก่อนที่พ่อจะมาพบลูกในวันนี้ พ่อได้พบปะกับสมาชิกรัฐสภาของบราซิลกลุ่มหนึ่งที่ทำงานเพื่อคนยากจน และพยายามสนับสนุนคนยากคนผ่านการให้ความช่วยเหลือและการสร้างความยุติธรรมในสังคม เขาไม่ลืมคนยากไร้ เขาทำงานเพื่อคนยากไร้ พ่อขอกล่าวกับลูกทุกคนว่า อย่าลืมบรรดาคนยากไร้ เพราะบรรดาคนยากไร้นี้เองที่จะเปิดประตูสวรรค์ให้แก่ลูก ขอขอบใจลูกทุกคน
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
เมื่อวานนี้ พ่อได้ยินข่าวที่น่าเศร้าใจจากนากอร์โน การาบัค ทางตอนใต้ของภูมิภาคคอเคซัส ที่นั่นมีสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้ว แต่กลับเลวร้ายลงอีกเพราะมีการปะทะกันด้วยอาวุธเพิ่มมากขึ้น พ่อขอเรียกร้องอย่างจริงใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและต่อประชาคมนานาชาติ ให้หยุดใช้อาวุธปะทะกัน และให้พยายามทุกวิถีทางเพื่อหาทางออกด้วยสันติวิธี เพื่อประโยชน์ของผู้คนและการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากเดนมาร์ก นอร์เวย์ แคเมอรูน ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราได้ไตร่ตรองเรื่องการเผยแผ่พระวรสารผ่านการเป็นพยานโดยชายหญิงที่มาจากยุคสมัยและสถานที่ต่าง ๆ กัน วันนี้เราจะไปพิจารณาเกี่ยวกับแอฟริกา รวมทั้งพิจารณาวิสัยทัศน์ที่มีความเป็นประกาศกเรื่องการแพร่ธรรมของนักบุญดานีเอเล กอมโบนี ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่พลังอำนาจของพระวรสารในการปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ ท่ามกลางบริบทของการมีระบบทาสซึ่งเป็นสิ่งเลวร้าย ท่านได้ประกาศพระเยซูคริสต์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและทรงกลับคืนชีพในฐานะเป็นแหล่งที่มาของเสรีภาพที่แท้จริง ไม่เฉพาะการเป็นอิสระจากบาปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นอิสระจากการเป็นทาสในทุกรูปแบบซึ่งล้วนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ท่านนักบุญมีวิสัยทัศน์ที่ล้ำยุค ท่านเห็นถึงความจำเป็นในการประกาศพระวรสารด้วยวิธีการแบบองค์รวม ซึ่งให้ศาสนบริกรซึ่งเป็นคนท้องถิ่น รวมถึงครูคำสอนและผู้นำฆราวาสซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีพื้นฐานอยู่บนสิ่งที่พระวรสารต้องการสื่อ ตลอดจนการที่พระวรสารเรียกร้องให้ผู้คนสร้างระบบสังคมที่เป็นธรรม มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีมนุษยธรรม สำหรับนักบุญดานีเอเล กอมโบนี ความรักแบบคริสตชน ซึ่งแสดงออกผ่านการเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันกับผู้ทุกข์ยาก เป็นสุดยอดของแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังความพยายามแพร่ธรรมทุก ๆ อย่าง ขอให้ความรักที่ท่านนักบุญมีต่อพระศาสนจักร ความมุ่งมั่นของท่านนักบุญที่มีต่อพันธกิจสากลของพระศาสนจักร และความกังวลในฐานะผู้อภิบาลที่ท่านมีต่ออนาคตของผู้คนในแอฟริกา ได้เป็นแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องสำหรับความพยายามประกาศพระวรสารของพระศาสนจักรในยุคของเราด้วยเช่นกัน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)