
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (16) พยานแห่งพระวรสาร – นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู องค์อุปถัมภ์ของการแพร่ธรรม
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
วันนี้เราทั้งหลายได้มาอยู่ต่อหน้าพระธาตุของนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู องค์อุปถัมภ์สากลแห่งการแพร่ธรรม นี่เป็นโอกาสดีในการที่เราจะรำพึงไตร่ตรองเรื่องความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร เรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี ดังนั้นในวันนี้ ให้เราใช้แนวทางการเป็นพยานของนักบุญเทเรซาเป็นสิ่งช่วยเหลือเรา[ในการนี้] ท่านเกิดเมื่อ 150 ปีก่อน และพ่อมีแผนจะออกสมณลิขิตเกี่ยวกับท่านในโอกาสครบรอบนี้ด้วย
นักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซูเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์การแพร่ธรรม แต่ท่านเองไม่เคยออกแพร่ธรรมเลย แล้วเราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร[ว่าทำไมท่านจึงได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์การแพร่ธรรม] ท่านเป็นนักพรตหญิงคณะคาร์แมลผู้ที่ใช้ชีวิตในเส้นทางสายน้อยแห่งความอ่อนแอ ท่านกล่าวว่าตนเองเป็นเพียง “ทรายเม็ดเล็ก ๆ” เท่านั้น สุขภาพของท่านไม่ดี ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 24 ปี แต่ถึงแม้ร่างกายท่านจะไม่ดี แต่หัวใจของท่านกลับมีชีวิตชีวาเจิดจ้า หัวใจของท่านเป็นหัวใจของผู้แพร่ธรรม ท่านกล่าวไว้ใน “บันทึกประจำวัน” ของท่านว่า ท่านปรารถนาจะเป็นธรรมทูต ท่านอยากจะเป็นธรรมทูต ไม่ใช่แค่สองสามปี แต่ท่านอยากเป็นธรรมทูตตลอดชีวิตที่เหลือของท่าน หรือแม้กระทั่งตราบจนวันสิ้นพิภพ ท่านเป็น “พี่น้องฝ่ายจิต” ของธรรมทูตหลายคน ท่านอยู่เคียงข้างเขาผ่านทางการโต้ตอบจดหมายจากในอาราม ผ่านการอธิษฐานภาวนา และผ่านการอุทิศความยากลำบากของตนเป็นเครื่องบูชาอย่างไม่หยุดหย่อน ท่านอธิษฐานภาวนาแทนผู้อื่นเพื่อการแพร่ธรรม ท่านทำเช่นนี้โดยไม่มีใครเห็น เหมือนกับเครื่องยนต์ ที่ถึงแม้จะไม่เห็นจากภายนอก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ยานพาหนะมีพลังเดินหน้าไป อย่างไรก็ดี ท่านมักจะถูกนักพรตหญิงที่อยู่ในอารามเดียวกับท่านเข้าใจผิด ท่านได้รับ “หนามมากกว่ากุหลาบ” จากเพื่อนนักพรต แต่ท่านน้อมรับทุกอย่างด้วยความรัก ความอดทน และถึงขนาดนำเอาการที่ท่านถูกกล่าวโทษหรือถูกเข้าใจผิดเช่นนี้ยกถวายเป็นเครื่องบูชาพร้อมกับความป่วยไข้ของท่าน ท่านทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความปิติยินดี เพื่ออุทิศแก่ความจำเป็นของพระศาสนจักร เพื่อที่ว่า (ในคำพูดของท่าน) “ดอกกุหลาบจะได้โปรยปรายยังทุกคน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ห่างไกลที่สุด
ตอนนี้พ่อถามตัวเอง และลูกก็ถามตัวเองได้ด้วยว่า ความร้อนรนทุก ๆ อย่างเช่นนี้ของท่าน ความเข้มแข็งแบบผู้แพร่ธรรมของท่าน และความปิติยินดีของท่านในการอธิษฐานภาวนาแทนผู้อื่นนี้ มีที่มาจากไหน เหตุการณ์สองอย่างในชีวิตของท่านช่วงก่อนที่จะได้เข้าอาราม จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งนี้ได้
เหตุการณ์แรกเป็นเรื่องของวันที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตท่าน เมื่อวันคริสตสมภพ ปี ค.ศ. 1886 พระเป็นเจ้าได้ทำอัศจรรย์ในหัวใจของท่าน ไม่นานก่อนที่ท่านจะอายุได้สิบสี่ปี ตอนนั้นท่านถูกเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมเอาใจจากทุกคนในบ้านในฐานะลูกคนเล็กของบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเลี้ยงท่านไม่ดี อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ครอบครัวของท่านกลับมาจากมิสซา พ่อของท่านเหน็ดเหนื่อยมาก ก็เลยรู้สึกหงุดหงิดเวลาที่เห็นท่านเปิดกล่องของขวัญคริสต์มาส แล้วก็หลุดปากออกมาว่า “เดชะบุญที่ปีนี้เป็นปีสุดท้ายแล้ว[ที่จะต้องให้ของขวัญแก่ลูกคนนี้]” พอท่านนักบุญได้ยินดังนั้นก็รู้สึกสะเทือนใจ ท่านกลับขึ้นไปที่ห้องแล้วก็ร้องไห้ออกมา ทั้งนี้ท่านนักบุญเองเป็นคนที่มีความรู้สึกละเอียดอ่อนและร้องไห้ออกมาได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ไม่นานนัก ท่านก็หยุดร้องไห้ เดินกลับลงมาหาพ่อด้วยอารมณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความปิติยินดี และกลับกลายเป็นว่าท่านเองที่เป็นฝ่ายที่ช่วยให้พ่อของท่านมีใจสดชื่นขึ้นมา เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ท่านนักบุญได้กลายเป็นผู้แข็งแกร่งในจิตวิญญาณ ในคืนที่พระเยซูเจ้าทรงทำพระองค์ให้อ่อนแอด้วยความรัก ท่านได้หลุดพ้นออกจากกรงแห่งความเห็นแก่ตัวและความรู้สึกสงสารตัวเองได้ในเวลาเพียงไม่นาน และท่านเริ่มรู้สึกว่า “ความรักได้เข้ามาในหัวใจของท่าน ทำให้ท่านรู้สึกว่าต้องละลืมตนเอง” (เทียบ ต้นฉบับตัวเขียน A, 133-134) นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความร้อนรนของท่านมุ่งไปยังผู้อื่น ท่านอยากให้คนอื่นได้พบพระเป็นเจ้า และแทนที่จะหวังให้หัวใจของตนเองได้รับการปลอบประโลม ท่านก็ได้เริ่ม “ปลอบประโลมพระเยซูคริสต์ และทำให้พระองค์เป็นที่รักของบรรดาวิญญาณ” เพราะว่าอย่างที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “พระเยซูคริสต์ทรงป่วยเพราะความรัก และ […] ความป่วยแห่งความรักนี้มีเพียงความรักเท่านั้นที่เยียวยาได้” (จดหมายถึงมารี เกแร็ง, กรกฎาคม 1890) ท่านได้ตัดสินใจแน่วแน่ในทุก ๆ วันว่า “จะทำให้พระเยซูคริสต์ทรงเป็นที่รัก” (จดหมายถึงเซลีน, 15 ตุลาคม 1889) และจะเสนอวิงวอนเพื่อที่คนอื่น ๆ จะได้มารักพระเยซูคริสต์ ท่านเขียนว่า “ดิฉันอยากจะช่วยบรรดาวิญญาณ และอยากละลืมตัวเองเพื่อวิญญาณเหล่านั้น ดิฉันอยากจะช่วยพวกเขาแม้ว่าดิฉันจะตายไปแล้วก็ตาม” (จดหมายถึงคุณพ่อรูลลอง, 19 มีนาคม ค.ศ. 1897) ท่านได้กล่าวหลายครั้งว่า “ดิฉันจะใช้เวลาบนสวรรค์เพื่อทำความดีในโลกมนุษย์” เหตุการณ์เช่นนี้เปลี่ยนชีวิตของท่านตั้งแต่อายุสิบสี่ปี
ความร้อนรนของท่านมุ่งเป็นพิเศษยังคนบาป ซึ่งเป็นคนที่ “อยู่ห่างไกล” สิ่งเหล่านี้เห็นได้จากเหตุการณ์ที่สองก่อนที่ท่านจะเข้าอาราม ท่านได้ยินว่ามีคนร้ายคนหนึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยอาชญากรรมร้ายแรงหลายอย่าง เขาชื่อว่าเอ็นริโก ปรันซีนี เขาถูกตัดสินว่าผิดจริงในข้อหาฆ่าคนสามคน และจะถูกประหารด้วยเครื่องกิโยติน แต่เขาไม่ต้องการความปลอบประโลมจากพระศาสนา [หมายความว่าไม่ต้องการสารภาพบาปและรับศีลก่อนตาย] ท่านนักบุญได้จดบันทึกชื่อของเขาไว้ ระลึกถึงเขาในใจ และทำทุกอย่างที่ท่านทำได้ ท่านอธิษฐานภาวนาทุกวิถีทางให้เขากลับใจ เพื่อที่ว่าเขาผู้นั้น ซึ่งท่านนักบุญเรียกด้วยความใกล้ชิดฉันพี่น้องว่า “ปรันซีนีผู้ทุกข์ยากน่าสงสาร” จะได้แสดงสัญญาณเล็ก ๆ ของการกลับใจ และเว้นที่ว่างให้แก่ความเมตตาของพระเป็นเจ้า ซึ่งท่านนักบุญเทเรซาเชื่อมั่นวางใจอย่างไม่สงสัยต่อความเมตตานี้ สุดท้ายแล้วเขาก็ถูกประหารชีวิต แต่นักบุญเทเรซาได้อ่านในหนังสือพิมพ์ว่า ก่อนที่เขาจะพาดศีรษะในเครื่องประหารไม่นาน นายปรันซีนี “จู่ ๆ ก็เหมือนกับได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างกะทันหัน เขาได้หันหลังกลับมา เอามือคว้ารูปพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนที่บาทหลวงยื่นส่งให้ และได้จุมพิตรอยแพรศักดิ์สิทธิ์[ของพระเยซูคริสต์]บนรูปนั้นสามครั้ง” ท่านนักบุญได้กล่าวว่า “จากนั้นวิญญาณเขาได้ไปรับคำพิพากษาที่เมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า ผู้ที่ได้ทรงประกาศไว้ว่า ในสวรรค์จะมีความยินดีเพราะคนบาปคนหนึ่งกลับใจ มากกว่าความยินดีเพราะคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจ!” (ต้นฉบับตัวเขียน A, 135; เทียบ ลก. 15,7)
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก นี่คือพลังของการอธิษฐานแทนผู้อื่น ซึ่งขับเคลื่อนด้วยความรัก นี่คือเครื่องยนต์ของการแพร่ธรรม นักบุญเทเรซาเป็นองค์อุปถัมภ์การแพร่ธรรม และในความจริงแล้ว ธรรมทูตผู้แพร่ธรรมไม่ได้มีแค่คนที่เดินทางไปยังที่ไกล ๆ เรียนภาษาใหม่ ๆ ทำกิจการดี และมีความสามารถในการประกาศเท่านั้น ไม่เลยลูก ใครก็ตามที่มีชีวิตเพื่อเป็นเครื่องมือแห่งความรักของพระเป็นเจ้า ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ก็ล้วนแต่เป็นธรรมทูตเช่นกัน ธรรมทูตคือคนที่ทำทุกอย่างเพื่อให้การเป็นพยาน การภาวนา และการอธิษฐานแทนผู้อื่นของตน ทำให้พระเยซูคริสต์อาจจะเสด็จผ่านมา
นี่คือความร้อนรนในการประกาศ ซึ่งเราอย่าลืมว่า ไม่มีทางทำได้โดยการชักจูงคนให้มาเข้าศาสนา ไม่มีทางเลย การขู่เข็ญบังคับก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน แต่เราจะต้องใช้การดึงดูด ความเชื่อเกิดจากการดึงดูด ไม่มีใครเป็นคริสตชนได้เพราะถูกคนอื่นบังคับ แต่จะเป็นได้เมื่อความรักได้สัมผัสตัวเขา ในพระศาสนจักรมีหนทาง วิธีการ โครงสร้างต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางครั้งอาจทำให้พระศาสนจักรละสายตาจากสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด พระศาสนจักรต้องการผู้คนที่มีหัวใจแบบท่านนักบุญเทเรซา หัวใจที่ดึงดูดผู้คนยังความรัก และนำผู้คนเข้าใกล้พระเป็นเจ้ามากขึ้น ขอให้เราวอนขอท่านนักบุญ ซึ่งเราได้มาอยู่ต่อหน้าพระธาตุของท่านในวันนี้ ให้เราวอนขอพระหรรษทานในการเอาชนะความเห็นแก่ตัว และให้เรามีความกระตือรือร้นในการอธิษฐานแทนคนอื่น เพื่อที่ผู้คนจะได้รู้สึกความดึงดูดเช่นนี้มากขึ้น และเพื่อที่พระเยซูคริสต์จะได้ทรงเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของผู้คน
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากสกอตแลนด์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
พ่อได้รับแรงบันดาลใจจากการฉลองพระวรกายของพระเยซูคริสต์ซึ่งจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ ซึ่งเราจะได้ฉลองศีลมหาสนิทซึ่งเป็นแกนกลางและบ่อเกิดแห่งชีวิต พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน ขอให้ลูกทุกคนเข้าหาพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นปังแห่งชีวิตให้บ่อย ๆ ด้วยใจศรัทธา เพราะพระองค์เป็นผู้ประทานความแข็งแกร่ง แสงสว่าง และความปิติยินดี ถ้าลูกทำแบบนี้ พระองค์ก็จะทรงเป็นบ่อธารให้แก่ลูก เวลาที่ลูกตัดสินใจหรือกระทำสิ่งใดในทุกครั้ง
องค์กรคาทอลิก แอคชัน อินเตอร์เนชันแนล ขอเชิญชวนให้คริสตชนจากทุกนิกายและผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ร่วมภาวนาในวันพรุ่งนี้เวลา 13.00 น. เพี่ออุทิศเวลา “หนึ่งนาทีแก่สันติภาพ” พ่อขอให้เราตอบรับคำเชิญอันนี้ และภาวนาเพื่อให้สงครามทั่วโลกยุติลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยูเครนซึ่งเป็นที่รักของเราและต้องประสบความทุกข์ทรมานอยู่ในตอนนี้
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราจะพิจารณาเรื่องนักบุญเทเรซาแห่งลิซิเออซ์ องค์อุปถัมภ์สากลแห่งการแพร่ธรรม วันนี้นับว่าเป็นโอกาสดีที่เราได้มาอยู่ต่อหน้าพระธาตุของท่านด้วย นักบุญเทเรซาได้พิจารณากระแสเรียกเป็นนักพรตหญิงคณะคาร์แมลตั้งแต่ท่านอายุยังน้อย กระแสเรียกนี้เรียกให้ท่านอุทิศชีวิตแก่การภาวนาเพื่องานแพร่ธรรมของพระศาสนจักร เธอรับเป็น “พี่น้องฝ่ายจิต” ของพระสงฆ์ธรรมทูตที่ไปแพร่ธรรมในต่างประเทศหลายท่าน และได้เขียนจดหมายโต้ตอบกับพวกเขาเพื่อให้กำลังใจ ทั้งยังได้สนับสนุนพวกเขาในคำภาวนาและการอุทิศความยากลำบากของท่านเป็นเครื่องบูชาในแต่ละวัน นักบุญเทเรซามีความปรารถนาให้ทุกคนเปิดใจรับความรักของพระเยซูเจ้าที่จะช่วยเขาให้รอด ท่านได้เสนอวิงวอนด้วยใจร้อนรนเพื่อให้คนบาปกลับใจ แม้ว่าจะเป็นคนบาปที่มีใจแข็งกระด้างที่สุดก็ตาม ตอนที่ท่านป่วยในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านได้ให้คำมั่นจะยังคงเสนอวิงวอนเพื่อคนอื่นเช่นนี้แม้ว่าท่านจะตายไปแล้ว นักบุญเทเรซาได้เตือนใจเราว่า ความรักและการอธิษฐานภาวนาแทนคนอื่น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเผยแผ่พระวรสารยิ่งกว่าการทำโครงการหรือวางแผนต่าง ๆ ให้เราวอนขอท่านนักบุญเพื่อให้ท่านเสนอวิงวอน เพื่อที่พระศาสนจักรทุกวันนี้จะได้รับความกระตือรือร้นในการแพร่ธรรม และเพื่อให้พระนามของพระเยซูคริสต์ได้เป็นที่รู้จักและเป็นที่รักในทุกสถานแห่งหน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)