
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (12) พยานแห่งพระวรสาร ชีวิตการเป็นนักพรตในอาราม และพลังแห่งการอธิษฐานแทนผู้อื่น – นักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็ก
ขอให้เรามาเรียนคำสอนกันต่อในเรื่องราวของผู้คนหลากหลายที่ได้เป็นพยานให้เรารู้ว่าความร้อนรนแห่งการประกาศคืออะไร เราได้เริ่มจากเรื่องนักบุญเปาโล และในครั้งที่แล้วเราได้เรียนรู้เรื่องบรรดามรณสักขีผู้ประกาศพระเยซูคริสต์ด้วยชีวิตของตน แต่ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์แห่งความเชื่อ มีคนอีกจำพวกหนึ่งที่เป็นพยานยิ่งใหญ่ เขาเหล่านั้นคือนักพรตชายหญิงที่ใช้ชีวิตในอาราม คือพี่น้องของเราที่ละทิ้งตนเองและละทิ้งโลก เพื่อไปใช้ชีวิตตามอย่างพระเยซูคริสต์บนเส้นทางแห่งความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนบนอบ และเพื่ออธิษฐานภาวนาแทนผู้อื่นทุกคน ชีวิตของเขาเหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกเล่าด้วยตัวเอง แต่เราอาจสงสัยว่า คนที่อยู่ในอารามจะช่วยประกาศพระวรสารได้อย่างไร? ให้เขาเหล่านั้นใช้พลังงานไปกับการออกไปแพร่ธรรมให้คนอื่นไม่ดีกว่าหรือ? ทำไมพวกเขาไม่ออกจากอารามเขตพรตแล้วมาประกาศพระวรสารข้างนอกล่ะ?
ลูกที่รัก ที่จริงแล้วบรรดานักพรตในอารามถือเป็นหัวใจที่เต้นอยู่เพื่อการประกาศ คำภาวนาของพวกเขาเป็นออกซิเจนสำหรับสมาชิกทุกคนทุกส่วนในพระกายพระเยซูคริสต์ [คือพระศาสนจักร] คำภาวนาของเขาเหล่านั้นเป็นพลังที่มองไม่เห็นที่เป็นแรงสนับสนุนการแพร่ธรรม จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยว่า นักบุญองค์อุปถัมภ์ของการแพร่ธรรม คือนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ผู้เป็นนักพรตหญิงในอารามคนหนึ่ง ให้เราฟังสิ่งที่ท่านเขียนไว้เรื่องตอนที่ท่านค้นพบกระแสเรียกของตัวเอง ท่านบอกว่า “ดิฉันเข้าใจแล้วว่าพระศาสนจักรมีหัวใจ และหัวใจนี้ลุกโชนด้วยความรัก ดิฉันเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ทำให้สมาชิกของพระศาสนจักรออกไปทำกิจการต่าง ๆ มีเพียงสิ่งเดียวคือความรัก หากความรักนี้มอดดับไป อัครสาวกทั้งหลายก็คงไม่ประกาศพระวรสาร และมรณสักขีทั้งหลายก็คงไม่หลั่งเลือด ดิฉันเข้าใจแล้วว่าความรักเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ครอบคลุมกระแสเรียกทุกอย่าง […] จากนั้น ดิฉันได้เปล่งร้องออกมาด้วยความปิติยินดีที่เปี่ยมล้นราวกับเป็นคนเสียสติว่า พระเยซูคริสต์เจ้าข้า ผู้ทรงเป็นความรักของดิฉัน … ในที่สุดดิฉันก็ได้พบแล้วว่ากระแสเรียกของดิฉันคืออะไร… กระแสเรียกของดิฉันคือความรัก […] ภายในพระศาสนจักรซึ่งเป็นมารดาของดิฉัน ดิฉันจะเป็นความรัก” (ต้นฉบับลายมืออัตชีวประวัติ “B”, 8 กันยายน ค.ศ. 1896) บรรดานักพรตเพ่งฌาน ไม่ว่าจะเป็นนักพรตชายหรือหญิง เขาทั้งหลายล้วนเป็นผู้ที่สวดภาวนา ทำงาน และอธิษฐานท่ามกลางความเงียบ เขาทำเช่นนี้เพื่อพระศาสนจักรทั้งมวล นี่คือความรัก ความรักที่แสดงออกผ่านทางการอธิษฐานภาวนาเพื่อพระศาสนจักร และการทำงานเพื่อพระศาสนจักร ภายในอารามแห่งต่าง ๆ
ความรักที่มีต่อคนทั้งมวลเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชีวิตของนักพรตชายหญิงในอาราม และถูกทำให้ออกมาในรูปของการอธิษฐานภาวนาแทนคนอื่น ในแง่มุมนี้ พ่ออยากจะเล่าให้ลูกฟังเรื่องแบบอย่างของนักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็ก นักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร ท่านเป็นนักพรตในอารามชาวอาร์เมเนียคนหนึ่ง มีชีวิตอยู่ช่วงประมาณปี ค.ศ. 1000 หนึ่งในผลงานที่ท่านได้มอบไว้เป็นมรดกแก่เรา คือหนังสือสวดภาวนาเล่มหนึ่ง ซึ่งได้กลั่นกรองความเชื่อของชาวอาร์เมเนียนออกมาเป็นหนังสือ ชาวอาร์เมเนียนเป็นชนชาติแรกที่ยอมรับคริสต์ศาสนา แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็ต้องพบกับความทุกข์ทรมานมากมายตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ สิ่งนี้ทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกับไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์ นักบุญเกรโกรีได้ใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดของท่านในอารามแห่งนาเร็ก ที่นั่นท่านได้เรียนรู้การสอดส่องเข้าไปในเบื้องลึกของจิตวิญญาณมนุษย์ และด้วยการหลอมรวมบทกวีเข้ากับคำภาวนา ท่านก็ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความเป็นเลิศสูงสุดทั้งในด้านวรรณกรรมและด้านวิชาชีวิตจิตของอาร์เมเนียน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากที่สุดเกี่ยวกับนักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็ก คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสากล ซึ่งท่านเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตีความขยายความเรื่องนี้ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันสากลเป็นสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ท่ามกลางบรรดานักพรตชายหญิงในอาราม พวกเขารับเอาทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกมาไว้ในใจของตน และพวกเขาก็อธิษฐานภาวนา หัวใจของนักพรตชายหญิงในอารามเป็นหัวใจที่เปรียบเสมือนเสาอากาศรับคลื่น ที่รับเอาทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกมารวมเข้าในคำภาวนาและการอธิษฐานแทนคนอื่น ในหนทางนี้เองที่พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าและกับทุกคน นักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็กได้เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ตั้งใจรับเอาความผิดบาปทั้งหลายทั้งปวงมาไว้กับตัว นับตั้งแต่ความผิดบาปของบิดาคนแรกแห่งมนุษยชาติ [คืออาดัม] เรื่อยมาจนถึงความผิดบาปของลูกหลานคนท้ายสุดของเขา” (เทียบ หนังสือคำคร่ำครวญ ของ นักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็ก, 72) นักพรตชายหญิงในอารามปฏิบัติตนตามอย่างพระเยซูคริสต์ ในการรับเอาปัญหา ความยากลำบาก ความเจ็บป่วย และเรื่องต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวงในโลกมาไว้กับตัว และพวกเขาอธิษฐานภาวนาเพื่อคนอื่น คนเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นผู้ประกาศพระวรสารที่ยิ่งใหญ่ แล้วอะไรล่ะที่เป็นเหตุผลของการที่คนในอารามเป็นผู้ประกาศพระวรสาร ทั้งที่พวกเขามีชีวิตอยู่แบบตัดขาดจากโลกภายนอก? นั่นก็เป็นเพราะว่านักพรตชายหญิงในอารามเป็นสะพานแห่งการอธิษฐานแทนผู้คนทั้งหมดในโลกและการภาวนาเพื่อบาปทั้งหลายของคนในโลก เช่น ผ่านทางคำพูด การอธิษฐานแทนผู้อื่น หรือการทำงานในแต่ละวัน พวกเขาเป็นทุกข์คร่ำครวญ บางครั้งถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา เพราะอะไร พวกเขาร้องไห้เพราะบาปของตนเอง (อย่าลืมว่าเราทุกคนล้วนเป็นคนบาป) แต่พวกเขาก็ยังร้องไห้เพราะบาปทั้งหลายของโลกด้วย พวกเขายกมือและยกจิตใจขึ้นภายในการภาวนาและในการอธิษฐานแทนผู้อื่น
ขอให้เราระลึกถึงนักพรตชายหญิงในอาราม ที่พ่ออยากจะลองใช้คำเรียกพวกเขาว่าเป็น “กำลังพลสำรอง” ที่เรามีในพระศาสนจักร พวกเขาคือความแข็งแกร่งที่แท้จริง คือพลังที่แท้จริง ที่ทำให้ประชากรของพระเจ้าได้เดินหน้าไป นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเวลาที่พวกเราซึ่งเป็นประชากรของพระเจ้าได้พบกับนักพรตชายหญิงในอาราม เราจึงมักจะขอคำภาวนาจากพวกเขา “ภาวนาเผื่อกระผมด้วย ภาวนาเผื่อดิฉันด้วย” เพราะประชากรของพระเจ้ารู้ดีว่าการอธิษฐานแทนผู้อื่นมีอยู่จริง ได้ผลจริง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่เราจะไปเยี่ยมเยือนอารามกันบ้างเท่าที่เราจะทำได้ เพราะว่าอารามเป็นสถานที่ที่นักพรตชายหญิงเช่นนี้ภาวนาและทำงาน แต่ละอารามมีกฎเกณฑ์ของตัวเอง แต่มือของบรรดานักพรตในอารามไม่เคยว่าง เพราะพวกเขาทำงาน พวกเขาภาวนา ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานอารามใหม่ ๆ ให้แก่ชาวเรา ขอให้พระองค์ประทานนักพรตชายหญิงคนใหม่ ๆ ในอารามให้แก่ชาวเรา เพื่อที่พวกเขาจะได้นำพาพระศาสนจักรก้าวไปข้างหน้าผ่านการอธิษฐานภาวนาแทนผู้อื่น พ่อขอบใจทุกคน
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เดนมาร์ก มอลตา เคนยา คูเวต ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ในความปิติยินดีแห่งพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ พ่ออวยพรให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับพระเมตตาที่เปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า พระบิดาของเราทั้งหลาย ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ อาศัยแรงบันดาลใจจากพระคริสตเจ้า ผู้ทรงปรากฏพระองค์แก่ “ศิษย์สองคนบนเส้นทางไปเอ็มมาอูส” (เทียบ ลก. 24,13-35) ขอให้ลูกได้รู้จักค้นพบพระเยซูคริสต์ในการภาวนาและในการรำพึงไตร่ตรอง เพื่อที่จิตใจของลูกจะลุกโชนขึ้นด้วยความปรารถนา ความกระตือรือร้น และความมั่นใจ เหมือนกับ[ศิษย์สองคน]ผู้เดินบนเส้นทางไปเอ็มมาอูส สิ่งเหล่านี้มีแต่พระอาจารย์ผู้เป็นพระเจ้าเท่านั้นที่จะประทานให้เราได้
พี่น้องทุกคน อย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อชาวยูเครนที่กำลังถูกทำร้ายด้วย
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศ ตั้งแต่วันนี้เราจะพิจารณาแบบอย่างของนักบุญจากทุกยุคทุกสมัย อันดับแรกเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่น้อมรับการใช้ชีวิตในอาราม การที่พวกเขาเป็นพยานด้วยการติดตามพระเยซูคริสต์ในความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนบนอบ ประกอบกับการที่พวกเขาอธิษฐานแทนผู้อื่น นับเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์แก่การเผยแผ่พระวรสารและการเติบโตของพระศาสนจักร ในวันนี้เราจะไตร่ตรองเกี่ยวกับนักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็ก นักพรตในอารามท่านหนึ่งในอาร์เมเนียช่วงยุคกลาง และยังเป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรด้วย งานเขียนของท่านแสดงให้เห็นถึงจารีตของคริสต์ศาสนาที่ฝังรากลึกในหมู่คนชาวอาร์เมเนียน ซึ่งเป็นชนชาติแรกที่ยอมรับพระวรสาร ภายในการใช้ชีวิตหลีกเร้นของนักบุญเกรโกรีแห่งนาเร็กภายในอาราม ท่านได้รู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ลึกซึ้งกับพระศาสนจักรทั้งหมด ตลอดจนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพันธกิจของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ให้แก่ทุกประเทศและทุกชนชาติ ท่านถือว่าตนเองเป็นหนึ่งในมนุษยชาติที่ต่างก็เป็นคนบาป และท่านได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อการอธิษฐานแทนคนบาป คนยากจน และผู้ที่ต้องการให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเยียวยาและประทานอภัยแก่เขา แบบอย่างของนักบุญเกรโกรีเห่งนาเร็กได้เตือนใจเราว่า เรามีหน้าที่ในการภาวนาเพื่อผู้อื่น เพื่อเป็นการร่วมมือสนับสนุนพันธกิจของพระศาสนจักร ในการประกาศพระวรสารแห่งการปรองดอง การไถ่กู้ และสันติสุขสำหรับมนุษยชาติทั้งมวลที่ล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)