
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (11) ประจักษ์พยานแห่งพระวรสาร บรรดามรณสักขี
หลังจากได้พูดเรื่องการประกาศพระวรสารและความร้อนในการประกาศข่าวดี ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองการเป็นพยานของนักบุญเปาโล ผู้เป็น “นักสู้” ที่แท้จริงแห่งความร้อนรนในการประกาศข่าวดีกันไปแล้ว วันนี้เราจะไปพิจารณาชีวิตของคนอีกจำพวกหนึ่ง นี่ไม่ได้เป็นเรื่องของคน ๆ เดียว แต่เป็นเรื่องของเหล่ามรณสักขีจำนวนมากมาย ที่มาจากทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา ซึ่งได้อุทิศชีวิตแก่พระเยซูคริสต์ด้วยการหลั่งเลือดเพื่อยืนยันความเชื่อต่อพระองค์ หากเราดูเรื่องราวภายหลังจากยุคสมัยของเหล่าอัครสาวก ก็จะเห็นว่าเหล่ามรณสักขีนั้นถือว่าเป็น “พยาน” ที่สำคัญจำเป็นสำหรับพระวรสาร มรณสักขีท่านแรกคือนักบุญสเตฟาโน สังฆานุกร ซึ่งถูกขว้างปาด้วยก้อนหินจนตายนอกกำแพงกรุงเยรูซาเล็ม คำว่ามรณสักขี หรือ มาร์ตีร์ (martyr) มาจากคำในภาษากรีกว่า martyria (มาร์ตีรีอา) แปลตรง ๆ ได้ว่า พยาน มรณสักขีทุกคนล้วนเป็นปรัจักษ์พยาน (โดยเป็นพยานจนถึงขั้นที่ต้องหลั่งเลือด) อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อมาไม่นานนัก คำว่ามาร์ตีร์ก็[ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายว่าพยานทั่ว ๆ ไปอีกต่อไป แต่]ถูกนำมาใช้เรียกผู้ที่เป็นประจักษ์พยานซึ่งได้หลั่งเลือดจนตัวตายโดยเฉพาะ (ดูหมายเหตุ 1) ในตอนแรกนั้นคำว่า “มาร์ตีร์” หมายถึงการเป็นประจักษ์พยานในทุก ๆ วัน แต่ในภายหลังถูกนำมาใช้สื่อถึงผู้ที่ถวายชีวิตหลั่งเลือด[เพื่อการเป็นพยาน] นักบุญออกัสตินได้กล่าวเน้นย้ำหลายครั้งถึงพลวัตของความรู้สึกขอบคุณและการให้ตอบโดยไม่เรียกอะไรตอบแทนเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ท่านได้เทศน์สอนในงานฉลองนักบุญลอเรนซ์ครั้งหนี่งว่า “ท่านนักบุญได้ทำหน้าที่สังฆานุกร ที่นั่นเองที่ท่านได้ปฏิบัติรับใช้จอกกาลิกซ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระโลหิตของพระเยซูคริสต์ และที่นั่นเอง ท่านก็ได้หลั่งเลือดของตนเพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์ นักบุญยอห์น อัครสาวก ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงพระธรรมล้ำลึกแห่งมื้ออาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า ‘พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่อเรา เราจึงควรสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้องเช่นเดียวกัน’ (1 ยน. 3,16) ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก นักบุญลอเรนซ์เข้าใจสิ่งนี้ และท่านได้ทำสิ่งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านได้จัดเตรียมสิ่งที่คล้ายกับที่ท่านได้รับที่ [พระแท่น ซึ่งก็คือ] โต๊ะอาหารนั้น ท่านรักพระเยซูคริสต์ในชีวิตของท่าน ท่านเอาอย่างพระเยซูคริสต์ในความตายของท่าน” (บทเทศน์ 304, 14; pl 38, 1395-1397) อย่างนี้เองที่นักบุญออกัสตินได้อธิบายพลวัตที่เป็นแรงบันดาลใจแก่เหล่ามรณสักขี ด้วยคำพูดที่ว่า มรณสักขีรักพระเยซูคริสต์ในชีวิตของเขา และเอาแบบอย่างพระเยซูคริสต์ในความตายของเขา
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในวันนี้ ให้เราระลึกถึงเหล่ามรณสักขีที่ได้อยู่เคียงคู่กับชีวิตของพระศาสนจักร พ่อเคยกล่าวไว้หลายครั้งว่า ยุคปัจจุบันนี้ของพวกเรามีมรณสักขีจำนวนมากกว่าในช่วงหลายศตวรรษแรก ทุกวันนี้ในพระศาสนจักรมีมรณสักขีมากมาย ขณะที่มีคนจำนวนมากที่ถูกกีดกันจากสังคมหรือถูกขังคุกเพราะว่าเขาประกาศตนว่าเชื่อในคริสต์ศาสนา มีคนเช่นนี้มากมาย สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้ย้ำเตือนเราว่า “การเป็นมรณสักขีทำให้ศิษย์เป็นเหมือนพระอาจารย์ของเขา ผู้ซึ่งทรงยอมรับความตายด้วยความเต็มพระทัยสำหรับความรอดของโลก และด้วยวิธีนี้เขาก็เป็นเหมือนกับพระองค์โดยการหลั่งโลหิต ดังนั้น พระศาสนจักรจึงถือว่าการเป็นมรณสักขีเป็นของขวัญอันสูงสุด และเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักขั้นสูงสุดด้วย” (สังฆธรรมนูญ Lumen gentium ว่าด้วยพระศาสนจักร: LG, ข้อ 42) มรณสักขีเป็นผู้ที่เอาอย่างพระเยซูคริสต์และอาศัยพระหรรษทานของพระองค์ ทำให้เขาเปลี่ยนความรุนแรงจากน้ำมือของผู้ที่ปฏิเสธการประกาศ[พระเยซูคริสต์] ให้กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักขั้นสูงสุด และยังทำให้พวกเขาถึงกับให้อภัยผู้ที่เบียดเบียนตนด้วย น่าสังเกตว่ามรณสักขีทุกท่านต่างให้อภัยผู้ที่เบียดเบียนตน นักบุญสเตฟาโน ปฐมมรณสักขี ได้อธิษฐานภาวนาตอนที่ท่านจะตายว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (เทียบ กก. 7,60; ลก. 23,34) คนที่เป็นมรณสักขีย่อมภาวนาเพื่อคนที่เบียนเบียนตน
มีคนเพียงส่วนน้อยที่ถูกเรียกให้เป็นมรณสักขี แต่ “ทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมที่จะประกาศถึงพระเยซูคริสต์ต่อหน้ามนุษย์ทั้งหลาย ทุกคนจะต้องพร้อมติดตามพระองค์ไปตามหนทางแห่งไม้กางเขนด้วยการประกาศยืนยันความเชื่อเช่นนี้ของตน แม้จะอยู่ท่ามกลางการเบียดเบียนต่อพระศาสนจักร ซึ่งการเบียดเบียนนี้ไม่มีวันหมดสิ้นไป” (LG, 42) การเบียดเบียนไม่ใช่เรื่องในอดีตหรือ ไม่เลยลูก ในทุกวันนี้ ในปัจจุบันนี้ มีการเบียดเบียนคริสตชนเกิดขึ้นทั่วโลก มีคริสตชนถูกเบียดเบียนมากมาย ทุกวันนี้มีมรณสักขีมากกว่าในยุคแรกเสียอีก บรรดามรณสักขีทำให้เราเห็นว่าคริสตชนทุกคนถูกเรียกให้เป็นพยานแห่งชีวิต ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นที่ต้องหลั่งเลือด แต่เราถูกเรียกให้มอบตัวเองเป็นของขวัญแก่พระเป็นเจ้าและต่อพี่น้องของเรา เพื่อเป็นการเอาอย่างพระเยซูคริสต์
พ่ออยากจะสรุปด้วยการนึกถึงการเป็นพยานของคริสตชนทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างเช่น พ่อนึกถึงประเทศเยเมน ซึ่งบอบช้ำด้วยสงครามที่เลวร้ายมานานหลายปี และยังเป็นสงครามที่ถูกลืม [ไม่มีใครสนใจ] ในสงครามนั้นมีคนตายมากมาย และมีคนต้องทุกข์ยากอีกจำนวนมากในตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็ก ๆ ในประเทศเยเมนนี้เองที่ได้มีคนที่ส่องแสงเจิดจรัสในฐานะเป็นพยานแห่งความเชื่อ เช่นบรรดานักบวชหญิงคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม[ของคุณแม่เทเรซา]ที่ได้อุทิศชีวิตของตนที่นั่น พวกเธอยังคงอยู่ที่เยเมนเพื่อช่วยเหลือคนชราที่ล้มป่วยและช่วยเหลือคนพิการ มีบางคนที่กลายเป็นมรณสักขี แต่คนอื่น ๆ ยังทำงานต่อไม่หยุดยั้ง พวกเธอต้องเสี่ยงชีวิต แต่คนที่เหลือก็ยังคงเดินหน้าต่อไป พวกเธอต้อนรับทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใด เพราะความเมตตาและความเป็นพี่น้องเป็นสิ่งที่ไม่มีพรมแดน เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 1998 ขณะที่[นักบวชหญิงสามคน ได้แก่]ซิสเตอร์อะเล็ตตา ซิสเตอร์เซเลีย และซิสเตอร์มีคาแอล กำลังเดินทางกลับบ้านหลังร่วมพิธีมิสซา พวกเธอก็ถูกพวกหัวรุนแรงสังหารด้วยเหตุผลว่าพวกเธอเป็นคริสตชน หรือในช่วงหลังจากนั้น เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2016 ไม่นานหลังจากที่ความขัดแย้งในปัจจุบันปะทุขึ้น [นักบวชหญิงสี่คน ได้แก่] ซิสเตอร์อันเซลม์ ซิสเตอร์มาร์เกริต ซิสเตอร์เรจิเนตต์ และซิสเตอร์ยูดิธ ถูกสังหารพร้อมกับฆราวาสคนอื่น ๆ ที่ได้ช่วยงานกิจเมตตาท่ามกลางบรรดาผู้ยากไร้ คนเหล่านี้เป็นมรณสักขีในยุคสมัยของเรา ในบรรดาฆราวาสที่ถูกสังหารตอนนั้น นอกจากจะมีคริสตชนแล้ว ยังมีชาวมุสลิมบางคนที่ร่วมงานกับเหล่านักบวชหญิงรวมอยู่ด้วย การที่เราได้เห็นว่าการเป็นพยานด้วยการหลั่งเลือดได้นำคนจากหลายศาสนาให้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ เราจะต้องไม่ฆ่าคนในนามของพระเป็นเจ้า เพราะสำหรับพระองค์แล้ว เราทุกคนต่างเป็นพี่น้องกัน แต่เมื่อเรามารวมกันเป็นหนึ่ง เราก็สามารถมอบชีวิตของเราเพื่อคนอื่นได้
ดังนี้แล้ว ให้เราภาวนาว่า อย่าให้เรารู้จักเหน็ดเหนื่อยในการเป็นประจักษ์พยานแก่พระวรสาร แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากก็ตาม ขอให้เหล่ามรณสักขีผู้ศักดิ์สิทธิ์ จงเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพและความปรองดองในหมู่ชนต่าง ๆ เพื่อสร้างโลกที่มีมนุษยธรรมและมีความเป็นพี่น้องกันมากกว่านี้ ขณะที่เราทั้งหลายต่างรอคอยให้พระอาณาจักรสวรรค์ได้รับการเผยแสดงทั้งครบ เมื่อพระเจ้าจะได้ทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน (เทียบ 1 คร. 15,28)
หมายเหตุ 1: ในงานเขียนชื่อ In Johannem (“ถึงยอห์น”) ของโอรีเยน (เกิดประมาณปี 185 เสียชีวิตประมาณปี 253) มีข้อความว่า “ดังนี้ ใครก็ตามที่เป็นพยานแก่ความจริง ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ หรือในทางใดก็ตาม อาจถูกเรียกอย่างเหมาะสมว่าเป็นพยาน (มาร์ตีร์) แต่ตอนนี้ ความเคารพรักที่มีต่อผู้ที่ได้ต่อสู้ดิ้นรนจนตัวตายเพื่อความจริงและความกล้าหาญ ได้ทำให้เกิดมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งในหมู่พี่น้อง นั่นคือการสงวนชื่อเรียก ‘มาร์ตีร์’ ไว้ใช้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ได้หลั่งเลือดเป็นพยานแก่พระธรรมล้ำลึกของพระเป็นเจ้าเท่านั้น” (II, 210)
พระสันตะปาปาฟรานซิสมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ในความปิติยินดีแห่งพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ พ่ออวยพรให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับพระเมตตาที่เปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า พระบิดาของเราทั้งหลาย ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ พ่อหวังว่าเมื่อลูกได้ออกจากกรุงโรมกลับไปยังบ้านเมืองของลูก ลูกจะไปเป็นพยานต่อความเชื่อที่กระตือรือร้นด้วยความทุ่มเทที่ได้รับการฟื้นฟูใหม่ เพื่อที่ลูกจะมีส่วนช่วยให้แสงสว่างของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคีนชีพได้ส่องสว่างในโลก
ให้เรายังคงตั้งใจภาวนาและส่งใจให้แก่ยูเครนที่กำลังถูกทำร้าย และยังต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมหาศาล
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี วันนี้เราจะพิจารณาแบบอย่างของเหล่ามรณสักขี ซึ่งเป็นคนจากทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา ซึ่งได้มอบชีวิตเพื่อเป็นพยานแก่พระวรสาร บรรดามรณสักขีเป็นผู้ที่ได้เป็นพยานอย่างโดดเด่นต่อความรักที่เราต่างเฉลิมฉลองทุกครั้งในพิธีมิสซา ซึ่งก็คือความรักที่ได้ทำให้พระเยซูคริสต์ทรงสละชีวิตเพื่อเรา และเราถูกเรียกให้เอาอย่างความรักอันนี้ (เทียบ 1 ยน. 3,16) ถึงแม้ว่าคริสตชนทุกคนต้องเตรียมพร้อมเป็นพยานแก่ความเชื่อเมื่อต้องเผชิญกับการเบียดเบียน แต่ในคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง การเป็นมรณสักขีถือว่าเป็น “ของขวัญอันสูงสุด และเป็นเครื่องพิสูจน์ความรักขั้นสูงสุด” (สังฆธรรมนูญ Lumen gentium ว่าด้วยพระศาสนจักร ข้อ 42) มรณสักขีในยุคสมัยของเรามีจำนวนมากยิ่งกว่าในช่วงแรกเริ่มของพระศาสนจักร เราอาจนึกถึงนักบวชหญิงคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม[ของคุณแม่เทเรซา]สองกลุ่มที่ถูกสังหารอย่างโหดร้ายภายในความขัดแย้งที่ประเทศเยเมนขณะที่พวกเธอทำงานเพื่อช่วยเหลือคนชราและคนพิการที่นั่น ขอให้แบบอย่างของบรรดามรณสักขีจงเป็นแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องให้แก่เรา เพื่อที่เราจะพยายามเป็นพยานแก่พระวรสาร ระหว่างที่เรารอคอยการมาถึงของพระอาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นพระอาณาจักรแห่งความปรองดอง ความยุติธรรม และสันติสุขของผู้คนทั้งมวล
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)