การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (10) พยานแห่งพระวรสาร นักบุญเปาโล (ภาคสอง)

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

            หลังจากที่เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเราได้เห็นความร้อนรนของนักบุญเปาโลที่มีต่อพระวรสาร ในวันนี้เราจะไตร่ตรองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อสิ่งที่นักบุญเปาโลได้กล่าวและอธิบายเกี่ยวกับความร้อนรนต่อพระวรสารไว้ภายในจดหมายของท่าน

            ประสบการณ์ของนักบุญเปาโลทำให้ท่านรู้ดีถึงอันตรายที่เกิดจากความร้อนรนในทางที่ผิด ที่มุ่งไปยังทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ตัวท่านเองเคยตกในอันตรายเช่นนี้ก่อนที่พระญาณสอดส่องจะทำให้ท่านล้มลงระหว่างทางไปดามัสกัส ในบางครั้งเราเองก็อาจต้องรับมือกับความร้อนรนในทางที่ผิด ที่ดื้อรั้นยึดติดกับการปฏิบัติตามบรรทัดฐานบางอย่างในประชาคมคริสตชน ทั้งที่บรรทัดฐานเช่นนั้นมาจากมนุษย์ล้วน ๆ และตอนนี้ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปแล้ว นักบุญเปาโลเขียนไว้ว่า “บุคคลเหล่านั้นเอาใจใส่ท่าน แต่มีเจตนาร้าย” (กท. 4,17) พวกเราไม่อาจหลับหูหลับตาต่อเรื่องที่ว่ามีบางคนที่รู้สึกสบายใจเมื่อได้อุทิศตนแก่ความพยายามบางอย่าง ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความพยายามที่ผิด แม้กระทั่งภายในประชาคมคริสตชนเอง บางคนอาจภูมิใจกับความร้อนรนต่อพระวรสาร ทั้งที่ความร้อนรนนั้นเป็นความร้อนรนอย่างผิด ๆ ขณะที่ความจริงแล้วเขาเพียงแต่พยายามเพื่อชื่อเสียงกลวง ๆ เพื่อความเชื่อมั่นบางอย่างของตน หรือเพื่อความรักตนเองด้วยนิดหน่อย

            เหตุผลเช่นนี้ทำให้เราถามตัวเองว่า ในความคิดของนักบุญเปาโล อะไรคือความร้อนรนที่แท้จริงต่อพระวรสาร ข้อความที่เราได้ยินเมื่อเริ่มต้น[การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป] ดูเหมือนจะมีประโยชน์สำหรับเรื่องนี้ ข้อความนั้นเป็นรายชื่อ “อาวุธ” ต่าง ๆ ที่นักบุญเปาโลชี้ว่าเป็นสิ่งที่นำมาใช้เพื่อการต่อสู้ฝ่ายจิต (เทียบ อฟ. 6,11-17) หนึ่งในนั้นคือความพร้อมที่จะประกาศพระวรสาร ซึ่งบางคนแปลว่า “ความร้อนรน” ซึ่งตัวนักบุญเปาโลเองก็มีความร้อนรนในการนำพาความคิด นำพาสิ่งต่าง ๆ อย่างที่ท่านทำ ความร้อนรนนี้ท่านเรียกว่าเป็น “รองเท้า” (อฟ. 6,15) นี่เป็นเพราะอะไร ความร้อนรนต่อพระวรสารเกี่ยวอะไรกับรองเท้า การอุปมาเปรียบเทียบแบบนี้ได้ยกข้อความหนึ่งจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ ที่กล่าวไว้ว่า “เท้าของผู้นำข่าวดีมาประกาศบนภูเขาช่างงามยิ่งนัก เขาประกาศสันติภาพ นำข่าวดี ประกาศความรอดพ้น กล่าวแก่ศิโยนว่า ‘พระเจ้าของท่านทรงเป็นกษัตริย์ปกครอง’” (อสย. 52,7)

            ในข้อความตอนนี้เช่นกัน เราได้เห็นการกล่าวถึงเท้าของผู้นำข่าวดีมาประกาศ เพราะอะไร เพราะว่าผู้ที่จะออกประกาศต้องเคลื่อนที่ไป เขาต้องเดินไป แต่เรายังสังเกตอีกด้วยว่าในข้อความนี้ นักบุญเปาโลกล่าวถึงรองเท้าว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดเกราะภายในการอุปมาเปรียบเทียบกับเครื่องอาวุธของทหารเวลาออกไปรบ ในการสู้รบนั้นจำเป็นต้องให้เท้ายืนหยัดได้อย่างมั่นคง เพื่อที่ว่าจะได้หลีกเลี่ยงหลุมพรางซึ่งศัตรูมักจะขุดเป็นกับดักไว้เต็มสนามรบ และเพื่อที่ว่าจะได้มีพลังออกวิ่งและเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น รองเท้าจึงมีไว้เพื่อวิ่ง และเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด [ที่เป็นกับดัก] ของศัตรู

            ความร้อนรนต่อพระวรสารคือสิ่งที่สนับสนุนการประกาศ ซึ่งการประกาศมีพื้นฐานอยู่ตรงนี้ ในแง่หนึ่ง ผู้ที่นำข่าวดีไปประกาศเป็นเหมือนกับเท้าของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระเยซูคริสต์ และหากไม่มีการเคลื่อนที่ ไม่มีการ “ออกไปข้างนอก” ไม่มีความคิดริเริ่ม ก็จะไม่มีการประกาศ เพราะฉะนั้นหากใครไม่เคลื่อนที่ คนนั้นก็ไม่เป็นคริสตชน หากใครไม่ออกจากกรอบของตัวเองเพื่อที่จะเริ่มเดินทางไปประกาศ คนนั้นก็ไม่เป็นคริสตชน ไม่มีการประกาศใดที่ไร้ซึ่งการเคลื่อนที่ ไร้ซึ่งการก้าวเดิน เราไม่สามารถประกาศพระวรสารโดยยืนอยู่นิ่ง ๆ เก็บตัวอยู่ในห้องทำงาน หน้าโต๊ะทำงาน หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วก็พิมพ์ข้อความเถียงกันเหมือนเป็น “นักรบคีย์บอร์ด” ซึ่งคนจำพวกนี้ แทนที่เขาจะใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อออกประกาศข่าวดี แต่เขากลับเพียงแค่เอาความคิดที่คัดลอกจากที่นั่นที่นี่มาตัดแปะ [แท้จริงแล้ว]การประกาศพระวรสารเป็นสิ่งที่กระทำด้วยการเคลื่อนที่ การก้าวเดิน และการเดินทางไป

            คำที่นักบุญเปาโลใช้อธิบายคำอุปมาถึงรองเท้า เป็นคำในภาษากรีกที่กล่าวถึงความพร้อม การเตรียมตัว ความกระตือรือร้น ซึ่งตรงกันข้ามกับความ “เฉื่อยชา” ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับความรัก นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ที่อื่นว่า “อย่าเฉื่อยชา จงมีจิตใจกระตือรือร้นในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า” (รม. 12,11) ทัศนคติเช่นนี้เป็นสิ่งที่หนังสืออพยพบอกไว้ว่าจำเป็นต่อการถวายเครื่องบูชาฉลองความรอดแห่งปัสกา “ท่านทั้งหลายจงกินโดยพร้อมที่จะเดินทาง คือคาดสะเอว สวมรองเท้า และถือไม้เท้า ท่านจงกินอย่างเร่งรีบ นี่เป็นปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในคืนนั้น เราจะผ่านเข้าไปทั่วแผ่นดินอียิปต์” (อพย. 12,11-12a)

            ผู้นำสารไปประกาศย่อมพร้อมที่จะออกเดินทาง และเขารู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จผ่านไปในวิธีที่เหนือความคาดหมาย เพราะฉะนั้นผู้นำสารไปประกาศจะต้องเป็นอิสระจากแผนการที่เตรียมไว้ก่อน ต้องพร้อมรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และพร้อมที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ เขาจะต้องพร้อมรับสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ผู้ที่ประกาศพระวรสาร จะต้องไม่ทำตัวเป็นซากกระดูกภายในกรงที่ถูกตีกรอบด้วยความคิดเรื่องสิ่งที่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้จริงตามหลักเหตุผล หรือกรงของความคิดที่ว่า “เขาก็ทำกันมาแบบนี้ตลอด” เขาต้องพร้อมที่จะเดินตามปรีชาญาณที่ไม่ได้เป็นของโลกนี้ นักบุญเปาโลได้พูดถึงตนเองไว้ว่า “วาจาและคำเทศน์ของข้าพเจ้ามิใช่คำพูดชวนเชื่ออย่างชาญฉลาด แต่เป็นถ้อยคำแสดงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า เพื่อมิให้ความเชื่อของท่านเป็นผลจากปรีชาญาณของมนุษย์ แต่เป็นผลจากพระอานุภาพของพระเจ้า” (1 คร. 2,4-5)

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก การพร้อมรับความแปลกใหม่แห่งพระวรสารเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้เป็นทัศนคติที่รวมถึงแรงผลักดัน การมีความคิดริเริ่ม และการก้าวออกไปก่อนเป็นอันดับแรก และย่อมไม่ได้หมายความถึงการปล่อยให้โอกาสการประกาศพระวรสารแห่งสันติสุขต้องหลุดลอยไป สันติสุขเช่นนี้เป็นสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงรู้ดีว่าจะประทานให้อย่างมากมายและดีกว่าที่โลกให้ได้อย่างไร

            นี่จึงเป็นเหตุผลที่พ่ออยากเตือนใจให้ลูกเป็นผู้ประกาศพระวรสารโดยไม่หยุดอยู่กับที่ ให้ลูกปราศจากความเกรงกลัว ให้ลูกเป็นผู้ที่ออกเดินหน้า เพื่อนำเอาความงามของพระเยซูคริสต์ ความเป็นสิ่งใหม่ของพระเยซูคริสต์ที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง [ไปมอบให้แก่คนอื่น] ลูกอาจบอกว่า “นั่นสิครับ พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งปฏิทิน” เพราะตอนนี้เรานับปีศักราชโดยให้พระองค์เป็นตัวตั้ง แต่นอกเหนือจากนี้ พระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้คนด้วย แล้วลูกล่ะ ลูกยินดีให้พระเยซูคริสต์เปลี่ยนแปลงจิตใจของลูกไหม หรือว่าลูกเป็นเพียงคริสตชนที่เย็นชืด ไม่เคลื่อนที่ไปไหน ให้ลูกคิดเรื่องนี้ และคิดถามตนเองสักนิดว่า เราเป็นผู้ที่กระตือรือร้นต่อพระเยซูคริสต์หรือไม่


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากสวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในความปิติยินดีแห่งพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ พ่ออวยพรให้ลูกและครอบครัวของลูกได้รับพระเมตตาที่เปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า พระบิดาของเราทั้งหลาย ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน

            วันอาทิตย์หน้าเป็นวันอาทิตย์แห่งพระเมตตา ซึ่งเป็นวันที่เราจะฉลองพระเมตตาของพระเป้นเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้เมตตาอยู่เสมอ ให้เราครุ่นคิดถึงพระเมตตาของพระเป็นเจ้าที่ต้อนรับเราทุกเมื่อ อยู่เคียงข้างเราตลอดเวลา และไม่เคยทิ้งเราไว้คนเดียว

            ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ พ่อขอเชิญชวนให้ลูกใช้เวลาในเทศกาลปัสกาโดยหันหน้าหาพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ซึ่งได้ถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาเพื่อเรา และเพื่อความรอดของเราด้วย

            และให้เราอธิษฐานภาวนาโดยไม่หยุดหย่อนเพื่อชาวยูเครนที่กำลังถูกทำร้าย ให้เราภาวนาเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากใหญ่หลวงของชาวยูเครน

พ่ออวยพรลูกทุกคน

            เมื่อวานนี้เป็นวันครบรอบ 60 ปีของสมณสาสน์สันติสุขในแผ่นดิน (Pacem in terris) ของนักบุญยอห์นที่ 23 ซึ่งท่านได้กล่าวต่อพระศาสนจักรและต่อโลกไว้ ในยุคสมัยที่มีความตึงเครียดมากมายถึงขีดสุดระหว่างสองค่าย ภายในสิ่งที่เรียกว่าสงครามเย็น ท่านได้แสดงให้ทุกคนเห็นถึงขอบฟ้ากว้างไกลในการพูดคุยเพื่อสันติภาพและสร้างสันติภาพ ขอบฟ้าที่ว่านี้คือแผนการของพระเป็นเจ้าที่มีต่อโลกและครอบครัวมนุษยชาติ สมณสาสน์ดังกล่าวถือเป็นพระพรอย่างแท้จริง เหมือนเป็นแสงเล็ก ๆ แห่งความสงบทางจิตใจที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางเมฆหมอกดำทะมึน ข้อความในสมณสาสน์นั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับกาลสมัย ให้พ่อยกมาเพียงข้อความต่อไปนี้ก็น่าจะเพียงพอ ข้อความนี้บอกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่าง ๆ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจก จะต้องได้รับการกำกับดูแล ซึ่งไม่ใช่โดยกำลังทหาร แต่โดยการกระทำที่สอดคล้องกับหลักการต่าง ๆ ที่มาจากการใช้เหตุใช้ผลอย่างถูกต้อง ซึ่งก็คือหลักการแห่งความจริง ความยุติธรรม การดำเนินการอย่างคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง และการร่วมมือกันอย่างจริงใจ” (ข้อ 114) พ่อขอเชิญชวนบรรดาผู้เชื่อ รวมทั้งบรรดาชายหญิงที่มีน้ำใจดี ให้อ่านสมณสาสน์ “Pacem in terries” นี้ และพ่อภาวนาให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากสมณสาสน์นี้ในเวลาที่เขาต้องวางแผนหรือตัดสินใจ


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

            ลูกๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราได้รำพึงไตร่ตรองถึงแบบอย่างของนักบุญเปาโล อัครสาวก ประสบการณ์ที่ท่านเคยเป็นผู้เบียดเบียนพระศาสนจักรได้ทำให้ท่านตระหนักดีถึงอันตรายของความร้อนรนที่ผิดทาง หรือความร้อนรนที่ไม่ได้มาจากความรักต่อพระคริสตเจ้า หากแต่มาจากความหยิ่งยะโส หรือความดื้อดึงตามใจตนเอง นักบุญเปาโลสอนว่าความร้อนรนที่แท้จริงต่อพระวรสารไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นสิ่งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสต์และพลังแห่งการกลับคืนชีพของพระองค์ ท่านได้กล่าวเอาไว้ในจดหมายของท่านโดยใช้วิธีอุปมาถึงการ “สวมใส่อาวุธครบชุดของพระเจ้า” และเตือนใจให้ผู้ฟัง “สวมรองเท้า” แห่งความพร้อมที่จะออกประกาศพระวรสารแห่งสันติสุข (เทียบ อฟ. 6,13) การอุปมาเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีวาทศิลป์งดงาม เพราะว่าเท้าของผู้ประกาศพระวรสารจะต้องยืนอย่างมั่นคง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา พร้อมทุกเมื่อที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ในความพยายามประกาศพระวรสารอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่น ให้เราแต่ละคนพิสูจน์ว่าตนเองมีความร้อนรนในการไตร่ตรองแยกแยะว่า อะไรเป็นเวลาและวิธีการที่ดีที่สุดในการที่เราจะประกาศพระเยซูคริสต์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ตลอดจนคำมั่นสัญญาของพระองค์ในการประทานสันติสุขและชีวิตที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน (General Audience) ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)