การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (8) การเป็นพยาน หนทางแรกของการประกาศพระวรสาร (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii nuntiandi – EN)

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

วันนี้เราจะมาฟังสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นกฎบัตร “magna carta” ของการประกาศพระวรสารในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็คือสมณลิขิตเตือนใจ “Evangelii nuntiandi” (EN, 8 ธันวาคม 1975) ของพระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่ 6 สมณลิขิตเตือนใจฉบับนี้เรียกได้ว่าเหมาะสมกับยุคสมัย ถึงแม้ว่าจะเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1975 แต่กลับรู้สึกว่าเหมือนกับเพิ่งจะเขียนเมื่อวานนี้ การประกาศพระวรสารไม่ได้เป็นแค่การถ่ายทอดคำสอนหรือศีลธรรม แต่อันดับแรกและสำคัญที่สุดนั้น การประกาศพระวรสารคือการเป็นประจักษ์พยาน เราไม่อาจประกาศพระวรสารได้หากเราไม่เป็นประจักษ์พยาน ประจักษ์พยานของการที่ตัวเราเองได้พบกับพระเยซูคริสต์ พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และได้ทรงทำให้ความรอดถูกเติมเต็มครบบริบูรณ์ การเป็นพยานเช่นนี้เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะว่าในอันดับแรก โลกต้องการ “ผู้ประกาศพระวรสารที่บอกเล่าเกี่ยวกับพระเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าที่ตัวผู้ประกาศพระวรสารเองควรรู้จักและคุ้นเคยอย่างดี” (EN, 76) นี่ไม่ใช่การถ่ายทอดอุดมการณ์หรือ “ข้อคำสอน” เกี่ยวกับพระเจ้า แต่เป็นการถ่ายทอดพระเจ้าที่ทรงมีชีวิตอยู่ในตัวเรา นี่คือการเป็นประจักษ์พยาน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งว่า “คนในยุคปัจจุบันยินดีรับฟังผู้ที่เป็นประจักษ์พยานมากกว่าผู้ที่เป็นครูอาจารย์ และหากว่าพวกเขาฟังครูอาจารย์ ก็เพราะว่าครูอาจารย์ก็เป็นประจักษ์พยานด้วย” (EN, 41) ดังนั้น การเป็นประจักษ์พยานพระเยซูคริสต์จึงเป็นทั้งวิธีการแรกในการประกาศพระวรสาร (เทียบ EN, 41) และเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งยวดที่ทำให้การประกาศพระวรสารมีประสิทธิภาพ (เทียบ EN, 76) เพื่อที่ว่าการประกาศพระวรสารจะให้ผลอันอุดม นี่คือเรื่องการเป็นประจักษ์พยาน

เราต้องจำไว้ว่าการเป็นประจักษ์พยานนั้นยังรวมถึงการมีความเชื่อที่รวมถึงการยอมรับและประกาศความเชื่อนั้น (professed faith) ด้วย หรือก็คือการที่เรามีความยึดมั่นที่หนักแน่นและเปิดเผยต่อพระเจ้าพระบิดา และพระบุตร และพระจิตเจ้า ผู้ทรงสร้างเราด้วยความรัก และทรงไถ่เราให้รอด ซึ่งก็คือการที่เรามีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงตัวเรา เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเรา รวมทั้งเปลี่ยนแปลงมาตรฐานและค่านิยมที่เราใช้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ดังนั้น การเป็นประจักษ์พยานจึงไม่สามารถแยกออกจากความสอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราประกาศ และการดำเนินชีวิตของเรา คนเราไม่อาจกลายเป็นคนน่าเชื่อถือได้เพียงแค่เรากล่าวข้อคำสอนหรืออุดมการณ์บางอย่าง ไม่เลย ผู้ใดจะเป็นคนน่าเชื่อถือได้ เขาจะต้องมีความเชื่อและชีวิตที่สอดประสานกัน คริสตชนจำนวนมากอาจพูดอย่างหนึ่ง แต่มีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ราวกับว่าเขาไม่มีความเชื่อ นี่คือความหน้าซื่อใจคด ความหน้าซื่อใจคดเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการเป็นพยาน บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราได้ยินว่า “โถ คนนี้ไปมิสซาทุกวันอาทิตย์ แต่เขากลับใช้ชีวิตอย่างนี้อย่างนั้น” จริงทีเดียวว่านี่คือการเป็นประจักษ์พยานในทางตรงข้าม

เราแต่ละคนถูกเรียกให้ตอบคำถามพื้นฐานสามข้อ ซึ่งนักบุญเปาโลที่ 6 ได้ถามเราว่า ลูกเชื่อในสิ่งที่ลูกกำลังประกาศอยู่หรือไม่ ลูกกำลังมีชีวิตอย่างที่ลูกเชื่อหรือไม่ และลูกประกาศอย่างเดียวกับหนทางที่ลูกใช้ชีวิตอยู่หรือไม่ (เทียบ EN, 41) ความสอดประสานมีอยู่หรือไม่ ลูกเชื่อในสิ่งที่ลูกประกาศหรือไม่ ลูกใช้ชีวิตตามสิ่งที่ลูกเชื่อหรือไม่ ลูกประกาศสิ่งที่เป็นหนทางการใช้ชีวิตของลูกหรือไม่ เราไม่อาจพึงพอใจกับคำตอบง่าย ๆ ที่คนอื่นเตรียมเอาไว้ก่อนแล้ว เราถูกเรียกให้ยอมรับความเสี่ยงที่จะออกค้นหา ถึงแม้ว่าความเสี่ยงเช่นนี้จะสั่นคลอนเราก็ตาม เราต้องออกค้นหาโดยเชื่อมั่นวางใจอย่างเต็มเปี่ยมต่อกิจการของพระจิตเจ้าซึ่งทรงกระทำภายในเราแต่ละคน และทรงผลักดันเราให้เดินหน้าต่อไปอีก ก้าวข้ามเส้นแบ่งรอบตัวเรา ก้าวข้ามอุปสรรคเบื้องหน้าเรา ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเรา ไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม

ในความหมายนี้ การเป็นพยานถึงชีวิตคริสตชนจึงต้องมีการเดินไปบนเส้นทางของความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพื้นฐานอยู่ในศีลล้างบาป การเดินไปบนเส้นทางนี้ทำให้เรา “มีส่วนแบ่งปันในพระธรรมชาติของพระเจ้า ในทางนี้เองที่เขาทั้งหลายจะถูกทำให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง” (สังฆธรรมนูญ Lumen gentium ว่าด้วยพระศาสนจักร ข้อ 40) ความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะคนไม่กี่คน แต่เป็นของขวัญจากพระเจ้าที่เรียกร้องให้เรารับฟังและทำให้เกิดผลทั้งแก่ตัวเราเองและผู้อื่น เราในฐานะผู้ที่พระเจ้าทรงรักและทรงเลือกสรร ต้องนำความรักนี้ไปให้คนอื่น นักบุญเปาโลที่ 6 ได้สอนว่า ความร้อนรนในการประกาศพระวรสารเป็นสิ่งที่หลั่งไหลออกมาจากความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไหลออกมาจากหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเจ้า เมื่อการประกาศพระวรสารได้รับการเลี้ยงดูด้วยการอธิษฐานภาวนา และเหนือสิ่งอื่นใดคือด้วยความรักที่มีต่อศีลมหาสนิท ก็จะทำให้ผู้คนที่ประกาศนั้นได้มีความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปด้วย (เทียบ EN, 76) แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้ประกาศพระวรสารไม่มีความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ คำพูดของเขา “ก็จะเข้าถึงหัวใจของผู้คนในยุคใหม่นี้ได้ยาก” และ “เสี่ยงที่จะกลายเป็นความหยิ่งยะโสและไม่ทำให้เกิดดอกผล” (เทียบ EN, 76)

ดังนี้แล้ว พวกเราจึงต้องตระหนักว่าคนที่เป็นเป้าหมายของการประกาศพระวรสาร ไม่ได้มีแค่เฉพาะคนอื่นที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวพวกเราเองที่เป็นผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์และเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้นของประชากรพระเจ้าอีกด้วย เราต้องกลับใจในทุก ๆ วัน ให้เรายอมรับพระวาจาของพระเจ้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตเราในทุกวัน นี่คือหนทางการประกาศพระวรสารยังหัวใจ ขณะที่พระศาสนจักรเองก็ต้องเริ่มจากการประกาศพระวรสารให้แก่ตนเองด้วยก่อนที่จะไปเป็นประจักษ์พยานได้ หากพระศาสนจักรไม่ประกาศพระวรสารให้แก่ตัวเอง ก็เสี่ยงที่จะกลายสภาพเป็นของเก่าในพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่อย่างนั้น พระศาสนจักรได้รับการฟื้นฟูให้ใหม่อยู่เสมอผ่านการประกาศพระวรสารแก่ตัวเอง พระศาสนจักรต้องรับฟังอย่างไม่หยุดหย่อนต่อสิ่งที่พระศาสนจักรต้องเชื่อ ต่อสิ่งที่พระศาสนจักรถือว่าเป็นเหตุผลสำหรับความหวัง และต่อพระบัญญัติใหม่แห่งความรัก พระศาสนจักรซึ่งเป็นประชากรของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางโลก และมักจะต้องเจอการผจญโดยพระเทียมเท็จซึ่งมีอยู่มากมายนั้น จำเป็นต้องได้ยินการประกาศกิจการของพระเจ้าในทุกเวลา กล่าวสั้น ๆ คือ พระศาสนจักรมีความจำเป็นอยู่ตลอดเวลาในการรับการประกาศพระวรสาร พระศาสนจักรต้องอ่านพระวรสาร ต้องอธิษฐานภาวนา และต้องรู้สึกถึงพลังอำนาจของพระจิตที่เปลี่ยนแปลงหัวใจของพระศาสนจักรด้วย (เทียบ EN, 15)

พระศาสนจักรที่ประกาศพระวรสารแก่ตัวเองเพื่อที่จะนำพระวรสารไปประกาศให้คนอื่น ถูกเรียกให้ก้าวเดินตามพระจิตเจ้า ที่ทรงนำพระศาสนจักรไปบนเส้นทางที่ยากลำบากแห่งการกลับใจและการฟื้นฟู สิ่งนี้รวมถึงความสามารถในการเปลี่ยนแนวทางของการทำความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ และของการดำรงอยู่เพื่อประกาศพระวรสารท่ามกลางประวัติศาสตร์ โดยพยายามหลีกเลี่ยงการหลบตัวอยู่แต่ภายในเขตปลอดภัยของตรรกะแบบที่บอกว่า “เขาทำแบบนี้กันมานานแล้ว” การหลบตัวอยู่เช่นนี้ทำให้พระศาสนจักรล้มป่วย พระศาสนจักรต้องเดินไปข้างหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะยังคงอ่อนเยาว์อยู่ต่อไป พระศาสนจักรทั้งครบหันหน้าหาพระเจ้า จึงเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในแผนการของพระองค์เพื่อช่วยมนุษยชาติให้ได้รับความรอด และในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรทั้งครบก็หันหน้าหามนุษยชาติด้วย พระศาสนจักรจะต้องพบปะและพูดคุยเสวนากับโลกร่วมสมัย ต้องถักทอความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง และสร้างพื้นที่ของการพบปะ ด้วยการทำกิจการดีในการเป็นเจ้าบ้าน ในการต้อนรับ ยอมรับ รับเอาผู้อื่นและความแตกต่างของผู้อื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตน และยังต้องเป็นพระศาสนจักรที่ใส่ใจต่อสิ่งสร้างซึ่งเป็นบ้านร่วมกันของเราด้วย พระศาสนจักรต้องพบปะและยินดีเสวนากับโลกยุคปัจจุบัน ต้องพูดคุยเสวนากับโลกปัจจุบัน แต่ก็ต้องพบปะและพูดคุยกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในทุกวัน และเปิดทางให้พระจิตเจ้า ผู้ทรงกระทำกิจการประกาศพระวรสาร ให้เข้ามาสถิตในพระศาสนจักรด้วย หากไม่มีพระจิตเจ้า เราก็ทำได้เพียงแต่โฆษณาให้คนรู้จักพระศาสนจักร แต่ไม่อาจประกาศพระวรสารได้ ผู้ที่ผลักดันเราสู่การประกาศพระวรสารคือพระจิตเจ้า และนี่คือเสรีภาพที่แท้จริงของผู้คนที่เป็นลูกพระ

ลูกที่รัก พ่ออยากเชิญชวนอีกครั้งให้ลูกอ่านสมณลิขิตเตือนใจ “Evangelii nuntiandi” หลาย ๆ ครั้ง ที่จริงแล้วพ่อเองก็อ่านบ่อยเช่นกัน เพราะว่านี่เป็นผลงานชิ้นเอกของนักบุญเปาโลที่ 6 เป็นมรดกที่ท่านมอบไว้ให้เรา เพื่อที่เราจะได้ไปประกาศพระวรสาร


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ขอให้การเดินทางในเทศกาลมหาพรตจงชำระจิตใจของพวกเราจนสะอาด และฟื้นฟูจิตใจของเราขึ้นใหม่ด้วยพระหรรษทานแห่งพระจิตเจ้า เพื่อนำเราไปสู่วันปัสกา พ่อขออวยพรให้ลูกทุกคนและครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขในพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพของเรา

ในท้ายสุดนี้เหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงานใหม่ ขอให้การใช้ชีวิตของเราในช่วงเทศกาลมหาพรตช่วยให้เรากลับมาค้นพบของขวัญยิ่งใหญ่ของการเป็นศิษย์พระเยซูคริสต์เจ้า ให้ลูกเดินตามพระองค์โดยไม่มีข้อแม้ และเอาอย่างพระองค์ที่ทรงอุทิศตนให้แก่พระประสงค์ของพระบิดา และทรงมีความรักให้แก่พี่น้องของพระองค์

พ่อขออวยพรทุกคน

วันนี้เป็นวันน้ำโลก ทำให้พ่อนึกถึงคำพูดหนึ่งของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีที่ว่า “พระเจ้าข้า โปรดทรงได้รับการสรรเสริญผ่านทางสายน้ำ ซึ่งเป็นพี่น้องของเรา ที่ทั้งมีประโยชน์ ถ่อนตน มีค่า และบริสุทธิ์” คำพูดเรียบง่ายเช่นนี้ทำให้เรารู้สึกถึงความงามของสิ่งสร้าง และตระหนักถึงความท้าทายในการทะนุถนอมดูแลสิ่งสร้างด้วย ในช่วงเวลานี้กำลังมีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยน้ำอยู่ที่นครนิวยอร์ก [ของสหรัฐ] พ่อภาวนาให้การประชุมนี้เกิดผลสำเร็จ และหวังว่าเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้จะช่วยเร่งความคิดริเริ่มเพื่อสนับสนุนผู้คนที่ประสบปัญหาจาการขาดแคลนน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เราไม่ควรใช้น้ำอย่างเปล่าประโยชน์ หรือเอาไปใช้อย่างผิด ๆ หรือทำให้น้ำเป็นต้นเหตุของสงคราม แต่เราต้องรักษาน้ำไว้เพื่อประโยชน์ของเราเองและของคนรุ่นหลัง

ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ เราจะสมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์ ให้เรานึกถึงวันที่ 25 มีนาคมเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันที่พ่อได้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาบิชอปทั่วโลก ในการยกถวายพระศาสนจักรและมนุษยชาติทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ไว้กับหฤทัยนิรมลของพระแม่มารีย์ ให้เราพยายามอย่างไม่ท้อถอย ในการฝากความหวังต่อสันติภาพไว้กับแม่พระ ราชินีแห่งสันติภาพ ดังนั้น พ่ออยากเชิญชวนให้ผู้เชื่อทุกคนและทุกประชาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มภาวนาต่าง ๆ ได้ถวายพระศาสนจักรและมนุษยชาติทั้งมวลไว้กับแม่พระอีกในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี เพื่อที่ว่าแม่พระผู้เป็นมารดา จะช่วยคุ้มครองให้เราทุกคนมีสันติสุขและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในเวลานี้ ขอให้เราอย่าลืมชาวยูเครน ซึ่งกำลังประสบความยากลำบากและทนทรมานอย่างมาก


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี วันนี้เราจะไตร่ตรองคำสอนของนักบุญเปาโลที่ 6 ที่ท่านได้กล่าวไว้ในสมณลิขิตเตือนใจ Evangelii nuntiandi เรื่องการประกาศพระวรสารในโลกสมัยใหม่ ท่านได้เน้นย้ำว่าการประกาศพระวรสารนั้น อย่างแรกสุดคือการที่เราให้ตัวเราเองเป็นพยานแก่พระวรสารและความจริงแห่งพระวรสารที่ช่วยให้รอดพ้น ด้วยเหตุนี้เอง ท่านได้เน้นความสำคัญของการที่เราทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปจะต้องมีความเชื่อที่มีชีวิตในพระเจ้าผู้ทรงเป็นพระตรีเอกภาพ และแสดงออกด้วยการใช้ชีวิตศักดิ์สิทธิ์ สอดคล้องอย่างสมบูรณ์กับสิ่งที่เราประกาศ การมีชีวิตเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีพื้นฐานในพระจิตเจ้า ที่เราได้รับในศีลล้างบาป เป็นแหล่งที่มาของความร้อนรนในการนำสมบัติมีค่าซึ่งก็คือชีวิตใหม่และความหวังของเราไปแบ่งปันกับผู้อื่น นักบุญเปาโลที่ 6 ยังได้กล่าวเพิ่มอีกว่าพระศาสนจักรไม่เพียงแต่ประกาศพระวรสารให้คนอื่นเท่านั้น แต่ยังรับการประกาศพระวรสารด้วย กล่าวคือ พระศาสนจักรได้รับการเรียกให้กลับใจและฟื้นฟูชีวิตภายในในพระจิตเจ้า พระศาสนจักรที่ประกาศพระวรสารจึงมุ่งหน้าทั้งครบไปยังพระเป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งความรอดของเรา และในขณะเดียวกัน พระศาสนจักรทั้งครบก็ร่วมในการพูดคุยเสวนาอย่างสร้างสรรค์กับโลก เป็นการร่วมมือกับแผนการที่เปี่ยมด้วยพระคุณของพระเป็นเจ้า เพื่อสร้างสันติสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์ชาติที่เป็นครอบครัวเดียวกันของเรา


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)