การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience) เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 2023


คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (6) สภาสังคายนาวาติกันที่สอง 1) การประกาศพระวรสารในฐานะการรับใช้ของพระศาสนจักร

เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์

            ในการเรียนคำสอนครั้งที่แล้ว เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “สภาสังคายนา” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรที่จัดขึ้นที่เยรูซาเล็มเพื่อประชุมเรื่องการประกาศพระวรสาร กล่าวคือ เรื่องการประกาศข่าวดีแก่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวยิว เพราะในยุคนั้นเชื่อกันว่าพระวรสารเป็นสิ่งที่มุ่งประกาศแก่เฉพาะชาวยิวแต่เพียงอย่างเดียว การประชุมสังคายนาครั้งแรกนี้ไม่ต่างจากสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้บอกให้ผู้คนได้รับรู้ว่าพระศาสนจักรคือประชากรของพระเจ้าที่จาริกอยู่ท่ามกลางกาลเวลา และมีความเป็นธรรมทูตโดยธรรมชาติ (เทียบ พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตของพระศาสนจักร ข้อ 2) นี่หมายความว่าอย่างไร ที่จริงแล้วระหว่างการประชุมสังคายนาครั้งแรกกับครั้งล่าสุด มีสิ่งหนึ่งคล้าย ๆ สะพานเชื่อมต่อกันอยู่ ภายใต้ร่มธงแห่งการประกาศพระวรสาร สะพานนี้ออกแบบโดยพระจิตเจ้า วันนี้เราจะไปฟังสิ่งที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้สอนแก่เรา เพื่อค้นพบว่าการประกาศพระวรสารนั้น แท้จริงแล้วเป็นงานรับใช้ของพระศาสนจักร ไม่ใช่สิ่งที่ทำคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวกับคนอื่น และไม่ได้เป็นเรื่องปัจเจก การประกาศพระวรสารเป็นสิ่งที่ต้องกระทำภายในพระศาสนจักร คือท่ามกลางประชาคม และจะต้องทำโดยไม่ใช่การชักจูงคนให้มาเข้าศาสนา เพราะนั่นไม่ใช่การประกาศพระวรสาร

            แน่นอนว่าผู้ที่นำพระวรสารออกไปประกาศนั้น เขาประกาศสิ่งที่ตนเองได้รับมาอีกทีหนึ่ง นักบุญเปาโลเป็นคนแรกที่เขียนเช่นนี้ ท่านกล่าวว่าพระวรสารที่ท่านประกาศ ซึ่งเป็นพระวรสารที่ประชาคมในที่ต่าง ๆ ได้รับแล้ว และยังคงยึดมั่นอยู่นั้น เป็นอันเดียวกันกับที่ท่านได้รับมาอีกทีหนึ่ง (เทียบ 1 คร. 15,1-3) ความเชื่อเป็นสิ่งที่ได้รับและถูกถ่ายทอด พลวัตของพระศาสนจักรในการถ่ายทอดพระวรสารเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีผลผูกพัน และเป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือแห่งการประกาศของคริสตชน นักบุญเปาโลได้เขียนถึงชาวกาลาเทียว่า “หากใครประกาศข่าวดีขัดแย้งกับที่เราเคยประกาศแก่ท่าน ถึงแม้เขาจะเป็นพวกเราเองหรือเป็นทูตสวรรค์ ก็ขอให้ผู้นั้นถูกสาปแช่งเถิด” (เทียบ กท. 1,8) ถ้อยคำนี้สวยงาม และยังนำไปใช้กล่าวได้กับมุมมองหลายต่อหลายอย่างที่เป็นไปตามกระแสสมัยใหม่ด้วย

            อย่างไรก็ตาม ความที่การประกาศพระวรสารมีมิติที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรเช่นนี้ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งในการตรวจสอบยืนยันว่าความร้อนรนในการประกาศข่าวดีเป็นของจริงหรือของปลอม การตรวจสอบยืนยันเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่าเรามักพบการผจญที่ยั่วยวนให้เราออกเดินหน้าไป “คนเดียว” อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่หนทางเริ่มยากลำบาก และทำให้เรารู้สึกว่าการต้องรับผิดชอบกลายเป็นภาระหนัก อีกสิ่งหนึ่งที่อันตรายไม่แพ้กันคือการผจญที่ต้องการยั่วยวนให้เราเดินไปในหนทางที่ง่ายกว่า แต่เป็นหนทางแบบพระศาสนจักรปลอม ๆ คือการรับเอาตรรกะของโลกที่ใช้สถิติตัวเลข ใช้การทำโพลสำรวจความคิดเห็น หรือให้เราพึ่งพาความแข็งแกร่งในความคิด แผนการ โครงสร้างต่าง ๆ ของเราเอง หรือแม้กระทั่งการพึ่งพา “เส้นสาย” ด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จ เพราะถึงแม้สิ่งเหล่านี้อาจช่วยอะไรได้บางอย่าง แต่สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ คือความแข็งแกร่งที่เราได้รับจากพระจิตเจ้า เพื่อการประกาศความจริงของพระเยซูคริสต์คริสต์ เพื่อการประกาศพระวรสาร ขณะที่สิ่งอื่น ๆ เป็นเพียงเรื่องรองลงมา

            เอาล่ะ ตอนนี้พ่อขอให้ลูกได้เรียนรู้จากสภาสังคายนาวาติกันที่สองโดยตรงให้มากขึ้น ด้วยการกลับมาอ่านข้อความจากพระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตของพระศาสนจักร (Ad Gentes: AG) เอกสารของสภาสังคายนาวาติกันที่สองฉบับนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจกรรมการแพร่ธรรมของพระศาสนจักร และยังมีคุณค่าเต็มเปี่ยมอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าตอนนี้เราจะอยู่ท่ามกลางบริบทที่ซับซ้อนและมีความหลากหลายเป็นพหุนิยมก็ตาม

            อย่างแรกสุด พระสมณกฤษฎีกา “Ad Gentes” ได้เชิญชวนเราให้พิจารณาความรักของพระเจ้าพระบิดาในฐานะที่เป็นบ่อน้ำต้นธาร ซึ่งพระบิดาได้ทรงทำให้ “ความดีของพระองค์หลั่งไหลออกมาด้วยน้ำพระทัยกว้าง และไม่ทรงหยุดยั้งที่จะแสดงเช่นนี้ต่อไป และยังทรงเรียกเรามาให้มีส่วนร่วมในชีวิตและพระสิริรุ่งโรจน์กับพระองค์” ด้วย “พระทัยดีและพระกรุณาล้นเหลือของพระองค์” นี่คือกระแสเรียกของเราทุกคน ฉะนี้เอง “พระองค์ซึ่งทรงเป็นพระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวง ในที่สุดจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร. 15,28) โดยทรงประทานพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และความสุขของเราให้พร้อมกัน” (เทียบ AG, 2) ข้อความท่อนนี้เป็นรากฐานสำคัญ เพราะว่าได้กล่าวว่าความรักของพระบิดามีไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ความรักของพระเจ้าไม่ได้มีไว้เพื่อคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ใช่นะลูก แต่มีไว้เพื่อทุกคน ให้ลูกจำเรื่องนี้ไว้ให้ดี ทั้งในสมองและในหัวใจด้วย ทุกคน ทุกคน ไม่มีใครถูกกีดกัน นี่คือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสไว้ และความรักสำหรับมนุษย์ทุกคนเช่นนี้เป็นความรักที่ไปถึงชายหญิงทุกคนผ่านทางพันธกิจพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นตัวกลางแห่งความรอดและพระผู้ไถ่ของเรา (เทียบ AG, 3) และผ่านพันธกิจของพระจิตเจ้า (เทียบ AG, 4) ที่ทำงานภายในทุก ๆ คน ทั้งผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว และผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป พระจิตเจ้าทรงทำงาน !

            สภาสังคายนาได้เตือนเราต่อไปด้วยว่า งานของพระศาสนจักร คือการสานต่อพันธกิจของพระเยซูคริสต์ให้ดำเนินต่อเนื่อง พระเยซูคริสต์ “ทรงถูกส่งมาเพื่อเทศน์สอนข่าวดีให้กับผู้ยากจน” ดังนั้น พระสมณกฤษฎีกาได้กล่าวต่อไปว่า “จึงจำเป็นที่พระศาสนจักร ภายใต้การปลุกเร้าของพระจิต ต้องเดินในทางที่พระคริสตเจ้าทรงดำเนินมาแล้ว ในวิถีทางของความยากจน ความนอบน้อม การรับใช้ และการมอบถวายตนเองจนแม้จะถึงแก่ความตาย ความตายนั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงได้รับชัยชนะด้วยการกลับคืนพระชนม์ชีพ” (AG, 5) หากพระศาสนจักรซื่อตรงต่อ “หนทาง” นี้ พันธกิจของพระศาสนจักรก็จะเป็น “การแสดงองค์ของพระเยซูคริสต์ หรือการแสดงพระบัญชาของพระเจ้า” และเป็น “การทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จไปในโลกและในประวัติศาสตร์ของโลก” (AG, 9)

            ลูกที่รัก ข้อความสั้น ๆ ข้างต้น ยังช่วยให้เราเข้าใจความหมายของความร้อนรนในการประกาศข่าวดีของบรรดาศิษย์ธรรมทูตแต่ละคนในความเกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรอีกด้วย ความร้อนรนในการประกาศข่าวดีไม่ใช่ความรู้สึกกระตือรือร้น [อย่างธรรมดา] แต่เป็นพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้าที่เราต้องถนอมรักษาไว้ เราต้องเข้าใจความหมายของสิ่งนี้ เพราะว่าในหมู่ประชากรของพระเจ้าที่เป็นผู้จาริกและเป็นธรรมทูตนั้น ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครมีหน้าที่เป็นแนวรุก หรือใครมีหน้าที่เป็นผู้รับ เราไม่มีการแบ่งแยกว่า คนนี้เป็นผู้เทศน์สอน คนนี้เป็นผู้ประกาศพระวรสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่วนคนที่เหลือเป็นพวกที่อยู่เงียบ ๆ ไม่ใช่นะลูก พระสมณสาสน์เตือนใจเรื่องความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (Evangelii Gaudium: EG) [ของพ่อ] ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้รับศีลล้างบาปทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีสถานะใดในพระศาสนจักร หรือได้รับอบรมด้านความเชื่อในระดับใดก็ตาม ต่างเป็นผู้ทำงานเพื่อประกาศพระวรสาร” (EG, 120) “ลูกเป็นคริสตชนใช่ไหม” “ใช่ครับ ลูกได้รับศีลล้างบาปแล้ว” “แล้วลูกประกาศพระวรสารบ้างไหม” “การประกาศพระวรสารคืออะไรเหรอครับ” พ่อขอบอกลูกว่า หากลูกไม่ประกาศพระวรสาร ถ้าลูกไม่เป็นพยาน ถ้าลูกไม่เป็นพยานของศีลล้างบาปที่ลูกได้รับ ถ้าลูกไม่เป็นพยานความเชื่อที่องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ลูก ลูกก็ไม่ใช่คริสตชนที่ดี ใครก็ตามที่ได้รับศีลล้างบาป เขาย่อมมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักร และหมายความว่ามีส่วนร่วมในพันธกิจของพระคริสต์ ผู้ทรงเป็นราชา สมณะ และประกาศกด้วย เพราะอาศัยศีลล้างบาปที่ทำให้เขาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกายของพระศาสนจักร ลูกที่รัก งาน [ของคริสตชนแต่ละคน] ที่ว่านี้ “เป็นหน้าที่เดียวและเหมือนกันในทุกแห่งและในทุก ๆ สภาพการณ์ ถึงแม้อาจจะดำเนินการแตกต่างกันตามสภาพการณ์แวดล้อม” (AG, 6) คำพูดนี้เชื้อเชิญให้เรางดเว้นจากการทำตัวเข้มงวด หรือแข็งกระด้างไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงเหมือนซากกระดูก หากว่าเรางดเว้นเช่นนี้ได้ เราก็จะได้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายใจต่าง ๆ ที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า นอกจากนี้ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดียังแสดงออกในรูปแบบของความคิดสร้างสรรค์เพื่อค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อการประกาศและเป็นพยาน รวมทั้งหนทางใหม่ ๆ ในการไปพบเจอกับมนุษยชาติที่บอบช้ำเป็นแผล (ซึ่งพระเยซูคริสต์เจ้าได้ทรงรับสภาพมนุษย์และได้เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติเช่นนี้) กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการค้นหาหนทางใหม่เพื่อรับใช้พระวรสารและรับใช้มนุษยชาติ การประกาศพระวรสารคือการรับใช้ หากใครบอกว่าตัวเองกำลังประกาศพระวรสาร แต่ไม่มีทัศนคติของการรับใช้ ไม่มีหัวใจของผู้รับใช้ แต่กลับคิดว่าตัวเองเป็นนายคนอื่น เขาคนนั้นไม่ใช่ผู้ประกาศพระวรสาร ไม่เลย เขากำลังอยู่ในความวิบัติต่างหาก

            เมื่อเรากลับมายังต้นธารแห่งความรักของพระบิดา พันธกิจของพระบุตร และพันธกิจของพระจิต เราย่อมจะไม่ถูกปิดกั้นอยู่ภายในพื้นที่ส่วนตัวที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจอยู่คนเดียวด้วยเหตุที่ว่าไม่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะในทางตรงกันข้าม การทำเช่นนี้ย่อมนำพาเราไปรู้จักกับของขวัญที่เราได้รับมาโดยไม่ต้องจ่ายอะไรตอบแทน ของขวัญอันนี้เรียกเราให้มีชีวิตครบบริบูรณ์ เราสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญอันนี้ แต่ของขวัญนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับพวกเราเท่านั้น แต่มีไว้มอบให้คนอื่นด้วย นอกจากนี้การแบ่งปันสิ่งที่เราได้รับมาให้แก่ผู้อื่น ด้วยความรู้สึกรับผิดชอบ และด้วยการเดินไปด้วยกันในเส้นทางต่าง ๆ ยังช่วยให้เรามีชีวิตโดยอาศัยของขวัญเช่นนี้ได้อย่างครบบริบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยความหวังที่ทำให้เราตื่นตัวและพยายามอย่างไม่ลดละ ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งหนทางในประวัติศาสตร์จะคดเคี้ยวและยากลำบากก็ตาม ให้เราวอนขอพระหรรษทานองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่เราจะน้อมรับกระแสเรียกของคริสตชน เพื่อที่เราจะขอบคุณพระองค์สำหรับสมบัติมีค่าอันนี้ที่พระองค์ได้ประทานแก่เรา และเพื่อที่เราจะพยายามนำสิ่งที่เราได้รับไปมอบให้แก่ผู้อื่นด้วย


พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ

            พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ที่ได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของการประชุมวิลตัน ปาร์ก และกลุ่มต่าง ๆ จากอังกฤษ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา พ่อภาวนาให้ทุกคนให้รับพระพร เพื่อที่เทศกาลมหาพรตในปีนี้จะเป็นเวลาแห่งพระหรรษทาน และการฟื้นฟูจิตใจ ทั้งสำหรับลูกและสำหรับครอบครัวของลูกด้วย พ่อขออวยพรให้ลูกทุกคนได้รับความปิติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย

            ในวันสตรีสากล พ่อคิดถึงสตรีทุกคน พ่อขอขอบใจสำหรับการที่พวกเธอได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อสร้างสังคมที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น ผ่านทางความสามารถในการรับรู้ความเป็นจริง ผ่านแววตาที่มีความคิดสร้างสรรค์ และหัวใจที่อ่อนโยน นี่เป็นพระพรพิเศษสำหรับผู้หญิงจริง ๆ พ่อขออวยพรเป็นพิเศษแก่สตรีทุกคนที่มาอยู่ในจัตุรัสแห่งนี้ ให้เราปรบมือเพื่อพวกเธอ เพราะพวกเธอสมควรได้รับการชื่นชม

            ท้ายสุดเหมือนเช่นเคย พ่อคิดถึงคนป่วย คนชรา คนแต่งงานใหม่ และคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายจากเปาลา และกลุ่มนักเรียนจากมอนเตโรมาโน ในช่วงเทศกาลมหาพรตนี้ พ่อขอให้ลูกก้าวเดินตามรอยเท้าพระเยซูคริสต์คริสต์อย่างกล้าหาญมากขึ้นอีก ให้ลูกพยายามเอาอย่างพระองค์ในเรื่องความถ่อมตนและความซื่อสัตย์ต่อน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า และพ่อขอร้องต่อลูกที่รักทุกคนว่า อย่าลืมความทุกข์ของชาวยูเครนที่กำลังต้องทนทรมาน พวกเขาต้องทนทุกข์มากเหลือเกิด ให้เรานึกถึงพวกเขาในจิตใจและในคำภาวนา

พ่อขออวยพรลูกทุกคน


สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส

            ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศข่าวดี วันนี้เราจะพิจารณาถึงแง่มุมที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรของการประกาศพระวรสาร การประกาศพระวรสารไม่ใช่งานที่แต่ละคนแยกกันทำ แต่เป็นการที่ประชาคมร่วมกันรับใช้ความเชื่อของพระศาสนจักรที่ได้รับมาจากอัครสาวก เราต้องส่งต่อความเชื่ออันนี้ให้ครบบริบูรณ์สู่คนรุ่นต่อ ๆ ไปไม่สิ้นสุด ความร้อนรนในการเผยแพร่พระวรสารไม่อาจแยกออกจากแง่มุมที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรนี้ได้ เพราะความเกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรช่วยคุ้มครองไม่ให้เนื้อหาของคริสต์ศาสนาถูกบิดเบือน หรือถูกนำไปทำให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และวิธีคิดทางโลก พระสมณกฤษฎีกาว่าด้วยงานธรรมทูตของพระศาสนจักร ของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ได้สอนว่าการประกาศพระวรสารในทุกรูปแบบล้วนมีที่มาจากความรักเหลือล้นของพระบิดา พระบิดาทรงทำให้ความรักนี้หลั่งไหลมาสู่โลกผ่านทางพันธกิจของพระบุตรและพระจิตเจ้า และพระศาสนจักรได้รับพันธกิจอันนี้มาทำต่อเนื่อง ในการประกาศความรักที่ช่วยผู้คนให้รอดพ้นนี้ไปจนสุดขอบพิภพ ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปมีสถานะเป็น “ศิษย์ธรรมทูต” และถูกเรียกให้เอาอย่างความรักของพระเยซูคริสต์ที่ทรงอุทิศตนถวายเป็นเครื่องบูชา โดยให้เราเป็นพยานต่อความจริงแห่งพระวาจาของพระเยซูคริสต์และพลังอำนาจแห่งการคืนดีของพระวาจานั้น โดยให้เราทำอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และน่าเชื่อถือ เราทำเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อคนแต่ละคนเท่านั้น แต่เรายังทำเพื่อชีวิตของครอบครัวมนุษยชาติทั้งมวลอีกด้วย


(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)