
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (26) การประกาศเป็นความปิติยินดี
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
หลังจากที่เราได้พิจารณาเรื่องราวของผู้คนจำนวนมากที่ได้เป็นพยานในการประกาศพระวรสาร [ต่อจากนี้] พ่อจะสรุปการเรียนคำสอนต่อเนื่องของเราเกี่ยวกับความร้อนรนในการประกาศข่าวดี พ่อจะพูดถึงใน 4 ประเด็นด้วยกัน โดยอิงจากเนื้อหาที่มาจากสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) ซึ่งในเดือนนี้ก็จะครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่มีการออกสมณสาส์นเตือนใจฉบับนี้ ประเด็นแรกที่เราจะพิจารณาในวันนี้ จากทั้งหมด 4 เรื่อง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติซึ่งมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อสาระสำคัญในเรื่องที่ว่าเราจะมีท่าทีอย่างไรในการประกาศ ทัศนคติที่ว่านี้คือ ความปิติยินดี สาระของคริสต์ศาสนาคือการประกาศ “ความปิติยินดีอันยิ่งใหญ่” (เทียบ ลก. 2,10) ดังที่เราได้ยินในคำพูดของทูตสวรรค์ที่กล่าวต่อบรรดาคนเลี้ยงแกะ แล้วอะไรเป็นเหตุผล[ของความปิติยินดีอันนี้] เพราะว่านี่เป็นข่าวดีหรือ เป็นเรื่องไม่คาดคิดหรือ หรือเป็นเหตุการณ์ที่สวยงามน่าประทับใจหรือ แท้จริงแล้ว[เหตุผลของความปิติยินดีนี้]เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น เป็นบุคคล คือองค์พระเยซูเจ้า พระองค์เป็นพระเจ้าผู้ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และเสด็จมายังเราทั้งหลาย พี่น้องที่รัก สิ่งที่เป็นประเด็นคำถามไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราควรประกาศ[พระเยซูเจ้า]หรือไม่ [เพราะว่าเราย่อมควรประกาศพระองค์อยู่แล้ว] แต่เป็นเรื่องที่ว่าเราจะประกาศ[พระเยซูเจ้า] “อย่างไร” คำตอบคือ ด้วยความปิติยินดี เพราะถ้าเราไม่ประกาศพระเยซูเจ้าด้วยความปิติยินดี เราย่อมจะไม่ประกาศพระองค์ได้แต่อย่างใดเลย เพราะวิธีการประกาศอย่างอื่น[ที่ไม่มีความปิติยินดี]ย่อมไม่อาจสื่อถึงความจริงของพระเยซูเจ้าได้อย่างแท้จริง
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคริสตชนที่ไม่มีความสุข คริสตชนที่เศร้าสร้อย ไม่พอใจ หรือที่แย่กว่านั้นคือ คริสตชนที่มีความขุ่นเคืองหรือเกลียดชัง จึงไม่ใช่คริสตชนที่น่าเชื่อถือ คนเช่นนี้อาจพูดเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า แต่ย่อมไม่มีทางที่ผู้ใดจะเชื่อเขา มีคนเคยมาพูดกับพ่อเกี่ยวกับคริสตชนแบบนี้ว่าเป็น “คริสตชนหน้าตาบึ้งตึง” หากว่าคริสตชนเป็นแบบนี้ เขาก็ไม่อาจสื่อสารอะไรได้เลย ดังนั้น ความปิติยินดีจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด และการเฝ้าระวังความรู้สึกต่าง ๆ ของเราก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดเช่นกัน การประกาศพระวรสารจะเกิดผลได้ต่อเมื่อเป็นการกระทำแบบให้เปล่า เพราะว่าการประกาศพระวรสารเป็นสิ่งที่มาจากความบริบูรณ์ ไม่ได้มาจากการถูกกดดัน [นอกจากนี้] หากว่ามีใครพยายามประกาศพระวรสารโดยอิงพื้นฐานบนอุดมการณ์บางอย่าง เขาก็ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพระวรสารเป็นการประกาศแห่งความปิติยินดี แต่อุดมการณ์[ไม่ใช่แบบนั้น] อุดมการณ์ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เย็นชา ขณะที่พระวรสารเป็นสิ่งที่มีความอบอุ่นแห่งความปิติยินดี อุดมการณ์ไม่รู้จักรอยยิ้ม แต่พระวรสารเป็นรอยยิ้ม พระวรสารทำให้ลูกมีรอยยิ้ม เพราะพระวรสารเป็นสิ่งที่นำพาข่าวดีไปสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณ
การบังเกิดของพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์ หรือในชีวิต[ของผู้คน] ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งความปิติยินดี ให้เราคิดถึงความปิติยินดีของบรรดาศิษย์ที่เดินทางไปยังเอมมาอูส ที่พวกเขาได้พบกับความปิติยินดี[ที่ยิ่งใหญ่]จนตนเองแทบจะไม่เชื่อ และในเรื่องอื่นอีก คือในเรื่องของบรรดาศิษย์เมื่อเขาได้พบกับพระเยซูคริสต์ที่เสด็จเข้ามายังห้องชั้นบน ความปิติยินดีของพวกเขา [ยิ่งใหญ่] จนตนเองก็แทบจะไม่เชื่อเหมือนกัน นี่คือความปิติยินดีของการได้มีพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ การได้พบกับพระเยซูคริสต์ย่อมนำมาซึ่งความปิติยินดีเสมอ หากลูกไม่เคยประสบแบบนี้ ก็หมายความว่าลูกยังไม่ได้พบกับพระองค์จริง ๆ
สิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงกระทำแก่บรรดาศิษย์ ได้สอนให้เรารู้ว่า ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการประกาศเป็นอันดับแรกคือบรรดาศิษย์ เราทั้งหลายที่เป็นคริสตชน คือผู้ที่จะต้องได้รับการประกาศพระวรสารก่อนเป็นอันดับแรก สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่เราทั้งหลายกำลังอยู่ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่เร่งรีบและสับสนในยุคปัจจุบัน อาจทำให้เรามีชีวิตความเชื่อที่เจือปนด้วยความรู้สึกปลงตกอยู่ในเบื้องลึกของเรา เราอาจคิดไปว่าไม่มีใครที่จะรับฟังพระวรสาร เราอาจคิดไปว่าการประกาศพระวรสารไม่คุ้มค่าความพยายาม เราอาจพบกับการทดลองจากความคิดที่ว่า “คนอื่น” จะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา แต่ที่จริงแล้ว ตอนนี้คือเวลาอันเหมาะสมที่[เราทั้งหลาย]จะย้อนกลับไปหาพระวรสาร เพื่อค้นพบว่าพระคริสตเจ้า “ทรงเยาว์วัยเสมอ และทรงเป็นที่มาของความใหม่อยู่ตลอดเวลา” (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 11)
หากเราทำได้เช่นนี้ เราก็ย่อมจะเป็นเหมือนกับศิษย์สองคนที่เอมมาอูส เราจะได้กลับไปสู่ชีวิตประจำวันของเราด้วยความกระตือรือร้นอย่างคนที่ได้พบกับสมบัติมีค่า ศิษย์สองคนเปี่ยมด้วยความปิติยินดีเพราะเขาได้พบกับพระเยซูเจ้า และพระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตของเขา นอกจากนี้เรายังจะได้ค้นพบว่ามีพี่น้องชายหญิงมากมายในมนุษยชาติที่กำลังรอคอยวาจาแห่งความหวัง มีคนที่รอคอยพระวรสารในทุกวันนี้เช่นกัน ผู้คนในทุกวันนี้ไม่ต่างจากผู้คนทุกยุคทุกสมัย [พวกเขาต้องการพระวรสาร] พระวรสารจำเป็นสำหรับเขา ถึงแม้ว่าอารยธรรม[ในทุกวันนี้]จะออกแบบไว้ให้ผู้คนไม่เชื่อ[ในศาสนา] และมีการทำให้สถาบันต่าง ๆ มีความเป็นฆราวาสนิยม [ไม่เกี่ยวกับศาสนา] ขณะที่สังคมทุกวันนี้กำลังทอดทิ้งพื้นที่สำหรับความหมายในทางศาสนาให้รกร้างว่างเปล่าก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังต้องการพระเยซูเจ้า นี่[จึง]เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการประกาศพระเยซูเจ้า ดังนั้น พ่ออยากจะกล่าวอีกครั้งกับลูกทุกคนว่า “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร เติมเต็มจิตใจและชีวิตทั้งชีวิตของบรรดาผู้ที่พบพระเยซูเจ้า บรรดาผู้ที่ยอมให้พระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด ย่อมเป็นอิสระจากบาป ความโศกเศร้า ความว่างเปล่าภายในจิตใจ และความโดดเดี่ยว ความชื่นชมยินดีนี้บังเกิดขึ้น และเกิดขึ้นใหม่เสมอพร้อมกับพระเยซูเจ้า” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 1) ลูกจงอย่าลืมว่า หากใครยังไม่ได้พบเห็นความปิติยินดีเช่นนี้ เขาต้องถามตัวเองว่า เขาได้พบกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นความปิติยินดีภายในแล้วหรือไม่ [การประกาศ]พระวรสารย่อมต้องดำเนินไปบนหนทางแห่งความปิติยินดีเสมอ การประกาศนี้เป็นการประกาศที่ยิ่งใหญ่ พ่อ“ขอเชื้อเชิญคริสตชนแต่ละคนในวันนี้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือในสถานการณ์ใด ให้ฟื้นฟูการพบกับพระเยซูคริสตเจ้า” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 1.3) ให้ลูกแต่ละคนหาเวลาเล็กน้อยเพื่อ[รำพึงภาวนาในใจ]ว่า “พระเยซูเจ้าข้า พระองค์อยู่ภายในลูก ลูกอยากพบกับพระองค์ทุกวัน พระองค์เป็นบุคคล พระองค์ไม่ใช่ความคิด พระองค์เป็นเพื่อนร่วมทาง พระองค์ไม่ใช่แผนดำเนินงาน พระเยซูเจ้าข้า พระองค์เป็นที่มาของความปิติยินดี พระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศข่าวดี พระเยซูเจ้าข้า พระองค์เป็นที่มาของความปิติยินดี” อาแมน
สมเด็จพระสันตะปาปามีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งคำทักทายยังคนชรา คนป่วย คนที่เพิ่งแต่งงาน (ซึ่งวันนี้มากันมากมาย) และเยาวชนด้วย [เราทั้งหลายได้มาถึง]ไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายในปีพิธีกรรม [ซึ่ง]เชื้อเชิญให้เรารู้สึกถึงความหวังในแบบคริสตชน ในแง่มุมนี้ พ่อจึงอยากให้ลูกทุกคนได้รับรู้เข้าใจในทุกเวลาถึงความหมายและคุณค่าของความหวังภายในชีวิตแต่ละวัน รวมทั้งความหมายและคุณค่าของการทดลองด้วย โดยให้ลูกคิดเสมอว่า “พระเจ้าทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่รักพระองค์” (รม. 8,28)
พี่น้องที่รัก ให้เราทั้งหลายภาวนาเพื่อสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เราภาวนาเป็นพิเศษเพื่อยูเครนซึ่งกำลังถูกเบียดเบียนสังหารและต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบากมากมาย และให้เราภาวนาเป็นพิเศษเพื่อดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพื่ออิสราเอลและปาเลสไตน์ และให้เราอย่าลืมซูดาน ซึ่งกำลังเผชิญความทุกข์ยากลำบากมากมาย ให้เราคิดคำนึงถึงที่ต่าง ๆ ที่กำลังมีสงคราม ทุกวันนี้มีสงครามมากมายเหลือเกิน ให้เราภาวนาเพื่อสันติภาพ ให้เราแต่ละคนอุทิศเวลาในแต่ละวันเพื่อการภาวนาเพื่อสันติภาพ ให้เราทั้งหลายปรารถนาซึ่งสันติภาพ พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี วันนี้เราทั้งหลายจะพิจารณาเกี่ยวกับสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) ซึ่งเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูการประกาศ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” ขึ้นใหม่อีกครั้ง สาเหตุแห่งความชื่นชมยินดีอันนี้ ซึ่งมีการประกาศครั้งแรกโดยทูตสวรรค์ที่เบธเลเฮม คือการได้พบกับพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว บัดนี้พระองค์ได้ฟื้นจากความตาย และทรงมอบคำมั่นสัญญาเรื่องชีวิตใหม่และเป็นนิรันดร เราได้เห็นสิ่งนี้จากข้อความในพระวรสารเรื่องศิษย์ที่ได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงกลับคืนชีพระหว่างทางไปเอมมาอูส พระวาจาของพระเจ้าที่พระองค์ประกาศได้ทำให้จิตใจของพวกเขาเร่าร้อนเป็นไฟ ทำให้พวกเขาตาสว่างและจำพระองค์ได้ภายในการบิปัง และทำให้พวกเขากลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มด้วยความปิติยินดี เพื่อประกาศการฟื้นคืนชีพของพระองค์ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย เราเองก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าใหม่อีกครั้งทุกเวลาภายในพระวาจา และภายในการประทับของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อที่เราจะสามารถแบ่งปันพระวรสารกับคนอื่น และให้พระวรสารได้ปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ ภายในโลกทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหา มีผู้คนมากมายเหลือเกินที่กำลังรอคอยวาจาแห่งความหวัง [ดังนั้น] ขอให้คริสตชนทุกคนรับเอาความท้าทายในการนำความปิติยินดีของตนเองที่มาจากการได้พบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ การนำชีวิตใหม่ที่พระจิตของพระองค์ได้ประทานให้แก่เรา และการนำเสรีภาพอย่างใหม่ที่เกิดจากความเชื่อถือวางใจในคำมั่นสัญญาของพระองค์ ไปแบ่งปัน [กับผู้อื่น]
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน (General Audience) ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)