สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ANGELUS/ทูตสวรรค์แจ้งข่าว
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2024
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก สุขสันต์วันพระเจ้า
พระวรสารในพิธีกรรมวันนี้ (มก. 12,28-34) [ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา ปี B] เล่าให้เราฟังถึงหนึ่งในหลายสิ่งหลายอย่างที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสไว้ที่พระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม ในตอนนั้น ธรรมาจารย์ผู้หนึ่งได้มาเฝ้าพระองค์ และทูลถามพระองค์ว่า “บทบัญญัติข้อใดเป็นเอกกว่าบทบัญญัติข้ออื่น ๆ” (มก. 12,28) ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะทรงตรัสตอบโดยยกสองสิ่งที่เป็นพื้นฐานของธรรมบัญญัติของโมเสส คือ “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน” และ “ท่านจะต้องรักเพื่อนบ้านของท่าน” (เทียบ มก. 12,30-31)
คำถามของธรรมาจารย์ผู้นี้ เป็นการที่เขาพยายามแสวงหาว่า อะไรคือพระบัญญัติที่ “เป็นเอก” [กว่าบทบัญญัติข้ออื่น ๆ] เพื่อค้นหาว่า อะไรเป็นหลักการพื้นฐานของพระบัญญัติทั้งปวง ชาวยิวในสมัยนั้นถือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย และพวกเขาก็ได้พยายามค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่มีความสำคัญเป็นพื้นฐาน อะไรคือรากฐานของกฎเกณฑ์เหล่านั้นทั้งหมด พวกเขาพยายามพูดคุยอภิปรายเพื่อที่จะได้มีความเห็นตรงกันว่า อะไรคือพระบัญญัติที่เป็นรากฐาน นี่เป็นการพูดคุยอภิปรายที่ดี เพราะว่าพวกเขาถกเถียงกันเรื่องนี้เพื่อจะแสวงหาความจริง และคำถามที่ว่านี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพวกเรา สำหรับชีวิตของพวกเรา และสำหรับเส้นทางแห่งความเชื่อของพวกเราเช่นกัน เพราะว่าในบางครั้งพวกเราอาจรู้สึกหลงทางท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทำให้เราอยากถามตัวเองว่า ภายในสิ่งต่าง ๆ ที่มีมากมายเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะค้นพบศูนย์กลางของชีวิตเราได้ที่ไหน เราจะค้นพบศูนย์กลางความเชื่อของเราได้ที่ไหน พระเยซูเจ้าได้ทรงตอบเรื่องนี้เอาไว้แล้วด้วยการยกพระบัญญัติสองข้อที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่น ซึ่งก็คือการรักพระเจ้า และการรักเพื่อนบ้าน และสองสิ่งนี้เองที่เป็นหัวใจของความเชื่อของพวกเรา
พวกเราล้วนรู้ดีว่า เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปสู่หัวใจของชีวิตและความเชื่อ เพราะว่าหัวใจเป็น “บ่อเกิดพื้นฐานของความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่น[แห่งชีวิตและความเชื่อ] (สมณสาส์นเวียน Dilexit nos, ข้อ 9) และพระเยซูเจ้าก็ได้ตรัสสอนเราไว้ว่า ความรักเป็นบ่อเกิดของทุกสิ่ง และว่าเราจะต้องไม่แยกพระเจ้าออกจากมนุษย์ พระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนบรรดาศิษย์ในทุกยุคทุกสมัยว่า บนเส้นทาง[แห่งชีวิตและความเชื่อของพวกเรา]นั้น สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การปฏิบัติภายนอก เช่น การถวายเครื่องเผาบูชา หรือเครื่องสักการะบูชาใด ๆ (เทียบ มก. 12,33) หากแต่เป็นจิตใจที่พร้อมจะเปิดกว้างด้วยความรักต่อพระเจ้าและต่อพี่น้อง พี่น้องชายหญิงที่รัก พวกเราอาจทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงการทำเพื่อตัวเองและปราศจากความรัก ก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เราอาจทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยที่ไม่ได้มีความใส่ใจ หรือแม้แต่โดยที่จิตใจ[ยังคง]ปิดกั้น แต่การทำเช่นนี้ก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะต้องกระทำด้วยความรัก
สักวันหนึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา และสิ่งที่พระองค์ย่อมตรัสถามเราเป็นอย่างแรกและเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือเรื่องความรัก กล่าวคือ พระองค์จะทรงถามเราว่า “ท่านได้มีความรักอย่างไรบ้าง” ดังนั้น การระลึกถึงพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดอันนี้เอาไว้ในใจของเราเสมอ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แล้วพระบัญญัติข้อสำคัญที่สุดที่ว่านี้คืออะไร คำตอบคือ จงรักพระเจ้าของท่าน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง [และเพื่อการนี้] ขอให้เราทั้งหลายจงพิจารณามโนธรรมของตนเองในทุก ๆ วัน และถามตัวเองว่า เราได้ให้ความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้านเป็นศูนย์กลางชีวิตของเราอยู่หรือไม่ การอธิษฐานภาวนาของพวกเราได้เราได้ผลักดันให้ตัวเราเองออกไปหาพี่น้องชายหญิง เพื่อไปมอบความรักแก่พวกเขาโดยไม่หวังผลตอบแทนหรือไม่ และเวลาที่เรามองดูใบหน้าของผู้อื่น เราได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ที่นั่นหรือไม่
ขอให้พระแม่มารีย์ ผู้มีพระบัญญัติของพระเจ้าประทับอยู่ในหฤทัยนิรมลของท่านเสมอ โปรดช่วยให้เราทั้งหลายมีความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า และต่อพี่น้องชายหญิงของเราด้วยเทอญ
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
พ่อขอทักทายลูกทุกคนในที่นี้ ทั้งที่เป็นชาวกรุงโรม และที่เป็นผู้แสวงบุญจากในอิตาลีและประเทศอื่น ๆ มากมาย
พ่อขอทักทาย[เป็นพิเศษ]ต่อกลุ่มจากคณะภคินีคาร์เมไลท์ผู้แพร่ธรรมแห่งพระจิตเจ้า ซึ่งกำลังฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการก่อตั้งคณะฆราวาสของพวกเขา พ่อขอทักทายบรรดาสัตบุรุษจากเวนิส ปอนตัสซีเอเว บาร์เบรีโนเดลมูเกลโล เอมโปลี และปาแลร์โม พ่อขอทักทายกลุ่มจากชุมชนวัดซันตามารีอาอัลลาฟอร์นาชีในกรุงโรม และกลุ่มเยาวชนจากกาตันซาโรที่มากับบรรดาผู้สอนคำสอนในชุมชนวัดของพวกเขา
พ่อขอทักทายกลุ่มผู้บริจาคโลหิตจากก็อกกัลโย และจากเบรชชา รวมทั้งกลุ่มจากองค์กร “EMERGENCY” สาขากรุงโรมใต้ ซึ่งมุ่งมั่นเพื่อพันธกิจบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอิตาลีมาตรา 11 ที่กล่าวว่า “อิตาลีปฏิเสธสงครามในฐานะเครื่องมือแห่งการรุกรานต่อเสรีภาพของประชาชนชาติอื่น ๆ และในฐานะวิธีการเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ” พ่อขอให้ลูกอย่าลืมบทบัญญัติอันนี้ และขอให้ลูกพยายามต่อไป และพ่อขอให้มีการนำหลักการข้างต้นนี้ไปใช้ปฏิบัติทั่วโลก ขอให้สงครามทั้งหลายจงหมดสิ้นไป และขอให้มีการแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆ โดยใช้กฎหมายและการพูดคุยเจรจา ขอให้อาวุธต่าง ๆ จงเงียบเสียงลง และขอให้มีการเว้นที่ว่างเพื่อการเสวนา พ่อขอเชิญชวนให้พวกเราภาวนาเพื่อยูเครนที่กำลังถูกทำร้าย รวมทั้งอธิษฐานภาวนาเพื่อปาเลสไตน์ อิสราเอล เมียนมา และซูดานใต้ด้วย
ขอให้เราอธิษฐานภาวนาต่อไปเพื่อ[ผู้คนในภูมิภาค]บาเลนเซียและในที่อื่น ๆ ของสเปนที่กำลังประสบกับความทุกข์ทรมานอย่างมากในช่วงไม่นานมานี้ ขอให้เราถามตัวเองว่า เราทำอะไรเพื่อผู้คนในบาเลนเซียอยู่บ้าง เราอธิษฐานภาวนาเพื่อพวกเขาหรือไม่ เราได้เสียสละมอบอะไรเพื่อพวกเขาบ้างหรือไม่ ขอให้พวกเราคิดถึงคำถามเหล่านี้
พ่อขอให้ลูกทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ ขอให้ลูกทุกคนอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อ รับประทานอาหารกลางวันให้อร่อย แล้วพบกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บคำปราศรัย ANGELUS ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)