สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ANGELUS/ทูตสวรรค์แจ้งข่าว
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2024


เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก สุขสันต์วันพระเจ้า
พระวรสารในพิธีกรรมวันนี้ (มก. 6,30-34) เล่าให้พวกเราฟังเรื่องที่บรรดาอัครสาวกกลับมารวมตัวห้อมล้อมพระเยซูเจ้า หลังจากที่พวกเขากลับจากการปฏิบัติพันธกิจ พวกเขาได้เล่าให้พระองค์ฟังว่าพวกตนได้ทำอะไรสำเร็จไปบ้าง จากนั้น พระเยซูเจ้าก็ตรัสกับพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” (มก. 6,31) อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้คนต่างรู้ว่าพระเยซูเจ้าและอัครสาวกกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน และทันทีที่พระเยซูเจ้าและอัครสาวกลงจากเรือ พระองค์ก็ได้เห็นว่ามีฝูงชนมากมายมารอคอยพระองค์ ทำให้พระองค์รู้สึกเมตตาสงสาร และทรงเริ่มสั่งสอนเขา (เทียบ มก. 6,34)
เราได้เห็นว่าในด้านหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญ[บรรดาอัครสาวก]ให้พักผ่อน แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ก็ทรงมีความเมตตาสงสารต่อฝูงชน ในตอนนี้ ขอให้พวกเราแวะพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับพระเมตตาของพระเยซูเจ้า ซึ่งอาจดูเหมือนว่าความเมตตากับการพักผ่อนนั้นเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว ทั้งสองอย่างนี้ คือ การพักผ่อน และการมีความเมตตาสงสาร เป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน ขอให้เราพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
พระเยซูเจ้าทรงใส่ใจต่อความเหน็ดเหนื่อยของบรรดาศิษย์ บางทีอาจเป็นเพราะพระองค์รู้ว่า[ความเหน็ดเหนื่อย]อาจเป็นอันตรายทั้งต่อชีวิตและต่อกิจการแพร่ธรรม ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับพวกเราด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าความกระตือรือร้นของเราในการทำงานหรือพันธกิจ ตลอดจนในการทำตามบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับ ทำให้เราตกเป็นเหยื่อของความคิดบางอย่างที่เน้นเฉพาะสิ่งที่เราทำและผลที่เกิดขึ้นมากจนเกินเหตุ นั่นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี อาจทำให้เราตกอยู่ในอันตราย [เพราะว่าเมื่อเป็นเช่นนี้] เราทั้งหลายย่อมจะเอาแต่สนใจมากจนเกินเหตุว่าต้องทำอะไรบ้างและเกิดผลอะไรแล้วบ้าง สิ่งแบบนี้อาจทำให้เรากระวนกระวายใจ ทำให้พวกเราหลงลืม มองไม่เห็นสิ่งที่มีความสำคัญแท้จริง เราอาจเสี่ยงที่จะใช้พลังงานของตัวเองจนหมดไป กลายเป็นคนที่เหน็ดเหนื่อยทั้งในทางร่างกายและทางฝ่ายจิต
สิ่งนี้เป็นคำเตือนที่สำคัญต่อชีวิตของพวกเราเองและต่อสังคมของเรา ซึ่งบ่อยครั้งถูกพันธนาการด้วยความรีบร้อน ทั้งยังเป็นคำเตือนที่สำคัญสำหรับพระศาสนจักรและสำหรับงานอภิบาลด้วย พี่น้องที่รัก ขอให้เราตระหนักและรู้จักระวังความเป็นเผด็จการที่บีบให้เราทำอะไรบางอย่างตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความจำเป็นบางอย่างภายในครอบครัว เช่น พ่อ[แม่]อาจต้องไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ จึงจำต้องสละเวลาที่จะใช้ร่วมกับครอบครัว บ่อยครั้งที่พ่อแม่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าตอนที่ลูกยังหลับอยู่ และกลับมาบ้านตอนดึกเวลาที่ลูกหลับแล้ว เรื่องแบบนี้เป็นความอยุติธรรมทางสังคม เพราะว่าในครอบครัวนั้น พ่อแม่ควรที่จะมีเวลาอยู่กับลูก ทั้งนี้ เพื่อให้ความรักได้เติบโตขึ้นในครอบครัว และเพื่อที่[คนในครอบครัว]จะไม่ตกอยู่ภายใต้ความเป็นเผด็จการที่บีบให้เขาทำอะไรบางอย่างตลอดเวลา ขอให้เราทั้งหลายคิดดูว่า เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ถูกบีบบังคับให้มีวิถีชีวิตเช่นนี้
ในอีกด้านหนึ่ง การพักผ่อนที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงนั้นก็ไม่ใช่การหลีกหนีออกจากโลก ไม่ใช่การถอยหลังเข้าหาความสุขกายสบายใจเฉพาะตนเอง หากแต่เป็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อพระเยซูเจ้าเห็นผู้คนที่กำลังสับสนงุนงง พระองค์ก็ได้รู้สึกสงสาร พระวรสารได้สอนพวกเราว่า ความเป็นจริงสองอย่างนี้ ได้แก่ การพักผ่อน และการมีความเมตตาสงสาร เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เราจะมีความเมตตาสงสารได้ ต่อเมื่อตัวเราเองรู้จักพักผ่อน จริงทีเดียวว่า การมีความเมตตาสงสาร ซึ่งเป็นการรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังขาดแคลนนั้น ย่อมจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในเวลาที่จิตใจของเราไม่ตกอยู่ภายใต้ความกระวนกระวายที่คิดไปว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างอยู่เสมอ และจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราทั้งหลายรู้จักหยุดพักและน้อมรับพระหรรษทานของพระเจ้าท่ามกลางความเงียบแห่งการเฝ้าบูชา
ดังนั้น เราทั้งหลายจึงสามารถถามตัวเองได้ว่า เรารู้จักหยุดพักระหว่างวันกันบ้างหรือไม่ เรารู้จักมีเวลาให้แก่ตัวเองและองค์พระผู้เป็นเจ้าบ้างหรือไม่ หรือว่าเรากำลังรีบร้อนอยู่ตลอดเวลาไปกับการทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ [เราอาจถามตัวเองได้ว่า] เราสามารถค้นพบ “ที่กันดารภายในใจ” ท่ามกลางเสียงอึกทึกและกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันได้หรือไม่
ขอให้พระแม่มารีย์ พรหมจารีผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดช่วยให้เราทั้งหลายรู้จัก “พักผ่อนภายในพระจิต” แม้ในท่ามกลางกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน และโปรดช่วยเราทั้งหลายให้มีความเมตตาสงสารและพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเทอญ
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
พี่น้องที่รัก ในสัปดาห์นี้มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นที่กรุงปารีส และหลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยมหกรรมกีฬาพาราลิมปิก กีฬาเป็นสิ่งหนึ่งที่มีพลังมากมายในทางสังคม และสามารถช่วยให้ผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมมาร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างมีสันติสุข พ่อหวังว่าการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้จะเป็นคบเพลิงที่ส่องแสงแห่งความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์โลกที่เปิดกว้างต้อนรับทุกคน พ่อหวังว่านักกีฬาทั้งหลายจะแสดงความสามารถทางการกีฬา เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำสารแห่งสันติภาพ และเป็นแบบอย่างที่ดีงามอย่างแท้จริงสำหรับบรรดาเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อหวังเป็นพิเศษว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกนี้จะเป็นโอกาสสำหรับการหยุดยิงในสงครามต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความปรารถนาแท้จริงต่อสันติภาพ ดังที่เป็นประเพณีในกีฬาโอลิมปิกที่มีมาแต่โบราณ
พ่อขอทักทายลูกทุกคนในที่นี้ ทั้งที่เป็นชาวโรม และที่เป็นผู้แสวงบุญจากที่ต่าง ๆ ทั้งในอิตาลีและในประเทศอื่น พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มฆราวาสเพื่อแม่พระจากเขตปกครองคีซาดาในบราซิล และกลุ่มจากสมาคม “ศูนย์วิทยาศาสตร์อัสซุมป์ตา โอเฟกาตา-โอเวร์รี” ซึ่งกำลังดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในแอฟริกาเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
นอกจากนี้ พ่อขอทักทายกลุ่มจากขบวนการ “คนงานเงียบแห่งไม้กางเขน” และกลุ่มจากศูนย์ “อาสาสมัครแห่งความทุกข์ยาก” ที่ได้มารวมตัวกันเพื่อระลึกถึงบุญราศีลุยจี โนวาเรเซ ผู้ก่อตั้งขบวนการของพวกเขา พ่อขอทักทายบรรดาอัสปิรันต์และกลุ่มนักบวชหญิงรุ่นใหม่ที่ได้ปฏิญาณตนในคณะภคินีธรรมทูตแห่งพระคริสตราชา ตลอดจนบรรดาเยาวชนชายจากกลุ่มงานกระแสเรียกของบ้านเณรเล็กแห่งเขตปกครองโรม ซึ่งได้เดินเท้าจากอัสซีซีมายังกรุงโรมแห่งนี้ตามเส้นทางของนักบุญฟรานซิส
พี่น้องที่รัก ขอให้เราทั้งหลายอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ ขอให้เราอย่าลืมที่ต่าง ๆ ที่กำลังทุกข์ทรมาน ทั้งยูเครน ปาเลสไตน์ อิสราเอล เมียนมา และประเทศอื่นอีกมากมายที่กำลังมีสงคราม ขอให้เราอย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า สงครามย่อมเป็นความพ่ายแพ้เสมอ
ขอให้ลูกทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ ขอให้ลูกทุกคนอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อด้วย รับประทานอาหารกลางวันให้อร่อย แล้วพบกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บคำปราศรัย ANGELUS ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)