สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ANGELUS/ทูตสวรรค์แจ้งข่าว
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2024
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก สุขสันต์วันพระเจ้า
พระวรสารในพิธีกรรมวันนี้ (ยน. 18,33-37) เล่าเรื่องตอนพระเยซูเจ้าไปประทับอยู่หน้าปอนทิอัส ปิลาต ข้าหลวงโรมัน พระองค์ถูกจับและถูกส่งตัว[มาที่นี่]เพื่อให้ปิลาตพิพากษาประหารชีวิตพระองค์ อย่างไรก็ตาม [เมื่อพระเยซูเจ้าได้พบปิลาต] กลับเกิดการสนทนาสั้น ๆ ขึ้นระหว่างทั้งสองคน [สิ่งที่เราจะพิจารณาในวันนี้ คือการที่]คำพูดของปิลาตซึ่งได้ทูลถามพระเยซูเจ้า และพระวาจาที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสตอบในตอนนั้น ได้ทำให้มีคำสองคำถูกเปลี่ยนรูปไปและได้รับความหมายใหม่ ได้แก่คำว่า “กษัตริย์” และคำว่า “โลก”
ในตอนแรก ปิลาตทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” (ยน. 18,33) ปิลาตมีความคิดแบบข้าหลวงของจักรวรรดิโรมัน สิ่งที่เขาอยากรู้คือเรื่องที่ว่า ชายที่ได้มาอยู่ต่อหน้าเขาเป็นภัยคุกคามหรือไม่ และสำหรับเขาแล้ว คำว่ากษัตริย์หรือพระราชาย่อมหมายถึงผู้ที่มีอำนาจปกครองคนทั้งหลายภายในอาณาจักร ดังนั้น หากผู้ใดเป็นราชา ผู้นั้นก็ย่อมเป็นภัยคุกคามสำหรับปิลาต [ในเรื่องนี้เราได้เห็น]พระเยซูเจ้าทรงอ้างว่า พระองค์เองเป็นพระราชา แต่พระราชาในแบบของพระเยซูเจ้าเป็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไป ความเป็นราชาของพระเยซูเจ้าคือการที่พระองค์ทรงเป็นพยาน คือการที่พระองค์ทรงเป็นผู้กล่าวความจริง (เทียบ ยน. 18,37) อำนาจแบบพระราชาของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์รับสภาพมนุษย์นั้น มีอยู่ภายในพระวาจาของพระองค์ซึ่งเป็นความจริงและบันดาลให้เกิดผล ซึ่งพระวาจานี้เองเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก
คำที่สอง[ที่เราจะพิจารณา]คือคำว่า โลก สำหรับปิลาตแล้ว “โลก” เป็นที่ที่คนแข็งแกร่งเอาชนะคนอ่อนแอ คนรวยเอาชนะคนจน คนโหดร้ายเอาชนะคนที่อ่อนโยนไม่กล้าปะทะ กล่าวคือ เป็นโลกแบบที่เรารู้จักกันดี ถึงนี่จะเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แต่ก็เป็นแบบนี้จริง ๆ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระราชา แต่พระอาณาจักรของพระองค์ไม่ใช่โลกในแบบที่ปิลาตคิด และไม่ใช่อาณาจักรของโลกนี้ด้วย (ยน. 18,36) โลกของพระเยซูเจ้าเป็นโลกอย่างใหม่ เป็นโลกนิรันดรซึ่งพระเจ้าทรงตระเตรียมไว้ให้แก่ทุกคน โดยอาศัยวิธีการคือการมอบชีวิตของพระองค์เองเพื่อความรอดของพวกเรา โลกอย่างใหม่นี้คือพระอาณาจักรแห่งสวรรค์ที่พระคริสตเจ้าทรงนำมายังโลกนี้ อาศัยการประทานพระหรรษทานและความจริง (เทียบ ยน. 1,17) พระเยซูเจ้าทรงเป็นราชาแห่งโลกใหม่ พระองค์ทรงใช้อำนาจแห่งความรักของพระเจ้า ซึ่งเป็นอำนาจที่หาไม่ได้ในที่อื่น เป็นเครื่องมือสำหรับไถ่กู้บรรดาสิ่งสร้างที่ถูกทำลายโดยความชั่วร้าย พระเยซูเจ้าทรงนำความรอดมาให้แก่สิ่งสร้าง เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ปลดปล่อย พระองค์ทรงให้อภัย และทรงนำมาซึ่งสันติภาพและความยุติธรรม ถ้าลูกถามว่า “มันจะเป็นจริงแบบนี้เลยหรือคุณพ่อ” พ่อก็จะตอบว่า จริง เพราะไม่ว่าวิญญาณของลูกจะเป็นเช่นไร ต้องแบกรับภาระอะไรไว้ มีบาปอะไรติดตัวมานานแล้วอยู่หรือไม่ แต่พระองค์ก็จะทรงให้อภัยในทุก ๆ ครั้ง พระอาณาจักรของพระเยซูเจ้าเป็นแบบนี้ ดังนั้น ถ้าลูกมีอะไรไม่ดีอยู่ในตัวลูก ลูกก็จงขออภัยต่อพระองค์ แล้วพระองค์ก็จะทรงให้อภัยเสมอ
พี่น้องชายหญิงที่รัก พระเยซูเจ้าตรัสกับปิลาตอย่างใกล้ชิด แต่ปิลาตกลับไม่ได้เข้ามาใกล้ชิดพระเยซูเจ้า เพราะว่าเขามีชีวิตอยู่ในโลกคนละใบกับพระองค์ ปิลาตไม่ได้เปิดใจยอมรับความจริง ถึงแม้ว่าพระองค์ผู้ทรงเป็นความจริงจะมาประทับต่อหน้าเขาแล้วก็ตาม แต่ปิลาตก็จะปล่อยให้คนเอาพระเยซูเจ้าไปตรึงไม้กางเขน ปิลาตจะสั่งให้เขาเขียนว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน. 19,19) ติดไว้บนไม้กางเขน โดยที่ไม่ได้เข้าใจต่อความหมายของคำว่า “กษัตริย์ของชาวยิว” นี้เลย อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าได้เสด็จมายังโลก พระองค์เสด็จมายังโลกใบนี้ ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริง ผู้นั้นก็จะฟังเสียงของพระองค์ (เทียบ ยน. 18,37) เสียงนี้คือเสียงของพระผู้ทรงเป็นราชาแห่งสากลจักรวาล ผู้ทรงช่วยเราทั้งหลายให้รอด
พี่น้องชายหญิงที่รัก ถ้าเรารับฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า จิตใจและชีวิตของเราก็จะได้รับแสงสว่าง ดังนั้น ขอให้พวกเราทุกคนลองถามตนเองดูในใจว่า เราพูดได้ไหมว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระราชา” ของเรา หรือว่าในใจของเรามีสิ่งอื่น ๆ เป็น “พระราชา” อยู่ [และหากว่าเราพูดได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระราชาของเรา แล้วพระองค์ทรงเป็นพระราชา]ในความหมายใด เราเชื่อมั่นและทำตามพระวาจาของพระองค์หรือไม่ เมื่อเรามองดูพระองค์ เราได้เห็นใบหน้าของพระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตา ผู้ทรงให้อภัยเสมอ และทรงรอ[ให้พวกเราไปหาพระองค์ เพื่อที่พระองค์จะได้ทรง]ให้อภัยแก่พวกเราอยู่หรือไม่
ขอให้พวกเราร่วมกันอธิษฐานต่อพระแม่มารีย์ ผู้เป็นข้ารับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า [เพื่อที่พวกเราจะสามารถ]รอคอยการมาถึงของพระอาณาจักรพระเจ้าได้ด้วยความหวัง
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
วันนี้ พวกเราได้พบกับเยาวชนสองคนจากเกาหลี พวกเขาได้มารับไม้กางเขน[ที่เป็นสัญลักษณ์ของ]กิจกรรมวันเยาวชนโลก เพื่อนำไม้กางเขนนี้ไปยังกรุงโซลของเกาหลี ซึ่งจะเป็นที่จัดกิจกรรมวันเยาวชนโลก[ครั้งต่อไปในปี 2027] ขอให้พวกเราปรบมือให้แก่พวกเขา และขอให้เราปรบมือเพื่อกลุ่มเยาวชนจากโปรตุเกสที่ได้มาส่งมอบไม้กางเขนนี้[หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมวันเยาวชนโลกที่ลิสบอนเมื่อปี 2023] ด้วย
เมื่อวานนี้ที่บาร์เซโลนา[ของสเปน] ได้มีการสถาปนาบาทหลวงหนึ่งท่าน คือคุณพ่อกาเยตา กเลาเซยัส อี บัยเว และสัตบุรุษอีกหนึ่งคน คือ อันโตนิโอ ตอร์ด เรชักส์ เป็นบุญราศี ท่าน[ทั้งสองเป็นมรณสักขี]ที่ถูกสังหารในสเปนเมื่อปี 1936 โดยผู้คนที่เกลียดชังความเชื่อคาทอลิก ขอให้เราขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับของประทานอันยิ่งใหญ่ คือแบบอย่างของท่านทั้งสองในการเป็นพยานต่อพระคริสตเจ้าและพระวรสาร ขอให้พวกเราปรบมือเป็นเกียรติแก่บุญราศีใหม่ทั้งสองท่าน
วันนี้เป็นวันที่พระศาสนจักรท้องถิ่นในที่ต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันเยาวชนโลก ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 39 แล้ว โดยมีหัวข้อว่า “ผู้มีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า เขาจะก้าวเดินและไม่เหน็ดเหนื่อย” (เทียบ อสย. 40,31) เพราะถึงแม้จะเป็นคนอายุน้อย แต่ถ้าความหวังของเขาไม่ได้อยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า บางครั้งเขาก็อาจเหนื่อยหรือท้อได้ พ่อขอทักทายกลุ่มผู้แทนจากโปรตุเกสและเกาหลีใต้ที่ได้มา “ส่งต่อคบเพลิง” เพื่อเตรียมจัดกิจกรรมวันเยาวชนโลกที่กรุงโซลในปี 2027 ขอให้เราปรบมือให้แก่กลุ่มผู้แทนทั้งสองประเทศ
ดังที่พ่อได้ประกาศไปแล้วว่า พ่อจะสถาปนาบุญราศีการ์โล อากูติส เป็นนักบุญ ในวันที่ 27 เมษายนปีหน้า ภายในกิจกรรมปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับเยาวชน นอกจากนี้ พ่อได้รับแจ้งจากสมณกระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญด้วยว่า กระบวนการพิจารณาเพื่อสถาปนาบุญราศีปีแอร์ จอร์โจ ฟรัซซาตี เป็นนักบุญนั้น ใกล้จะสำเร็จลุล่วงแล้ว พ่อจึงมีแผนที่จะรับฟังความเห็นจากบรรดาพระคาร์ดินัล [และหากทุกอย่างราบรื่น พ่อก็จะ]สถาปนาท่านเป็นนักบุญในวันที่ 3 สิงหาคมปีหน้า ภายในกิจกรรมปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนหนุ่มสาว ขอให้พวกเราปรบมือเป็นเกียรติแก่บุญราศีที่กำลังจะเป็นนักบุญใหม่[ทั้งสองท่าน]
วันพรุ่งนี้ [คือวันที่ 25 พฤศจิกายน] เป็นวันชาติเมียนมา ซึ่งเป็นวันระลึกถึงการชุมนุมประท้วงครั้งแรกของนักเรียนนักศึกษาที่ช่วยปูทางให้เมียนมาได้รับอิสรภาพ ตลอดจนนำมาซึ่งความหวังแห่งสันติภาพและประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่อาจเป็นจริงได้แม้ในทุกวันนี้ ในโอกาสนี้ พ่อขอแสดงความใกล้ชิดต่อชาวเมียนมาทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่กำลังทรมานจากการสู้รบที่ดำเนินอยู่ และผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ที่อ่อนแอเปราะบางที่สุด เช่น เด็ก คนชรา คนป่วย และผู้ลี้ภัย ซึ่งรวมถึงชาวโรฮิงญาด้วย พ่อขอเรียกร้องจากใจต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขอให้พวกเขาหยุดใช้อาวุธ และขอให้มีการเริ่มเสวนาอย่างจริงใจและเปิดกว้างต่อทุกฝ่าย เพื่อที่จะได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร
พ่อขอทักทายลูกทุกคนในที่นี้อย่างอบอุ่น ทั้งที่เป็นชาวกรุงโรม และที่เป็นผู้แสวงบุญจากที่ต่าง ๆ พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มสัตบุรุษจากมอลตา อิสราเอล สโลวีเนีย และสเปน ตลอดจนกลุ่มจากเขตปกครองมอสตาร์-ดุฟโน และเขตปกครองเตรบีญเญ-มุร์กัน[ในประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา] และเขตปกครองอารามฟอสซาโนวา[ในอิตาลี]
ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาต่อไปเพื่อยูเครนที่ถูกเบียดเบียนทำร้ายและกำลังทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ให้เราภาวนาเพื่อปาเลสไตน์ อิสราเอล เลบานอน และซูดานด้วย ขอให้พวกเราจงวอนขอสันติภาพ
พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้มีความสุขในวันอาทิตย์ ขอให้ลูกทุกคนอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อ รับประทานอาหารกลางวันให้อร่อย แล้วพบกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บคำปราศรัย ANGELUS ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)