
สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ได้เผยแพร่คำตอบจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ต่อข้อสงสัย (dubia) ที่เสนอโดยพระคาร์ดินัล 5 ท่าน เป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องการตีความการเผยแสดงจากพระเป็นเจ้า เรื่องการอวยพรคู่รักเพศเดียวกัน เรื่องการก้าวเดินไปด้วยกัน (synodality) ในฐานะที่เป็นมิติที่เป็นพื้นฐานหนึ่งของพระศาสนจักร เรื่องการบวชสตรี และเรื่องการเป็นทุกข์ถึงบาปในฐานะที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการโปรดศีลอภัยบาป
(สำนักข่าววาติกันนิวส์)
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ได้ตอบข้อสงสัย (dubia) 5 ข้อ ที่ยื่นโดยพระคาร์ดินัลวัลเทอร์ บรันท์มืลเลอร์ (Walter Brandmüller) และพระคาร์ดินัลเรย์มอนด์ ลีโอ เบิร์ค (Raymond Leo Burke) และได้รับการสนับสนุนจากพระคาร์ดินัลอีก 3 ท่าน ได้แก่พระคาร์ดินัลฆวน ซันโดวัล อิญิเกซ พระคาร์ดินัลโรเบิร์ต ซาราห์ และพระคาร์ดินัลโยเซฟ จั่น หยัดกวั๊น (Juan Sandoval Íñiguez, Robert Sarah, and Joseph Zen Ze-kiun)
ข้อสงสัยดังกล่าวเขียนเป็นภาษาอิตาเลียน ส่วนคำตอบจากสมเด็จพระสันตะปาปาเขียนเป็นภาษาสเปน ทั้งข้อสงสัยและคำตอบได้ถูกนำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2023 บนหน้าเว็บไซต์ของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม
ต่อไปนี้เป็นข้อความคำตอบจากสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ได้แปลจากฉบับแปลชั่วคราวเป็นภาษาอังกฤษ
คำตอบจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ต่อข้อสงสัยที่ยื่นโดยพระคาร์ดินัลหลายท่าน
พี่น้องที่รัก ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่คิดว่าเป็นการรอบคอบที่จะตอบคำถามทั้งหมดที่มีผู้ถามข้าพเจ้าโดยตรง และข้าพเจ้าก็ย่อมไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่ในกรณีนี้ เมื่อคำนึงว่าการประชุมซีนอดกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ข้าพเจ้าก็ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะกระทำเช่นนั้น
1.ข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า การเผยแสดงของพระเป็นเจ้าควรได้รับการตีความใหม่ โดยมีพื้นฐานบนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน
หลังจากที่ได้มีบิชอปบางท่านมีคำแถลงที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องและไม่ได้รับการถอนคำพูดโดยผู้แถลงเอง เราทั้งหลายขอถามว่า การเผยแสดงของพระผู้เป็นเจ้าพึงได้รับการตีความใหม่ในพระศาสนจักร โดยเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในยุคสมัยปัจจุบัน และตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่สนับสนุนโดยความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นหรือไม่ หรือในทางกลับกัน การเผยแสดงของพระเป็นเจ้ามีผลผูกพันนิรันดร ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงต้องไม่มีการเห็นขัดแย้ง ตามที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้สอนไว้ว่า จะต้องมี “ความนบนอบแห่งความเชื่อ” ต่อพระเป็นเจ้าผู้ทรงเผยแสดง (Dei verbum, 5) และว่าสิ่งที่ได้ถูกเผยแสดงแล้วเพื่อความรอดของประชาชาติทั้งหลาย จะต้องคง “สมบูรณ์และเจริญชีวิตอยู่นิรันดร” และ “ได้รับส่งต่อยังผู้คนทุกรุ่นทุกยุคสมัย” (Dei verbum, 7) และว่าความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจจะต้องไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความจริงทั้งในด้านอรรถะ [คือเนื้อหาสาระ] และในด้านพยัญชนะ [คือการใช้คำ] เพราะว่าความเชื่อเป็นสิ่งที่มีการ “มอบแล้วครั้งเดียวและตลอดไป” (Dei verbum, 8) และอำนาจสอน (magisterium) ของพระศาสนจักรมิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่เป็นเพียงอำนาจในการสอนซึ่งสิ่งที่ได้รับมอบมาเท่านั้น (Dei verbum, 10)
คำตอบต่อข้อสงสัยแรก
a) คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับว่าท่านให้ความหมายต่อคำว่า “การตีความใหม่” ว่าอย่างไร หากคำนี้เป็นที่เข้าใจว่าเป็น “การตีความที่ดีขึ้น” คำพูดที่ท่านกล่าวย่อมใช้ได้ ในแง่นี้ สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้ยืนยันว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ “การตัดสินใจของพระศาสนจักรอาจเติบโตได้” (Dei verbum, 12) ผ่านการทำงานของบรรดาผู้ตีความพระคัมภีร์ และข้าพเจ้าอยากเสริมด้วยว่า ผ่านการทำงานของบรรดานักเทววิทยาด้วย
b) ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นความจริงอยู่ว่า การเผยแสดงของพระเป็นเจ้าไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้และมีผลบังคับตลอดนิรันดร แต่พระศาสนจักรจะต้องมีความสุภาพถ่อมตน และยอมรับว่าตนเองไม่สามารถดื่มด่ำความร่ำรวยไม่มีที่สิ้นสุดของการเผยแสดงของพระเป็นเจ้าได้จนหมดสิ้น และต้องยอมรับว่าพระศาสนจักรจะต้องเติบโตในการทำความเข้าใจของตนเอง
c) เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรจึงเติบโตในด้านการทำความเข้าใจต่อสิ่งที่พระศาสนจักรเองได้ยืนยันไว้ภายในการใช้อำนาจสอนของพระศาสนจักรด้วย
d) ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และความท้าทายใหม่ ๆ ในประวัติศาสตร์ ไม่ได้ทำให้การเผยแสดงเปลี่ยนรูปไป แต่อาจกระตุ้นให้เราทั้งหลายแสดงออกซึ่งแง่มุมบางอย่างในความร่ำรวยของการเผยแสดงที่หลั่งไหลออกมา และไม่หยุดยั้งที่จะมอบสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นแก่เรา ให้ได้ดียิ่งขึ้น
e) เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า สิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นอาจนำไปสู่การปรับปรุงสิ่งที่อำนาจสอนของพระศาสนจักรเคยสอนไว้ในอดีตบางอย่างให้ดียิ่งขึ้น และแน่นอนว่าเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์
f) ในด้านหนึ่ง เป็นความจริงว่าอำนาจสอนของพระศาสนจักรมิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเป็นเจ้า แต่เป็นความจริงเช่นกันว่า ทั้งข้อความในพระคัมภีร์และสิ่งที่ธรรมประเพณีได้เป็นประจักษ์พยาน จำเป็นต้องได้รับการตีความเพื่อแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นสาระที่เป็นนิรันดร สิ่งใดเป็นบริบททางสังคม สิ่งนี้เป็นเรื่องชัดเจนเมื่อเราพิจารณาตัวอย่าง เช่น ในกรณีข้อความของพระคัมภีร์ (เช่น อพย. 21,20-21) และในกรณีคำสอนที่มาจากอำนาจสอนของพระศาสนจักรที่เคยยอมรับการมีอยู่ของระบบทาส (เทียบ สารตรา Dum Diversas ของพระสันตะปาปานิโกลัสที่ 5 เมื่อปี ค.ศ. 1452) สิ่งนี้มิใช่เรื่องเล็กน้อยหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับความจริงนิรันดรเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่อาจพรากไปได้ ข้อความเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการตีความ เราอาจกล่าวได้เช่นเดียวกันกับข้อความบางส่วนในพันธสัญญาใหม่ที่เกี่ยวกับสตรี (1 คร. 11,3-10, 1 ทธ. 2,11-14) และข้อความอื่นในพระคัมภีร์ ตลอดจนสิ่งที่ธรรมประเพณีได้เป็นประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาทำซ้ำได้ทั้งอย่างนั้นในปัจจุบัน
g) เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเน้นว่า สิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้คือสิ่งที่มีการเผยแสดง “เพื่อความรอดของทุกคน” (Dei verbum, 7) ดังนั้นพระศาสนจักรจะต้องไตร่ตรองแยกแยะอยู่เสมอว่า สิ่งใดมีความสำคัญยิ่งยวดต่อความรอด และสิ่งใดมีความสำคัญรองลงมา หรือมิได้ความเกี่ยวข้องโดยตรงมากนักกับเป้าหมายนี้ ในแง่มุมนี้ ข้าพเจ้าอยากจะยกคำกล่าวของนักบุญโทมัส อะควีนัส ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ยิ่งถลำลึกลงไปในรายละเอียดมากเท่าใด เราก็ยิ่งพบกับข้อบกพร่องบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น” (Summa Theologiae I/II q. 94, art. 4)
h) ท้ายสุด การทำความเข้าใจต่อความจริงที่ได้แสดงออกมาเป็นสูตรสำเร็จบางอย่างย่อมไม่สามารถทำได้อย่างเพียงพอ หากเราใช้วิธีการนำเสนออย่างโดด ๆ ซึ่งตัดขาดจากบริบทที่มั่งคั่งร่ำรวยและสอดคล้องกันเองแห่งการเผยแสดงทั้งหมด “ลำดับศักดิ์แห่งความจริง” ยังหมายถึงการนำความจริงแต่ละข้อมาจัดวางให้มีความเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมกับความจริงต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลาง และกับองค์รวมคำสอนทั้งหมดของพระศาสนจักร สิ่งนี้อาจนำไปสู่การนำเสนอข้อคำสอนเดียวกันในหลายรูปแบบ ถึงแม้ว่า “สำหรับผู้ที่ปรารถนาอยากมีองค์คำสอนที่แน่นอนเป็นอันเดียว ซึ่งถูกพิทักษ์ป้องกันโดยทุก ๆ คน และไม่เหลือที่ว่างสำหรับความไม่ชัดเจน สิ่งนี้อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องไม่น่าพึงใจและนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย แต่แท้จริงแล้ว ความหลากหลายนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ความร่ำรวยของพระวรสาร ที่ไม่อาจดื่มด่ำได้อย่างหมดสิ้น ได้ปรากฎออกมาและมีพัฒนาการในหลายรูปแบบ” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium, 40)
2. ข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า การอวยพรคู่รักเพศเดียวกันที่มีการกระทำกันอย่างกว้างขวาง สอดคล้องกับการเผยแสดงและคำสอนที่มาจากอำนาจสอนของพระศาสนจักร (CCC 2357)
การเผยแสดงของพระเป็นเจ้าตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระศาสนจักรสอนว่าให้ “รับฟังด้วยใจศรัทธา ปกป้องรักษาด้วยความละเอียดรอบคอบ และอธิบายอย่างซื่อสัตย์ โดยสอดคล้องกับหน้าที่ที่รับมาจากพระเป็นเจ้า และโดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้า” (Dei Verbum, 10) ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อแรกเริ่มนั้น” พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิงและทรงอวยพรเขาให้มีลูกมาก (เทียบ ปฐก. 1,27-28) และตามที่นักบุญเปาโลอัครสาวกได้สอนว่า การปฏิเสธความแตกต่างทางเพศเป็นผลมาจากการปฏิเสธพระผู้สร้าง (รม. 1,24-32) เราทั้งหลายขอถามว่า พระศาสนจักรสามารถเบี่ยงเบนออกจาก “หลักการพื้นฐาน” นี้ โดยมองแย้งต่อสิ่งที่มีการสอนไว้ใน[สมณสาส์นเตือนใจ] Veritatis splendor [ของนักบุญยอห์น ปอลที่สอง] และหันมาถือว่าหลักการที่ว่านั้นเป็นเพียงอุดมคติ และยอมรับว่าสิ่งที่เป็นสภาพบาปในเชิงภววิสัย เช่น การเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันของบุคคลเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่ “อาจเป็นความดี” นั้น สามารถทำได้หรือไม่ โดยไม่เป็นการออกห่างจากข้อคำสอนที่มีการเผยแสดงไว้แล้ว
คำตอบต่อข้อสงสัยที่สอง
a) พระศาสนจักรมีความเข้าใจที่ชัดเจนอย่างยิ่งต่อการสมรสว่า เป็นการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคน ที่มีความจำเพาะผูกขาด มีเสถียรภาพ และไม่อาจลบล้างได้ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเปิดกว้างต่อการมีบุตร การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้เป็นสิ่งเดียวที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การสมรส” ขณะที่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรูปแบบอื่น สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เพียง “บางส่วน และมีความคล้ายคลึง[กับการสมรส]” เท่านั้น (สมณสาส์นเตือนใจ Amoris Laetitia, 292) จึงไม่อาจเรียกได้อย่างรัดกุมว่าเป็น “การสมรส”
b) สิ่งนี้มิได้เป็นเพียงเรื่องชื่อเรียก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทั้งหลายกล่าวว่าการสมรสมีพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญยิ่งยวดและเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน จึงจำเป็นต้องได้รับชื่อเรียกเฉพาะ อย่างที่ไม่อาจใช้กับความเป็นจริงอย่างอื่นได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า[การสมรส]เป็นมากกว่า “อุดมคติ”
c) เหตุผลนี้ทำให้พระศาสนจักรไม่ประกอบพิธีกรรมหรือสิ่งคล้ายศีลอย่างใดที่อาจ ขัดแย้งกับสิ่งที่พระศาสนจักรยึดถือเช่นนี้ ซึ่งอาจสื่อเป็นนัยว่ามีการยอมรับสิ่งอื่นที่ไม่ได้เป็นการสมรสว่าเป็นการสมรส
d) อย่างไรก็ตาม ในการที่เราทั้งหลายมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะต้องไม่สูญเสีย ความรักความเมตตาในฐานะผู้อภิบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะซึมซาบอยู่ในการตัดสินใจและทัศนคติทุกอย่างของเรา การปกป้องความจริงทางภววิสัยมิได้เป็นวิธีเดียวในการแสดงออกซึ่งความรักความเมตตาเช่นนี้ แต่อาจรวมถึงวิธีอย่างอื่นด้วย เช่น ความมีน้ำใจดี ความอดทน ความเข้าใจ ความอ่อนโยน และการให้กำลังใจ ดังนั้นเราทั้งหลายจึงไม่อาจเป็นตุลาการที่เอาแต่ไม่ยอมรับ ปฏิเสธ และปิดกั้น
e) ดังนั้น ผู้อภิบาลจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการไตร่ตรองแยกแยะให้เพียงพอว่า มีรูปแบบการอวยพรแบบใดบ้างที่อาจร้องขอโดยคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งไม่เป็นการสื่อถึงข้อความคิดเรื่องการสมรสอย่างผิด ๆ เพราะว่าเมื่อใดที่มีผู้ร้องขอให้อวยพร นั่นหมายความว่าเขาได้แสดงออกอย่างเปิดเผยขอให้พระเป็นเจ้าช่วยเหลือเขา ขอให้ตนมีชีวิตอย่างดียิ่งขึ้น และเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อมั่นวางใจต่อพระบิดาซึ่งทรงช่วยให้เราทั้งหลายมีชีวิตอย่างดียิ่งขึ้นได้
f) ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์บางอย่างที่เมื่อพิจารณาในทางภววิสัยแล้วย่อมไม่อาจยอมรับได้ในทางศีลธรรม แต่ความรักความเมตตาในฐานะผู้อภิบาล ทำให้เรามีหน้าที่ที่จะไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นเป็นเพียง “คนบาป” หากว่าความรู้สึกผิดและความรับผิดของเขาอาจผ่อนปรนได้ด้วยปัจจัยหลากหลายที่ส่งผลต่อความรับผิดเชิงอัตวิสัยของเขา
g) เมื่อมีการตัดสินใจที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ความระมัดระวังในฐานะผู้อภิบาลภายใต้สถานการณ์บางอย่าง เราจะต้องไม่ยอมให้การตัดสินใจเช่นนั้นกลายมาเป็นบรรทัดฐานเสมอไป กล่าวคือ ไม่เป็นการเหมาะสมที่เขตศาสนปกครอง สภาบิชอป หรือองค์กรพระศาสนจักรอื่น ๆ จะจัดตั้งกระบวนการหรือพิธีกรรมสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเป็นทางการ เพราะว่าสิ่งที่ “เป็นส่วนหนึ่งของการไตร่ตรองแยกแยะเชิงปฏิบัติในสถานการณ์เฉพาะกรณี” [ไม่ได้เป็นสิ่งที่] “สามารถยกฐานะขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ได้” ไปเสียทุกอย่าง เพราะว่าหากทำเช่นนั้นแล้ว อาจนำไปสู่ “การแยกปฏิบัติเป็นรายกรณีอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้” (สมณสาส์นเตือนใจ Amoris Laetitia, 304) กฎหมายพระศาสนจักรไม่ควรครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง และไม่อาจครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วย สภาบิชอปเองก็เช่นกัน สภาบิชอปไม่ควรใช้เอกสารและข้อปฏิบัตินานาชนิดเพื่ออ้างตัวว่าสามารถ[กำกับดูแล]ทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะว่าภายในชีวิตของพระศาสนจักร มีช่องทางอื่น ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้เป็นเรื่องบรรทัดฐาน
3. ข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า การก้าวเดินไปด้วยกัน (synodality) เป็น “มิติหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของพระศาสนจักร” (สมณธรรมนูญ Episcopalis communio, 6) และว่าธรรมชาติของพระศาสนจักรเป็นการก้าวเดินไปด้วยกัน
เมื่อพิจารณาข้อที่ว่าที่ประชุมซีนอดของบิชอปมิได้เป็นผู้แทนของบิชอปทั้งหมด แต่เป็นองค์คณะที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา และข้อที่ว่าบรรดาบิชอปในฐานะพยานแห่งความเชื่อ ไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นประกาศยืนยันความจริงแทนตนได้ จึงมีคำถามว่า การก้าวเดินไปด้วยกัน (synodality) อาจใช้เป็นเงื่อนไขการกำกับดูแลการบริหารงานของพระศาสนจักรอย่างถาวรได้หรือไม่ โดยไม่เป็นการบิดเบือนโครงสร้างพื้นฐานที่[องค์พระผู้เป็นเจ้า] ผู้ทรงก่อตั้งพระศาสนจักร ทรงมีความปรารถนาให้สิทธิอำนาจสูงสุดและครบบริบูรณ์ของพระศาสนจักรเป็นสิทธิอำนาจที่ใช้ได้ทั้งโดยสมเด็จพระสันตะปาปา อาศัยตำแหน่งของพระองค์ และโดยบิชอปทั้งหมดร่วมกับหัวหน้าของเขา กล่าวคือ สมเด็จพระสันตะปาปา ผู้เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม (Lumen gentium, 22)
คำตอบต่อข้อสงสัยที่สาม
a) ถึงแม้ว่าท่านทั้งหลายจะยอมรับว่า สิทธิอำนาจสูงสุดและครบบริบูรณ์ของพระศาสนจักรเป็นสิทธิอำนาจที่ใช้ได้ทั้งโดยสมเด็จพระสันตะปาปา อาศัยตำแหน่งของพระองค์ และโดยบิชอปทั้งหมดร่วมกับหัวหน้าของเขา กล่าวคือ สมเด็จพระสันตะปาปา ผู้เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม (เทียบ สมณธรรมนูญ Lumen gentium ของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง, 22) แต่การที่ท่านทั้งหลายตั้งคำถามเช่นนี้ ท่านก็ได้แสดงออกว่าท่านเองจำเป็นต้องมีส่วนร่วม แสดงออกซึ่งความคิดเห็นของท่านอย่างเสรี และร่วมมือในการทำหน้าที่อภิบาลรับใช้ของข้าพเจ้า เท่ากับว่าท่านทั้งหลายเรียกร้องให้มีการ “ก้าวเดินไปด้วยกัน” ในรูปแบบหนึ่งแล้ว
b) พระศาสนจักรเป็น “พระธรรมล้ำลึกแห่งความสนิทสัมพันธ์เพื่อการแพร่ธรรม” แต่ความสนิทสัมพันธ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกผูกพันหรือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน ความสนิทสัมพันธ์นี้หมายถึงการมีส่วนร่วมในความเป็นจริงด้วย ไม่เฉพาะภายในฐานานุกรมของพระศาสนจักร แต่จะต้องให้ประชากรของพระเป็นเจ้าทั้งหมดได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและได้รับการรับฟังในหนทางและระดับต่าง ๆ ที่หลากหลาย และให้เขารู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของพระศาสนจักร ในความหมายนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าการก้าวเดินไปด้วยกัน ทั้งในฐานะรูปแบบและในฐานะพลวัต เป็นมิติที่สำคัญยิ่งยวดในชีวิตของพระศาสนจักร ในเรื่องนี้ นักบุญยอห์น ปอลที่สองได้กล่าวบางสิ่งที่สวยงามไว้ใน [สมณลิขิต] Novo millennio ineunte
c) ทว่า[การก้าวเดินไปด้วยกัน] ไม่ใช่การนำวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดของการประชุมซีนอด อย่างเป็นที่พึงปรารถนาของคนบางกลุ่ม มายกฐานะให้ศักดิ์สิทธิ์หรือนำมายัดเยียดให้แก่ผู้อื่น ผ่านการทำให้วิธีการเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐานและเป็นหนทางภาคบังคับสำหรับทุกคน เพราะว่าการทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้เส้นทางการก้าวเดินไปด้วยกันถูก “แช่แข็ง” และเป็นการละเลยลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันของพระศาสนจักรท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการละเลยซึ่งความหลากหลายที่ร่ำรวยของพระศาสนจักรสากล
4. ข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า ผู้อภิบาลและนักเทววิทยาให้การสนับสนุนต่อทฤษฎีที่ว่า “เทววิทยาเรื่องพระศาสนจักรได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” จึงสามารถโปรดศีลบวชแก่สตรีได้
จากการที่มีผู้ใหญ่ในฐานานุกรมของพระศาสนจักรจำนวนหนึ่ง มีคำแถลงที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องและไม่ได้รับการถอนคำพูดจากผู้แถลงเอง อ้างว่า สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเทววิทยาเรื่องพระศาสนจักรและความหมายของพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงมีคำถามว่า คำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ที่ระบุว่า สมณภาวะทั่วไปของบรรดาผู้เชื่อและสมณภาวะของบรรดาศาสนบริกรมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงความแตกต่างในด้านความมากน้อย (Lumen gentium, 10) และว่าบาทหลวงทั้งหลาย “อาศัยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของศีลบวชในการถวายเครื่องบูชาและการอภัยบาป” (Presbyterorum ordinis, 2) กระทำการในนามและในบุคคลของพระคริสตเจ้าผู้เป็นตัวกลาง ซึ่งอาศัยกิจการของบาทหลวง การถวายบูชาฝ่ายจิตของบรรดาผู้เชื่อถูกทำให้สมบูรณ์นั้น ยังคงใช้ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า คำสอนของนักบุญยอห์น ปอลที่สอง ในสมณลิขิต Ordinatio sacerdotalis ที่สอนให้ยึดถืออย่างเด็ดขาดเป็นความจริงว่าการโปรดศีลบวชแก่สตรีเป็นบาทหลวงไม่อาจเป็นไปได้นั้น ยังคงใช้ได้หรือไม่ เพื่อที่ว่าคำสอนนี้จะไม่ถูกนำไปแก้ไขหรือนำไปถกเถียงอย่างเสรีโดยบรรดาผู้อภิบาลและนักเทววิทยา
คำตอบต่อข้อสงสัยที่สี่
a) “สมณภาวะทั่วไปของบรรดาผู้เชื่อและสมณภาวะของบรรดาศาสนบริกรมีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ” (สมณธรรมนูญ Lumen gentium, 10) ดังนั้น จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะกล่าวว่ามีความแตกต่างเรื่องความมากน้อย หากเป็นการกล่าวในแง่ที่อาจเข้าใจไปว่าสมณภาวะทั่วไปของบรรดาผู้เชื่อเป็นเพียงสมณภาวะ “ชั้นสอง” หรือมีคุณค่าด้อยกว่า ด้วยสมณภาวะทั้งสองประเภทล้วนส่องสว่างซึ่งกันและกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
b) ในการที่นักบุญยอห์น ปอลที่สองได้สอนว่า เราจะต้องยืดถือ “อย่างเด็ดขาด” ว่าการบวชสตรีเป็นบาทหลวงไม่สามารถทำได้นั้น ท่านไม่ได้ด้อยค่าสตรีหรือทำให้บุรุษมีอำนาจสูงสุดแต่อย่างใด ท่านยังได้สอนในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เวลาที่เราพูดถึงสิทธิอำนาจของบาทหลวง “เรากำลังพูดเรื่องหน้าที่ ไม่ใช่เรื่องศักดิ์ศรีหรือความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (สมณสาส์นเตือนใจ Christifideles laici หลังการประชุมซีนอด, 51) คำพูดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้น้อมรับกันอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ท่านยังได้ยึดถืออย่างชัดแจ้งว่า ถึงแม้ผู้ที่เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณจะต้องเป็นบาทหลวงเท่านั้น แต่งานต่าง ๆ ที่ต้องทำ “ไม่ได้ทำให้สถานะ[ของบาทหลวง]เหนือกว่า[สัตบุรุษ]” (Christifideles laici, หมายเหตุ 190; เทียบ คำประกาศ Inter insigniores ของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม, VI) ท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า ถึงแม้หน้าที่ของบาทหลวงจะมี “ความเป็นฐานานุกรม” แต่พึงเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของการครอบงำ แต่เป็นสิ่งที่ “จัดระบบระเบียบทั้งครบเพื่อมุ่งสู่ความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของพระกายพระคริสตเจ้า” (สมณลิขิต Mulieris dignitatem, 27) หากเราไม่เข้าใจเรื่องนี้ และไม่ทำให้การแยกแยะนี้มีผลในทางปฏิบัติ ก็ย่อมจะเป็นเรื่องยากในการยอมรับข้อที่ว่าการเป็นบาทหลวงสงวนไว้สำหรับบุรุษเท่านั้น และเราย่อมจะไม่เห็นถึงสิทธิต่าง ๆ ของสตรี หรือความจำเป็นที่สตรีจะต้องมีบทบาทในหนทางต่าง ๆ ของการนำพาพระศาสนจักร
c) ในอีกด้านหนึ่ง หากจะกล่าวให้เข้มงวดรัดกุม ก็ให้เรายอมรับว่าในเรื่องธรรมชาติของ “คำแถลงที่เด็ดขาด” นั้น ยังไม่มีคำสอนที่ชัดเจนและต้องยึดถือเด็ดขาดที่พัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์เต็มที่ สิ่งที่ได้กล่าวไปนี้ยังไม่ได้มีการให้นิยามว่าเป็นข้อความเชื่อ แต่ก็ยังต้องเป็นที่ยึดถือของทุกคนอยู่ดี ไม่มีใครที่สามารถโต้แย้ง [คำแถลงที่เด็ดขาด] ได้โดยเปิดเผย แต่ขณะเดียวกัน [คำแถลงที่เด็ดขาด] ก็อาจเป็นวัตถุของการศึกษาค้นคว้าได้ เช่นเดียวกับกรณีเรื่องผลสมบูรณ์ของการบวชในนิกายแองกลิกัน
5. ข้อสงสัยเกี่ยวกับคำกล่าวที่ว่า “การได้รับอภัยเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง” และการที่สมเด็จพระสันตะปาปาได้กล่าวว่า[บาทหลวง]มีหน้าที่ให้อภัยทุกคนในทุกเวลา จึงหมายความว่าการกลับใจไม่ใช่เงื่อนไขจำเป็นสำหรับการโปรดศีลอภัยบาป
มีคำถามว่า คำสอนของสภาสังคายนานครเทรนต์ที่กล่าวว่า ความเป็นทุกข์ถึงบาปของผู้ที่จะรับศีลอภัยบาป อันประกอบด้วยการเกลียดชังบาปที่ได้กระทำไป และการตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำบาปอีก เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะให้ศีลอภัยบาปมีผลสมบูรณ์นั้น ยังคงใช้ได้หรือไม่ ในแง่ที่ว่า บาทหลวงจะต้องไม่โปรดศีลอภัยบาปหากเป็นที่ชัดแจ้งว่าไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขนี้
คำตอบต่อข้อสงสัยที่ห้า
a) การกลับใจ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่การโปรดศีลอภัยบาปจะมีผลสมบูรณ์ ทั้งนี้รวมถึงความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ทำบาปอีก แต่ในที่นี้เราไม่ได้มาทำการคำนวณบวกลบคูณหาร และข้าพเจ้าต้องย้ำเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งว่า ห้องสารภาพบาปไม่ใช่ด่านศุลกากร เราทั้งหลายไม่ใช่เจ้านายคนอื่น แต่เป็นเพียงผู้รับใช้ที่ต่ำต้อยแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงสัตบุรุษ เพราะว่าศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นของขวัญจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้ เป็นความช่วยเหลือที่พระจิตเจ้าประทานให้สำหรับชีวิตของผู้คน ไม่ใช่เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องหวงห้ามรักษาไว้
b) การแสดงออกซึ่งการกลับใจสามารถทำได้หลายวิธี บ่อยครั้งที่การต้องประกาศตนเองว่าเป็นคนผิดบาป เป็นสิ่งสร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่อผู้คนที่ความมั่นใจในตนเองถูกทำลายไปอย่างรุนแรง แต่การที่เขามาขอรับศีลอภัยบาป ก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในตัวเองอยู่แล้วว่า เขาเป็นทุกข์เสียใจถึงบาป และวอนขอให้พระเป็นเจ้าช่วยเหลือเขา
c) ข้าพเจ้าอยากจะเน้นย้ำว่าในการดูแลอภิบาล “บางครั้งเราคิดว่าเป็นเรื่องยากในการเว้นที่ว่างให้แก่ความรักของพระเป็นเจ้าอันปราศจากเงื่อนไข” (สมณสาส์นเตือนใจ Amoris laetitia, 311) แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะทำเช่นนี้ ข้าพเจ้ายึดมั่นดังที่นักบุญยอห์น ปอลที่สองได้สอนไว้ว่า เราไม่ควรเรียกร้องให้สัตบุรุษ [สารภาพบาป] อย่างเที่ยงตรงรัดกุมจนเกินไป หรือเรียกร้องให้เขามีจิตใจตั้งมั่นบางอย่างว่าจะปรับปรุงตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในท้ายที่สุดแล้วอาจกลายเป็นของนามธรรมหรือแม้กระทั่งกลายเป็นความหลงตัวเองก็ได้ ถึงแม้จะคาดการณ์ได้ว่า [ผู้ที่ได้รับอภัยบาปไปแล้ว]จะล้มลงอีก แต่นี่ไม่ได้เป็นการ “บ่อนทำลายความถูกต้องแท้จริงของวัตถุประสงค์” (จดหมายถึงพระคาร์ดินัลวิลเลียม ว. เบาม์ และผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรประจำปีของศาลพระศาสนจักรเพื่อชีวิตจิตภายใน วันที่ 22 มีนาคม 1996, ข้อ 5)
d) ท้ายสุดนี้ เป็นเรื่องชัดเจนว่า เงื่อนไขที่โดยทั่วไปมาพร้อมกับการสารภาพบาป โดยปกติแล้วจะไม่นำมาใช้เมื่อบุคคล [ที่ต้องการรับศีลอภัยบาป] อยู่ในภาวะทุกข์ทรมาน หรือเป็นผู้มีสมรรถภาพจำกัดในทางจิตใจหรือทางจิตวิทยา
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บคำตอบของพระสันตะปาปาฟรานซิสเกี่ยวกับประเด็นที่พระคาร์ดินัลบางท่าน “มีข้อสงสัย” จึงนำมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)