MESSAGE OF HIS HOLINESS POPE FRANCIS
FOR THE IV WORLD DAY FOR GRANDPARENTS AND THE ELDERLY
สารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
เนื่องในโอกาสวันปู่ย่าตายายและวันคนชราโลก ครั้งที่ 4

พี่น้องชายหญิงที่รัก
พระเจ้าย่อมไม่ทรงทอดทิ้งบุตรชายหญิงของพระองค์เลย ถึงแม้ว่าเราทั้งหลายจะมีอายุมาก มีพละกำลังถดถอยลง มีเส้นผมหงอก มีบทบาทในสังคมน้อยลง มีผลิตภาพในชีวิตน้อยลงเรื่อย ๆ และเสี่ยงที่จะถูกมองว่าไม่มีประโยชน์แล้วก็ตาม พระเจ้าไม่ทรงมองเพียงรูปลักษณ์ภายนอก (เทียบ 1 ซมอ. 16,7) พระองค์ไม่ทรงรังเกียจที่จะเลือกผู้คนที่อาจดูเหมือนไม่มีความสำคัญในสายตาของคนจำนวนมาก พระเจ้าย่อมไม่ทรงทอดทิ้งศิลาก้อนใดเลย จริงทีเดียวว่า [ศิลา]ที่ “เก่ามาก” อาจเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับวางศิลา “ก้อนใหม่ ๆ” เพื่อก่อร่างขึ้นเป็นสิ่งก่อสร้างทางจิตวิญญาณ (เทียบ 1 ปต. 2,5) ได้
เนื้อหาโดยรวมของพระคัมภีร์เป็นเรื่องราวแห่งความรักมั่นคงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมอบเสนอความมั่นใจที่เป็นความบรรเทาใจให้แก่เราทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงแสดงพระเมตตาของพระองค์เสมอ ในทุกเมื่อ ในทุกระยะของชีวิต ในทุกสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญ แม้กระทั่งในยามที่เราทั้งหลายหักหลังพระองค์ก็ตาม หนังสือเพลงสดุดีเป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอัศจรรย์ใจของจิตใจมนุษย์เมื่อมาอยู่ต่อหน้าพระเจ้า ผู้ทรงเอาพระทัยใส่แก่เราทั้งหลาย แม้ว่าเราทั้งหลายจะต่ำต้อยไม่มีความสำคัญ (เทียบ สดด. 144,3-4) หนังสือเพลงสดุดีทำให้เรามั่นใจว่า พระเจ้าทรงออกแบบก่อร่างเราแต่ละคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา (เทียบ สดด. 139,13) และถึงแม้จะเป็นในแดนมรณะ แต่พระองค์ก็ย่อมไม่ทอดทิ้งชีวิตของเราทั้งหลายเลย (เทียบ สดด. 16,10) ดังนั้น เราทั้งหลายจึงมั่นใจได้ว่า แม้ในยามที่เราทั้งหลายแก่ชรา พระเจ้าก็จะทรงอยู่เคียงข้างเราเช่นกัน เหนือสิ่งอื่นใดเป็นเพราะว่า ในพระคัมภีร์ การแก่ชราเป็นหนึ่งในเครื่องหมายแห่งพระพร
ในขณะเดียวกัน หนังสือเพลงสดุดีก็มีเนื้อหาส่วนที่เป็นการวิงวอนด้วยใจจริงถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “ขอพระองค์อย่าทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าในวัยชรา” (สดด. 71,9) คำพูดเช่นนี้ช่างหนักแน่น หรืออาจถึงขั้นหยาบกระด้าง คำพูดนี้ทำให้เราทั้งหลายคิดถึงพระมหาทรมานอันสูงสุดของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเปล่งเสียงดังบนไม้กางเขนว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มธ. 27,46)
เช่นนี้เอง เราทั้งหลายย่อมเห็นได้ว่า ขณะที่ในพระคัมภีร์มีการยืนยันอย่างมั่นใจว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดกับเราทั้งหลายในทุกระยะของชีวิต แต่ก็มีเรื่องความกลัวที่จะถูกทอดทิ้งเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยชราและในยามที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทรมาน สองสิ่งนี้ไม่ได้ขัดแย้งกันเอง หากเราพิจารณาความเป็นจริงรอบตัวเรา ย่อมไม่เป็นการยากที่จะเห็นว่า ข้อความในพระคัมภีร์ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่ความโดดเดี่ยวกลายเป็นสิ่งเดียวที่อยู่กับชีวิตของเราทั้งหลายเมื่อเราเข้าสู่วัยชราหรือกลายเป็นปู่ย่าตายาย เวลาที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยือนบ้านพักคนชราขณะที่ข้าพเจ้าเป็นบิชอปแห่งบัวโนสไอเรส บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าได้เห็นว่าคนที่นั่นแทบจะไม่มีใครไปเยี่ยมเยือนเขาเลย บางคนไม่เคยได้พบหน้าคนในครอบครัวของตนถึงหลายเดือน
ความโดดเดี่ยวเช่นนี้มีสาเหตุหลายประการ ในหลายที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน มีคนชราที่ต้องตกอยู่ในความโดดเดี่ยวเพราะว่าบุตรหลานของเขาถูกบีบให้อพยพย้ายถิ่น นอกจากนี้ ข้าพเจ้าก็ยังคิดคำนึงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งมากมาย มีคนชรามากมายที่ถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว เหตุว่าบรรดาผู้ชายทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นเยาวชนถูกเรียกให้ไปสู้รบ ขณะที่บรรดาผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีลูกยังเล็กอยู่นั้น ต้องเดินทางออกจากประเทศของตนเพื่อแสวงหาความปลอดภัยให้แก่บุตรชายหญิง มีคนชรามากมายถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอยู่ภายในเมืองและหมู่บ้านที่พังพินาศจากสงคราม พวกเขาเป็นเครื่องหมายอันเดียวที่บ่งชี้ถึงชีวิตท่ามกลางพื้นที่ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าถูกครอบงำโดยการทอดทิ้งและความตาย ขณะที่ในที่อื่น ๆ ของโลก เราทั้งหลายก็ได้เห็นว่า ในวัฒนธรรมท้องถิ่นบางแห่งมีความคิดอย่างผิด ๆ ฝังรากลึกอยู่ ความคิดเช่นนี้ทำให้คนชราถูกมองว่าเป็นศัตรู ถูกสงสัยว่าใช้เวทมนตร์คาถาดูดเอาความมีชีวิตชีวาไปจากคนหนุ่มสาว โดยเมื่อใดที่มีคนป่วยหรือคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเมื่อมีคนหนุ่มสาวประสบกับเรื่องไม่ดี ก็จะมีการกล่าวโทษคนชราบางคนว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องร้ายนั้น ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่จะต้องต่อสู้และกำจัดให้หมดไป ความคิดแบบนี้เป็นอคติไร้เหตุผลอย่างหนึ่งที่คริสต์ศาสนาได้ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากอคติเช่นนี้ แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และสุมไฟให้เกิดความขัดแย้งระหว่างวัยขึ้นระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนชรา
อย่างไรก็ตาม หากเราคิดพิจารณาให้ดี เราก็จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ในทุกที่ทุกแห่งกำลังมีการกล่าวโทษว่า คนชรา “ปล้นเอาอนาคตไปจากคนหนุ่มสาว” การกล่าวโทษลักษณะนี้อำพรางตัวอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ และมีอยู่แม้กระทั่งในสังคมที่มีความก้าวหน้าทันสมัยที่สุด ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้มีความคิดแพร่หลายว่า คนชรากำลังสร้างภาระแก่คนหนุ่มสาว เหตุว่าบริการทางสังคมที่จำเป็นสำหรับคนชรานั้นมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นการผันแย่งเอาทรัพยากรไปจากการพัฒนาประชาคม จึงหมายถึงเป็นการแย่งทรัพยากรไปจากคนหนุ่มสาวด้วย มุมมองเช่นนี้เป็นการบิดเบือนความจริง และเป็นการถือเอาเองว่า การเอาชีวิตรอดของคนชราทำให้คนหนุ่มสาวต้องเผชิญกับความเสี่ยง และว่ามีความจำเป็นต้องละเลยหรือแม้กระทั่งกดขี่ข่มเหงคนชราเพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์แก่คนหนุ่มสาว ความขัดแย้งระหว่างวัยเช่นนี้เป็นสิ่งผิด และเป็นผลไม้มีพิษที่เกิดจากวัฒนธรรมแห่งความขัดแย้ง การสร้างความเป็นศัตรูระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนชราเป็นการชักใยรูปแบบหนึ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ “สิ่งสำคัญคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้คนในช่วงชีวิตต่าง ๆ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่แท้จริงสำหรับการทำความเข้าใจและเคารพคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในแบบองค์รวม” (การสอนคำสอนต่อเนื่องของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022)
เพลงสดุดีที่ได้อ้างถึงข้างต้น ซึ่งเป็นคำขอร้องไม่ให้ตนต้องถูกทอดทิ้งในวัยชรา เป็นสิ่งที่เผชิญหน้าการสมคบคิดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของบรรดาคนชรา การกล่าวเช่นนี้อาจดูเป็นเรื่องเกินจริง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย หากเราทั้งหลายพิจารณาความเป็นจริงที่ว่า การที่คนชราต้องโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากแต่เป็นผลของการตัดสินใจ ไม่ว่าจะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือการตัดสินใจส่วนบุคคล ที่ไม่ยอมรับว่าบุคคลแต่ละคนมีคุณค่าอันพ้นประมาณ ซึ่ง “อยู่เหนือกว่าสภาวะแวดล้อม สถานะ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่บุคคลหนึ่งอาจต้องประสบ” (คำประกาศ Dignitas infinita, ข้อ 1) สิ่งแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อเราทั้งหลายมองไม่เห็นว่าปัจเจกแต่ละคนมีคุณค่า และเมื่อมีการตัดสินผู้คนโดยใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเกณฑ์วัด ซึ่งในบางกรณีอาจมีความคิดว่าค่าใช้จ่ายเช่นนี้สูงเกินไป และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ บ่อยครั้งคนชราเองก็ตกเป็นเหยื่อของกรอบวิธีคิดเช่นนี้ด้วย กล่าวคือ พวกเขาถูกทำให้คิดว่าตนเองเป็นภาระ และถูกทำให้รู้สึกว่าพวกตนสมควรเป็นคนแรกที่จะถอนตัวออกไป
ทุกวันนี้ ชายหญิงจำนวนมากกำลังแสวงหาความเติมเต็มส่วนตัว ภายในชีวิตที่ถูกมองว่าควรจะแยกออกจากผู้อื่นและควรเป็นอิสระให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การมีสังกัดในกลุ่มกำลังเผชิญกับวิกฤติ ขณะที่แนวคิดแบบปัจเจกนิยมถูกมองว่าเป็นเรื่องดี การเปลี่ยนผ่านจาก “พวกเรา” กลายเป็น “ตัวเรา” เป็นหนึ่งในเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดที่สุดในยุคสมัยของเราทั้งหลาย ขณะที่ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งแรกและเป็นรากฐานอันสำคัญที่สุดที่ประกาศว่าเราไม่สามารถช่วยตนเองให้รอดได้ด้วยตัวคนเดียวนั้น ก็กำลังตกเป็นเหยื่ออันหนึ่งของวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมอันนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทั้งหลายเข้าสู่วัยชรา เมื่อกำลังวังชาของเราถดถอยลง ภาพลวงตาของแนวคิดปัจเจกนิยมที่บอกว่าเราไม่จำเป็นต้องมีคนอื่น และบอกว่าเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคมนั้น [ก็ย่อมจะจางหายไป] เผยให้เห็นถึงความจริงอย่างที่เป็น จริงทีเดียวว่า[เมื่อเราทั้งหลายแก่ตัวลง] เราทั้งหลายก็ย่อมจะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับเรา แต่ใน[ช่วงชีวิตแห่งวัยชรานั้น] เรากลับพบว่าตนเองอยู่โดดเดี่ยว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ไม่มีใครที่จะพึ่งพาได้ การค้นพบ[ความเป็นจริง]อันนี้เป็นสิ่งที่โหดร้าย ซึ่งหลายคนได้ค้นพบต่อเมื่อสายไปแล้ว
ความโดดเดี่ยวและการทอดทิ้งได้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าภายในสังคมทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้มีรากเหง้าหลายประการ ในบางกรณีอาจเป็นผลจากการกีดกันที่มีการคิดวางแผนไว้ คือเป็นผลจาก “การสมคบคิดทางสังคม” ที่สมควรตำหนิ ขณะที่ในบางกรณีก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ว่า [ความโดดเดี่ยวและการถูกทอดทิ้ง]มาจากการตัดสินใจส่วนตัวของปัจเจก ขณะที่ในบางกรณี คนชราเองกลับยอมแพ้ต่อความเป็นจริงอันนี้ โดยทำเหมือนกับว่า[ความโดดเดี่ยวและการถูกทอดทิ้ง]เป็นสิ่งที่เขาเลือกเองโดยสมัครใจ เราทั้งหลายกำลังสูญเสีย “รสชาติแห่งความเป็นพี่น้องกัน” (สมณสาส์นเวียน Fratelli tutti, ข้อ 33) ไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเรื่องยากแม้กระทั่งจะคิดหาหนทางอื่น
เราอาจเห็นได้ว่ามีความรู้สึกยอมแพ้อยู่ภายในจิตใจของคนชราจำนวนมาก ดังที่มีการกล่าวถึงไว้ในหนังสือนางรูธ ซึ่งเล่าเรื่องของนาโอมีผู้เป็นหญิงชรา หลังจากสามีและบรรดาบุตรชายของเธอเสียชีวิต นาโอมีก็ได้บอกให้ลูกสะใภ้ทั้งสองของตน คือโอรปาห์กับรูธ เดินทางกลับไปยังบ้านเมืองของพวกเธอ (เทียบ นรธ. 1,8) นาโอมีเองก็ไม่ต่างจากคนชราจำนวนมากทุกวันนี้ กล่าวคือ เธอรู้สึกกลัวที่จะต้องอยู่คนเดียว แต่เธอก็ไม่อาจจินตนาการถึงสิ่งอื่นได้ ในฐานะแม่ม่าย นาโอมีรู้ว่าตนเองไม่มีคุณค่ามากนักในสายตาของสังคม เธอเห็นว่าตนเองเป็นภาระหนักสำหรับหญิงสาวสองคนซึ่งยังมีอนาคตอยู่ข้างหน้าอีกยาวไกลไม่เหมือนกับตัวเธอเอง ด้วยเหตุนี้ เธอจึงคิดว่าเป็นการดีที่สุดที่ตนเองจะถอนตัวออกไป และเธอได้กล่าวต่อลูกสะใภ้ทั้งสองที่ยังมีอายุไม่มากว่า จงละทิ้งฉัน และจงไปสร้างอนาคตในที่อื่น (เทียบ นรธ. 1,11-13) คำพูดของนาโอมีสะท้อนถึงธรรมเนียมนิยมทางสังคมและทางศาสนาที่เข้มงวดในยุคสมัยนั้น ซึ่งดูเหมือนว่าได้ปิดตายชะตากรรมของเธอ
ต่อคำพูดของนาโอมีและต่อความชราของเธอ พระคัมภีร์ได้นำเสนอคำตอบสองแบบที่แตกต่างกัน ลูกสะใภ้คนหนึ่งคือโอรปาห์ ซึ่งมีความรักต่อนาโอมี ได้จุมพิตนาโอมี และออกเดินทางไป โดยยอมรับสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นทางออกเดียวที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม [ลูกสะใภ้อีกคนหนึ่ง]คือรูธ กลับไม่ยอมไปจากนาโอมี รูธกล่าวกับนาโอมีว่า “แม่อย่าเร่งรัดให้ดิฉันละทิ้งแม่ [หรือห้ามดิฉันไม่ให้ไปกับแม่เลย]” (นรธ. 1,16) รูธไม่เกรงกลัวที่จะท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติและวิธีคิดดังที่มีการปลูกฝัง หากแต่เธอรู้สึกว่าหญิงชราต้องการเธอ เธอจึงอยู่เคียงข้างหญิงชราผู้นี้อย่างอาจหาญ และสิ่งนี้เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางครั้งใหม่ของทั้งสองคน สำหรับเราทั้งหลายที่คุ้นชินกับความคิดที่ว่า ความโดดเดี่ยวเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หนังสือนางรูธได้สอนว่า เมื่อเราได้ยินคำขอร้องว่า “อย่าทอดทิ้งฉัน” การตอบว่า “ฉันจะไม่ทอดทิ้งท่าน” ก็เป็นหนทางหนึ่งที่เป็นไปได้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะดูเหมือนไม่มีทางย้อนกลับ แต่รูธก็ไม่มีความลังเลใจที่จะพลิกสถานการณ์อันนี้ [ดังนั้น] การมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวจึงไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลือกเดียว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลยที่รูธ ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างนาโอมีผู้ชรา จะได้เป็นบรรพบุรุษของพระเมสสิยาห์ (เทียบ มธ. 1,5) ได้เป็นบรรพบุรุษของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงพระนามว่าอิมมานูเอล คือ “พระเจ้าสถิตกับเรา” ผู้ทรงนำความใกล้ชิดของพระเจ้ามาประทานแก่มนุษย์ทั้งมวล ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด หรืออยู่ในระยะใดของชีวิตก็ตาม
ความกล้าหาญและเสรีภาพของรูธเป็นสิ่งที่เชื้อเชิญให้เราทั้งหลายเลือกเส้นทางอย่างใหม่ ขอให้เราทั้งหลายจงเดินตามรูธไป ขอให้เราก้าวเดินไปกับ[รูธ]ผู้เป็นหญิงสาวต่างชาติต่างถิ่น และกับนาโอมีผู้ชรา ขอให้เราทั้งหลายอย่าเกรงกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยชินของเรา เพื่อที่เราจะได้จินตนาการอนาคตแบบใหม่สำหรับบรรดาคนชรา ขอให้เราทั้งหลายจงแสดงความขอบคุณของผู้คนที่กำลังกระทำตนตามแบบอย่างรูธ ในการที่เขาทั้งหลายดูแลเอาใจใส่คนชรา หรืออาจเป็นเพียงการแสดงความใกล้ชิดในแต่ละวันให้แก่ญาติหรือมิตรสหายที่ไม่มีใครอยู่เคียงข้างเขาแล้ว การกระทำเช่นนี้บ่อยครั้งอาจต้องอาศัยความเสียสละอย่างมาก โดยเมื่อรูธเลือกที่จะอยู่ใกล้ชิดกับนาโอมี ต่อมาเธอก็ได้รับพระพร คือได้มีชีวิตสมรสที่มีความสุข ได้มีครอบครัว ได้มีถิ่นฐานใหม่ ซึ่งสิ่งนี้สามารถใช้ได้กับทุกกรณี [ดังนั้น] หากเราทั้งหลายเลือกที่จะอยู่ใกล้ชิดกับคนชรา และยอมรับบทบาทพิเศษของคนชราภายในครอบครัว ภายในสังคม และภายในพระศาสนจักร เราทั้งหลายก็ย่อมจะได้รับของประทานมากมาย ได้รับพระหรรษทานมากมาย และได้รับพระพรอย่างมากมายด้วยเช่นกัน
ในโอกาสวันปู่ยาตายายและวันคนชราโลกครั้งที่ 4 นี้ ขอให้เราทั้งหลายจงแสดงความรักที่อ่อนโยนแก่บรรดาปู่ย่าตายายตลอดจนคนชราภายในครอบครัวของเรา ขอให้เราใช้เวลาอยู่กับผู้คนที่สูญเสียกำลังใจและมองไม่เห็นความหวังว่าจะมีอนาคตแบบอื่นที่เป็นไปได้ ขอให้เราทั้งหลายจงละทิ้งทัศนคติที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีแต่จะนำไปสู่ความโดดเดี่ยวและการทอดทิ้ง ขอให้เราทั้งหลายหันมาแสดงน้ำใจกว้างและใบหน้าอันเปี่ยมด้วยความปีติยินดีในแบบผู้คนชายหญิงที่มีความกล้าหาญ ในการกล่าวว่า “ฉันจะไม่ทอดทิ้งท่าน” และในการก้าวเดินออกไปบนเส้นทางที่ต่างจากเดิม
ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นปู่ย่าตายายและเป็นคนชรา ตลอดจนผู้คนที่ใกล้ชิดท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะอธิษฐานภาวนาเพื่อท่านทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายอย่าลืมภาวนาเพื่อข้าพเจ้าด้วย
ให้ไว้ที่มหาวิหารนักบุญยอห์นที่ลาเตรัน กรุงโรม ณ วันที่ 25 เมษายน 2024
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร
เก็บสารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเนื่องในโอกาสวันปู่ย่าตายายและวันคนชราโลก ครั้งที่ 4 มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)