SUNDAY OF THE WORD OF GOD
HOLY MASS
พิธีบูชาขอบพระคุณ วันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2024
ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 ของเทศกาลธรรมดา


เราทั้งหลายเพิ่งจะได้ฟังพระวาจา ที่พระเยซูเจ้าตรัสกับ[ซีโมนและอันดรูว์]ว่า “จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์” จากนั้นพวกเขา “ก็ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที”(มก. 1,17-18) พระวาจาของพระเจ้ามีพลังยิ่งใหญ่ ดังที่พวกเราได้ยินไปในบทอ่านแรกว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับโยนาห์อีกครั้งหนึ่งว่า ‘จงลุกขึ้นไปยังกรุงนีนะเวห์นครใหญ่ และประกาศเรื่องที่เราจะบอกท่านแก่เขา’ โยนาห์ก็ลุกขึ้นไปยังกรุงนีนะเวห์ตามพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ยนา. 3,1-3) พระวาจาของพระเจ้าย่อมปลดปล่อยซึ่งพลังแห่งพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นพลังที่ดึงดูดคนมายังพระเจ้า เช่นเดียวกับ[ที่ได้ดึงดูด]บรรดาชาวประมงที่ประทับใจในพระวาจาของพระเยซูเจ้า ทั้งยังเป็นพลังที่ได้ส่งคนอื่น ๆ ให้เขาไปหาคนที่อยู่ห่างไกลองค์พระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับ[ที่ได้ส่ง]โยนาห์ พระวาจาดึงดูดเราไปหาพระเจ้า และส่งเราไปหาคนอื่น พระวาจาทำงานเช่นนี้ คือ ดึงดูดเราไปหาพระเจ้า และส่งเราไปหาคนอื่น พระวาจาไม่ได้ปล่อยให้เราจดจ่ออยู่แต่กับตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ขยายใจเราให้กว้าง เปลี่ยนแปลงหนทางต่าง ๆ พลิกคว่ำบรรดาสิ่งที่เคยทำมาจนชิน ทำให้สถานการณ์ใหม่ ๆ เปิดออก และเผยถึงขอบฟ้าที่ไม่มีใครเคยนึกถึง
พี่น้องที่รัก นี่เป็นสิ่งที่พระวาจาของพระเจ้าต้องการจะกระทำในตัวเราแต่ละคน บรรดาศิษย์ชุดแรกได้ยินพระวาจาของพระเยซูเจ้า และได้ละทิ้งแหของตน ออกเดินทางผจญภัยอย่างน่าประหลาดใจได้ฉันใด พระวาจาก็ทำให้เราทั้งหลาย ผู้ซึ่งกำลังอยู่บนชายฝั่งแห่งชีวิต ที่ซึ่งมีเรือ คือครอบครัวของเรา และแห คือสิ่งที่เรากระทำในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ยินเสียงเรียกของพระเยซูเจ้าฉันนั้น พระวาจาเรียกให้เราออกเดินทางพร้อมกับพระองค์เพื่อผู้อื่น พระวาจาทำให้เราทั้งหลายเป็นธรรมทูต เป็นผู้นำสารของพระเจ้า และเป็นพยานต่อหน้าโลก ซึ่งกำลังจมอยู่ในคำพูดต่าง ๆ แต่กลับหิวกระหายพระวาจาที่โลกได้ละเลยบ่อยครั้งเหลือเกิน นี่เป็นพลวัตที่ทำให้พระศาสนจักรมีชีวิต พระศาสนจักรถูกเรียกโดยพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรถูกดึงดูดไปหาพระองค์ และพระศาสนจักรถูกส่งไปยังโลกเพื่อเป็นพยานของพระองค์ นี่คือพลวัตที่มีอยู่ภายในพระศาสนจักร
หากปราศจากพระวาจาของพระเจ้า เราย่อมไม่สามารถทำอะไรได้เลย พระวาจามีพลังเงียบและถ่อมตน พระวาจาตรัสเหมือนกับว่ากำลังคุยกับเราเป็นส่วนตัว พระวาจาสัมผัสจิตใจเรา เข้ามายังวิญญาณของเรา ฟื้นฟูวิญญาณของเราขึ้นใหม่ด้วยสันติสุขของพระเยซูเจ้า และทำให้เราทั้งหลายรู้จักเอาใจใส่ดูแลผู้อื่น หากว่าเราพิจารณาบรรดาผู้คนที่ได้เป็นเพื่อนกับพระเจ้า เป็นพยานของพระวรสารในทุกยุคทุกสมัย และหากว่าเราพิจารณาบรรดานักบุญ เราย่อมได้เห็นว่าพระวาจามีบทบาทสำคัญเด็ดขาดสำหรับพวกเขา เรานึกถึงนักบุญอันตน[แห่งอียิปต์] ซึ่งเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ใช้ชีวิตแบบนักพรต ท่านได้ฟังพระวรสารในพิธีมิสซา และพระวรสารนี้ได้กระทบจิตใจของท่าน ทำให้ท่านละทิ้งทุกอย่างเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เรานึกถึงนักบุญเอากุสติน[แห่งฮิปโป] ผู้ซึ่งพระวาจาของพระเจ้าได้เยียวยาหัวใจของท่าน และทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เรานึกถึงนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู ผู้ซึ่งค้นพบกระแสเรียกของตนจากการได้อ่านจดหมายของนักบุญเปาโล และเราก็ยังนึกถึงนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ซึ่งพ่อได้รับชื่อจากนักบุญท่านนี้ โดยหลังจากที่ท่านได้ภาวนาและอ่านพระวรสารที่เป็นเรื่องพระเยซูเจ้าทรงส่งศิษย์ออกไปเทศน์สอน ท่านก็ได้ตะโกนออกมาว่า “นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการ นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าวอนขอ นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะกระทำด้วยใจทั้งหมดของข้าพเจ้า” (ตอมมาโซ ดา เชลาโน, Vita prima, IX, 22) พระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระวาจาแห่งชีวิต ได้เปลี่ยนแปลงซีวิตของท่านเหล่านี้
แต่พ่อคิดสงสัยว่า ทำไมเราหลาย ๆ คนจึงไม่ได้พบกับเรื่องเช่นนี้บ้าง พวกเราได้ยินพระวาจาของพระเจ้าหลายครั้ง แต่กลับเป็นการฟังแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา นี่เป็นเพราะอะไร บางครั้งอาจจะเป็นเพราะว่าเราทั้งหลายต้องหยุดทำตัว “หูหนวก” ต่อพระวาจาของพระเจ้าเสียก่อน ชีวิตของนักบุญท่านต่าง ๆ สื่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน เราทั้งหลายมีความเสี่ยงอันนี้ เพราะว่าเมื่อเราถูกรุมโจมตีด้วยคำพูดต่าง ๆ มากมายเหลือล้น เราก็อาจปล่อยให้พระวาจาของพระเจ้าแล่นผ่านเราไป เราอาจได้ยินพระวาจา แต่เราไม่ได้รับฟังพระวาจา หรือเราอาจรับฟังพระวาจา แต่เราไม่ได้เก็บพระวาจาไว้ในใจ เราอาจเก็บพระวาจาไว้ในใจ แต่เราไม่ได้ให้พระวาจาท้าทายเรา ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลง เหนือสิ่งอื่นใด เราอาจอ่านพระวาจา แต่เราอาจไม่ได้อธิษฐานภาวนาด้วยพระวาจา ทั้งที่จริงแล้ว “การอ่านพระคัมภีร์พึงกระทำพร้อมกับการอธิษฐานภาวนา เพื่อที่[การอ่านพระคัมภีร์]จะได้กลายเป็นการพูดคุยระหว่างพระเจ้ากับผู้อ่าน” (สมณธรรมนูญ Dei verbum ของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ว่าด้วยพระวาจาของพระเจ้า, ข้อ 25) ขอให้เราทั้งหลายอย่าลืมแง่มุมพื้นฐาน 2 ประการของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน ซึ่งได้แก่ การรับฟังพระวาจา และการถวายบูชาแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า ให้เราทั้งหลายจงเว้นที่ว่างให้แก่การอ่านพระวาจาของพระเยซูเจ้าด้วยจิตใจแห่งการภาวนา หากเราทำเช่นนี้ เราก็จะได้มีประสบการณ์แบบเดียวกับบรรดาศิษย์ชุดแรก เมื่อเรากลับไปพิจารณาเรื่องในพระวรสารวันนี้ เราจะได้เห็นว่าหลังจากที่พระเยซูเจ้าตรัสแล้ว ก็ได้เกิดเรื่องราวขึ้น 2 อย่าง กล่าวคือ พวกเขา “ทิ้งแหไว้ แล้วตามพระองค์ไปทันที” (มก. 1,18) เขาละทิ้ง และเขาติดตาม ให้เรารำพึงสั้น ๆ เกี่ยวกับ 2 สิ่งนี้
พวกเขาละทิ้ง อะไรที่พวกเขาละทิ้ง พวกเขาละทิ้งเรือและแห กล่าวคือ พวกเขาได้ละทิ้งชีวิตที่พวกเขาเคยมีอยู่จนถึงตอนนั้น บ่อยครั้งที่เราทั้งหลายประสบความยากลำบากในการละทิ้งความปลอดภัย ละทิ้งสิ่งที่เราทำเป็นประจำ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ผูกมัดเราอยู่ เหมือนกับเราเป็นปลาติดแห แต่ผู้ที่ตอบสนองต่อพระวาจาย่อมจะได้รับการเยียวยาจากสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นบ่วงเหนี่ยวรั้งเขาไว้ในอดีต เพราะว่าพระวาจาทรงชีวิตจะทำให้ชีวิตของเขามีความหมายใหม่ และจะเยียวยารอยแผลในความทรงจำของเขา ด้วยการประทับรอยความทรงจำถึงพระเจ้าและกิจการที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อเราไว้ให้แก่เขา พระคัมภีร์ทำให้เราทั้งหลายได้มีความดีเป็นรากฐาน และเตือนใจให้เราทั้งหลายรู้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใคร กล่าวคือ เราทั้งหลายต่างเป็นลูกที่รักของพระเจ้า เป็นผู้ที่[พระองค์]ได้ช่วยให้รอด “พระวาจาอันหอมหวนขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี, จดหมายถึงสัตบุรุษ) เป็นเหมือนน้ำผึ้งที่ทำให้ชีวิตของเรามีรสชาติ และทำให้เราได้สัมผัสความหอมหวานของพระเจ้า พระวาจาบำรุงเลี้ยงดูวิญญาณ ขจัดซึ่งความกลัว และเอาชนะความโดดเดี่ยว พระวาจาทำให้บรรดาศิษย์ละทิ้งชีวิตซ้ำซากจำเจที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เรือและแหได้ฉันใด พระวาจาก็ฟื้นฟูความเชื่อของเราให้กลับเป็นใหม่ ทำความเชื่อของเราให้บริสุทธิ์ ให้เป็นอิสระจากของเสียแปดเปื้อน และนำความเชื่อของเรากลับไปยังจุดเริ่มต้นอีกครั้ง กล่าวคือ บ่อต้นธารอันบริสุทธิ์แห่งพระวรสารได้ฉันนั้น การที่พระวาจาเล่าถึงสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา ย่อมจะช่วยปลดปล่อยความเชื่อให้พ้นจากความเป็นอัมพาต และทำให้เราทั้งหลายได้ลิ้มรสชีวิตคริสตชนใหม่อีกครั้ง คือให้เรารู้จักชีวิตคริสตชนตามความจริงว่า เป็นเรื่องราวแห่งความรัก[ระหว่างพวกเรา]กับองค์พระผู้เป็นเจ้า
หลังจากที่บรรดาศิษย์ได้ละทิ้งแล้ว พวกเขาก็ได้ติดตาม พวกเขาเดินหน้าไปตามรอยเท้าของพระองค์ผู้ทรงเป็นอาจารย์ เพราะว่านอกจากพระวาจาของพระคริสตเจ้าจะปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากภาระหนักที่เรามีทั้งในอดีตและปัจจุบันแล้ว พระวาจายังช่วยให้เราเติบโตในความจริงและในความรักความเมตตาด้วย พระวาจาทำให้จิตใจมีชีวิตชีวา พระวาจาย่อมท้าทายจิตใจ ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความหน้าซื่อใจคด และทำให้จิตใจเปี่ยมไปด้วยความหวัง พระคัมภีร์เองได้กล่าวไว้ว่าพระวาจาเป็นสิ่งรูปธรรมและก่อให้เกิดผลได้จริง เหมือนกับ “ฝนและหิมะ” ที่รดแผ่นดิน (เทียบ อสย. 55,10-11) เหมือนกับดาบแหลมคมที่ “เผยถึงความรู้สึกนึกคิดภายในใจได้” (เทียบ ฮบ. 4,12) และยังเป็น “เชื้อเมล็ดที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย” (1 ปต. 1,23) ที่ถึงแม้ว่าจะเล็กจิ๋วและมองไม่เห็น แต่ก็งอกขึ้นและทำให้เกิดผล (เทียบ มธ. 13) “พลังและอำนาจของพระวาจาของพระเจ้าเป็นดังนี้ คือ พระวาจาประทานความเพียรทนให้เกิดมีขึ้นภายในความเชื่อของบุตรชายหญิงของพระศาสนจักร ประทานอาหารแก่วิญญาณ และเป็นบ่อต้นธารอันบริสุทธิ์ไม่รู้จักเหือดแห้งสำหรับชีวิตฝ่ายจิต” (สมณธรรมนูญ Dei verbum ของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ว่าด้วยพระวาจาของพระเจ้า, ข้อ 21)
พี่น้องที่รัก ขอให้วันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้า จงช่วยให้เราทั้งหลายมีใจปิติยินดีในการย้อนกลับสู่ต้นธารแห่งความเชื่อของเรา ที่เกิดจากการได้รับฟังพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวาจาทรงชีวิตของพระเจ้า ขอให้วันนี้จงเป็นสิ่งช่วยเราทั้งหลาย ซึ่งได้ถูกระดมโจมตีจากคำพูดต่าง ๆ เกี่ยวกับพระศาสนจักร ให้เราได้เห็นอีกครั้งถึงพระวาจาแห่งชีวิตที่ดังก้องอยู่ภายในพระศาสนจักร เพราะว่าหากเราไม่ทำเช่นนี้ เราก็อาจจะจบด้วยการพูดเกี่ยวกับตนเองมากกว่าพูดเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราเอาแต่จดจ่ออยู่กับความคิดและปัญหาของตัวเอง มากกว่าที่จะไปจดจ่ออยู่กับพระคริสตเจ้าและพระวาจาของพระองค์ ขอให้เราทั้งหลายจงกลับสู่บ่อเกิดต้นธาร เพื่อที่เราจะสามารถนำน้ำทรงชีวิตไปมอบให้แก่โลก ซึ่งกำลังหิวกระหายแต่ไม่ได้พบเจอน้ำทรงชีวิตอันนี้ ขณะที่สังคมและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ กำลังใคร่ครวญเกี่ยวกับความรุนแรงที่มาในรูปแบบคำพูด ขอให้เราทั้งหลายจงเข้าไปหาพระวาจาเงียบ ๆ ของพระเจ้า และจงทะนุถนอมพระวาจานี้ให้เติบโตขึ้น เพราะว่าพระวาจาของพระเจ้านำมาซึ่งความรอด เป็นพระวาจาอันสุภาพอ่อนโยน ไม่ส่งเสียงดัง และยังเป็นพระวาจาที่เข้ามายังหัวใจของเราด้วย
ท้ายสุด ให้เราถามตัวเองบางอย่าง กล่าวคือ เราได้เว้นที่ว่างให้แก่พระวาจาของพระเจ้าอย่างไรบ้างในที่ที่เราอาศัยอยู่ เราอาจมีหนังสือหรือนิตยสารมากมาย มีโทรทัศน์ มีโทรศัพท์ แล้วพระคัมภีร์อยู่ที่ไหน พระวรสารอยู่ในห้องของเราในที่ที่เอื้อมถึงได้ง่ายหรือไม่ เราอ่านพระวรสารทุกวันเพื่อจะได้มีความซื่อสัตย์ในหนทางชีวิตของเราหรือไม่ เรามีพระวรสารเล่มเล็ก ๆ ติดตัวไว้อ่านหรือไม่ พ่อได้พูดหลายครั้งเรื่องการมีหนังสือพระวรสารไว้ติดตัวตลอดเวลา ในกระเป๋าของพวกเรา หรือในโทรศัพท์มือถือของพวกเรา หากว่าพระคริสตเจ้ามีความสำคัญที่สุดสำหรับเรา แล้วเราจะปล่อยให้พระองค์อยู่ที่บ้าน ไม่นำพระวาจาพระองค์ติดตัวไปกับเราด้วยได้อย่างไร และคำถามสุดท้ายคือ เราเคยอ่านพระวรสารอย่างน้อย 1 ฉบับตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่ พระวรสารเป็นหนังสือแห่งชีวิต มีเนื้อหาเรียบง่ายและสั้นกระชับ แต่สัตบุรุษหลายคนกลับไม่เคยอ่านพระวรสารแต่ต้นจนจบเลยสักฉบับเดียว
พี่น้องที่รัก พระคัมภีร์บอกกับเราว่า พระเจ้า “ทรงเป็นบ่อเกิดของความงดงาม” (ปชญ. 13,3) ให้เราทั้งหลายจงยอมตนให้ความงามของพระวาจาของพระเจ้าอยู่เหนือชีวิตเรา และให้พระวาจาของพระเจ้านำความงามนี้เข้ามาสู่ชีวิตเราด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)