ADDRESS OF HIS HOLINESS POPE FRANCIS
TO THE ROMAN CURIA FOR THE EXCHANGE OF CHRISTMAS GREETINGS
พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ต่อบุคลากรของสันตะสำนักที่มาเฝ้าเพื่ออวยพรและรับพรเนื่องในโอกาสพระคริสตสมภพ
Benediction Hall
Thursday, 21 December 2023
ณ ห้องโถงอวยพร ในราชวังแห่งอัครสาวก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2023
พี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ก่อนอื่น พ่ออยากขอบใจพระคาร์ดินัลยอห์น บัปติสต์ เร ทั้งต่อคำพูดของท่าน และต่อพลังของท่านด้วย ท่านอายุ 90 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงมีพลังขนาดนี้ พ่อขอขอบใจ และหวังว่าท่านจะทำงานอย่างดีต่อไป
พระธรรมล้ำลึกแห่งพระคริสตสมภพทำให้เราทั้งหลายเปี่ยมด้วยความอัศจรรย์ใจ คำนี้เป็นคำสำคัญ คือเป็นความอัศจรรย์ใจต่อสารอันหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งบอกว่า พระเจ้าเสด็จมาแล้ว พระเจ้าประทับอยู่ที่นี่ในท่ามกลางเรา และแสงสว่างของพระองค์ได้ทะลุเข้ายังความมืดของโลกนี้เป็นนิรันดร เราจะต้องรับฟังและน้อมรับสารอันนี้กันใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความรุนแรงของสงคราม มีความเสี่ยงใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีปัญหาความยากจน ความทุกข์ทรมาน ความหิวโหย พ่อต้องเน้นย้ำว่ามีความหิวโหยในโลกนี้ แล้วก็ยังมีปัญหาหนักอื่น ๆ อีกในโลกปัจจุบัน เราทั้งหลายได้รับความบรรเทาใจจากการที่ได้ค้นพบว่า แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเจ็บปวด และยังมีปัญหาอื่น ๆ มากมายในครอบครัวมนุษยชาติที่อ่อนแอของเรานี้ แต่พระเจ้าก็ได้เสด็จมาประทับในรางหญ้า ที่ซึ่งในวันนี้พระองค์ทรงเลือกที่จะเสด็จมาบังเกิด และนำความรักของพระบิดามาประทานให้ทุกคน พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ในแบบของพระเจ้าเอง คือด้วยความใกล้ชิด ความเมตตากรุณา และความอ่อนโยนมีพระทัยดี
มิตรที่รักทุกท่าน เราต้องรับฟังสารของพระเจ้าผู้เสด็จมายังเรา เราต้องไตร่ตรองแยกแยะเพื่อที่จะได้เห็นถึงเครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ของพระองค์ และเราต้องน้อมรับพระวาจาของพระองค์ด้วยการก้าวเดินตามพระองค์ไป การรับฟัง การไตร่ตรองแยกแยะ และการเดินทาง สามสิ่งนี้สามารถเป็นเครื่องอธิบายการเดินทางแห่งความเชื่อของเราทั้งหลาย ตลอดจนการปฏิบัติงานรับใช้ของเราทั้งหลายในสันตะสำนักแห่งนี้ พ่ออยากจะแบ่งปันเรื่องคำเหล่านี้กับท่านทั้งหลาย ผ่านการพิจารณาถึงบุคคลสำคัญบางคนในเรื่องราวพระคริสตสมภพ
อันดับแรกสุด คือพระแม่มารีย์ ผู้ย้ำเตือนเราให้รู้จักรับฟัง ท่านคือหญิงสาวแห่งนาซาเร็ธ อ้อมแขนของท่านได้โอบกอดพระผู้เสด็จมายังโลกนี้เพื่อทรงโอบกอดโลกนี้ ท่านคือหญิงพรหมจารีที่ได้รับฟังสารของทูตสวรรค์อย่างตั้งใจ และได้เปิดใจของท่านเองให้แก่แผนการของพระเจ้า [การกระทำเช่นนี้ของ]ท่านได้ย้ำเตือนเราถึงพระบัญญัติเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กล่าวคือ “อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเถิด” (ฉธบ. 6,4) สิ่งที่สำคัญเหนือพระบัญญัติอื่นใดทั้งหมดคือข้อที่ว่า เราจำเป็นต้องเข้าสู่ความสัมพันธ์กับพระเจ้า ด้วยการน้อมรับของประทานแห่งความรักที่พระองค์ทรงนำมาให้แก่เรา คำว่าการฟังภายในพระคัมภีร์ ไม่ได้กล่าวถึงแต่เพียงแค่การฟังด้วยหูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับฟังด้วยหัวใจ และโดยชีวิตทั้งครบด้วย นักบุญเบเนดิกต์ได้กล่าวไว้เป็นอย่างแรกภายในกฎของท่านว่า “ลูกเอ๋ย จงตั้งใจฟัง” (Prologue, 1) การรับฟังด้วยหัวใจ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การฟังสารบางอย่างหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือหมายรวมถึงความเปิดกว้างภายในใจที่จะสามารถหยั่งรู้ได้โดยญาณถึงความปรารถนาและความต้องการของผู้อื่น ตลอดจนหมายรวมถึงความสัมพันธ์ที่เรียกร้องให้เราละทิ้งรูปแบบและอคติต่าง ๆ ที่บางครั้งนำพาให้เราไปอยู่ในรูแคบ ๆ รอบตัวเรา การเดินทางใดก็ตามย่อมต้องเริ่มต้นด้วยการรับฟัง องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้ประชากรของพระองค์รู้จักรับฟังด้วยหัวใจ ให้เขาไปอยู่ในความสัมพันธ์กับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าทรงชีวิต
แม่พระรับฟังแบบนี้ ท่านน้อมรับสารของทูตสวรรค์ด้วยความเปิดกว้างอย่างเต็มที่ ทำให้ท่านไม่ปกปิดความรู้สึกสงสัยและความวุ่นวายใจของท่าน ท่านได้เปิดใจให้แก่พระเจ้าผู้ทรงเลือกท่าน และท่านได้ยอมรับแผนการของพระองค์ เราได้เห็นว่ามีการพูดคุยเสวนาและมีการนอบน้อมเชื่อฟัง พระแม่มารีย์ได้ตระหนักว่า บัดนี้ท่านได้รับของขวัญอันประเมินค่ามิได้ และท่านได้น้อมตนคุกเข่ารับฟังต่อไป การที่ท่านทำเช่นนี้ เป็นการรับฟังด้วยความสุภาพถ่อมตนและความอัศจรรย์ใจ ไม่มีวิธีการใดที่เราจะรับฟังได้ดียิ่งกว่า “การคุกเข่า” รับฟัง เพราะการทำเช่นนี้ เท่ากับว่าเราไม่ได้คิดด้วยความโอหังว่า สิ่งที่คนอื่นกำลังจะพูดนั้น เรารู้ดีเข้าใจดีอยู่แล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการที่เราเปิดกว้างต่อความล้ำลึกน่าพิศวงในตัวผู้อื่น เป็นการที่เราพร้อมจะน้อมรับด้วยความสุภาพถ่อมตนต่อสิ่งที่เขากำลังจะบอกกับเรา ให้เราทั้งหลายจงอย่าลืมว่า เราจะอยู่เหนือผู้อื่นอย่างชอบธรรมได้ในกรณีเดียวเท่านั้น คือเพื่อเป็นการช่วยยกเขาให้ขึ้นสูง นี่เป็นกรณีเดียวที่เราจะอยู่เหนือผู้อื่นได้อย่างชอบธรรม
ในบางครั้ง แม้แต่ในเวลาที่พวกเราพูดคุยกันเอง[ภายในสันตะสำนัก] เราก็เสี่ยงที่จะทำตัวเหมือนหมาป่าที่หิวตะกละ เราอาจเขมือบเอาคำพูดของผู้อื่นทั้งที่ไม่ได้ฟังเขาจริง ๆ แล้วก็เอาคำพูดของเขามาบิดเบือนให้เข้ากับสิ่งที่เราคิดและตัดสิน แต่ในการรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริงนั้น เราต้องมีความเงียบสงบภายใน และเว้นที่ว่างไว้แก่ความเงียบ ระหว่างสิ่งที่เราฟังกับสิ่งที่เราพูดให้ได้เสียก่อน [การพูดคุยรับฟัง]ไม่ใช่การเล่นปิงปอง [ที่เมื่อเขาพูดอะไรมาแล้วเราต้องรีบโต้กลับในทันที] แต่เราต้องรู้จักรับฟังก่อน จากนั้นเราต้องคิดคำนึงในความเงียบถึงสิ่งที่เราได้ฟัง เราต้องไตร่ตรอง ตีความ ก่อนที่เราจะสามารถตอบเขาได้ การอธิษฐานภาวนาสอนให้เรารู้จักทำเช่นนี้ เพราะว่าการอธิษฐานภาวนาช่วยขยายจิตใจของเราให้กว้าง ช่วยให้เราเอาชนะความคิดยึดถือตนเป็นใหญ่ ช่วยแสดงให้เรารู้ว่าจะรับฟังผู้อื่นอย่างไร ทั้งยังทำให้ความเงียบแห่งการรำพึงไตร่ตรองได้เกิดมีขึ้นในใจของเราด้วย ให้เรารู้จักรำพึงไตร่ตรองภายในการภาวนาขณะที่เราคุกเข่าต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่แค่คุกเข่าเท่านั้น แต่เราต้องน้อมใจลงต่ำด้วย แม้แต่ในการทำงานที่สันตะสำนัก ”เราต้องวอนขอพระหรรษทานของพระเจ้าในแต่ละวัน ขอให้พระองค์ทรงเปิดจิตใจอันเย็นกระด้างของเราให้กว้าง ให้พระองค์ทรงเขย่าตัวตนของเราที่มีความเย็นชืดและความเอาแต่เปลือกนอกอยู่ภายใน … เราต้องฟื้นฟูจิตวิญญาณแห่งการรำพึงไตร่ตรอง ซึ่งจะช่วยให้เราตระหนักกันใหม่ได้อยู่เสมอว่า เราได้รับมอบหมายให้เก็บรักษาสมบัติมีค่าอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และช่วยให้เราเจริญชีวิตในแบบใหม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งมีค่าสูงสุดที่เราสามารถมอบให้แก่คนอื่น” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 264)
พี่น้องที่รัก เราต้องรู้จักรับฟังกันภายในสันตะสำนักด้วย สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่างานและหน้าที่ประจำวัน หรือแม้แต่ตำแหน่งของพวกเรา คือการตระหนักถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ต่าง ๆ และการทำให้ความสัมพันธ์เหล่านี้เรียบง่ายและตรงไปตรงมา ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด คือด้วยการใช้ความสามารถในการรับฟังกันและกันด้วยจิตวิญญาณแบบพระวรสาร ให้เราน้อมใจและคุกเข่ารับฟังผู้อื่นมากขึ้น โดยปราศจากอคติ ด้วยความเปิดกว้าง และด้วยความจริงใจ ให้เราน้อมใจและคุกเข่ารับฟังผู้อื่น โดยพยายามอย่างมากเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่เขากำลังพูด และเพื่อที่จะรับรู้ความต้องการของเขา และในบางแง่มุม เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงชีวิตของเขาซึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังคำพูด ให้เราทำเช่นนี้โดยไม่ตัดสินผู้อื่น นักบุญอิกญาซีโอได้แนะนำไว้อย่างชาญฉลาดว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คริสตชนที่ดีทุกคนพร้อมที่จะยอมรับมากกว่าที่จะตำหนิติเตียนข้อคิดเห็นเสนอแนะของอีกฝ่ายหนึ่ง และหากคริสตชนผู้ใดไม่สามารถจะยอมรับข้อคิดเห็นเสนอแนะดังกล่าว ก็ให้ซักถามเขาว่า ที่เขาพูดมีความหมายเช่นไร ถ้าผู้พูดมีทัศนคติผิด ๆ ก็ให้แก้ไขเขาด้วยความรัก ถ้าหากยังไม่เป็นผลก็ให้แสวงหาทุกวิถีทางที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยเขาให้ปรับเปลี่ยนทัศนคตินั้นไปในทางที่ดีให้เป็นที่ยอมรับได้” (การปฏิบัติจิต, ข้อ 22) การเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม พ่อขอย้ำอีกครั้งว่า การรับฟังเป็นคนละอย่างกับการได้ยิน เวลาที่เราเดินบนถนนในเมืองต่าง ๆ ของเรา เราอาจได้ยินเสียงมากมาย แต่โดยทั่วไปเราไม่ได้รับฟังเสียงเหล่านั้น ไม่ได้เก็บเสียงเหล่านั้นเข้ามาในใจ และไม่ได้ให้เสียงเหล่านั้นมาอยู่ภายในใจเรา การได้ยินเป็นอย่างหนึ่ง แต่การรับฟัง ซึ่งหมายความอีกอย่างหนึ่งว่า “การรับเข้ามาภายใน” [(in-tendere)] เป็นอีกอย่างหนึ่ง
การรับฟังกันและกัน ช่วยให้เราสามารถรับเอาการไตร่ตรองแยกแยะเข้าเป็นวิธีการหนึ่งในกิจกรรมของเรา ในที่นี้ เราอาจนึกถึงนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ในตอนแรกเราได้พิจารณาแม่พระผู้รับฟังไปแล้ว ในตอนนี้ให้เราพิจารณานักบุญยอห์น ผู้ไตร่ตรองแยกแยะ เราทั้งหลายต่างรู้ดีว่าท่านเป็นประกาศกที่ยิ่งใหญ่ ผู้ใช้ชีวิตด้วยความเคร่งครัดสันโดษ และเทศน์สอนอย่างทรงพลัง แต่เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงและทรงเริ่มงานประกาศของพระองค์ นักบุญยอห์นก็ต้องเผชิญกับวิกฤติความเชื่อครั้งใหญ่ ก่อนหน้านั้นท่านได้ประกาศว่า องค์พระผู้เป็นเจ้ากำลังจะเสด็จมาในอีกไม่ช้า และว่าพระองค์จะเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งในที่สุดแล้วจะทรงตัดสินคนบาป ในแบบที่เหมือนกับการโค่นต้นไม้ที่ไม่ออกผลและนำไปโยนเข้ากองไฟ และการเอาฟางไปเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ (เทียบ มธ. 3,10-12) แต่ท่าที พระวาจา และ “รูปแบบ” ของพระเยซูเจ้าได้ทำลายภาพลักษณ์ของพระเมสสิยาห์อันนี้อย่างไม่เหลือชิ้นดี เพราะพระเยซูเจ้าทรงแสดงความเมตตากรุณาและความสงสารแก่ทุกคน สิ่งนี้ทำให้นักบุญยอห์นตระหนักว่าตนจำเป็นต้องไตร่ตรองแยกแยะเพื่อที่จะได้มีทัศนะใหม่ ๆ พระวรสารได้บอกกับเราว่า “ขณะที่ยอห์นถูกจองจำอยู่ในคุก เขาได้ยินข่าวกิจการของพระเยซูเจ้า จึงใช้ศิษย์ไปทูลถามพระองค์ว่า ‘ท่านคือผู้ที่จะต้องมา หรือเราจะต้องรอคอยใครอีก’” (มธ. 11,2-3) กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเป็นอย่างที่ผู้คนคาดหวัง และแม้แต่ผู้ที่นำหน้าพระองค์ ก็ยังต้องกลับใจไปสู่ความเป็นสิ่งใหม่ของพระอาณาจักรเสียก่อน ท่านเองก็ต้องมีความสุภาพถ่อมตนและความกล้าหาญ ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการไตร่ตรองแยกแยะ
ดังนั้น การไตร่ตรองแยกแยะจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราทุกคน การไตร่ตรองแยกแยะเป็นศิลปะแห่งชีวิตฝ่ายจิตอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยขจัดภาพลวงตาที่บอกว่าเรารู้ดีอยู่แล้วทุกอย่าง และช่วยให้เรารอดพ้นอันตรายของการหลงคิดไปว่า เพียงแค่การปรับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็เพียงพอแล้ว และยังจะช่วยให้เราพ้นจากการผจญที่ยั่วยุให้เราทำงานต่อไปในแบบเดิมซ้ำ ๆ เหมือนที่เคยทำกันมา ซึ่งการผจญนี้มีอยู่ในการทำงานของสันตะสำนักด้วย สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นล้วนทำให้เราไม่อาจรับรู้ได้ว่า ความล้ำลึกของพระเจ้าเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเราเสมอ และว่าชีวิตของผู้คนตลอดจนโลกรอบตัวเราย่อมอยู่เหนือกรอบความคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เสมอ ชีวิตเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกรอบความคิด ดังนั้น เราจึงต้องรู้จักไตร่ตรองแยกแยะในทางฝ่ายจิต เราต้องรู้จักแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า เราต้องรู้สึกและมองเห็นสิ่งปลุกเร้าต่าง ๆ ที่อยู่ในเบื้องลึกของหัวใจเราเอง และหลังจากนั้น เราต้องรู้จักประเมินว่า อะไรที่เราสามารถทำได้ และว่าอะไรคือการตัดสินใจที่เราต้องทำ ดังที่พระคาร์ดินัลการ์โล มารีอา มาร์ตีนี ได้เขียนไว้ว่า “การไตร่ตรองแยกแยะเป็นคนละอย่างกับความเถรตรงแม่นยำของคนที่อยู่ภายในกรอบของการทำตามกฎเกณฑ์ หรือคนที่หลงอ้างไปว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องดีพร้อมสมบูรณ์ [เพราะว่าการไตร่ตรองแยกแยะ]เป็นการปะทุออกของความรักที่แยกแยะระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ดีกว่า ระหว่างสิ่งที่มีประโยชน์ในตัวของมันเองกับสิ่งที่มีประโยชน์ในที่นี่ตอนนี้ ระหว่างสิ่งที่อาจเป็นการดีโดยทั่วไปกับสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้” ท่านได้กล่าวต่อไปว่า “หากเราไม่รู้จักพยายามไตร่ตรองแยกแยะว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด บ่อยครั้งก็ย่อมจะทำให้ชีวิตแห่งการอภิบาลกลายเป็นเรื่องซ้ำซากจำเจ อาจมีการทำศาสนกิจซ้ำ ๆ ทำท่าทางตามธรรมเนียมเดิมซ้ำ ๆ โดยมองไม่เห็นถึงความหมายของมันอย่างชัดเจน” (Il Vangelo di Maria, มิลาน, 2008, หน้า 21) การไตร่ตรองแยกแยะย่อมจะช่วยเหลือเราทั้งหลาย แม้แต่ในการทำงานของสันตะสำนักด้วย ให้เรารู้จักอ่อนน้อมเชื่อฟังพระจิตเจ้า ให้เรารู้จักเลือกกระบวนการและตัดสินใจโดยที่ไม่ได้อิงแต่เฉพาะเกณฑ์ในแบบโลกเท่านั้น และไม่ได้เป็นเพียงการปรับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เท่านั้น แต่เป็นการกระทำโดยสอดคล้องกับพระวรสาร
เราได้เห็นการรับฟังจากแบบอย่างของพระแม่มารีย์ และได้เห็นการไตร่ตรองแยกแยะจากแบบอย่างของนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างไปแล้ว บัดนี้ให้เราพิจารณาคำที่สาม คือ การเดินทาง ในที่นี้ ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะนึกถึงบรรดาโหราจารย์ พวกท่านย้ำเตือนเราถึงความสำคัญของการเดินทาง เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนได้น้อมรับความชื่นชมยินดีของพระวรสารอย่างแท้จริง ก็ย่อมจะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นศิษย์ ทำให้เขาละทิ้งตัวตนของตัวเองไว้ข้างหลัง และออกเดินทางมุ่งหน้าไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้า ไปหาความบริบูรณ์ของชีวิต การละทิ้งตัวตนของตัวเองไว้ข้างหลังเช่นนี้เป็นแง่มุมหนึ่งในชีวิตฝ่ายจิตของเรา ซึ่งเราจะต้องพิจารณากันอยู่เสมอ ให้เราอย่าลืมว่า ความเชื่อแบบคริสตชนไม่ได้มีไว้สำหรับยืนยันความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของตัวเราเอง ไม่ได้มีไว้ให้เราไปยึดติดอยู่กับความมั่นใจทางศาสนาที่เราเชื่อถือได้อย่างสบายใจ และไม่ได้มีไว้ให้เราได้มาซึ่งคำตอบแบบง่าย ๆ ต่อปัญหาที่ซับซ้อนทั้งหลายในชีวิต ในทางตรงข้าม เมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงเรียกเรา พระองค์ย่อมทรงส่งเราให้ออกเดินทาง เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงกระทำกับอับราฮัม โมเสส บรรดาประกาศก และบรรดาศิษย์ของ[พระเยซูเจ้า]ทุกคน พระองค์ทรงส่งเราทั้งหลายให้ออกเดินทางไป ให้เราออกจากพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยสบายใจ ให้เราออกจากความพึงพอใจต่อสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว และในหนทางนี้เองที่พระองค์ทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระ ทรงเปลี่ยนแปลงเรา และทรงนำแสงสว่างมาสู่จิตใจของเรา ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจถึงความหวังอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงเรียกให้เราไปหา (เทียบ อฟ. 1,18) ดังที่มีเชล เดอ แซร์โต ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้คนที่เป็นรหัสยิก [คือผู้ที่แสวงหาพระธรรมล้ำลึกของพระเป็นเจ้านั้น] คือผู้ที่เดินทางอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน … ความปรารถนานำมาซึ่งความเกินเลยอย่างหนึ่ง ความเกินเลยนี้ล้นเหลือ ผ่านหน้าเราไป และผลักดันเรา ให้เราเดินไปข้างหน้า ไปยังสถานที่อื่น” (Fabula Mistica. XVI-XVII secolo, มิลาน 2008, หน้า 353).
ในการที่เราทำงานรับใช้ในสันตะสำนักก็เช่นกัน เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง เราจะต้องค้นหาความจริงไปเรื่อย ๆ และเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งในความเข้าใจต่อความจริง เราต้องเอาชนะการผจญที่ยั่วยุให้เราหยุดอยู่กับที่ ให้เราไม่ยอมออกจาก “เขาวงกต” แห่งความกลัว อันว่าความกลัว ความเข้มงวด และความซ้ำซากจำเจ เป็นสิ่งต่าง ๆ ที่นำไปสู่การหยุดอยู่กับที่ ซึ่งดูเหมือนว่ามีข้อดีอย่างหนึ่งคือการไม่ทำให้เกิดปัญหา กล่าวคือ “อยู่กับที่ อย่าไปไหน” แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้กลับทำให้เราเดินไปเดินมาอย่างไม่มีจุดหมายอยู่ภายในเขาวงกตของตัวเราเอง นำมาซึ่งผลเสียต่องานรับใช้ที่เราทั้งหลายถูกเรียกให้มาทำเพื่อพระศาสนจักรและเพื่อโลกทั้งมวล ดังนั้น ให้เราทั้งหลายจงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง [อย่าให้เรามี]จุดยืนเชิงอุดมการณ์ใด ๆ ที่เข้มงวด ซึ่งบ่อยครั้งอำพรางตนอยู่ในรูปของเจตนาอันดี แต่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่แยกเราทั้งหลายให้ออกห่างจากความเป็นจริง และขัดขวางไม่ให้เราทั้งหลายก้าวเดินไปข้างหน้า เพราะว่าแท้จริงแล้วเราทั้งหลายถูกเรียกให้ออกเดินทางไปเหมือนกับบรรดาโหราจารย์ ให้เราเดินตามพระผู้ทรงเป็นแสงสว่าง ผู้ทรงประสงค์จะนำทางเราไปอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งอาจทรงนำเราไปบนหนทางใหม่ หรือเส้นทางที่ไม่มีใครเคยสำรวจ ให้เราอย่าลืมว่า ทั้งการเดินทางของบรรดาโหราจารย์ และการเดินทางทุกเรื่องในพระคัมภีร์ ล้วนเป็นสิ่งที่เริ่ม “จากเบื้องบน” คือเริ่มจากกระแสเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า อาจเป็นเครื่องหมายจากสวรรค์ หรืออาจเป็นการที่พระเจ้าทรงเป็นผู้นำทางเพื่อส่องสว่างเส้นทางให้แก่บรรดาลูกของพระองค์ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่งานรับใช้ของเราเสี่ยงที่จะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ ถูกปิดกั้นอยู่ภายใน “เขาวงกต” แห่งความเข้มงวดหรือการทำงานแบบธรรมดาขอไปที เมื่อใดก็ตามที่เราพบว่าตัวเองติดอยู่ในตาข่ายของกลไกแบบราชการ และกำลังพึงพอใจกับการ “ทำงานให้จบไปวัน ๆ” ให้เราระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องมองขึ้นไปยังเบื้องบน เราต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งโดยให้พระเจ้าเป็นจุดเริ่มต้น เราต้องให้พระวาจาของพระองค์ส่องสว่างแก่เรา เพื่อที่เราจะได้ค้นพบความกล้าหาญสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ เราทั้งหลายจงอย่าลืมว่า วิธีเดียวที่เราจะหนีพ้นเขาวงกตนี้ได้ คือการมองสิ่งต่าง “จากเบื้องบน”
เราต้องมีความกล้าหาญเพื่อที่จะออกเดินทาง เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า นี่เป็นเรื่องของความรัก ความรักต้องอาศัยความกล้าหาญ พ่อเคยได้ยินคำกล่าวของบาทหลวงที่มีศรัทธาแก่กล้าผู้หนึ่ง เขาบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจุดไฟจากถ่านที่คุอยู่ภายใต้เถ้าถ่านของพระศาสนจักรให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง” คำพูดนี้อาจเป็นประโยชน์กับงานของเราในสันตะสำนักด้วย ทุกวันนี้เราทั้งหลายกำลังดิ้นรนพยายามสร้างความร้อนรนให้เกิดมีขึ้นภายในผู้คนที่ต่างสูญเสียความร้อนรนไปแล้วเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าการสังคายนา[วาติกันที่ 2] จะปิดฉากไปแล้วถึง 60 ปี แต่เราก็ยังคงอภิปรายถกเถียงกันเรื่องความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายก้าวหน้า” กับ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” แต่ความแตกต่างไม่ได้อยู่ตรงนี้ ความแตกต่างที่แท้จริงและเป็นศูนย์กลาง คือความแตกต่างระหว่างคนที่มีความรัก กับคนที่สูญเสียความร้อนรนที่เขาเคยมีในตอนแรกไปแล้ว ความแตกต่างอยู่ตรงนี้ และคนที่มีความรักเท่านั้นที่จะสามารถเดินไปข้างหน้าได้
พี่น้องที่รัก พ่อขอขอบใจที่ลูกได้ทำงานและอุทิศตน ในการทำงานนี้ ขอให้เราทั้งหลายจงสร้างเสริมให้มีการรู้จักรับฟังด้วยหัวใจ และให้เราจงรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยการเรียนรู้ที่จะยอมรับและรับฟังซึ่งกันและกัน ให้เราจงไตร่ตรองแยกแยะ เพื่อที่เราจะได้เป็นพระศาสนจักรที่พยายามตีความเครื่องหมายแห่งประวัติศาสตร์ด้วยแสงสว่างแห่งพระวรสาร และเพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ที่หาทางแก้ปัญหาในแบบที่จะเป็นการสื่อสารความรักของพระเจ้าพระบิดา และให้เราจงเดินทางต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยความสุภาพถ่อมตนและความอัศจรรย์ใจ เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกสู่ความหลงตนแบบผิด ๆ คิดว่าตนเองมาถึงจุดหมายแล้ว และเพื่อที่ความปรารถนาต่อพระเจ้าจะไม่จางหายไปจากจิตใจของเรา พ่อขอขอบใจทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่องานที่ลูกทั้งหลายได้ทำอย่างเงียบ ๆ ขอให้ลูกจงอย่าลืมการรับฟัง การไตร่ตรองแยกแยะ และการเดินทาง ตามแบบอย่างของพระแม่มารีย์ นักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง และบรรดาโหราจารย์
ขอให้พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์รับสภาพมนุษย์ โปรดประทานพระหรรษทานให้เราทั้งหลายมีความชื่นชมยินดีภายในการทำงานรับใช้ด้วยใจกว้างและด้วยความสุภาพถ่อมตน และพ่อขอร้องลูกทุกคน จงอย่าสูญเสียอารมณ์ขัน [เพราะอารมณ์ขันเป็นสิ่งที่แสดงว่าเราทั้งหลายแข็งแรง มีสุขภาพใจที่ดี]
พ่อภาวนาด้วยความปรารถนาดี ให้ลูกทุกคน และบรรดาผู้คนที่เป็นที่รักของลูก จงได้รับพระพรในเทศกาลคริสตสมภพ และพ่อขอร้องลูกทุกคน โปรดไปสวดภาวนาเพื่อพ่อต่อหน้าถ้ำพระกุมารด้วย ขอบใจมาก
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บพระสมณดำรัสของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ตรัสแก่เจ้าหน้าที่ของโรมัน คูเรีย โอกาสสมโภชคริสตสมภพ ปี ค.ศ. 2023 มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)