การเสด็จเยือนอาฌักซีโย
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ในโอกาสปิดการประชุม หัวข้อ
“ความศรัทธาทางศาสนาแบบประชานิยมในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน”
พิธีบูชาขอบพระคุณ
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาณ จัตุรัสเอาส์เทอร์ลิทซ์ เมืองอาฌักซีโย ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2024
วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ฝูงชนได้ถามนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างว่า “เราจะต้องทำอะไร” (ลก. 3,10) เราจะต้องทำอะไร นี่เป็นคำถามที่จะต้องรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะว่าคำถามนี้แสดงถึงความปรารถนาที่จะฟื้นฟูจิตวิญญาณขึ้นใหม่ แสดงถึงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีกว่าเดิม นักบุญยอห์นได้ประกาศการมาถึงของพระเมสสิยาห์ผู้ทรงเป็นที่รอคอยมานาน ผู้คนที่ฟังการเทศน์สอนของนักบุญยอห์นต่างต้องการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการพบปะนี้ ซึ่งเป็นการที่จะได้พบกับพระเมสสิยาห์ ได้พบกับพระเยซูเจ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาได้เป็นพยานว่า ผู้คนที่แสดงออกถึงความปรารถนาเช่นนี้ไม่ใช่ผู้คนที่สังคมมองว่าใกล้ชิด[กับพระเมสสิยาห์] ไม่ใช่ชาวฟาริสีหรือพวกธรรมาจารย์ หากแต่เป็น “คนนอก” เป็นคนที่อยู่ห่างไกล เช่น คนเก็บภาษี ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนบาป นอกจากนี้ยังมีทหารด้วย พวกเขาถามว่า “ท่านอาจารย์ พวกเราจะต้องทำสิ่งใด” (ลก. 3,12) นี่เป็นคำถามที่ดี พวกเราเองก็เหมือนกัน ก่อนที่เราจะเข้านอน เราอาจอธิษฐานภาวนาได้แบบนี้ว่า “พระเจ้าข้า ลูกจะต้องทำสิ่งใดเพื่อเตรียมจิตใจสำหรับวันคริสตสมภพ” คนที่คิดว่าตัวเองดีพร้อมอยู่แล้วย่อมจะไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง [เราได้เห็นในเรื่องนี้ว่า] พวกคนที่ถูกมองว่าเป็นคนบาป คนพวกที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นคนบาป กำลังต้องการที่จะหลุดพ้นจากพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เป็นการตุกติกหรือใช้ความรุนแรง เพื่อที่จะได้ไปสู่ชีวิตใหม่ และเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา บรรดาคนที่เคยอยู่ห่างไกลก็จะได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิด อันที่จริงแล้วนักบุญยอห์นได้กล่าวตอบบรรดาคนเก็บภาษีและทหารว่า จงทำตนให้มีศักดิ์ศรี จงเป็นคนซื่อสัตย์ (เทียบ ลก. 3,13-14) การประกาศถึงการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าย่อมเป็นสิ่งที่ปลุกมโนธรรมให้ตื่นขึ้น เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบรรดาคนที่ต่ำต้อยและคนที่ถูกกีดกันด้วยเป็นพิเศษ เพราะพระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยให้รอด ไม่ใช่เพื่อตัดสินโทษคนที่หลงทางไปสู่ความวินาศ (เทียบ ลก. 15,4-32) [ดังนั้น] หากว่าเราต้องการให้พระเยซูเจ้าช่วยเราให้รอด หากเราต้องการให้พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเรา สิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรทำ คือการพูดความจริงเกี่ยวกับตัวเราเองว่า “พระเจ้าข้า ลูกเป็นคนบาป” พวกเราทุกคนในที่นี้ล้วนเป็นคนบาป เราทุกคนเป็นคนบาป [ดังนั้น ขอให้เราพูดกับพระองค์ว่า] “พระเจ้าข้า ลูกเป็นคนบาป” เพื่อที่เราจะได้เข้าหาพระองค์ด้วยความจริง ไม่ใช่ด้วยการปรุงแต่งที่อาศัยความชอบธรรมแบบจอมปลอม เพราะว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อช่วยคนบาปให้รอด
ด้วยเหตุนี้เช่นกัน ในวันนี้เราจึงหันมาถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกับที่ฝูงชนได้ถามนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ในช่วงเวลาเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้ เราได้พบความกล้าหาญที่จะตั้งคำถามอย่างไม่หวาดกลัวว่า “ฉันจะต้องทำอะไร” “พวกเราจะต้องทำอะไร” ขอให้เราถามพระองค์อย่างจริงใจ เพื่อที่เราจะสามารถเตรียมจิตใจให้มีความสุภาพถ่อมตน ให้มีความเชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่กำลังเสด็จมา
ข้อความในพระคัมภีร์ที่พวกเราได้ฟังไป ได้สอนถึงหนทางสองอย่างในการรอคอยพระเมสสิยาห์ อย่างแรกเป็นการรอคอยด้วยความระแวงสงสัย ส่วนอย่างที่สองเป็นการรอคอยด้วยความปีติยินดี ซึ่งพวกเราอาจรอคอยซึ่งความรอดโดยมีทัศนคติแบบนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ในตอนนี้ ขอให้เราไตร่ตรองพิจารณาเกี่ยวกับทัศนคติฝ่ายจิตทั้งสอง
ทัศนคติอย่างแรก คือ การรอคอยด้วยความระแวงสงสัย เป็นการรอคอยที่เต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจและความกังวล ผู้ใดที่มีจิตใจหมกมุ่นอยู่กับการคิดถึงตัวเอง ผู้นั้นย่อมสูญเสียซึ่งความปีติยินดีแห่งจิตวิญญาณ แทนที่เขาจะเฝ้ารอด้วยความหวัง เขากลับไม่แน่ใจต่ออนาคต เขาเอาแต่คิดถึงแผนการแบบโลก แล้วก็ไม่รู้จักรอคอยกิจการของพระญาณเอื้ออาทร เขาไม่รู้จักรอคอยโดยอาศัยความหวังที่พระจิตเจ้าประทานให้แก่เรา คำพูดของนักบุญเปาโลได้สอนคนที่มีความวุ่นวายใจแบบนี้เอาไว้ว่า “อย่ากระวนกระวายใจถึงสิ่งใดเลย” (ฟป. 4,6) เมื่อใดที่ความวิตกกังวลครอบงำเรา [ความกังวลนั้นก็ย่อมจะทำลายเราเสมอ] สิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ความเจ็บปวด อาจเป็นความเจ็บปวดทางกาย หรืออาจเป็นความเจ็บปวดทางใจเหมือนกับเวลาที่เกิดเหตุร้ายขึ้นในครอบครัว อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ความวิตกกังวล คริสตชนไม่ควรใช้ชีวิตด้วยความวิตกกังวล พ่อขอให้ลูกจงอย่าวิตก จงอย่าหมดหวัง จงอย่าจมอยู่กับความเศร้าใจ สิ่งเหล่านี้เป็นความชั่วร้ายฝ่ายจิตที่แพร่หลายกว้างขวางเหลือเกินทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในที่ที่แนวคิดบริโภคนิยมกำลังขยายวงกว้าง ทุกวันนี้ที่กรุงโรม พ่อได้เห็นว่ามีคนมากมายออกไปจับจ่ายใช้เงินด้วยความวิตกกังวลที่มาจากความคิดบริโภคนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สุดท้ายก็จะมลายหายไป ไม่เหลืออะไรเลย สังคมใดที่อยู่กันแบบบริโภคนิยม สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยความไม่พอใจเสมอ เพราะว่าสังคมแบบนี้ไม่รู้จักการให้ คนที่อยู่เพื่อตัวเองจะไม่มีวันมีความสุขได้เลย ผู้ใดที่มีชีวิตอยู่[โดยเอาแต่กำมือ] และไม่รู้จัก[แบมือเพื่อเป็นผู้ให้] ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่มีความสุข คนที่กำมือเอาทุกอย่างไว้เพื่อตัวเอง และไม่มีมือที่รู้จักให้ ไม่มีมือที่รู้จักช่วยเหลือและแบ่งปัน คนแบบนี้จะไม่มีวันมีความสุขเลย ความชั่วร้ายแบบนี้อาจเกิดกับพวกเราได้ทุกคน อาจเกิดกับคริสตชนทุกคน ทั้งบาทหลวง บิชอป พระคาร์ดินัล หรือแม้แต่กับพระสันตะปาปาด้วย
อย่างไรก็ตาม นักบุญเปาโลได้สอนวิธีแก้ที่ได้ผลให้แก่พวกเรา ท่านได้เขียนไว้ว่า “ในทุกกรณี จงทูลพระเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาทั้งหลายของท่านโดยคำอธิษฐาน การวอนขอ พร้อมด้วยการขอบพระคุณ” (เทียบ ฟป. 4,6) ความเชื่อในพระเจ้าย่อมนำมาซึ่งความหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ และในการประชุมที่ได้จัดขึ้นที่อาฌักซีโยแห่งนี้ ก็ได้มีการเน้นถึงความสำคัญของการปลูกฝังทำนุบำรุงความเชื่อโดยเล็งเห็นคุณค่าภายในบทบาทของความศรัทธาแบบประชานิยม (popular piety) ขอให้เรานึกถึงการสวดสายประคำ หากเราค้นพบกิจศรัทธานี้อีกครั้งและนำมาปฏิบัติอย่างดี ก็ย่อมทำให้เราได้รู้จักมีใจจดจ่ออยู่กับพระเยซูคริสตเจ้า ด้วยสายตาแห่งการรำพึงภาวนาแบบพระแม่มารีย์ นอกจากนี้ ขอให้เรานึกถึงการรวมกลุ่มแบบต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกิจศรัทธา การทำกิจศรัทธาแบบนี้สามารถสอนให้ผู้คนรู้จักรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ทั้งการรับใช้ฝ่ายกาย และการรับใช้ฝ่ายจิต การรวมกลุ่มต่าง ๆ ของสัตบุรุษ[ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกิจศรัทธา]เช่นนี้เป็นสิ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และได้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นภายในพิธีกรรมและการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร โดยเป็นการประดับประดา[พิธีกรรมและการอธิษฐานภาวนา]ด้วยบทเพลงและกิจศรัทธาของประชาสัตบุรุษ พ่อขอแนะนำผู้คนที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเหล่านี้ ขอให้ลูกจงพร้อมเสมอที่จะไปอยู่ใกล้ชิดกับผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้คนที่อ่อนแอเปราะบางที่สุด เพื่อที่จะทำให้ความเชื่อของลูกแสดงออกเป็นความรักผ่านการกระทำ เพราะกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจศรัทธาแบบนี้ย่อมจะต้องไปใกล้ชิดกับทุกคน ไปอยู่เคียงข้างเพื่อนบ้านเพื่อช่วยเหลือเขา
ในตอนนี้ ขอให้เราพิจารณาทัศนคติอย่างที่สอง คือ การรอคอยด้วยความปีติยินดี ขณะที่การรอคอยแบบแรก คือการรอคอยด้วยความระแวงสงสัย เป็นการรอคอย “เพื่อตนเอง” ด้วยมือที่กำแน่น แต่การรอคอยด้วยทัศนคติแบบหลัง คือการรอคอยด้วยความปีติยินดี ซึ่งการมีความปีติยินดีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความปีติยินดีแบบคริสตชนไม่ใช่ความปีติยินดีแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ใช่ความปีติยินดีแบบเปลือกนอก ไม่ใช่ความปีติยินดีแบบงานรื่นเริง หากแต่เป็นความปีติยินดีของหัวใจซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหนึ่งที่มั่นคงอย่างยิ่ง ดังที่ประกาศกเศฟันยาห์ได้พูดกับประชากรเอาไว้ว่า จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะ “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ในท่ามกลางพวกเจ้า พระองค์ทรงพระอานุภาพ และทรงช่วยให้รอดพ้น” (เทียบ ศฟย. 3,17) ขอให้พวกเราเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอยู่ในท่ามกลางพวกเรา หลายครั้งเหลือเกินที่เราหลงลืมเรื่องนี้ หลายครั้งเหลือเกินที่พวกเราหลงลืมไปว่า พระองค์ทรงอยู่ในท่ามกลางพวกเราเวลาที่เราทำกิจการดี เช่น เวลาที่เราเลี้ยงดูสั่งสอนลูกหลาน หรือเวลาที่เราดูแลคนชรา อย่างไรก็ตาม ในเวลาที่เราพูดคุยไร้สาระ เอาแต่พูดนินทาเรื่องคนอื่น เวลานั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าย่อมไม่ได้ประทับอยู่ในท่ามกลางพวกเรา พระองค์ไม่ได้อยู่ที่นั่น มีแต่พวกเราอย่างเดียว
การเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เพราะว่าการเสด็จมาของพระองค์ย่อมทำให้เราทั้งหลายได้รับความรอด พระคัมภีร์ได้บอกไว้ว่า พระเจ้า “ทรงพระอานุภาพ” พระองค์สามารถไถ่กู้ชีวิตของพวกเราได้ เพราะว่าเมื่อพระองค์ตรัสสิ่งใด พระองค์ย่อมสามารถทำได้ตามนั้น ด้วยเหตุนี้ ความปีติยินดีของเราจึงไม่ได้เป็นภาพลวงที่เอาไว้ปลอบใจตัวเอง ไม่ได้เป็นภาพลวงสำหรับใช้ลืมความโศกเศร้าในชีวิต เพราะความปีติยินดีของพวกเราเป็นผลของพระจิตเจ้า ผ่านทางความเชื่อ[ที่พวกเรามี]ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ช่วยเราทั้งหลายให้รอด พระองค์ทรงเคาะประตูหัวใจของพวกเรา และทรงปลดปล่อยหัวใจของเราให้พ้นจากความโศกเศร้าและความเซื่องซึม เพราะฉะนั้น การเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นเหตุแห่งการเฉลิมฉลอง เป็นสิ่งที่ทำให้อนาคตของทุกคนเปี่ยมไปด้วยความหวัง เมื่อใดที่พระเยซูเจ้ามาประทับอยู่เคียงข้างเรา เราก็จะได้ค้นพบความปีติยินดีที่แท้จริงของการมีชีวิตและการมอบเครื่องหมายแห่งความหวังให้แก่โลกที่กำลังรอคอย[ความหวังนี้]อยู่
เครื่องหมายอย่างแรกของความหวัง คือ สันติสุข พระผู้ที่กำลังเสด็จมานั้นทรงเป็น “อิมมานูเอล” พระเจ้าผู้สถิตกับพวกเรา ผู้ประทานสันติสุขให้แก่มนุษย์ที่พระองค์ทรงโปรดปราน (เทียบ ลก. 2,14) ในยามที่พวกเราเตรียมรับเสด็จพระองค์ในช่วงเวลาเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้ พ่อขอให้ประชาคมของพวกเรามีศักยภาพมากขึ้นที่จะไปอยู่เคียงข้างทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนที่กำลังเตรียมรับศีลล้างบาปและศีลกำลัง รวมทั้งไปอยู่เคียงข้างบรรดาคนชราเป็นพิเศษ ขอให้พวกเราอย่าลืมว่า บรรดาคนชราเป็นปรีชาญาณของประชากร เราแต่ละคนสามารถคิดไตร่ตรองได้ว่า เราเองทำตัวอย่างไรกับคนชรา เราไปหาพวกเขาบ้างไหม เรารู้จัก “เสียเวลา” เพื่อพวกเขาหรือไม่ เรารู้จักรับฟังพวกเขาหรือไม่ เพราะบางครั้งเราอาจคิดว่า “โอ้ย ไม่ฟังหรอก พวกเขาน่าเบื่อจะตาย เอาแต่พูดเรื่องน่าเบื่อ” เราอาจถามตัวเองได้ด้วยว่า พวกเราทอดทิ้งคนชราหรือไม่ มีคนที่เป็นลูกหลานมากมายเหลือเกินที่ทิ้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายไว้ที่บ้านพักคนชรา พ่อนึกถึงเรื่องหนึ่งได้ว่า พ่อเคยไปเยี่ยมบ้านพักคนชราหนึ่งในเขตปกครองอื่น และตอนนั้น พ่อได้พบผู้หญิงคนหนึ่งที่มีลูกตั้งสามสี่คน พ่อถามเขาว่า “พวกลูกของลูกนี่เขาอยู่ดีมีสุขไหม” เขาตอบพ่อว่า “มีความสุขดีค่ะ ลูกมีหลานด้วยตั้งหลายคน” พ่อถามเขาต่อว่า “แล้วพวกเขามาหาลูกบ้างไหม” เขาตอบพ่อว่า “มาค่ะ มาเรื่อย ๆ” แต่พอพ่อออกมาจากที่นั่น พยาบาลกลับบอกกับพ่อว่า พวกเขามาหาหญิงชราผู้นี้แค่ปีละครั้งเท่านั้น [ลูกเห็นหรือไม่ว่า] คุณแม่คนนี้ไม่อยากเอาเรื่องไม่ดีของลูกตัวเองมาพูดกับคนอื่น มีผู้คนมากมายทิ้งคนชราไว้เพียงลำพัง ขนาดในวันคริสตสมภพหรือปัสกา พวกเขาก็เพียงแต่ทักทายอวยพรผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น พ่อขอให้ลูกดูแลคนชราให้ดี ๆ เพราะว่าพวกเขาเป็นปรีชาญาณของประชากร
นอกจากนี้ ขอให้พวกเราคิดถึงบรรดาเยาวชนที่เตรียมรับศีลล้างบาปและศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ด้วย พ่อต้องขอบคุณพระเจ้าเรื่องหนึ่ง คือ ที่เกาะคอร์ซิกาแห่งนี้มีเยาวชนมากมาย พ่อขอแสดงความชื่นชมยินดีกับพวกลูกในที่นี้ด้วย พ่อไม่เคยเห็นเด็ก ๆ มารวมตัวกันที่ไหนมากเท่ากับที่นี่เลย นี่เป็นพระหรรษทานของพระเจ้า ส่วนลูกสุนัขนี่พ่อได้เห็นแค่สองตัวเท่านั้น พี่น้องที่รัก พ่อขอร้องว่า จงมีลูกเถิด จงมีลูกเถิด พวกเขาจะเป็นความชื่นชมยินดีของลูก เป็นความบรรเทาใจของลูกในอนาคต นี่เป็นความจริง พ่อไม่เคยเห็นเด็ก ๆ มากขนาดนี้มาก่อน มีแค่ที่ติมอร์เลสเตเท่านั้นที่มีมากพอ ๆ กับที่นี่ แต่ในที่อื่น ๆ ไม่ได้มีเด็กมากขนาดนี้ นี่เป็นความปีติยินดีของลูก นี่คือเกียรติยศที่ลูกสมควรภูมิใจ
พี่น้องชายหญิงที่รัก เป็นที่น่าเศร้าว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่เป็นเหตุแห่งความเจ็บปวดทรมานในประเทศต่าง ๆ ทั้งความทุกข์ยาก สงคราม การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และความรุนแรง พ่ออยากเล่าให้ลูกฟังว่า บางครั้งมีเด็ก ๆ จากยูเครนมาหาพ่อ สงครามทำให้พวกเขาต้องมาหาพ่อ ลูกรู้ไหมว่า เด็กเหล่านั้นไม่มีรอยยิ้มเลย [ราวกับว่า]พวกเขาลืมวิธียิ้ม ลืมวิธีหัวเราะไปแล้ว พ่อขอให้พวกเราคิดถึงเด็ก ๆ ในที่ที่มีสงครามด้วย ขอให้พวกเราคิดถึงความเจ็บปวดที่เด็ก ๆ จำนวนมากเหลือเกินต้องประสบ
อย่างไรก็ตาม พระวาจาของพระเจ้าย่อมเป็นกำลังใจให้แก่พวกเราในทุกเมื่อ ถึงแม้ว่าประเทศต่าง ๆ และผู้คนในที่ต่าง ๆ จะต้องประสบกับความทุกข์ทรมานอยู่ แต่พระศาสนจักรก็ยังคงประกาศความหวังมั่นคงอย่างหนึ่งที่ไม่มีทางจะผิดหวังไปได้ เพราะพระเจ้าได้เสด็จมาประทับอยู่ในท่ามกลางเรา และการเสด็จมาของพระองค์ก็ทำให้เรามีพละกำลังอย่างไม่สิ้นสุดที่จะมุ่งมั่นพยายามเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม
พี่น้องชายหญิงที่รัก พระคริสตเจ้าทรงดำรงอยู่ พระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความปีติยินดีของเราทั้งหลาย ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด และไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางความทุกข์ยากแบบใดก็ตาม พระองค์ทรงอยู่เคียงข้างเราท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก เพื่อที่จะทรงนำพาเราไปข้างหน้า และประทานความปีติยินดีให้แก่เรา ขอให้เรามีความปีติยินดีนี้อยู่ในใจเสมอ ขอให้เรามีความมั่นใจว่าพระคริสตเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราและทรงก้าวเดินไปด้วยกันกับเรา ขอให้เราอย่าลืมสิ่งนี้ เพราะความปีติยินดีและความเชื่อมั่นว่าพระเยซูเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราเช่นนี้ จะทำให้เรามีความสุข และช่วยให้เราไปมอบความสุขให้แก่ผู้อื่นด้วย นี่คือสิ่งที่พวกเราจะต้องเป็นพยาน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)