พิธีบูชาขอบพระคุณตอนกลางคืน สมโภชพระคริสตสมภพ
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร ที่นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2023


“การสำรวจสำมะโนประชากรทั่วแผ่นดิน” (เทียบ ลก. 2,1) นี่คือบริบทแห่งการบังเกิดของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นรากฐานของพระวรสาร[ทั้งหมด] ผู้ประพันธ์พระวรสารมีทางเลือกที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้โดยรวบรัด แต่ท่านกลับเลือกที่จะเล่าเรื่องนี้อย่างละเอียดเที่ยงตรง คำบอกเล่าของท่านเป็นการนำสองสิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงมานำเสนอด้วยกัน ในด้านหนึ่ง จักรพรรดิกำลังนับจำนวนประชากรทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระเจ้าได้เสด็จมายังโลกนี้โดยแทบจะไม่มีผู้ใดรู้เห็น ในด้านหนึ่ง ผู้ปกครองโลกนี้พยายามจะยกฐานะของตนให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระผู้เป็นราชาเหนือประวัติศาสตร์ได้ทรงเลือกหนทางแห่งความเล็กน้อยต่ำต้อย ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดที่รู้ถึงการเสด็จมาของพระองค์ มีเพียงคนเลี้ยงแกะไม่กี่คน ซึ่งเป็นคนที่ถูกกีดกันยังชายขอบของสังคมเท่านั้น
ทว่า “การสำรวจสำมะโนประชากร” ยังสื่อถึงสิ่งอื่นให้แก่เราด้วย การสำรวจสำมะโนประชากรดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์เป็นเรื่องราวที่ไม่ดีนัก กษัตริย์ดาวิดเคยทำบาปหนักด้วยการสำรวจสำมะโนประชากร เขาทำเช่นนั้นเพราะว่าได้พ่ายแพ้แก่การผจญที่มาจากตัวเลขมหาศาล และจากความหลงตนอย่างผิด ๆ ว่าตนเองไม่ต้องพึ่งพาใคร เขาทำเช่นนั้นเพราะอยากจะรู้ว่าตนเองมีอำนาจเพียงใด และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 9 เดือน เขาก็ได้รู้จำนวนของชายที่ถืออาวุธได้ (เทียบ 2 ซมอ. 24,1-9) การกระทำเช่นนี้เป็นการทำเคืองพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า และทำให้เกิดเรื่องร้ายแก่ประชาชน[อิสราเอล] ทว่าในค่ำคืน[แห่งการบังเกิด]นี้ พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็น “บุตรแห่งดาวิด” ได้ประสูติที่เบธเลเฮม ซึ่งเป็นเมืองแห่งกษัตริย์ดาวิด หลังจากประทับในครรภ์ของพระแม่มารีย์เป็นเวลา 9 เดือน พระองค์ไม่ได้ลงโทษการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งนี้ แต่ทรงยอมถ่อมพระองค์ให้เขานับจำนวนด้วย พระองค์ได้เสด็จมาเป็นคนหนึ่งในท่ามกลางผู้คนจำนวนมากมาย สิ่งที่เราทั้งหลายได้เห็นในที่นี้ ไม่ใช่พระเจ้าผู้ทรงลงโทษด้วยความพิโรธ แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงมีพระทัยเมตตา ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ผู้เสด็จมาในโลกนี้ในความอ่อนแอ โดยมีคำประกาศนำหน้าพระองค์ว่า “บนแผ่นดิน สันติจงมีแก่มนุษย์” (ลก. 2,14) ในค่ำคืนนี้ จิตใจของเราทั้งหลายได้ไปอยู่ที่เบธเลเฮม ที่ซึ่งพระผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งสันติยังคงถูกปฏิเสธจากตรรกะแห่งสงครามที่นำมาแต่ความพ่ายแพ้ ที่ซึ่งเสียงแห่งอาวุธยังคงทำให้พระองค์ไม่มีที่อยู่ แม้กระทั่งในทุกวันนี้ (เทียบ ลก. 2,7)
การสำรวจสำมะโนประชากรทั่วแผ่นดิน อาจกล่าวโดยสรุปว่า ในด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงแผนการอย่างมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในทุกสมัยของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของโลกที่พยายามเสาะหาซึ่งพลังอำนาจ ชื่อเสียง และความยิ่งใหญ่ ที่ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างถูกวัดด้วยความสำเร็จ ด้วยผลสำเร็จ ในรูปตัวเลขและสถิติ คือเป็นการหมกมุ่นต่อผลสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน การสำรวจสำมะโนประชากรนี้ได้ทำให้แนวทางของพระเยซูเจ้าปรากฏเด่นชัดขึ้น พระองค์เสด็จมาหาเราด้วยการทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ไม่ใช่พระเจ้าแห่งผลสำเร็จ แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระองค์ไม่ได้ใช้พละกำลังจากเบื้องบนเพื่อจัดการกับความไม่ยุติธรรม แต่พระองค์ทรงกระทำโดยใช้ความรักจากเบื้องล่าง พระองค์ไม่ได้เสด็จมาโดยเป็นการบุกรุกด้วยอำนาจไร้ขีดจำกัด แต่พระองค์ทรงยอมตนอยู่ภายในขีดจำกัดของเราทั้งหลาย พระองค์มิได้ทรงหลีกเลี่ยงความอ่อนแอของพวกเรา แต่ทรงรับความอ่อนแอนี้ให้เป็นของพระองค์ด้วย
พี่น้องที่รัก ในค่ำคืนนี้ เราทั้งหลายสามารถถามตัวเองได้ว่า เราเชื่อในพระเจ้าแบบไหนกันแน่ เราเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ หรือว่าพระเจ้าแห่งผลสำเร็จ เพราะว่าเราทั้งหลายเสี่ยงที่จะเจริญชีวิตในเทศกาลคริสตสมภพโดยมีความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ไม่ใช่แบบคริสต์ศาสนา คือเป็นการมองพระเจ้าเหมือนกับว่าทรงเป็นเจ้าใหญ่นายโตอยู่บนสวรรค์ เป็นพระเจ้าที่มาพร้อมกับพลังอำนาจ มาพร้อมกับความสำเร็จในแบบของโลก และการบูชาพระเทียมเท็จในแบบแนวคิดบริโภคนิยม หลายครั้งที่เรามองพระเจ้าแบบผิด ๆ ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าที่อยู่ห่างไกล โมโหง่าย ประทานสิ่งดีเป็นการตอบแทนคนที่ทำตัวดี แต่พิโรธโกรธเกรี้ยวต่อคนชั่ว เป็นพระเจ้าที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้คล้ายกับพวกเรา เป็นพระเจ้าที่มีประโยชน์เฉพาะในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และการขจัดสิ่งเลวร้ายให้หมดไปจากเราเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว พระองค์ไม่ใช่เป็นพระเจ้าที่ใช้ไม้กายสิทธิ์ พระองค์ไม่ได้เป็นพระเจ้าเชิงพาณิชย์ที่ “ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เสร็จได้โดยทันที” พระองค์ไม่ได้ช่วยเราให้รอดด้วยการกดปุ่มเพียงปลายนิ้ว แต่พระองค์ประทับอยู่ใกล้ชิดเราเพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นจริง[ของเรา]จากภายใน [น่าเสียใจที่]เราทั้งหลายมีความคิดแบบโลกฝังลึกอยู่ในใจ ที่มองว่าพระเจ้าทรงอยู่ห่างไกล เป็นผู้ควบคุมอย่างเจ้ากี้เจ้าการ เป็นพระเจ้าที่เข้มงวดและทรงพลัง เป็นผู้ที่ช่วยให้คนของพระองค์สามารถเอาชนะคนอื่น ๆ ได้ หลายครั้งเหลือเกินที่เรามีความคิดฝังลึกกันอยู่แบบนี้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น พระทรงบังเกิดเพื่อทุกคน ทรงบังเกิดท่ามกลางเวลาที่มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วแผ่นดิน
เพราะฉะนั้น ให้เราทั้งหลายจงมองดู “พระเจ้าแท้จริงผู้ทรงชีวิต” (1 ธส. 1,9) ให้เรามองพระองค์ ผู้ทรงอยู่เหนือการคิดคำนวณของมนุษย์ แต่กลับถ่อมพระองค์ให้เราเอาพระองค์ไปนับจำนวน ให้เรามองพระองค์ ผู้ทรงปฏิวัติประวัติศาสตร์ด้วยการเสด็จเข้ามายังภายในประวัติศาสตร์ ให้เรามองพระองค์ ผู้ทรงเคารพให้เกียรติเราจนถึงขนาดที่ทรงยอมให้เราปฏิเสธไม่ยอมรับพระองค์ได้ ให้เรามองพระองค์ ผู้ทรงลบล้างบาปด้วยการยอมแบกรับบาปไว้ ผู้ที่มิได้ทรงลบล้างความทุกข์ทรมาน แต่ทรงเปลี่ยนแปลงความทุกข์ทรมานให้เป็นสิ่งอื่น ผู้ที่มิได้ทรงขจัดปัญหาต่าง ๆ ให้หมดไปจากชีวิต แต่ทรงมอบความหวังที่ยิ่งใหญ่กว่าปัญหาทั้งปวงให้เกิดมีขึ้นในชีวิตของเราทั้งหลาย ความปรารถนาของพระองค์ที่จะรับเอาสภาพความเป็นจริงของเราช่างใหญ่หลวง จนถึงขนาดที่ได้ทรงกระทำตนให้อยู่ภายในขีดจำกัด แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นผู้ที่อยู่เหนือขีดจำกัดทั้งปวงก็ตาม จนถึงขนาดที่พระองค์ได้ทรงกระทำตนให้กลายเป็นผู้เล็กน้อย แม้ว่าพระองค์จะทรงยิ่งใหญ่ก็ตาม และจนถึงขนาดที่พระองค์ได้มาประทับอยู่ท่ามกลางความอยุติธรรมต่าง ๆ ของเรา แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นผู้เที่ยงธรรมก็ตาม พี่น้องที่รัก นี่คือความน่าอัศจรรย์ใจแห่งการบังเกิดของพระเยซูเจ้า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ประกอบด้วยความรักแบบเลี่ยน ๆ ผสมกับความสบายใจในแบบโลก แต่เป็นความอ่อนโยนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของพระเจ้า ผู้ทรงช่วยโลกให้รอดด้วยการรับสภาพมนุษย์ ให้เรามองดูพระกุมาร ให้เรามองดูรางหญ้าของพระองค์ ให้เรามองดูถ้ำพระกุมาร ให้เรามองดูทูตสวรรค์ผู้ประกาศถึง “เครื่องหมายนี้” (ลก. 2,12) ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเครื่องหมายที่เผยแสดงพระพักตร์ของพระเจ้า ซึ่งก็คือความที่พระองค์ทรงเป็นความเมตตากรุณาและความสงสาร ความที่พระองค์ทรงไว้ซึ่งสรรพานุภาพเสมอ แต่ทรงใช้พระอานุภาพนี้ในความรักเท่านั้น พระองค์ใกล้ชิดเรา พระองค์สนิทกับเรา พระองค์มีพระทัยอ่อนโยนและเมตตากรุณา นี่คือแนวทางแห่งการดำรงอยู่ของพระองค์ ซึ่งได้แก่ความใกล้ชิด ความอ่อนโยนมีพระทัยดี และความเมตตากรุณา
พี่น้องที่รัก เราทั้งหลายต่างอัศจรรย์ใจที่พระเจ้า “ทรงรับสภาพมนุษย์” (เทียบ ยน. 1,14) คำว่าสภาพมนุษย์ หรือเนื้อหนัง เป็นคำที่ทำให้เรานึกถึงความอ่อนแอของพวกเราเอง และเป็นคำที่พระวรสารใช้กล่าวถึงการที่พระเจ้าได้เสด็จเข้ามาในสภาวะความเป็นมนุษย์ของพวกเรา เราอาจถามตัวเองว่า ทำไมพระองค์จึงทรงกระทำถึงขนาดนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะว่าพระองค์เอาพระทัยใส่พวกเราทุกคน เป็นเพราะว่าพระองค์ทรงรักพวกเราจนถึงขั้นที่ทรงมองว่าพวกเรามีค่าเหนือสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด พี่น้องที่รัก พระเจ้าได้ทรงเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการสำรวจสำมะโนประชากร และสำหรับพระองค์แล้ว ลูกแต่ละคนไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข แต่เป็นคนที่ต่างก็มีใบหน้าเป็นของตัวเอง ชื่อของลูกถูกจารึกไว้อยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ แต่เมื่อลูกพิจารณาจิตใจของตัวเอง เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จที่ไม่ได้มากเท่าที่ตัองการ เมื่อพิจารณาโลกที่เอาแต่ตัดสินแต่ไม่เคยให้อภัย บางครั้งลูกอาจคิดว่าตัวเองไม่ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาแห่งเทศกาลคริสตสมภพได้ดีเท่าไรนัก อาจจะรู้สึกว่าอะไร ๆ ก็ไม่ดี รู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ดีพอ รู้สึกไม่พอใจกับความอ่อนแอ ความล้มเหลว ปัญหา และบาปต่าง ๆ ของลูกเอง แต่ในวันนี้พ่ออยากขอให้ลูกจงมอบให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้กระทำกิจการ พระองค์ตรัสกับลูกว่า “เพื่อท่าน เราจึงได้รับสภาพมนุษย์ เพื่อท่าน เราจึงได้กลายเป็นเหมือนท่าน” ทำไมลูกถึงยังถูกจองจำด้วยความโศกเศร้าของลูกเอง ขอให้ลูกเอาอย่างบรรดาคนเลี้ยงแกะที่ได้ทิ้งฝูงแกะไว้ข้างหลัง ให้ลูกจงออกจากรั้วกั้นแห่งความเศร้าสร้อยและไปน้อมรับเอาความอ่อนโยนของพระกุมาร และเวลาที่ลูกทำเช่นนี้ ลูกจงอย่าสวมหน้ากาก อย่าสวมเกราะป้องกันใด ๆ ให้ลูกเอาปัญหาต่าง ๆ ไปมอบไว้กับพระองค์ และพระองค์จะทรงดูแลลูกเอง (เทียบ สดด. 55,23) พระองค์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ไม่ได้ทรงรอให้ลูกได้ประสบความสำเร็จอะไรก่อน ขอเพียงแค่ลูกเปิดใจและเชื่อมั่นในพระองค์ แล้วลูกก็จะได้ค้นพบตัวเองใหม่ในพระองค์ ลูกจะได้รู้ว่าตัวลูกเองเป็นลูกชายหญิงที่เป็นที่รักของพระเจ้า ในตอนนี้ลูกย่อมจะสามารถเชื่อแบบนี้ได้แล้ว เพราะว่าในคืนนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าได้เสด็จมาส่องสว่างให้แก่จิตใจของลูก และแววตาของพระองค์ก็เปล่งประกายด้วยความรักที่ทรงมีให้แก่ลูก เราอาจจะทำใจให้เชื่อเรื่องนี้ได้ยาก แต่แววตาของพระเจ้าเปล่งประกายด้วยความรักที่ทรงมีให้แก่ลูก
พระเยซูคริสต์ไม่ได้ทรงมองดูยังตัวเลข แต่ทรงมองดูใบหน้าของผู้คน แล้วมีใครบ้างที่มองดูพระองค์ ท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ และการแข่งขันกันอย่างบ้าคลั่งในโลกที่วุ่นวายและเมินเฉยต่อผู้คน มีใครบ้างที่มองดูพระองค์ เราได้เห็นว่าที่เบธเลเฮม มีคนมากมายที่อยู่ท่ามกลางความมึนเมาแห่งการสำรวจสำมะโนประชากร คนโน้นไป คนนี้มา มีคนมากมายไปอยู่กันจนเต็มห้องพักต่าง ๆ พลางพูดคุยกันในเรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่คนที่อยู่ใกล้กับพระเยซูเจ้ามีเพียงไม่กี่คน มีพระแม่มารีย์ มีนักบุญโยเซฟ มีคนเลี้ยงแกะ และต่อมาก็จะมีบรรดาโหราจารย์ ให้เราเรียนรู้จากคนเหล่านี้ พวกเขาเพ่งสายตายังพระเยซูเจ้า จิตใจของพวกเขาโน้มหาพระองค์ พวกเขาไม่ได้พูดคุยกัน แต่พวกเขาเฝ้าบูชา พี่น้องที่รัก ค่ำคืนนี้เป็นเวลาแห่งการเฝ้าบูชา ดังนั้น ให้เรามาเฝ้าบูชากันเถิด
การเฝ้าบูชาเป็นหนทางที่เราจะต้อนรับการที่พระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ เพราะว่าพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ของพระบิดา ทรงรับสภาพมนุษย์และเสด็จเข้ามาในชีวิตเราท่ามกลางความเงียบ ให้เราเอาอย่างผู้คนที่เบธเลเฮมในเรื่องนี้ คำว่า เบธเลเฮม มีความหมายว่า “บ้านแห่งปัง” และเราทั้งหลายก็ได้มาอยู่ต่อหน้าพระองค์ ผู้ทรงเป็น “ปังทรงชีวิต” ดังนั้น ให้เราทั้งหลายจงมาค้นพบการเฝ้าบูชากันอีกครั้ง เพราะการเฝ้าบูชาไม่ใช่การใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่เป็นการให้พระเจ้าเข้ามาสถิตอยู่ในท่ามกลางเวลาของเราทั้งหลาย เป็นการทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งการรับสภาพมนุษย์ของพระเจ้าได้เติบโตภายในเรา และเป็นการร่วมมือต่อกิจการขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเปลี่ยนแปลงโลกด้วยวิธีที่เหมือนกับเชื้อแป้ง การเฝ้าบูชา เป็นการภาวนาแทนผู้อื่น เป็นการชดเชยโทษบาป[ของตนเองและผู้อื่น] และเป็นการเปิดทางให้พระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่งได้เขียนจดหมายแก่ลูกชายของเขาว่า “มีสิ่งยิ่งใหญ่สิ่งเดียวที่พ่ออยากให้ลูกรู้จักรักสิ่งนี้บนโลกนี้ สิ่งนี้คือศีลมหาสนิท ซึ่งภายในสิ่งนี้ ลูกจะได้ค้นพบความรักอันดูดดื่ม ลูกจะได้ค้นพบความยิ่งใหญ่ เกียรติยศ ความซื่อสัตย์ และลูกจะได้ค้นพบหนทางที่แท้จริงสำหรับที่ลูกจะนำไปใช้รักสิ่งอื่น ๆ บนโลกนี้” (เจ.อาร์.อาร์ โทลคีน, จดหมายฉบับที่ 43, มีนาคม 1941)
พี่น้องที่รัก ในค่ำคืนนี้ ความรักได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เราทั้งหลายได้เชื่อในพลังอำนาจแห่งความรักของพระองค์ ซึ่งไม่เหมือนกับพลังอำนาจต่าง ๆ ในโลกนี้ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้เราทั้งหลายได้เป็นอย่างพระแม่มารีย์ นักบุญโยเซฟ บรรดาคนเลี้ยงแกะ และบรรดาโหราจารย์ ในการที่เราทั้งหลายจะมาใกล้ชิดพระองค์ด้วยการเฝ้าบูชาพระองค์ เพื่อว่าในยามที่เราทั้งหลายจะกลับออกไปจากพระองค์ เราทั้งหลายจะได้เป็นเหมือนกับพระองค์มากขึ้น และเพื่อที่เราทั้งหลายจะสามารถไปเป็นพยานต่อหน้าโลกถึงความงามแห่งพระพักตร์ของพระองค์ได้
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทเทศน์คืนวันคริสตสมภพของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)