
ในการนำเสนอภายในที่ประชุมใหญ่ของการประชุมซีนอดสมัยสามัญครั้งที่ 16 บาทหลวงออร์มอนด์ รัช นักเทววิทยาจากออสเตรเลีย ได้เสนอบทไตร่ตรองต่อรายงานสรุปของการประชุม ดังต่อไปนี้
ณ ที่ประชุมใหญ่ของการประชุมซีนอดครั้งที่ 16 วันที่ 23 ตุลาคม 2023
รายงานสรุป
บาทหลวงออร์มอนด์ รัช (Rev. Ormond Rush)
นักเทววิทยา (ออสเตรเลีย)
จากที่กระผมได้ฟังท่านทั้งหลายในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กระผมรู้สึกว่ามีบางท่านที่ประสบความยากลำบากกับข้อความคิดเรื่องธรรมประเพณี (Tradition) จากการที่ท่านทั้งหลายมีความรักต่อความจริง ท่านทั้งหลายไม่ใช่บุคคลแรกที่ประสบความยากลำบากกับสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้เคยเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญประเด็นหนึ่งในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่สองเช่นกัน กระผมคิดว่าหากเราย้อนกลับไปพิจารณาคำถามที่มีการอภิปรายกันในตอนนั้น ตลอดจนคำตอบที่ได้มาในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่สอง ก็อาจจะเป็นประโยชน์ คำตอบที่ได้จากการประชุมสภาสังคายนานั้นเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักสำหรับเรา และชี้ทางแก่เราในการรำพึงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เราต้องเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน สภาสังคายนาวาติกันที่สองอาจให้บทเรียนบางอย่างแก่การประชุมซีนอดนี้ ซึ่งตอนนี้ท่านทั้งหลายกำลังสรุปผลการไตร่ตรองแยกแยะของท่านเกี่ยวกับอนาคตของพระศาสนจักร
ในการประชุม 4 สมัยของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นตึงเครียดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือเรื่อง “ธรรมประเพณี” อันนี้เอง ในการประชุมสมัยแรกเมื่อปี ค.ศ. 1962 มีการเสนอร่างอันหนึ่งเกี่ยวกับ “บ่อเกิดของการเผยแสดง” ต่อที่ประชุม ร่างฉบับนี้เขียนขึ้นเป็นการจัดประเภทต่าง ๆ ตามแบบวิธีอัสมาจารย์นิยมอย่างใหม่ (neo-scholasticism) ซึ่งกล่าวถึงการเผยแสดง ความเชื่อ พระคัมภีร์ และธรรมประเพณี ซึ่งเนื้อหาส่วนมากมีรูปแบบในเพียงมิติเดียว กล่าวคือ เป็นเพียงการแถลงเนื้อหาข้อเชื่อเท่านั้น เมื่อร่างนี้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุม บรรดาบิชอปในที่ประชุมเกือบทั้งหมดต่างปฏิเสธร่างอันนี้ และในวันต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ยี่สิบสาม ได้ทรงเห็นพ้องว่าการจัดทำร่างฉบับใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ โยเซฟ รัทซิงเงอร์ ผู้เชี่ยวชาญในที่ประชุมสภาสังคายนา [ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหก] ได้เขียนข้อความหนึ่งไว้ในขณะนั้น ในเรื่องความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการอภิปรายดังกล่าว ตลอดจนเรื่องความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการที่สมเด็จพระสันตะปาปาตัดสินใจเข้าแทรกแซง
ปัญหาที่แท้จริงเบื้องหลังการถกเถียงดังกล่าว อาจกล่าวได้เป็นคำถามที่ว่า จุดยืนทางปัญญาที่เรียกว่า “การต่อต้านแนวคิดสมัยใหม่” (anti-Modernism) กล่าวคือนโยบายอย่างเก่าในการปิดกั้น การกล่าวโทษ และการป้องกัน ซึ่งแทบจะนำไปสู่การปฏิเสธโดยทันทีต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของใหม่นั้น ควรจะได้รับการยึดถือต่อไปหรือไม่ หรือว่าพระศาสนจักรควรจะปรับตัวก้าวหน้าไปสู่การพบปะอย่างใหม่ในเชิงบวกต่อบ่อเกิดของพระศาสนจักรเอง รวมทั้งต่อ [เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน] และต่อโลกในยุคปัจจุบัน หลังจากที่พระศาสนจักรได้ดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองความเชื่อแล้ว? การที่บิชอปส่วนมากในที่ประชุมเลือกหนทางอย่างหลัง ทำให้เราถึงกับกล่าวได้ว่าการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่สองเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ เรายังกล่าวได้ด้วยว่าการตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับการสังคายนาวาติกันที่หนึ่ง ด้วยว่าขณะที่ทั้งการสังคายนาที่เมืองเทรนต์ และการสังคายนาวาติกันที่หนึ่งเป็นการสร้างปราการแห่งความเชื่อเพื่อยืนยันและพิทักษ์ความเชื่อ แต่การสังคายนาวาติกันที่สองได้หันหน้าไปสู่งานอย่างใหม่ โดยมีรากฐานอยู่บนผลงานของการสังคายนาทั้งสองครั้งก่อนหน้านั้น [1] (Joseph Ratzinger, Theological Highlights of Vatican II, New York: Paulist Press, 2009, หน้า 44, เน้นเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
งานอย่างใหม่ที่ว่านี้คือการนำความเชื่อของคริสตชนไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ สิ่งที่โยเซฟ รัทซิงเงอร์ ได้เห็นว่าเป็นที่มาของความตึงเครียดภายในสภาสังคายนาวาติกันที่สองเช่นนี้ โดยพื้นฐานแล้วคือมุมมอง 2 อย่างต่อธรรมประเพณี ซึ่งท่านได้เรียกมุมมองอย่างแรกว่าเป็น ความเข้าใจ “อย่างคงที่” ต่อธรรมประเพณี ส่วนมุมมองอย่างหลังถูกเรียกว่าเป็น ความเข้าใจ “อย่างมีพลวัต” [2] ต่อธรรมประเพณี (เทียบเนื้อหาทั้งบทของ Joseph Ratzinger, “Chapter II: The Transmission of Divine Revelation,” ในหนังสือ Commentary on the Documents of Vatican II. Volume 3, ed. Herbert Vorgrimler, New York: Herder, 1969, หน้า 181-98) มุมมองอย่างแรกมีความยึดถือความเป็นอย่างกฎหมาย เป็นการแถลงเนื้อหา และปฏิเสธความเป็นประวัติศาสตร์ (กล่าวคือการมองว่าธรรมประเพณีใช้ได้ในทุกสมัยและทุกสถานที่) ขณะที่มุมมองอย่างหลังมีความเน้นตัวบุคคล เป็นมุมมองว่าธรรมประเพณีมีความเป็นสัญลักษณ์ [ถึงกิจการของพระเป็นเจ้า] และมีความเป็นประวัติศาสตร์ จึงถือว่าธรรมประเพณีต้องนำมาตีความผ่านความตระหนักรู้ทางประวัติศาสตร์ แนวโน้มของมุมมองอย่างแรกเน้นยังอดีต ขณะที่มุมมองอย่างหลังมองอดีตว่าเป็นสิ่งที่นำมาทำให้เกิดเป็นจริงในปัจจุบัน และเป็นมุมมองที่เปิดกว้างต่ออนาคตที่ยังไม่มีการเผยแสดง สภาสังคายนาวาติกันที่สองใช้คำว่า “ธรรมประเพณีที่มีชีวิต” (สมณธรรมนูญ Dei verbum ว่าด้วยการเผยแสดงของพระเจ้า, ข้อ 12) เพื่ออธิบายมุมมองอย่างหลัง โดยในการที่สภาสังคายนาพูดถึงความเข้าใจอย่างมีพลวัตต่อธรรมประเพณี แทนที่จะพูดถึงความเข้าใจอย่างคงที่ สภาสังคายนาได้สอนไว้ว่า “ธรรมประเพณีที่สืบจากอัครสาวก มีความก้าวหน้าภายในพระศาสนจักร มีการเติบโตในความเข้าใจต่อความเป็นจริงและต่อคำพูดที่ได้รับการส่งมอบ ทั้งนี้ อาศัยการช่วยเหลือของพระจิตเจ้า” (สมณธรรมนูญ Dei verbum ว่าด้วยการเผยแสดงของพระเจ้า, ข้อ 8) สภาสังคายนาได้พูดต่อไปถึงหนทาง 3 อย่างที่เกี่ยวข้องกันเอง ซึ่งเป็นหนทางที่พระจิตเจ้าทรงนำทางการพัฒนาของธรรมประเพณีที่มาจากอัครสาวก กล่าวคือ ผลงานของนักเทววิทยา ประสบการณ์ในชีวิตของบรรดาผู้เชื่อ และการกำกับดูแลโดยอำนาจสอนของพระศาสนจักร ท่านทั้งหลายเห็นด้วยกับกระผมหรือไม่ว่า สิ่งนี้ฟังดูคล้ายกับ [วิสัยทัศน์ของ] พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน
โยเซฟ รัทซิงเงอร์ กล่าวไว้ว่า ในความเข้าใจอย่างมีพลวัตต่อธรรมประเพณีนั้น “การที่บางสิ่งบางอย่างมีอยู่ในพระศาสนจักร ไม่ได้เป็นเหตุผลว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นธรรมประเพณีที่ชอบธรรมไปเสียทุกอย่าง กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ธรรมประเพณีในพระศาสนจักรไม่ได้เป็นการเฉลิมฉลองและการธำรงไว้ซึ่งการมีอยู่แห่งพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าที่แท้จริงเสมอไปทุกอย่าง ธรรมประเพณีบางอย่างมีความชอบธรรม ขณะที่ธรรมประเพณีบางอย่างอาจบิดเบี้ยว … ดังนั้น การพิจารณาเกี่ยวกับธรรมประเพณีจะต้องไม่เป็นการน้อมรับเสมอไป แต่จะต้องกระทำในเชิงวิพากษ์ด้วย เราทั้งหลายมีพระคัมภีร์เป็นเกณฑ์วัดสำหรับใช้ในการวิพากษ์ธรรมประเพณี ซึ่งเป็นการกระทำที่ขาดไม่ได้อันนี้ และด้วยเหตุนี้ ธรรมประเพณีจะต้องได้รับการย้อนโยงกลับไปยังพระคัมภีร์ และจะต้องใช้พระคัมภีร์เป็นเกณฑ์วัด [ความชอบธรรมของ]ธรรมประเพณี” (Joseph Ratzinger, “Chapter II: The Transmission of Divine Revelation,” ในหนังสือ Commentary on the Documents of Vatican II. Volume 3, ed. Herbert Vorgrimler, New York: Herder, 1969, หน้า 185) ซึ่งภายในพระดำรัสในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการประกาศใช้ประมวลคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก [3] สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้กล่าวถึงการทำความเข้าใจสองแบบที่มีต่อธรรมประเพณีไว้ว่า “ธรรมประเพณีเป็นความจริงที่มีชีวิต [ดังนั้น] การมองว่า ‘คลังความเชื่อ’ (deposit of faith) เป็นสิ่งคงที่นั้น เป็นแค่มุมมองแต่เพียงด้านเดียว พระวาจาของพระเจ้าจะต้องไม่ถูกเก็บมิดชิดเหมือนกับเป็นผ้าห่มเก่า ๆ ที่ไม่อยากให้แมลงมาแทะกิน ไม่เป็นเช่นนั้น พระวาจาของพระเจ้าเป็นความเป็นจริงที่มีพลวัตและมีชีวิต มีพัฒนาการและเติบโต เพราะว่าพระวาจาเป็นสิ่งที่มุ่งยังการสำเร็จบริบูรณ์ตามเป้าหมาย ซึ่ง [การสำเร็จบริบูรณ์] นี้ไม่มีใครหยุดยั้งได้” [4] (พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ต่อผู้เข้าร่วมการประชุมที่สนับสนุนโดยสมณสภาเพื่อการส่งเสริมการประกาศพระวรสารใหม่ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2017)
การที่สมณธรรมนูญ “Dei verbum” ได้ฟื้นฟูความเข้าใจอย่างมีพลวัตต่อธรรมประเพณี มีศูนย์กลางอยู่ที่การฟื้นฟูความเข้าใจอย่างเน้นตัวบุคคลต่อการเผยแสดงภายในพระคัมภีร์และในงานเขียนของปิตาจารย์ในช่วงศตวรรษแรก ๆ ของพระศาสนจักร การเผยแสดงไม่ได้เป็นเพียงการถ่ายทอดความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ตามที่มีอยู่ในพระคัมภีร์และในคำแถลงข้อเชื่อในยุคสมัยหนึ่ง ๆ ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่บริบทของยุคสมัยนั้น ๆ ได้นำมาตั้งคำถามต่อธรรมประเพณีเท่านั้น เพราะว่าโดยหลักแล้ว การเผยแสดงเป็นการถ่ายทอดความรักของพระเจ้า เป็นการพบปะกับพระเจ้าพระบิดา ภายในพระคริสตเจ้า ผ่านทางพระจิตเจ้า สมณธรรมนูญ Dei verbum ได้พูดถึงการเผยแสดงของพระเจ้าในรูปแบบของมิตรภาพและการพบปะส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของความรักและความจริง กระผมขอยกข้อความหนึ่งจากข้อ 2 ของสมณธรรมนูญ Dei verbum ว่า “อาศัยการเผยแสดงนี้ พระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้ ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อน ด้วยความรักอันล้นเหลือของพระองค์ และประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา เพื่อจะได้ทรงเชิญและรับเขาเข้ามาสนิทกับพระองค์ … อาศัยการเผยนี้ ความจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับพระเจ้า และเกี่ยวกับความรอดพ้นของมนุษย์จึงส่องสว่างให้กับเราเดชะพระเยซูคริสต์ ซึ่งทรงเป็นคนกลาง และทรงเป็นความบริบูรณ์ของการเผยแสดงในเวลาเดียวกันด้วย”
ในคำสอนของสมณธรรมนูญ “Dei verbum” มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจต่อการก้าวเดินไปด้วยกัน และต่อการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการประชุมซีนอดอันนี้ กล่าวคือ การเผยแสดงของพระเจ้าถูกอธิบายว่าเป็นการพบปะต่อเนื่องในปัจจุบันด้วย ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เหตุการณ์การที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เอง (ซึ่งย่อมเป็นการเผยแสดงในพระเยซูคริสต์ ผ่านทางพระจิตเจ้า) และการที่พระองค์ทรงมอบเสนอซึ่งความสัมพันธ์กับพระองค์ ยังคงเป็นความเป็นจริงที่มีชีวิต ในขณะนี้ และในที่แห่งนี้ด้วย สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า [ในอนาคต] อาจมีการเผยแสดงอย่างใหม่เกี่ยวกับว่าพระเจ้าเป็นใคร แต่เป็นการที่พระเจ้าองค์เดิมได้เข้ามามีความสัมพันธ์และพูดคุยกับมนุษย์ในประวัติศาสตร์ ณ ที่นี่ ในตอนนี้ ภายในพระเยซูคริสต์องค์เดิม และอาศัยพระจิตเจ้าองค์เดิมที่เป็นผู้มอบแสงสว่างและพลัง การที่พระเจ้ากระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่มีความใหม่อยู่ตลอดเวลา และเป็นสิ่งที่ผลักดันมนุษย์ให้มีความเข้าใจใหม่ ๆ ให้ตั้งคำถามใหม่ ๆ และมีความรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้งภายในวัฒนธรรมและสถานที่ที่หลากหลาย ขณะที่พระศาสนจักรทั่วโลกกำลังเดินทางผ่านกาลเวลามุ่งสู่อนาคตที่เรายังไม่รู้ ตราบจนถึงวันสิ้นพิภพ
เราสามารถเห็นถึงความเป็นปัจจุบันของการพูดคุยระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ได้ภายในคำสอนข้อ 8 ของสมณธรรมนูญ Dei verbum ว่า “พระเจ้าผู้ตรัสในกาลก่อน ยังไม่ทรงเลิกสนทนากับเจ้าสาวของพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ [คือพระศาสนจักร] ต่อไป และพระจิตเจ้าซึ่งโปรดให้เสียงทรงชีวิตแห่งพระวรสารดังก้องในพระศาสนจักรและดังก้องไปทั่วโลกผ่านทางพระศาสนจักร ทรงชักนำผู้เชื่อให้รู้ความจริงทั้งปวง และทรงทำให้พระวาจาของพระเยซูคริสต์พำนักอยู่ในตัวเขาอย่างอุดมบริบูรณ์” ดังนั้น อย่างที่รัทซิงเกอร์ได้กล่าวไว้ว่า คำสอนในสมณธรรมนูญ Dei verbum ได้ทำให้เรามี “ความเข้าใจต่อการเผยแสดง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมองว่าการเผยแสดงเป็นการพูดคุยเสวนา … การอ่านพระคัมภีร์ถูกอธิบายว่าเป็นการพูดคุยระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ การพูดคุยของพระเจ้าย่อมมีอยู่ในปัจจุบันเสมอ และมาจากเจตนาที่บังคับให้เราต้องตอบสนองต่อพระองค์” [5] (Ratzinger, Joseph. “Chapter I: Revelation Itself.” ในหนังสือ Commentary on the Documents of Vatican II. Volume 3, edited by Herbert Vorgrimler, หน้า 171)
การประชุมซีนอดนี้เป็นการพูดคุยกับพระเจ้า นี่เป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายให้ท่านทั้งหลาย “สนทนาในพระจิตเจ้า” พระเจ้าทรงรอคอยคำตอบจากท่านทั้งหลาย เมื่อการสรุปในสัปดาห์นี้สิ้นสุดลง ท่านอาจอยากจะเริ่มบทสรุปของท่านโดยกล่าวเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่มีการประชุมสังคายนาที่เยรูซาเล็ม ที่มีการบรรยายไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 15 ว่า “พระจิตเจ้าและพวกเราตกลง…” ในสมัยของพวกเขา [ที่ประชุมสังคายนาที่เยรูซาเล็มได้ออก] จดหมายไปถึงพระศาสนจักรในที่ต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาที่พระเยซูคริสต์ไม่ได้ตรัสชี้ทางไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ผู้คนในสภาสังคายนา พร้อมด้วยพระจิตเจ้า ต้องหาทางนำพระวรสารของพระเยซูคริสต์มาประยุกต์เพื่อหาคำตอบต่อคำถามใหม่ที่ไม่มีใครเคยเล็งเห็นก่อนหน้านั้น
ในทำนองเดียวกัน สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้เรียกร้องให้พระศาสนจักรตื่นตัวอยู่เสมอต่อความเคลื่อนไหวของพระเป็นเจ้า ผู้ทรงเผยแสดงและช่วยมนุษย์ให้รอด ผู้ทรงประทับอยู่และทรงทำกิจการต่าง ๆ ภายในความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ คือเป็นการที่สภาสังคายนาวาติกันที่สองเรียกร้องให้พระศาสนจักรเฝ้าสังเกต “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” โดยอาศัยแสงสว่างของพระวรสารที่มีชีวิต [6] (สมณธรรมนูญ Gaudium et spes ว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยใหม่, ข้อ 4, เทียบข้อ 11) การไตร่ตรองแยกแยะเครื่องหมายแห่งกาลเวลาในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มุ่งจะรับรู้ว่าพระเจ้าทรงกระตุ้นให้เรามองเห็นอะไรในยุคใหม่นี้ผ่านทางสายพระเนตรของพระเยซูคริสต์ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้เราระวังกับดักที่อาจฉุดพาเราให้คิดในวิธีที่ไม่ใช่วิธีคิด “ของพระเจ้า” กับดักอันนี้อาจมาในรูปของการยึดติดกับอดีตเพียงอย่างเดียว หรือยึดติดกับปัจจุบันเพียงอย่างเดียว หรือไม่เปิดกว้างต่อความจริงครบบริบูรณ์ของพระเจ้าในอนาคตซึ่งเป็นทิศทางที่พระจิตเจ้าแห่งความจริงกำลังนำพาพระศาสนจักรไป การไตร่ตรองแยกแยะว่าอะไรเป็นโอกาส อะไรเป็นกับดัก เป็นงานของผู้เชื่อทุกคน ทั้งฆราวาส บิชอป นักเทววิทยา ทุกคน ดังที่ข้อ 44 ของสมณธรรมนูญ “Gaudium et spes” [ว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยใหม่] ได้สอนไว้ว่า “โดยอาศัยความช่วยเหลือของพระจิตเจ้า เป็นหน้าที่ของประชากรของพระเจ้าทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อภิบาลและนักเทววิทยา ที่จะรับฟัง แยกแยะ และตีความเสียงมากมายในยุคสมัยของเรา และวินิจฉัยเสียงเหล่านั้นด้วยแสงสว่างจากพระวาจาของพระเจ้า เพื่อที่ความจริงที่ได้รับการเผยแสดงแล้วจะมีอิทธิพลลึกซึ้งมากขึ้น เป็นที่เข้าใจได้ดีขึ้น และก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากยิ่งขึ้นอยู่เสมอ” [7] อันว่า “ความจริงที่ได้รับการเผยแสดงแล้ว” นี้ คือบุคคล กล่าวคือ องค์พระเยซูคริสต์ ดังนั้น ขณะที่เรากำลังจะไตร่ตรองแยกแยะเพื่อสรุปในขั้นสุดท้าย ขอให้ถ้อยคำในจดหมายถึงชาวฮีบรู บทที่ 12 ข้อ 2 ว่า “จงเพ่งมองไปยังพระเยซูคริสตเจ้า” จงเป็นสิ่งที่ตักเตือนและนำทางเราทั้งหลาย
**********
บรรณานุกรม
Meyer, Albert Cardinal. “The Defects of Tradition.” In Third Session Council Speeches of Vatican II, edited by William K. Leahy and Anthony T. Massimini, 79–80. Glen Rock, N.J.: Paulist Press, 1966.
Ratzinger, Joseph. “Chapter I: Revelation Itself.” In Commentary on the Documents of Vatican II. Volume 3, edited by Herbert Vorgrimler, 170–80. New York: Herder, 1969.
———. “Chapter II: The Transmission of Divine Revelation.” In Commentary on the Documents of Vatican II. Volume 3, edited by Herbert Vorgrimler, 181-98. New York: Herder, 1969.
———. Theological Highlights of Vatican II. New York: Paulist Press, 2009.
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บบทความในการรำพึงจากนักเทววิทยาเกี่ยวกับซีนอดมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)