การเสด็จเยือนประเทศมองโกเลียของพระสันตะปาปาฟรานซิส ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2023


มัตเตโอ บรูนี่:

สวัสดีตอนบ่ายทุกคน และขอขอบคุณสันตะบิดร สำหรับหลายวันที่ผ่านมานี้ ซึ่งเต็มไปด้วยการพบปะกับผู้คนมากมาย ซึ่งพระองค์อธิบายว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ทว่ามีความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมและมีพื้นที่ขนาดใหญ่ พร้อมกับชุมชนคริสตชนที่มีชีวิตชีวา ซึ่งเป็นพยานถึงความเชื่ออันเปี่ยมด้วยความสดใส บรรดานักข่าวให้ความสนใจต่อสถานที่นี้เป็นอย่างมาก และเมื่อได้เห็นด้วยตนเองแล้ว นักข่าวเหล่านี้ยังคงมีคำถามที่อยากจะทูลถามพระองค์

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

สวัสดีตอนบ่ายทุกท่าน และขอขอบคุณพวกท่าน ขอขอบคุณสำหรับการทำงานของพวกท่าน ขอให้บรรดาสื่อต่าง ๆ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาตินี้ด้วย ขอขอบคุณมาก

มัตเตโอ บรูนี่:

สันตะบิดร คำถามแรกมาจากนักข่าวชาวมองโกเลียน คุณดัมบาดาร์จา

จาร์กัลไซคาน ดัมบาดาร์จา (จากหนังสือพิมพ์ The Defacto Gazette):

ขอขอบคุณพระองค์มากสำหรับการมาเยือนประเทศมองโกเลีย คำถามของกระผมคือ : จุดประสงค์หลักของพระองค์ในการเสด็จเยือนคืออะไร และพระองค์ทรงพอพระทัยกับการที่ได้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่ ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

แน่นอน ความคิดที่ไปเยือนประเทศมองโกเลียเกิดขึ้น ในขณะที่พ่อคิดถึงชุมชนแห่งความเชื่อคาทอลิกเล็ก ๆ จุดประสงค์ของพ่อในเดินทางครั้งนี้ คือเพื่อเยี่ยมชมชุมชนชาวคาทอลิก และเพื่อร่วมเสวนาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประชาชนประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเสวนาเรียนรู้ทางด้านจิตวิญญาณของพวกเขา ทั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่การประกาศข่าวดีต้องไม่ถือว่าเป็นการชักชวนให้ใครเปลี่ยนศาสนา เพราะว่าการชักชวนให้ใครเปลี่ยนศาสนาเป็นสิ่งที่มีขีดจำกัดอยู่เสมอ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ตรัสว่าความเชื่อ/ความศรัทธาไม่ได้เติบโตโดยการชักชวนใครให้เปลี่ยนศาสนา แต่เป็นการดึงดูดใจ การประกาศข่าวดีต้องเข้าสู่การเสวนากับวัฒนธรรม ซึ่งการประกาศวัฒนธรรมและการนำข่าวดีเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย (Inculturation) เป็นสองสิ่งที่คริสตชนได้แสดงคุณค่าที่ตนยึดถือผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน สิ่งนี้เป็นสิ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการล่าอาณานิคมทางศาสนา สำหรับพ่อแล้ว การเดินทางครั้งนี้คือการทำความรู้จักกับผู้คนในประเทศมองโกเลีย การได้เสวนากับพวกเขา สัมผัสวัฒนธรรมของพวกเขา และร่วมเดินทางเคียงข้างไปกับพระศาสนจักรท่ามกลางผู้คนเหล่านี้ ด้วยความเคารพและวัฒนธรรมของพวกเขา พ่อพอใจกับผลลัพธ์ในการเยือนครั้งนี้

มัตเตโอ บรูนี่:

สันตะบิดร คำถามที่สองมาจากคุณมาร์ฮาคู (Markhaakhuu) จากโทรทัศน์มองโกเลีย

อุลัมบาดราค มาร์ฮาคู (ช่อง ULS Suld TV)

ดังที่หลายคนพูดกันทุกวันนี้ ความขัดแย้งในอารยธรรมของเรา ควรได้รับการแก้ไขผ่านการเสวนาเท่านั้น ดังที่ฝ่าพระบาทตรัสไว้ อูลานบาตอร์สามารถเป็นเวทีสำหรับการเจรจาระหว่างประเทศระหว่างยุโรปและเอเชียได้หรือไม่ ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

พ่อเชื่อว่าสามารถเป็นได้ คำถามของท่านน่าสนใจมาก ซึ่งเป็นคำถามที่ส่งเสริมการเสวนาดังกล่าวอีกด้วย พ่อเรียกสิ่งนี้ว่า “ความล้ำลึกของเพื่อนบ้านที่สาม” ซึ่งช่วยให้พวกท่านสามารถปฏิบัติตามนโยบาย “เพื่อนบ้านที่สาม” เมื่อพิจารณาว่าอูลานบาตอร์เป็นเมืองหลวงของประเทศที่อยู่ห่างไกลจากทะเลมาก พวกเราสามารถพูดได้ว่าดินแดนของท่านตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจสองอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ กล่าวคือ ประเทศรัสเซียและประเทศจีน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความล้ำลึกของพวกท่านคือการพยายามเจรจากับ “เพื่อนบ้านที่สาม” ของพวกท่าน ซึ่งไม่ใช่การดูหมิ่นสองประเทศเพื่อนบ้านนี้ เนื่องจากพวกท่านมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาทั้งสอง แต่เป็นการปรารถนาความเป็นสากล เพื่อแสดงค่านิยมของพวกท่านต่อที่มีต่อประชาคมโลก และรับเอาค่านิยมจากผู้อื่นเพื่อเข้าสู่การเสวนา เป็นที่น่าสงสัยว่าในประวัติศาสตร์ การออกไปแสวงหาดินแดนอื่นมักสับสนกับลัทธิล่าอาณานิคม ไม่ก็ความคิดที่จะออกไปยึดครอง แต่ทว่าด้วยความล้ำลึกของเพื่อนบ้านที่สามนี้ พวกท่านมีปรัชญาในการออกไปแสวงหาผู้อื่นเพื่อพูดคุย พ่อชอบสำนวนการแสดงออกของเพื่อนบ้านที่สามนี้มาก ซึ่งเป็นความมั่งคั่งของพวกท่าน

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอขอบพระคุณสันตะบิดร คำถามที่สามมาจากคริสตินา คาเปรจาส์ (Cristina Cabrejas) จากสำนักข่าว EFE

คริสติน่า คาเปรจาส์ (สำนักข่าว EFE)

สวัสดีตอนบ่ายค่ะสันตะบิดร นี่คือคำถามจากประชาคมภาษาสเปน เมื่อวานพระองค์ส่งสาส์นถึงชาวจีน และพระองค์ขอให้ชาวจีนคาทอลิกเป็นพลเมืองดี หลังจากที่ผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองของประเทศไม่อนุญาตให้บิชอปชาวจีนเดินทางมาประเทศมองโกเลีย ความสัมพันธ์กับประเทศจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร ? และมีข่าวเกี่ยวกับการเยือนปักกิ่งของพระคาร์ดินัลซุปปี (Zuppi) ซึ่งเกี่ยวข้องกับภารกิจของท่านคาร์ดินัลในประเทศยูเครนหรือไม่ ? ขอบคุณค่ะ

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

ภารกิจของพระคาร์ดินัลซุปปีคือภารกิจแห่งสันติภาพ ซึ่งพ่อมอบหมายให้ ท่านคาร์ดินัล จึงจัดโปรแกรมเยือนกรุงมอสโก กรุงเคียฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกรุงปักกิ่ง พระคาร์ดินัลซุปปีเป็นบุคคลที่สามารถเสวนาได้อย่างยอดเยี่ยม และมีประสบการณ์ระดับสากล ภูมิหลังของพระคาร์ดินัล ประกอบด้วยการเจรจาเพื่อสันติภาพในประเทศโมซัมบิก และนั่นคือเหตุผลที่พ่อส่งท่านไป พ่อให้ความเคารพนับถือมากกับความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยส่วนตัวแล้วพ่อมีความชื่นชมชาวจีนเป็นอย่างมาก การเสวนานั้นต้องถือว่าเปิดกว้างมาก… เกี่ยวกับการแต่งตั้งบิชอป เรามีคณะกรรมาธิการที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนและวาติกันมาเป็นเวลานาน นั่นคือการเสวนา จากนั้นก็มีนักบวชคาทอลิกหรือปัญญาชนคาทอลิกหลายคนที่มักได้รับเชิญให้ไปสอนในมหาวิทยาลัยของจีน ในแง่นี้มีการเสวนาที่เปิดกว้าง พ่อคิดว่าพวกเราต้องก้าวไปข้างหน้าในด้านศาสนาเพื่อที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันดีขึ้น เพื่อที่ชาวจีนจะได้ไม่คิดว่า พระศาสนจักรไม่ยอมรับวัฒนธรรมและค่านิยมของพวกเขา หรือว่าพระศาสนจักรขึ้นอยู่กับอำนาจประเทศอื่น เส้นทางที่เป็นมิตรนี้ได้รับการสื่อสารถึงกันอย่างดีจากคณะกรรมาธิการที่นำโดยพระคาร์ดินัลปาโรลิน พวกเขาทำงานได้อย่างดี และเช่นเดียวกันกับในฝั่งของรัฐบาลจีน พ่ออยากจะบอกว่าความสัมพันธ์กำลังก้าวไปข้างหน้า พ่อมีความเคารพต่อชาวจีนเป็นอย่างมาก แล้วมีอะไรอีกนะที่เธอได้ถามพ่อ ?

มัตเตโอ บรูนี่:

มีข่าวคราวเกี่ยวกับภารกิจของพระคาร์ดินัลซุปปีหรือไม่ ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

พ่อพูดถึงเรื่องนั้นในตอนแรกแล้ว ขอคำถามต่อไป

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอบพระคุณสันตะบิดร คำถามที่สี่มาจากเจอร์รี่ โอ คอนเนล (Gerry O’Connell )จากนิตยสารอเมริกา

เจอราร์ด โอ คอนแนลล์ (นิตยสารอเมริกา)

สันตะบิดรครับ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสันตะสำนักและเวียดนามค่อนข้างดี และได้ก้าวไปข้างหน้าอย่างน่าทึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาวคาทอลิกชาวเวียดนามจำนวนมากจึงขอร้องให้พระองค์เสด็จไปเยี่ยมพวกเขาบ้าง เช่นเดียวกับที่พระองค์เสด็จประเทศมองโกเลีย คำถามของกระผมคือ : ขณะนี้เป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะเสด็จเยือนเวียดนาม ? พระองค์ได้รับคำเชิญจากรัฐบาลหรือไม่ ? และพระองค์กำลังมีโปรแกรมในการเดินทางอะไรอีกบ้าง ? ขอบคุณครับ

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

เวียดนามเป็นหนึ่งในประสบการณ์การเสวนาที่ดีที่พระศาสนจักรมีในช่วงไม่นานที่ผ่านมา พ่ออยากบอกว่านี่เหมือนกับความรักซึ่งกันและกันในการเสวนา ทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาดีที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันและมองหาหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้า แม้มีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ทว่าในประเทศเวียดนาม พ่อเห็นว่าไม่ช้าก็เร็วปัญหาต่าง ๆ ก็จะหมดไป เมื่อไม่นานนี้เราคุยกันอย่างเสรีกับประธานาธิบดีเวียดนาม พ่อคิดในแง่บวกมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเวียดนาม งานต่าง ๆ ได้ดำเนินอย่างราบรื่นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว พ่อจำได้ว่าประมาณสี่ปีที่แล้ว สมาชิกรัฐสภาเวียดนามกลุ่มหนึ่งมาเยี่ยมพ่อ เรามีการเสวนาที่ดีต่อกัน ให้ความเคารพกันอย่างมาก เมื่อวัฒนธรรมเปิดกว้าง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเสวนา หากวัฒนธรรมปิดหรือสงสัยกัน การเสวนาจะดำเนินไปยากมาก สำหรับเวียดนาม การเจรจาเปิดกว้าง มีขึ้นมีลง แต่เปิดกว้างและก้าวไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ มีปัญหาบางอย่างแต่ก็ได้รับการแก้ไขแล้ว ส่วนการเดินทางไปเยือนเวียดนาม ถ้าพ่อไม่สามารถเดินทางไปได้ จอห์นที่ 24  (John XXIV) จะไปแน่นอน ! จะมีการเยือนแน่นอนเพราะเป็นดินแดนที่สมควรต่อการไปเยือนและเป็นที่รักของพ่อ ส่วนการเดินทางอื่น ๆ มีเมืองมาร์เซย์ จากนั้นพ่อกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในยุโรปจะมีความเป็นไปได้ แต่จริง ๆ แล้วสำหรับพ่อ การเดินทางตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนตอนเริ่มต้น การเดินนั้นเป็นเรื่องที่จำกัด ซึ่งนั่นก็ได้จำกัดตัวพ่อ แต่เราค่อย ๆ ดูกัน

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอขอบพระคุณ สันตะบิดร คำถามต่อไปมาจากเฟาสโต กาสปาร์โรนี (Fausto Gasparroni) จากสำนักข่าว ANSA และกลุ่มนักข่าวชาวอิตาเลียน

เฟาสโต กัสปาร์โรนี่ (ANSA)

สันตะบิดร ครับ กระผมถามคำถามนี้ในนามของกลุ่มผู้ที่พูดภาษาอิตาเลียน คำพูดล่าสุดของพระองค์ต่อหนุ่มสาวคาทอลิกชาวรัสเซียเกี่ยวกับ “รัสเซียมารดาผู้ยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นมรดกของบุคคลสำคัญเช่นพระเจ้าปีเตอร์มหาราชและแคทเธอรีนที่ 2 ได้กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายกันหนาหู ความคิดเห็นเหล่านี้สร้างความกังวลใจให้กับชาวยูเครนอย่างมาก และยังส่งผลกระทบทางการทูตด้วย นอกจากนี้ยังถูกมองว่าเกือบจะเป็นการยกย่องลัทธิจักรวรรดินิยมรัสเซีย และเป็นการรับรองนโยบายของประธานาธิบดีปูติน กระผมอยากจะถามพระองค์ว่า : ทำไมพระองค์ถึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องกล่าวคำพูดเหล่านั้น พระองค์ได้ไตร่ตรองถึงความเหมาะสมในการทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ พระองค์จะพูดซ้ำไหม ? นอกจากนี้ เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ ชัดเจน พระองค์ช่วยบอกพวกเราหน่อยได้ไหมว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับจักรวรรดินิยมรัสเซีย ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส :

เรามาพูดถึงบริบทกัน : นี่เป็นบทสนทนากับคนหนุ่มสาวชาวรัสเซีย และในตอนท้ายของบทสนทนา พ่อได้ส่งข้อความถึงพวกเขา ซึ่งเป็นข้อความที่พ่อย้ำอยู่เสมอ : พวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบมรดกของพวกเขา ประเด็นแรกคือ : แบกรับมรดกของพวกท่าน พ่อพูดเรื่องเดียวกันนี้ทุกที่ และด้วยเหตุนี้ พ่อจึงพยายามสร้างบทสนทนาระหว่างปู่ย่าตายายกับหลาน โดยหลานจะยอมรับมรดกของบรรพบุรุษ พ่อพูดสิ่งนี้ทุกที่และนั่นคือข้อความ ประการที่สอง เพื่อชี้แจงมรดกนั้นให้กระจ่างแจ้ง พ่อได้พูดถึงแนวคิดเรื่องรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ เพราะมรดกของรัสเซียนั้นดีมาก สวยงามมาก ลองพิจารณาถึงวรรณกรรม ดนตรี โดยย้อนกลับไปที่ดอสโตเยฟสกี ซึ่งทุกวันนี้พวกเราได้ยืนถึงลัทธิมนุษยนิยมที่สมบูรณ์ พวกเขารับเอาลัทธิมนุษยนิยม ซึ่งได้พัฒนาด้านศิลปะและวรรณกรรม นี่คงเป็นแง่มุมที่สองเมื่อพ่อพูดถึงมรดกของพวกเขา ประเด็นที่สามบางทีอาจไม่เหมาะสม แต่เมื่อพูดถึงรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ซึ่งไม่ใช่ในแง่ภูมิศาสตร์ แต่เป็นในแง่วัฒนธรรม พ่อจำสิ่งที่เราเรียนที่โรงเรียนเกี่ยวกับปีเตอร์ที่ 1 และแคทเธอรีนที่ 2 ดังนั้นประเด็นที่สามนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก พ่อไม่รู้สินะ นักประวัติศาสตร์สามารถบอกเราได้ แต่นี่เป็นความคิดเพิ่มเติมที่เข้ามาในความคิดของพ่อ เพราะพ่อเคยเรียนที่โรงเรียน แต่พ่อบอกคนหนุ่มสาวชาวรัสเซียให้ดูแลมรดกของพวกเขา แบกรับมรดกของพวกเขา ซึ่งก็คืออย่า “ซื้อ” มรดกมาจากที่อื่น สืบทอดมรดกของพวกท่าน และมรดกอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียที่เหลืออยู่คืออะไร ? วัฒนธรรมรัสเซียมีความงดงามและลึกซึ้ง และไม่ควรยกเลิกเนื่องจากปัญหาทางการเมือง รัสเซียเผชิญกับปีที่มืดมน แต่ทว่ามรดกของรัสเซีย (วัฒนธรรม) ยังคงยืนหยัด

ท่านได้พูดถึงลัทธิจักรวรรดินิยม ในความเป็นจริง พ่อไม่ได้คิดถึงเรื่องจักรวรรดินิยมเมื่อพ่อพูด พ่อกำลังพูดถึงวัฒนธรรม และการถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งไม่ได้เป็น “ลัทธิจักรวรรดินิยม” ไม่เคยเป็นเลย แต่ทว่าวัฒนธรรมเป็นบทสนทนามาโดยตลอด และพ่อก็พูดถึงเรื่องนั้น เป็นความจริงที่ว่ามีจักรวรรดินิยมจำนวนหนึ่งที่ต้องการบังคับใช้อุดมการณ์ของตน ซึ่งพ่อจะหยุดอยู่แค่นั้น เมื่อวัฒนธรรมถูก “กลั่น” และกลายเป็นอุดมการณ์ มันก็กลายเป็นพิษ : วัฒนธรรมถูกนำมาใช้และกลั่นเป็นอุดมการณ์ เราต้องแยกแยะวัฒนธรรมของประชาชนออกจากอุดมการณ์ที่มาจากนักปรัชญาหรือนักการเมือง และพ่อพูดสิ่งนี้แก่ทุกคน รวมถึงพระศาสนจักรด้วย ภายในพระศาสนจักรมักจะมีอุดมการณ์ ซึ่งแยกพระศาสนจักรออกจากชีวิต ชีวิตที่งอกงามจากรากเหง้าและเติบโตสูงขึ้น อันเป็นอุดมการณ์ที่แยกพระศาสนจักรออกจากการดลใจของพระจิต อุดมการณ์ไม่สามารถมีตัวตนได้ อุดมการณ์เป็นเพียงแค่ความคิด เมื่ออุดมการณ์รวบรวมกับพลังอำนาจและกลายเป็นการเมือง มันก็มักจะกลายเป็นเผด็จการ ไม่สามารถเจรจาได้ และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับวัฒนธรรม และนั่นคือกรณีของลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยมเติบโตจากฐานทางอุดมการณ์เสมอ เช่นเดียวกับในพระศาสนจักร พวกเราต้องแยกแยะระหว่างหลักคำสอนและอุดมการณ์ : หลักคำสอนที่แท้จริงไม่ใช่อุดมการณ์ ไม่ได้เป็นอุดมการณ์เลย หลักคำสอนตั้งอยู่บนกลุ่มคนที่ซื่อสัตย์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ในทางตรงกันข้าม อุดมการณ์แยกตัวออกจากความเป็นจริง ออกจากประชาชน… ไม่รู้ว่าพ่อตอบคำถามของท่านหรือเปล่า

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอบพระคุณ สันตะบิดร คำถามต่อไปมาจากโรเบิร์ต เมสส์เนอร์ (Robert Messner) จากสำนักข่าว DPA

โรเบิร์ต เมสเนอร์ (DPA)

สวัสดีตอนบ่ายครับสันตะบิดร คำถามเกี่ยวกับการอัปเดตสมณสาส์นเวียน “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (Laudato Si)’” ของพระองค์ : กระผมต้องการถามว่าการมีส่วนร่วมของพระองค์ในการปกป้องพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการอัปเดตนี้อาจเข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงความสามัคคีกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เช่น “กลุ่มชนยุคสุดท้าย/The Last Generation” ซึ่งจัดการประท้วงที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย อาจมีข้อความเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ที่ออกไปเดินบนถนนในสมณสาส์นเวียนใหม่ด้วยใช่ไหม ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

โดยทั่วไปแล้ว พ่อไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มสุดโต่ง แต่วัยรุ่นกลับกังวลเพราะนี่คืออนาคตของพวกเขา ! เมื่อเรามีการประชุมที่สถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาคนหนึ่ง ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่งดงาม และเขาก็ได้ปิดท้ายโดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากให้หลานสาวของข้าพเจ้าที่เกิดเมื่อวานนี้ อยู่ในโลกที่น่าเกลียดในสามสิบปีข้างหน้า” คนหนุ่มสาวคิดถึงอนาคต และพ่อก็ชอบให้พวกเขาต่อสู้อย่างดี แต่ก้าวต่อไป เมื่ออุดมการณ์หรือแรงกดดันทางการเมืองเข้าครอบงำ หรือถูกใช้เพื่อจุดประสงค์เหล่านั้น สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยดี สมณสาส์นของพ่อที่จะเผยแพร่ในวันฉลองนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีในวันที่ 4 ตุลาคม นี้ เป็นการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การประชุม COP ที่กรุงปารีส ซึ่งอาจจะเกิดผลมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน มีการอัปเดตบางประการเกี่ยวกับการประชุม COP ต่าง ๆ และบางสิ่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เอกสารของพ่ออาจจะไม่ได้ยาวเท่ากับสมณสาส์นเวียน “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” ทว่ากำลังเขียนสมณสาส์นเวียน “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” ให้เข้าสู่เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นสมณสาส์นเวียนที่วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันด้วย

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอบคุณสันตะบิดร คำถามต่อไปมาจากนักข่าวกลุ่มที่พูดภาษาฝรั่งเศสจากเอเตียน ลอเรลแยร์ (Etienne Loraillère)

เอเตียน ลอเรลแยร์ (KTO TV)

สวัสดีตอนบ่าย สันตะบิดร พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้พระศาสนจักรก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodal Church) ทั้งในประเทศมองโกเลียและทั่วโลก การประชุมใหญ่เดือนตุลาคมเป็นผลจากงานของประชากรของพระเจ้าอยู่แล้ว ผู้รับพิธีล้างบาปจากทั่วโลกจะมีส่วนร่วมในระยะต่อไปนี้ได้อย่างไร ? จะหลีกเลี่ยงการเป็นอัมพาตทางอุดมการณ์ได้อย่างไร ? และผู้เข้าร่วมสามารถพูดและแบ่งปันต่อสาธารณะถึงสิ่งที่พวกเขากำลังประสบเพื่อก้าวเดินไปด้วยกันได้หรือไม่ ? หรือกระบวนการทั้งหมดจะเป็นแบบส่วนตัว?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

ท่านพูดถึงวิธีหลีกเลี่ยงการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์ ไม่มีที่สำหรับอุดมการณ์ในสภาซีนอดเนื่องจากมีแรงขับเคลื่อนพลวัตที่แตกต่างออกไป ซีนอดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสวนา: ในหมู่ผู้รับพิธีล้างบาป, ในหมู่สมาชิกของพระศาสนจักร, ชีวิตของพระศาสนจักร, การเสวนากับโลก, เกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ถ้าเราคิดในทางอุดมการณ์แล้วซีนอดก็จบ ! ไม่มีพื้นที่สำหรับอุดมการณ์ในซีนอด มีแต่เพียงพื้นที่สำหรับการเสวนา พูดคุยกัน ในฐานะพี่น้อง และอภิปรายหลักคำสอนของพระศาสนจักร เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันต่อไป พ่อต้องการย้ำว่าซีนอดนี้ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของพ่อ แต่เป็นนักบุญเปาโลที่ 6 ที่ได้ตระหนักในบทสรุปของสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่สองว่า ในโลกตะวันตก พระศาสนจักรได้สูญเสียมิติของการก้าวเดินไปด้วยกันแล้ว ในขณะที่พระศาสนจักรในภาคตะวันออกยังคงมีอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงก่อตั้งสำนักเลขาธิการของซีนอดแห่งบรรดาบิชอป ซึ่งในช่วงหกสิบปีมานี้ ได้ดำเนินการไตร่ตรองต่อไปในลักษณะของซีนอด ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ก้าวไปข้างหน้า ในวันครบรอบปีที่ห้าสิบของการตัดสินใจของนักบุญเปาโลที่ 6 พ่อได้ลงนามและตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับซีนอดคืออะไรและได้รับการพัฒนาอย่างไร บัดนี้ซีนอดได้ก้าวต่อไป เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น และด้วยเหตุนี้ พ่อจึงคิดว่าการมีซีนอดเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรจะมีความสำคัญมาก ซึ่งไม่ใช่แฟชั่นที่ตกยุคไปแล้ว แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโบราณ ซึ่งพระศาสนจักรในโลกตะวันออกยังคงเก็บรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ ทั้งนี้เราจะดำเนินชีวิตแบบคริสตชนที่แท้จริงซึ่งพ่อเคยบอกไปแล้วโดยไม่ยอมแพ้ต่ออุดมการณ์อย่างไร ? พ่อไม่แน่ใจว่าพ่อได้ตอบคำถามแล้วหรือไม่ หรือมีอะไรอย่างอื่นอีกไหม…

เอเตียน ลอเรลแยร์

การประชุมซีนอดจะจัดขึ้นแบบส่วนตัวหรือไม่?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

สิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาไว้คือบรรยากาศของสมาชิกซีนอด ไม่ใช่รายการทีวีที่ผู้คนพูดคุยกันทุกเรื่อง ไม่ใช่เลย ! เป็นช่วงเวลาทางศาสนา ช่วงเวลาแห่งการแลกเปลี่ยนทางศาสนา พ่อคิดว่าในการประชุมซีนอด สมาชิกของซีนอดจะพูดคนละสามถึงสี่นาที จากนั้นจะมีการนิ่งเงียบสามถึงสี่นาทีเพื่ออธิษฐาน จากนั้นการไตร่ตรองแบ่งปันอีกสามครั้งและการอธิษฐานภาวนา หากปราศจากวิญญาณแห่งการอธิษฐานนี้ ก็ไม่มีการประชุมซีนอด นั่นจะกลายเป็นการเมืองและระบอบรัฐสภา ซีนอดไม่ใช่รัฐสภา เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของการสนทนา : จะมีแผนกหนึ่งที่นำโดย ดร. รุฟฟินี ซึ่งอยู่ที่นี่ และจะออกข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการก้าวเดินไปด้วยกัน ในการประชุมซีนอด จำเป็นต้องปกป้องลักษณะการเลื่อมใสในทางศาสนาและปกป้องเสรีภาพของผู้พูด โดยจะมีคณะกรรมการ ซึ่งมี ดร. รุฟฟินีเป็นประธาน และจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของซีนอด

มัตเตโอ บรูนี่:

คำถามต่อไปคือจากอันโตนิโอ เปลาโย (Antonio Pelayo) ผู้ซึ่งพระองค์รู้จักดี จากวิดา นูเอวา (Vida Nueva)

อันโตนิโอ เปลาโย่ (Vida Nueva)

สันตะบิดา ครับ พระองค์เพิ่งตรัสเกี่ยวกับซีนอด และเราทุกคนเห็นด้วยกับพระองค์ว่าซีนอดนี้ดึงดูดความสนใจเป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่เรื่องนี้ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากชาวคาทอลิกหลายกลุ่ม ในที่นี้ กระผมกำลังหมายถึงหนังสือที่มีบทนำของพระคาร์ดินัล เบิร์ก ที่กล่าวว่าซีนอดคือ “กล่องแพนโดร่า” ซึ่งนำพาความหายนะมาสู่พระศาสนจักร พระองค์ทรงคิดอย่างไรกับมุมมองดังกล่าว ? พระองค์ทรงคิดว่าคำกล่าวนั้นจะถูกเอาชนะโดยความเป็นจริง หรืออาจมีอิทธิพลต่อการประชุมซีนอดหรือไม่ ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

พ่อไม่รู้ว่าพ่อเคยพูดเรื่องนี้มาก่อนแล้วหรือยัง เมื่อไม่กี่เดือนก่อน พ่อได้โทรศัพท์หานักพรตคาร์เมไลท์คนหนึ่ง และพูดกับคุณแม่อธิการิณีว่า “บรรดานักพรตเป็นอย่างไรบ้าง ท่านแม่อธิการิณี” เธอเป็นนักพรตคาร์เมไลต์ที่ไม่ได้เป็นชาวอิตาเลียน และในที่สุดเธอก็ตอบว่า : “สันตะบิดร พวกเรามีความกังวลเกี่ยวกับซีนอด” พ่อพูดติดตลกว่า “ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นหรือ ? คุณแม่ต้องการส่งซิสเตอร์ไปที่การประชุมซีนอดหรือไม่ ?” “ไม่ค่ะ พวกเรากลัวว่าพระองค์จะเปลี่ยนหลักคำสอน” และนี่คือสิ่งที่เธอพูด เธอมีความคิดเช่นนี้… แต่ถ้าพวกท่านพิจารณาจากพื้นฐานของแนวคิดเหล่านี้ พวกท่านจะค้นพบอุดมการณ์ในพระศาสนจักร เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนต้องการโจมตีเส้นทางแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเป็นการโจมตีทางอุดมการณ์เสมอ และพวกเขากล่าวหาพระศาสนจักรในเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่พวกเขาไม่เคยกล่าวหาพระศาสนจักรจริง ๆ ว่าพระศาสนจักรประกอบด้วยคนบาป พวกเขาไม่เคยพูดถึงคนบาป พวกเขาปกป้อง “หลักคำสอน” ซึ่งเป็นหลักคำสอน อันเปรียบเสมือนน้ำกลั่นที่ไม่มีรสชาติ และไม่ใช่หลักคำสอนคาทอลิกที่แท้จริงซึ่งอยู่ในข้อความเชื่อ และบ่อยครั้งที่หลักคำสอนคาทอลิกที่แท้จริงสร้างความอื้อฉาว ความคิดที่ว่าพระเจ้ากลายเป็นเนื้อหนัง พระเจ้ากลายเป็นมนุษย์ ความคิดที่แม่พระทรงรักษาพรหมจรรย์เป็นเรื่องอื้อฉาวเพียงใด ? สิ่งนี้เป็นเรื่องสะดุด หลักคำสอนของคาทอลิกบางครั้งทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว อุดมการณ์ล้วนเป็นการกลั่นแกล้ง ไม่เคยสร้างเรื่องสะดุด

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอบพระคุณสันตะบิดร บางที ณ จุดนี้เรา “เปลี่ยนผู้เฝ้าคอย” อีกครั้งได้ กระผมขอเชิญ ซินดี้ วู้ดเดน สำหรับคำถามต่อไป

ซินดี้ วูดเดน (CNS)

สวัสดีตอนบ่ายค่ะสันตะบิดร ดิฉันต้องการติดตามคำถามของเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสของดิฉันเกี่ยวกับซีนอดและข้อมูล ฆราวาสคาทอลิกจำนวนมากสละเวลาเพื่อการอธิษฐานภาวนา และความมุ่งมั่นอย่างมากในการพูดและฟัง พวกเขาต้องการทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างการประชุมซีนอด และพระองค์ได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของพระองค์ในการประชุมซีนอดเรื่องนักบวช ซึ่งในระหว่างนั้นบางคนพูดว่า “อย่าทำเช่นนี้…” หรือ “พระองค์ไม่สามารถพูดอย่างนั้นได้…” พวกเรานักข่าวไม่สามารถเข้าถึง การประชุมซีนอดและการประชุมทั่วไป เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราได้รับเป็น “อาหารบด” จะเป็นความจริง ? ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดใจกับนักข่าวมากกว่านี้อีกหน่อยเหรอค่ะ ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

อันที่จริง ซีนอดได้เปิดมาก เปิดมาก ๆ ! มีคณะกรรมการที่นำโดย [เปาโล] รุฟฟินี ซึ่งจะให้ข้อมูลอัปเดตรายวัน แต่จะกว้างเปิดมากขึ้น ก็ไม่รู้สินะ เปิดกว้างมากขึ้น ไม่รู้สิ… เป็นเรื่องดีที่คณะกรรมาธิการนี้จะเคารพการแสดงความเห็นทุกคนอย่างมาก และพยายามไม่ซุบซิบนินทา แต่ทว่าสื่อสารความคืบหน้าของซีนอดอย่างถูกต้องแทน ซึ่งเป็นผลดีต่อพระศาสนจักร หากท่านต้องการ หรือหากมีใครต้องการให้ข่าวระบุว่า “บุคคลนี้เผยแพร่เรื่องนี้กับบุคคลนั้นด้วยเหตุผลนี้หรือเหตุผลนั้น” สิ่งนี้ถือว่าเป็นการนินทาทางการเมือง การประนามใครไม่ใช่เรื่องง่าย โดยกล่าวว่า “วันนี้การไตร่ตรองเป็นไปแบบนี้ ฉะนั้นก็เป็นไปเช่นนี้” และเพื่อเป็นการถ่ายทอดจิตวิญญาณของพระศาสนจักร ไม่ใช่จิตวิญญาณทางการเมือง รัฐสภาแตกต่างจากซีนอด อย่าลืมว่าตัวเอกของการประชุมซีนอดคือพระจิต และเราจะสามารถถ่ายทอดพระจิตได้อย่างไร ? และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องถ่ายทอดความก้าวหน้าของพระศาสนจักร แต่อย่างไรก็ตามพ่อขอขอบคุณ ขอบคุณที่กล้าถามเรื่องนี้

มัตเตโอ บรูนี่:

ขอบคุณ คำถามต่อไปมาจากเอนโซ โรมิโอ จากช่องราย ทีจี 2 (RAI Tg 2) หลังจากนี้ เราอาจจะขอทำการสรุป

วินเชนโซ โรมิโอ (RAI TG 2)

สวัสดีตอนบ่ายครับ สันตะบิดร พระองค์คือพระสันตะปาปาแห่งชายขอบ และบริเวณรอบนอก โดยเฉพาะในประเทศอิตาลีกำลังทนทุกข์ทรมานอย่างมากในขณะนี้ เรามีช่วงที่น่ากังวลเกี่ยวกับความรุนแรง ความเสื่อมโทรม… ตัวอย่างเช่น ใกล้เมืองเนเปิลส์ ซึ่งเป็นบาทหลวงประจำเขต ดอน [เมาริซิโอ] ปาทริซิเอลโลยังทูลเชิญพระองค์ไปที่นั่นด้วยซ้ำ แล้วไปปาแลร์โม อะไรเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ? พระองค์เคยไปเยี่ยมชมวิลล่ามิเซริอัส ในกรุงบัวโนสไอเรส ดังนั้นพระองค์มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีของเรายังได้ไปเยี่ยมชมบริเวณชายขอบแห่งหนึ่งด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีการอภิปรายกันมากมาย พระองค์ทรงคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง ? ทั้งในเชิงพระศาสนจักรและรัฐสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาชนะความเสื่อมโทรมนี้ และทำให้บริเวณชายขอบกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างแท้จริง ?

พระสันตะปาปาฟรานซิส:

ท่านพูดถึงบริเวณชายขอบ เมืองกระท่อม ท่านต้องก้าวไปข้างหน้า ท่านต้องไปที่นั่นและทำงานที่นั่น เช่นเดียวกับที่นักบวชที่ทำงานในกรุงบัวโนสไอเรส – ทีมนักบวชมีบิชอปผู้ช่วยเป็นหัวหน้า  และท่านทำงานที่นั่น เราต้องเปิดกว้างต่อสิ่งนี้ รัฐบาลต่าง ๆ จะต้องเปิดกว้าง รัฐบาลทั่วโลกทั้งหมด แต่มีสถานที่ชายขอบบางแห่งที่น่าเศร้า พ่อขอกล่าวถึงบริเวณชายขอบที่ผู้คนพยายามปกปิดอีกครั้ง นั่นก็คือชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญากำลังทนทุกข์ทรมาน พวกเขาไม่ใช่คริสตชน พวกเขาเป็นชาวมุสลิม แต่พวกเขาทนทุกข์เพราะพวกเขาถูกส่งไปชายขอบ พวกเขาถูกขับไล่ เราต้องเห็นชายขอบประเภทต่าง ๆ และเรียนรู้ด้วยว่าบริเวณชายขอบคือจุดที่ความเป็นจริงของมนุษย์ชัดเจนยิ่งขึ้น และซับซ้อนน้อยลง อันเป็นช่วงเวลาที่แสนเลวร้าย… พ่อไม่อยากพูดเหมารวม แต่ท่านสามารถเข้าใจได้ดี นักปรัชญาคนหนึ่งเคยพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้พ่อทึ่งมาก : “ความจริงจะเข้าใจได้ดีที่สุดจากชายขอบ” เราเข้าใจความเป็นจริงดีจากที่นั่น เราต้องพูดกับคนที่อยู่ชายขอบ และรัฐบาลต้องสร้างความยุติธรรมทางสังคมที่แท้จริง ความยุติธรรมทางสังคมที่แท้จริง โดยอาศัยชายขอบทางสังคมและชายขอบทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ตามชายขอบพูด เพราะบ่อยครั้งเป็นชายขอบทางอุดมการณ์ทำให้เกิด ชายขอบทางสังคม โลกแห่งชายขอบไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย พ่อขอขอบคุณ

มัตเตโอ บรูนี่:

เราขอจบการสัมภาษณ์ เพียงเท่านี้ เนื่องจากมีบริการอาหารบนเครื่องบิน และเราเริ่มเผชิญหลุมอากาศบ้างแล้ว กระผมขอให้หน้าที่การงานของพวกท่านดำเนินไปอย่างดี

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทสัมภาษณ์พระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง ภาคภาษาไทย)

ขอขอบคุณวศิน มานะสุรางค์กูล ที่ส่งบทสัมภาษณืมาให้ และธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย ที่พิสูจน์อักษร