บทเทศน์ประกอบการปฏิบัติจิตสำหรับบุคลากรของสันตะสำนัก: (5) จะตายหรือจะอยู่ (5/10)

บาทหลวงโรแบร์โต ปาโซลีนี (คณะภราดาน้อยกาปูชิน) นักเทศน์ประจำพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปา ได้นำไตร่ตรองภายในการปฏิบัติจิตสำหรับบุคลากรของสันตะสำนักประจำปี 2025 โดยในครั้งที่ 5 เมื่อวันอังคารที่ 11 มีนาคม 2025 เวลา 17.00 น. มีหัวข้อว่า “จะตายหรือจะอยู่” และมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
ความท้าทายที่แท้จริงในการเดินทางของพวกเรา ไม่ใช่แค่การก้าวผ่านความตายเท่านั้น แต่คือการยอมรับว่าชีวิตนิรันดรเริ่มขึ้นแล้วที่นี่และในตอนนี้ เรามักหลอกตัวเองให้เชื่อว่า มีคนเพียงสองประเภทเท่านั้น คือ คนเป็นกับคนตาย แต่พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นได้ท้าทายมุมมองเช่นนี้ผ่านการเล่าเรื่องลาซารัส [ซึ่งเป็นการบอกว่า] ที่จริงแล้ว คนตายไม่ได้มีแค่คนที่หยุดหายใจ แต่ยังรวมถึงคนที่ติดกับดักแห่งความกลัว ความอับอาย และการควบคุม ลาซารัส ผู้ที่ไม่อาจเคลื่อนไหวได้เพราะถูกห่อด้วยผ้าคลุมศพ เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคน เมื่อเรายอมให้ตัวเองถูกบีบรัดด้วยความคาดหวังและแบบอย่างแนวทางที่เข้มงวดไม่ยืดหยุ่น ซึ่งทำให้เราออกห่างจากเสรีภาพภายในใจ
เมื่อมารธาและมารีย์ต้องเผชิญหน้ากับความตายของ[ลาซารัส] ทั้งสองได้แสดงออกซึ่งความเชื่ออย่างมีเงื่อนไข ด้วยคำพูดที่ว่า “พระเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่ พี่ชายของดิฉันคงไม่ตาย” (ยน 11:21) กรอบความคิดแบบนี้สะท้อนมุมมองที่ว่า พระเจ้าควรจะต้องแทรกแซงในทุกครั้งเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องประสบความทุกข์ทรมาน แต่พระเยซูเจ้าไม่ได้เสด็จมาเพื่อลบล้างความทุกข์ทรมาน หากแต่เพื่อเปลี่ยนแปลงความทุกข์ทรมานนี้[ให้กลายเป็นสิ่งอื่น] พระองค์ตรัสว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) คำถามที่แท้จริงจึงไม่ใช่ว่า เราจะตายหรือไม่ตาย หากแต่เป็นคำถามที่ว่า ในตอนนี้ เรากำลังมีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงด้วยความเชื่อมั่นในพระคริสตเจ้าและในพระวาจาของพระองค์หรือไม่
ความท้าทายนี้ยังปรากฏในเรื่องหญิงที่ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุดด้วย นางต้องทนทุกข์มานานถึงสิบสองปี แต่ก็มีความอาจหาญที่จะสัมผัสเสื้อคลุมของพระเยซูเจ้าเพื่อหวังจะได้รับการเยียวยา (มก 5:25-34) เรื่องของนางเป็นเครื่องหมายสื่อแทนมนุษยชาติทั้งมวล เหตุว่าพวกเราล้วนแสวงหาการเยียวยา พวกเราล้วนแสวงหาชีวิต แต่เรามักพึ่งพาพระเทียมเท็จต่าง ๆ ที่สุดท้ายแล้วมีแต่จะนำมาซึ่งความว่างเปล่าไร้แก่นสาร มีเพียงการได้สัมผัสพระคริสตเจ้าเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งการเยียวยาที่แท้จริง ไม่เฉพาะในทางร่างกายเท่านั้น แต่รวมถึงการเยียวยาภายในจิตใจด้วย กล่าวคือ ทำให้เราสามารถเชื่อมั่นและรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้อนรับได้
พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับนางว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” (มก 5:34) เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความรอดไม่ใช่การแทรกแซงจากภายนอกโดยพระเจ้า หากแต่เป็นสิ่งที่แสดงออกภายในการที่เราสามารถเปิดใจน้อมรับการประทับอยู่ของพระองค์ สิ่งนี้ย่อมกล่าวได้กับเรื่องศีลอภัยบาปและประสบการณ์แห่งการกลับคืนดีทุกอย่างเช่นกัน กล่าวคือ ลำพังการกระทำภายนอกนั้นไม่เพียงพอ เพราะจิตใจของเราจำเป็นต้องค้นพบอีกครั้งซึ่งความเชื่อมั่นในพระเจ้า ผู้ทรงปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะให้เรามีชีวิต
เรื่องราวของลาซารัสและหญิงที่ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุดนี้ ได้ตั้งคำถามต่อพวกเราในเรื่องพื้นฐานอย่างหนึ่ง คือ เราเป็นคนที่กำลังจะตาย เอาแต่รอคอยจุดจบ หรือว่าเราเป็นคนที่มีชีวิต และได้เริ่มสัมผัสประสบการณ์แห่งการฟื้นคืนชีพแล้ว ชีวิตนิรันดรไม่ได้เป็นเพียงรางวัลในอนาคต หากแต่เป็นความจริงที่เราสามารถเลือกได้ในตอนนี้ หากว่าเราเลือกที่จะมีชีวิตอย่างเสรีด้วยความหวังและความเชื่อมั่นในพระเจ้า ผู้ทรงเรียกเราทั้งหลายไปสู่ความบริบูรณ์
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บบทเทศน์การเข้าเงียบประจำปี 2025 เทศกาลมหาพรต มาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)