สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (7) ความระทมทุกข์
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ วันนี้เราจะพิจารณาพยศชั่วอันหนึ่งที่น่าเกลียด ซึ่งก็คือ ความระทมทุกข์ พยศชั่วอันนี้เป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นความหดหู่ของวิญญาณ เป็นสิ่งที่ทำร้ายมนุษย์ตลอดเวลา ไม่ให้เขาได้รู้สึกถึงความปิติยินดีในตัวตนของตน
ก่อนอื่น ต้องชี้ว่าในเรื่องความระทมทุกข์นี้ บรรดาปิตาจารย์ได้แยกแยะอย่างหนึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ กล่าวคือ ความระทมทุกข์บางอย่างเป็นสิ่งที่คู่ควรเหมาะสมกับชีวิตคริสตชน และป็นสิ่งที่พระหรรษทานของพระเจ้าจะช่วยแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นความปิติยินดีได้ แน่นอนว่าเราจะต้องไม่ปฏิเสธความระทมทุกข์แบบนี้ เพราะความระทมทุกข์แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนทางแห่งการกลับใจ แต่มีความระทมทุกข์อีกแบบหนึ่งที่คืบคลานเข้ามาในวิญญาณ และทำให้วิญญาณหมดกำลังภายในความหดหู่ใจ ความระทมทุกข์แบบนี้เป็นสิ่งที่เราต้องสู้กับมันอย่างเต็มกำลังไม่ย่อท้อ เพราะว่ามันมาจากปีศาจ นักบุญเปาโลก็ได้แยกแยะความระทมทุกข์ในทำนองนี้เช่นกัน ท่านได้เขียนในจดหมายถึงชาวโครินธ์ว่า “ความทุกข์ใจตามพระประสงค์ของพระเจ้าทำให้กลับใจ ทำให้รอดพ้น จึงไม่มีผู้ใดเสียใจ ส่วนความทุกข์ใจของโลกนำไปสู่ความตาย” (2 คร. 7,10)
ดังนั้น [เราจึงเห็นว่า] ความระทมทุกข์อย่างหนึ่งเป็นสิ่งดีที่นำเราไปสู่ความรอด ให้เรานึกถึงการอุปมาในเรื่องลูกล้างผลาญ (บิดาผู้เมตตา) เขารู้สึกขมขื่นอย่างมากเมื่อได้ตกสู่ก้นบึ้งแห่งความเสื่อม ความรู้สึกนี้กระตุ้นให้เขาได้สติรู้ตัว และตัดสินใจกลับบ้านไปหาบิดาของตน (เทียบ ลก. 15,11-20) การเป็นทุกข์คร่ำครวญถึงบาปของตน การระลึกถึงสถานะแห่งพระหรรษทานที่เราตกไปจากสถานะนั้น และการร้องไห้คร่ำครวญต่อการที่เราได้สูญเสียความบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงปรารถนาให้เรามี สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นพระหรรษทาน
แต่ความระทมทุกข์แบบที่สองเป็นอาการป่วยของวิญญาณ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเวลาที่ความหวังหรือความปรารถนาของเราเลือนหายไป ในที่นี้ เราอาจกล่าวถึงเรื่องของศิษย์[สองคน]ที่เอมมาอูสในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา ศิษย์สองคนนี้ออกเดินทางจากเยรูซาเลมด้วยใจที่ผิดหวัง พวกเขาได้สารภาพต่อคนแปลกหน้าที่มาร่วมทางกับเขาว่า “เราเคยหวังไว้ว่าพระองค์” คือพระเยซูเจ้า “จะทรงปลดปล่อยอิสราเอลให้เป็นอิสระ” (ลก. 24,21) พลวัตของความระทมทุกข์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์แห่งการสูญเสีย บางครั้ง ความหวังในใจมนุษย์อาจถูกทำลาย บางครั้งอาจเป็นเวลาที่คนอยากได้บางสิ่งบางอย่างแต่กลับไม่สามารถได้สิ่งนั้นมา แต่บางครั้งอาจเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ความสูญเสียทางจิตใจ เวลาที่เกิดเรื่องแบบนี้ก็จะเป็นเหมือนกับว่าใจคนตกหล่นจากหน้าผา เขาย่อมรู้สึกหมดกำลังใจ รู้สึกว่าจิตใจอ่อนแอ รู้สึกซึมเศร้า หรือเจ็บปวดรวดร้าว พวกเราต่างเคยเจอกับอุปสรรคเจ็บปวดที่ทำให้เรามีความระทมทุกข์ เพราะว่าในชีวิตของเรา เราอาจมีความฝันบางอย่าง แล้วก็อาจพบว่าความฝันนั้นต้องพังทลายไป ในสถานการณ์แบบนี้ หลังจากที่ต้องเจอกับปัญหาวุ่นวายในชีวิต บางคนอาจมีความหวังเป็นที่พึ่ง แต่บางคนอาจจมปลักอยู่ในอารมณ์เศร้าสร้อย แล้วก็ปล่อยให้อารมณ์แบบนี้เน่าเปื่อยเป็นหนองอยู่ในใจ [เราอาจถามว่า]คนแบบนี้รู้สึกพึงใจหรือไม่ ให้เราสังเกตว่า ความระทมทุกข์ เป็นความพึงใจในความไม่รู้สึกพึงใจ เหมือนกับว่าเราอมลูกอมที่ขม ๆ ไม่มีน้ำตาล ไม่อร่อย แต่เราก็ยังอมลูกอมนั้น[ไปเรื่อย ๆ] ความระทมทุกข์คือความพึงใจในความไม่รู้สึกพึงใจ
นักพรตท่านหนึ่งชื่อเอวากรีโอ [ค.ศ. 325-399] กล่าวไว้ว่า พยศชั่วทุกอย่างมีความพึงใจเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าความพึงใจนั้นจะเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวแค่ไหนก็ตาม แต่ความเศร้านั้นกลับตรงกันข้าม คือ เป็นการกล่อมให้คนเราอยู่ภายในความระทมทุกข์ไม่สิ้นสุด ความเศร้าบางอย่างเป็นสิ่งที่ยืดเยื้อ ทำให้ความว่างเปล่าภายในใจคนขยายใหญ่ออกไป [ทั้งที่สิ่งที่เขาอยากจะนำมาเติมเต็มความว่างเปล่านั้นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว] ความเศร้าแบบนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับชีวิตในพระจิตเจ้า ความขมขื่นบางอย่างเต็มไปด้วยความเกลียดชัง คนที่มีความขมขื่นแบบนี้ย่อมมีข้ออ้างบางอย่างในใจที่ทำให้เขาทำตัวราวกับเป็นเหยื่อ สิ่งแบบนี้ย่อมไม่ทำให้พวกเรามีชีวิตที่ดีภายในตัวเรา ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าชีวิตคริสตชน[ที่ดีจะเป็นไปได้ไหม] คนทุกคนมีอดีตที่ต้องได้รับการเยียวยา แต่ความระทมทุกข์ ซึ่งเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อาจกลายเป็นสภาวะจิตใจที่ชั่วร้ายไปได้
ความระทมทุกข์เป็นปีศาจที่ช่างหลอกลวง บรรดาปิตาจารย์ในที่กันดาร[ยุคโบราณ]ได้อธิบายว่า ความระทมทุกข์เป็นหนอนในหัวใจ ที่บ่อนทำลาย และทำให้[หัวใจซึ่งเป็น]ที่อาศัยของมันกลวงว่างเปล่า นี่เป็นคำอธิบายที่ดีเพราะว่าทำให้เราเข้าใจเห็นภาพ เป็นภาพของหนอนในหัวใจ ที่กัดกินและทำให้[หัวใจ]กลวง เราจะต้องตระหนักถึงความระทมทุกข์แบบนี้ และเราต้องคิดด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงนำความปิติยินดีแห่งการฟื้นคืนพระชนม์มาประทานให้แก่พวกเรา คำถามมีอยู่ว่า ถ้าเรารู้สึกเศร้า เราต้องทำอย่างไรดี [พ่อขอบอกว่า]ลูกต้องหยุดพักสักนิด และพิจารณาดูว่า นี่เป็นความระทมทุกข์ที่ดีหรือไม่ หรือว่าไม่ดี [ให้ลูกคิดแบบนี้] แล้วก็ให้ลูกจงตอบสนองตามลักษณะธรรมชาติของความระทมทุกข์นั้น ลูกจงอย่าลืมว่า ความระทมทุกข์[บางอย่าง]อาจเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างยิ่ง ที่ทำให้เรามองโลกในแง่ร้าย ทำให้เรามีความเห็นแก่ตัวอย่างที่รักษาหายได้ยาก
พี่น้องที่รัก เราต้องตระหนักเรื่องความระทมทุกข์แบบนี้ และเราต้องคิดว่า พระเยซูเจ้าทรงนำความปิติยินดีแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์มาประทานให้แก่เรา ถึงแม้ว่าชีวิตอาจเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เต็มไปด้วยความผิดหวัง เต็มไปด้วยความฝันที่ทำตามไม่ได้ อาจมีการเสียเพื่อนฝูงไป แต่การฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูเจ้าทำให้เราทุกคนเชื่อได้ว่า ทุกคนจะได้รับความรอด การที่พระเยซูเจ้าทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อพระองค์เองอย่างเดียว แต่เป็นไปเพื่อเราทั้งหลายด้วย เพื่อที่จะพระองค์จะทรงไถ่กู้ความสุขทุกอย่างที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มในชีวิตของพวกเรา ความเชื่อย่อมขับไล่ความกลัว และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสตเจ้าย่อมขจัดความเศร้าโศกไป ไม่ต่างจากก้อนหินหน้าพระคูหาเก็บพระศพ ชีวิตทุก ๆ วันของคริสตชนเป็นการอบรมตนแห่งการฟื้นคืนชีพ จอร์จ แบร์มานอส ได้เขียนสิ่งหนึ่งไว้ในนวนิยายที่เป็นที่รู้จักของเขา เรื่อง “บันทึกประจำวันของบาทหลวงบ้านนอก” สิ่งนี้เป็นคำพูดของบาทหลวงเจ้าวัดที่ตอร์ซี[ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่อง] คำพูดนี้กล่าวว่า “พระศาสนจักรมีความปิติยินดี มีความปิติยินดีทุกอย่างที่เก็บรักษาไว้เพื่อโลกที่เศร้าสร้อยนี้ สิ่งใดที่ท่านกระทำต่อพระศาสนจักร ก็เท่ากับว่าเป็นสิ่งที่ท่านกระทำต่อความปิติยินดีด้วย” เลอง บลัว นักเขียนชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่ง ได้เขียนถ้อยคำที่น่าประทับใจอันหนึ่งไว้ว่า “สิ่งที่น่าเศร้ามีเพียงอย่างเดียว […] คือการไม่ได้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” ขอให้พระจิตเจ้าของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ โปรดช่วยเหลือเราทั้งหลาย ให้เราทั้งหลายใช้ความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์เอาชนะความระทมทุกข์ได้ด้วยเทอญ
คำปราศรัยพิเศษของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เดนมาร์ก มอลตา และสหรัฐอเมริกา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูก จงได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ให้เราทั้งหลายอย่าลืมสงครามในที่ต่าง ๆ อย่าลืมยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย อย่าลืมปาเลสไตน์ อิสราเอล แล้วก็ชาวโรฮิงญาด้วย สงครามมากมายเกิดขึ้นในหลายที่เหลือเกิน ขอให้เราทั้งหลายอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ เพราะสงครามย่อมเป็นความพ่ายแพ้เสมอ ขอให้เราภาวนาเพื่อสันติภาพซึ่งเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายปรารถนา
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาเยาวชน คนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน ในโอกาสนี้ พ่อขอวิงวอนแม่พระแห่งลูร์ด ที่เราทั้งหลายจะฉลองในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ โปรดอยู่เคียงข้างการเดินทางของลูกด้วยน้ำใจอันอ่อนโยนของมารดาเทอญ พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ บัดนี้เราจะพิจารณาเรื่องความระทมทุกข์ของวิญญาณ นักบุญเปาโลได้กล่าวถึง “ความทุกข์ใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า” และ “ความทุกข์ใจของโลก” ความทุกข์ใจอย่างแรกเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการกลับใจ ทำให้เราทั้งหลายยังคงมีความหวังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่ความทุกข์ใจอย่างหลังมาจากความหวังที่พังทลาย มาจากความผิดหวังต่าง ๆ และเป็นสิ่งที่กัดกร่อนจิตใจด้วยความหมดกำลังใจและความเศร้าโศก ขณะที่พยศชั่วอย่างอื่นมุ่งแสวงหาความพึงใจที่ไม่ยั่งยืน แต่พยศชั่วแห่งความเศร้าโศก เป็นสิ่งที่[เอาแต่ทำให้คน]จมปลักอยู่ในความระทมทุกข์ และเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตฝ่ายจิต บรรดาปิตาจารย์ในที่กันดาร[ยุคโบราณ]ได้แนะนำว่า ในการต่อสู้กับความหดหู่ใจอันนี้ เราต้องน้อมรับเอาการฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสตเจ้า เพราะว่าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ ทรงไถ่กู้ความสุขทั้งหลายทั้งปวงที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มในชีวิตของพวกเรา ขอให้ความเชื่อจงเป็นเครื่องขับไล่ความกลัว และขอให้การฟื้นคืนพระชนม์ของพระคริสตเจ้า จงขจัดเอาความเศร้าสร้อยออกไป เหมือนกับก้อนหินหน้าพระคูหาฝังพระศพของพระองค์ด้วยเทอญ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปามาแบ่งปัน)