สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (9) ความริษยาและความหยิ่งยโส
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
วันนี้เราจะพิจารณาพยศชั่วสองประการซึ่งเราจะได้พบในรายชื่อที่จารีตเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิตได้ถ่ายทอดให้แก่เรา กล่าวคือ ความริษยา และความหยิ่งยโส
ให้เราเริ่มพิจารณาจากความริษยาก่อน หากเราอ่านพระคัมภีร์ (เทียบ ปฐก. 4) เราก็จะได้เห็นว่าความริษยาเป็นพยศชั่วที่เก่าแก่ที่สุดอันหนึ่ง [ให้เราพิจารณาเรื่องของกาอินกับอาแบล] กาอินเป็นบุตรคนโตของอาดัมกับเอวา และยังเป็นผู้ที่ได้รับมรดกส่วนใหญ่ที่สุดจากบิดาของตนไปแล้วด้วย แต่เมื่อกาอินรู้ว่าพระเจ้าทรงพอพระทัยกับเครื่องบูชาของอาแบล น้องชายของเขา ความเกลียดชังของกาอินที่มีต่ออาแบลก็ได้ถูกปลดปล่อยออกมา [เราได้เห็นว่า ถึงแม้ว่ากาอินจะมีสถานะดีกว่าอาแบลอยู่เช่นนี้] แต่เพียงแค่การที่น้องชายของเขาได้ประสบความสำเร็จในเรื่องที่ไม่ใหญ่โตนัก ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กาอินรู้สึกเกรี้ยวกราด คนขี้อิจฉาย่อมจะมีใบหน้าเศร้าสร้อยอยู่เสมอ [เขาย่อมเอาแต่มองผู้อื่นจากเบื้องบนอย่างดูถูก] สายตาของเขาย่อมจับจ้องอยู่ ณ เบื้องล่าง เหมือนจะค้นหาอะไรสักอย่างที่นั่น แต่ในความเป็นจริง เขาย่อมไม่ได้เห็นอะไรเลย เพราะจิตใจของเขาเต็มไปด้วยความชั่วร้ายที่คอยบดบัง หากว่าเราปล่อยความริษยาเอาไว้ หากว่าเราไม่จัดการกับมัน ความริษยาก็ย่อมจะนำไปสู่ความเกลียดชังผู้อื่น และ[ในที่สุด]อาแบลก็ถูกกาอินฆ่าตาย เพียงเพราะว่ากาอินรับไม่ได้ที่จะเห็นน้องชายของตนมีความสุข
คนที่ได้วิเคราะห์พิจารณาเกี่ยวกับความริษยาไม่ได้มีเพียงผู้คนในโลกของคริสต์ศาสนาเท่านั้น เพราะบรรดานักปรัชญาและผู้คนที่มีปรีชาญาณในทุกวัฒนธรรมก็ให้ความสนใจต่อความชั่วร้ายอันนี้เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เป็นรากฐานของความริษยาคือความสัมพันธ์แห่งความชมชอบและความเกลียดชัง [เวลาที่คนเราอิจฉาริษยาผู้อื่น] เขาก็ย่อมอยากให้คนผู้นั้นพบกับสิ่งเลวร้าย แต่ในจิตใจเบื้องลึก เขากลับมีความรู้สึกอยากจะเป็นให้ได้เหมือนกับคนที่เขาอิจฉานั่นเอง นอกจากนี้ [ความริษยายังเผยถึง]สิ่งที่เราอยากจะเป็น รวมถึงสิ่งที่เราไม่ได้เป็นอยู่ในความเป็นจริงด้วย เราอาจมองความโชคดีของผู้อื่นว่าเป็นความไม่ยุติธรรม ขณะที่เราอาจจะคิดอยู่ในใจตัวเองว่า ความสามารถหรือความโชคดีที่ผู้อื่น[มีหรือได้รับ]นั้นควรจะเป็นของเรามากกว่า
รากฐานของความริษยา คือความคิดที่ผิด ๆ อย่างหนึ่งเกี่ยวกับพระเจ้า ความคิดแบบนี้ไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรง “คิดคำนวณ” ในแบบของพระองค์เองที่ไม่เหมือนกับการคิดคำนวณของเรา ตัวอย่างเช่นในการอุปมาหนึ่ง พระเยซูเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องบรรดาคนงานที่เจ้าของสวนองุ่นได้เรียกให้เข้าไปทำงานที่สวนในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวัน คนที่ถูกเรียกไปทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า คิดว่าตนเองย่อมมีสิทธิได้รับค่าแรงมากกว่าคนที่มาทำงานในช่วงเวลาท้าย ๆ แต่เจ้าของสวนกลับให้คนงานทุกคนได้รับค่าแรงเท่ากัน โดยเขากล่าวว่า “ฉันไม่มีสิทธิ์ใช้เงินของฉันตามที่ฉันพอใจหรือ ท่านอิจฉาริษยาเพราะฉันใจดีหรือ” (มธ. 20,15) เราอาจต้องการจะยัดเยียดวิธีการให้เหตุผลแบบเห็นแก่ตัวของเราเองให้แก่พระเจ้า แต่วิธีการให้เหตุผลของพระเจ้าเป็นตรรกะแห่งความรัก สิ่งดี ๆ ที่พระองค์ประทานให้แก่เราล้วนเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อแบ่งปัน ด้วยเหตุนี้เอง นักบุญเปาโลจึงได้เตือนใจบรรดาคริสตชนว่า “จงรักกันฉันพี่น้อง จงแข่งกันยกย่องให้เกียรติผู้อื่น” (เทียบ รม. 12,10) ตรงนี้เราย่อมได้เห็นแล้วว่า อะไรคือทางแก้ความริษยา
ต่อไปเราจะพิจารณาพยศชั่วอย่างที่สองในวันนี้ คือความหยิ่งยโส ความหยิ่งยโสมาควบคู่กับความริษยา ความชั่วทั้งสองอย่างนี้เป็นลักษณะของคนประเภทที่อยากจะให้ตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก อยากให้ตัวเองมีอิสระในการแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่นและสิ่งอื่นทั้งหมด และยังต้องการให้คนอื่น ๆ ทั้งหมดมารักและชื่นชมยกย่องตัวเองแต่เพียงผู้เดียว เมื่อความมั่นใจในตนเองพองตัวจนเฟ้อและไม่มีเหตุผลรองรับ ความมั่นใจนั้นก็ย่อมจะกลายเป็นความหยิ่งยโส คนที่หยิ่งยโสย่อมจะมี “ตัวกูของกู” ที่ควบคุมจัดการได้ยาก เขาย่อมไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และไม่แยแสต่อความเป็นจริงที่ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว เวลาที่คนแบบนี้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความสัมพันธ์นั้นย่อมจะเป็นการมุ่งครอบงำและใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ ขณะที่ตัวเขาเองนั้นก็ย่อมจะคิดว่าตัวตนและความสำเร็จต่าง ๆ ของเขาเองจะต้องเป็นที่รับรู้ของทุกคน คนแบบนี้เป็นเหมือนขอทานที่เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นตลอดเวลา และเมื่อใดก็ตามที่คนอื่นไม่ยอมรับคุณลักษณะบางอย่างของเขา เขาก็จะกลายเป็นคนโกรธเกรี้ยวรุนแรง [นักพรตชื่อ]เอวากรีโอ ปอนตีโก [ค.ศ. 325-399] ได้เขียนเล่าเรื่องไม่ดีอันหนึ่งไว้ เป็นเรื่องของนักพรตผู้หนึ่งที่ถูกครอบงำด้วยความหยิ่งยโส ซึ่งการที่เขาได้ประสบความสำเร็จบางอย่างในชีวิตฝ่ายจิต ทำให้เขารู้สึกไปว่าตนเองได้มาถึงจุดหมายแล้ว เขาจึงรีบออกไปป่าวประกาศเพื่อให้คนอื่นมาชื่นชมเขา แต่นักพรตผู้นี้กลับไม่รู้ตัวว่า ที่จริงแล้วเขาเพิ่งอยู่ที่จุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตฝ่ายจิตเท่านั้น และยังไม่รู้ด้วยว่าในตอนนั้นมีการผจญอันหนึ่งซุ่มหลบอยู่ ซึ่งการผจญอันนี้เองจะเป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตของเขาในเวลาต่อมา
บรรดาปรมาจารย์ด้านชีวิตฝ่ายจิตไม่ได้ระบุทางแก้สำหรับความหยิ่งยโสไว้มากนัก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว [สิ่งที่ดูเหมือนว่าทำให้ความหยิ่งยโสระงับลง แท้จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่คอยส่งเสริมความหยิ่งยโสนั้น] กล่าวคือ [เมื่อคนหยิ่งยโสได้รับการชื่นชมยกย่องจากผู้อื่นอย่างที่เขาต้องการ ความหยิ่งยโสนั้นก็ดูเหมือนจะสงบลง แต่แท้จริงแล้ว] การชื่นชมยกย่องจะกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายเขาในเวลาต่อมา มีผู้คนมากมายเหลือเกินที่ถูกหลอกลวงจากภาพลักษณ์จอมปลอมของตนเอง และหลังจากนั้นอีกไม่นาน การถูกหลอกแบบนี้ก็ย่อมทำให้เขาตกสู่บาปที่นำมาซึ่งความอับอาย
คำสอนที่ดีที่สุดเรื่องการเอาชนะความหยิ่งยโส เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคำกล่าวของนักบุญเปาโลอัครสาวก ท่านยอมรับอยู่ตลอดว่า ตนเองมีข้อด้อยอันหนึ่งที่ท่านเองไม่อาจเอาชนะได้เลย ท่านได้วอนขอถึงสามครั้งให้พระเจ้าปลดปล่อยท่านเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานอันนี้ แต่ในที่สุดพระเยซูเจ้าได้ตรัสตอบท่านว่า “พระหรรษทานของเราเพียงพอสำหรับท่าน เพราะพระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” นับแต่วันนั้นเอง นักบุญเปาโลก็ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เราควรจะให้ข้อสรุปของท่านได้เป็นข้อสรุปของพวกเราเองด้วย กล่าวคือ “ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเต็มใจที่จะโอ้อวดเรื่องความอ่อนแอ เพื่อให้พระอานุภาพของพระคริสตเจ้าพำนักอยู่ในข้าพเจ้า” (2 คร. 12,9)
คำปราศรัยพิเศษของพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ มาเลเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา พ่อขอส่งคำทักทายเป็นพิเศษยังนักศึกษาและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซนต์แมรีที่ทวิกเคนแฮมของอังกฤษ พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูก จงได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
วันที่ 1 มีนาคม เป็นวันครบรอบ 25 ปีนับตั้งแต่ที่อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลได้มีผลบังคับใช้ ทุ่นระเบิดยังคงเป็นสิ่งที่ทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ จำนวนมากมาย ถึงแม้ว่าความขัดแย้งอาจจะได้ยุติลงเป็นเวลานานแล้วก็ตาม พ่อขอแสดงความใกล้ชิดกับเหยื่อจำนวนมากที่โดนทำร้ายด้วยทุ่นระเบิด เครื่องมือชั่วร้ายอันนี้เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงความโหดร้ายมหาศาลของสงคราม ตลอดจนความทุกข์ทรมานที่พลเรือนจำต้องประสบ ในการนี้ พ่อขอแสดงความขอบใจแก่ผู้คนที่อุทิศตนทำประโยชน์แก่การช่วยเหลือบรรดาเหยื่อและการกำจัดทุ่นระเบิด กิจการของพวกเขาเป็นการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมต่อเสียงเรียกร้องที่ให้ทุกคนเป็นผู้สร้างสันติภาพ และให้ทุกคนดูแลเอาใจใส่พี่น้องของเราด้วย
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาคนป่วย คนชรา คนที่เพิ่งแต่งงาน และเยาวชน ขอให้เส้นทางแห่งเทศกาลมหาพรตจงเป็นโอกาสสำหรับการกลับสู่ภายในตนเอง และสำหรับการฟื้นฟูจิตวิญญาณ
พี่น้องที่รัก ขอให้เราทั้งหลายอย่าลืมผู้คนที่ต้องทนทุกข์จากสงคราม ทั้งในยูเครน ปาเลสไตน์ อิสราเอล และที่อื่น ๆ มากมาย และขอให้เราทั้งหลายอธิษฐานภาวนาเพื่อเหยื่อในเหตุโจมตีสถานที่ทางศาสนาที่เกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ที่บูร์กินาฟาโซ นอกจากนี้ ขอให้เราอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้คนในเฮติซึ่งกำลังต้องเผชิญกับอาชญากรรมและเหตุลักพาตัวที่เป็นฝีมือกลุ่มติดอาวุธด้วย
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ บัดนี้เราจะพิจารณาเรื่องความริษยาและความหยิ่งยโส ในเรื่องของกาอินและอาแบล เราได้เห็นว่าความริษยาเป็นพลังทำลายล้างที่มีเชื้อเพลิงคือความเกลียดชังผู้อื่น ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้มีคนตายได้ ทางแก้ความริษยานี้มีอยู่ในคำกล่าวเตือนใจจากนักบุญเปาโลที่ว่า “จงรักกันฉันพี่น้อง จงแข่งกันยกย่องว่าผู้อื่นดีกว่าตน” (รม. 12,10) ความหยิ่งยโสเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้จากความเชื่อมั่นในตนเองที่มีมากเกินไป ความคิดอยากจะเป็นที่ยกย่องชื่นชมอยู่ตลอดเวลา และความคิดที่มักมุ่งจะใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือเพื่อสนองเป้าหมายของตน นักบุญเปาโลได้แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยการที่ท่านโอ้อวดความอ่อนแอของตน แทนที่จะอวดตนด้วยความสำเร็จต่าง ๆ ของท่านเอง การกระทำแบบนี้เป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการเอาชนะความหยิ่งยโส ขอให้เราทั้งหลายเอาอย่างนักบุญเปาโล ให้เราจงตระหนักว่า เพียงแค่พระหรรษทานของพระเจ้าก็เพียงพอแล้ว เพราะว่าพระอานุภาพของพระองค์ย่อมแสดงออกเต็มที่ภายในความอ่อนแอ (เทียบ 2 คร. 12,9) ขอให้เราทั้งหลายจงมีใจยินดีในการเผยถึงความอ่อนแอของตน เพื่อที่พระอานุภาพของพระคริสตเจ้าจะได้ปลดปล่อยเราเป็นอิสระ และทำให้เรามีความรักต่อผู้อื่นได้ด้วยใจกว้างยิ่งขึ้น
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)