สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024


คำสอน : คุณธรรมและพยศชั่ว (8) ความเกียจคร้าน
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก
ในบรรดาพยศชั่วหรือบาปต้นทั้งหลาย มีอันหนึ่งที่มักถูกละเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าชื่อของมันทำให้คนเข้าใจผิด พยศชั่วอันนี้คือความเกียจคร้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว [ความเกียจคร้าน หรือขี้เกียจ ในความหมายโดยทั่วไป เป็นคำที่ใช้พูดถึงผลที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะใช้พูดถึงสาเหตุ] เวลามีใครทำตัวเฉื่อยชา อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร หรือไม่มีความกระตือรือร้นสนใจอะไร เรามักจะพูดว่าคนคนนั้นขี้เกียจ เกียจคร้าน แต่ปรีชาญาณของบรรดาปิตาจารย์ในที่กันดารยุคโบราณได้สอนเราว่า บ่อยครั้งที่รากของความขี้เกียจนี้เป็นความเกียจคร้านอย่างที่เรียกว่า “อาเชเดีย” (acedia) ซึ่งมีรากศัพท์จากคำภาษากรีกที่แปลว่า “การไม่ใส่ใจ”
ความเกียจคร้าน[ในความหมายอย่างหลังนี้]เป็นการผจญที่อันตรายมากอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องเล่น ๆ ใครที่ตกเป็นเหยื่อของมัน จะกลายเป็นราวกับว่าถูกบดขยี้ด้วยความรู้สึกปรารถนาความตาย เขาย่อมจะรู้สึกรังเกียจทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด ความสัมพันธ์กับพระเจ้าจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย และแม้กระทั่งการกระทำต่าง ๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ซึ่งเคยทำให้ใจของเขาได้รับความอบอุ่น บัดนี้ก็จะถูกเขามองว่าเป็นการกระทำที่ไร้แก่นสารโดยสิ้นเชิง คนที่เป็นแบบนี้ย่อมจะเริ่มรู้สึกเสียใจกับกาลเวลาที่ผ่านไป และย่อมรู้สึกเสียดายกับช่วงเวลาแห่งความเยาว์วัยที่เขาย้อนกลับไปไม่ได้อีก
ความเกียจคร้านถูกเรียกว่าเป็น “ปีศาจยามเที่ยงวัน” มันย่อมจะเข้ามาเกาะกุมเราในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่เราอาจคิดว่า เวลาที่เหลือของวันนั้นเป็นสิ่งที่ซ้ำซากจำเจจนถึงขนาดที่ทนรับไม่ไหว ในคำอธิบายหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายของนักพรตเอวากรีโอ [ค.ศ. 325-399] ท่านได้กล่าวถึงความเกียจคร้านไว้ว่า “สายตาของคนเกียจคร้านย่อมจับจ้องอยู่แต่ที่หน้าต่าง ขณะที่เขาอาจนึกฝันอยู่ในใจว่าจะมีคนแบบนั้นแบบนี้มาหา […] เวลาที่เขาอ่านหนังสือ เขามักจะหาวและพ่ายแพ้แก่ความง่วงได้อย่างง่ายดาย เขาอาจจะหรี่ตา เกามือ หรือละสายตาจากหนังสือไปจับจ้องที่ผนังห้อง ก่อนที่จะกลับมาอ่านหนังสือต่ออีกเล็กน้อย […] และในท้ายที่สุด เขาก็จะค้อมศีรษะลง เอาหนังสือรองไว้ข้างใต้ และนอนหลับไปอย่างตื้น ๆ ก่อนที่ความหิวจะปลุกเขาให้ตื่น และกระตุ้นให้เขา[ไปรับประทานอาหารดับความหิวของตน]” กล่าวโดยสรุปคือ “คนเกียจคร้านย่อมไม่ทำกิจการของพระเจ้าด้วยความกระตือรือร้น” (เอวากรีโอ ปอนตีโก, วิญญาณแปดอย่างของปีศาจ, 14.)
เมื่อมองทั้งในทางจิตวิทยาและในทางปรัชญา ผู้คนในยุคปัจจุบัน[ที่ศึกษาความคิดของคนโบราณ]ย่อมจะเห็นได้ว่า การกระทำอย่างที่ได้อธิบายไปนี้มีความคล้ายคลึงอย่างมากกับสิ่งไม่ดีอย่างหนึ่ง คืออาการซึมเศร้า จริงทีเดียวว่า เมื่อผู้ใดถูกความเกียจคร้านครอบงำ [เขาก็จะรู้สึกว่า]ชีวิตของเขาหมดความหมาย การอธิษฐานภาวนากลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย และความพยายามต่อสู้ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะไม่มีแก่นสาร ถึงแม้ว่าในวัยเยาว์เราอาจจะมีบางสิ่งที่เรารัก มีบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้น แต่บัดนี้สิ่งเหล่านั้นกลับดูเหมือนเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล เป็นเพียงความฝัน[ลม ๆ แล้ง ๆ] ที่ไม่เคยช่วยให้เราได้มีความสุขอะไร พอใครคิดแบบนี้ เขาก็ย่อมจะปล่อยกายปล่อยใจของตน เหลือเพียงการคิดอย่างวอกแวกถึงอันโน้นทีอันนี้ที หรือการไม่คิดเรื่องอะไรทั้งนั้น คนแบบนี้อาจจะอยากให้ตัวเองไร้ซึ่งความรู้สึก หรืออยากจะให้จิตใจของตัวเองว่างเปล่าไม่มีอะไรทั้งสิ้น สิ่งแบบนี้ดูเหมือนกับว่าเป็นการค่อย ๆ ตายก่อนล่วงหน้า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเกลียด ไม่สวยงามเลย
เมื่อเราต้องเผชิญกับพยศชั่ว[แห่งความเกียจคร้าน]นี้ ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่ามีอันตรายมาก บรรดาปรมาจารย์ด้านชีวิตฝ่ายจิตได้พูดถึงวิธีแก้ไขต่าง ๆ ที่หลากหลาย พ่ออยากจะพูดถึงวิธีหนึ่งที่พ่อคิดว่าสำคัญที่สุด ซึ่งพ่อขอเรียกว่าเป็นความเพียรทนแห่งความเชื่อ ถึงแม้ว่าคนที่ถูกความเกียจคร้านครอบงำย่อมจะอยากไปอยู่ “ที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่ที่นี่” หรืออยากจะหลีกหนีจากความเป็นจริง แต่เราต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่ ณ ที่เดิม และน้อมรับการประทับอยู่ของพระเจ้าใน “ที่นี่และเวลานี้” คือในสถานการณ์อย่างที่กำลังเป็นอยู่ บรรดานักพรตได้กล่าวไว้ว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ห้องพักเล็ก ๆ ของเขาเองเป็นครูที่ดีที่สุดแห่งชีวิต เพราะว่าห้องพักของนักพรตย่อมจะให้บทเรียนอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ วัน ให้นักพรตได้รู้ถึงเรื่องราวความรักระหว่างเขากับพระเจ้า สิ่งนี้เป็นความปิติยินดีอันเรียบง่ายในที่นี่และเวลานี้ เป็นความเป็นจริงอันน่ามหัศจรรย์ที่เราควรรู้สึกขอบคุณ [แต่ในขณะเดียวกันก็]เป็นสิ่งที่ปีศาจแห่งความเกียจคร้านจ้องจะทำลาย มันพยายามจะทำให้เราหลงเชื่อไปว่าทุกอย่างสูญเปล่าไม่มีความหมาย และว่าการดูแลเอาใจใส่ใครสักคนหรือการตั้งใจทำอะไรบางอย่างก็ไม่มีความหมาย[เหมือนกัน] ในชีวิตของเรา [บางครั้ง]เราย่อมจะได้พบกับคนเกียจคร้าน ซึ่งเราอาจจะ[รู้สึกว่าคนที่เกียจคร้าน]แบบนี้เป็นคนที่น่าเบื่อ จึงทำให้เราไม่อยากไปอยู่ใกล้ ๆ เขา ขณะที่[คนเกียจคร้าน]บางคนอาจมีทัศนคติแห่งความเบื่อหน่ายที่ติดต่อแพร่กระจายไป[ทำให้คนอื่นรู้สึกเบื่อหน่าย]ได้ด้วย [พยศชั่วแห่ง]ความเกียจคร้านเป็นสิ่งแบบนี้
มีผู้คนมากมายเหลือเกินที่ถูกความเกียจคร้านครอบงำ และทำให้เขาต้องสูญเสียชีวิตที่ดีอย่างที่[เขาเคยมีหรือ]เริ่มจะมีไป เพียงเพราะว่าเขามีจิตใจวอกแวกอย่างที่ไม่รู้ว่ามีอะไรมากระตุ้น การต่อสู้กับความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด และเราต้องเอาชนะมันให้ได้ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม แม้แต่บรรดานักบุญเองก็ยังต้องต่อสู้กับความเกียจคร้าน บันทึกประจำวันของนักบุญหลายท่านมีข้อความบางส่วนที่กล่าวถึงช่วงเวลาอันเลวร้าย เป็นคืนอันมืดมิดอย่างแท้จริงแห่งความเชื่อ เป็นเวลาที่ทุกอย่างดูมืดมนไปหมด พวกท่านได้สอนให้เราก้าวผ่านคืน[อันมืดมิดนี้]ด้วยความเพียรทน และด้วยการน้อมรับความยากจนแห่งความเชื่อ พวกท่านได้แนะนำว่า หากเราถูกความเกียจคร้านกดดัน เราก็ควรวางเป้าหมายความพยายามของเราให้เป็นเรื่องเล็กน้อยลงกว่าเดิม เราควรตั้งเป้าหมายให้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงมากขึ้น และในขณะเดียวกัน เราก็ควรจะมีความอดทนและเพียรพยายาม โดยให้เราพึ่งพาพระเยซูเจ้า ผู้ที่ย่อมจะไม่ทรงทอดทิ้งเราให้อยู่ในการผจญ
ถึงแม้ว่าความเชื่ออาจถูกผจญจากความเกียจคร้าน แต่ความเกียจคร้านไม่ได้ทำให้ความเชื่อกลายเป็นของไม่มีค่า ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะไม่เป็นใจ ถึงแม้ว่าจะมีความมืดมิดปิดกั้นไม่ให้เรามองอะไรเห็น แต่ถ้าเรามีความเชื่ออย่างมนุษย์ ซึ่งทำให้เรายังคงยืนหยัดเชื่ออยู่ได้อย่างสุภาพถ่อมตน ความเชื่อแบบนี้แหละคือความเชื่อที่แท้จริง เป็นความเชื่อที่เหลือ[ติดแน่น]อยู่ในใจเราเสมอ ไม่ต่างกับเชื้อไฟใต้กองขี้เถ้า หากว่าเมื่อใดเราตกเป็นเหยื่อของ[ความเกียจคร้าน] หรือว่าต้องเผชิญกับการผจญจากมัน ขอให้เราจงพยายามมองเข้าไปภายในใจของตัวเอง และจงพยายามพัดสุมให้เชื้อไฟแห่งความเชื่อ[กลับมาลุกโชติช่วงอีกครั้ง] เพราะว่านี่คือสิ่งที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้
คำปราศรัยพิเศษของพระสันตะปาปา
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ เวลส์ ไนจีเรีย เกาหลี และสหรัฐอเมริกา ในเวลาแห่งการเริ่มต้นเทศกาลมหาพรต พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูก จงได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
พวกเราทุกคนต่างเคยได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องราวของบรรดามรณสักขีรุ่นแรกในพระศาสนจักรซึ่งมีอยู่มากมาย ในที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวาติกันนี้ มีสุสานที่ฝังร่างของคนที่ถูกประหารชีวิตจำนวนมาก หากว่าเราลองขุดดู เราก็จะเจอหลุมศพของพวกเขา [แต่ที่จริงแล้ว] ยุคปัจจุบันนี้ก็มีมรณสักขีจำนวนมากทั่วโลกเหมือนกัน อาจจะมากกว่าในยุคแรกด้วยซ้ำ คนจำนวนมากถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ ในวันนี้ พ่อขอถือโอกาสทักทายเป็นพิเศษต่อ “มรณสักขีผู้มีชีวิต” คือพระคาร์ดินัล[แอร์เนสต์] ซีโมนี ท่านใช้ชีวิต 28 ปีของท่านภายในที่คุมขัง ทั้งตอนที่ท่านยังเป็นบาทหลวง และในตอนที่ท่านได้เป็นบิชอปในเวลาต่อมา ท่านถูกคุมขังในอัลแบเนีย ในยุคที่ประเทศนั้นปกครองแบบคอมมิวนิสต์ การเบียดเบียนที่นั่นเกิดขึ้นอย่างรุนแรง อาจจะรุนแรงที่สุดด้วยซ้ำ แต่ท่านก็ยังยืนหยัดเป็นพยานอย่างต่อเนื่องไม่ลดละ เหมือนกับคนอื่น ๆ จำนวนมาก เหมือนกับคนอื่นอีกมากมาย ทุกวันนี้ท่านอายุ 95 ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังคงทำงานเพื่อพระศาสนจักรอย่างไม่รู้จักย่อท้อ พ่อขอขอบใจต่อการเป็นพยานของท่าน ขอขอบใจ
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาเยาวชน คนชรา คนป่วย และคนที่เพิ่งแต่งงาน วันนี้เป็นวันแรกของเทศกาลมหาพรต ขอให้เราทั้งหลายจงเตรียมจิตใจด้วยการรับฟังพระวาจาของพระเจ้า และด้วยการดูแลเอาใจใส่บรรดาพี่น้องที่ยากจนขัดสน เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลาในเทศกาลนี้เป็นโอกาสแห่งการกลับใจและการฟื้นฟูชีวิตจิตภายใน
ขอให้เราทั้งหลายอย่าลืมยูเครนที่ถูกเบียดเบียนทำร้าย อย่าลืมปาเลสไตน์และอิสราเอลซึ่งต่างทุกข์ทรมานมาแล้วมากมาย ขอให้เราอธิษฐานภาวนาเพื่อพี่น้องชายหญิงที่ต้องทนทุกข์จากสงคราม ขอให้เราเดินหน้าไปบนเส้นทางแห่งการกลับใจ ด้วยการฟังพระวาจาของพระเจ้า ด้วยการดูแลพี่น้องที่ลำบากยากจน และให้เราเดินหน้าอธิษฐานภาวนากันให้มาก ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อวอนขอให้มีสันติภาพในโลก
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟรานซิส
พี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนเรื่องคุณธรรมและพยศชั่วประการต่าง ๆ บัดนี้เราจะพิจารณาเรื่องความเกียจคร้าน [ถึงแม้คำนี้จะมีความหมายถึงความขี้เกียจ] แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความเกียจคร้านคือความไร้อารมณ์อย่างลึกซึ้งในทางฝ่ายจิต ซึ่งแสดงออกมาเป็นความไม่รู้จักพึงพอใจ และการหลีกเลี่ยงไม่ยอมตั้งใจที่จะภาวนาและเติบโตในความสัมพันธ์กับพระเจ้า จารีตชีวิตนักพรต[เรียกความเกียจคร้านว่าเป็น] “ปีศาจยามเที่ยงวัน” และ[ขณะเดียวกันก็]สอนด้วยว่า ความเพียรทนแห่งความเชื่อ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเอาชนะความเกียจคร้าน สิ่งนี้รวมถึงการยอมรับความยากจน[ฝ่ายจิต อย่างที่เรียกกันว่าเป็น] “คืนอันมืดมิดของวิญญาณ” ด้วย หากว่าเราทำได้เช่นนี้ พระหรรษทานจากพระเจ้าก็จะช่วยให้เราได้รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระองค์ และยังจะช่วยให้เรามุ่งหน้าต่อไปเพื่อแสวงหาพระเจ้า บรรดานักบุญได้แสดงให้เราเห็นว่า ความเพียรพยายามในช่วงเวลาแห่งการผจญ ย่อมช่วยทำให้เราหันไปวางเป้าหมายที่เป็นไปได้สำหรับชีวิตในแต่ละวันของเรา ถึงแม้ว่าเป้าหมายนั้นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ทั้งยังช่วยผลักดันให้เราพึ่งพาพระเยซูเจ้า ผู้ทรงประทับอยู่กับเราเสมอ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)