สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (17) พระจิตและเจ้าสาวพร้อมกันกล่าวว่า “เชิญเสด็จมาเถิด” : พระจิตเจ้ากับความหวังของคริสตชน
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
พวกเราได้มาถึงครั้งสุดท้ายของการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้ากับพระศาสนจักร ในวันนี้ เรื่องสุดท้ายที่เราจะไตร่ตรอง คือเรื่อง “พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา” ซึ่งเป็นหัวข้อการเรียนคำสอนต่อเนื่องนี้ ถ้อยคำในหัวข้ออันนี้มาจากข้อความท่อนท้ายสุดของพระคัมภีร์ในหนังสือวิวรณ์ ซึ่งกล่าวว่า “พระจิตเจ้าตรัสพร้อมกับเจ้าสาว[ของลูกแกะ] กล่าวว่า ‘เชิญเสด็จมาเถิด’” (วว. 22,17) ซึ่งถ้อยคำนี้กล่าวกับใคร คำตอบคือ พระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ นอกจากนี้ ทั้งนักบุญเปาโล (เทียบ 1 คร. 16,22) และถ้อยคำในหนังสือเรื่อง “ดีดาเค” ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคอัครสาวก ต่างก็ได้บ่งชี้ว่า เวลาที่คริสตชนยุคแรกมาชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรม ก็จะมีการกล่าวคำร่ำร้องเป็นภาษาอาราเมอิกว่า “มารานา ทา” ซึ่งมีความหมายว่า “พระเจ้าข้า เชิญเสด็จมาเถิด” นี่เป็นคำอธิษฐานภาวนาถึงพระคริสตเจ้า วอนขอให้พระองค์เสด็จมา
เบื้องหลังของคำวิงวอนนี้ในยุคแรกเริ่ม เป็นสิ่งที่เราอาจเรียกในทุกวันนี้ได้ว่า เป็นเรื่องอันตวารวิทยา [เกี่ยวกับวาระสุดท้ายของจักรวาล] เพราะว่าคำกล่าวนี้แสดงออกซึ่งความหวังอันร้อนรนที่รอคอยให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมาอีกครั้ง ทั้งคำร่ำร้องนี้ และความหวังที่คำร่ำร้องอันนี้แสดงออก ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เคยดับสูญไปในพระศาสนจักร เพราะแม้แต่ในพิธีมิสซาทุกวันนี้ หลังจากการเสกศีล พระศาสนจักรก็จะประกาศ[พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ คือ]การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า “ขณะที่หวังจะได้รับความสุข และรอรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้าทั้งหลาย” สิ่งนี้แสดงถึงการที่พระศาสนจักรรอคอยให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรามุ่งหวังรอคอยไม่ได้มีแค่การเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในเวลาสิ้นพิภพเท่านั้น แต่พระศาสนจักรก็ยังมีความหวังให้พระองค์เสด็จมาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ขณะที่พระศาสนจักร “กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้” ด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด ความหวังเช่นนี้คือสิ่งที่พระศาสนจักรนึกถึงในยามที่พระศาสนจักรร่ำร้องถึงพระเยซูเจ้าว่า “เชิญเสด็จมาเถิด” โดยได้รับแรงกระตุ้นจากพระจิตเจ้า
ในคำว่า “เชิญเสด็จมา” ที่เป็นคำร่ำร้องของพระศาสนจักร ได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง หรือที่เราน่าจะกล่าวว่า เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งซึ่งเปี่ยมไปด้วยความหมาย กล่าวคือ คำว่า “พระเจ้าข้า เชิญเสด็จมาเถิด” ที่เราพูดกันเป็นประจำนั้น นอกจากจะกล่าวกับพระเยซูเจ้าแล้ว ยังเป็นการกล่าวกับพระจิตเจ้าด้วย พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ร่ำร้อง และในตอนนี้ พวกเราเองก็ร่ำร้องถึงพระองค์เช่นกัน คำว่า “เชิญเสด็จมาเถิด” เป็นคำแรกภายในบทเพลงและบทภาวนาเกือบทั้งหมดที่พระศาสนจักรร้องหาพระจิตเจ้า เช่นบท Veni Creator และในบท “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” (Veni Sancte Spiritus) ซึ่งเป็นบทเสริม (sequence) ในมิสซาสมโภชพระจิตเจ้า ตลอดจนบทภาวนาอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนแต่เริ่มด้วยคำว่า เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะว่าหลังจากที่พระเยซูเจ้าฟื้นคืนพระชนม์ชีพ[และเสด็จสู่สวรรค์]แล้ว พระจิตเจ้าก็ได้ทรงเป็น “alter ego” ที่แท้จริงของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ทรงกระทำกิจการแทนพระเยซูเจ้า ทำให้พระเยซูเจ้าประทับอยู่และทรงกระทำกิจการในพระศาสนจักร พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ที่ “ทรงประกาศให้ท่านรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น” (เทียบ ยน. 16,13) ทั้งยังทำให้ผู้คนปรารถนาและเฝ้ารอคอยเหตุการณ์เหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทั้งนี้ รวมถึงภายในแผนการแห่งความรอดด้วย
พระจิตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความหวังของคริสตชน ทำให้ความหวังนี้หลั่งไหลออกมาเหมือนน้ำที่ไม่รู้จักเหือดแห้ง นักบุญเปาโลได้กล่าววาจาหนึ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งไว้ว่า “ขอพระเจ้าแห่งความหวัง โปรดบันดาลให้ท่านทั้งหลายเปี่ยมด้วยความยินดีและสันติทุกประการในการที่ท่านมีความเชื่อ เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะได้มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า” (เทียบ รม. 15,13) หากว่าพระศาสนจักรเป็นเรือลำหนึ่ง พระจิตเจ้าก็ทรงเป็นใบเรือที่ทำให้พระศาสนจักรเคลื่อนที่และเดินหน้าไปในท้องทะเลแห่งประวัติศาสตร์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
คำว่า ความหวัง ไม่ได้เป็นเพียงคำพูดว่างเปล่า ไม่ได้เป็นความปรารถนาเลื่อนลอยของเราที่ว่าอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปในทางที่ดี หากแต่เป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะความหวังนี้ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์ที่พระเจ้าทรงมีต่อพระสัญญาทั้งหลายของพระองค์ ความหวังจึงถูกเรียกว่าเป็นคุณธรรมทางเทววิทยาอย่างหนึ่ง เหตุว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ซึมซาบยังตัวเรา และเป็นสิ่งที่พระเจ้าเองทรงรับประกัน [อย่างไรก็ตาม] ความหวังไม่ใช่คุณธรรมที่ทำให้คนอยู่เฉย ๆ เอาแต่รออย่างเดียว หากแต่เป็นคุณธรรมเชิงรุกอย่างสูงสุดที่จะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจริงได้อย่างที่หวัง มี[บาทหลวง]คนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยคนยากจน เขาได้เขียนเอาไว้ว่า “เสียงเรียกร้องของบรรดาคนยากจน มีต้นกำเนิดคือพระจิตเจ้า พระองค์ทรงเป็นพละกำลังที่[พระเจ้า]ประทานให้แก่ผู้ที่ไม่มีเรี่ยวแรง พระองค์ทรงนำหน้าการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการปลดปล่อย และเพื่อทำให้ผู้คนที่ถูกกดขี่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์” (โฌเซ กงแบล็ง, พระจิตเจ้ากับการปลดปล่อย, อัสซีซี ปี 1989, หน้า 236)
ผู้ที่เป็นคริสตชนย่อมไม่อาจพึงพอใจอยู่แค่กับการมีความหวังเท่านั้น แต่เขาจะต้องแพร่กระจายความหวังไปสู่ผู้อื่น ต้องเป็นผู้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังด้วย ความหวังเป็นของขวัญที่สวยงามที่สุดที่พระศาสนจักรอาจมอบให้แก่มนุษยชาติทั้งมวลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกำลังขัดขวางไม่ให้เราเดินหน้าไปได้เลยก็ตาม
นักบุญเปโตร ผู้เป็นอัครสาวก ได้เตือนใจคริสตชนในยุคแรกไว้ว่า “จงถือองค์พระผู้เป็นเจ้า คือพระคริสตเจ้า เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ในจิตใจของท่าน จงพร้อมเสมอที่จะให้คำอธิบายแก่ทุกคนที่ต้องการรู้เหตุผลแห่งความหวังของท่าน” แต่ท่านได้แนะนำเพิ่มเติมอย่างหนึ่งว่า “จงทำเช่นนี้ด้วยความอ่อนโยนและด้วยความเคารพยำเกรง” (เทียบ 1 ปต. 3,15-16) เหตุผลเรื่องนี้เป็นเพราะว่า สิ่งที่โน้มน้าวผู้คนได้ไม่ใช่น้ำหนักของคำกล่าวอ้างและให้เหตุผล หากแต่เป็นความรักที่เรารู้จักใส่เข้าไปในคำกล่าวอ้างเช่นนี้ต่างหาก นี่คือรูปแบบของการประกาศข่าวดีที่สำคัญที่สุดและได้ผลที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้อีกด้วย
พี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้พระจิตเจ้าโปรดประทานความช่วยเหลือในทุกเมื่อ ให้เราทั้งหลาย “มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม เดชะพระอานุภาพของพระจิตเจ้า” ด้วยเทอญ (เทียบ รม. 15,13) ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
ในแต่ละวัน พ่อกำลังติดตามสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในซีเรียซึ่งกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่แสนเปราะบางในประวัติศาสตร์ พ่อหวังว่าจะมีการแสวงหาทางออกในทางการเมือง เพื่อที่จะส่งเสริมเสถียรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศซีเรียให้ได้อย่างมีความรับผิดชอบ และไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความแตกแยกมากยิ่งไปกว่านี้ พ่ออธิษฐานภาวนา อาศัยการเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์พรหมจารี ขอให้ประชาชนชาวซีเรียจงได้มีชีวิตอย่างสันติและปลอดภัยในประเทศอันเป็นที่รักของพวกเขา และขอให้ผู้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ จงก้าวไปด้วยกันด้วยมิตรภาพและความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศซีเรียที่ต้องบอบช้ำจากสงครามที่ดำเนินมานานหลายปี
พ่อขอทักทายบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พ่อขออธิษฐานภาวนาให้เทศกาลการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าเป็นช่วงเวลาแห่งพระพร ทั้งสำหรับลูกแต่ละคน และสำหรับครอบครัวของลูก ในการที่พวกลูกจะเตรียมตัวเตรียมจิตใจรับเสด็จพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าและเป็นเจ้าแห่งสันติ ที่จะเสด็จมาบังเกิดในวันคริสตสมภพ ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคำนึงถึงบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน ในช่วงเวลาของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้ ขอให้ลูกทุกคนก้าวเดินไปด้วยความเชื่อมั่นวางใจต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อที่จะไปพบพระองค์ ผู้ที่กำลังจะเสด็จมาเพื่อความรอดของพวกเรา
พ่อมีความคิดคำนึงเสมอถึงยูเครนที่ถูกเบียดเบียนทำร้ายและต้องทนทุกข์อย่างมากมายจากสงครามในตอนนี้ ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อที่จะได้มีทางออก นอกจากนี้ พ่อยังคิดคำนึงถึงปาเลสไตน์ อิสราเอล และเมียนมาด้วย ขอให้สันติภาพจงกลับมาอีกครั้ง ขอให้สันติภาพจงมีขึ้น สงครามย่อมเป็นความพ่ายแพ้เสมอ ขอให้พวกเราจงอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องครั้งสุดท้ายเรื่องพระจิตเจ้ากับพระศาสนจักร พวกเราจะไตร่ตรองพิจารณาเกี่ยวกับพระจิตเจ้า ในฐานะที่ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความหวังของพระศาสนจักรที่กำลังรอคอยให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับมาภายในพระสิริรุ่งโรจน์ และรอคอยให้แผนการของพระองค์สำเร็จสมบูรณ์ในวันสิ้นพิภพ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ปิดท้ายด้วยข้อความที่กล่าวถึงพระจิตเจ้าพร้อมด้วยพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว ที่ร่ำร้องด้วยความหวังอันร้อนรนว่า “ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว. 22,20; เทียบ วว. 22,17) ในทำนองเดียวกัน ในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรก็มีการวอนขอพระจิตเจ้าด้วยคำอธิษฐานซึ่งมีมาแต่โบราณว่า “เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิตเจ้า” อันเป็นการร้องขอให้พระจิตเจ้าโปรดเกื้อหนุนซึ่งความเชื่อมั่นวางใจที่เราทั้งหลายมีต่อพระสัญญาของพระคริสตเจ้า ตลอดจนให้เรามีพละกำลังที่จะทำตามภารกิจอย่างซื่อสัตย์ ในการเป็นพยานถึงความหวังที่มีการมอบเสนอไว้ภายในพระวรสาร ทั้งนี้ ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นคริสตชน นอกจากพวกเราจะถูกเรียกให้มีความหวังแล้ว พวกเรายังถูกเรียกให้แพร่กระจายความหวังไปสู่ผู้อื่นด้วย เพื่อที่มนุษย์ทุกคนจะได้รู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้า และมีความปีติยินดีในการรอคอยการมาถึงของพระอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งเป็นพระอาณาจักรแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความยุติธรรม และสันติสุข
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)