สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 4 ธันวาคม 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (16) การประกาศพระวรสารเดชะพระจิตเจ้า : พระจิตเจ้ากับการประกาศข่าวดี
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
หลังจากที่พวกเราได้พิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับกิจการของพระจิตเจ้า ทั้งที่เป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และที่เป็นพระพรพิเศษกันไปแล้ว ในการเรียนคำสอนวันนี้เราจะพิจารณากิจการของพระจิตเจ้าในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ภายในการประกาศพระวรสาร ซึ่งก็คือเรื่องบทบาทของการเทศน์สอนภายในพระศาสนจักร
จดหมายฉบับแรกของนักบุญเปโตร ได้ให้นิยามบรรดาอัครสาวกไว้ว่าเป็น “ผู้ประกาศข่าวดีแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ท่านรู้ เดชะพระจิตเจ้า” (1 ปต. 1,12) พวกเราสามารถเห็นได้ว่าภายในคำกล่าวเช่นนี้มีสองสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของการเทศน์สอนในคริสต์ศาสนา ซึ่งได้แก่ เนื้อหา คือพระวรสาร และวิธีการ ซึ่งก็คือพระจิตเจ้า พ่อจะพูดบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสองเรื่องนี้ต่อไปป
คำว่า “พระวรสาร” หรือ “ข่าวดี” ในพันธสัญญาใหม่ มีความหมายหลัก ๆ สองอย่างด้วยกัน [ความหมายแรก]เป็นการกล่าวถึงหนังสือพระวรสารที่มีอยู่สี่เล่มในสารบบพระคัมภีร์ ได้แก่ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว นักบุญมาร์โก นักบุญลูกา และนักบุญยอห์น และพระวรสาร[หรือข่าวดี]ในนิยามเช่นนี้ ย่อมหมายถึงข่าวดีที่ประกาศโดยพระเยซูเจ้าระหว่างที่พระองค์ทรงมีชีวิตในโลกนี้ แต่หลังจากเหตุการณ์แห่งปัสกา คำว่า “พระวรสาร” [หรือ “ข่าวดี”] ก็ได้มีความหมายอย่างใหม่ หมายถึง ข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ซึ่งก็คือพระธรรมล้ำลึกแห่งการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของ[พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็น]องค์พระผู้เป็นเจ้า ความหมายอย่างหลังนี้เป็นสิ่งที่นักบุญเปาโลพูดถึงเวลาที่ท่านใช้คำว่า “ข่าวดี” ตอนที่ท่านเขียนไว้เช่นนี้ว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องละอายต่อข่าวดี เพราะนี่คืออานุภาพของพระเจ้าซึ่งนำความรอดพ้นให้แก่ทุกคนที่มีความเชื่อ” (รม. 1,16)
ทั้งการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้าและการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกในเวลาต่อมา ได้รวมถึงเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวกับหน้าที่ทั้งหลายในทางศีลธรรมที่แตกหน่อมาจากพระวรสาร เริ่มตั้งแต่เรื่องพระบัญญัติสิบประการ เรื่อยมาจนถึงพระบัญญัติ “ใหม่” แห่งความรัก แต่ถ้าพวกเราไม่อยากกลับไปมีความคิดแบบผิด ๆ อย่างหนึ่งที่นักบุญเปาโลเคยตำหนิไว้ ซึ่งก็คือ ความคิดที่ให้ความสำคัญต่อพระบัญญัติมากกว่าพระหรรษทาน และให้ความสำคัญต่อกิจการมากกว่าความเชื่อนั้น ในทุก ๆ ครั้ง พวกเราก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากจุดเริ่มต้น คือ คำประกาศเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ทรงกระทำแล้วเพื่อเราทั้งหลาย ดังนั้น สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) จึงได้เน้นอย่างมาก[ว่า พวกเราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกต่อ] “การประกาศ” หรือ kerygma [ในภาษากรีก]ซึ่งเป็นพื้นฐานของแนวทางปฏิบัติทางศีลธรรมทุกอย่าง
เป็นความจริงว่า “ในการสอนคำสอนก็เช่นกัน เราทั้งหลายได้ค้นพบอีกครั้งซึ่งบทบาทพื้นฐานของคำประกาศแรก หรือ kerygma อันเป็นสิ่งที่สมควรต้องทำให้เป็นศูนย์กลางของกิจการทั้งหลายที่เป็นการประกาศข่าวดี ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของความพยายามทั้งหลายเพื่อฟื้นฟูพระศาสนจักร … คำประกาศแรกนี้ มิได้เป็นคำประกาศ ‘แรก’ เพียงเพราะเป็นสิ่งที่มีมาแต่แรกเริ่ม และต่อมาก็อาจถูกหลงลืมหรือแทนที่โดยสิ่งอื่นที่สำคัญกว่านั้นได้ หากแต่เป็นคำประกาศแรกในความหมายเชิงคุณภาพ กล่าวคือ เป็นคำประกาศที่เป็นหลักสำคัญอย่างแรก เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายสมควรต้องได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรูปแบบต่าง ๆ กัน เป็นสิ่งที่เราทั้งหลายจะต้องนำมาประกาศไม่ว่าโดยทางใดก็ทางหนึ่งภายในการสอนคำสอนทุกระดับและทุกขณะ … เราทั้งหลายไม่ควรคิดว่า การอบรมเนื้อหาที่ดู ‘แน่นอนเป็นรูปธรรม’ ในการสอนคำสอน มีลำดับความสำคัญสูงกว่าการประกาศ kerygma เพราะว่า[อันที่จริงแล้ว] ไม่มีสิ่งใดที่แน่นอนเป็นรูปธรรม ล้ำลึก มีความหมาย และเปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณ ยิ่งไปกว่าคำประกาศแรกอันนี้” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii Gaudium, ข้อ 164-165) ซึ่งคำประกาศแรกอันนี้ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า kerygma นั่นเอง
ในตอนนี้พวกเราได้รับรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของการประกาศแบบคริสต์ศาสนาไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงอยู่เสมอ คือ วิธีการของการประกาศ การประกาศพระวรสารจะต้องกระทำ “เดชะพระจิตเจ้า” (1 ปต. 1,12) พระศาสนจักรจะต้องกระทำอย่างที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนเมื่อครั้งที่ทรงเริ่มเทศน์สอนต่อสาธารณะ พระองค์ตรัสว่า “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก. 4,18) การเทศน์สอนที่อาศัยการเจิมของพระจิตเจ้า ย่อมหมายถึงการถ่ายทอดชีวิตและความเชื่อมั่นแห่งความเชื่อของพวกเรา ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดความคิดและข้อคำสอนด้วย และยังหมายถึงการประกาศโดย “มิใช่คำพูดชวนเชื่ออย่างชาญฉลาด แต่เป็นถ้อยคำแสดงพระอานุภาพของพระจิตเจ้า” (1 คร. 2,4) ดังที่นักบุญเปาโลได้เขียนเอาไว้
บางคนอาจจะแย้งว่า การพูดนั้นง่าย แต่การปฏิบัติจริงจะทำได้อย่างไร หากว่าการปฏิบัติจริงนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง แต่ขึ้นอยู่กับการเสด็จมาของพระจิตเจ้า [อย่างไรก็ตาม] ที่จริงแล้วมีสิ่งหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง หรืออาจพูดได้ว่ามีสองสิ่ง ซึ่งพ่อจะขอกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้อย่างสั้น ๆ สิ่งแรกคือการอธิษฐานภาวนา เมื่อผู้ใดอธิษฐานภาวนา พระจิตเจ้าย่อมเสด็จมาหาผู้นั้น ดังที่มีเขียนไว้ว่า เพราะพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ย่อม “ประทานพระจิตเจ้าแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์” (ลก. 11,13) ยิ่งถ้าเป็นการที่พวกเราวอนขอพระจิตเจ้าเพื่อจะนำข่าวดีของพระบุตรของพระองค์ไปประกาศได้ [พระเจ้าก็ย่อมจะประทานพระจิตเจ้าให้พวกเราอย่างแน่นอน] วิบัติย่อมมีแก่ผู้ที่เทศน์สอนผู้อื่นโดยที่ตัวเองไม่ได้อธิษฐานภาวนา เพราะคนแบบนี้ย่อมจะกลายเป็น “ฉาบหรือฉิ่งที่ส่งเสียงอึกทึก” (1 คร. 13,1) แบบที่นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้
ดังนั้น สิ่งแรกที่ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ก็คือการอธิษฐานภาวนา เพื่อให้พระจิตเจ้าเสด็จมา[หาเรา] ส่วนสิ่งที่สองนั้น คือ การไม่มุ่งประกาศตัวเราเอง หากแต่มุ่งประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ 2 คร. 4,5) ซึ่งสิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเทศน์ บางครั้งอาจมีบทเทศน์ยาว ๆ อาจเป็นยี่สิบนาที หรือสามสิบนาที [หรืออาจยาวกว่านั้นอีก] แต่พ่ออยากเรียกร้องต่อบรรดาผู้เทศน์ว่า จงเทศน์สอนความคิด ความรู้สึก และเทศน์ให้ผู้ฟังนำเรื่องที่ได้ฟังไปปฏิบัติ โดยหากว่าบทเทศน์ยาวเกินแปดนาที เนื้อหาของการเทศน์ก็จะเริ่มเจือจางไป ทำให้ผู้คนไม่เข้าใจ พ่ออยากพูดเรื่องนี้กับบรรดาคนที่เทศน์สอน พ่อเห็นได้เลยว่าการที่พ่อพูดแบบนี้เป็นสิ่งที่ถูกใจลูก ๆ บางครั้งเราอาจเห็นบางคนที่พอบทเทศน์เริ่มเมื่อไหร่ เขาก็ออกไปสูบบุหรี่ข้างนอก แล้วจึงค่อยกลับเข้ามาทีหลัง พ่ออยากร้องขอให้มีการเทศน์โดยสื่อถึงความคิด ความรู้สึก และมีการเรียกร้องให้นำไปปฏิบัติจริง และทั้งหมดนี้จะต้องไม่เกินสิบนาที นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
[ขอให้เราย้อนกลับมายัง]เรื่องที่สองที่พ่อตั้งใจจะพูด ซึ่งก็คือการไม่มุ่งประกาศตนเอง แต่มุ่งประกาศพระเยซูเจ้า นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องพูดกันยืดยาว เพราะว่าทุกคนที่ทำงานประกาศข่าวดีย่อมรู้กันอยู่แล้วในทางปฏิบัติว่า ควรทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ให้เป็นการประกาศเรื่องตนเอง พ่อขอพูดสั้น ๆ เกี่ยวกับประเด็นหนึ่งที่เป็นการนำเงื่อนไขนี้ไปปฏิบัติจริง ประเด็นนี้คือเรื่องที่ว่า การไม่มุ่งประกาศตัวเราเองนั้น ย่อมหมายความถึงการยินดีที่จะให้ความร่วมมือต่อความคิดริเริ่มบางอย่างในระดับประชาคมเมื่อถูกร้องขอ ตลอดจนการดำเนินตามความคิดริเริ่มที่ตนมีหน้าที่กระทำด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง โดยให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าการดำเนินความคิดริเริ่มที่เราผลักดันเอง และนำไปสู่ชื่อเสียงของเราเอง
ขอให้พระจิตเจ้าโปรดช่วยเหลือเราทั้งหลาย และโปรดสอนให้พระศาสนจักรประกาศพระวรสารต่อผู้คนชายหญิงในยุคสมัยของพวกเราด้วยแนวทางดังที่ได้กล่าวไปแล้วด้วยเทอญ ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอทักทายบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ พ่อขออธิษฐานภาวนาเพื่อให้เทศกาลการเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าเป็นช่วงเวลาแห่งพระพร ทั้งสำหรับลูกแต่ละคน และสำหรับครอบครัวของลูก ในการที่พวกลูกจะเตรียมตัวเตรียมจิตใจรับเสด็จพระผู้ไถ่โลกที่จะทรงบังเกิดในวันคริสตสมภพ ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคำนึงถึงบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าที่เพิ่งจะเริ่มต้นนี้เป็นโอกาสที่เราทั้งหลายจะได้เห็นถึงแบบอย่างอันสว่างไสวของแม่พระ พรหมจารีผู้ปราศจากมลทินทั้งปวง ขอให้แม่พระโปรดมอบกำลังใจให้ลูกทั้งหลายก้าวเดินไปโดยยึดมั่นอยู่กับพระคริสตเจ้า และขอให้ท่านโปรดเกื้อหนุนความหวังของพวกลูกด้วย
พ่อขอร้องให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพต่อไป เพราะสงครามย่อมเป็นความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติ สงครามไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร สงครามเป็นสิ่งเลวร้าย และนำมาซึ่งการทำลายล้าง ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อประเทศต่าง ๆ ที่กำลังมีสงคราม ขอให้พวกเราอย่าลืมยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย ขอให้เราอย่าลืมปาเลสไตน์ อิสราเอล เมียนมา และที่อื่นด้วย มีเด็กเล็ก ๆ เสียชีวิตมากมาย มีผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตมากมาย ขอให้พวกเราภาวนาเพื่อที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะโปรดให้เราทั้งหลายได้ไปถึงสันติภาพ ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพเสมอ
พ่ออวยพรลูกทุกคน
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้าในชีวิตของพระศาสนจักร วันนี้เราจะพิจารณาถึงบทบาทของพระจิตเจ้าภายในพันธกิจของพระศาสนจักรในการประกาศข่าวดี จดหมายฉบับแรกของนักบุญเปโตรได้กล่าวบรรยายไว้ว่า บรรดาอัครสาวกเป็น “ผู้ประกาศข่าวดี เดชะพระจิตเจ้า” (เทียบ 1 ปต. 1,12) แน่นอนว่าพระวรสารคือข่าวที่น่าชื่นชมยินดีเรื่องการมาถึงของพระอาณาจักรพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศ และเป็นสิ่งที่บรรดาอัครสาวกได้ยืนยันผ่านการเทศน์สอนเรื่องการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าสู่ชีวิตใหม่ “ข่าวดี” อันนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนคำสอนและการอบรมเรื่องอื่นทุกเรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่องศีลธรรมของคริสตชนในการกระทำตนเป็นศิษย์ด้วย การเทศน์สอนพระวรสารเป็นสิ่งที่กระทำโดย “เดชะพระจิตเจ้า” ผู้ทรงทำให้เราทั้งหลายกล่าวสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ และเจริญชีวิตได้ในแนวทางที่สะท้อนถึงสิ่งที่พวกเราพูดสอน ดังนั้น ขอให้เราทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนา เพื่อที่พระจิตเจ้าจะทรงบันดาลให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้มีความปีติยินดี ความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ และความน่าเชื่อถือ ภายในการเป็นพยานถึงพระผู้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ ตลอดจนการเป็นพยานถึงความจริงแห่งพระวรสารของพระองค์ซึ่งเป็นสิ่งบันดาลความรอด
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)