สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไปณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (13) จดหมายที่เขียนด้วยพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต : แม่พระกับพระจิตเจ้า
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
พระจิตเจ้าทรงใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร เช่น พระวาจาของพระเจ้า ศีลศักดิ์สิทธิ์ และการอธิษฐานภาวนา แต่มีวิธีการอย่างหนึ่งที่พิเศษอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ กิจศรัทธาต่อแม่พระ ในธรรมประเพณีของคาทอลิกมีคำขวัญอย่างหนึ่งที่กล่าวว่า “Ad Iesum per Mariam” ซึ่งแปลว่า “ไปยังพระเยซูเจ้า ผ่านทางพระแม่มารีย์” แม่พระช่วยให้เราทั้งหลายได้เห็นพระเยซูเจ้า ท่านเปิดประตูให้เราเสมอ ท่านเป็นมารดาผู้จูงมือพวกเราไปหาพระเยซูเจ้า แม่พระไม่เคยชี้บอกใครมาหาตัวท่านเองเลย เพราะท่านชี้ทางไปยังพระเยซูเจ้า[เสมอ พวกเราต้องมีความเข้าใจอย่างหนึ่งในเรื่องกิจศรัทธาต่อแม่พระ กล่าวคือ กิจศรัทธาต่อแม่พระนั้นเป็นการที่]เราไปหาพระเยซูเจ้าโดยให้แม่พระจูงมือเราไป ส่วนผู้ที่เป็นตัวกลางแท้จริงระหว่างพวกเรากับพระคริสตเจ้านั้นมีอยู่เพียงผู้เดียว คือ พระจิตเจ้า ดังที่พระเยซูเจ้าได้สอนพวกเราด้วยพระองค์เอง ขณะที่แม่พระนั้นเป็นหนทางหนึ่งที่พระจิตเจ้าทรงนำพวกเราไปหาพระเยซูเจ้า (เทียบ เฮริแบร์ท มือห์เลิน, พระบุคคลทิพย์: พระศาสนจักรในฐานะธรรมล้ำลึกของพระจิตเจ้า, พาเดอร์บอร์น, ปี 1967: ฉบับภาษาอิตาลี, โรม, ปี 1968, หน้า 575)
นักบุญเปาโลได้ให้นิยาม[เกี่ยวกับพระศาสนจักร]เอาไว้ว่า [ประชาคมคริสตชน] “เป็นจดหมายของพระคริสตเจ้า เป็นจดหมายที่เราเขียน มิใช่เขียนด้วยน้ำหมึก แต่เขียนด้วยพระจิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต มิได้เขียนไว้บนแผ่นจารึกที่เป็นศิลา แต่เขียนไว้ในแผ่นจารึกที่เป็นดวงใจของมนุษย์” (เทียบ 2 คร. 3,3) และแม่พระ ผู้ซึ่งเป็นศิษย์คนแรกและเป็นภาพแทนพระศาสนจักร ก็เป็นจดหมายที่เขียนโดยพระจิตเจ้าผู้ทรงชีวิตเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เอง แม่พระจึงเป็น “[จดหมายที่]มนุษย์ทุกคนรู้และอ่านได้” (เทียบ 2 คร. 3,2) แม้ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะเป็น “คนเล็กน้อยต่ำต้อย” ที่อ่านหนังสือเทววิทยาไม่เข้าใจก็ตาม ดังที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า ธรรมล้ำลึกแห่งพระอาณาจักรถูกปิดบังจากบรรดาผู้มีปรีชาและรอบรู้ แต่กลับถูกเปิดเผยให้แก่บรรดา “คนเล็กน้อยต่ำต้อย” (เทียบ มธ. 11,25)
เมื่อแม่พระตอบรับที่จะเป็นมารดาของพระเยซูเจ้า และกล่าวกับทูตสวรรค์ต่อไปว่า “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” นั้น ดูราวกับเป็นการที่แม่พระกล่าวถึงพระเจ้าว่า “ดิฉันอยู่ที่นี่ ดิฉันเป็นแผ่น[ขี้ผึ้ง]สำหรับ[ให้พระเจ้า]ทรงเขียน ขอให้พระเจ้าทรงเขียนสิ่งใด ๆ ก็ได้ตามพระประสงค์ ขอให้พระองค์ทรงกระทำกับดิฉันตามน้ำพระทัยทุกอย่างของพระองค์ด้วยเถิด” (เทียบ โอริเยน, คำอธิบายพระวรสารของนักบุญลูกา, แผ่นที่ 18 รวมอยู่ในหนังสือชุด Die Griechischen Christlichen Schriftsteller (GCS) เล่ม 49, หน้า 227) ในสมัยนั้น ผู้คนเขียนสิ่งต่าง ๆ บนแผ่นไม้ที่เคลือบด้วยขี้ผึ้ง ดังนั้นถ้าเป็นสมัยนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า แม่พระได้มอบตนแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นเหมือนกระดาษเปล่าที่พระองค์จะทรงเขียนสิ่งใดก็ได้ตามพระประสงค์ นักตีความพระคัมภีร์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า การที่แม่พระตอบรับต่อทูตสวรรค์นั้น นับว่าเป็น “จุดสูงสุดแห่งการกระทำทางศาสนาทั้งหลายทั้งปวงที่ผู้คนอาจกระทำได้ต่อหน้าพระเจ้า เพราะการที่ท่านทำเช่นนี้ นับเป็นการแสดงออกอย่างสูงสุดว่า ท่านยอมตนเพื่อให้พระเจ้าทรงใช้งาน แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็มีความพร้อมอย่างกระตือรือร้นด้วย [กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านได้แสดงออกซึ่ง]การสละตนจนหมดสิ้นอย่างล้ำลึกที่สุด ที่มาพร้อมกับความบริบูรณ์อันยิ่งใหญ่ที่สุด” (ไฮนซ์ เชือร์มันน์, พระวรสารของนักบุญลูกา, ไฟรบวร์คอิมไบรส์เกา, ปี 1968: ฉบับภาษาอิตาลี, เบรสชา, ปี 1983 หน้า 154)
จากสิ่งเหล่านี้ เราจะเห็นได้ว่า[พระแม่มารีย์ ผู้เป็น]พระมารดาของพระเจ้า เป็นเครื่องมือหนึ่งภายในกิจการของพระจิตเจ้าในการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ [ถึงแม้ว่า]สิ่งต่าง ๆ ที่มีคนกล่าวและเขียนไว้เกี่ยวกับพระเจ้า พระศาสนจักร และความเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้น จะมีอยู่มากมายไม่รู้จบ ซึ่งน้อยคนนักที่สามารถอ่านและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้หมด หรืออาจไม่มีใครทำเช่นนี้ได้เลย แต่สิ่งที่แม่พระได้ยกมากล่าวไว้กลับมีเพียงไม่กี่คำ และเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนำไปกล่าวเองได้ในทุกโอกาส แม้แต่คนที่ไม่ได้มีความรู้มากมาย [คำกล่าวของแม่พระคือคำว่า] “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่” และ “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามน้ำพระทัยของพระองค์” แม่พระเป็นผู้ที่ได้ตอบรับต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า นอกจากนี้ แบบอย่างและการเสนอวิงวอนของท่านก็กระตุ้นให้เราทั้งหลายตอบรับต่อพระองค์ด้วยเหมือนกัน ในยามที่พวกเราต้องทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง หรือในยามที่มีอุปสรรคบางอย่างที่พวกเราต้องฟันฝ่าไป
ในประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย และโดยเฉพาะในสมัยนี้ พระศาสนจักรกำลังพบกับสถานการณ์แบบเดียวกับที่ประชาคมคริสตชนต้องเผชิญในทันทีหลังจากที่พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง พระศาสนจักรจะต้องไปประกาศพระวรสารต่อนานาชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง พระศาสนจักรก็กำลังรอคอย “อานุภาพจากเบื้องบน” เพื่อที่จะทำเช่นนี้ได้ [ในเรื่องนี้] ขอให้พวกเราอย่าลืม[ถ้อยคำ]ในหนังสือกิจการอัครสาวกที่กล่าวว่า ในเวลานั้น บรรดาศิษย์ได้มาชุมนุมกันโดยห้อมล้อม “พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (เทียบ กจ. 1,14)
จริงอยู่ที่ว่า ในห้องชั้นบนตอนนั้นมีผู้หญิงคนอื่น ๆ อยู่กับแม่พระ[และบรรดาศิษย์]เหมือนกัน แต่การที่แม่พระอยู่ที่นั่นในตอนนั้น เป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนกับคนอื่น ๆ กล่าวคือ ระหว่างแม่พระกับพระจิตเจ้า มีสายสัมพันธ์อันหนึ่งที่เป็นนิรันดรและไม่มีผู้ใดทำลายล้างได้ ซึ่งก็คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ “ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี” ดังที่พวกเราสวดกันในบทข้าพเจ้าเชื่อ ในเรื่องนี้ นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร ได้จงใจเน้นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือแม่พระตอนที่แม่พระรับสาร กับการที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาศิษย์ในวันเปนเตกอสเต [ดังจากเห็นได้จากการที่ท่าน]บรรยายทั้งสองเรื่องนี้โดยใช้สำนวนแบบเดียวกันหลายอย่าง
ในบทภาวนาหนึ่งของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี ท่านได้เรียกแม่พระว่าเป็น “บุตรหญิงและข้ารับใช้ของพระบิดาเจ้าสวรรค์ ราชาผู้ทรงสรรพานุภาพ” เป็น “พระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดของเราทั้งหลาย” และเป็น “เจ้าสาวของพระจิตเจ้า” (Fonti Francescane, Assisi 1986, no. 281.) [นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีได้เรียกแม่พระว่า] บุตรหญิงแห่งพระบิดา และเจ้าสาวของพระจิตเจ้า ซึ่งคงจะไม่มีคำพูดใดที่เรียบง่ายกว่านี้อีกแล้วที่จะอธิบายความสัมพันธ์พิเศษหนึ่งเดียวที่มีอยู่ระหว่างแม่พระกับพระตรีเอกภาพ
อย่างไรก็ตาม ภาพของแม่พระในฐานะ “เจ้าสาวของพระจิตเจ้า” ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องนำไปยึดถืออย่างเด็ดขาดตายตัว [เพราะนี่เป็นเพียงแค่ภาพ] แต่ว่าพวกเราต้องมองเห็นความจริงที่มีอยู่ภายในภาพเช่นนี้ และความจริงที่ว่านี้ก็สวยงามจริง ๆ แม่พระเป็นเจ้าสาว แต่ก่อนหน้านั้น ท่านเป็นศิษย์ของพระจิตเจ้า ท่านเป็นทั้งเจ้าสาวและศิษย์ ดังนั้น ขอให้เราจงเรียนรู้จากแบบอย่างของแม่พระ เพื่อที่เราจะได้รู้จักนอบน้อมเชื่อฟังการดลใจของพระจิตเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่พระจิตเจ้าบอกให้เรา “รีบลุกขึ้น” และไปช่วยผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ดังที่แม่พระได้กระทำในทันทีหลังจากที่ทูตสวรรค์จากท่านไป (เทียบ ลก. 1,39) ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอทักทายบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากอังกฤษ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มบาทหลวง ผู้ถวายตัว และนักศึกษาผู้เตรียมบวชเป็นบาทหลวงจากแทนซาเนีย ที่ได้เดินทางมาศึกษาที่กรุงโรมแห่งนี้ด้วย พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้ตลอดจนครอบครัวของลูก จงได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดคำนึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน พ่อขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้รับพละกำลังและความกล้าหาญภายในพระเจ้าทุก ๆ วัน เพื่อที่ลูกจะได้เจริญชีวิตตามกระแสเรียกแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นคริสตชนได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ ขอให้เราอย่าลืมยูเครนที่ถูกเบียดเบียนทำร้ายและกำลังทนทุกข์มากมายเหลือเกิน ขอให้เราอย่าลืมยูเครน ขอให้เราอย่าลืมปาเลสไตน์ อิสราเอล เมียนมา รวมทั้งประเทศต่าง ๆ อีกมากมายที่กำลังมีสงคราม ขอให้เราอย่าลืมผู้ลี้ภัยและผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์ ขอให้เราอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ เพราะสันติภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก จำเป็นอย่างมากจริง ๆ
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องพระจิตเจ้าภายในชีวิตของพระศาสนจักร ในวันนี้เราจะพิจารณาถึงความสัมพันธ์พิเศษหนึ่งเดียวระหว่างพระจิตเจ้ากับพระแม่มารีย์ แม่พระเป็นผู้ที่มีบทบาทพิเศษภายในการที่พระจิตเจ้าทรงกระทำกิจการเพื่อนำเราทั้งหลายไปหาพระเยซูเจ้า นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีได้เรียกแม่พระว่าเป็นเจ้าสาวของพระจิตเจ้า เพราะการที่ท่านตอบรับแผนการของพระเจ้าพระบิดา ได้ทำให้ท่านเป็นพระมารดาของพระบุตรพระเจ้า ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ [นอกจากนี้] พระจิตเจ้ายังเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวท่าน ทำให้ท่านกลายเป็นศิษย์คนแรกของพระเยซูเจ้า และเป็นแบบอย่างของความเป็นศิษย์แบบคริสตชนในทุกรูปแบบ ดังนั้น ขอให้การสถิตอยู่และการเสนอวิงวอนของแม่พระ จงสอนให้เราทั้งหลายรู้จักนอบน้อมเชื่อฟังเสียงกระตุ้นจากพระจิตเจ้าได้เหมือนกับท่าน พร้อมทั้งสอนให้เราแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าภายในการอธิษฐานภาวนา และเดินไปข้างหน้าด้วยความรักเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชายหญิงที่กำลังทุกข์ยากลำบากด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)