
คำสอน : ความกระตือรือร้นในการประกาศพระวรสาร: ความร้อนรนของผู้เชื่อในการประกาศข่าวดี (23) นักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก – หัวใจแห่งความรักที่เต้นอยู่ภายในชีวิตที่ซ่อนเร้น
เจริญพรมายังลูก ๆ และพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องนี้ เรากำลังทำความรู้จักกับการเป็นพยานของคริสตชนที่เปี่ยมด้วยความร้อนรนในการประกาศพระวรสาร ความร้อนรนในการเป็นอัครสาวก ความร้อนรนในการประกาศ ที่ผ่านมาเราได้พิจารณาคริสตชนหลายคนที่ได้เป็นแบบอย่างของความร้อนรนในการประกาศเช่นนี้ และในวันนี้ พ่ออยากพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ได้มีชีวิตด้วยความกระตือรือร้นอย่างลึกซึ้งต่อองค์พระเยซูเจ้าและต่อบรรดาพี่น้องที่ยากจนที่สุดของเขา ชายคนนี้คือนักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก ผู้ซึ่งได้ “ใช้ประสบการณ์อันแรงกล้าของตนในการได้สัมผัสกับพระเป็นเจ้า ในการออกเดินทางเปลี่ยนแปลงตัวเอง มุ่งสู่ความรู้สึกที่ว่าตนเป็นพี่น้องกับทุก ๆ คน” (สมณลิขิตเวียน Fratelli Tutti ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส, ข้อ 286)
อะไรคือ “เคล็ดลับ” ของนักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก อะไรคือเคล็ดลับในชีวิตของท่าน ท่านเองใช้ชีวิตวัยหนุ่มห่างไกลจากพระเป็นเจ้า โดยไม่เชื่อในอะไรอย่างอื่นนอกจากการแสวงหาความสุขสบายแบบบิดเบี้ยว หลังจากที่ท่านได้กลับใจยอมรับพระหรรษทานการให้อภัยของพระเป็นเจ้าภายในการรับศีลอภัยบาปแล้ว ท่านได้เปิดเผยเกี่ยวกับชีวิตแต่เดิมของท่านให้แก่เพื่อนคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อ[ในพระเป็นเจ้า] ท่านได้กล่าวกับเพื่อนคนนี้ถึงเหตุผลการมีชีวิตอยู่ของท่านเองว่า “พระเยซูแห่งนาซาเร็ธ ได้ทรงแย่งเอาหัวใจของฉันไป” (จดหมายถึงเพื่อนสมัยเรียนมัธยมปลาย การโต้ตอบจดหมายไปมากับกาเบรียล ตูร์ด์ (1874-1915), ปารีส 2010, หน้า 161) คำพูดเช่นนี้ของท่านนักบุญ ที่ภายหลังได้มาเป็นภราดา ได้เตือนใจเราว่า ก้าวแรกของการประกาศพระวรสารคือการมีพระเยซูเจ้าในหัวใจ คือการ “ทุ่มเททั้งใจ” ให้แก่พระองค์ หากสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น เราก็ย่อมจะไม่สามารถแสดงออกผ่านชีวิตของเราได้ และเราอาจเสี่ยงที่จะเอาแต่พูดคุยเกี่ยวกับตัวเราเอง เกี่ยวกับกลุ่มที่เราสังกัดอยู่ เกี่ยวกับหลักศีลธรรมบางอย่าง หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้น คือเราอาจพูดถึงแต่กฎเกณฑ์บางเรื่อง ถ้าเราทำเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้พูดเรื่องพระเยซูคริสต์ ไม่ได้พูดเรื่องความรักของพระองค์ ความเมตตาของพระองค์ พ่อเห็นว่าในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวอย่างใหม่บางอย่างที่พูดแสดงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับมนุษยชาติ พูดเรื่องจิตตารมณ์ของตัวเอง และเขารู้สึกว่าหนทางของเขาเป็นหนทางอย่างใหม่ แต่ทำไมลูกถึงไม่พูดเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า คนแบบนี้พูดหลายเรื่อง เรื่องการจัดระเบียบองค์กร เรื่องการเดินทางฝ่ายจิต แต่เขาไม่รู้จักพูดเรื่องพระเยซูเจ้า พ่อคิดว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราแต่ละคนจะถามตัวเองว่า เรามีพระเยซูเจ้าอยู่กลางใจเราหรือไม่ เราเคย “หลงใหลได้ปลื้ม” ในพระองค์ “จนลืมตัว” กันบ้างไหม
ท่านนักบุญหลงใหลในพระเยซูคริสต์จนถึงขั้นที่ว่า การที่ท่านรู้สึกถึงแรงดึงดูดจากพระองค์ ได้ทำให้ท่านหันมาเอาอย่างพระองค์ ท่านได้ทำตามคำแนะนำของบาทหลวงที่แก้บาปแก่ท่านเป็นประจำ ด้วยการออกเดินทางยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพื่อไปเยือนสถานที่ที่พระเยซูคริสต์เคยใช้ชีวิตบนโลกนี้ และเดินในเส้นทางที่พระองค์เคยเดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ท่านได้ไปที่นาซาเร็ธ ท่านได้ตระหนักว่าท่านเองต้องเรียนรู้และเติบโตในสำนักเรียนของพระเยซูคริสต์ ท่านได้สัมผัสความสัมพันธ์ใกล้ชิดและแรงกล้ากับองค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านอ่านพระวรสารเป็นเวลานานหลายชั่วโมง และท่านรู้สึกเหมือนว่าตนเองได้เป็นน้องชายตัวน้อยของพระเยซูคริสต์ เมื่อท่านได้รู้จักพระเยซูคริสต์มากขึ้น ความปรารถนาอยากให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักพระองค์ด้วยก็ลุกโชนขึ้นมาในตัวท่าน เป็นแบบนี้ทุกครั้ง เราเองก็เช่นกัน หากเราสักคนได้รู้จักพระเยซูคริสต์มากขึ้น ก็จะทำให้เขาอยากให้คนอื่นได้รู้จักพระองค์เหมือนกัน ทำให้เขาอยากแบ่งปันสมบัติมีค่านี้กับคนอื่น ในคำบรรยายเกี่ยวกับเรื่องที่แม่พระไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ท่านได้เขียนคำพูดของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสกับแม่พระ และตรัสกับท่านเองด้วยว่า “เราได้มอบตนเองให้แก่โลก … ท่านจงพาเราไปยังโลก” ท่านนักบุญกล่าวไว้ถูกต้อง แต่จะทำจริงได้อย่างไร คำตอบคือ ทำด้วยการเอาอย่างแม่พระตอนที่ไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ คือ “ท่ามกลางความเงียบ ผ่านการเป็นตัวอย่าง ผ่านทางชีวิต” (การร่ำร้องพระวรสาร, สำนักพิมพ์มงรูฌ, ปี 2004, หน้า 49) ท่านได้เขียนอธิบายไว้ว่า [การที่เราต้องนำพระเยซูคริสต์ออกไปยังโลก]ผ่านทางชีวิต มาจากเหตุผลที่ว่า “การมีอยู่ทั้งครบของเรา ต้องเป็นการร่ำร้องพระวรสารออกมา” (M/314 ใน น้ำพระทัยดีของพระเจ้า : การรำพึงพระวรสาร (1), สำนักพิมพ์มงรูฌ, ปี 2002, หน้า 285) บ่อยครั้งเหลือเกินที่การมีอยู่ของเราเป็นการร่ำร้องออกมาซึ่งความเป็นคนทางโลก สิ่งที่ร่ำร้องออกมาแบบนี้มีสิ่งที่โง่เง่าและสิ่งแปลก ๆ มากมาย แต่ท่านนักบุญบอกว่า “ไม่ การมีอยู่ของเราต้องเป็นการร้องตะโกนพระวรสารออกมา”
หลังจากนั้น ท่านได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ห่างไกล เพื่อร้องตะโกนพระวรสารออกมาท่ามกลางความเงียบ ผ่านการมีชีวิตอยู่ด้วยจิตวิญญาณแห่งนาซาเร็ธ คือในความยากจนและในความซ่อนเร้น ท่านได้ตั้งถิ่นฐานอยู่กลางทะเลทรายซาฮารา ท่ามกลางผู้คนที่ไม่ใช่คริสตชน ท่านไปที่นั่นในฐานะเพื่อนและพี่น้องของพวกเขา โดยแบกเอาความสุภาพถ่อมตนของพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นศีลมหาสนิท ผู้ทรงเป็นการขอบพระคุณ ท่านนักบุญได้ให้พระเยซูคริสต์ทรงทำกิจการอย่างเงียบ ๆ เพราะท่านเองเชื่อมั่นว่า “ชีวิตอย่างศีลมหาสนิท” เป็นสิ่งหนึ่งที่ประกาศพระวรสาร แน่นอนว่าท่านเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเอกในบรรดาผู้ประกาศพระวรสาร ในแต่ละวัน ท่านอธิษฐานภาวนาแทบพระบาทของพระองค์ต่อหน้าตู้ศีลเป็นเวลาถึงสิบกว่าชั่วโมง ด้วยความมั่นใจว่าพลังแห่งการประกาศพระวรสารมีอยู่ที่นั่น และด้วยความรู้สึกที่ว่า พระเยซูคริสต์จะทรงนำพาท่านไปใกล้ชิดกับพี่น้องจำนวนมากที่อยู่ห่างไกล พ่อถามตัวเองว่า แล้วพวกเราล่ะ พวกเราเชื่อในพลังของศีลมหาสนิทหรือไม่ การที่เราออกไปหาและรับใช้ผู้อื่นมีจุดกำเนิดและมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การเฝ้าบูชาหน้าศีลมหาสนิทหรือไม่ พ่อเห็นว่าพวกเราต่างสูญเสียความรู้สึกแห่งการเคารพบูชาอันนี้ไป เราต้องกลับมามีความรู้สึกอันนี้กันอีกครั้ง เริ่มจากเราทั้งหลายที่เป็นนักบวช กล่าวคือทั้งบรรดาบิชอป บาทหลวง นักบวชหญิง และผู้ที่เป็นนักบวชทุกคน ให้เรามา “เสียเวลา” กันหน้าตู้ศีล และให้เรากลับมามีความรู้สึกแห่งการเคารพบูชากันอีกครั้ง
นักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก ได้เขียนไว้ว่า “คริสตชนทุกคนล้วนเป็นอัครสาวก” (จดหมายถึงโฌเซ็ฟ อูร์ ภายใน การรวบรวมการโต้ตอบจดหมายกับคนที่ลียง (1904-1916), ปารีส, ปี 2005, หน้า 92) ท่านได้เตือนใจเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นฆราวาสว่า “จำเป็นต้องมีฆราวาสที่ใกล้ชิดกับบาทหลวง ผู้ที่เห็นสิ่งที่บาทหลวงมองไม่เห็น ประกาศพระวรสารภายในความใกล้ชิดที่มาพร้อมกับความรัก มีน้ำใจดีแก่ทุกคน และมีความรักที่พร้อมจะมอบให้ผู้อื่นเสมอ” (เรื่องเดียวกัน, หน้า 90) ให้เรามีฆราวาสที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่คนที่เอาแต่ไต่เต้าให้มีฐานะสูงขึ้น[ในพระศาสนจักร] ฆราวาสที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีความรักต่อพระเยซูคริสต์เช่นนี้เอง ที่จะทำให้บาทหลวงได้เข้าใจว่า เขาไม่ใช่ข้าราชการ แต่เป็นตัวกลาง เป็นสมณะ ฆราวาสที่มีความเชื่ออย่างแท้จริงและอยู่ใกล้ตัวบาทหลวงนั้น เป็นบุคคลที่จำเป็นสำหรับพวกเราที่เป็นบาทหลวง เพราะเขาจะเป็นพยานสอนให้เราได้เห็นหนทาง[ที่ถูกต้อง]
ประสบการณ์ของนักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก เกี่ยวกับฆราวาส เป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าถึงยุคสมัยของการประชุมสังคายนาวาติกันที่สอง ท่านนักบุญหยั่งรู้ถึงความสำคัญของฆราวาส ท่านเข้าใจดีว่าการประกาศพระวรสารเป็นหน้าที่ของประชากรของพระเป็นเจ้าทุกคน แล้วเราจะเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมแบบนี้ได้อย่างไร? เราต้องเอาอย่างท่านนักบุญ ให้เราคุกเข่าลงและน้อมรับกิจการของพระจิตเจ้า พระจิตเจ้าเป็นแรงบันดาลใจอยู่เสมอให้เราได้ค้นพบหนทางใหม่ ๆ ในการมีส่วนร่วม การพบปะ การรับฟัง และการพูดคุยเสวนา ในแบบที่ต้องเป็นการกระทำผ่านความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจ และต้องเป็นการกระทำภายในความสนิทสัมพันธ์กับพระศาสนจักรและกับบรรดาผู้อภิบาลในพระศาสนจักร
นักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก มีความเป็นประกาศกสำหรับยุคสมัยของเรา ท่านได้เป็นพยานถึงความสวยงามของการถ่ายทอดพระวรสารผ่านความสุภาพถ่อมตนในความเป็นอัครสาวก ท่านมองว่าตนเองเป็น “พี่น้องของทุกคน” และท่านต้อนรับทุกคน สิ่งนี้แสดงให้เราเห็นว่า ความสุภาพถ่อมตน ความอ่อนโยน มีพลังยิ่งใหญ่เพียงใดในการประกาศพระวรสาร เราทุกคนอย่าลืมว่าการทำงานของพระเป็นเจ้าสามารถสรุปได้ในสามคำ ได้แก่ ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน พระเป็นเจ้าอยู่ใกล้ทุกคนเสมอ พระองค์เห็นอกเห็นใจทุกคนเสมอ และพระองค์อ่อนโยนเสมอ ท่านนักบุญเองก็เช่นเดียวกัน ท่านเป็นผู้สุภาพถ่อมตน ท่านมีความอ่อนโยน ท่านอยากให้ทุกคนที่ท่านพบเจอได้เห็นน้ำพระทัยดีของพระเยซูคริสต์ผ่านทางความมีน้ำใจดีของท่าน ท่านเองกล่าวอยู่เสมอว่า ท่านเป็น “ผู้รับใช้ของผู้ที่ประเสริฐกว่าท่านมากมายนัก” (รวมบันทึกที่เขียนขึ้นที่ตามันราสเซ็ต (1905-1916), ปารีส, ปี 1986, หน้า 188) การที่ท่านมีชีวิตอยู่ภายในน้ำพระทัยดีของพระเยซูเจ้า เป็นสิ่งที่นำพาให้ท่านไปสร้างมิตรภาพฉันพี่น้องกับผู้อื่น ทั้งกับคนจน ทั้งกับคนเผ่าทูอาเร็ก [ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนทำการค้าในแอฟริกาเหนือ] และกับผู้คนที่อยู่ห่างไกลจากโลกทัศน์ของท่านมากที่สุด ความสัมพันธ์อย่างเป็นมิตรเช่นนี้ได้ค่อย ๆ ทำให้เกิดความเป็นพี่น้องกัน การยอมรับผู้อื่นว่าเป็นพวกเดียวกับตน และการเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมของผู้อื่น การมีน้ำใจดีเป็นสิ่งที่เรียบง่าย และเรียกให้เรามาเป็นคนที่เรียบง่าย ไม่หวาดกลัวที่จะมอบรอยยิ้มให้แก่ผู้อื่น รอยยิ้มของท่านนักบุญ ความเรียบง่ายของท่านนักบุญ เป็นหนทางที่ท่านได้เป็นพยานแก่พระวรสาร การประกาศพระวรสารจะต้องไม่ทำโดยการชักจูงผู้อื่นให้มาเข้าศาสนา แต่จะต้องทำโดยการเป็นพยาน การชักจูงผู้อื่นให้มาเข้าศาสนาไม่ใช่การประกาศพระวรสาร เราจะต้องประกาศพระวรสารด้วยการเป็นพยาน ด้วยการดึงดูด
ท้ายสุดนี้ ให้เราถามตัวเองว่า เรานำพาความชื่นชมยินดีในแบบของคริสตชน ความสุภาพถ่อมตนในแบบของคริสตชน ความอ่อนโยนในแบบของคริสตชน ความเห็นอกเห็นใจในแบบของคริสตชน ความใกล้ชิดในแบบของคริสตชน ไปให้แก่ผู้อื่นบ้างหรือไม่ พ่อขอขอบใจทุกคน
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระดำรัสทักทายพิเศษ
พ่อขอต้อนรับผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากไอร์แลนด์ นอร์เวย์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แคนาดา และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังร่วมในงานสัมมนานานาชาติกรุงโรมเพื่อสันติภาพ และพ่อขอทักทายบรรดาบาทหลวงจากสถาบันศึกษาเทววิทยาต่อเนื่องแห่งสมณวิทยาลัยอเมริกาเหนือ พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้และครอบครัวของลูกได้รับความปิติยินดีและสันติสุขแห่งพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเป็นเจ้าอวยพรลูกทุกคน
พี่น้องที่รัก วันนี้ก็เช่นกัน ให้เราคิดถึงปาเลสไตน์และอิสราเอล จำนวนของเหยื่อกำลังเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ในกาซาก็ร้ายแรงอย่างยิ่ง พ่อขอร้องให้มีการทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม ตอนนี้โลกเรามีการทำสงครามเกิดขึ้นมากอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่น่าทุกข์ใจว่าความขัดแย้ง[ในปาเลสไตน์และอิสราเอล]อาจขยายวงกว้างขึ้นไปอีก พ่อขอให้อาวุธทั้งหลายเงียบเสียงลง และขอให้เราทั้งหลายเงี่ยหูรับฟังเสียงคร่ำครวญของคนยากจน ของผู้คนทั่วไป และของเด็ก ๆ พี่น้องที่รัก สงครามไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย มีแต่จะหว่านเมล็ดแห่งความตายและการทำลายล้าง ปลุกระดมความเกลียดชัง และทำให้การล้างแค้นขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก สงครามทำลายอนาคต สงครามเป็นสิ่งที่ทำลายอนาคต ท่ามกลางความขัดแย้งครั้งนี้ พ่อขอเรียกร้องให้บรรดาผู้เชื่อทุกคนเข้ามาเลือกข้างอยู่ฝ่ายเดียวกัน คือฝ่ายแห่งสันติภาพ ให้เราไม่เอาแต่พูด แต่ให้เราอธิษฐานภาวนาด้วยใจจริงอย่างเต็มที่ เมื่อคำนึงเช่นนี้ พ่อจึงได้ตัดสินใจกำหนดให้วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม เป็นวันแห่งการอดอาหารและอธิษฐานภาวนา พ่อขอเชิญชวนให้พี่น้องคริสตชนทุกนิกาย พี่น้องที่นับถือศาสนาอื่น และผู้คนทุกคนที่มีใจปรารถนาให้เกิดสันติภาพในโลกนี้ ได้มาร่วมชดใช้โทษบาปในวิธีการที่เขาเห็นสมควร และในวันนั้น เวลา 18.00 น. ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน เราจะมาใช้เวลากันหนึ่งชั่วโมงเพื่ออธิษฐานภาวนาด้วยจิตวิญญาณแห่งการชดใช้โทษบาป เป็นการวอนขอให้เกิดสันติภาพในยุคของเราและในโลกของเรา พ่อขอเรียกร้องให้พระศาสนจักรท้องถิ่นในที่ต่าง ๆ จัดกิจกรรมคล้ายกันนี้ด้วย เพื่อให้ประชากรทั้งมวลของพระเป็นเจ้าได้มีส่วนร่วม
สรุปการสอนคำสอน/General audience ของสมเด็จพระสันตะปาปา
ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องความร้อนรนในการประกาศข่าวดี เราได้พิจารณาไตร่ตรองถึงการเผยแพร่พระวรสารผ่านการเป็นพยานของชายหญิงจากทุกยุคสมัยและทุกสถานที่ ในวันนี้ เราจะพิจารณาชีวิตของนักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก ความรักอันร้อนรนที่ท่านมีต่อพระเยซูคริสต์ได้นำพาให้ท่านไปตั้งถิ่นฐานในทะเลทรายซาฮารา และกลายเป็นมาพี่น้องและเพื่อนของคนยากจน หลังจากที่ท่านกลับใจ ท่านได้ไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สิ่งนี้ผลักดันให้ท่านอุทิศชีวิตของตนให้แก่การนำพาพระเยซูคริสต์ไปยังผู้อื่นในแบบที่แม่พระได้กระทำตอนที่ท่านไปเยี่ยมนางเอลีซาเบธ กล่าวคือ ภายในความเงียบ และด้วยการทำตนเป็นแบบอย่าง ท่านได้ถือตนเป็นนักพรตอยู่ท่ามกลางผู้คนชาวทูอาเร็ก ท่านได้เป็นพยานแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า เหนือสิ่งอื่นใด คือโดยการใช้ชีวิตอย่างยากจนและถ่อมตน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การภาวนาเฝ้าเงียบหน้าศีลมหาสนิทด้วยความเชื่อมั่นอย่างสุดซึ้งต่อพลังของศีลมหาสนิทในการนำพาหัวใจของผู้คนเข้าหาพระเยซูคริสต์ ท่านทำตนทั้งครบเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาคนยากจน และพยายามเป็น “พี่น้องของทุกคน” เพื่อใช้หนทางนี้แบ่งปันความปิติยินดีของพระวรสารกับเขาเหล่านั้น ขอให้แบบอย่างของนักบุญชาร์ล เดอ ฟูโก จงเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ใช้ชีวิตในแต่ละวันเป็นพยานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างเงียบ ๆ และเปี่ยมด้วยความปิติยินดี อีกทั้งให้เราได้มองเห็นและถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าภายในตัวพี่น้องของเราแต่ละคน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บการสอนคำสอน/General Audience ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)