สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ANGELUS/ทูตสวรรค์แจ้งข่าว
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม 2024


เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก สุขสันต์วันพระเจ้า
ในพระวรสารของพิธีกรรมวันนี้ (เทียบ มก. 10,2-16) พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับพวกเราเรื่องความรักของสามีภรรยา ในเวลานั้น ชาวฟาริสีบางคนได้พยายามล่อหลอกพระเยซูเจ้าด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมากมาย ดังที่พวกเขาได้เคยทำไปแล้วหลายครั้ง โดยในครั้งนี้ พวกเขาได้ทูลถามเกี่ยวกับการที่สามีหย่าร้างภรรยา เพื่อที่จะดึงให้พระองค์มาอยู่ท่ามกลางการทะเลาะโต้เถียงกัน อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมให้เป็นเช่นนั้น ในทางตรงข้าม พระองค์ได้ทรงใช้โอกาสนี้ชี้ให้พวกเขาสนใจประเด็นพูดคุยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า กล่าวคือ เรื่องคุณค่าของความรักระหว่างชายหญิง
ในยุคสมัยของพระเยซูเจ้า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต่างอยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่างที่เสียเปรียบอย่างมากเมื่อเทียบกับคู่สมรสฝ่ายที่เป็นชาย หนึ่งในนั้นคือ การที่สามีสามารถหย่าร้างภรรยาได้ กล่าวคือ สามีสามารถขับไล่ภรรยาให้พ้นไปจากตนได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ทั้งยังมีการสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำเช่นนี้ผ่านการตีความพระคัมภีร์ที่มีลักษณะ[เป็นการหาช่องโหว่]ของกฎหมาย [ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ดังเดิม] สิ่งนี้เป็นเหตุผลทำให้พระเยซูเจ้าทรงสอนเพื่อนำพาผู้คนที่พูดคุยกับพระองค์ให้ย้อนกลับไปสู่พระบัญญัติแห่งความรัก พระเยซูเจ้าทรงเตือนใจพวกเขาว่า [พระเจ้า]ทรงสร้างชายหญิงขึ้นมาให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ให้ชายหญิงมีบทบาทเติมเต็มซึ่งกันและกันภายในความหลากหลาย เพื่อให้พวกเขาช่วยเหลือกันในฐานะเพื่อนร่วมทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้เป็นแรงกระตุ้นซึ่งกันและกัน เป็นความท้าทายที่จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างได้เติบโตด้วย (เทียบ ปฐก. 2,20-23)
ในการที่จะให้เป็นเช่นนี้ พระเยซูเจ้าได้ทรงเน้นว่า การที่ชายหญิงมอบตนเป็นของขวัญให้แก่กัน จะต้องเป็นความรัก เป็นการมอบตนทั้งครบ เป็นการมอบให้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ใช่มอบให้แบบ “ครึ่ง ๆ กลาง ๆ” และการมอบตนให้แก่กันนี้จะต้องเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ (เทียบ มก. 10,7; ปฐก. 2,24) ความรักอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งที่มุ่งหมายให้ดำรงอยู่เพียงแค่ “ตราบเท่าที่ทุกอย่างยังคงราบรื่น” แต่จะต้องมุ่งให้ดำรงเป็นนิรันดร โดยอาศัยการยอมรับซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใน “เนื้อเดียวกัน” (เทียบ มก. 10,8; ปฐก. 2,24) แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยความซื่อสัตย์ตั้งมั่นแม้ในยามลำบาก ต้องอาศัยการเคารพซึ่งกันและกัน ต้องอาศัยความเปิดเผย และความเรียบง่ายตรงไปตรงมา (เทียบ มก. 10,15)
นอกจากทั้งชายและหญิงต้องพร้อมเปิดอกเผชิญหน้าด้วยใจกว้าง พร้อมจะพูดคุยโต้เถียงกันหากจำเป็นแล้ว พวกเขายังต้องพร้อมที่จะให้อภัย กลับมาปรองดองซึ่งกันและกันด้วย พ่อขอพูดกับลูก ๆ ที่แต่งงานแล้วว่า ลูกจะทะเลาะกับคู่สมรสของลูกเท่าไหร่ก็ได้ แต่ท้ายที่สุด ลูกจะต้องคืนดีกับเขาให้ได้ภายในวันนั้น เพราะถ้าลูกปล่อยให้ความบาดหมางมีอยู่ข้ามวัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันต่อมาก็ย่อมจะเป็นสงครามเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ลูกอาจถามว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะคืนดีกันได้ พ่ออยากตอบลูกว่า เพียงแค่การแสดงความรักอย่างอ่อนโยน ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สามีภรรยากลับมาคืนดีกัน [หากลูกทะเลาะกับใครก็ตาม] ลูกจะต้องคืนดีกับเขาให้ได้ก่อนจะหมดวัน
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราจะต้องไม่ลืม คือ บรรดาคู่สามีภรรยาต้องพร้อมที่จะน้อมรับของประทานแห่งชีวิต คือการมีบุตร ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดที่อาจเกิดจากความรัก เป็นพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากพระเจ้า ทั้งยังเป็นบ่อเกิดของความปีติยินดีและความหวังสำหรับทุกครัวเรือนและทุกสังคม พ่อขอให้พวกเราเปิดกว้างต่อการมีบุตร พ่อได้รับความบรรเทาใจที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นวันตำรวจ[ของวาติกัน] เพราะว่าในงานนั้น มีตำรวจนายหนึ่งพาลูก ๆ ของเขามาร่วมงานด้วยตั้งแปดคน เรื่องแบบนี้ช่างน่ายินดีเมื่อได้เห็น ดังนั้น พ่อขอให้ลูกเปิดกว้างต่อชีวิต และหากว่าพระเจ้าโปรดประทานชีวิตใหม่ไว้กับลูก พ่อก็ขอให้ลูกจงน้อมรับของประทานนี้
พี่น้องชายหญิงที่รัก ความรักไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ แต่ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ยิ่งเราเปิดใจให้แก่ความรักมากเท่าไหร่ เราก็จะได้ค้นพบความสุขแท้จริงภายในความรักมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น พ่อจึงอยากให้ลูกแต่ละคนถามตัวเองว่า ความรักของลูกนั้นเป็นอย่างไร เป็นความรักที่ซื่อสัตย์ ใจกว้าง และสร้างสรรค์หรือไม่ นอกจากนี้ให้เราถามตัวเองด้วยว่า ครอบครัวของพวกเราเป็นอย่างไร เปิดกว้างต่อชีวิต เปิดกว้างต่อของประทานแห่งการมีบุตรหรือไม่
ขอให้พระแม่มารีย์พรหมจารีโปรดช่วยเหลือบรรดาคู่สมรสคริสตชน และขอให้พวกเราทั้งหลายร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการวิงวอนต่อแม่พระ พร้อมกับบรรดาผู้เชื่อที่ได้มาชุมนุมกันที่สักการสถานแม่พระแห่งปอมเปอี[ในอิตาลี]เพื่อร่วมอธิษฐานภาวนาต่อแม่พระแห่งลูกประคำ ดังที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมายาวนาน
หลังการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระดำรัส ดังนี้
พี่น้องที่รัก วันพรุ่งนี้ [7 ตุลาคม] จะครบรอบหนึ่งปีนับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีก่อการร้ายที่พุ่งเป้ายังผู้คนในอิสราเอล พ่อขอแสดงความใกล้ชิดต่อพวกเขาอีกครั้ง และขอให้พวกเราอย่าลืมว่ายังมีคนจำนวนมากที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในกาซา พ่อขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยทันที
นับตั้งแต่[เกิดการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว] ภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้นมาโดยตลอด การใช้กำลังทหารยังคงทำให้ผู้คนชาวปาเลสไตน์ประสบกับการทำลายล้างอย่างต่อเนื่อง พวกเขต้องทนทุกข์อย่างยิ่งทั้งในกาซาและในดินแดนส่วนอื่น พวกเขาส่วนมากเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และพวกเขาทุกคนจะต้องมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทุกอย่างที่จำเป็น พ่อขอเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีในทุกสนามรบ ซึ่งรวมถึงในประเทศเลบานอนด้วย ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อชาวเลบานอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งตอนนี้ถูกบีบให้ออกจากถิ่นฐานบ้านเรือนของตน
พ่อขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติดำเนินการเพื่อยุติวงจรแห่งการต่อสู้ล้างแค้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีมากขึ้นไปอีก อย่าให้เป็นเหมือนกับที่เมื่อไม่นานมานี้เกิดเหตุโจมตีที่เป็นฝีมือของอิหร่าน ซึ่งอาจทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางต้องเผชิญกับสงครามครั้งใหญ่กว่าเดิม [พ่อขอเน้นย้ำว่า] ทุกประเทศมีสิทธิในการดำรงอยู่อย่างสันติและมั่นคงปลอดภัย [ดังนั้น] จึงต้องไม่ให้มีผู้ใดฝ่ายใดโจมตีหรือรุกรานดินแดนของประเทศอื่นได้ และต้องมีการให้ความเคารพและวางหลักประกันต่ออธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ โดยอาศัยการพูดคุยเสวนาและสันติภาพ ไม่ใช่สงครามและความเกลียดชัง
ในสถานการณ์เช่นนี้ การอธิษฐานภาวนาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าแต่ก่อน ในช่วงเย็นวันนี้ พ่อขอเชิญชวนให้พวกเราไปยังมหาวิหารซันตามารีอามัจโจเร เพื่อร่วมกันวอนขอต่อ[พระนางมารีย์] พระชนนีพระเจ้า และในวันพรุ่งนี้ พ่อขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมกันอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหารเพื่อสันติภาพโลก ขอให้พวกเราจงร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพลังแห่งความดี เพื่อต่อสู้กับสงครามต่าง ๆ ซึ่งเป็นแผนการของปีศาจ
พ่อขอแสดงความใกล้ชิดต่อผู้คนในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งกำลังประสบเหตุน้ำท่วม ขอให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดรับเอาบรรดาผู้เสียชีวิตไว้ในพระหัตถ์ โปรดประทานความบรรเทาใจแก่ครอบครัวของพวกเขา และโปรดประทานความช่วยเหลือแก่ประชาคมต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วยเทอญ
พ่อขอทักทายลูกทุกคนในที่นี้ ทั้งที่เป็นชาวกรุงโรม และที่เป็นผู้แสวงบุญทั้งจากอิตาลีและประเทศอื่น ๆ พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อวงดนตรีจากกาบัญญัส [ประเทศเอลซัลวาดอร์] ซึ่งจะแสดงดนตรีให้พวกเราฟังหลังจากนี้ พ่อขอทักทายกลุ่มสัตบุรุษโปแลนด์ที่มาจากสักการสถานแม่พระแห่งพระเมตตาในเขตปกครองราดอม กลุ่มสัตบุรุษที่มาจากมาร์ตีนิก[ของฝรั่งเศส] และกลุ่มผู้แสวงบุญจากสักการสถานแม่พระประจักษ์ที่น้ำพุสามตา[ในกรุงโรม] ที่มาเชิญรูปแม่พระจากมหาวิหารนักบุญเปโตรไปยังสักการสถานแม่พระที่น้ำพุสามตา พร้อมกับอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ พ่อขอทักทายกลุ่มนักเรียนเก่าของบ้านเณรเล็ก “ปอจโจ กาเลโซ” ของเขตปกครองตารันโต กลุ่มจากสมาคมละครบำบัดเพื่อผู้ป่วยจิตเวชแห่งกรุงโรม วงดุริยางค์จากโรงเรียนพระวิสุทธิวงศ์ในเมืองเกรโมนา[ของอิตาลี] และกลุ่มผู้ร่วมการชุมนุมในโอกาสวันรณรงค์ลดสิ่งกีดขวางในงานสถาปัตยกรรม (Fiaba Day) [ในอิตาลี]ด้วย
ในโอกาสนี้ พ่อมีความยินดีที่จะประกาศว่า พ่อจะเรียกประชุมคณะพระคาร์ดินัลในวันที่ 8 ธันวาคม เพื่อแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่ [21 ท่าน] [การที่พวกเขามาจากหลากหลายภูมิภาคในโลก] เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเป็นสากลของพระศาสนจักร ซึ่งยังคงเดินหน้าประกาศความรักอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเจ้าให้แก่นานาชาติ […] ขอให้เราทั้งหลายอธิษฐานภาวนาเพื่อพระคาร์ดินัลใหม่ทุกท่าน ขอให้พวกเขามีความตั้งมั่นรับใช้พระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นมหาสมณะที่ซื่อสัตย์และเปี่ยมด้วยเมตตา เพื่อที่พวกเขาจะได้ช่วยเหลืองานรับใช้ของพ่อ ผู้เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม ในการทำประโยชน์ให้แก่ประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า
พ่อขอให้ลูกทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ ขอให้ลูกทุกคนอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อ รับประทานอาหารกลางวันให้อร่อย แล้วพบกันใหม่
รายชื่อ คาร์ดินัลใหม่ 21 องค์ จากเอเชีย 3 องค์
— Italian Archbishop Angelo Acerbi, former nuncio, 99.
— Archbishop Carlos Gustavo Castillo Mattasoglio of Lima, Peru, 74.
— Archbishop Vicente Bokalic Iglic of Santiago del Estero, Argentina, 72.
— Archbishop Luis Gerardo Cabrera Herrera of Guayaquil, Ecuador, who will be 69 on Oct. 11.
— Archbishop Fernando Natalio Chomalí Garib of Santiago, Chile, 67.
— Archbishop Tarcisio Isao Kikuchi of Tokyo, who will be 66 on Nov. 1.
— Bishop Pablo Virgilio Siongco David of Kalookan, Philippines, 65.
— Archbishop Ladislav Nemet of Belgrade of Belgrade, Serbia, 68.
— Archbishop Jaime Spengler of Porto Alegrem, Brazil, 64.
— Archbishop Ignace Bessi Dogbo of Abidjan, Ivory Coast, 63.
— Archbishop Jean-Paul Vesco of Algiers, Algeria, 62.
— Bishop Paskalis Bruno Syukur of Bogor, Indonesia, 62.
— Archbishop Dominique Joseph Mathieu of Tehran and Isfahan, Iran, 61.
— Archbishop Roberto Repole of Turin, Italy, 57.
— Auxiliary Bishop Baldassare Reina of Rome, who will turn 54 on Nov. 26 and whom the pope named on Oct. 6 as his vicar for the Diocese of Rome.
— Archbishop Francis Leo of Toronto, 53.
— Lithuanian Archbishop Rolandas Makrickas, coadjutor archpriest of Rome’s Basilica of St. Mary Major, 52.
— Bishop Mykola Bychok of the Ukrainian Eparchy of Sts. Peter and Paul of Melbourne, Australia, 44.
— English Dominican Father Timothy Radcliffe, theologian, 79.
— Italian Scalabrinian Father Fabio Baggio, undersecretary and head of the section for migrants and refugees at the Dicastery for Promoting Integral Human Development, 59.
— Indian Msgr. George Jacob Koovakad, 51, an official of the Vatican Secretariat of State, responsible for organizing papal trips.
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บคำปราศรัย ANGELUS ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)