
สารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
เนื่องในโอกาสวันสันติภาพโลก ครั้งที่ 57
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์กับสันติภาพ
Artificial Intelligence and Peace
ในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งพระพร ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานให้เราแต่ละคน ข้าพเจ้าปรารถนาจะพูดกับประชากรของพระเจ้า กับประชาชาติทั้งหลาย กับบรรดาผู้นำประเทศและผู้นำรัฐบาล กับบรรดาผู้นำศาสนาและภาคประชาสังคม และกับผู้คนชายหญิงทั้งหมดในยุคสมัยของเรานี้ เพื่อเป็นการมอบความปรารถนาดีอย่างสุดซึ้งของข้าพเจ้าเพื่อสันติภาพ
1. ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหนทางสู่สันติภาพ
พระคัมภีร์เป็นพยานยืนยันว่า พระเจ้าโปรดประทานพระจิตของพระองค์แก่มนุษย์ เพื่อให้เขา “มีฝีมือ มีความรู้และความชำนาญในงานช่างทุกชนิด” (อพย. 35,31) ปัญญาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงศักดิ์ศรีที่เราได้รับจากพระผู้สร้าง ผู้ทรงสร้างเราตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ให้มีความคล้ายคลึงกับพระองค์ (เทียบ ปฐก. 1,26) และทรงโปรดให้เราสามารถตอบสนองต่อความรักของพระองค์ได้อย่างตั้งใจและอย่างเสรี ขณะที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นผลผลิตที่ยอดเยี่ยมที่มาจากศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ของปัญญามนุษย์ ดังนั้นจึงทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างพิเศษถึงคุณลักษณะของปัญญามนุษย์ กล่าวคือ ความที่โดยพื้นฐานแล้ว ปัญญามนุษย์เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์
ในสมณธรรมนูญด้านการอภิบาลความปีติยินดีและความหวัง (Gaudium et spes) สภาสังคายนาวาติกันที่สองได้เน้นย้ำความจริงข้อนี้ โดยประกาศว่า “มนุษยชาติได้พยายามอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อทำให้ชีวิตของตนดีขึ้น อาศัยความพยายาม และสิ่งที่มนุษย์ได้รับมาแต่กำเนิด” (ข้อ 33) เมื่อมนุษย์ “ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องช่วยเหลือ” ภายในความพยายามจะทำให้ “โลกนี้เป็นที่อยู่ที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวมนุษย์ทั้งมวล” (ข้อ 57) ก็จะเป็นการที่เขาทำตามแผนการของพระเจ้า และร่วมมือกับพระประสงค์ของพระเจ้า เพื่อทำให้สิ่งสร้างได้มีความสมบูรณ์แบบ และเพื่อให้เกิดสันติภาพในท่ามกลางหมู่ชนทั้งหลาย ดังนั้น ตราบใดที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ต่อการสร้างความมีระเบียบมากขึ้นในสังคมมนุษย์ รวมทั้งต่อการสร้างความสนิทสัมพันธ์เป็นพี่น้องกันและต่อการสร้างเสรีภาพ ตราบนั้นเอง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การพัฒนามนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกได้
เราทั้งหลายล้วนชื่นชมยินดีและขอบคุณสำหรับความสำเร็จที่น่าประทับใจของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลของความสำเร็จเช่นนี้ได้ช่วยแก้ไขบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่มนุษย์ในอดีตเคยต้องประสบในชีวิต และเคยสร้างความทุกข์ทรมานอันยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็กำลังทำให้มนุษย์มีทางเลือกที่กว้างขวางอย่างยิ่ง ซึ่งบางอย่างอาจเป็นความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของเราทั้งหลาย และอาจเป็นอันตรายต่อบ้านร่วมกันของเรา เพราะว่าความก้าวหน้าเช่นนี้ได้ทำให้มนุษย์สามารถควบคุมความเป็นจริงได้อย่างที่ไม่เคยเกิดมีขึ้นมาก่อนในอดีต (เทียบ สมณสาส์นเวียน Laudato si’ วันที่ 24 พฤษภาคม 2015, ข้อ 104)
เช่นนี้เอง ความก้าวหน้าที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล ถึงแม้ว่าจะได้สร้างโอกาสหลากหลายที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงขึ้นหลายอย่างเช่นกัน ความเสี่ยงเช่นนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการแสวงหาความเป็นธรรมและความปรองดองในท่ามกลางหมู่ชนทั้งหลาย ดังนั้น เราจึงต้องตั้งคำถามที่จำเป็นเร่งด่วนหลายประการ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างใหม่เหล่านี้จะทำให้เกิดผลตามมาอย่างไรในระยะกลางและระยะยาว และเทคโนโลยีนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของคนแต่ละคน ต่อสังคม รวมทั้งต่อเสถียรภาพและสันติภาพในระดับนานาชาติ
2. อนาคตของปัญญาประดิษฐ์: ระหว่างความหวังกับความเสี่ยง
ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ได้เริ่มส่งผลกระทบทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ทั้งในสังคมโลก และในพลวัตอันหลากหลายของสังคมโลก แม้แต่ในตอนนี้ เครื่องมือดิจิทัลอย่างใหม่ต่าง ๆ ก็กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทั้งของการสื่อสาร การบริหารกิจการสาธารณะ การศึกษา การบริโภค การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตลอดจนแง่มุมอีกหลายอย่างนับไม่ถ้วนในชีวิตประจำวันของเราทั้งหลาย
ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีต่าง ๆ ยังสามารถใช้งานอัลกอริธึม (Algorithms กระบวนการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะใช้คอมพิวเตอร์)ที่หลากหลาย ในการดึงเอาข้อมูลจากรอยเท้าบนโลกดิจิทัลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และสกัดเอาข้อมูลบางอย่างที่ทำให้สามารถควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ในทางจิตวิทยาและความสัมพันธ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือในทางการเมือง บ่อยครั้งที่การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้หรือยินยอม จึงนับเป็นการสร้างข้อจำกัดต่อการใช้เสรีภาพในการตัดสินใจของเราทั้งหลาย ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล ดังเช่นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนี้ มีผู้ที่สามารถจัดวางโครงสร้างการไหลของข้อมูลให้เป็นไปตามเกณฑ์คัดกรองบางประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานไม่สามารถสังเกตรับรู้ได้เสมอไป
เราทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่อย่างโดด ๆ และไม่ได้ “เป็นกลาง” (เทียบ สมณสาส์นเวียน Laudato si’, ข้อ 114) หากแต่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคม และด้วยความที่สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมของมนุษย์โดยแท้ จึงย่อมจะทำให้ทิศทางของสิ่งเหล่านี้สะท้อนการตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งการตัดสินใจนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขค่านิยมของบุคคล สังคม และวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น ๆ เราจำเป็นต้องกล่าวอย่างเดียวกันเกี่ยวกับผลผลิตที่มาจากสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ ความที่ผลผลิตเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากโลกทัศน์บางประการที่เป็นของมนุษย์โดยเฉพาะ ทำให้ผลผลิตเหล่านี้มีแง่มุมทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตัดสินใจของผู้ที่ทำการออกแบบการทดลองต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่กำหนดแนวทางการสร้างผลผลิตเหล่านี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเฉพาะอย่างบางประการด้วย
ปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ ก็เช่นกัน จนถึงขณะนี้ โลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่มีนิยามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ปัญญาประดิษฐ์คืออะไร ในปัจจุบัน คำว่า ปัญญาประดิษฐ์ ได้กลายเป็นคำที่ใช้กันในบทสนทนาทั่วไป คำนี้หมายรวมถึงวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ทฤษฎีต่าง ๆ ตลอดจนเทคนิคอันหลากหลาย ที่มุ่งจะทำให้เครื่องจักรสามารถทำงานโดยเป็นการทำซ้ำหรือเลียนแบบความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ การกล่าวถึง “รูปแบบต่าง ๆ ของปัญญา” โดยใช้รูปพหุพจน์ เพื่อสื่อว่าปัญญาเป็นสิ่งที่มีหลายอย่างนั้น เหนือสิ่งอื่นใด อาจช่วยเน้นให้เราเห็นถึงช่องว่างที่ไม่อาจประสานกันได้ที่มีอยู่ระหว่างมนุษย์กับระบบต่าง ๆ เช่นว่านี้ ไม่ว่าระบบที่ว่านี้จะมีความน่าทึ่งและทรงพลังมากมายเท่าใดก็ตาม เพราะว่าในท้ายที่สุด ระบบเหล่านี้ก็เป็นได้เพียง “บางส่วนที่ไม่ครบถ้วน” ในความหมายที่ว่า ระบบนี้ทำได้เพียงแค่การทำซ้ำหรือเลียนแบบความสามารถบางประการของปัญญามนุษย์เท่านั้น และในทำนองเดียวกัน การกล่าวโดยใช้รูปพหุพจน์นี้ยังทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า อุปกรณ์เหล่านี้มีความแตกต่างกันเองมากมาย ทำให้เราจำเป็นต้องคิดอยู่เสมอว่าอุปกรณ์เหล่านี้เป็น “ระบบต่าง ๆ ทางสังคมและเทคโนโลยี” เพราะว่าผลกระทบจากอุปกรณ์ปัญญาประดิษฐ์ใด ๆ ไม่ว่าอุปกรณ์นั้นจะใช้เทคโนโลยีอะไรเป็นพื้นฐานก็ตาม นอกจากจะขึ้นอยู่กับการออกแบบทางเทคนิคแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเป้าหมายและผลประโยชน์ของผู้ที่เป็นเจ้าของและผู้พัฒนา ตลอดจนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่อุปกรณ์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้งานด้วย
ดังนั้น พึงทำความเข้าใจว่า ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเหมือนกับดาราจักรที่ประกอบด้วยความเป็นจริงหลากหลายสิ่งแตกต่างกันไป เราทั้งหลายไม่อาจตั้งข้อสรุปไว้ล่วงหน้าได้ว่า การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ย่อมจะนำมาซึ่งผลดี เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของมนุษยชาติและต่อสันติภาพระหว่างหมู่ชน เพราะว่าผลดีเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราทั้งหลายได้พิสูจน์ตนเองว่าสามารถกระทำการได้อย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนเคารพต่อค่านิยมพื้นฐานต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น “การเปิดกว้างยอมรับ ความโปร่งใส ความมั่นคงปลอดภัย ความเที่ยงธรรม ความเป็นส่วนตัว และความเชื่อถือได้” (สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ถึงผู้เข้าร่วมการสานเสวนา “มีแนร์วา” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2023)
นอกจากนี้ ลำพังเพียงแค่การสันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาผู้ที่ออกแบบอัลกอริธึมและเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นพยายามกระทำการให้สอดคล้องกับจริยธรรม ก็ยังไม่เพียงพอ เราทั้งหลายจำเป็นต้องให้มีการเสริมความแข็งแกร่งของหน่วยงานบางอย่าง หรือให้มีจัดตั้งหน่วยงานขึ้นหากจำเป็น สำหรับให้หน่วยงานนี้มีหน้าที่ตรวจสอบประเด็นทางจริยธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในวิทยาการสาขานี้ และให้มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ หรือได้รับผลกระทบจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ (เทียบ สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ถึงผู้เข้าร่วมการสานเสวนา “มีแนร์วา” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2023)
ดังนี้แล้ว การขยายตัวอย่างยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยี จึงต้องมาพร้อมกับการอบรมให้ความรู้อย่างเหมาะสมเกี่ยวกับความรับผิดชอบภายในการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ยอมแพ้ให้แก่การผจญแห่งความเห็นแก่ตัว การถือประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก หรือความปรารถนาผลกำไรและอำนาจ เมื่อนั้นเสรีภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติย่อมถูกคุกคาม เราทั้งหลายจึงมีหน้าที่ในการขยายวิสัยทัศน์ของตนให้กว้างขวาง และกำหนดทิศทางของการค้นคว้าวิจัยทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้มุ่งสู่การแสวงหาสันติภาพและความดีร่วมกัน เป็นการรับใช้การพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งของมนุษย์แต่ละคน และของประชาคมต่าง ๆ ด้วย (เทียบ สารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ถึงประธานกรรมการบริหารการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” ที่ดาวอส วันที่ 12 มกราคม 2018)
ศักดิ์ศรีที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ติดตัว ตลอดจนความเป็นพี่น้องที่เชื่อมโยงเราทั้งหลายเข้าด้วยกันในฐานะสมาชิกของครอบครัวมนุษย์ จะต้องเป็นพื้นฐานสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะต้องให้สิ่งเหล่านี้ได้เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ซึ่งจะนำมาใช้เพื่อประเมินเทคโนโลยีเหล่านี้ก่อนที่จะนำไปใช้จริง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางดิจิทัลที่เคารพต่อความเป็นธรรมและทำประโยชน์ต่อสันติภาพ ทั้งนี้ หากว่าการพัฒนาเทคโนโลยีใด ๆ ไม่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติทั้งมวล มีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งให้มีมากขึ้น การพัฒนาเทคโนโลยีเช่นนั้นก็ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริง (เทียบ สมณสาส์นเวียน Laudato si’, ข้อ 194; พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนา “ความดีร่วมกันในโลกยุคดิจิทัล” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2019)
ต่อจากนี้ปัญญาประดิษฐ์จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากความท้าทายที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์จะเป็นความท้าทายทางเทคนิคแล้ว ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นความท้าทายทางมานุษยวิทยา ทางการศึกษา ทางสังคม และทางการเมืองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์อาจทำให้ผู้คนมีความหวังว่าจะได้เป็นอิสระจากงานที่น่าเบื่อ หรือจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะทำให้การขนส่งสะดวกสบายยิ่งขึ้น จะทำให้เกิดตลาดที่มีความพร้อมมากขึ้น หรือจะนำมาซึ่งการปฏิวัติภายในกระบวนการสำหรับรวบรวม จัดการ และตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลต่าง ๆ เราทั้งหลายต้องตระหนักว่า มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ และเราทั้งหลายต้องรู้จักบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ในทางที่จะรับประกันซึ่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเคารพต่อสถาบันและกฎหมายต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ในแบบองค์รวม ปัญญาประดิษฐ์พึงเป็นสิ่งที่รับใช้ศักยภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์ และพึงรับใช้ความปรารถนาสูงสุดของเราทั้งหลาย มิใช่มาเป็นคู่แข่งกับสิ่งเหล่านี้
3. เทคโนโลยีแห่งอนาคต: เครื่องจักรที่ “เรียนรู้” ได้ด้วยตัวเอง
ปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ หลากหลาย ล้วนมีพื้นฐานอยู่บนกลวิธีของการเรียนรู้โดยเครื่องจักร ถึงแม้ว่ากลวิธีเช่นนี้ยังอยู่ในขั้นบุกเบิก แต่ก็ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่มีนัยสำคัญภายในองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคม ทั้งยังส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรม ต่อพฤติกรรมทางสังคม และต่อการสร้างสันติภาพด้วย
พัฒนาการต่าง ๆ เช่นการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร หรือ การเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) นำมาซึ่งคำถามหลายประการที่ออกนอกขอบเขตเรื่องเทคโนโลยีและวิศวกรรม คำถามเหล่านี้เกี่ยวพันถึงความเข้าใจเชิงลึกเรื่องความหมายของชีวิตมนุษย์ การสร้างองค์ความรู้ และศักยภาพของจิตมนุษย์ในการเข้าถึงความจริง
การที่อุปกรณ์บางอย่างมีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น ในการผลิตข้อความที่มีความสอดคล้องกันเองทั้งในการใช้ภาษาและในด้านความหมายนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์เหล่านี้ กล่าวกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้ “ทำให้เกิดภาพหลอน” ขึ้น กล่าวคือ ทำให้เกิดถ้อยคำที่เมื่อดูเผิน ๆ แล้วอาจเห็นว่าสมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลรองรับ หรือแฝงด้วยอคติบางอย่าง สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้ในความเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม และทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อสื่อต่าง ๆ ถูกบั่นทอนมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีเช่นว่านี้ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ร้ายแรงในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความเป็นส่วนตัว ความเป็นเจ้าของข้อมูล และทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เพียงเท่านั้น เรายังอาจยกผลกระทบด้านลบที่มาจากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างผิด ๆ มากล่าวถึงได้อีก เช่น การเลือกปฏิบัติ การแทรกแซงการเลือกตั้ง การถือกำเนิดขึ้นของสังคมแห่งการตรวจตรา การที่คนบางพวกถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี และการขยายตัวของความคิดเน้นความเป็นปัจเจกที่ตัดขาดจากสังคมมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ความขัดแย้งต่าง ๆ รุนแรงขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ
4. ความรับรู้ถึงขีดจำกัดของกระบวนทัศน์ที่ถือเทคโนโลยีเป็นใหญ่
โลกของเรานี้กว้างใหญ่ มีความหลากหลายและซับซ้อน เกินกว่าที่จะสามารถรับรู้และจัดประเภทได้อย่างครบถ้วน จิตใจของมนุษย์มีความร่ำรวยไม่มีที่สิ้นสุดและไม่อาจหยั่งรู้ได้ ถึงแม้ว่าจะใช้อัลกอริทึมที่ก้าวหน้าที่สุดเป็นเครื่องมือช่วยก็ตาม อัลกอริทึมเหล่านี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการพยากรณ์อนาคตจะสามารถทำได้อย่างแม่นยำ แต่เป็นเพียงการประมาณการณ์ในทางสถิติเท่านั้น การพยากรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถทำได้ และการคำนวณทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่อาจทำได้เช่นกัน ในท้ายที่สุดแล้ว “ความเป็นจริงย่อมยิ่งใหญ่กว่าความคิด” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium วันที่ 24 พฤศจิกายน 2013, ข้อ 233) ถึงแม้ว่าความสามารถในการคำนวณของเราทั้งหลายจะน่ามหัศจรรย์แค่ไหนก็ตาม แต่ก็ย่อมจะยังคงมีพื้นที่ที่ไปไม่ถึงหลงเหลืออยู่ เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของความพยายามทุกรูปแบบที่มุ่งจะแสดงออกในเชิงปริมาณ
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลจำนวนมหาศาลจะถูกนำมาวิเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์ก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันความเป็นกลางได้ในตัวของมันเอง เพราะว่าเมื่อมีการใช้อัลกอริทึมเพื่อนำข้อมูลบางอย่างไปอนุมานถึงสิ่งอื่น ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดการบิดเบือน กลายเป็นการนำความไม่เป็นธรรมและอคติต่าง ๆ ของสภาพแวดล้อมที่เป็นที่มาของข้อมูลเหล่านั้นมาทำซ้ำใหม่ ยิ่งอัลกอรึทึมทำงานได้รวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด การทำความเข้าใจต่อกระบวนการที่ได้ทำให้เกิดผลบางอย่างขึ้นมา ก็ย่อมทำได้ยากขึ้นเท่านั้น
เครื่องจักร “อัจฉริยะ” อาจทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่วัตถุประสงค์และความหมายของการทำงานโดยเครื่องจักรเช่นนี้ ย่อมจะยังคงถูกกำหนดหรือมอบให้โดยมนุษย์ ผู้ซึ่งถูกครอบงำโดยจักรวาลแห่งค่านิยมต่าง ๆ นานาของตน จึงมีความเสี่ยงที่ว่า เกณฑ์ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่าง ๆ อาจไม่ชัดเจนเท่าแต่ก่อน ทั้งยังอาจเกิดการปกปิดความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจต่าง ๆ และอาจทำให้บรรดาผู้ผลิตสามารถหลบเลี่ยงหน้าที่แห่งการกระทำการเพื่อประโยชน์ของประชาคมได้ ในบางแง่มุม สิ่งนี้ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับระบบแห่งการถือเทคโนโลยีเป็นใหญ่ ที่นำเศรษฐกิจไปเชื่อมกับเทคโนโลยี และให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อเกณฑ์ตัดสินใจที่อิงประสิทธิภาพ ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยต่อสิ่งใดก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า (เทียบ สมณสาส์นเวียน Laudato si’, ข้อ 54)
เรื่องที่ได้กล่าวไปนี้ ควรจะทำให้เราหันมาคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งถูกมองข้ามภายในวิธีคิดของเราในปัจจุบัน ที่เป็นวิธีคิดแบบให้เทคโนโลยีเป็นใหญ่และมุ่งเน้นเฉพาะประสิทธิภาพ สิ่งนี้คือ “ความรับรู้ถึงขีดจำกัด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับการพัฒนา ทั้งของบุคคล และของสังคม โดยนิยามแล้ว มนุษย์ ย่อมต้องไปสู่ความตายในสักวันหนึ่ง แต่เมื่อเทคโนโลยีทำให้เรามีความหวังว่าจะสามารถเอาชนะข้อจำกัดทุกอย่างได้ เราทั้งหลายก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อความคิดหมกมุ่นที่อยากจะควบคุมทุกอย่าง และทำให้เราสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองไป เมื่อเราทั้งหลายแสวงหาความเป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เป็นการเสี่ยงที่เราทั้งหลายจะตกสู่วังวนของ “เผด็จการแห่งเทคโนโลยี” ดังนั้น การรับรู้และยอมรับข้อจำกัดของเราเองในฐานะที่เป็นสิ่งสร้าง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการที่เราจะได้รับความเติมเต็มในชีวิต หรือจะให้ดีกว่านั้น คือการที่เราจะสามารถน้อมรับความเติมเต็มนี้ว่าเป็นของขวัญ ทั้งนี้ บริบทเชิงอุดมการณ์ของกระบวนทัศน์แบบที่ให้เทคโนโลยีเป็นใหญ่ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการทึกทักเอาเองอย่างไม่รู้จักประมาณตนว่าเราไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นสิ่งอื่นภายนอกนั้น อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่เกินสัดส่วน อาจทำให้ความรู้และความมั่งคั่งไปกระจุกอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน และนำมาซี่งความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อสังคมประชาธิปไตย ตลอดจนต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (เทียบ พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสถาบันเพื่อชีวิตแห่งสันตะสำนักที่มาเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020)
5. หลากหลายประเด็นเร่งด่วนในเรื่องจริยธรรม
ในอนาคต สิ่งต่าง ๆ เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ที่จะขอสินเชื่อ ความเหมาะสมของบุคคลต่อตำแหน่งงาน ความน่าจะเป็นที่ผู้ซึ่งถูกตัดสินว่ากระทำความผิดแล้วอาจไปกระทำความผิดซ้ำ หรือสิทธิของบุคคลในการได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง หรือในการได้รับความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ อาจถูกระบุและตัดสินโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ การที่ระบบเช่นนี้ไม่มีคนกลางที่จะพิจารณาในหลายระดับ อาจเป็นช่องทางที่นำไปสู่อคติและการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ความผิดพลาดบางอย่างภายในระบบอาจถูกนำไปทำซ้ำ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อปัจเจกบุคคลแล้ว ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นทอด ๆ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงหลายรูปแบบในทางสังคมได้
ในบางครั้ง ดูเหมือนว่าปัญญาประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ จะมีศักยภาพที่จะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล ผ่านการดำเนินการที่ใช้ตัวเลือกซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าบางอย่างโดยให้เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าและสิ่งห้ามปรามบางประเภท หรือผ่านการดำเนินการโดยใช้ระบบที่นำกลไกการออกแบบข้อมูลมาเป็นพื้นฐานสำหรับกำกับดูแลการตัดสินใจของผู้คน การชักจูงชี้นำหรือการควบคุมทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความระมัดระวังและการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ ทั้งยังเป็นสิ่งที่สื่อเป็นนัยว่าจะต้องให้ผู้ผลิต ผู้ปรับใช้ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่ชัดเจน
ในทำนองเดียวกัน การพึ่งพากระบวนการอัตโนมัติในการจัดประเภทบุคคล ซึ่งอาจกระทำโดยใช้การตรวจตราอย่างขนานใหญ่ หรือการใช้ระบบเครดิตสังคม เป็นอาทิ อาจนำไปสู่ผลสะท้อนที่ลึกซึ้งภายในองค์ประกอบต่าง ๆ ของสังคม ด้วยเป็นการทำให้เกิดการจัดอันดับอย่างหนึ่งขึ้นภายในหมู่พลเมือง กระบวนการจัดประเภทที่เป็นของประดิษฐ์เช่นนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เป็นการแย่งชิงอำนาจด้วย เพราะว่าผู้คนที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ไม่ได้มีเพียงผู้ใช้งานในโลกเสมือน แต่มีบุคคลจริงด้วยเช่นกัน พื้นฐานแห่งการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียกร้องให้เราทั้งหลายไม่ยอมให้ความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของบุคคลถูกนำไประบุด้วยชุดข้อมูลบางอย่าง เราจะต้องไม่ให้อัลกอริธึม (Algorithms คือกระบวนการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์) มาเป็นสิ่งกำหนดความเข้าใจของเราที่มีต่อสิทธิมนุษยชน เราจะต้องไม่ยอมให้ “อัลกอริธึม” ทำให้เราละเลยความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และการให้อภัย ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมที่สำคัญยิ่งยวดของมนุษย์ และเราจะต้องไม่ยอมให้ “อัลกอริธึม” มาขจัดความเป็นไปได้ที่จะให้บุคคลปรับปรุงตัวเองใหม่ ทิ้งอดีตของเขาไว้ข้างหลัง
และภายในบริบทเดียวกันนี้ เราทั้งหลายยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะว่างานประเภทต่าง ๆ ที่เคยต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ บัดนี้กำลังถูกแทนที่อย่างรวดเร็วด้วยการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ในที่นี้เช่นกัน มีความเสี่ยงอย่างมากว่า คนส่วนน้อยอาจได้รับผลประโยชน์อย่างไม่สมส่วน โดยแลกกับการที่ผู้คนจำนวนมากต้องยากจนลง ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีหลายรูปแบบเหล่านี้กำลังแทรกซึมเข้าสู่สถานที่ทำงานต่าง ๆ มากขึ้น ประชาคมนานาชาติก็จะต้องให้ความสำคัญอย่างมากต่อการเคารพศักดิ์ศรีของแรงงาน รวมทั้งต่อบทบาทสำคัญต่อการจ้างงานในฐานะสิ่งที่นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี ทั้งของปัจเจกบุคคล ของครอบครัวต่าง ๆ และของสังคม นอกจากนี้ยังจะต้องให้ความสำคัญต่อความมั่นคงในการจ้างงาน รวมทั้งค่าแรงที่เป็นธรรมด้วย
6. เราควรจะจะตีดาบให้เป็นผาลไถนากันดีหรือไม่ [(เทียบ อสย. 2,4)]
เมื่อเราทั้งหลายพิจารณาโลกรอบตัวเราทุกวันนี้ ย่อมจะหนีไม่พ้นประเด็นปัญหาใหญ่ต่าง ๆ ในด้านศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตอาวุธ ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจสู้รบผ่านระบบควบคุมจากระยะไกล เป็นสิ่งที่ทำให้การทำลายล้างที่เกิดจากระบบอาวุธเหล่านี้ ตลอดจนความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับการใช้อาวุธดังกล่าว ไม่เป็นที่รับรู้ได้มากเท่ากับแต่ก่อน และทำให้เกิดผลอย่างหนึ่ง คือ มุมมองที่เย็นชามากขึ้น ซึ่งมองว่าความเลวร้ายมหาศาลของสงครามเป็นเรื่องไกลตัว บัดนี้เพิ่งจะเริ่มมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่อย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ระบบอาวุธสังหารอัตโนมัติ” ซึ่งเทคโนโลยีนี้รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ผลิตอาวุธด้วย สิ่งนี้ได้นำมาซึ่งความกังวลทางจริยธรรมอย่างใหญ่หลวง ด้วยว่าระบบอาวุธอัตโนมัติย่อมไม่อาจเป็นตัวการที่มีความรับผิดในด้านศีลธรรมได้ ทั้งนี้ การตัดสินความถูกผิดในเชิงศีลธรรม ตลอดจนการตัดสินใจโดยมีพื้นฐานบนจริยธรรม ล้วนเป็นความสามารถเฉพาะของมนุษย์ ซึ่งอยู่เหนือกว่าระบบที่ประกอบด้วยอัลกอริธึมที่ซับซ้อนบางอย่าง ความสามารถอันนี้ย่อมไม่อาจลดทอนให้เหลือเพียงการตั้งโปรแกรมสำหรับเครื่องจักรได้ เพราะถึงแม้ว่าเครื่องจักรจะ “อัจฉริยะ” มากเท่าใดก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นเพียงเครื่องจักรอยู่ดี สิ่งนี้เป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการวางหลักประกันให้ระบบอาวุธต่าง ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยมนุษย์ ซึ่งจะต้องเป็นการควบคุมอย่างเพียงพอ เป็นการควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการควบคุมอย่างต่อเนื่องคงเส้นคงวา
เราทั้งหลายยังไม่อาจเมินเฉยต่อความเป็นไปได้ที่ว่า บรรดาอาวุธที่ก้าวหน้าทรงพลัง อาจตกอยู่ในมือของผู้ที่เอาอาวุธนี้ไปใช้แบบผิด ๆ และอาจทำให้การกระทำหลายอย่างกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เช่น การก่อการร้าย หรือการแทรกแซงโดยใช้กำลังเพื่อมุ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพของกลไกการบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่ชอบธรรม กล่าวโดยสรุปคือ โลกของเราไม่ต้องการให้มีเทคโนโลยีใหม่ใด ๆ ที่อาจเอื้อให้เกิดพัฒนาการของพาณิชยกรรมแบบที่ไม่เป็นธรรม หรือพัฒนาการของการซื้อขายอาวุธ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความบ้าคลั่งของสงครามในที่สุด เพราะว่าหากเป็นเช่นนี้ นอกจากจะทำให้ปัญญามนุษย์เสี่ยงกลายเป็น “ของประดิษฐ์” แล้ว ก็ยังอาจทำให้หัวใจมนุษย์ต้องกลายเป็น “ของประดิษฐ์” มากขึ้นไปด้วย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งเช่นนี้ไม่ควรถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การใช้ความรุนแรงจัดการกับความขัดแย้ง แต่ควรนำไปใช้เพื่อปูทางสู่สันติภาพ
เมื่อเราคิดถึงเรื่องในด้านดีบ้าง หากว่าปัญญาประดิษฐ์ได้รับการนำไปใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ในแบบองค์รวม ก็อาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่สำคัญในด้านเกษตรกรรม การศึกษา และวัฒนธรรม ตลอดจนอาจทำให้ประเทศและหมู่ชนต่าง ๆ มีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเติบโตของความเป็นพี่น้องกันและความเป็นมิตรทางสังคมในหมู่มวลมนุษยชาติ ดังนี้แล้วในท้ายที่สุด สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดที่แท้จริงว่าเราทั้งหลายมีความเป็นมนุษย์มากน้อยเพียงใด คือข้อที่ว่า เราได้นำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานในทางที่จะส่งผลดีต่อพี่น้องของเราที่ยากจน เปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดหรือไม่
แน่นอนว่ามุมมองที่มีมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ตลอดจนความปรารถนาให้โลกของเรามีอนาคตที่ดีขึ้น ย่อมทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นของการสานเสวนาที่มีความเป็นสหวิทยาการ ซึ่งมุ่งสู่การพัฒนาอัลกอริธึมโดยสอดคล้องกับจริยธรรม กล่าวคือ ในเรื่องจริยธรรมของอัลกอริธึม ซึ่งรวมถึงการให้ค่านิยมต่าง ๆ เป็นเครื่องกำหนดทิศทางของเทคโนโลยีใหม่ ๆ (เทียบ พระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต่อผู้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสถาบันเพื่อชีวิตแห่งสันตะสำนักที่มาเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020) การคำนึงเรื่องจริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรจะต้องมีตั้งแต่ในขั้นตอนแรกของการค้นคว้าวิจัย และดำเนินต่อเนื่องไปตลอดขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การทดลอง การออกแบบ การผลิต การจัดจำหน่าย และการตลาด สิ่งนี้คือมุมมองว่าด้วยจริยธรรมในการออกแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาและบรรดาผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต่างมีบทบาทสำคัญ
7. ความท้าทายสำหรับการศึกษา
การพัฒนาเทคโนโลยีที่เคารพและรับใช้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่แตกแขนงอย่างชัดเจนไปถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งโลกแห่งวัฒนธรรมด้วย เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากขึ้นในการติดต่อสื่อสาร และทำให้เราทั้งหลายสามารถพบปะกันได้ด้วยวิธีใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคิดพิเคราะห์อย่างต่อเนื่องว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะนำเราไปสู่ความสัมพันธ์ในลักษณะใด บรรดาเยาวชนในสังคมของเราต่างกำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ได้ซึมซับเทคโนโลยีเข้าไปในทุกองคาพยพ สิ่งนี้ย่อมท้าทายวิธีการของเราทั้งหลายในการสอน การให้การศึกษา และการอบรมฝึกหัด
การให้การศึกษาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ จะต้องมีเป้าหมายสูงสุดในการส่งเสริมวิธีคิดเชิงวิพากษ์ ผู้ที่ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชน จะต้องรู้จักพัฒนาวิธีคิดที่รู้จักพิเคราะห์ไตร่ตรองต่อการใช้ข้อมูลและเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งต่อการใช้ข้อมูลและเนื้อหาที่ทำขึ้นโดยระบบปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ ด้วย ในตอนนี้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และวงการวิชาการ ต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายในการช่วยให้นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้คนที่ประกอบอาชีพ ได้รับรู้ถึงแง่มุมทางสังคมและจริยธรรมของการพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยี
ในการฝึกอบรมวิธีการใช้ประโยชน์จากกลไกทางการสื่อสารแบบใหม่ ๆ นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องการให้ข้อมูลเท็จ หรือ “ข่าวปลอม” แล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงปรากฎการณ์ที่น่ากังวลอย่างหนึ่งที่กลับมาระบาดอีกครั้ง ได้แก่ “ความกลัวบางอย่างที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ … ที่กำลังซ่อนตัวและแพร่กระจายอยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีใหม่ ๆ” (สมณสาส์นเวียน Fratelli tutti วันที่ 3 ตุลาคม 2020, ข้อ 27) เป็นที่น่าเศร้าใจว่า บัดนี้เราทั้งหลายจำต้องกลับมาต่อสู้อีกครั้งกับ “การผจญที่ยั่วยุให้เราสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยกำแพง ให้เราสร้างกำแพง … เพื่อที่จะไม่ต้องพบเจอกับวัฒนธรรมอื่นและผู้คนอื่น” (สมณสาส์นเวียน Fratelli tutti วันที่ 3 ตุลาคม 2020, ข้อ 27) ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยความเป็นพี่น้องกันอีกด้วย
8. ความท้าทายสำหรับการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ
การที่ปัญญาประดิษฐ์ได้กลายเป็นเรื่องระดับโลก ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า นอกจากรัฐอธิปไตยต่าง ๆ จะมีความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ภายในประเทศแล้ว บรรดาองค์กรระหว่างประเทศก็อาจมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในการทำให้เกิดข้อตกลงหพุภาคี รวมทั้งประสานความร่วมมือในการปรับใช้และบังคับตามข้อตกลงเช่นนั้นด้วยเช่นกัน (สมณสาส์นเวียน Fratelli tutti วันที่ 3 ตุลาคม 2020, ข้อ 170 – 175) ในแง่มุมนี้ ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติร่วมมือกันเพื่อให้มีการรับรองสนธิสัญญาระดับนานาชาติสำหรับกำกับดูแลการพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากการกำกับดูแลนี้จะมีเป้าหมายเพื่อห้ามวิธีการปฏิบัติที่อาจส่งผลเสียแล้ว ยังจะต้องมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดด้วย โดยเป็นการดำเนินงานผ่านการกระตุ้นให้เกิดความคิดอย่างใหม่ที่สร้างสรรค์ และผ่านการสนับสนุนความคิดริเริ่มต่าง ๆ ทั้งที่เป็นความคิดริเริ่มของบุคคล และของหมู่คณะ (เทียบ สมณสาส์นเวียน Laudato si’, ข้อ 177)
ภายในการแสวงหาแบบอย่างเชิงบรรทัดฐาน ที่อาจเป็นเครื่องชี้แนวทางด้านจริยธรรมให้แก่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลได้นั้น จำเป็นต้องมีการระบุถึงค่านิยมต่าง ๆ ของมนุษย์เสียก่อน ค่านิยมเหล่านี้ควรจะเป็นพื้นฐานสนับสนุนความพยายามทั้งหลายของสังคมในการจัดทำ รับรอง และบังคับใช้กรอบงานด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การร่างแนวทางปฏิบัติทางจริยธรรมสำหรบการผลิตปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมแทบไม่สามารถแยกออกจากการคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กล่าวคือ เรื่องความหมายแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ เรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเรื่องการมุ่งแสวงหาความเป็นธรรมและสันติภาพ กระบวนการในการพิเคราะห์แยกแยะทางศีลธรรมและทางกฎหมาย อาจเป็นโอกาสที่มีค่าสำหรับการแบ่งปันความคิดในเรื่องที่ว่า เทคโนโลยีควรจะมีบทบาทอย่างไรภายในชีวิตของปัจเจกบุคคลและสังคม และเรื่องที่ว่า การใช้เทคโนโลยีจะทำประโยชน์ต่อการสร้างโลกที่มีความเที่ยงธรรมและมีมนุษยธรรมมากขึ้นได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นเหตุผลว่า เพราะเหตุใด ภายในการอภิปรายว่าด้วยกฎระเบียบควบคุมปัญญาประดิษฐ์ จึงต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของผู้คนที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด ซึ่งรวมถึงคนจน คนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และคนอื่น ๆ ที่มักจะไม่มีผู้ใดรับฟังภายในกระบวนการตัดสินใจในระดับโลกด้วย
* * *
ข้าพเจ้าหวังว่า การรำพึงไตร่ตรองข้างต้นนี้ จะเป็นแรงสนับสนุนต่อความพยายามต่าง ๆ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่า ความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาอยู่นั้น ในท้ายที่สุดแล้วจะเป็นสิ่งที่รับใช้สันติภาพและความเป็นพี่น้องกันในหมู่มวลมนุษย์ สิ่งนี้ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนเพียงบางคน แต่เป็นความรับผิดชอบของครอบครัวมนุษย์ทั้งมวล เพราะว่าสันติภาพเป็นผลจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ยอมรับและต้อนรับผู้อื่นในฐานะที่เขาต่างมีศักดิ์ศรีที่ไม่อาจพรากไปได้ ทั้งยังเป็นผลจากความร่วมมือและความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาการพัฒนาแบบองค์รวมของมนุษย์ทุกคนและของทุกหมู่ชน
ข้าพเจ้าขอภาวนาเนื่องในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่นี้ ให้การพัฒนาที่รวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ จะไม่กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่มีมากอยู่แล้วในโลกนี้ต้องทวีจำนวนขึ้น แต่จงเป็นสิ่งที่ช่วยยุติสงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ และช่วยบรรเทาความทุกข์ยากหลากหลายรูปแบบที่ครอบครัวมนุษย์ต้องประสบ ขอให้บรรดาคริสตชน ตลอดจนผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งผู้คนชายหญิงผู้มีน้ำใจดีทุกคน จงร่วมมือกันภายในความสามัคคีปรองดอง เพื่อใช้โอกาสต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ และเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่มาจากการปฏิวัติดิจิทัล เพื่อที่จะส่งต่อโลกที่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความเป็นธรรม และสันติภาพ ให้แก่คนรุ่นหลัง
จากนครรัฐวาติกัน ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2023
ฟรานซิส
เชิงอรรถ
[3] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 104.
[5] Address to Participants in the “Minerva Dialogues” (27 March 2023).
[7] Cf. Message to the Executive Chairman of the “World Economic Forum” meeting in Davos (12 January 2018).
[8] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 194; Address to Participants in the Seminar “The Common Good in the Digital Age” (27 September 2019).
[9] Apostolic Exhortation Evangelii Gaudium (24 November 2013), 233.
[10] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 54.
[11] Cf. Meeting with Participants in the Plenary Assembly of the Pontifical Academy for Life (28 February 2020).
[13] Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 27.
[16] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 177.
——————————————————–
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร เก็บสารวันสันติภาพสากลครั้งที่ 57 ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)