พิธีบูชาขอบพระคุณ
อุทิศเพื่อบรรดาพระคาร์ดินัลและบิชอปที่ล่วงลับไประหว่างปีที่ผ่านมา
บทเทศน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
ณ พระแท่นธรรมาสน์นักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2024
“พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” (เทียบ ลก. 23,42) นี่เป็นสิ่งที่คนหนึ่งในสองคนที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระเยซูเจ้าได้ทูลพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย คนที่กล่าววาจาอันนี้ ไม่ใช่ศิษย์ที่ได้ติดตามพระองค์ตามเส้นทางในแคว้นกาลิลี ไม่ใช่คนที่ได้มีส่วนในปังอันเดียวกับพระเยซูเจ้าในอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ในทางตรงกันข้าม เขาเป็นอาชญากรผู้ที่ได้พบพระเยซูเจ้าต่อเมื่อเขากำลังจะตาย พวกเราไม่รู้จักแม้กระทั่งชื่อของเขาด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม คำพูดสุดท้ายที่ “คนนอก” ผู้นี้กล่าวไว้ดังที่เราได้เห็นในพระวรสาร ได้นำไปสู่การพูดคุยเสวนาที่เปี่ยมด้วยความจริง เพราะถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าจะทรง “ยอมให้ทุกคนคิดว่าเป็นผู้ล่วงละเมิด” (อสย. 53,12) ดังที่ประกาศกอิสยาห์ได้พยากรณ์ไว้ แต่ในที่นี้ เราได้ยินคำพูดที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งกล่าวว่า “สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย” (ลก. 23,41) อาชญากรที่ถูกตัดสินลงโทษผู้นี้เป็นตัวแทนของพวกเราทุกคน เราสามารถ [คิดได้ว่า ตัวเราเองก็อยู่ในสถานะเดียวกับเขา] แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราสามารถนำคำวิงวอนของเขามาใช้เป็นของเราเองได้ด้วย ว่า “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้า” โปรดให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในความทรงจำของพระองค์ ขอพระองค์โปรดอย่าทรงลืมข้าพเจ้า
ขอให้พวกเรารำพึงไตร่ตรองคำว่า “ระลึกถึง” [คำนี้ในภาษาอิตาเลียนคือคำว่า] ricordare มีความหมายตรงตัว คือ การนำบางสิ่งบางอย่างกลับสู่หัวใจ (cor) ชายที่ถูกตรึงกางเขนอยู่ข้างพระเยซูเจ้า ได้เปลี่ยนความเจ็บปวดของตนให้กลายเป็นคำอธิษฐานภาวนา “พระเยซูเจ้าข้า โปรดเก็บข้าพเจ้าไว้ในหัวใจของพระองค์” คำพูดนี้ไม่ได้สะท้อนถึงความทุกข์กังวลและความพ่ายแพ้ หากแต่สะท้อนถึงความหวัง อาชญากรผู้นี้ได้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าในวาระสุดท้าย เขาได้ตายในฐานะศิษย์ของพระองค์ เขามีความปรารถนาเพียงอย่างเดียว คือ อยากจะพบกับหัวใจที่ต้อนรับเขา นี่เป็นสิ่งเดียวที่มีความสำคัญสำหรับเขา ในยามที่เขากำลังจะตายและอยู่ในสภาพที่ไม่มีเครื่องกำบังใด ๆ ส่วนองค์พระผู้เป็นเจ้า [คือพระเยซูเจ้า] ก็ได้ทรงรับฟังคำอธิษฐานของคนบาปผู้นี้เหมือนกับในทุก ๆ ครั้ง แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นวาระสุดท้ายของพระองค์ด้วยก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงมีหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่ใช่หัวใจที่ปิดกั้น หัวใจของพระองค์ถูกทิ่มแทงด้วยความเจ็บปวด และได้เปิดออกเพื่อช่วยโลกให้รอด ถึงแม้ว่าพระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ แต่พระองค์ก็ทรงเปิดกว้างรับฟังเสียงของคนที่กำลังจะตาย พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์กับพวกเรา เพราะว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเรา
ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าจะทรงถูกนำไปตรึงกางเขนทั้งที่ไม่ได้ทรงทำผิดอะไร แต่พระองค์ก็ได้ทรงตอบสนองคำอธิษฐานภาวนาของคนที่ถูกตรึงกางเขนเพราะความผิดของตน พระองค์ตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก. 23,43) [พระเยซูเจ้าทรงระลึกถึงเขา และนี่ก็ทำให้เขาได้ไปสวรรค์] เพราะว่าพระองค์ทรงระลึกเขาด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา ถึงแม้ว่าเขากำลังจะตาย แต่ความรักของพระเจ้าก็ได้ปลดปล่อยเขาให้พ้นจากความตาย คนที่ถูกตัดสินความผิด บัดนี้ได้รับการไถ่กู้ให้รอด คนที่เคยเป็นคนนอก บัดนี้ได้กลายเป็นเพื่อนร่วมทาง การพบปะเพียงเวลาสั้น ๆ บนไม้กางเขนได้นำเขาไปสู่สันติสุขนิรันดร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะใช้เวลารำพึงไตร่ตรอง โดยให้เราการถามตัวเองว่า เราได้พบปะกับพระเยซูเจ้าในรูปแบบใด หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ให้เราถามตัวเองว่า เราได้ให้พระเยซูเจ้ามาพบปะกับเราในแบบใด เรายอมให้พระองค์มาพบกับเรา หรือว่าเรากำลังปิดกั้นตัวเองภายในความเห็นแก่ตัว ภายในความเจ็บปวด หรือภายในความคิดที่ว่าเราพึ่งตัวเองได้ [ไม่ต้องให้ใครมาช่วย] ให้เราถามตัวเองว่า เรารู้ตัวหรือไม่ว่าเราเป็นคนบาป ซึ่งการรู้ตัวว่าเป็นคนบาปนี้จะช่วยให้องค์พระผู้เป็นเจ้าได้มาพบกับเรา หรือว่าเรากำลังรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชอบธรรม และคิดว่า “พระองค์ไม่ต้องมารับใช้ข้าพเจ้าหรอก ไปรับใช้ผู้อื่นเถิด”
พระเยซูเจ้าทรงระลึกถึงผู้คนที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระองค์ พระองค์ทรงมีความเห็นอกเห็นใจจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย สิ่งนี้ทำให้เราตระหนักว่า การระลึกถึงผู้คนและสิ่งต่าง ๆ นั้นสามารถทำได้หลายทาง เราสามารถระลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย อาจเป็นความผิดพลาด อาจเป็นสิ่งที่เรายังทำไม่เสร็จ อาจระลึกถึงคนที่เป็นเพื่อน หรือระลึกถึงคนที่เป็นศัตรูก็ได้ พี่น้องชายหญิงที่รัก ในวันนี้ ขอให้เรารำพึงเรื่องนี้ในพระวรสาร พร้อมทั้งถามตัวเองด้วยว่า เราระลึกถึงคนอื่นอย่างไรในใจของเรา เราจดจำผู้คนที่อยู่เคียงข้างเราในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิตเราอย่างไร เราตัดสินพวกเขาหรือไม่ เราคิดแบ่งเขาแบ่งเราบ้างหรือไม่ เราต้อนรับพวกเขาหรือไม่
พี่น้องที่รัก [แม้แต่]ในทุกวันนี้ ผู้ใดก็ตามที่หันไปหาหัวใจของพระเจ้า ไม่ว่าเขาจะเป็นชายหรือหญิง หรือมีอายุเท่าใดก็ตาม เขาก็ย่อมจะค้นพบความหวังแห่งความรอดได้ เพราะถึงแม้ว่า “ในสายตาของคนโฉดเขลา ความตายของผู้ชอบธรรมดูเหมือนเป็นการสิ้นสุด” (ปชญ. 3,2) แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าย่อมทรงจดจำเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งการจดจำนั้นก็คือการเก็บรักษา พระองค์จะทรงตัดสินเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเมตตากรุณาและความเห็นอกเห็นใจ พระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาที่ใกล้ชิดกับเรา พระองค์ทรงใกล้ชิด ทรงเห็นอกเห็นใจ และทรงเมตตากรุณา นี่คือลักษณะสามอย่างขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเราสามารถถามตัวเองได้ด้วยว่า เราใกล้ชิดผู้อื่นหรือไม่ เรามีหัวใจที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือไม่ และเรามีความเมตตากรุณาหรือไม่
อาศัยความมั่นใจเช่นนี้ ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อบรรดาพระคาร์ดินัลและบิชอปที่ล่วงลับไปในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขอให้การระลึกถึงของพวกเราในวันนี้จงเป็นคำภาวนาที่เสนอวิงวอนเพื่อพี่น้องอันเป็นที่รักเหล่านี้ของพวกเรา พวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกสรรจากท่ามกลางประชากรของพระเจ้า พวกเขาได้รับศีลล้างบาปเข้าร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ รม. 6,3) เพื่อที่จะได้กลับคืนชีพร่วมกับพระองค์ พวกเขาเป็นนายชุมพาบาลและเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะของพระเจ้า (เทียบ 1 ปต. 5,3) เมื่อพวกเขามีชีวิตอยู่ พวกเขาได้บิปังแห่งชีวิตในโลกนี้ และในบัดนี้ ก็ขอให้พวกเขาได้เข้าร่วมในโต๊ะอาหารของพระองค์ด้วย พวกเขามีความรักต่อพระศาสนจักร ต่างคนต่างรักในแบบของตนเอง แต่พวกเขาทุกคนล้วนรักพระศาสนจักร ดังนั้น ขอให้เราอธิษฐานภาวนา ขอให้พวกเขาจงได้มีความชี่นชมยินดีภายในความสนิทสัมพันธ์นิรันดรกับบรรดานักบุญ และขอให้เรารอคอยด้วยความหวังที่จะได้มีความชื่นชมยินดีกับพวกเขาในสวรรค์ บัดนี้ พ่อขอให้ทุกคนกล่าวพร้อมกับพ่อ 3 ครั้ง ว่า “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงระลึกถึงเราทั้งหลาย” “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงระลึกถึงเราทั้งหลาย” “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงระลึกถึงเราทั้งหลาย”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาวันระลึกถึงผู้ล่วงลับมาแบ่งปัน และเพื่อการไตร่ตรอง)