สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
บทเทศน์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ
พิธีสถาปนาบุญราศีเป็นนักบุญ ได้แก่
บุญราศีมานูเอล รูอิซ โลเปซ และเพื่อนเจ็ดคน
พร้อมด้วยบุญราศีฟรังซิส บุญราศีอับดุลมุอ์ตี และบุญราศีราฟาเอล มัซซาบกี
บุญราศีจูเซ็ปเป อัลลามาโน
บุญราศีมารี-เลโอนี ปาราดีส์
และบุญราศีเอเลนา กูแอร์รา
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2024
วันอาทิตย์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา


พระเยซูเจ้าตรัสถามนักบุญยากอบและนักบุญยอห์นว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” (มก. 10,36) และทันทีหลังจากนั้น พระองค์ก็ได้เตือนใจท่านทั้งสองด้วยคำว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” (มก. 10,38) พระเยซูเจ้าทรงตั้งคำถาม ทรงทำเช่นนี้เพื่อช่วยให้เราไตร่ตรองแยกแยะได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าคำถามต่าง ๆ ย่อมทำให้เราได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง เผยให้เห็นได้ว่ามีอะไรอยู่ภายในใจเรา แม้ว่าบ่อยครั้งตัวเราเองอาจไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มาก่อน
ขอให้พวกเรารับฟังคำถามของพระเยซูเจ้าด้วย ให้เราจินตนาการว่าพระองค์กำลังตรัสถามพวกเราแต่ละคน เริ่มจากคำถามที่ว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” และตามด้วยคำถามที่ว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม”
พระเยซูเจ้าทรงใช้คำถามเหล่านี้เพื่อเปิดเผยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับบรรดาอัครสาวก รวมทั้งเผยให้เห็นด้วยว่า บรรดาอัครสาวกคาดหวังอะไรจากพระองค์ ความคาดหวังนี้เป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ภายในความสัมพันธ์ทุกอย่าง จริงอยู่ที่ว่านักบุญยากอบและนักบุญยอห์นมีความผูกพันกับพระองค์ แต่ในขณะเดียวกัน พวกท่านก็มีความต้องการบางอย่างด้วย พวกเขาได้แสดงออกถึงความต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดพระเยซูเจ้า แต่จุดประสงค์ของพวกท่านคือการได้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นที่ยกย่อง ได้มีบทบาทสำคัญ [ดังจะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า] “ขอโปรดให้ข้าพเจ้าคนหนึ่งนั่งข้างขวา อีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์เถิด” (มก. 10,37) เห็นได้ชัดว่า สำหรับพวกท่าน พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์อันรุ่งโรจน์และมีชัยชนะ พวกท่านจึงอยากให้พระองค์นำพระสิริรุ่งโรจน์มาแบ่งปันกับพวกท่านเองด้วย พวกท่านมองเห็น[ความจริงที่]ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ แต่[พระเมสสิยาห์ในความคิดเดิมของพวกท่าน] เป็นพระเมสสิยาห์ภายในกรอบความคิดที่ผูกพันอยู่กับอำนาจ
พระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงหยุดอยู่เพียงแค่กับคำพูดของบรรดาศิษย์ แต่ทรงไปต่อให้ไกลกว่านั้น พระองค์ทรงรับฟังและอ่านใจของพวกท่านแต่ละคน และไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ก็ยังทรงรับฟังและอ่านใจของพวกเราแต่ละคนด้วย พระองค์ทรงใช้คำถามสองอย่างภายในการสนทนา เพื่อทำให้ความปรารถนาที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งที่พวกท่านได้ทูลขอต่อพระองค์นั้นเผยตัวออกมาอีกครั้ง
คำถามแรกของพระองค์ คือ “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” คำถามนี้เป็นสิ่งที่เผยความคิดในใจของบรรดาศิษย์ ทำให้ความคาดหวังต่าง ๆ ที่หลบซ่อนอยู่ ตลอดจนความใฝ่ฝันอยากจะเป็นใหญ่ซึ่งบรรดาศิษย์ได้มีอยู่อย่างลับ ๆ ได้ปรากฏสู่แสงสว่าง ดูราวกับเป็นคำถามที่ว่า “ท่านอยากให้เราเป็นใครสำหรับท่าน” คำถามเช่นนี้ได้กระชากหน้ากาก เผยให้เห็นว่าที่จริงแล้วบรรดาศิษย์ต้องการอะไร พวกท่านต้องการพระเมสสิยาห์ที่เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นผู้มีชัยชนะ และเป็นผู้ที่จะทำให้พวกเขาขึ้นสู่สถานะที่มีเกียรติเป็นที่ยกย่อง ความคิดแบบนี้บางครั้งก็มีอยู่ในพระศาสนจักรเช่นกัน เวลาที่คนบางคนแสวงหาอำนาจ แสวงหาเกียรติยศ หรือสิ่งอื่น ๆ ทำนองนั้น
และต่อมา พระองค์ได้ทรงใช้คำถามอย่างที่สองเพื่อปฏิเสธภาพของพระเมสสิยาห์[ในความคิดของบรรดาศิษย์] และช่วยให้พวกท่านเปลี่ยนมุมมองของตน ช่วยให้พวกท่านกลับใจ คำถามนี้มีอยู่ว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” เช่นนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงต่อบรรดาศิษย์ว่า พระองค์ไม่ใช่พระเมสสิยาห์อย่างที่พวกเขาคิด หากแต่ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรัก ผู้ทรงยอมพระองค์ให้ต่ำต้อยเพื่อมาสถิตกับบรรดาคนเล็กน้อยต่ำต้อย ทรงยอมพระองค์เป็นผู้อ่อนแอเพื่อช่วยเหลืออุ้มชูบรรดาผู้อ่อนแอ ทรงกระทำกิจการเพื่อสันติสุข มิใช่เพื่อสงคราม พระองค์เสด็จมาเพื่อรับใช้ มิใช่เพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ ถ้วยที่พระเยซูเจ้าทรงดื่ม คือการมอบชีวิตของพระองค์ถวายเป็นเครื่องบูชา คือชีวิตของพระองค์เองที่มอบสละเพื่อความรักจนกระทั่งถึงกับยอมสิ้นพระชนม์ และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
[ขณะที่พระองค์ทรงถูกตรึงไม้กางเขนนั้น] ผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระองค์คือโจรสองคนซึ่งถูกตรึงกางเขนอยู่ไม่ต่างจากพระองค์ พวกเขาไม่ได้นั่งอยู่บนบัลลังก์แห่งอำนาจ พวกเขาถูกตรึงกางเขนและทุกข์ทรมานร่วมกับพระองค์ พวกเขาไม่ได้นั่งอยู่ในท่ามกลางสิริรุ่งโรจน์ ในที่นี้ [พระคริสตเจ้า]ผู้ทรงเป็นราชา ทรงถูกตรึงไม้กางเขน พระผู้ชอบธรรมถูกตัดสินว่ามีความผิด และกลายเป็นทาสรับใช้ของทุกคน พระองค์ผู้นี้เองที่ทรง “เป็นพระบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก. 15,39) [พระเยซูเจ้าที่เราได้เห็นในที่นี้]ไม่ใช่ผู้ที่ครอบงำผู้อื่น ไม่ได้เป็นผู้มีชัยชนะ หากแต่เป็นผู้รับใช้ด้วยความรัก พ่อขอพูดซ้ำอีกครั้งว่า [พระองค์ในที่นี้]ไม่ใช่ผู้ที่ครอบงำผู้อื่น ไม่ได้เป็นผู้มีชัยชนะ แต่ทรงเป็นผู้รับใช้ด้วยความรัก จดหมายถึงชาวฮีบรูได้ย้ำเตือนพวกเราเรื่องนี้เช่นกันว่า “เราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการผจญทุกอย่างเหมือนกับเรา” (ฮบ. 4,15)
[ในเรื่องพระวรสารวันนี้ พวกเราได้เห็นว่า] พระเยซูเจ้าได้ทรงช่วยให้บรรดาศิษย์กลับใจ ทรงทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิดใหม่ พระองค์ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่าคนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ” (มก. 10,42) แต่คนที่เดินตามพระเจ้าจะต้องไม่เป็นแบบนี้ เพราะว่าพระเจ้าของเขาทรงยอมตนเป็นผู้รับใช้ ผู้ทรงดูแลเอาใจใส่ทุกคนด้วยความรัก ผู้ใดที่ติดตามพระคริสตเจ้า หากว่าเขาอยากจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เขาก็จะต้องเป็นผู้รับใช้ ต้องรู้จักเรียนรู้จากพระองค์
พี่น้องชายหญิงที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยความคิด ความปรารถนา และแผนการที่มีอยู่ในใจของพวกเรา บางครั้งพระองค์ย่อมเปิดโปงความคาดหวังของเราที่ปรารถนาความยิ่งใหญ่ มีอำนาจ การได้ครอบงำผู้อื่น หรืออาจเป็นความยะโสโอหัง พระองค์ทรงช่วยให้เราทั้งหลายเปลี่ยนวิธีคิด จากความคิดที่ตั้งอยู่บนเกณฑ์ต่าง ๆ ในแบบโลก กลายเป็นความคิดในแบบพระเจ้า ผู้ทรงยอมตนเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุด เพื่อที่ผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดจะได้ถูกยกชูขึ้นกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด บ่อยครั้งที่คำถามของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นวิธีที่พระองค์ใช้สอนเรื่องการรับใช้ อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากทั้งสำหรับบรรดาศิษย์และสำหรับพวกเราเองด้วย แต่ถ้าเราติดตามพระองค์ ก้าวเดินตามรอยเท้าของพระองค์ และน้อมรับให้ของประทานแห่งความรักของพระองค์มาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพวกเราเอง เราทั้งหลายก็จะสามารถเรียนรู้ถึงลักษณะของพระเจ้า ซึ่งเป็นลักษณะแห่งการรับใช้ได้เหมือนกัน พ่อขอให้พวกเราอย่าลืมคำสามคำที่บรรยายลักษณะแห่งการรับใช้ของพระเจ้า คือคำว่าความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน พระองค์ทรงใกล้ชิดเพื่อที่จะทรงรับใช้ พระองค์ทรงเห็นอกเห็นใจเพื่อที่จะทรงรับใช้ และที่พระองค์ทรงอ่อนโยน ก็เพื่อที่จะทรงรับใช้เช่นกัน [ขอให้เราอย่าลืมสามสิ่งนี้ คือ] ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจ และความอ่อนโยน
สิ่งที่พวกเราจะต้องมีความปรารถนา ไม่ใช่อำนาจ แต่เป็นการรับใช้ การรับใช้คือวิถีชีวิตแบบคริสตชน การรับใช้ไม่ใช่การทำรายการสิ่งต่าง ๆ ที่ควรจะทำ แล้วก็ทำสิ่งเหล่านั้นให้เสร็จไปทีละอย่าง พอเราทำสิ่งเหล่านี้เสร็จหมด เราก็ไปทำอย่างอื่นต่อ เหมือนกับว่าหมดภาระไปแล้ว ไม่กลับต้องไปคิดอะไรอีก เพราะว่าคนที่รับใช้ด้วยความรักย่อมจะไม่คิดว่า “หลังจากนี้ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อื่นไป” ความคิดแบบนี้เป็นความคิดแบบลูกจ้าง ไม่ใช่ความคิดของคนที่จะเป็นพยาน การรับใช้[แบบคริสตชน]ย่อมต้องเกิดจากความรัก และความรักเป็นสิ่งที่ไม่รู้จักขอบเขต ไม่รู้จักการคิดคำนวณประโยชน์ได้เสีย หากแต่เป็นการเสียสละ เป็นการให้ ความรักย่อมจะไม่พอใจอยู่เพียงแค่การผลิตบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จ ความรักย่อมไม่ใช่การกระทำแต่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่ความรักย่อมเกิดจากใจ ย่อมเกิดจากหัวใจที่ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ด้วยความรัก และภายในความรัก
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรับใช้ การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการดูแลและเอาใจใส่ การแสดงออกซึ่งความอ่อนโยนในทุกรูปแบบ และกิจการทุกอย่างที่กระทำด้วยความเมตตา ย่อมจะกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความรักของพระเจ้า ขณะที่พวกเราทุกคน และพวกเราแต่ละคนนั้น ก็จะได้เป็นคนที่ทำให้กิจการของพระเยซูเจ้าดำเนินต่อเนื่องไปในโลกนี้
เมื่อเราพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปแล้ว เราก็ย่อมจะสามารถระลึกถึงบรรดาผู้ที่ได้รับสถาปนาเป็นนักบุญในวันนี้ได้ พวกท่านเป็นศิษย์แห่งพระวรสาร พวกท่านเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ท่ามกลางประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก บางท่านเป็นผู้คนที่ได้รับใช้ด้วยความปีติยินดีและได้สละชีวิตเพื่อเป็นพยาน ดังเช่นภราดามานูเอล รูอิซ โลเปซ และเพื่อนมรณสักขี ขณะที่บางท่านเป็นบาทหลวงและเป็นนักบวชที่มีใจร้อนรนในการแพร่ธรรม ดังเช่นคุณพ่อจูเซ็ปเป อัลลามาโน ภคินีมารี-เลโอนี ปาราดีส์ และภคินีเอเลนา กูแอร์รา บรรดานักบุญท่านใหม่ได้เจริญชีวิตในแบบของพระเยซูเจ้า คือ ในการรับใช้ ความเชื่อของพวกท่าน ตลอดจนกิจการรับใช้ที่พวกท่านได้กระทำนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงความปรารถนาในแบบโลก ไม่ได้เป็นเครื่องตอบสนองความอยากมีอำนาจ แต่ในทางตรงข้าม พวกท่านได้ยอมตนเป็นผู้รับใช้พี่น้องชายหญิง เป็นผู้กระทำกิจการดีอย่างสร้างสรรค์ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และมีใจกว้างจนกระทั่งวาระสุดท้าย
ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อมั่นวางใจในการเสนอวิงวอนของพวกท่าน เพื่อที่พวกเราเองจะสามารถติดตามพระคริสตเจ้า ทั้งในการรับใช้ และในการเป็นพยานแห่งความหวังให้แก่โลกด้วย
พระดำรัสก่อนการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวหลังพิธีบูชาขอบพระคุณ
ก่อนที่จะปิดพิธีบูชาขอบพระคุณนี้ พ่อขอขอบใจทุกคนที่ได้มาร่วมกันเทิดเกียรติบรรดานักบุญท่านใหม่ พ่อขอทักทายพระคาร์ดินัลทุกท่าน บิชอปทุกท่าน นักบวชชายหญิงทุกคน ตลอดจนกลุ่มผู้แสวงบุญอื่นที่มาจากที่ต่าง ๆ มากมาย พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มนักบวชคณะภราดาน้อย[ฟรังซิสกัน] กลุ่มสัตบุรุษจากพระศาสนจักรมาโรไนต์คาทอลิก กลุ่มจากคณะธรรมทูต “กอนโซลาตา” กลุ่มจากคณะภคินีน้อยแห่งครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ และกลุ่มจากคณะผู้ถวายตัวแห่งพระจิตเจ้า พ่อขอกล่าวทักทายด้วยความเคารพต่อประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ตลอดจนบรรดาผู้แทนทางการ และเจ้าหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองด้วย
และในโอกาสนี้ พ่อขอส่งคำทักทายยังรองประธานาธิบดีของประเทศยูกันดา พร้อมทั้งกลุ่มผู้แสวงบุญชาวยูกันดา ที่ได้มากันอย่างมากมายในที่นี้ เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปีของการสถาปนามรณสักขีชาวยูกันดา [คือ นักบุญชาร์ล ลวังกา และเพื่อนมรณสักขี] เป็นนักบุญ
ขอให้การเป็นพยานของนักบุญจูเซ็ปเป อัลลามาโน จงเตือนใจให้เราทั้งหลายตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจต่อผู้คนที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุด พ่อมีความคิดคำนึงเป็นพิเศษถึงผู้คนชาวยาโนมามี ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นแอมะซอน ซึ่งหนึ่งในบรรดาอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ได้นำมาสู่การสถาปนานักบุญใหม่ในวันนี้ เป็นอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางพวกเขา พ่อขอเรียกร้องต่อบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองและหน่วยงานฝ่ายบ้านเมือง ให้พวกเขาดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่า คน[กลุ่มต่าง ๆ ในป่าดิบชื้นแอมะซอน]จะได้รับการคุ้มครอง[ชีวิตร่างกาย] ตลอดจนสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้มีการต่อต้านการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ[ที่เป็นภัยคุกคาม]ต่อศักดิ์ศรีและดินแดนถิ่นที่อยู่ของพวกเขาด้วย
วันนี้เป็นวันแพร่ธรรมสากล ซึ่งปีนี้จัดในหัวข้อ “จงไปและเชิญทุกคนมางานเลี้ยง” (เทียบ มธ. 22,9) หัวข้อนี้เป็นสิ่งเตือนใจเราทั้งหลายว่า การประกาศข่าวดี คือการเชื้อเชิญให้คนทุกคนได้เข้ามาพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าภายในความปีติยินดีแห่งการเฉลิมฉลอง ให้ทุกคนมาพบกับพระองค์ ผู้ทรงรักเราทั้งหลาย และทรงปรารถนาให้เราทั้งหลายมีส่วนในความปีติยินดีของพระองค์ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าบ่าว และพวกเราเป็นเจ้าสาว [ชีวิตของ]บรรดานักบุญท่านใหม่[ที่ได้รับสถาปนาในวันนี้]ล้วนสอนพวกเราว่า “คริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้มีส่วนร่วมในพันธกิจสากลนี้ ด้วยการเป็นประจักษ์พยานด้วยตนเองต่อข่าวดีในทุกบริบท” (สาส์นเนื่องในโอกาสวันแพร่ธรรมสากล ครั้งที่ 98, 25 มกราคม 2024) ดังนั้น ขอให้พวกเราจงมีส่วนช่วยสนับสนุนการแพร่ธรรมทั้งโดยการอธิษฐานภาวนาและการมอบความช่วยเหลือ เพื่อที่บรรดาธรรมทูตทั้งหลายจะได้นำแสงสว่างแห่งพระวรสารไปประกาศยังทุกหนแห่งในโลก เพราะว่าบ่อยครั้งที่บรรดาธรรมทูตต้องเสียสละมากมายเหลือเกินเพื่อการนี้
ขอให้เราอธิษฐานภาวนาต่อไปเพื่อผู้คนทั้งหลายที่กำลังทนทุกข์เพราะสงคราม ทั้งในปาเลสไตน์ อิสราเอล เลบานอน ยูเครน ซูดาน เมียนมา และในที่อื่น ๆ ทุกแห่งที่กำลังถูกทำให้ทุกข์ทรมาน และขอให้เราจงวอนขอสันติภาพเป็นของประทานสำหรับทุกคนด้วย
ขอให้พระแม่มารีย์พรหมจารี โปรดช่วยให้เราทั้งหลายเป็นพยานถึงพระวรสารได้อย่างกล้าหาญและเปี่ยมด้วยความปีติยินดี เหมือนกับตัวท่านเอง และเหมือนกับบรรดานักบุญทั้งหลาย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บบทเทศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)