สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
การเสด็จเยือนลักเซมเบิร์กและเบลเยียม
(26 – 29 กันยายน 2024)
บทเทศน์ในพิธีบูชาขอบพระคุณ
พิธีสถาปนาผู้ควรเคารพ อันนาแห่งพระเยซูเจ้า เป็นบุญราศี
ณ สนามกีฬาสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2024
วันอาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
“ผู้ใดเป็นเหตุให้คนเล็กน้อยต่ำต้อยสักคนหนึ่งที่มีความเชื่อในเราต้องสะดุด ผู้ใดเป็นเหตุให้เขาตกสู่บาป ถ้าเขาจะถูกผูกคอด้วยหินโม่ถ่วงในทะเล ก็ยังดีเสียกว่า” (เทียบ มก. 9,42) พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้แก่บรรดาศิษย์ เพื่อเตือนให้พวกเขาระวังตัวต่ออันตรายของการเป็นที่สะดุด กล่าวคือ การขัดขวางเส้นทางและทำร้ายชีวิตของผู้คนที่ “เล็กน้อยต่ำต้อย” พระวาจานี้เป็นคำเตือนที่รุนแรงและเข้มงวดซึ่งเราจะต้องใช้เวลาเพื่อพิจารณาไตร่ตรอง พ่อจึงอยากไตร่ตรองพระวาจานี้ร่วมกันกับลูก โดยพิจารณาถ้อยคำในที่อื่น ๆ ของพระคัมภีร์ประกอบด้วย ทั้งนี้ โดยมีคำสำคัญสามประการ ได้แก่ ความเปิดกว้าง ความสนิทสัมพันธ์ และการเป็นพยาน
สิ่งแรกคือความเปิดกว้าง บทอ่านที่หนึ่งและบทอ่านพระวรสารได้สอนเราเรื่องนี้ด้วยการชี้ให้เราเห็นว่า พระจิตเจ้าทรงกระทำกิจการอย่างเสรี ซึ่งภายในเรื่องการอพยพได้มีกล่าวไว้ว่า พระจิตเจ้าโปรดประทานของขวัญแห่งการเป็นประกาศกให้แก่ให้ผู้อาวุโส[เจ็ดสิบคน] ไม่เฉพาะบรรดาผู้อาวุโสที่ได้ติดตามโมเสสไปยังกระโจมนัดพบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อาวุโสสองคนที่ยังอยู่ในค่ายด้วย
สิ่งนี้ทำให้พวกเราคิดว่า ถึงแม้การที่คนสองคนนี้ไม่ได้ไปอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในกลุ่มผู้ที่ได้รับการเลือกสรร จะถือเป็นเรื่องสะดุด แต่เมื่อพระจิตเจ้าโปรดประทานของขวัญให้แล้ว หากว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ให้ทำตามภารกิจที่พวกเขาได้รับ นั่นก็ย่อมจะกลายเป็นเรื่องสะดุดอีก โมเสสเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะท่านเป็นผู้สุภาพถ่อมตนและมีปรีชาญาณ ทั้งยังมีจิตวิญญาณและจิตใจที่เปิดกว้าง ท่านได้กล่าวว่า “เราปรารถนาจะให้องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานพระจิตของพระองค์แก่ประชากรทั้งปวง และให้เขาทุกคนเป็นประกาศกด้วย” (กดว. 11,29) นี่เป็นคำพยากรณ์ที่สวยงามอย่างยิ่ง
คำพูดที่มีปรีชาญาณของโมเสสนี้เป็นการบอกล่วงหน้าถึงพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในพระวรสาร (เทียบ มก. 9,38-43, 45, 47-48) พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ที่คาเปอร์นาอุม เมื่อครั้งที่บรรดาศิษย์พยายามจะห้ามไม่ให้ชายผู้หนึ่งขับไล่ปีศาจในนามของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพวกเขา โดยกล่าวว่า “เพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา” (มก. 9,38) บรรดาศิษย์ต่างคิดว่า ถ้าใครไม่ได้ติดตามพวกเขา ใครไม่ใช่ “พวกเดียวกับเรา” เขาย่อมไม่มีสิทธิ์ ไม่อาจทำอัศจรรย์ได้ แต่พระเยซูเจ้าทรงทำให้พวกเขาต้องประหลาดใจเหมือนกับทุกครั้ง เหมือนกับที่ทรงทำให้เราทั้งหลายประหลายใจด้วย พระองค์ทรงทำให้บรรดาศิษย์ประหลาดใจเมื่อพระองค์ทรงตำหนิพวกเขา เมื่อพระองค์ทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาออกนอกกรอบความคิดแบบเดิมของตน และทรงเตือนไม่ให้พวกเขา “สะดุด” กับการที่พระเจ้าทรงทำกิจการต่าง ๆ อย่างเสรี พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “อย่าห้ามเขาเลย […] ผู้ใดไม่ต่อต้านเรา ก็เป็นฝ่ายเรา” (มก. 9,39-40)
ขอให้เราพิจารณาสองเรื่องนี้ให้ดี เรื่องแรกคือเรื่องโมเสส เรื่องที่สองคือเรื่องพระเยซูเจ้า เพราะว่าสองเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับพวกเรา เกี่ยวข้องกับชีวิตคริสตชนของเราเช่นกัน ที่จริงแล้ว ศีลล้างบาปทำให้พวกเราทุกคนได้รับภารกิจอย่างหนึ่งในพระศาสนจักร แต่ภารกิจเช่นนี้เป็นของประทาน ไม่ใช่สิทธิบางอย่างที่เราจะเอาไปโอ้อวดได้ ประชาคมของผู้เชื่อไม่ใช่สมาคมของกลุ่มคนที่มีสิทธิพิเศษบางอย่าง หากแต่เป็นครอบครัวของผู้คนที่ได้รับความรอดแล้ว และการที่เราทั้งหลายถูกส่งไปประกาศพระวรสารแก่โลก ก็ไม่ได้เป็นเพราะเราเองมีความดีความชอบอะไร หากแต่เป็นเพราะพระหรรษทานของพระเจ้า เป็นเพราะพระเมตตาของพระองค์ และเป็นเพราะความเชื่อมั่นของพระองค์ที่มีต่อเราอย่างต่อเนื่อง เหตุว่าถึงแม้เราทั้งหลายจะเป็นคนบาป มีข้อจำกัดต่าง ๆ แต่พระเจ้าก็ทรงมีความรักให้แก่เราเหมือนกับที่บิดามีต่อบุตร พระองค์ทรงมองเห็นบางอย่างในตัวเรา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเองมองไม่เห็นก็ตาม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงเรียกพวกเรา ทรงส่งพวกเราไป และทรงอยู่เคียงข้างพวกเราอย่างอดทนในแต่ละวัน
ดังนั้น ถ้าเรายินดีที่จะร่วมมือกับกิจการของพระจิตเจ้าด้วยน้ำใจที่เปิดกว้างและมีความปรารถนาดี โดยที่ไม่ทำตนเป็นที่สะดุด ไม่ใช้อคติและความเข้มงวดของเราเองไปขัดขวางผู้อื่น เราก็จะต้องทำตามภารกิจที่เราได้รับนี้อย่างสุภาพถ่อมตน ด้วยความรู้สึกขอบคุณ และความปีติยินดี เราจะต้องไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อผู้อื่น แต่จะต้องมีความยินดีเมื่อผู้อื่นกระทำได้เหมือนกับที่เราทำ ทั้งนี่ เพื่อให้พระอาณาจักรของพระเจ้าแผ่ขยายไป และเพื่อที่สักวันหนึ่ง เราทุกคนจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอ้อมแขนของพระเจ้าพระบิดา
สิ่งนี้นำไปสู่เรื่องที่สองที่เราจะพิจารณา คือ ความสนิทสัมพันธ์ นักบุญยากอบได้กล่าวถึงเรื่องนี้กับพวกเราภายในบทอ่านที่สอง (เทียบ ยก. 5,1-6) โดยใช้ภาพที่ทรงพลังสองประการ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติที่สักวันหนึ่งจะเสื่อมสลาย (เทียบ ยก. 5,3) และเสียงร้องของผู้เก็บเกี่ยวที่ดังไปถึงพระกรรณขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เทียบ ยก. 5,4) ท่านได้กล่าวเช่นนี้เพื่อย้ำเตือนเราว่า หนทางเดียวที่นำไปสู่ชีวิต คือหนทางแห่งการให้ คือหนทางแห่งความรักที่ทำให้ผู้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านการแบ่งปัน ขณะที่หนทางแห่งความเห็นแก่ตัวนั้น มีแต่จะทำให้ผู้คนปิดกั้น สร้างกำแพงและอุปสรรคขัดขวางนานาประการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่จริงแล้วก็คือ “การสะดุด” ซึ่งจะล่ามโซ่เราเข้าไปผูกติดกับสิ่งของต่าง ๆ ทำให้เราออกห่างจากพระเจ้า และออกห่างจากพี่น้องของเราด้วย
ความเห็นแก่ตัวเป็น “เรื่องสะดุด” อย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความรัก เพราะว่าความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่เหยียบย่ำบรรดาคนที่เล็กน้อยต่ำต้อย ลดทอนศักดิ์ศรีของผู้คน และปิดกั้นเสียงเรียกร้องของบรรดาคนยากจน (เทียบ สดด. 9,13) เรื่องแบบนี้เป็นความจริงในยุคสมัยของนักบุญเปาโล (เทียบ ฟป. 2,3-4) และยังเป็นจริงในยุคสมัยของเราทุกวันนี้เช่นกัน เพราะตราบใดที่ชีวิตของปัจเจกและประชาคมมีพื้นฐานอยู่บนหลักการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและตรรกะของตลาดแต่เพียงอย่างเดียว (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium, ข้อ 54-58) โลกนี้ก็ย่อมจะไม่มีที่สำหรับผู้คนที่กำลังประสบความยากลำบาก ไม่มีที่ให้แก่ความเมตตากรุณาสำหรับผู้ที่ได้กระทำผิดพลาดไป และยังไม่มีที่สำหรับความเห็นอกเห็นใจแก่ผู้คนที่กำลังทุกข์ทรมานและไม่มีทางออก โลกของเราจะไม่มีที่ให้แก่สิ่งเหล่านี้เลย
ขอให้พวกเราคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคนต่ำต้อยเล็กน้อยถูกทำให้สะดุด ถูกทำร้าย และถูกข่มเหงโดยผู้คนที่ควรจะต้องเอาใจใส่ดูแลเขา ขอให้เราคิดถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากความทรมานและความรู้สึกอับจนไร้หนทาง ไม่เฉพาะความรู้สึกของบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวของเขา ตลอดจนประชาคมด้วย พ่อได้ย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องราวของ “คนเล็กน้อยต่ำต้อย” บางคนที่พ่อได้พบเมื่อวานซืน พ่อได้รับฟังเรื่องราวของเขา พ่อได้รู้สึกถึงความทรมานที่พวกเขาประสบเมื่อถูกผู้อื่นข่มเหง และพ่อขอย้ำในที่นี้ว่า ในพระศาสนจักร มีที่สำหรับทุกคน ทุกคน มีที่สำหรับทุกคน แต่เราทุกคน[ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกตัดสิน] และพ่อขอย้ำว่า[ในพระศาสนจักร]ไม่มีที่สำหรับการข่มเหงผู้อื่น และไม่มีที่สำหรับการปกปิดการข่มเหงด้วย พ่อขอให้เราแต่ละคนอย่าปกปิดการข่มเหง พ่อขอเรียกร้องต่อบรรดาบิชอปว่า อย่าปกปิดการข่มเหง ขอให้เราทั้งหลายเอาผิดผู้ที่ข่มเหงผู้อื่น เพื่อเป็นการช่วยให้คนที่ไปข่มเหงผู้อื่นนั้นได้เยียวยาตนเองให้พ้นจากโรคร้ายคือการข่มเหงนี้ เราจะต้องไม่ปิดบังความชั่วร้าย เราจะต้องทำให้ความชั่วร้ายปรากฏออกสู่แสงสว่าง จะต้องทำให้ความชั่วร้ายเป็นที่รับรู้ ดังที่เหยื่อของการข่มเหงบางคนได้กระทำด้วยใจที่กล้าหาญ เราจะต้องให้ความชั่วร้ายเป็นที่รับรู้ และจะต้องให้มีการตัดสินเอาผิดผู้ที่ข่มเหงผู้อื่นด้วย ไม่ว่าผู้ที่ข่มเหงนั้นจะเป็นสัตบุรุษ เป็นบาทหลวง หรือเป็นบิชอปก็ตาม จะต้องมีการเอาผิดคนเหล่านี้
พระวาจาของพระเจ้านั้นชัดเจน พระวาจาได้กล่าวว่า “เสียงร้องของคนเก็บเกี่ยว” และ “เสียงคร่ำครวญของคนยากจน” จะต้องไม่ถูกละเลย จะต้องไม่ถูกลบเลือนให้หายไปราวกับว่าเป็นเพียงเสียงดนตรีผิดทำนองที่ดังขึ้นท่ามกลางเสียงดนตรีอันสมบูรณ์แบบในโลกแห่งความอยู่ดีกินดี และจะต้องไม่ถูกปิดกั้นโดยความดีความงามเพียงเปลือกนอก เพราะว่าในทางตรงกันข้าม เสียงเช่นนี้เป็นเสียงอันทรงชีวิตของพระจิต ซึ่งย้ำเตือนไม่ให้เราลืมว่าเราเป็นใคร เราทั้งหลายล้วนเป็นคนบาปที่น่าสงสาร และตัวเราเองก็เป็นคนบาปยิ่งกว่าคนอื่น ๆ (เทียบ 1 ทธ. 1,15) ส่วนผู้ที่ถูกข่มเหงนั้น เสียงร้องของพวกเขาย่อมจะดังก้องขึ้นไปถึงสวรรค์ ดังก้องไปสัมผัสจิตใจของผู้คน ทำให้เราทั้งหลายรู้สึกละอาย และเรียกเราไปสู่การกลับใจ เราจะต้องไม่ละเลยต่อเสียงประกาศกนี้ เราจะต้องไม่ทำให้เสียงนี้เงียบลง แต่เราจะต้องรับฟังสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในพระวรสาร คือ เราจะต้องไม่มีดวงตาที่เป็นที่สะดุด กล่าวคือ ดวงตาที่เบือนไปทางอื่นเมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก และเราจะต้องไม่มีมือที่เป็นที่สะดุด กล่าวคือ มือที่กำแน่นและกลับไปซุกในกระเป๋าโดยเร็วเพื่อที่จะไม่ให้คนอื่นได้เห็นทรัพย์สมบัติของเรา คุณย่าของพ่อมักจะกล่าวว่า “ปีศาจเข้ามาหาเราผ่านทางกระเป๋าเงิน” [เมื่อกล่าวถึงมือแล้ว] เราจะต้องไม่มีมือที่ไปทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการข่มเหงทางเพศ การข่มเหงทางอำนาจ และการข่มเหงทางมโนธรรมต่อผู้คนที่อ่อนแอเปราะบาง เพราะว่าในสังคมของเรา ในประวัติศาสตร์ของเรา มีการข่มเหงพวกนี้เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน นอกจากนี้ เราจะต้องไม่มีขาที่เป็นที่สะดุด กล่าวคือ ขาที่รีบออกวิ่งโดยเร็วเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าใกล้คนที่กำลังทุกข์ยาก เพื่อจะได้ “ไปให้พ้น ๆ” ไม่เข้าใกล้พวกเขา ขอให้เราปฏิเสธสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อย่าให้สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวเรา เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ทำให้เกิดสิ่งที่ดี มั่นคง และสร้างสรรค์ขึ้นได้เลย มีคำถามหนึ่งที่พ่อถามผู้อื่นอยู่บ่อย ๆ ว่า “ลูกได้ให้ทานบ้างหรือไม่” บางคนอาจตอบพ่อว่า “ครับคุณพ่อ ผมได้ให้ทาน” ถ้าเป็นแบบนี้ พ่อก็จะถามลูกต่อว่า เวลาที่ลูกให้ทานนั้น ลูกได้ไปสัมผัสคนทุกข์ยากเองหรือไม่ หรือว่าลูกได้มอบสิ่งของให้เขาแบบลวก ๆ ขณะที่สายตาของลูกมองไปทางอื่น [เวลาที่ลูกให้ทาน] ลูกได้มองยังแววตาของคนทุกข์ยากหรือไม่ ขอให้พวกเราคิดเรื่องนี้ให้ดี ๆ
หากพวกเราปรารถนาจะหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่ออนาคต รวมทั้งในระดับของเศรษฐกิจและสังคมด้วย ก็ย่อมจะเป็นการดีหากว่าเราจะเริ่มต้นจากการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ โดยมีพื้นฐานบนความเมตตากรุณาตามแนวพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงเป็นความเมตตากรุณา พระองค์ทรงเมตตากรุณาแก่เราทั้งหลาย เพราะว่าถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ ถึงแม้อนุสรณ์แห่งความสำเร็จของเราอาจดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่นั่นก็ย่อมจะเป็นได้แค่เพียงรูปปั้นขนาดใหญ่ที่มีขาทำด้วยดินเผาเท่านั้น (เทียบ ดนล. 2, 31-45) เราทั้งหลายจะต้องไม่หลอกตัวเอง เพราะว่าอันที่จริงแล้ว หากปราศจากความรัก สิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมจะไม่มีทางยั่งยืนได้เลย มีแต่จะระเหยไปในอากาศ มีแต่จะสลายตัวไป ส่วนพวกเราเองนั้นก็จะยังคงตกอยู่ในพันธนาการแห่งชีวิตที่ไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ว่างเปล่า และไร้ความหมาย ทำให้เราติดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ไม่เหลืออะไรที่น่าเชื่อถือเลย มีแต่เปลือกนอกที่อาจดูดีเท่านั้น นี่เป็นเพราะอะไร นี่เป็นเพราะว่า โลกได้ทำตนเป็นที่สะดุดของบรรดาคนเล็กน้อยต่ำต้อย
บัดนี้ เราได้มาถึงเรื่องที่สาม คือการเป็นพยาน เราทั้งหลายอาจพบแรงบันดาลใจได้จากชีวิตของ[ผู้ควรเคารพ]อันนาแห่งพระเยซูเจ้า ผู้มีนามเดิมว่า อานา เด โลเบรา ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ท่านจะได้รับสถาปนาเป็นบุญราศี ท่านเป็นสตรีผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการปฏิรูปครั้งใหญ่ภายในพระศาสนจักรในยุคสมัยของท่าน ด้วยการเจริญรอยตามนักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา ผู้เป็น “สตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งชีวิตฝ่ายจิต” และด้วยการนำความคิดของท่านนักบุญมาเผยแพร่ให้กว้างขวางทั้งในสเปน ในฝรั่งเศส และในกรุงบรัสเซลส์แห่งนี้ด้วย ซึ่งในขณะนั้น กรุงบรัสเซลส์อยู่ในเนเธอร์แลนด์ส่วนที่เป็นของสเปน
ยุคสมัยของท่านเป็นยุคที่มีเรื่องสะดุดมากมายทั้งในและนอกประชาคมพระศาสนจักร แต่ท่านเองได้เจริญชีวิตอย่างเรียบง่ายและยากจน เป็นชีวิตแห่งการอธิษฐานภาวนา การทำงาน และการทำกิจเมตตา ท่านและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ได้นำพาคนมากมายกลับสู่ความเชื่อ[คาทอลิก] จนถึงขนาดที่มี[ศัตรู]เรียกขานกลุ่มของท่านที่ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์แห่งนี้ว่าเป็น “หายนะฝ่ายจิต”
ในการที่ท่านทำเช่นนี้ ท่านไม่ได้นำความคิดของท่านเองมาเขียนไว้เป็นหนังสือหรือจดหมาย แต่ท่านเลือกหนทางของการนำสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้ไปปฏิบัติ (เทียบ 1 คร. 15,3) แนวทางการเจริญชีวิตของท่านได้มีส่วนทำประโยชน์แก่พระศาสนจักร ทำให้พระศาสนจักรฟื้นตัวได้ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
ขอให้เราทั้งหลายมีความขอบคุณ และน้อมรับแบบอย่างแห่ง “ความเป็นสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์” ที่ท่านได้แสดงให้พวกเราเห็น (เทียบ สมณสาส์นเตือนใจ Gaudete et Exsultate, ข้อ 12) ซึ่งมีทั้งความประณีตอ่อนโยนและความแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน การเป็นพยานของท่าน ตลอดจนการเป็นพยานของพี่น้องชายหญิง ผู้เป็นทั้งบรรพบุรุษทางความเชื่อ เป็นทั้งมิตร และเป็นเพื่อนร่วมทางของเรานั้น ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ห่างไกลจากพวกเราเลย สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ใกล้ตัวเรา เป็นสิ่งที่เราได้รับมอบไว้เพื่อให้เราได้ไปเป็นพยานในแบบเดียวกันด้วย ทั้งนี้ โดยการฟื้นฟูความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปด้วยกันบนเส้นทางที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงนำทางพวกเราไป
พระดำรัสก่อนการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวหลังพิธีบูชาขอบพระคุณ
พ่อขอขอบใจท่านอาร์ชบิชอปที่ได้กล่าวกับพ่อด้วยไมตรีจิต พ่อขอขอบพระทัยด้วยใจจริงต่อสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ตลอดจนเจ้าผู้ปกครองราชรัฐลักเซมเบิร์กและพระชายา ซึ่งได้เสด็จมาร่วมพิธีในวันนี้ และได้ทรงต้อนรับพ่ออย่างดีระหว่างการเดินทางเยือนของพ่อ
นอกจากนี้ พ่อขอขอบใจทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมจัดการในทางต่าง ๆ เพื่อให้การเยือนของพ่อเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อขอขอบใจบรรดาคนชราและคนป่วยที่ได้อธิษฐานภาวนาเพื่อพ่อ
วันนี้เป็นวันผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “พระเจ้าทรงเดินเคียงข้างประชากรของพระองค์” ประเทศเบลเยียมแห่งนี้เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของผู้ย้ายถิ่นจำนวนมาก และในที่นี้ พ่อขอถือโอกาสเรียกร้องอีกครั้งต่อยุโรป และต่อประชาคมนานาชาติ ขอให้มองว่าปรากฏการณ์การย้ายถิ่นนี้เป็นโอกาสที่จะร่วมกันเติบโตภายในความเป็นพี่น้องกัน และพ่อขอให้ทุกคนมองเห็นพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าภายในใบหน้าของผู้ย้ายถิ่นซึ่งเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา ขอให้ลูกเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นแขก และทรงเป็นผู้จาริกอยู่ในท่ามกลางเรา
พ่อมีความเศร้าใจและกังวลใจอย่างยิ่งเมื่อได้ติดตามข่าวความขัดแย้งในเลบานอนที่กำลังขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเลบานอนกำลังสื่อให้พวกเราเห็นถึงความทุกข์ทรมาน และสงครามที่เลบานอนก็ได้ทำให้ผู้คนที่นั่นต้องเผชิญกับผลแห่งการทำลายล้าง ในแต่ละวันมีคนมากมายต้องเสียชีวิตในภูมิภาคตะวันออกกลาง พ่อขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้เสียชีวิต เพื่อครอบครัวของเขา และเพื่อสันติภาพ พ่อขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที ทั้งในเลบานอน ในกาซา ใน[เขตเวสต์แบงก์ของ]ปาเลสไตน์ และในอิสราเอล พ่อขอให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด และขอให้มีการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ไปถึงคนที่กำลังลำบาก นอกจากนี้ ขอให้พวกเราอย่าลืมยูเครนที่กำลังถูกทรมานด้วย
พ่อขอขอบใจผู้ที่เดินทางมาจากเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส เพื่อมาอยู่กับพ่อที่นี่ในวันนี้ด้วย ขอขอบใจ
พ่อขอประกาศข่าวให้ลูกทราบตอนนี้ว่า หลังจากที่พ่อเดินทางกลับถึงกรุงโรมแล้ว พ่อจะเริ่มกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง[แห่งเบลเยียม, 1930 – 1993] เป็นบุญราศี ขอให้แบบอย่างความเป็นผู้เชื่อของพระองค์จงเป็นแสงสว่างให้แก่บรรดาผู้ใช้อำนาจปกครองทั้งหลาย และพ่อขอให้บรรดาบิชอปของเบลเยียมดำเนินการเพื่อเดินหน้ากระบวนการนี้
บัดนี้ ขอให้เราวิงวอนต่อพระแม่มารีย์ด้วยสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว บทสวดนี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อน ๆ สวดกันแพร่หลายเป็นปกติ และเป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับการค้นพบและฟื้นฟูกันอีกครั้ง เนื่องจากบททูตสวรรค์แจ้งข่าวเป็นการสรุปสาระสำคัญของพระธรรมล้ำลึกในคริสต์ศาสนา ซึ่งพระศาสนจักรสอนให้เราระลึกถึงอยู่เสมอเวลาที่เรากระทำกิจการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน พ่อขอฝากบทสวดนี้ไว้กับลูกทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเยาวชน และพ่อขอมอบลูกทุกคนไว้กับแม่พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ผู้เป็นมารดาของพวกเราทุกคน ในที่นี้เราได้เห็นรูปของท่านอยู่ใกล้กับพระแท่น เป็นรูปแม่พระผู้เป็นบัลลังก์แห่งปรีชาญาณ ซึ่งปรีชาญาณแห่งพระวรสารนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเราทุกคน ดังนั้น จึงขอให้เราหมั่นวอนขอปรีชาญาณนี้จากพระจิตเจ้าให้บ่อย ๆ
อาศัยการเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์ ขอให้เราทั้งหลายวอนขอของประทานแห่งสันติภาพจากพระเจ้า ทั้งสำหรับยูเครนที่กำลังถูกเบียดเบียนทำร้าย สำหรับปาเลสไตน์และอิสราเอล สำหรับซูดานใต้ เมียนมา และทุกหนแห่งที่กำลังถูกทำร้ายเพราะภัยสงคราม
พ่อขอขอบใจทุกคน และขอให้พวกเราก้าวเดินไปข้างหน้า “บนเส้นทาง, ด้วยความหวัง”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และ วรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
เก็บบทเทศน์ และคำปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรานซิสมาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)