สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (15) ผลของพระจิตเจ้า : ความปีติยินดี
เจริญพรมายังพี่น้องชายหญิงที่รัก อรุณสวัสดิ์
หลังจากที่พ่อได้พูดเรื่องพระหรรษทานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ และเรื่องพระพรพิเศษไปแล้ว ในวันนี้ พ่ออยากจะพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นจริงอย่างที่สาม ซึ่งความเป็นจริงอย่างแรกคือพระหรรษทานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนความเป็นจริงอย่างที่สองคือพระพรพิเศษ แล้วความเป็นจริงอย่างที่สามคืออะไร คำตอบคือ “ผลของพระจิตเจ้า” ความเป็นจริง[อย่างที่สาม]นี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับกิจการของพระจิตเจ้า และอาจดูเป็นของแปลก แล้วผลของพระจิตเจ้าคืออะไร นักบุญเปาโลได้ไล่เรียงรายชื่อเอาไว้ภายในจดหมายถึงชาวกาลาเทีย ขอให้ลูกตั้งใจฟังให้ดี ท่านกล่าวว่า “ผลของพระจิตเจ้าก็คือความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง” (กท. 5,22-23) มีอยู่เก้าสิ่งด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เป็น “ผลของพระจิตเจ้า” แล้วผลของพระจิตเจ้านั้น[มีลักษณะเป็นอย่างไร]กันแน่
[พวกเราได้เรียนรู้กันไปแล้วว่า] พระพรพิเศษ เป็นสิ่งที่พระจิตเจ้าประทานให้คนทั้งหลาย ตามที่พระองค์ต้องการ และในยามที่พระองค์ต้องการ เพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร แต่ผลของพระจิตเจ้า [ต่างจากพระพรพิเศษ] เพราะผลของพระจิตเจ้า ซึ่งพ่อขอพูดซ้ำอีกครั้งว่า ได้แก่ ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเองนั้น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อตัวเราเองร่วมมือกับพระหรรษทานอย่างเสรี และเมื่อ “ความเชื่อได้แสดงออกเป็นการกระทำ อาศัยความรัก” (เทียบ กท. 5,6) ในตัวของผู้ใด ผลของพระจิตเจ้าประการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปนี้ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลนั้นเสมอ และบางครั้งอาจมาในรูปแบบที่เหนือความคาดหมายและน่าชื่นชมยินดี จริงอยู่ที่ว่า คนในพระศาสนจักรไม่ได้เป็นอัครสาวกกันได้ทุกคน ไม่ได้เป็นประกาศกได้ทุกคน ไม่ได้เป็นผู้นิพนธ์พระวรสารกันได้ทุกคน แต่มีบางสิ่งที่เราทุกคนทำได้และต้องทำโดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น การมีเมตตา การรู้จักอดทน และการทำงานเพื่อสันติสุข ด้วยความสุภาพถ่อมตน [พ่อขอย้ำว่า] เราทุกคนจะต้องเป็นคนมีเมตตา รู้จักอดทน สุภาพถ่อมตน และจะต้องเป็นคนที่ทำงานเพื่อสันติภาพ ไม่ใช่ทำงานเพื่อสงคราม
ในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่นักบุญเปาโลกล่าวว่าเป็นผลของพระจิตเจ้า ในที่นี้พ่ออยากจะเน้นถึงสิ่งหนึ่งด้วยการยกข้อความตอนแรกของสมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium (ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร) มากล่าว ข้อความนี้มีอยู่ว่า “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร ย่อมเติมเต็มหัวใจและชีวิตของคนทั้งมวลที่ได้พบปะพระเยซูเจ้า ผู้ใดน้อมรับความรอดที่พระองค์มอบเสนอ ผู้นั้นย่อมได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากบาป จากความทุกข์ระทม จากความว่างเปล่าภายใน และจากความว้าเหว่ใจ ความชื่นชมยินดีย่อมบังเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมออาศัยพระเยซูเจ้า” (ข้อ 1) ถึงแม้ว่าบางครั้ง[เราอาจพบกับ]ช่วงเวลาที่น่าเศร้า แต่ในที่นั่นก็ย่อมมีสันติสุขอยู่เสมอ เพราะเมื่อใดที่เราอยู่กับพระเยซูเจ้า เมื่อนั้นเราก็จะมีความปีติยินดีและสันติสุข
ความปีติยินดีที่เป็นผลของพระจิตเจ้า มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกับความปีติยินดีอื่น ๆ ที่เป็นแบบมนุษย์ กล่าวคือ เป็นความรู้สึกถึงความบริบูรณ์ เป็นความรู้สึกถึงการเติมเต็ม ซึ่งผู้ที่รู้สึกแบบนี้ย่อมปรารถนาให้[ความปีติยินดีเช่นนี้]คงอยู่ไปตลอด อย่างไรก็ตาม เราทั้งหลายย่อมรู้จากประสบการณ์ว่า ในความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ให้เราลองคิดด้วยกันบางเรื่อง เช่น ความเยาว์วัย ความเป็นหนุ่มสาว นี่ก็ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว [เราอาจคิดถึงสิ่งอื่นได้อีก เช่น] สุขภาพ พละกำลัง ความอยู่ดีกินดี มิตรภาพ ความรัก … บางสิ่งบางอย่างอาจดำรงอยู่ได้ถึงร้อยปี แต่หลังจากนั้นก็ย่อมไม่มีอีกต่อไป ของพวกนี้สักวันย่อมหมดไปไม่ช้าก็เร็ว นอกจากนี้ ถึงแม้สิ่งต่าง ๆ ที่ว่านี้จะไม่ได้หมดไปอย่างรวดเร็ว แต่สักพักหนึ่งเราก็ย่อมจะรู้สึกว่า เราไม่พอใจกับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป หรือบางครั้งเราอาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำ ซึ่งเหตุผลของเรื่องนี้ก็เป็นดังที่นักบุญเอากุสตินได้กล่าวกับพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงสร้างข้าพเจ้าทั้งหลายไว้เพื่อพระองค์ จิตใจของข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่อาจหยุดพักได้ จนกว่าจะได้พักพิงในพระองค์” (คำสารภาพ, I, 1) ความงาม สันติสุข ความรัก และความปีติยินดี เป็นสิ่งที่จิตใจของเราโหยหาอยู่เสมอ
ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร ความปีติยินดีในแบบพระวรสาร แตกต่างจากความชื่นชมยินดีแบบอื่นตรงที่ว่า ความปีติยินดีนี้สามารถกลับเป็นเหมือนใหม่ได้ทุกวัน และยังสามารถแพร่ขยายไปยังผู้อื่นได้ด้วย “การได้พบกับความรักของพระเจ้า หรือการได้พบกับความรักของพระเจ้าอีกครั้ง อาจผลิบานกลายเป็นมิตรภาพที่นำมาซึ่งผลอันอุดม [การได้พบกับความรักของพระเจ้า]เป็นสิ่งเดียวที่ช่วยปลดปล่อยเราทั้งหลายให้เป็นอิสระจากความคิดที่คับแคบและการหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง … ในที่นี้ เราทั้งหลายย่อมสามารถค้นพบบ่อเกิดและแรงบันดาลใจสำหรับความพยายามของเราทุกอย่างเพื่อการประกาศพระวรสาร เหตุว่า ถ้าเราทั้งหลายได้รับความรักที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายอีกครั้ง แล้วเราจะไม่นำความรักอันนี้ไปแบ่งปันกับผู้อื่นได้อย่างไร” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium, ข้อ 8) [ในที่นี้ เราได้เห็น]ลักษณะสองประการที่มาเป็นคู่กันภายในความปีติยินดีที่เป็นผลของพระจิตเจ้า กล่าวคือ นอกจากความปีติยินดีนี้จะคงทน ไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาแล้ว หากว่าความปีติยินดีนี้ถูกนำไปแบ่งปันกับผู้อื่น ก็จะทำให้ความปีติยินดีเพิ่มเป็นทวีคูณ ความปีติยินดีที่แท้จริงย่อมมีไว้เพื่อแบ่งปันกับผู้อื่น และยังเป็นสิ่งที่แพร่ขยายออกไปได้อีกด้วย
เมื่อ[ประมาณ]ห้าร้อยปีที่แล้ว มีนักบุญท่านหนึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงโรมแห่งนี้ คือนักบุญฟีลิปโป เนรี ท่านเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักบุญแห่งความปีติยินดี ขอให้ลูกตั้งใจฟัง[อีกครั้ง]ว่า ท่านเป็นนักบุญแห่งความปีติยินดี ท่านมักกล่าวกับเด็ก ๆ ที่ยากไร้และถูกทอดทิ้ง[ที่ท่านได้นำมาอุปการะเลี้ยงดูว่า] “ลูกรักทั้งหลาย จงเป็นคนร่าเริง พ่อไม่อยากให้พวกลูกกระวนกระวายหรือมีใจหดหู่ สำหรับพ่อนั้น ขอแค่ลูกทั้งหลายไม่ทำบาปก็พอแล้ว” ท่านได้กล่าวไว้ด้วยว่า “จงเป็นคนดี ถ้าลูกเป็นได้” [เรื่องที่ว่านี้เป็นที่รู้จักกันดี] แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ว่า ความปีติยินดีของท่านนักบุญมีบ่อเกิดมาจากที่ไหนนั้น กลับเป็นที่รับรู้น้อยกว่า [ซึ่งอันที่จริงแล้ว] นักบุญฟีลิปโป เนรี มีความรักยิ่งใหญ่ต่อพระเจ้าจนถึงขนาดที่บางครั้งดูราวกับว่าหัวใจของท่านอาจระเบิดออกมา เช่นนี้เองจึงกล่าวได้ในทุกแง่มุมว่า ความปีติยินดีของท่านเป็นผลของพระจิตเจ้า ท่านนักบุญได้มีส่วนร่วมในปีศักดิ์สิทธิ์เมื่อปี 1575 โดยในครั้งนั้น ท่านได้ริเริ่มให้มีการจาริกแสวงบุญยังวัดเจ็ดแห่งในกรุงโรม ซึ่งการจาริกแสวงบุญนี้ก็ยังคงมีเรื่อยมา ท่านนักบุญเป็นผู้เผยแพร่พระวรสารอย่างแท้จริงในยุคสมัยของท่าน ซึ่งวิธีการที่ท่านใช้ ก็คือความปีติยินดี และนอกจากนี้ [ท่านก็ยังมีจิตใจ]แบบพระเยซูเจ้าด้วย กล่าวคือ [ท่าน]ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่างในทุกเมื่อ พวกเราบางคนอาจคิดว่า “ฉันได้ทำบาปแบบนี้ไป ฉันคงไม่ได้รับการอภัยเป็นแน่” แต่พ่อขอให้ลูกฟังให้ดีว่า พระเจ้าทรงให้อภัยทุกอย่าง พระเจ้าทรงให้อภัยทุกเมื่อ และการได้รับอภัยจากพระเจ้าก็เป็นความปีติยินดี พ่อมักกล่าวกับบาทหลวงที่ฟังแก้บาปว่า “จงให้อภัยทุกอย่าง อย่าถามคำถามมากเกินไป แต่จงให้อภัยทุกอย่าง ทุกอย่าง และทุกเมื่อ”
คำว่า “พระวรสาร” มีความหมายว่า ข่าวที่น่าชื่นชมยินดี ดังนั้น การเผยแผ่พระวรสารจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ด้วยใบหน้าที่บูดบึ้งและสีหน้าที่ดูห่อเหี่ยวเศร้าหมอง แต่เป็นสิ่งที่จะต้องกระทำโดยอาศัยความปีติยินดี ในแบบเดียวกับคนที่ได้ค้นพบทรัพย์สมบัติที่ซ่อนไว้ ในแบบเดียวกับคนที่ได้ค้นพบไข่มุกมีค่า[ดังที่มีการอุปมาในพระวรสาร] ขอให้ลูกอย่าลืมคำพูดเตือนใจที่นักบุญเปาโลได้กล่าวกับบรรดาผู้เชื่อในพระศาสนจักรที่ฟิลิปปี และในตอนนี้ก็เป็นสิ่งที่ท่านกล่าวกับพวกเราทุกคนด้วย ดังที่พวกเราได้ฟังไปในตอนเริ่มการเข้าเฝ้าทั่วไปว่า “จงชื่นชมในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาเถิด ข้าพเจ้าขอย้ำอีกว่า จงชื่นชมเถิด จงให้ความอ่อนโยนของท่านทั้งหลายปรากฏแก่คนทั้งปวง องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาใกล้แล้ว” (ฟป. 4,4-5)
พี่น้องชายหญิงที่รัก ขอให้พวกเราจงชื่นชมยินดี โดยมีความปีติยินดีของพระเยซูเจ้าอยู่ในหัวใจของพวกเรา ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อขอทักทายบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากออสเตรเลีย อิสราเอล มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา พ่อขอทักทายเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้แสวงบุญเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพจากแอฟริกา พ่อจะภาวนาเพื่อภารกิจที่สำคัญของพวกเขา พ่อขอให้ลูกทุกคนในที่นี้ตลอดจนครอบครัวของลูก จงได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคำนึงถึงบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้เป็นวันแรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมจิตใจมุ่งสู่วันคริสตสมภพ พ่อขอเตือนใจให้ลูกทุกคนใช้ช่วงเวลาที่สำคัญนี้ด้วยการอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอ และด้วยความหวังอันร้อนรน
ขอให้พวกเราอย่าลืมผู้คนชาวยูเครนที่กำลังถูกทรมาน พวกเขากำลังทนทุกข์อย่างมาก พ่อขอให้ลูก ๆ ที่เป็นเด็กและเยาวชนในที่นี้จงคิดถึงเด็กและเยาวชนชาวยูเครนที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่ในตอนนี้ พวกเขาต้องเผชิญกับอากาศหนาวที่รุนแรงในฤดูหนาวโดยที่ไม่มีเครื่องทำความอบอุ่น ลูกจงอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเพื่อพวกเขา ลูกทำเรื่องนี้ให้พ่อได้ไหม ลูกภาวนาเพื่อการนี้ได้ไหม พ่อขอเรื่องนี้กับลูกทุกคน นอกจากนี้ ขอให้พวกเราภาวนาเพื่อสันติภาพในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ด้วย ทั้งที่นาซาเร็ธ ที่ปาเลสไตน์ และอิสราเอล ขอให้สันติภาพจงมีขึ้น ขอให้สันติภาพจงมีขึ้น ผู้คนทั้งหลายที่นั่นกำลังทุกข์ทรมานอย่างมาก ขอให้พวกเราทุกคนจงร่วมกันอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา
พี่น้องชายหญิงที่รัก ในการเรียนคำสอนต่อเนื่องเรื่องบทบาทของพระจิตเจ้าในชีวิตของพระศาสนจักร วันนี้เราจะพิจารณาถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “ผลของพระจิตเจ้า” ได้แก่ ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง (เทียบ กท. 5,22-23) ผลเหล่านี้มาจากการที่พวกเราให้ความร่วมมืออย่างเสรีกับพระหรรษทานของพระจิตเจ้าที่กระทำการภายในชีวิตของเรา ในวันนี้ ขอให้เราไตร่ตรองเกี่ยวกับผลอย่างหนึ่งของพระจิตเจ้าซึ่งพ่อเห็นว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ของประทานแห่งความปีติยินดีฝ่ายจิต ความปีติยินดีนี้แตกต่างจากความปีติยินดีแบบโลกที่เป็นของไม่ยั่งยืน เพราะว่าความปีติยินดีที่พระจิตเจ้าประทานให้นี้ เป็นความปีติยินดีที่ล้ำลึกอันเกิดจากการที่พระจิตเจ้าสถิตอยู่ภายในหัวใจของพวกเรา และนอกจากความปีติยินดีแห่งความรักของพระเจ้าจะเติมเต็มชีวิตของพวกเราแล้ว ก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรานำความปีติยินดีนี้ไปแบ่งปันกับผู้อื่น นักบุญเปาโลได้กล่าวหนุนใจให้พวกเรา “จงชื่นชมในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา” (ฟป. 4,4) ขอให้การที่เราเป็นพยานถึง “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” จงเป็นสิ่งช่วยเหลือให้ผู้คนรอบตัวเราพบกับสันติสุขภายในจิตใจที่โหยหาของพวกเขา พร้อมทั้งช่วยให้พวกเขาได้พบกับความหมายใหม่ของชีวิตภายในพระคริสตเจ้าด้วย
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เก็บการสอนคำสอน/General audience ของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและเพื่อการไตร่ตรอง)